Monday, 20 May 2024
ราคาข้าว

“ทีมเศรษฐกิจทันสมัย ปชป.” จี้ “คลัง” เร่งพิจารณางบ “ประกันรายได้ ปี 3” หวั่นอนุมัติช้า อาจส่งผลกระทบราคาข้าว 

นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย และนางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรค ร่วมกันแถลงข่าวเกี่ยวกับโครงการประกันรายได้เกษตรกร ปีที่ 3 

โดยนายปริญญ์ กล่าวว่า นโยบายประกันรายได้เกษตรกรถือเป็นนโยบายหลัก 1 ในเงื่อนไขที่พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาล และประกาศเดินหน้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ยังติดขัดอยู่ที่กระทรวงการคลังยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนเรื่องงบประมาณ ทำให้ยังไม่สามารถดำเนินการต่อได้จึงเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อราคาข้าวในปัจจุบันที่กำลังประสบปัญหาราคาตกต่ำ

ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของประเทศที่ทำได้น้อยกว่าที่คาดการณ์ แต่ประเทศไทยไม่ได้ถังแตก ไม่ได้ขาดเงินหรือขาดงบประมาณแต่อย่างใด โดยเห็นได้จากการออก พ.ร.ก.1 ล้านล้าน และพ.ร.ก.เงินกู้เพิ่มอีก 5 แสนล้าน รวมไปถึงการขยับเพดานหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจาก 60% เป็น 70% และจะมีเงินกู้เพิ่มเติมอีก เม็ดเงินเหล่านี้จึงจำเป็นจะต้องใช้ให้ทันท่วงที และตรงกับกลุ่มคนที่ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุดจากวิกฤติโควิด ซึ่งรวมถึงกลุ่มพี่น้องเกษตรกรและกลุ่มผู้ส่งออกข้าวด้วย 

“เป็นที่ทราบกันดีว่าขณะนี้ข้าวราคาตก ถ้าเราช่วยบรรเทาความเจ็บปวดในระยะสั้นเหมือนที่ทำมาแล้วในโครงการประกันรายได้ ปีที่ 1 และปีที่ 2 ก็จะช่วยแก้ปัญหาได้ รมว.คลัง มีความเข้าใจในบริบทและกฎหมายดีอยู่แล้วว่าอยู่ในขอบเขตอำนาจของรัฐมนตรีที่ต้องเซ็นอนุมัติงบประมาณให้จ่ายออกมาเป็นเงินส่วนต่างสำหรับโครงการประกันรายได้เกษตรกรได้อย่างทันท่วงที แม้ในการอนุมัติโครงการของปีที่ 1 และปีที่ 2 จะมีความล่าช้าทำให้ต้องมีการดำเนินการจ่ายย้อนหลังอยู่บ้าง แต่สำหรับในปีที่ 3 หากมีความล่าช้าในการจ่ายเงินประกันรายได้จะส่งผลกระทบต่อราคาข้าว และกระทบข้าวที่กำลังจะออกมาในเดือนพฤศจิกายน สร้างความเจ็บปวดให้พี่น้องเกษตรกรมากขึ้นไปอีก” นายปริญญ์ กล่าว 

นายปริญญ์ กล่าวต่อว่า ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมามีตัวแทนเกษตรกรจาก อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด ได้ร้องเรียนถึงทีมเศรษฐกิจทันสมัย โดยขอให้ ครม. ได้เร่งดำเนินการโครงการประกันรายได้เกษตรกร ปีที่ 3 การจ่ายเงินส่วนต่างล่าช้านอกจากจะสร้างความเดือดร้อนให้พี่น้องเกษตรกรแล้ว ยังจะส่งผลกระทบต่อมาตรการคู่ขนานที่เป็นมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ภายใต้โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตทางการเกษตรกร หรือที่เรียกว่า “ค่าเก็บเกี่ยว”

