ที่สถิตแห่งความผูกพัน ‘วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร’ ศิลปะแห่งการผสมผสาน ที่ ‘รัชกาลที่ 3’ ทรงผูกพัน ทรงรับสั่ง “ตายแล้วจะมาอยู่ที่วัดนี้”

เมื่อไม่นานมานี้ เฟซบุ๊ก ‘น้ำเงินเข้ม’ ได้โพสต์เรื่องราวถึงความผู้กพันระหว่าง ‘พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3’ และ ‘วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร’ โดยระบุว่า

วัดที่ “ร.3” ทรงผูกพันมาก ถึงขั้นรับสั่งว่า ตายแล้วจะมาอยู่ที่วัดนี้

“ถ้าข้าตายแล้ว ข้าจะมาอยู่ที่ต้นพิกุลนี้”
คือพระราชกระแสรับรับสั่งของ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 

ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว นับได้ว่าอยู่ในยุคแห่งความรุ่งเรืองและมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองอย่างมาก เพราะล้นเกล้าฯ ทรงหาเงินเข้าท้องพระคลังได้เป็นจำนวนมาก ด้วยวิธีการระบบการจัดเก็บภาษี เช่น จังกอบ อากร ฤๅชา ส่วย ภาษีเงินค่าราชการจากไพร่ เงินค่าผูกปี้ข้อมือจีน และวิธีที่ทรงหาเงินมาได้มากที่สุดก็คือ การต่อกำปั่นเรือสำเภาออกไปค้าขายกับต่างประเทศ ซึ่งทรงสนพระราชหฤทัยและเชี่ยวชาญมาตั้งแต่ครั้งทรงเป็น “พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์” จนพระบรมชนกนาถ (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2) ตรัสเรียกพระองค์ว่า “เจ้าสัว” 

กล่าวกันว่าหลังสวรรคต เงินในท้องพระคลังยังคงมีเหลือถึง 40,000 ชั่งเลยทีเดียว นอกจากนี้เงินบางส่วนในจำนวนนี้ยังช่วยกู้แผ่นดินไว้ได้เมื่อครั้งเกิดวิกฤติในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในกรณีพิพาทระหว่างประเทศ ร.ศ. 112 กับฝรั่งเศส ซึ่งล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 3 ได้รับสั่งให้ใส่ถุงแดงเก็บไว้ไถ่บ้านไถ่เมือง ราวกับทรงรู้เหตุการณ์ล่วงหน้า 

ด้วยเหตุที่เป็นยุคสมัยที่มีความมั่นคงและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมาก รัชกาลที่ 3 จึงทรงปรารถนาที่จะทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา ทรงบูรณะวัดวาอารามขึ้นมาใหม่หลายวัด หนึ่งในนั้นก็คือ วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร อันถือกันว่าเป็นวัดประจำรัชกาล และเป็นที่มาของพระราชกระแสรับสั่งดังที่กล่าวไว้ข้างต้น แสดงถึงความผูกพันที่ทรงมีกับวัดแห่งนี้

“วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร” เดิมชื่อ “วัดจอมทอง” เป็นวัดเก่าแก่ฝั่งธนบุรีที่มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ต่อมารัชกาลที่ 3 ทรงสถาปนาวัดแห่งนี้ขึ้นใหม่ทั้งพระอาราม ตั้งแต่ยังทรงพระอิสริยยศพระเจ้าลูกยาเธอฯ ต่อมาเมื่อครั้งปี พ.ศ. 2363 ทรงยกทัพไปสกัดพม่าที่ด่านเจดีย์สามองค์ จ.กาญจนบุรี เมื่อกระบวนทัพเรือมาถึงวัดจอมทองแห่งนี้ จึงทรงหยุดพักและทำพิธีเบิกโขลนทวารตามตำราพิชัยสงคราม และทรงตั้งจิตอธิษฐานให้มีชัยชนะในศึกราชการทัพครั้งนี้ แต่ปรากฏว่าไม่มีทัพพม่ายกเข้ามา จึงทรงยกทัพกลับ และเดิมทีวัดแห่งนี้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2360 หลังเสร็จศึกจึงทรงบูรณะต่อจนแล้วเสร็จและยกสถานะขึ้นเป็นพระอารามหลวง ปัจจุบันเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร และพระราชทานนามให้ใหม่ว่า “วัดราชโอรส” หมายถึงตัวพระองค์เอง แล้วโปรดให้มีงานฉลองสมโภชเมื่อปี พ.ศ. 2374 

