Sunday, 20 April 2025
รถบรรทุก

ทบ. จัดแถวพลขับ - รถทหาร 3,700 คัน หลังรถบรรทุกขู่หยุดขนส่งสินค้าสิ้นเดือนนี้

วันที่ 18 พ.ย. ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก กล่าวว่า ตามที่ผู้ประกอบการรถบรรทุกบางส่วน เรียกร้องรัฐบาลเรื่องราคาน้ำมัน และระบุว่าจะหยุดการเดินรถขนส่งสินค้าในสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งรัฐบาลกำลังบริหารจัดการเรื่องดังกล่าว โดยนายกรัฐมนตรีได้มีบัญชาให้เตรียมระบบขนส่งรองรับการหยุดเดินรถและให้เหล่าทัพเตรียมการสนับสนุนรถยนต์ทหารเข้าช่วยในการขนส่งอีกทางหนึ่งนั้น ในส่วนของกองทัพบก พล.อ. ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ได้มอบหมายให้กรมส่งกำลังบำรุงทหารบก, กรมการขนส่งทหารบก, กองทัพภาค และหน่วยที่เกี่ยวข้อง 

ได้รวบรวมศักยภาพด้านการขนส่งและเตรียมข้อมูลยานยนต์ทางทหาร ที่สามารถนำมาใช้ในการขนส่งสินค้ารองรับตามนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งได้หารือถึงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องและแนวทางปฏิบัติในการนำรถยนต์บรรทุกขนาดต่าง ๆ พร้อมกำลังพลเข้ารับภารกิจ โดยในขั้นต้นกองทัพบกมีรถยนต์ทหารที่เหมาะสมกับภารกิจด้านการขนส่งทางถนนประมาณ 3,700 คัน แยกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ รถยนต์บรรทุกขนาดเล็ก, ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ มีน้ำหนักบรรทุก 1, 4 และ 8 ตันตามลำดับ 

“โฆษกรัฐบาล” วอน ผู้ใช้รถบรรทุก-เบนซิน เข้าใจรัฐบาล ยัน ดูแลทุกฝ่ายเท่าเทียม

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ติดตามสถานการณ์พลังงาน เพื่อเร่งแก้ปัญหาราคาน้ำมัน ล่าสุดคณะรัฐมนตรี เห็นชอบร่างกฏกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งเป็นมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ไม่เกิน 3 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 3 เดือน สิ้นสุดวันที่ 20 พ.ค. 2565 ที่ผ่านมา รัฐบาล ติดตามสถานการณ์ด้านราคามาโดยตลอด และดำเนินหลายมาตรการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบกับประชาชน โดยเฉพาะน้ำมันดีเซล

อาทิ ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร โดยอาศัยกลไกเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการชดเชยราคา การปรับลดสัดส่วนผสมไบโอดีเซลที่มีราคาค่อนข้างสูง การขอความร่วมมือกับผู้ค้าน้ำมันในการปรับลดค่าการตลาด และปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล จากเดิมที่เก็บอยู่ที่ 5.99 บาทต่อลิตรลดลง 3 บาท

นายธนกร กล่าวว่า ขอวอนกลุ่มผู้ขับรถบรรทุก กลุ่มผู้ใช้น้ำมันเบนซิน ให้เข้าใจว่ารัฐบาลจะต้องพิจารณามาตรการอย่างรอบคอบ เพื่อใช้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ยืนยันว่ารัฐบาลพร้อมดูแลให้ความช่วยเหลือทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม โดยยึดประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นหลัก และให้เข้าใจถึงสภาวการณ์ของราคาน้ำมันในตลาดโลก โดยประเทศไทยเป็นประเทศนำเข้าน้ำมัน ทำให้ราคาขึ้นลง สอดคล้องกับราคาในตลาดโลก ขอเน้นย้ำว่าราคาน้ำมันในไทย ไม่ได้แพงที่สุดตามที่มีการเผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย ราคาน้ำมันไทยอยู่อันดับที่ 6 ในอาเซียน และ มาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล เป็นมาตรการที่เหมาะสมที่สุด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนผ่านราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ ซึ่งจะส่งผลถึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ลดลงตามด้วย