ซึ่งในปีที่ผ่านมารัฐบาลช่วยเหลือเกษตรกรในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ จนถึงปัจจุบันเกษตรกรยังไม่ได้รับเงินช่วยเหลือตามโครการดังกล่าวแต่อย่างใด หากไม่จ่ายเงินประกันรายได้ จะกระทบโครงการคู่ขนานตามไปด้วย ซึ่งจะเป็นผลลบที่เกิดเป็นห่วงโซ่ เป็นวัฎจักรที่กระทบอย่างมีนัยยะสำคัญ กระทรวงการคลังจึงไม่ควรล่าช้าในการอนุมัติเม็ดเงิน เพื่อมาจ่ายให้ทันท่วงที และต้องเร่งทำการเบิกจ่ายให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผลตามที่รัฐบาลได้ให้สัญญาไว้กับประชาชน 
 

กาฬสินธุ์ - ชาวนาสุดช้ำ!! ขายข้าวเปลือก ก.ก.ละ 5 บาท ถูกกว่าบะหมี่สำเร็จรูป

ชาวนาที่จังหวัดกาฬสินธุ์สุดช้ำ ราคาตลาดรับซื้อข้าวเปลือกยังตกต่ำ โดยข้าวเปลือกเหนียวเพียงกิโลกรัมละ  5-6 บาท ถูกกว่าบะหมี่สำเร็จรูป ทำให้ประสบปัญหาขาดทุนซ้ำซาก แถมค่าจ้างรถเกี่ยวสูงไร่ละ 600-800 บาท ไม่มีเงินชำระหนี้ค่าปุ๋ย ค่าแรง และหนี้ ธกส.อนาคตอาจเลิกปลูกข้าว ปล่อยที่นาทิ้ง พอได้เลี้ยงปลากินประทังชีวิต ด้านผู้จัดกลางตลาดกลางข้าวกาฬสินธุ์เผย ช่วงนี้เป็นราคารับซื้อข้าวเปลือกนาปรัง ขณะที่ข้าวนาปีจะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน แต่คาดว่าราคาลดลงจากปีที่ผ่านมาอีกตันละ 1,000 บาท สาเหตุจากสถานการณ์โควิด-19

จากการติดตามบรรยากาศการเก็บเกี่ยวและขายผลผลิตข้าว ของชาวนาที่ จ.กาฬสินธุ์ในช่วงนี้ ซึ่งเริ่มเก็บเกี่ยวมาตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม โดยเฉพาะพื้นที่ใช้น้ำชลประทานลำปาว เพราะได้รับน้ำอย่างทั่วถึง จึงได้ทำนาต้นปี โดยมีการเพาะปลูกข้าวอายุสั้น หรือคือข้าวเหนียว กข.22 เพื่อเป็นเมล็ดพันธุ์สำหรับเพาะปลูกข้าวนาปรัง และแบ่งไปจำหน่าย ซึ่งได้อายุเก็บเกี่ยวในช่วงเดียวกับข้าวเจ้าหอมมะลิพันธุ์ กข.15 ที่ชาวนาในพื้นที่นอกเขตชลประทาน อาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ทำการเพาะปลูก ขณะที่ข้าวนาปีที่ใช้ข้าวพันธุ์ กข.6 จะเริ่มเก็บเกี่ยวกลางเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป

ทั้งนี้ ชาวนาที่เก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวต่างนำผลผลิตจำหน่ายตามลานรับซื้อทั่วไป บรรยากาศเริ่มมีความคึกคักมากขึ้น โดยเฉพาะที่ตลาดกลางข้าวและพืชไร่ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ แต่ก็มีเสียงโอดครวญจากชาวนาว่า ราคารับซื้อข้าวเปลือกยังตกต่ำ ซึ่งยังต่ำกว่าปีที่ผ่านมา จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลและนายทุน เพิ่มราคารับซื้อให้ชาวนาด้วย เพราะรายได้จากการขายข้าว โดยเฉพาะข้าวเปลือกเหนียว กก.ละ 5 บาทถูกกว่าบะหมี่สำเร็จรูป ซึ่งทำให้ประสบปัญหาขาดทุนซ้ำซากทุกปี

