Friday, 17 May 2024
มหาวิทยาลัยรังสิต

‘ม.รังสิต’ ระดมความคิด ดึง ‘ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมือง-ภาคประชาชน’ ถก!! วาระประเทศไทย อนาคตที่ต้องมองให้ไกลกว่าการเลือกตั้ง

(6 พ.ค. 66) สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) จัดงานเสวนา ‘วาระประเทศไทย ไปให้ไกลกว่าเลือกตั้ง’ ที่ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น โดย ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต ผู้ก่อตั้ง สถาบันปฏิรูปประเทศไทย เป็นประธาน ซึ่งภายในงานมีการพูดคุยเรื่องแนวทางการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาล ในหัวข้อ ‘ประเทศไทยกับภัยคุกคามใหม่ ที่ประชาชนต้องรู้’ โดยมี นายสำราญ รอดเพชร เป็นพิธีกรดำเนินรายการ 

โดยในงานนี้ ยังได้มีการเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองมารวมปาฐกถาในการเสวนาในครั้งนี้ รวมถึงตัวแทนประชาชนจากหลายหน่วยงานมาร่วมฟังการเสวนา เพื่อหาทางออกให้ประเทศร่วมกันในครั้งนี้ 

ดร.อาทิตย์ กล่าวว่า การเมืองจะเป็นสิ่งที่ดีงาม และเป็นสิ่งจำเป็นต่อสังคม ถ้าการเมืองทำทุกวิถีทางเพื่อประโยชน์ของประชาชน หากต้องการเห็นบ้านเจริญรุ่งเรืองและประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้น การเมืองก็ต้องดีด้วยเช่นกัน แต่ปัจจุบันการเมืองที่เราเห็นเป็นการเมืองสามานย์ระบบ ที่ล้มเหลวในทุกระดับ ขาดจิตสำนึกที่ดีและขาดความรับผิดชอบในบ้านเมือง ทำให้ประชาชนต้องกลายเป็นทาสอีกครั้งหนึ่ง คำถามคือ ทำไมเราถึงต้องยอมตกอยู่ในสภาพสิ้นหวังเช่นนี้ สภาพการเมืองที่มีแต่การแบ่งพรรคแบ่งพวก มีแต่ความขัดแย้งแตกแยกแย่งชิงผลประโยชน์เพื่อตนเองและพวกพ้อง

“ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนต้องลุกขึ้นมาร่วมกันปฎิรูป เพื่อพาประเทศไทยฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้ เราต้องปฏิรูปประเทศให้เป็นสังคมธรรมาธิปไตย เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนเหนือสิ่งอื่นใด เพราะประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของประเทศ เราต้องสร้างสังคมแบ่งปัน ลดความขัดแย้ง ต้องรวมพลังประชาชนโดยยึดถือประโยชน์ของชาติเหนือสิ่งอื่นใด ซึ่งทุกคนต้องตระหนักว่าประเทศชาติจะดำรงอยู่ได้ ก็ด้วยคนไทยทุกคนอยู่ร่วมกันด้วยความปรองดอง บนผืนแผ่นดินเดียวกันนี้ ผลักดันประเทศชาติสู่ความสำเร็จและความมั่งคั่งประชาชนทุกคนทุกกลุ่มทุกส่วนในทุกภูมิภาคภาค ซึ่งเป็นการปฏิรูปประเทศที่บรรลุผลอย่างแท้จริง” ดร.อาทิตย์ กล่าว

หลังจากนั้น ด้าน ผศ.ดร.สุริยะใส กตะศิลา คณบดี วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ได้กล่าวชี้แจงถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้ โดยเผยว่า ท่ามกลางการเลือกตั้งที่มีการเอาประเทศเป็นเดิมพัน แข่งกันแทงหวยว่าเราจะเลือกพรรคไหนเป็นรัฐบาลโดยปราศจากข้อเท็จจริง เพราะการเลือกตั้งเป็นต้นทางของการสร้างประชาธิปไตย สถาบันปฏิรูปประเทศไทย มหาวิทยาลัยรังสิต จึงได้มีการร่วมกับหลายหน่วยงานเพื่อจัดงานในครั้งนี้ขึ้นมา 

“การเลือกตั้งเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้ง ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดทุกเรื่อง การเลือกตั้งอาจจะได้รัฐบาล แต่ปัญหาจะหยุดได้ ก็ต้องเป็นหน้าที่ของประชาชน เพราะนักการเมืองมาแล้วก็ไปตามวาระของรัฐธรรมนูญ แต่ปัญหาไม่ได้มาแล้วก็ไป จะมีก็แต่ประชาชนที่ต้องแบกรับปัญหาต่อไป นี่จึงเป็นหน้าที่ของพวกเราที่ต้องสรรสร้างทางออกที่แท้จริงและยั่งยืน ภายใต้เครือข่ายภาคประชาชนในฐานะส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์ประชาธิปไตย จึงยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้จัดเวทีนี้ขึ้นมา เพื่อเป็นเป็นเวทีประชาธิปไตยของประชาชนโดยแท้จริง”

