Sunday, 27 April 2025
รัชกาลที่3

ที่สถิตแห่งความผูกพัน ‘วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร’ ศิลปะแห่งการผสมผสาน ที่ ‘รัชกาลที่ 3’ ทรงผูกพัน ทรงรับสั่ง “ตายแล้วจะมาอยู่ที่วัดนี้”

เมื่อไม่นานมานี้ เฟซบุ๊ก ‘น้ำเงินเข้ม’ ได้โพสต์เรื่องราวถึงความผู้กพันระหว่าง ‘พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3’ และ ‘วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร’ โดยระบุว่า

วัดที่ “ร.3” ทรงผูกพันมาก ถึงขั้นรับสั่งว่า ตายแล้วจะมาอยู่ที่วัดนี้

“ถ้าข้าตายแล้ว ข้าจะมาอยู่ที่ต้นพิกุลนี้”
คือพระราชกระแสรับรับสั่งของ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 

ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว นับได้ว่าอยู่ในยุคแห่งความรุ่งเรืองและมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองอย่างมาก เพราะล้นเกล้าฯ ทรงหาเงินเข้าท้องพระคลังได้เป็นจำนวนมาก ด้วยวิธีการระบบการจัดเก็บภาษี เช่น จังกอบ อากร ฤๅชา ส่วย ภาษีเงินค่าราชการจากไพร่ เงินค่าผูกปี้ข้อมือจีน และวิธีที่ทรงหาเงินมาได้มากที่สุดก็คือ การต่อกำปั่นเรือสำเภาออกไปค้าขายกับต่างประเทศ ซึ่งทรงสนพระราชหฤทัยและเชี่ยวชาญมาตั้งแต่ครั้งทรงเป็น “พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์” จนพระบรมชนกนาถ (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2) ตรัสเรียกพระองค์ว่า “เจ้าสัว” 

กล่าวกันว่าหลังสวรรคต เงินในท้องพระคลังยังคงมีเหลือถึง 40,000 ชั่งเลยทีเดียว นอกจากนี้เงินบางส่วนในจำนวนนี้ยังช่วยกู้แผ่นดินไว้ได้เมื่อครั้งเกิดวิกฤติในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในกรณีพิพาทระหว่างประเทศ ร.ศ. 112 กับฝรั่งเศส ซึ่งล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 3 ได้รับสั่งให้ใส่ถุงแดงเก็บไว้ไถ่บ้านไถ่เมือง ราวกับทรงรู้เหตุการณ์ล่วงหน้า 

ด้วยเหตุที่เป็นยุคสมัยที่มีความมั่นคงและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมาก รัชกาลที่ 3 จึงทรงปรารถนาที่จะทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา ทรงบูรณะวัดวาอารามขึ้นมาใหม่หลายวัด หนึ่งในนั้นก็คือ วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร อันถือกันว่าเป็นวัดประจำรัชกาล และเป็นที่มาของพระราชกระแสรับสั่งดังที่กล่าวไว้ข้างต้น แสดงถึงความผูกพันที่ทรงมีกับวัดแห่งนี้

“วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร” เดิมชื่อ “วัดจอมทอง” เป็นวัดเก่าแก่ฝั่งธนบุรีที่มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ต่อมารัชกาลที่ 3 ทรงสถาปนาวัดแห่งนี้ขึ้นใหม่ทั้งพระอาราม ตั้งแต่ยังทรงพระอิสริยยศพระเจ้าลูกยาเธอฯ ต่อมาเมื่อครั้งปี พ.ศ. 2363 ทรงยกทัพไปสกัดพม่าที่ด่านเจดีย์สามองค์ จ.กาญจนบุรี เมื่อกระบวนทัพเรือมาถึงวัดจอมทองแห่งนี้ จึงทรงหยุดพักและทำพิธีเบิกโขลนทวารตามตำราพิชัยสงคราม และทรงตั้งจิตอธิษฐานให้มีชัยชนะในศึกราชการทัพครั้งนี้ แต่ปรากฏว่าไม่มีทัพพม่ายกเข้ามา จึงทรงยกทัพกลับ และเดิมทีวัดแห่งนี้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2360 หลังเสร็จศึกจึงทรงบูรณะต่อจนแล้วเสร็จและยกสถานะขึ้นเป็นพระอารามหลวง ปัจจุบันเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร และพระราชทานนามให้ใหม่ว่า “วัดราชโอรส” หมายถึงตัวพระองค์เอง แล้วโปรดให้มีงานฉลองสมโภชเมื่อปี พ.ศ. 2374 