ในการบูรณปฏิสังขรณ์วัดราชโอรสฯ แห่งนี้ ทรงควบคุมงานก่อสร้างโดยพระองค์เอง และสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ล้วนเป็นไปตามพระราชนิยมโดยผสมผสานระหว่างไทยและจีนเข้าด้วยกันอย่างประณีต แตกต่างจากยุคสมัยในรัชกาลก่อน ๆ ดังกลอนเพลงยาวยอพระเกียรติยศที่พระยาไชยวิชิต (เผือก) แต่งทูลเกล้าฯ ถวายพระองค์ ความตอนหนึ่งว่า

“วัดไหนไหนก็ไม่ลือระบือยศ เหมือนวัดราชโอรสอันสดใส
เป็นวัดเดิมเริ่มสร้างไม่อย่างใคร ล้วนอย่างใหม่ทรงคิดประดิษฐ์ทำ

ทรงสร้างด้วยมหาวิริยาธึก โอฬารึกพร้อมพริ้งทุกสิ่งขำ
ล้วนเกลี้ยงเกลาเพราเพริศดูเลิศล้ำ ฟังข่าวคำลือสุดอยุธยา

จะรำพันสรรเสริญก็เกินสมุด ขอยกหยุดพองามตามเลขา
กำหนดสร้างพระอาวาสโดยมาตรา ประมาณช้านับได้สิบสี่ปี”

นอกจากนี้ จอห์น ครอว์เฟิร์ด ผู้ซึ่งเป็นแพทย์ นักการทูต และนักเขียนชาวสก็อตติช และเป็นทูตที่เดินทางเข้ามายังสยามเมื่อปี พ.ศ. 2364 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ตามคำสั่งของลอร์ดเฮสติงส์ ผู้สำเร็จราชการประจำอินเดีย เพื่อให้สยามยกเลิกการจำกัดการค้าเสรี แต่ด้วยการแสดงกิริยาที่ไม่เหมาะสมของครอว์เฟิร์ดทำให้การเจรจาล้มเหลวและต้องเดินทางกลับไป ได้บันทึกเรื่องราวการก่อสร้างวัดราชโอรสฯ แห่งนี้ไว้เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2365 ว่า

ตามบรรดาวัดที่เราได้เห็นมาแล้วในกรุงเทพฯ ไม่มีวัดไหน จะทำด้วยฝีมือประณีตงดงามเท่าวัดนี้ ขณะที่เราไปนั้นวัดกำลังก่อสร้างอยู่ เราได้มีโอกาสเห็นลำดับแห่งการก่อสร้าง เช่น องค์พระประธาน ก็เห็นหล่อขึ้นแล้ว แต่บางส่วนวางเรียงรายอยู่ในโรงงานแห่งหนึ่ง รอไว้ประกอบเมื่อภายหลัง ได้ทราบว่าโลหะที่ใช้ในการนี้ คือ ดีบุก สังกะสี ทองแดง เจือด้วยธาตุอื่นๆ อีกบ้างโดยไม่มีส่วนที่แน่นอนเพราะจักเป็นการยากอยู่บ้างที่จะกำหนดส่วน

เมื่อใคร ๆ ก็มาทำบุญหยอดโน่นหยอดนี่ลงไปตามแต่จะศรัทธาไม่มีการห้ามหวง องค์พระที่หล่อขึ้นเป็นตอน ๆ นี้ข้างในกลวง เนื้อหนาประมาณ 2 นิ้ว (ฟุต) เวลาเอาออกจากพิมพ์ดูขรุขระ แต่ข้อนี้ไม่สำคัญ เพราะถึงอย่างไรก็จะต้องลงรักปิดทองอีกชั้นหนึ่ง พระพุทธรูปองค์นี้จะทำเป็นพระนั่ง หน้าตัก 10 ฟิต ซึ่งถ้าจะทำเป็นพระยืนก็จะสูงถึง 22 ฟิต