‘รองผู้ว่าฯ’ สงสัย!! เพราะ ‘โครงสร้างพัง’ หรือ ‘ขนหนักเกิน’ หลังเกิดเหตุ ‘ถนนยุบ’ กลืนรถบรรทุกหายไปเกือบทั้งคัน

(8 พ.ย.66) ที่ปากซอยสุขุมวิท 64/1 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่ากทม. พร้อมด้วย นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. ลงพื้นที่จุดเกิดเหตุฝาท่อปิดถนนทรุด ซึ่งมีรถสิบล้อตกลงไป เพื่อตรวจสอบสถานการณ์ ซึ่งบ่อดังกล่าวเป็นบ่อร้อยสายไฟของการไฟฟ้านครหลวง ซึ่งต้องตรวจสอบว่าเป็นเพราะสาเหตุใดถึงยุบตัว โดยอาจเกิดจากการบรรทุกน้ำหนักเกิน ได้ติดต่อประสานทางหลวง มาตรวจวัดว่ารถบรรทุกดังกล่าวน้ำหนักเกินหรือไม่ รวมทั้งปัญหาของการปิดเปิดฝาที่เปิดไว้ เพื่อดำเนินการร้อยสายไฟลงดิน อาจมีปัญหาเรื่องความแข็งแรง

บรรยากาศช่วงหนึ่งของการลงพื้นที่ นายวิศณุ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า บทสรุปตอนนี้จะมีการยกรถขนดินออก โดยมีการคุยว่าเราต้องชั่งน้ำหนักรถก่อน แต่เนื่องจากรถมีน้ำหนักเยอะ จึงจะต้องแยกชั่งน้ำหนักดินออกแล้วนำไปเก็บไว้อีกคัน ซึ่งตอนนี้สงสัยเรื่องการบรรทุกน้ำหนักเกิน ทำให้โครงสร้างถนนพัง หรือน้ำหนักปกติ แต่โครงสร้างเกิดการพังเอง ก็ต้องพิสูจน์กัน

“เรื่องนี้เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ เราก็จะเก็บข้อมูล โดยการเอาตาชั่งเข้ามาวัด แต่เร่งด่วนที่สุดตอนนี้ คือเร่งเปิดการจราจร จะต้องมีการยกรถออก เสร็จแล้วการไฟฟ้านครหลวง ก็จะเสริมเสาบ่อใหม่ โดยใช้คานเหล็กใหม่เป็น 2 ตัว จากเดิมที่มีตัวเดียว ซึ่งตามการออกแบบมันเพียงพอ แต่ต้องเผื่อไว้ และปิดฝาบ่อ ซึ่งอาจจะเปิดการจราจรได้เร็วที่สุดภายในเย็นนี้ ให้ทัน เพราะรถจะติดมาก แต่ถ้าหลีกเลี่ยงได้ก็ควรจะหลีกเลี่ยงการจราจรเส้นนี้ ถ้าไม่จำเป็นก็หลีกเลี่ยงไปก่อน ตอนนี้จะรีบยกออกก่อน แล้วก็ปิดฝาบ่อให้ได้ เสริมโครงสร้าง แล้วก็เปิดการจราจร อันนี้คือเรื่องด่วนที่สุดแล้ว” นายวิศณุกล่าว

นายวิศณุ กล่าวอีกว่า เรื่องการดำเนินการเอาผิด ตอนนี้ก็ต้องดูเรื่องน้ำหนักรถบรรทุก ต้องเอาเครื่องชั่งที่กำลังเข้ามาชั่งว่า รถบรรทุกคันนี้น้ำหนักเท่าไหร่ เราก็เข้มงวดในเรื่องของการ ควบคุมน้ำหนักรถบรรทุก ความจริงแล้วตั้งแต่เกิดเหตุที่มักกะสันมา เราได้รับแจ้งเหตุจาก กรมทางหลวง แต่ กทม.ไม่มีเครื่องมือวัดน้ำหนักรถบรรทุก