ในการบูรณปฏิสังขรณ์วัดราชโอรสฯ แห่งนี้ ทรงควบคุมงานก่อสร้างโดยพระองค์เอง และสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ล้วนเป็นไปตามพระราชนิยมโดยผสมผสานระหว่างไทยและจีนเข้าด้วยกันอย่างประณีต แตกต่างจากยุคสมัยในรัชกาลก่อน ๆ ดังกลอนเพลงยาวยอพระเกียรติยศที่พระยาไชยวิชิต (เผือก) แต่งทูลเกล้าฯ ถวายพระองค์ ความตอนหนึ่งว่า

“วัดไหนไหนก็ไม่ลือระบือยศ เหมือนวัดราชโอรสอันสดใส
เป็นวัดเดิมเริ่มสร้างไม่อย่างใคร ล้วนอย่างใหม่ทรงคิดประดิษฐ์ทำ

ทรงสร้างด้วยมหาวิริยาธึก โอฬารึกพร้อมพริ้งทุกสิ่งขำ
ล้วนเกลี้ยงเกลาเพราเพริศดูเลิศล้ำ ฟังข่าวคำลือสุดอยุธยา

จะรำพันสรรเสริญก็เกินสมุด ขอยกหยุดพองามตามเลขา
กำหนดสร้างพระอาวาสโดยมาตรา ประมาณช้านับได้สิบสี่ปี”

นอกจากนี้ จอห์น ครอว์เฟิร์ด ผู้ซึ่งเป็นแพทย์ นักการทูต และนักเขียนชาวสก็อตติช และเป็นทูตที่เดินทางเข้ามายังสยามเมื่อปี พ.ศ. 2364 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ตามคำสั่งของลอร์ดเฮสติงส์ ผู้สำเร็จราชการประจำอินเดีย เพื่อให้สยามยกเลิกการจำกัดการค้าเสรี แต่ด้วยการแสดงกิริยาที่ไม่เหมาะสมของครอว์เฟิร์ดทำให้การเจรจาล้มเหลวและต้องเดินทางกลับไป ได้บันทึกเรื่องราวการก่อสร้างวัดราชโอรสฯ แห่งนี้ไว้เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2365 ว่า

ตามบรรดาวัดที่เราได้เห็นมาแล้วในกรุงเทพฯ ไม่มีวัดไหน จะทำด้วยฝีมือประณีตงดงามเท่าวัดนี้ ขณะที่เราไปนั้นวัดกำลังก่อสร้างอยู่ เราได้มีโอกาสเห็นลำดับแห่งการก่อสร้าง เช่น องค์พระประธาน ก็เห็นหล่อขึ้นแล้ว แต่บางส่วนวางเรียงรายอยู่ในโรงงานแห่งหนึ่ง รอไว้ประกอบเมื่อภายหลัง ได้ทราบว่าโลหะที่ใช้ในการนี้ คือ ดีบุก สังกะสี ทองแดง เจือด้วยธาตุอื่นๆ อีกบ้างโดยไม่มีส่วนที่แน่นอนเพราะจักเป็นการยากอยู่บ้างที่จะกำหนดส่วน

31 มีนาคม วันมหาเจษฎาบดินทร์ วันคล้ายวันพระราชสมภพ รัชกาลที่ 3

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 พระมหากษัตริย์ผู้ทรงมีคุณูปการแก่สยามประเทศ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2330 ตรงกับแรม 10 ค่ำ เดือน 4 ปีมะแม เวลา 22.30 น. ณ พระราชวังเดิม กรุงธนบุรี

พระองค์เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ครั้งดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร กับเจ้าจอมมารดาเรียม (ธิดาพระยานนทบุรีศรีมหาอุทยาน)

เมื่อแรกประสูติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำรงพระอิสริยฐานันดรศักดิ์เป็นพระเจ้าหลานเธอ หม่อมเจ้าชายทับ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์จักรี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงเป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชมาก

เพราะนอกจากจะทรงเป็นหลานปู่พระองค์ใหญ่แล้ว ยังมีพระพักตร์คล้ายสมเด็จพระบรมอัยกาธิราชยิ่งนัก จึงเป็นเหตุให้พระองค์ได้รับพระราชทานเกียรติเป็นพิเศษ เช่น เมื่อพระชันษาครบปีที่จะเจริญพระเมาฬีตามประเพณีนิยมของไทย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้ตั้งการพระราชพิธีเกศากันต์ (ตัดจุก) ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ภายในพระบรมมหาราชวัง

เมื่อสมเด็จพระบรมชนกนาถได้รับอุปราชาภิเษกขึ้นเป็น กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในปี พ.ศ. 2349 พระองค์จึงมีพระอิสริยยศเป็น พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าชายทับ ครั้นสมเด็จพระบรมชนกนาถได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ในปี พ.ศ. 2352 พระองค์ได้เลื่อนฐานันดรศักดิ์ขึ้นเป็นพระองค์เจ้าชั้นเอก ออกพระนามว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าชายทับ จนปี พ.ศ. 2356 ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทรงกรม เป็น พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ โดยทรงได้รับการไว้วางพระราชหฤทัยจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ ให้ทรงกำกับราชการกรมท่า กรมพระคลังมหาสมบัติ กรมพระตำรวจว่าความฎีกา นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าฯ ให้รับราชการต่างพระเนตรพระกรรณด้วย

29 ตุลาคม ของทุกปี เป็น ‘วันภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยแห่งชาติ’ น้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ รัชกาลที่ 3

วันที่ 29 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยแห่งชาติ น้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบิดาแห่งการแพทย์แผนไทย

ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย เป็นรากฐานสำคัญของการดำรงอยู่คนไทยที่เกิดจากการเรียนรู้และสืบทอดองค์ความรู้ในการดูแลรักษาสุขภาพมาช้านาน มีการรวบรวมองค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยมาเผยแพร่ในวงกว้าง

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า รัชกาลที่ 3 มีพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อม แก่ปวงชนชาวไทยนานัปการ พระราชกรณียกิจที่สำคัญยิ่งประการหนึ่ง คือ การรวบรวมองค์ความรู้ ด้านการแพทย์แผนไทยมาเผยแพร่ ทำให้ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยเป็นรากฐานของชาติไทย 

และตามหลักฐานจารึกแผ่นศิลาว่าด้วยการปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร และได้ทอดพระเนตรเห็นพระอุโบสถ พระวิหาร พระระเบียง กุฏิเสนาสนะต่าง ๆ ชำรุดปรักหักพังมาก จึงมีพระราชศรัทธาจะปฏิสังขรณ์และขยายพื้นที่ให้มากกว่าเดิมและมีพระบรมราชโองการให้รื้อพระอุโบสถเดิม และก่อเสนาสนะสงฆ์ต่าง ๆ มีการจารึกตำราการแพทย์แผนไทยติดประดับไว้ตามศาลาราย เช่น แผนฝีดาษ ฝียอดเดียว แผนชัลลุกะ แผนลำบองราหู แผนกุมารและแม่ซื้อ 

อีกทั้ง มีการจัดสร้างรูปฤๅษีดัดตน ตั้งไว้ศาลาละ 4-5 รูป รวม 16 หลัง ซึ่งองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศรับรองให้ศิลาจารึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ทำให้การแพทย์แผนไทยมีความเจริญ รุ่งเรือง เกิดคุณูปการแก่ประชาชนในวงกว้าง ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติและแสดงถึงความกตัญญูกตเวที กระทรวงสาธารณสุขจึงเห็นสมควรถวายพระราชสมัญญา ‘พระบิดาแห่งการแพทย์แผนไทย’ แด่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า และกำหนดให้วันที่ 29 ตุลาคม ของทุกปี เป็น ‘วันภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยแห่งชาติ’

29 ตุลาคม ของทุกปี วันภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยแห่งชาติ ร่วมตระหนักในคุณค่ามรดกทางภูมิปัญญาของไทย

วันที่ 29 ตุลาคม ของทุกปีเป็นวัน 'ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยแห่งชาติ' เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ที่ทรงจารึกตำราแพทย์แผนไทยให้เป็นภูมิปัญญาของชาติ

เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณและเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อม แก่ปวงชนชาวไทยนานัปการ พระราชกรณียกิจที่สําคัญในการรวบรวมองค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยมาเผยแพร่ในวงกว้าง ทําให้ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยเป็นรากฐานของชาติไทย และตามหลักฐานจารึกแผ่นศิลาว่าด้วยการปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ครั้งรัชกาลที่ 3 จ.ศ. 1193 ตรงกับวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2374

ตามหลักฐานจารึกแผ่นศิลาว่าด้วยการปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร และได้ทอดพระเนตรเห็นพระอุโบสถ พระวิหาร พระระเบียง กุฏิเสนาสนะต่าง ๆ ชำรุดปรักหักพังมาก จึงมีพระราชศรัทธาจะปฏิสังขรณ์และขยายพื้นที่ให้มากกว่าเดิมและมีพระบรมราชโองการให้รื้อพระอุโบสถเดิม และก่อเสนาสนะสงฆ์ต่าง ๆ มีการจารึกตำราการแพทย์แผนไทยติดประดับไว้ตามศาลาราย เช่น แผนฝีดาษ ฝียอดเดียว แผนชัลลุกะ แผนลำบองราหู แผนกุมารและแม่ซื้อ อีกทั้ง มีการจัดสร้างรูปฤๅษีดัดตน ตั้งไว้ศาลาละ 4-5 รูป รวม 16 หลัง 

ซึ่งองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศรับรองให้ศิลาจารึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2554 นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ทำให้การแพทย์แผนไทยมีความเจริญ รุ่งเรือง เกิดคุณูปการแก่ประชาชนในวงกว้าง ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติและแสดงถึงความกตัญญูกตเวที กระทรวงสาธารณสุขจึงเห็นสมควรถวายพระราชสมัญญา 'พระบิดาแห่งการแพทย์แผนไทย' แด่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า และกำหนดให้วันที่ 29 ตุลาคม ของทุกปี เป็น 'วันภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยแห่งชาติ'

30 ตุลาคม พ.ศ. 2369 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์คุณหญิงโมเป็น ‘ท้าวสุรนารี’

30 ตุลาคม พ.ศ. 2369 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์ คุณหญิงโม ภริยาของพระยามหิศราธิบดี (พระยาปลัด) ที่ปรึกษาราชการแห่งเมืองนครราชสีมา ขึ้นเป็น "ท้าวสุรนารี” จากวีรกรรมที่ใช้อุบายต่อสู้กับทหารลาวของ เจ้าอนุวงศ์ แห่งเวียงจันทน์ ซึ่งก่อกบฏยกทัพมาตีเมืองนครราชสีมา หลังจากเจ้าอนุวงศ์ยึดเมืองนครราชสีมาสำเร็จ และได้กวาดต้อนชาวโคราชไปเป็นเชลย รวมทั้งคุณหญิงโมด้วย 

ระหว่างการเดินทางคุณหญิงโมได้ออกอุบายขอมีดพร้าจอบเสียมจากทหารลาว ว่าจะนำไปตัดไม้ทำที่พักแรม แต่แท้จริงได้นำมาเสี้ยมไม้เก็บซ่อนไว้เป็นอาวุธ ทั้งยังหลอกล่อให้การเดินทางล่าช้า เพื่อรอกำลังสนับสนุนจากรุงเทพฯ จนเมื่อเข้าเขตทุ่งสัมฤทธิ์ เมืองพิมาย 

คุณหญิงโมจึงวางแผนโจมตีกองทัพของเจ้าอนุวงศ์จนได้รับชัยชนะ ต้องล่าถอยออกไป ก่อนที่ทัพจากกรุงเทพฯ จะมาสมทบ จากความดีความชอบครั้งนี้ รัชกาลที่ 3 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์ คุณหญิงโมเป็นท้าวสุรนารี พร้อมเครื่องยศทองคำ เช่น ถาดทองคำ จอกหมาก กู่ ตลับทองคำสามใบ เต้าปูนทองคำ คนโทน้ำทองคำ ขันทองคำ เป็นต้น นับเป็นสตรีสามัญชนในประวัติศาสตร์ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นวีรสตรีของชาติ 