นายไพบูลย์ ภูเต้าทอง อายุ 53 ปี บ้านเลขที่ 151 ชาวนาบ้านโนนศิลาอาสน์ หมู่ 9 ต.คำเหมือดแก้ว อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า วันนี้ตนนำข้าวมะลิ กข. 15 หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าข้าวดอ ที่เกี่ยวสดมาขาย ได้ราคา ก.ก.ละ 8.10 บาท หรือตันละ 8,100 บาท ได้เงินหมื่นกว่าบาท แต่เมื่อหักค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เป็นต้นทุนการผลิต ทั้งค่าเมล็ดพันธุ์ ค่ารถไถ ค่าปุ๋ย ค่าเก็บเกี่ยวไร่ละ 600 บาท และค่าขนส่งแล้ว สรุปว่าขาดทุน อยากให้รัฐบาลช่วยปรับราคารับซื้อข้าวเปลือกให้สูงกว่านี้ด้วย เพราะหากรับซื้อราคาเท่านี้ ชาวนาไม่วันลืมตาอ้าปากได้แน่ หากรับซื้อที่ราคา ก.ก.ละ 10 บาทขึ้นไป ก็ยังจะมีทุนสู้ต่อไป

ด้านนายบัณฑิต ภูบุตรตะ อายุ อายุ 53 ปี บ้านเลขที่ 391 หมู่ 4 บ้านตูม ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตนเพิ่งนำข้าวเปลือกเหนียว กข. 22 ไปขาย ได้ราคา กก.ละ 5.50 บาท ถูกกว่าบะหมี่สำเร็จรูป หักรายจ่ายแล้วช้ำใจ เพราะไม่เหลือจ่ายค่าปุ๋ยเคมีเลย ไม่มีเงินไปใช้หนี้ ธกส.ถึงแม้ผลผลิตข้าวจะได้ไร่ละ 400 ก.ก. แต่เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูง โดยเฉพาะค่าปุ๋ยเคมีและค่าเก็บเกี่ยว ไร่ละ 800 บาท จึงไม่เหลือติดไม้ติดมือเลย อย่างไรก็ตามก็ยังหวังว่าราคาขายข้าวนาปี หรือข้าวเหนียว กข. 6 ราคาจะสูงขึ้นไม่น้อยกว่า กก.ละ 7-9 บาท ซึ่งก็จะทำให้พอมีกำไรและมีเงินทุนทำนาต่อไป แต่หากราคายังอยู่ที่ ก.ก.ละ 5-6 บาท ชาวนาขาดทุนหนัก หากเป็นอย่างนั้น เห็นทีปีต่อไปตนคงเลิกทำนา จะทิ้งให้นาร้าง ปล่อยน้ำ ปล่อยปลา พอได้เป็นอาหารกินประทังชีวิตไป เพราะหากทำนา ก็คงขาดทุนอีก

 

“นายกฯ”กำชับ ดูแลชาวนา บรรเทาราคาข้าวตกต่ำ

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ไม่ได้นิ่งนอนใจ ต่อกรณีที่ชาวนาร้องเรียนราคาข้าวตกต่ำจนถูกกว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และกำชับกระทรวงพาณิชย์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)เร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบทั้งโควิด-19 น้ำท่วม ราคาข้าวตกต่ำ จึงต้องหาทางบรรเทาความเดือดร้อนโดยเร็ว ขณะนี้ธ.ก.ส. แจ้งว่าระบบจะโอนเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในโครงการประกันรายได้ งวดแรกในวันที่ 9 พ.ย.นี้ 

นายธนกร กล่าวถึงราคาข้าวที่ลดต่ำลงในช่วงนี้ ว่า มาจากปัจจัยหลายด้าน เช่น การส่งออกข้าวไปต่างประเทศ การบริโภคในประเทศที่ลดลง ปริมาณฝนตกชุก ปัญหาน้ำท่วมส่งผลต่อคุณภาพข้าว โดยกระทรวงพาณิชย์ รายงานว่าคำสั่งซื้อข้าวจากต่างประเทศมีมากขึ้นในช่วง 6 เดือนหลัง และค่าเงินบาทอ่อนตัวลง จึงเพิ่มความสามารถในการแข่งขันข้าวไทยและคาดว่าปีนี้ จะส่งออกได้ราว 6 ล้านตันตามที่ตั้งเป้าไว้ ขณะที่ความต้องการบริโภคในประเทศมีสัญญานดีขึ้น และสถานการณ์น้ำท่วมเริ่มคลี่คลาย มาตรการที่กระทรวงพาณิชย์เข้าไปแก้ไขปัญหาจะช่วยให้ราคาข้าวเปลือกในตลาดดีขึ้นเป็นลำดับ

