ย้อนประวัติศาสตร์ 'สงกรานต์' ในแต่ละชาติ ปรับไปบ้างตามเวลา แต่สุขสันต์มิเคยเปลี่ยน

ขอต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ ปีใหม่ไทยของเรา สงกรานต์ที่ 'ยูเนสโก' ได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้ 'สงกรานต์ในประเทศไทย' เป็นรายการในบัญชีตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ 

บทความนี้ผมจะเขียนเล่าในมุมที่ไม่ดรามา โดยจะเรียบเรียงเรื่องราวของสงกรานต์ที่น่าสนใจเพื่อให้อ่านกันเพลิน ๆ นะครับ

เริ่มต้นเรื่อง โดยส่วนตัวผมไม่เชื่อว่าสงกรานต์แบบบ้านเรามาจากอินเดีย แต่คำว่าสงกรานต์เรายืมคำนี้มาจากอินเดียแน่ ๆ เพราะคำว่า 'สงกรานต์' หรือ 'สํกฺรานฺติ' เป็นคำในภาษาสันสกฤตแปลว่า ผ่านหรือเคลื่อนย้าย คือการที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนจากราศีหนึ่งเข้าสู่อีกราศีหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นทุกเดือน แต่จะมีเดือนที่สำคัญมากก็คือเดือนที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ เรียกว่า 'มหาสงกรานต์' ซึ่งในช่วงมหาสงกรานต์นี้ ดินแดนชมพูทวีปเขาจะมีเมนูอาหารและกิจกรรมพิเศษ เช่น...

บังกลาเทศ : เขาจะมีการเดินพาเหรดและเมนูพิเศษ 'ปันตาภัต' คือข้าวสวยแช่น้ำที่เสิร์ฟพร้อมปลาทอด กินพร้อมหอมแดงและพริกเขียว คล้าย ๆ ข้าวแช่บ้านเรา 

ศรีลังกา : ชาวพุทธสิงหลและชาวฮินดูทมิฬ จะมีการฉลองปีใหม่ร่วมกัน ผู้คนจะทำความสะอาดบ้าน จุดตะเกียงน้ำมัน และทานเมนูพิเศษ 'คิริภัต' คือข้าวกะทิ 

ส่วนในอุษาคเนย์ : ประเพณีสงกรานต์ในแต่ละแห่งก็จะพบว่ามีความคล้ายคลึงกันอย่างมาก เช่น คนในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเรียกกันว่า 'สงกรานต์' ทางล้านนาเรียกว่า 'ปี๋ใหม่เมือง' ทางเขมรเรียกว่า 'ซ็องกราน' ส่วนมอญเรียกว่า 'ซงกราน' ทางพม่าเรียกว่า 'ทิงยัน' โดยจุดเชื่อมกันของเทศกาลนี้ ถ้าไม่นับการสาดน้ำ ก็จะมีการรดน้ำประแป้ง การละเล่นพื้นบ้าน การรดน้ำดำหัวขอพรจากผู้ใหญ่ ทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระพุทธรูป นอกจากนี้ก็จะมีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค ส่วนเรื่องอาหารการกินหรือกิจกรรมที่พิเศษเหมือนชมพูทวีปไหม? มันก็มีอยู่บ้างครับ 

ตัวอย่างเช่นที่ 'พม่า' เขาจะมีเมนูพิเศษคือ 'ม่งโลงเหย่ป่อ' ซึ่งเป็นข้าวเหนียวปั้นไส้น้ำตาล คล้าย ๆ ขนมต้มบ้านเรา ทำกินเฉพาะเทศกาลนี้ พร้อมด้วยมหกรรมสาดน้ำ (ต้องเรียกมหกรรมเพราะสาดยับจริง ๆ) ซึ่งพม่านี้เขามีนิทานเรื่องการสาดน้ำที่ค่อนข้างจะเป็นโศกนาฏกรรม แต่เขาเชื่อว่านี่คือหลักฐานการ 'สาดน้ำ' ที่เก่าที่สุด (ทำไม? มันถึงมาผูกกับการสาดน้ำที่สนุกสนานก็ไม่รู้) 