ปลดล็อกการค้าสร้างเศรษฐกิจสยามเฟื่องฟู ไม่ผูกขาดดังคำปดของคนรุ่นใหม่

ในช่วงเวลาแห่งการปกครองโดยล้นเกล้ารัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า นั้น ประเทศสยามได้ผ่านความยุ่งยากของการสร้างบ้านแปงเมือง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ผ่านยุครุ่งเรืองแห่งวรรณกรรม ภาษา การฟื้นฟูวัฒนธรรม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ และแม้ว่าในยุครัชกาลที่ ๓ จะมีสงครามอยู่บ้าง อาทิ สงครามข้างเจ้าอนุวงศ์ สงครามพิพาทกับทางข้างญวณ แต่ในยุคของพระองค์เรียกได้ว่าเป็นยุคแห่งการค้าขายและ Cross Culture โดยแท้ 

พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  รัชกาลที่ ๒ ที่เกิดจากเจ้าคุณจอมมารดาเรียม (สถาปนาเป็นที่ 'สมเด็จกรมพระศรีสุลาลัย' ในรัชกาลที่ ๓) ด้วยความที่พระองค์เป็นพระราชโอรสองค์โต อีกทั้งทรงละม้ายคล้ายในหลวงรัชกาลที่ ๑ จึงได้รับพระเมตตาเป็นอย่างยิ่ง กอรปกับพระองค์ทรงมีความสามารถ เฉลียวฉลาดสามารถช่วยราชกิจของพระราชบิดาได้อย่างหลากหลาย จนเมื่อมีการตั้งเจ้านายเพื่อทรงกำกับราชการกรมสำคัญ ๆ ในการบริหารราชการส่วนกลางโดยมีฐานะเป็นผู้กำกับกรมคู่ไปกับเสนาบดีเดิม รัชกาลที่ ๓ ในขณะที่พระองค์ยังทรงเป็น 'กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์' พระองค์ได้ทรงกำกับดูแลกรมสำคัญที่เรียกได้ว่าเป็นหัวใจของสยามในเวลานั้นเลยทีเดียว เริ่มจากทรงกำกับ 'กรมพระคลังมหาสมบัติ' ดูแลทรัพย์ที่เป็นเส้นเลือดหลัก จากนั้นก็เพิ่มเติมไปกำกับ 'กรมท่า' ซึ่งดูแลหัวเมืองชายทะเลทั้งหลาย กำกับการติดต่อกับชาวต่างชาติ และกำกับการแต่งเรือสำเภาไปค้าขายเรียกได้ว่าไม่เก่งทำไม่ได้ 

'เจ้าสัว' ของพ่อ ความเก่งกาจฉลาดปราดเปรื่องเป็นที่เลื่องลือ ทั้งข้าราชบริพาร และพระประยูรญาติ ทราบถึงคำชมเชยที่ในหลวงรัชกาลที่ ๒ ได้กล่าวถึงโอรสพระองค์นี้อย่างสม่ำเสมอ เมื่อทรงกำกับราชการกรมท่า พระองค์ได้ทรงแต่งสำเภาบรรทุกสินค้าออกไปค้าขายในต่างประเทศ ทำให้สยามมีรายได้เพิ่มขึ้นในท้องพระคลังเป็นอย่างมาก จนพระราชบิดาทรงเรียกพระองค์ว่า 'เจ้าสัว' 

จากการที่ทรงกำกับหน่วยงานสำคัญจึงเป็นปัจจัยให้พระองค์ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระบรมราชชนกได้โดยไม่มีผู้ใดคัดค้าน ก็ทรงเก่งสุด ๆ อาวุโสได้ ที่สำคัญคือได้รับการยอมรับจากบรรดาเชื้อพระวงศ์ เหล่าขุนนางทั้งหลาย ให้ขึ้นครองราชย์ที่เรียกว่า “อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ” โดยหลังจากทรงครองราชย์แล้วก็ทรงปรับปรุงการค้าขาย การเก็บภาษี กฎหมาย พัฒนาสยามไปในหลายทาง 