“ราเมศ” ยันพรุ่งนี้เพื่อ “ชาวนา”รอรับส่วนต่างงวดแรกจากโครงการประกันรายได้ ย้อนบางพรรคทำ “พรุ่งนี้เพื่อใคร”ชี้ชาวนาจำโครการจำนำข้าวได้ดี เตือนบิดเบือนคำพิพากษาระวังคนในคุกถาม

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่มีพรรคการเมืองพยายามโจมตีโครงการประกันรายได้ ว่า ขณะนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีหลักการสำคัญตรงกันคือดูแลใส่ใจเกษตรกรผู้ปลูกข้าวอย่างเต็มที่ และโครงการประกันรายได้ ยังคงเดินเครื่องเพื่อเป็นหลักประกันในเรื่องรายได้ของพี่น้องเกษตรกร ซึ่งสถานการณ์ช่วงนี้เมื่อมีปัญหาเรื่องราคาข้าว แต่พี่น้องชาวนาก็จะได้รับส่วนต่างรายได้ที่ขาดหายไป ซึ่งรัฐบาลได้ชี้แจงล่าสุด เตรียมจ่ายส่วนต่างประกันรายได้ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวงวดแรก 9 พ.ย.นี้ ซึ่งมีพี่น้องชาวนาเป็นจำนวนกว่า 4.68 ล้านครัวเรือน นอกจากนี้ยังมีมาตรการเสริมเพื่อผลักดันให้ราคาข้าวสูงขึ้นอีกหลายประการ ที่สำคัญจะมีมาตรการส่งเสริมการส่งออกข้าว ซึ่งสิ้นปีนี้ ที่มีจำนวน กว่า 6 ล้านตัน เชื่อว่าสถานการณ์ราคาข้าวจะดีขึ้นอย่างแน่นอน

“ความจริงแล้วพี่น้องชาวนาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า โครงการประกันรายได้ เป็นโครงการที่ดีและเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกร พรรคการเมืองที่คิดเพียงแค่การบิดเบือนเพื่อช่วงชิงคะแนนเสียงประชาชนเขาดูออก การที่ยกโครงการจำนำข้าวมาพูดถึงก็เป็นสิทธิ แต่ควรพูดให้จริงและให้ครบถ้วน หากคิดถึงพี่น้องชาวนาควรติติงเสนอแนะอย่างสร้างสรรค์เพื่อประโยชน์ของชาวนา อย่าคิดเพียงเพื่อประโยชน์ของพรรคการเมือง”นายราเมศกล่าว

 

ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 'ไทย-เวียดนาม' จับมือดันราคาข้าวเพื่อชาวนา!!

'อลงกรณ์' เผยเจรจาเวียดนามสำเร็จตกลงจับมือไทยยกระดับราคาข้าวในตลาดโลก เตรียมเสนอรัฐมนตรีเกษตร "เฉลิมชัย-เล มิน ฮวาน" ตั้งกลไกขับเคลื่อนพร้อมขยายการค้าสินค้าเกษตร2ชาติ

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยวันนี้ (29 ส.ค)ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจการเยือนสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามตามที่ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มอบหมายว่า ในการเยือนสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามครั้งนี้นับว่าประสบความสำเร็จในการขยายความร่วมมือด้านการเกษตรและการค้าระหว่าง 2 ประเทศโดยเฉพาะผลการประชุมหารือความร่วมมือด้านข้าวกับ นายเจิ่น แทงห์ นาม (H.E. Mr. Tran Thanh Nam) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทและคณะผู้บริหารระดับสูง ณ นครเกิ่นเทอ โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ.เวียดนามยืนยันอย่างแข็งขันและมุ่งมั่นในการร่วมมือกับไทยยกระดับราคาข้าวในตลาดโลก

“การเจรจาครั้งนี้เป็นการเจรจารอบที่2ต่อจากการประชุมหารือที่ฝ่ายไทยเสนอข้อริเริ่มให้มีความร่วมมือร่วมกันยกระดับราคาข้าวที่กรุงเทพเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาและรายงานให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรทั้ง2ฝ่ายคือดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และนายเล มิน ฮวาน (Mr. Le Minh Hoan) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและพัฒนาได้ทราบและเห็นด้วยในหลักการจนนำมาสู่การเจรจาล่าสุดนับเป็นความสำเร็จและเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยและเวียดนามซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกข้าวอันดับที่2และ3ของโลกตกลงร่วมมือกันเพื่อยกระดับราคาข้าวในตลาดโลก เป็นงานที่ยากและยังมีภารกิจที่ท้าทายรออยู่เบื้องหน้าจะสำเร็จตามเป้าหมายหรือไม่ยังตอบไม่ได้แต่วันนี้เราได้เริ่มเดินก้าวแรกร่วมกันแล้วในฐานะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ด้านการเกษตร”