เรื่องนี้ปรากฏอยู่ในพงศาวดารพม่าฉบับอูกะลา ในสมัยของ 'พระเจ้านรสีหบดี' หรือ 'พระเจ้าหนีจีน' แห่งพุกาม ที่ชื่อว่าหนีจีน เพราะกองทัพมองโกลของพระเจ้ากุบไลข่านยกมาตีพุกาม พระองค์ต้านไม่ไหวก็เลยหนีลงมาทางพม่าตอนล่าง ซึ่งร่วมสมัยกับ 'พญามังราย' แห่งเชียงใหม่ 'พ่อขุนรามคำแหง' แห่งสุโขทัย และ 'พระยางำเมือง' แห่งพะเยา ซึ่งไม่ได้มีบันทึกเรื่องสงกรานต์ไว้เหมือนพุกาม เรื่องของเรื่องเป็นอย่างนี้ 

พระเจ้านรสีหบดีมีพระเหสีชื่อ 'พระนางพวาซอ' และมีพระสนมอีกหลายองค์ พระสนมที่โดดเด่นคือ 'พระสนมซอลง' และ 'พระสนมซอเม่า' ทุก ๆ สงกรานต์ซึ่งเป็นฤดูเดือนที่อากาศร้อน พระองค์มักเสด็จฯ ลงสรงพระกระยาสนานหรือสระผม บริเวณท่าน้ำเป็นเวลานาน ๆ บ่อย ๆ 

ที่นี้พะองค์คงนึกสนุกและอยากจะหยอกล้อ 'พระสนมซอลง' จึงรับสั่งให้พระสนมองค์อื่น ๆ และนางข้าหลวงสาดน้ำใส่พระสนมซอลงแบบไม่ให้รู้ตัว พอโดนรุมสาดแบบไม่ทันตั้งตัว ผมเผ้าเสื้อผ้าก็เปียกปอนไปหมด จนทำให้พระสนมซอลงรู้สึกอับอาย โดยไม่ได้คิดว่านี่คือการล้อเล่นสาดน้ำในหมู่คนที่คุ้นเคยกัน 

จากเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้พระสนมซอลงคิดแค้น ว่าพระเจ้านรสีหบดีออกอุบายกลั่นแกล้ง จึงคิดจะเอาคืน โดยแอบใส่ยาพิษลงไปในพระกระยาหารของพระเจ้านรสีหบดี (คุณพระ!!!) ซึ่งปกติแล้วหน้าที่ยกพระยาหารขึ้นถวายพระเจ้านรสีหบดีเป็นหน้าที่ของพระสนมซอลง แต่วันนั้นพระสนมซอลงแกล้งป่วย จึงขอร้องให้ 'พระสนมซอเม่า' ทำหน้าที่แทน

ระหว่างที่กำลังเชิญพระกระยาหารขึ้นถวายนั้น ปรากฏว่ามีสุนัขหลวงทรงเลี้ยงตามเห่าพระสนมซอเม่า พระสนมซอเม่าคิดว่ามันคงหิว ด้วยความสงสารจึงแอบนำอาหารบางส่วนโยนให้กิน พอสุนัขหลวงกินมันก็ตายทันที พอความทราบถึงพระเจ้านรสีหบดี พระองค์จึงให้สอบสวน จนได้ความตามจริงว่าพระสนมซอลงลอบวางยาพิษ ผลก็คือ 'พระสนมซอลง' ต้องโทษประหารชีวิต ทั้งหมดนี้เป็นความเข้าใจผิดของพระสนมนั่นเอง

จบแบบโศกนาฏกรรม 

แต่ในประวัติสงกรานต์พม่า ที่มาของการเล่นสาดน้ำในปัจจุบันที่เก่าแก่ที่สุดก็คือการสาดน้ำใส่ 'พระสนมซอลง' นี่แหละ ทั้งยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยพุกามที่เล่าเรื่องราวของการเล่นน้ำสงกรานต์ มีภาพของการเทน้ำจากหม้อน้ำราดใส่กันประกอบอีกด้วย ผมว่ายอมพม่าเขาไปเหอะ นี่ยังไม่รวมภาพใน The Graphic เมื่อ ค.ศ. 1888 ที่ปรากฏคนพม่าสาดน้ำใส่ฝรั่งอังกฤษนะ ซึ่งอันนี้เขาดรามากันไปเยอะแล้ว ผมไม่เล่าล่ะ 