กอบกู้เศรษฐกิจด้วยการค้า ปรับปรุงระบบภาษี ส่งเงินเข้าพระคลังหลวง 
เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นครองราชย์สมบัติเมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๖๗ ต้องยอมรับว่าในเวลานั้น สยามยังอยู่ในภาวะขาดแคลนทรัพย์ เนื่องจากครั้งสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ จำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมาก ในการสร้างบ้านแปงเมือง ประกอบกับการปราบปรามอริราชศัตรูให้ราบคาบ เมื่อเป็นดังนี้เมื่อบ้านเมืองเริ่มสงบการหาทรัพย์มาเพื่อเป็นทุนสำรองของบ้านเมืองจึงเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อเป็นดังนี้พระองค์จึงได้ปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีขึ้นมาเพื่อหาเงินเข้าท้องพระคลังหลวง จากเดิมที่ระบบภาษีทั้ง จังกอบ อากรฤชา ส่วย ภาษี เงินค่าราชการจากพวกไพร่ เงินค่าผูกปี้ข้อมือจีน ยังเก็บได้ไม่ชัดเจน พระองค์จึงทรงเริ่มปรับปรุงการเก็บภาษีอากรจากรูปของสินค้า และแรงงานให้กลายมาเป็นการชำระด้วยเงินตรา พร้อมกำหนดรายการภาษีใหม่ ๓๘ รายการ

พระองค์ทรงตั้งระบบการเก็บภาษีโดยให้เอกชนประมูลรับเหมาผูกขาด ไปเรียกเก็บภาษีจากราษฎรเอง เรียกว่า “เจ้าภาษี” หรือ “นายอากร” ซึ่งส่วนใหญ่ชาวจีนจะเป็นผู้ประมูลได้ การเก็บภาษีด้วยวิธีการนี้ ทำให้เกิดผลดีหลายประการ โดยเฉพาะด้านตัวเลขเพราะมีการกำหนดไว้อย่างชัดเจน ทำให้สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดี เกิดการค้าขายที่มีระบบมากขึ้นเพราะมีกำหนดอัตราตามค่าเงิน ทำให้สามารถเก็บเงินเข้าพระคลังมหาสมบัติได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งยังส่งผลดีทางด้านการเมือง เพราะทำให้เจ้าภาษีนายอากรส่วนใหญ่ที่เป็นชาวจีนนั้นมีความผูกพันกับสยามในฐานะข้าราชการมีความจงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์ และแผ่นดินสยามอย่างยิ่งยวด 

เปิดประเทศค้าขายต่อเนื่อง ยกเลิกการผูกขาด
นอกจากรายได้จากการเก็บภาษีแล้ว รายได้เข้ารัฐยังมาจากการค้าขายกับต่างประเทศ โดยนำระบบภาษีหลายชั้นมาใช้ในขาเข้าคือภาษีเบิกร่อง และภาษีขาออก ในเริ่มแรกก่อนครองราชย์มาจนช่วงต้นของการครองราชการค้ากับต่างชาติยังมีสินค้าบางอย่างที่ยังผูกขาดอาทิ  ครั่ง ไม้ฝาง งาช้าง การบูร และพริกไทย อีกทั้งผูกขาดในส่วนของสินค้าที่ใช้บรรทุก ในสําเภาหลวงจํานวนมากทำให้การค้าขายยังจำกัด 

ด้วยความเชี่ยวชาญในการส่งเรือสินค้ามาตั้งแต่ครั้งดำรงพระยศเป็น พระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เมื่อพระองค์เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ จึงทรงยกเลิกนโยบายผูกขาดสินค้า ปล่อยให้มีการค้าเสรี โดยการตัดสินใจเป็นของพระองค์เอง มิได้ทรงผูกพันกับสนธิสัญญาใด ๆ ดังที่มีนักวิชาการฝรั่งหลายคนเคยกล่าวไว้ ซึ่งสอดคล้องกับจดหมายของชาวโปรตุเกสผู้หนึ่ง ซึ่งมีไปถึงนายครอว์เฟิร์ดที่สิงคโปร์ใน พ.ศ. ๒๓๖๗ ความว่า

“ทันทีที่เจ้านายพระองค์นี้เสด็จขึ้นสู่ราชบัลลังก์ พระองค์ก็ได้ทรงพระกรุณาสั่งอนุญาตให้ทุกชาติที่มาเยี่ยมสยามได้ขายและซื้อ นําออก และนําเข้า กับประชาราษฎรทุกคนที่ตนคิดว่าสมควร โดยไม่มีข้อขัดขวาง เพียงแต่ต้องจ่ายภาษีศุลกากรเท่านั้น สิ่งนี้ได้ทําไปโดยไม่มีการวิวาทกับ พวกขุนนางเลย” (ยกเว้นขุนนางบางตระกูลที่เสียผลประโยชน์จากการยกเลิกการผูกขาดอาจจะมีการมองค้อนแต่ทำอะไรไม่ได้) 