“ช่วงระยะสั้น เร่งด่วนที่สุดเลย ก็ประสานงานขอความร่วมมือจากกรมทางหลวง และจะขอความร่วมมือไปยังกรมทางหลวงชนบทด้วย เพื่อขอทีม Mobile Unite หรือ หน่วยวัดเคลื่อนที่ ไปวัดตามจุดเสี่ยงที่จะเกิด เช่น ใกล้ไซต์งานก่อสร้าง ที่เราจะเข้มงวดกวดขันมากขึ้น” นายวิศณุ กล่าว

นายวิศณุ กล่าวอีกว่า บทลงโทษค่อนข้างแรง ตามกฎหมายพ.ร.บ.ทางหลวง การบรรทุกน้ำหนักเกินมีโทษรุนแรง ด้านเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่อยู่ภายความดูแลของ กทม. ก็คือเจ้าหน้าที่ทางหลวงท้องถิ่น หรือ เส้นทางที่อยู่ในพื้นที่ของกรมทางหลวง ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมทางหลวงจะเป็นคนกำกับดูแล เราตรวจจับได้แล้วส่งตำรวจ ซึ่งตำรวจจะเป็นคนทำสำนวนเพื่อแจ้งข้อหาต่อไป โทษรุนแรง

‘คมนาคม’ เตรียมเพิ่มโทษปรับ ‘รถบรรทุกน้ำหนักเกิน’ ชี้!! จากเดิม 1 หมื่นบาท เพิ่มสูงสุดไม่เกิน 2 แสนบาท

(23 พ.ย. 66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมหารือเรื่องแนวทางการแก้ไขปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกิน ว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ให้ความสำคัญและตั้งใจแก้ไขปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกิน หรือส่วยสติกเกอร์ที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งจากข้อเท็จจริงการตรวจสอบพบว่ามีรถบรรทุกน้ำหนักเกินจริง และมีข้อบกพร่องในโครงสร้างและกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย จึงมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการร่วมกัน เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาให้ครอบคลุมในทุกมิติ ป้องกันปัญหาการทุจริตที่เกิดขึ้น และ ลดงบประมาณในการซ่อมบำรุงถนน 

ทั้งนี้เนื่องจากการบรรทุกน้ำหนักเกินกว่ากฎหมายกำหนด ทำให้กระทรวงคมนาคมต้องใช้งบประมาณซ่อมบำรุงถนนจำนวนมาก โดย กรมทางหลวง (ทล.) ต้องจ่ายค่าซ่อมถนนปีละ 26,000 ล้านบาท และ กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ปีละ 18,000 ล้านบาท

สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาที่นำมาดำเนินการให้ประสบความสำเร็จจะต้องสร้างความมั่นใจ และอำนวยความสะดวกให้ประชาชนในการเดินทางอย่างมีประสิทธิภาพในทุกมิติ พร้อมกำชับการทำงานทุกขั้นตอน ต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ ปฏิบัติงานด้วยความสุจริต และปราศจากการทุจริต เน้นย้ำว่าช่วงที่ตนดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคม จะต้องไม่มีการทุจริต หรือมีส่วยสติกเกอร์ทางหลวงเกิดขึ้นโดยเด็ดขาด

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า การประชุมครั้งนี้มีแนวทางแก้ไขปัญหาดังนี้ 1.ปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทางหลวง 2535 มาตรา 73/2 เกี่ยวกับบทลงโทษการบรรทุกน้ำหนักเกิน ปัจจุบันระบุว่า ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ โดยจะปรับแก้ไขกฎหมายให้มีโทษปรับในอัตราที่สูงขึ้น คือปรับสูงสุดไม่เกิน 100,000-200,000 บาท แล้วแต่กรณีการกระทำความผิด 

“ส่วนกรณีการเพิ่มโทษจำคุกนั้นให้ ทล. ไปศึกษาผลดีผลเสียที่เหมาะสมต่อไป รวมทั้งเอาผิดกับผู้ประกอบการรถบรรทุกด้วย เมื่อดำเนินการเสร็จแล้วจะเสนอการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร และมีผลบังคับใช้ได้ภายใน 1 ปี เชื่อว่าการเพิ่มอัตราโทษปรับที่สูงขึ้นนี้ทำให้แก้ปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกินได้ เพราะปัจจุบันรถบรรทุกน้ำหนักเกินมีโทษปรับน้อยสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท ทำให้ผู้ประกอบการถบรรทุกเสี่ยงต่อการกระทำผิดด้วยการบรรทุกน้ำหนักเกินกฎหมายกำหนด เพื่อให้ธุรกิจอยู่ได้” นายสุริยะ กล่าว