'สงกรานต์พม่า' จัดขึ้นช่วงเดือน 5 (เมษายน) ของไทย พม่าเรียกว่า 'เดือนดะกู' ส่วนสงกรานต์ในภาษาพม่าเรียกว่า 'เหย่บะแวด่อ' (คำว่า 'เหย่' แปลว่า 'พิธีน้ำ' ส่วน 'บะแวด่อ' แปลว่า 'เทศกาล') รัฐบาลพม่ากำหนดประเพณีสงกรานต์ให้ตรงกับวันที่ 13-17 เมษายนของทุกปี ซึ่งสงกรานต์บ้านเขานี้จัดอย่างจริงจัง สาดกันจริงจังแบบไม่มีคำว่า 'ไม่เปียก'

มาที่ 'สงกรานต์ลาว' ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 14-16 เมษายนของทุกปี โดยออกเป็น 3 วัน วันแรกเรียกว่า 'วันสังขารล่วง' ชาวบ้านจะทำความสะอาดบ้านเรือนเพื่อเป็นการปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกไปและเตรียมรับสิ่งใหม่ ๆ เข้ามา วันที่สองเรียกว่า 'วันเนา' ถือเป็นวันแห่งครอบครัว ญาติพี่น้องจะมารวมตัวกันเพื่อบายศรีสู่ขวัญให้แก่ผู้อาวุโส และวันสุดท้ายเรียกว่า 'วันสังขารขึ้น' ถือว่าเป็นวันปีใหม่ที่แท้จริง จะมีการอวยชัยให้พรซึ่งกันและกัน มีการสรงน้ำพระและการแห่นางสังขาร ซึ่งเป็นนางสงกรานต์ของลาวแล้วก็มีการสาดน้ำกันพอกรุบกริบ 

'สงกรานต์กัมพูชา' ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวกัมพูชาเรียกกันว่าเทศกาล “โจลชนัมทเมย” เป็นช่วงต้นฤดูกาลเก็บเกี่ยว ในแต่ละปีรัฐบาลกัมพูชาอาจจะกำหนดให้จัดขึ้นในวันที่ 13-15 หรือ 14-16 เมษายน มีกิจกรรมคล้าย ๆ กันแบ่งงานสงกรานต์ออกเป็น 3 วัน วันแรกทำบุญตักบาตร มีการขนทรายเข้าวัดเพื่อเตรียมก่อพระเจดีย์ทราย วันที่สองเป็นวันของครอบครัว ช่วงค่ำก็จะมาร่วมกันก่อพระเจดีย์ทราย ส่วนในวันที่สาม จะมีการละเล่นรื่นเริงต่าง ๆ สรงน้ำพระพุทธรูป และรดน้ำดำหัวญาติผู้ใหญ่เพื่อความเป็นสิริมงคล 

'สงกรานต์สิบสองปันนา' สงกรานต์ของชาวไต หรือชาวไท ในสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ทางตอนใต้ของประเทศจีน โดยเฉพาะเมืองเชียงรุ่ง จะจัดงานสงกรานต์ในช่วงวันที่ 13-15 เมษายน เรียกว่าเทศกาล 'พัวสุ่ยเจี๋ย' โดยกิจกรรมหลัก ๆ ที่มีในงานสงกรานต์สิบสองปันนาก็คือ 'การแข่งขันเรือมังกร' ซึ่งเป็นเอกลักษณ์สำคัญของเทศกาลนี้ นอกจากนี้ก็จะมีการ 'ระบำนกยูง' ที่มีความเชื่อว่านกยูงนำพาความโชคดีมาให้ นอกจากนี้ก็ยังมีการร้องรำทำเพลง การเล่นน้ำ และการรดน้ำดำหัวให้กันและกัน 