ซึ่งการค้าเสรีนี้ได้สร้างเศรษฐกิจของประเทศให้มีเสถียรภาพมั่นคง และรายได้นี้ได้นำไปใช้ในการทำนุบำรุงบ้านเมือง การป้องกันประเทศ การศาสนา และด้านอื่นๆ ทั้งยังเป็นทุนสำรองของสยามทั้งในรัชสมัยของพระองค์เองและในรัชสมัยต่อ ๆ มา โดยรายได้ของแผ่นดินในรัชกาลที่ ๓ สูงขึ้นเป็นอย่างมาก โดยบางปีมีรายได้เข้าสู่ท้องพระคลังมากกว่า ๒๐ ล้านบาท

สนธิสัญญาเบอร์นี เปิดโอกาสชาติอื่นร่วมค้าขาย
'เฮนรี เบอร์นี' ทูตชาวอังกฤษได้เดินทางเข้ามายังกรุงรัตนโกสินทร์ใน พ.ศ. ๒๓๖๘ เพื่อเจรจาปัญหาทางการเมืองและการค้าในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทางด้านการค้า รัฐบาลอังกฤษประสงค์ขอเปิดสัมพันธไมตรีทางการค้ากับรัตนโกสินทร์ และขอความสะดวกในการในการค้าได้โดยเสรี ซึ่งการเจรจาได้ผลสำเร็จอันดี โดยมีการลงนามในสนธิสัญญากันเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๖๙

สนธิสัญญาเบอร์นี ประกอบด้วย สนธิสัญญาทางพระราชไมตรี ๑๔ ข้อ และสนธิสัญญาทางพาณิชย์ แยกออกมาอีกฉบับหนึ่ง รวม ๖ ข้อ ที่เกี่ยวกับการค้า อาทิ ข้อ ๕ ให้สิทธิพ่อค้าทั้งสองฝ่ายค้าขายตามเมืองต่างๆ ของอีกฝ่ายหนึ่งได้อย่างเสรีตามกฎหมาย ข้อ ๖ ให้พ่อค้าทั้งสองฝ่ายเสียค่าธรรมเนียมของอีกฝ่าย ข้อ ๗ ให้สิทธิแก่พ่อค้าจะขอตั้งห้าง เรือน และเช่าที่โรงเรือนเก็บสินค้าในประเทศอีกฝ่ายหนึ่งได้ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของกรมการเมือง ข้อ ๑๐ ว่าด้วยการทำการค้าในบางดินแดนของกลุ่มคนในสังกัดของทั้งสองฝ่ายที่จะต้องเป็นไปโดยไม่มีข้อจำกัด เป็นต้น 

ส่งออกเติบโต เรือเทียบเต็มท่า 
นอกจากการทำสนธิสัญญาเบอร์นี่กับอังกฤษเพื่อการเปิดเสรีทางการค้าแล้วนั้น สยามยังมีการติดต่อกับประเทศอื่น ๆ ทั้งในทวีปเอเชียและยุโรป มีการลดค่าปากเรือลง จากวาละ ๑,๗๐๐ บาท เหลือ ๑,๕๐๐ บาท ซึ่งสะท้อนให้เห็นความเอาใจใส่ของไทยสยามในการสนับสนุนการค้าของชาวต่างชาติให้รุ่งเรืองในประเทศทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้นมีการเก็บค่าปากเรือสูงถึง ๒,๒๐๐ บาท ทำให้การค้าระหว่างพ่อค้าตะวันตกและไทยเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างรวดเร็ว มีเรือกําปั่น เข้ามาจอดที่บางกอกเพื่อนําสินค้าของสยามออกไปขาย ในพ.ศ. ๒๓๘๕ มีรายงานว่ามีเรือกําปั่นเข้าเทียบท่า ไม่น้อยกว่า ๕๕ ลํา โดยส่วนใหญ่ เป็นเรือกําปั่นที่ชักธงอังกฤษ ในจํานวนนี้มีอยู่ ๙ ลําที่เข้าเทียบท่าบางกอกเป็นประจําทุกปี และถ้าไม่นับที่มาจากอังกฤษโดยตรง ๓-๔ ลําแล้ว ส่วนใหญ่ก็เป็นเรือกําปั่นมาจากบอมเบย์ สิงคโปร์ หรือจีน ซึ่งส่วนใหญ่ก็บรรทุกน้ำตาลออกไป ซึ่งปริมาณการส่งออกในช่วงปีนั้นมีมากถึง ๑๑๐,๐๐๐ หาบทั้งนี้ยังไม่รวมการส่งออกโดยเรือพาณิชย์ของรัฐกว่า ๑๔ ลำ รวมไปถึงเรือพาณิชย์ของขุนนางกว่า ๑๐ ลำ 