แผนผังวัดก็คล้าย ๆ กับวัดอื่น ๆ คือเป็นรูปสี่เหลี่ยม ตึกกลาง (คือโบสถ์) ซึ่งจะไว้พระประธานเป็นห้องเดียวแต่ใหญ่งาม เห็นมีแท่นรองที่จะประดิษฐานพระประธานอยู่แล้ว ทำด้วยหินอ่อนจีนสลักภาพต้นไม้และสัตว์ หลังคาโบสถ์ดูแปลกแต่ใช่ว่าไม่งาม ใช้กระเบื้องซึ่งเคลือบน้ำยาเขียว

บริเวณรอบ ๆ โบสถ์เป็นสวน ปลูกต้นไม้ประดับและต้นไม้ผล กุฎิพระเป็นแบบใหม่ เพราะแทนที่จะเป็นเครื่องไม้ กุฏิในวัดนี้ก่อเป็นตึกหมด ใช้อิฐฉาบปูน ทำให้รู้สึกว่าเหมือนบ้านเรือนน้อย ๆ ในประเทศอังกฤษ กุฏิเหล่านี้ อยู่รวมกันในด้านหนึ่งแห่งพื้นที่บริเวณวัด มีอยู่ 50 หลังด้วยกัน เรียงเป็นแถว ที่ปลายแถวเป็นกุฏิเจ้าคณะ ใหญ่กว่ากุฏิอื่น ๆ” 

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดที่จะเสด็จฯ มาที่วัดแห่งนี้อยู่เนือง ๆ ด้วยทรงมีความเคารพเลื่อมใสและคุ้นเคยเป็นพิเศษกับพระสุธรรมเทพเถร (ทอง) ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสอยู่ ณ วัดราชโอรสฯ แห่งนี้ บางครั้งจะให้มหาดเล็กพายเรือเลียบลำคลองและคูวัด หากทอดพระเนตรแสงไฟและทรงสดับเสียงท่องบ่นสาธยายของพระภิกษุ ก็จะทรงให้หยุดเรือพระที่นั่ง และทรงให้เคาะหน้าต่าง เมื่อพระภิกษุโผล่ออกมาก็จะทรงเอาน้ำมันมะพร้าวถวาย หากผ่านไปกุฏิใดไม่มีแสงไฟและเสียงท่องหนังสือก็จะเสด็จผ่านไป หากว่างจากราชกิจก็เสด็จมาพายเรือรอบ ๆ วัดเล่นกับผู้ใกล้ชิดอยู่เป็นประจำ

สำหรับกระแสรับสั่งที่ว่า “ถ้าข้าตายแล้ว ข้าจะมาอยู่ที่ต้นพิกุลนี้” เกิดขึ้นเนื่องจากเวลาที่เสด็จฯ ตรวจงานก่อนสร้างวัด หรือเสด็จฯ มา ณ วัดแห่งนี้ จะเสด็จฯ ประทับบนพระแท่นหินที่วางอยู่โคนต้นพิกุลใหญ่ต้นหนึ่งที่อยู่บริเวณกำแพงแก้วที่ลานมุมซ้ายด้านหน้าโบสถ์เป็นประจำตั้งแต่ดำรงพระอิสริยยศทรงกรม อาจกล่าวได้ว่า ต้นพิกุลใหญ่ที่วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร คือที่สถิตแห่งความผูกพัน ของ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ดุจดั่งร่มโพธิ์ร่มไทรของวัด และพุทธบริษัทที่พำนักอยู่ ณ วัดแห่งนี้ รวมถึงพสกนิกรที่ได้เข้ามาเยี่ยมชมและสักการะขอพร ดังพระราชปรารภรับสั่งว่า

“ถ้าข้าตายแล้ว ข้าจะมาอยู่ที่ต้นพิกุลนี้”