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้จะออกประกาศกฎกระทรวงคมนาคม ในการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาล โดยเฉพาะตำรวจจราจร ในพื้นที่ กทม. ให้มีอำนาจตรวจจับรถบรรทุกน้ำหนักเกินในพื้นที่ กทม. ได้ จากเดิมตำรวจจราจรไม่มีอำนาจหน้าที่ตรวจจับ เพราะ พ.ร.บ.ทางหลวง ไม่ได้ให้อำนาจส่วนนี้แก่ตำรวจจราจร ซึ่งเรื่องดังกล่าวสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะต้องเสนอเรื่องนี้มาที่กระทรวงคมนาคม เพื่อให้ตนลงนามในประกาศกฎกระทรวงและมีผลบังคับใช้ต่อไป

2.เพิ่มประสิทธิภาพตรวจสอบรถบรรทุกน้ำหนักเกิน เพิ่มความถี่ อัตรากำลัง ยานพาหนะ ติดตามตรวจสอบรถบรรทุกน้ำหนักเกินของตำรวจ และ ทล. และ 3.นำเทคโนโลยีมาใช้ดำเนินงาน อาทิ การนำเทคโนโลยี AI พร้อมกล้อง CCTV มาช่วยประเมินรถบรรทุกที่มีแนวโน้มบรรทุกน้ำหนักเกิน การบูรณาการเชื่อมโยงฐานข้อมูลระบบจีพีเอส ของ ขบ. ร่วมกับ กองบังคับการตำรวจทางหลวง และ ทช. ช่วยติดตามจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกิน และบูรณาการเชื่อมโยงฐานข้อมูล Call Center เรื่องร้องเรียนรถบรรทุกน้ำหนักเกิน

ทั้งนี้ทางภาคเอกชนเสนอขอให้ตั้งคณะกรรมการร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะกระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ กทม. เพื่อนำปัญหามาหารือกันเป็นระยะๆ และหาแนวทางป้องกันไม่เกิดรถบรรทุกน้ำหนักเกินกว่ากฎหมายกำหนดต่อไป

ด้านนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า ปัจจุบัน ทล. มีโครงข่ายถนนที่รับผิดชอบกว่า 50,000 กม. เพื่อป้องกันการบรรทุกน้ำหนักเกินกว่ากฎหมายกำหนด ได้ดำเนินการติดตั้งระบบเครื่องชั่งอัตโนมัติสำหรับชั่งน้ำหนักรถยนต์ขณะเคลื่อนที่ หรือ WIM ช่วยคัดกรองรถบรรทุกที่มีน้ำหนักไม่เกินกฎหมายกำหนด สามารถวิ่งผ่านได้โดยไม่ต้องเข้าชั่งที่สถานี โดยมีแผนจะติดตั้งระบบ WIM บนโครงข่ายทางหลวงทั่วประเทศ จำนวน 960 แห่ง ซึ่งติดตั้งไปแล้ว 182 แห่ง อยู่ระหว่างติดตั้ง 21 แห่ง และ ที่เหลืออีก 757 แห่ง จะทยอยติดตั้งให้ครบต่อไป โดยในแต่ละปีจะได้รับงบประมาณดำเนินการอยู่แล้ว เน้นติดตั้งในจุดที่จำเป็นและมีปริมาณรถบรรทุกใช้เส้นทางจำนวนมากก่อน

ขณะที่ นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีรถบรรทุกขนาด 6 ล้อ และ รถบรรทุกขนาด 10 ล้อขึ้นไป จดทะเบียนกับ ขบ. มากกว่า 1,000,000 คัน ซึ่งมีการติดตั้งระบบจีพีเอสเกือบครบทั้งหมดแล้ว และ ขบ. ได้ดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลจีพีเอสรถบรรทุก กับ ทล. และ ทช. แล้ว อยู่ระหว่างดำเนินการเชื่อมข้อมูลกับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เพื่อให้สามารถตรวจสอบข้อมูลในเรื่องดังกล่าวต่อไป