แต่ต้องยอมรับนอกเหนือไปจากการลงนามทางการค้าในสนธิสัญญาเบอร์นี่แล้วนั้น การค้าในฟากของชาติตะวันตกนั้นยังแฝงไปด้วยเรื่องทางการเมือง การล่าอาณานิคม และการเข้าแทรกแซงกิจการอื่น ๆ เพราะประเทศรอบข้างสยามในขณะนั้นกำลังเริ่มถูกคุกคาม ทำให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวยังมิได้ส่งเสริมการงานฟากตะวันตกอย่างเอิกเกริกนัก ทั้งยังทรงระแวดระวังมิให้สยามตกอยู่ในฝ่ายเพลี่ยงพล้ำทั้งการค้า และการเมืองดังที่ได้พระราชทานพระราชกระแสรับสั่งไว้ว่า

“การศึกสงครามข้างญวนข้างพม่าก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีก็อยู่แต่ข้างพวกฝรั่ง ให้ระวังให้ดีอย่าให้เสียท่าแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่คิดควรจะเรียนเอาไว้ก็เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสกันทีเดียว” 

เพราะนอกเหนือจากการค้าเสรีที่เฟื่องฟูในสมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ ๓ แล้ว การล่าอาณานิคมที่ไม่เสรีก็ตามติด ๆ มาในอีกไม่นานหลังจากนั้น

27 เมษายน พ.ศ. 2382 รัชกาลที่ 3 กับการ ‘ห้ามค้าฝิ่น’ ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ประกาศประวัติศาสตร์ที่วางรากฐานนโยบายควบคุมยาเสพติด

เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2382 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ทรงมีพระบรมราชโองการให้พิมพ์ประกาศห้ามสูบฝิ่นและค้าฝิ่นในพระราชอาณาจักร ถือเป็นก้าวสำคัญในการควบคุมสารเสพติดในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งในขณะนั้นการใช้ฝิ่นเริ่มแพร่หลายและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน รวมถึงความมั่นคงของเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม

ประกาศดังกล่าวมีเจตนารมณ์เพื่อขจัดภัยจากฝิ่นที่เริ่มทำลายรากฐานของครอบครัวและสังคม โดยเนื้อหาในประกาศระบุชัดถึงโทษของผู้กระทำผิด ทั้งในด้านการครอบครอง ค้า หรือเสพฝิ่น โดยให้ลงโทษตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้เพื่อลดจำนวนผู้เสพและยับยั้งการแพร่ระบาดของฝิ่นในราชอาณาจักร

การประกาศห้ามสูบและค้าฝิ่นครั้งนี้ยังแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์และความห่วงใยของรัชกาลที่ 3 ต่อสุขภาพประชาชนและความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง นับเป็นหนึ่งในพระราชกรณียกิจที่สำคัญในด้านสาธารณสุขและการบริหารราชการแผ่นดินในยุคต้นของประเทศไทย

นอกจากนี้ ประกาศดังกล่าวยังสะท้อนถึงการปรับตัวของสยามต่อสถานการณ์โลกในยุคนั้น โดยเฉพาะจากผลกระทบของสงครามฝิ่นในจีน ที่แสดงให้เห็นถึงภัยร้ายแรงของฝิ่นต่อสังคมและประเทศชาติ ซึ่งไทยได้เรียนรู้และเร่งดำเนินมาตรการเชิงรุกเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในลักษณะเดียวกันภายในประเทศ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top