นายอลงกรณ์กล่าวว่า “เราเห็นตรงกันว่าราคาข้าวในตลาดโลกไม่เป็นธรรมกับประเทศผู้ผลิตและชาวนาของ2ประเทศมาเป็นเวลายาวนานนำมาซึ่งหนี้สินและความยากจนจึงถึงเวลาที่ต้องต่อสู้เพื่อชาวนา ตัวอย่างชัดเจนที่สุดคือราคาข้าวในปัจจุบัน ไม่สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตข้าวที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งราคาปุ๋ยและราคาน้ำมันจากผลกระทบของวิกฤตการณ์โควิด19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครนหากปล่อยสถานการณ์ราคาข้าวเป็นอยู่เช่นนี้ชาวนาจะอยู่ไม่ได้เพราะขาดทุนหันไปทำเกษตรอื่นที่มีรายได้มากกว่าจะส่งผลให้ปริมาณการผลิตข้าวลดลงในระยะยาวกระทบต่ออุปทานข้าวของโลกสวนทางกับอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นและปัญหาความมั่นคงด้านอาหารจะรุนแรงมากขึ้น”

นายอลงกรณ์เปิดเผยด้วยว่า ทั้ง2ฝ่ายจะนำเสนอผลสรุปของการประชุมเสนอต่อรัฐมนตรีเกษตรของ2ประเทศเพื่อตั้งกลไกขับเคลื่อนร่วมกันในรูปของคณะทำงานเฉพาะกิจ และให้แจ้งสมาคมชาวนา สมาคมผู้ค้าข้าว สถาบันอาหารและสมาคมผู้ส่งออกข้าวของไทยและเวียดนามได้ทราบถึงแนวทางความร่วมมือดังกล่าว รวมทั้งจะเจรจาความร่วมมือกับประเทศผู้ผลิตและผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อื่น ๆ ต่อไป

โดยระหว่างนี้จะกระชับความร่วมมือด้านข้าวระหว่างไทยกับเวียดนามในระดับองค์กรชาวนาและหน่วยงานด้านการเกษตรให้มากขึ้นซึ่งนายฟาน จี๊ ทัญ เอกอัครราชทูตเวียดนามประจำประเทศไทยมีส่วนสำคัญต่อการประสานความร่วมมือระหว่าง2ประเทศในครั้งนี้

เปิดตลาดนัดข้าวเปลือก ช่วยเหลือเกษตรกรแก้ไขปัญหาราคาข้าวเปลือกตกต่ำ

ที่บริเวณสหกรณ์การเกษตรเพชรบูรณ์ จำกัด ตำบลดงมูลเหล็ก อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ นายสุเมธ ธีรนิติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธานในการเปิดตลาดนัดข้าวเปลือก ปีการผลิต 2565/2566 โดยมี นายสุพล ศรีทับทิม พาณิชย์จังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวรายงาน พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการ เกษตรกร เข้าร่วม

นายสุเมธ ธีรนิติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า จังหวัดเพชรบูรณ์ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ จัดโครงการตลาดนัดข้าวเปลือก เพื่อแก้ไขปัญหาราคาข้าวเปลือกตกต่ำ และให้เกิดกลไกการแข่งขันการรับซื้อข้าวเปลือกของเกษตรกร โดยจัดหาผู้ประกอบการเข้าไปรับซื้อข้าวเปลือก และมีการกำกับดูแลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกกิจกรรมขั้นตอนการรับซื้อ ซึ่งนอกจากใช้เป็นแหล่งรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรทั่วไปในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียงแล้ว ยังสามารถเพิ่มทางเลือกให้เกษตรกร เพื่อพัฒนาระบบการซื้อขายแบบตลาดกลางอีกด้วย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top