‘ส.อ.ท.’ เผย ยอดจดทะเบียน ‘รถบรรทุกอีวี’ พุ่งสูง 1,020% ใน 1 ปี รับมาตรการ ‘CBAM’ หนุนลดการปล่อยคาร์บอนของสหภาพยุโรป

(4 ก.พ. 67) นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ยอมรับว่าปัจจุบันประชาชนนิยมซื้อรถในรูปแบบไฮบริด ถือว่าประเทศไทยได้เริมผลิตมามากว่า 10 ปีแล้ว เพราะสามารถช่วยลดมลพิษทางอากาศให้กับประเทศไทย รวมการผลิตที่ 5 หมื่นคัน

อย่างไรก็ตาม ในการผลิตถือว่าลดลง เพราะมีการนำเข้ายานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ซึ่งปี 2567 คาดว่าจะผลิตมากขึ้น หลายบริษัทที่นำเข้ามาตั้งแต่ปี 2565-2566 ที่รับสิทธิประโยชน์กับรัฐบาลจะต้องเริ่มผลิตในประเทศไทยในปีนี้

นอกจากนี้ จากการที่รัฐบาลเริ่มมีการผ่านวาระที่ 1 เรื่องงบประมาณรายจ่ายปี 2567 คาดว่าจะทันใช้เดือน พ.ค. 2567 จะทำให้การลงทุนดีขึ้น จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ เกิดการจ้างงาน รายได้เดีขึ้น แต่จะยังกังวลสงครามความขัดแย้งทั้งที่มีอยู่และที่จะเกิดขึ้น ซึ่งยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ ที่อาจจะได้รับผลกระทบทั้งยอดขายในประเทศ และการส่งออก

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า หวังว่านโยบายฟรีวีซ่าไทยกับจีน จะทำให้นักท่องเที่ยวจีนเข้ามามากขึ้นตามเป้าหมาย 33.5 ล้านคน ซึ่งปี 2566 ที่คาดว่า 28 ล้านคน ก็ถือว่าได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ และการย้ายฐานการผลิตนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาในไทย ทำให้ซัพพลายเชนเติบโต การผลิตแบตเตอรี่จะตามเข้ามา เป็นช่วงภาวะการลงทุนตั้งแต่ปีที่แล้ว บางค่ายสามารถผลิตและส่งออกจากโรงงานในไทยแล้ว

ทั้งนี้ ความต้องการสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ปัจจัยที่ส่งเสริมให้คนมาใช้อีวี คือราคาน้ำมันที่แพงขึ้น การผลิตและใช้ยานยนต์ไฟฟ้าจึงมากขึ้น จะเห็นได้ว่า รถบรรทุกไฟฟ้ามีการจดทะเบียนมากขึ้น มีจำนวน 303 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันปี 2565 ที่ 1,065.38% ถือว่าเติบโตมาก ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) จะทำให้ยอดขายดีขึ้น เพราะต้องบรรทุกสินค้าส่งไปที่อียู เข้าสู่การลดการปล่อยคาร์บอน

สำหรับจำนวนการผลิตรถยนต์ในประเทศไทยประจำเดือน ธ.ค. 2566 มีทั้งสิ้น 133,621 คัน ลดลงจากเดือน ธ.ค. 2565 ที่ 5.75% เพราะผลิตขายในประเทศลดลงถึง 29.94% โดยเฉพาะรถกระบะที่ผลิตลดลงถึง 41.30% จากการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อรถกระบะ เพราะหนี้ครัวเรือนสูงถึง 90.6% ของ GDP

นอกจากนี้ อีกปัจจัยมาจากรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่นำเข้ามาขายในประเทศ โดยมียอดจดทะเบียนถึง 75,690 คัน ทำให้ผลิตรถยนต์นั่งลดลง 16.24% แต่การผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกปี 2566 กลับเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 11.44% ตามยอดการส่งออกที่เพิ่มขึ้น 11.30% และสูงกว่าส่งออกปี 2562 ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 และลดลงจากเดือน พ.ย. 2566 ที่ 18.19% เนื่องจากวันทำงานน้อยกว่า