'สงกรานต์ของประเทศไทย' แม้ว่าเราอาจจะไม่ได้มีบันทึกการเล่นสาดน้ำเหมือนอย่างของพม่า แต่เทศกาลของเราก็มีความลุ่มลึกอย่างมีนัยยะสำคัญทั้งผูกพันกับการรำลึกถึงบรรพบุรุษ ครอบครัว ด้วยความชุ่มฉ่ำทั้งการสรงน้ำพระ การรดน้ำดำหัว และธรรมเนียมประกอบที่ดีงามไม่แพ้ใคร ๆ อย่างเช่น... 

ภาคเหนือเรามีพิธีความเชื่อเรื่อง 'ปู่สังกรานต์' หรือ 'ย่าสังกรานต์' จึงเป็นเหตุแห่งการจุดประทัดไล่เคราะห์ นอกจากนี้บางแห่งจะมีการทำขนมที่ไว้เฉลิมฉลองสงกรานต์ คือกาละแม ข้าวเหนียวแดงใส่ถั่วลิสงคั่ว ข้าวเหนียวแก้ว ข้าวแตน นางเล็ด ไปถวายวัด เพื่อไปเป็นเสบียงส่งไปให้บรรพบุรุษ 

ภาคอีสาน เราก็มีพิธีเสียเคราะห์ที่ใช้กระทงห้อง ใส่อาหารคาว-หวาน ไปทำพิธีในวัดเมือจบจะนำกระทงไปไว้ในป่าหรือทางแพร่งเพื่อเซ่นผีนำเอาสิ่งไม่ดีออกจากตน ตัวอย่างเช่น วัดไชยศรี จ.ขอนแก่น มีการทำบุญอัฐิบรรพบุรุษที่ล่วงลับ เรียกว่า 'สักอนิจจา' มีการ 'แห่ต้นดอกไม้' ที่นาแห้ว จ.เลย ซึ่งทำถวายเป็นพุทธบูชาเพื่อความเป็นมงคลและสร้างความสามัคคีคนในชุมชน (เห็นไหม? สาดน้ำใส่กันมันแค่ส่วนประกอบ) 

ภาคกลางส่วนใหญ่มักประกอบกิจกรรมทางศาสนาเป็นหลัก นอกจากนั้นก็จะมีงานที่เป็นเอกลักษณ์อย่าง สงกรานต์มอญ ที่ยังรักษาวัฒนธรรมของชาวรามัญ-ไทย ไว้อย่างงดงาม ทั้งที่ปากเกร็ด จ.นนทบุรี บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร หรืออย่างที่พระประแดง จ.สมุทรปราการ 

ภาคใต้บ้านเราจะเรียกว่า 'วันว่าง' ไม่ทำงาน ไม่ตัดเล็บ ตัดผม ก่อนจะเข้าวัดในวันว่างนี้เพราะเชื่อว่าเทวดาองค์เก่าเมื่อปีก่อนไม่อยู่ จึงต้องพึ่งบารมีพระพุทธก่อนที่วันเถลิงศกจะเข้ามาพร้อมเทวดาองค์ใหม่ก็จะมาประจำเมือง โดยจะแต่งชุดสวย ชุดใหม่ รอรับกันในวันนี้ 

ถึงตรงนี้ที่สงกรานต์คือ กิจกรรมสำคัญที่ผมอยากจะชวนให้ท่านผู้อ่านทุก ๆ ท่านไปค้นหาและสัมผัสความดีงามเหล่านั้นด้วยตัวของท่านเอง ซึ่งผมเชื่อว่าแม้ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมจะทำให้ประเพณีสงกรานต์เปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่ความเป็นเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลองการเปลี่ยนผ่านของปี ความรื่นเริงสนุกสนานและการระลึกถึงบรรพบุรุษ ครอบครัว ผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ จะยังคงเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่และสืบทอดต่อไปอีกนานเท่านาน สุขสันต์วันสงกรานต์นะครับ


เรื่อง: สถาพร บุญนาจเสวี Content Manager