นายสุรพงษ์ กล่าวถึงยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือน ธ.ค. 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 68,326 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือน พ.ย. 2566 ที่ 10.88% แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้วที่ 17.48% ลดลงเพราะสถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อรถกระบะจากภาระหนี้ครัวเรือนสูง และเพราะเศรษฐกิจชะลอตัวลงจากผลผลิตอุตสาหกรรมที่ลดลงตามการส่งออกที่ลดลง โรงงานจึงลดกะทำงานและลดทำงานล่วงเวลา คนงานขาดรายได้ ประกอบกับค่าครองชีพและอัตราดอกเบี้ยสูง ทำให้เหลือเงินไม่เพียงพอในการใช้จ่ายอย่างอื่นได้

ทั้งนี้ เดือน ม.ค. – ธ.ค. 2566 ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 1,117,539 คัน สูงกว่ายอดส่งออกก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ปี 2562 และสูงสุดในรอบ 5 ปี เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ในระยะเวลาเดียวกัน 11.73% เพิ่มขึ้นเพราะประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่ยังมียอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้นตามเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวเพิ่มขึ้น จึงทำให้ส่งออกเพิ่มขึ้นในทุกตลาด ยกเว้นตลาดแอฟริกาที่ลดลง แยกเป็นรถยนต์สันดาปภายใน ICE 1,102,694 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ร้อยละ 11.30 ส่งออกรถยนต์ HEV 14,845 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่ 56.02 มูลค่าการส่งออก 719,991.98 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่ 15.25%

‘รถบรรทุก’ ชนคานกั้นความสูง ‘แยกพญาไท’ ส่งผลรถติดยาวถึง ถ.พระราม 9 แยกรามคำแหง

(9 พ.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกิดอุบัติเหตุรถบรรทุกชนคานจำกัดความสูง ที่ถนนศรีอยุธยา ขาเข้า จากแยกหมอเหล็ง-แยกศรีอยุธยา ที่เชิงทางขึ้นสะพานข้ามแยกพญาไท ขณะนี้ เจ้าหน้าที่ปิดการจราจร 2 ช่องทาง ดำเนินการเคลื่อนย้าย การจราจรติดขัด

ต่อมาเมื่อเวลา 07.29 น. เจ้าหน้าที่เคลื่อนย้ายรถและโครงหลังคาออกได้แล้ว และอยู่ระหว่างเก็บกวาดสิ่งของที่ตกหล่น และล้างทำความสะอาดถนน

ทั้งนี้ เพจ สวพ.91 ยังได้ระบุอีกว่า “รถชนที่กั้นความสูงแยกพญาไท ถนนศรีอยุธยา ขาเข้า
ยังไม่พ้นกีดขวาง ท้ายสะสมถนนพระราม 9 แยกรามคำแหง”

ปักหมุดไทยทุ่มพันล้าน เปิดโรงงานแห่งแรก ชิงส่วนแบ่งรถบรรทุก ตั้งเป้าเริ่มผลิต 1,800 คันต่อปี

(2 ธ.ค. 67) “โฟตอน” ค่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์รายใหญ่ของจีน ได้ร่วมมือกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เปิดโรงงานผลิตรถบรรทุก “โฟตอน ซีพี มอเตอร์” (FOTON CP Motor) แห่งแรกในประเทศไทย ณ อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท โรงงานนี้จะเป็นฐานการผลิตรถบรรทุกรุ่นพวงมาลัยขวา โดยมีแผนผลิต 1,800 คันต่อปี สำหรับตลาดในประเทศ 80% และส่งออก 20% คาดว่าภายใน 3 ปีจะสามารถผลิตได้ไม่น้อยกว่า 7,200 คัน

การเปิดโรงงานในครั้งนี้ตอกย้ำการเติบโตของตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ในประเทศไทย และเปิดโอกาสสำหรับการขยายตลาดไปยังภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยในปีนี้ยอดขายของ “ซีพี โฟตอน” เพิ่มขึ้น 38% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

นายชาง รุ่ย (Mr. Chang Rui) ประธานโฟตอน มอเตอร์ กรุ๊ป กล่าวว่า การเปิดโรงงานในไทยเป็นการขยายความร่วมมือระหว่างโฟตอนและเครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยโรงงานนี้จะผลิตทั้งรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปและยานยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) เพื่อรองรับความต้องการของตลาดไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นายนพดล เจียรวนนท์ รองประธานกรรมการ กลุ่มธุรกิจยานยนต์และอุตสาหกรรม (จีน) เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวเสริมว่า การจัดตั้งโรงงาน “โฟตอน ซีพี มอเตอร์” จะช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์และโลจิสติกส์ของไทยให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค พร้อมกับการขยายฐานการผลิตและความร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำในอุตสาหกรรม เช่น Foton Cummins และ Yuchai

นายชัชชัย นาคประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี โฟตอน เซลส์ จำกัด กล่าวถึงการตั้งโรงงานในไทยว่าเป็นการตอกย้ำความมั่นคงในตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ในประเทศไทย โดยยอดจำหน่ายรถบรรทุกพลังงานไฟฟ้า (EV) ของบริษัทเติบโต 260% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ การเปิดโรงงาน “โฟตอน ซีพี มอเตอร์” ถือเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์และโลจิสติกส์ของไทยสู่อนาคต โดยเฉพาะในด้านพลังงานสะอาดและการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตลาดโลจิสติกส์ในเอเชียแปซิฟิกและขยายฐานการผลิตไปยังตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง

การตั้งโรงงานในประเทศไทยยังเป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลักของ “โฟตอน มอเตอร์ กรุ๊ป” ในการขยายธุรกิจทั่วโลก โดยในปี 2023 โฟตอนสามารถส่งออกรถยนต์ได้ 131,000 คัน และตั้งเป้าหมายส่งออก 150,000 คันในปี 2024 รวมถึงมุ่งหวังเพิ่มจำนวนการผลิตให้ถึง 300,000 คันในปี 2030

การร่วมมือในครั้งนี้ไม่เพียงแค่สะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทย-จีน แต่ยังแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในด้านพลังงานใหม่และโลจิสติกส์แห่งอนาคตอย่างยั่งยืน

จีนเปิดตัวรถบรรทุกไร้คนขับ ใช้ AI วิ่งลุยเหมืองสูง 5,000 เมตร กลางที่ราบสูงทิเบต

(23 ม.ค.68) รถบรรทุกไร้คนขับ ออกวิ่งขนส่งแร่ไปตามถนนลูกรังอันคดเคี้ยวที่เหมืองทองแดงอวี้หลงในเมืองชางตู เขตปกครองตนเองทิเบต (ซีจ้าง) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน บริเวณที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบตที่ความสูง 5,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล

โครงการขับเคลื่อนอัตโนมัติสุดล้ำนี้ริเริ่มขึ้นเมื่อเดือนกันยายน 2024 ถือเป็นระบบขนส่งไร้คนขับระบบแรกของโลกที่ดำเนินการในเหมืองเปิดโล่ง ณ ความสูงมากกว่า 5,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล โดยเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามครั้งใหญ่ของจีนในการพัฒนาเหมืองอัจฉริยะและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อปรับปรุงอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในพื้นที่สูงให้ทันสมัย  

โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างบริษัท ทิเบต อวี้หลง คอปเปอร์ มายนิง จำกัด ในเครือเวสเทิร์น มายนิง จำกัด (Western Mining Co.) กลุ่มสำนักการรถไฟแห่งประเทศจีนที่ 19 และหัวเหวย (Huawei)  

ทีมงานประจำโครงการเผยว่ารถบรรทุกแร่ไร้คนขับสามารถปฏิบัติงานบนเส้นทางเหมืองทอดยาวหลายกิโลเมตรที่มีความกว้างขั้นต่ำ 20 เมตร ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับสภาพแวดล้อมสุดท้าทายบนพื้นที่สูง อีกทั้งติดตั้งเทคโนโลยีการรับรู้ข้อมูลจากเซ็นเซอร์หลายประเภทเพื่อให้สามารถทำงานอย่างเสถียรตลอดปี และมีอัตราการปฏิบัติงานออนไลน์สูงกว่าร้อยละ 99

การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลและระบบอัจฉริยะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งได้แรงหนุนจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี 5G คลังข้อมูลขนาดใหญ่หรือบิ๊กดาต้า และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ขณะที่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีขับเคลื่อนอัตโนมัติยังกลายมาเป็นแนวโน้มสำคัญในการพัฒนาร่วมกันของระบบเหมืองแร่และยานยนต์ในจีน

เหอเหว่ย วิศวกรเทคโนโลยีขับเคลื่อนอัตโนมัติของหัวเหวย อธิบายว่าเมื่อเทียบกับรถบรรทุกเหมืองแบบดั้งเดิม รถบรรทุกขับเคลื่อนอัตโนมัติมีจุดเด่นอยู่ที่มีประสิทธิภาพสูงและความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากสามารถปฏิบัติงานได้ตลอด 24 ชั่วโมงโดยไม่ต้องมีการแทรกแซงจากมนุษย์เลย

รถบรรทุกเหมืองอัตโนมัติระบบไฮบริด น้ำหนัก 90 ตัน ซึ่งติดตั้งเทคโนโลยีไลดาร์ (LiDAR) หรือระบบตรวจจับแสงและวัดระยะ กล้อง เรดาร์คลื่นมิลลิเมตร และระบบนำทางแบบบูรณาการ กำลังถูกใช้งานในพื้นที่เหมืองที่มีความสูงเฉลี่ยมากกว่า 4,800 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ซึ่งศักยภาพการรับรู้สภาพแวดล้อมแบบเรียลไทม์และการตัดสินใจอัตโนมัติ ทำให้รถบรรทุกเหล่านี้ทำงานด้วยความเร็วที่ตั้งไว้ได้แม้ในตอนกลางคืน

เหอกล่าวว่าเซ็นเซอร์หลายตัวทำหน้าที่เสมือน 'หูและดวงตา' ของรถบรรทุก ช่วยให้พวกมันสามารถ 'ได้ยินและมองเห็น' สิ่งรอบตัว อีกทั้งมีการติดตั้งระบบตรวจจับสิ่งกีดขวาง การจดจำสิ่งกีดขวางแบบคงที่ การต้านทานการรบกวน และเทคโนโลยีระบุตำแหน่ง ซึ่งช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน

"ตัวอย่างเช่น ไลดาร์ที่ติดตั้งบนรถบรรทุกสามารถตรวจจับมนุษย์หรือสัตว์ป่า เช่น หมี ม้า หมาป่า และสัตว์บนที่ราบสูงอย่างจามรีได้ โดยรถบรรทุกจะหยุดโดยอัตโนมัติหรือเลี่ยงเส้นทางเพื่อรักษาความปลอดภัย" เหอระบุ

นอกจากนั้น ทีมงานของโครงการได้พัฒนาแพลตฟอร์มการจัดการแบบครบวงจรที่ประกอบด้วยระบบการจัดตารางรถ ระบบการตรวจสอบ บริการแผนที่ความแม่นยำสูง ซึ่งทำหน้าที่เป็น 'สมอง' ของโครงการขับเคลื่อนไร้คนขับ เพื่อเอื้อให้รถบรรทุกสามารถหลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวาง เทียบจอดอย่างแม่นยำ ตรวจสอบข้อมูลแบบเรียลไทม์จากระยะไกล หยุดรถทันทีเมื่อพบคนเดินเท้า และวางแผนเส้นทางการเดินรถ

ข้อมูลจากเวสเทิร์น มายนิง จำกัด เผยว่าระบบจัดการอัจฉริยะนี้ยังช่วยลดความจำเป็นในการบำรุงรักษาถนนและลดความถี่การซ่อมแซมรถบรรทุก โดยเมื่อเทียบกับการทำงานแบบดั้งเดิม รถบรรทุกเหมืองขับเคลื่อนอัตโนมัติ 2 กลุ่ม รวม 10 คัน สามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายราว 6 ล้านหยวน (ราว 27.8 ล้านบาท) ต่อปี


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top