จำได้ไหม? ‘หม่อง ทองดี’ อดีตแชมป์เครื่องบินกระดาษ สู่ ‘บัณฑิตเกียรตินิยม’ ม.ดัง ผลสัมฤทธิ์ของความเพียร

หากยังจำกันได้ กับ ‘เครื่องบินกระดาษ’ ของเด็กชายคนหนึ่ง ที่มีความใฝ่ฝันที่จะได้ไปแข่งขันร่อนเครื่องบินกระดาษพับที่ประเทศญี่ปุ่น ทว่าประสบกับปัญหาด้านเงื่อนไขสัญชาติ แต่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทย จนได้ไปแข่งขันและได้รับชัยชนะกลับมา กระทั่งสุดท้าย ‘หม่อง ทองดี’ และครอบครัวได้รับสัญชาติไทยในที่สุด หลังต่อสู้นานเกือบทศวรรษ

ล่าสุด เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 66 ที่ผ่านมา เฟซบุ๊ก ‘มหาวิทยาลัยรังสิต’ ได้โพสต์ภาพหม่อง ทองดี กับเครื่องบินกระดาษ โดยเผยว่า…

‘หม่อง ทองดี’ ผู้มาไกลและไปได้ไกล… บนความตั้งใจเเละความพากเพียร

จากเด็กน้อยที่เฝ้ามองท้องฟ้า สู่การได้รับโอกาสทางการศึกษาที่เปิดขอบฟ้าให้กว้างกว่าเดิม โดยได้รับทุนการศึกษาตลอดหลักสูตรในระดับปริญญาตรี จาก ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีกิตติคุณ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยรังสิต และจากความตั้งใจที่ใฝ่ฝันอยากจะมีภาพยนตร์ที่บอกเล่าเส้นทางสู่ฝันของตัวเอง ทำให้เขาตัดสินใจเลือกเรียนทางด้านภาพยนตร์ที่มหาวิทยาลัยรังสิต

ด้วยหัวใจของความมานะพากเพียร วันนี้ ‘หม่อง ทองดี’ เรียนสำเร็จ โดยจบการศึกษาปริญญานิเทศศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการภาพยนตร์ดิจิทัล เกียรตินิยมอันดับ 2 ซึ่งจะเข้าพิธีประสาทปริญญา ประจำปี 2566 ในวันอาทิตย์ที่ 10 ธันวาคม 2566 ณ อาคารนันทนาการ (อาคาร 14) มหาวิทยาลัยรังสิต

ทั้งนี้ ปัจจุบัน หม่องทำงานเป็นพนักงานประจำที่บริษัทแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ในตำแหน่งตากล้องประจำกองถ่ายละครสั้น

“ในส่วนของความฝันที่เคยตั้งใจไว้ว่า อยากนำความความรู้ความสามารถด้านการทำหนัง มาถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของตัวเองและเด็กไร้สัญชาติ อยากนำเสนอในมุมมองของเด็กที่มีปัญหาเหมือนกับตนเอง ให้สังคมได้รู้ว่าปัญหาของเด็กเหล่านี้มีอะไรบ้าง เพื่อนำไปสู่แนวทางการช่วยเหลือต่อไป ก็สามารถสานฝันนั้นให้เป็นจริงได้แล้ว โดยเรื่องราวชีวิตของผมได้ถูกหยิบยกขึ้นมาทำเป็นภาพยนตร์เรื่อง ‘A Time To Fly…บินล่าฝัน’ ซึ่งมีโอกาสได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ช่วงหลายเดือนก่อนหน้าที่ผ่านมา ในโอกาสนี้ต้องขอขอบคุณทุกท่านที่ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือ” น้องหม่อง กล่าว

หม่องยังกล่าวด้วยว่า สำหรับชีวิตปัจจุบันตนได้รับสัญชาติไทยอย่างเป็นทางการ และได้บัตรประชาชนมาเรียบร้อยแล้ว และจะทำทุกหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด เป็นคนดีของสังคม ผมเชื่อเสมอว่าความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น การที่เราพยายามจะทำอะไร เราต้องทำให้เต็มที่ที่สุด โดยไม่ต้องกลัวว่าผลที่ออกมาจะเป็นเช่นไร เพราะการที่คิดแล้วทำก็ถือว่าบรรลุเป้าหมายในสิ่งที่ตั้งใจไว้แล้ว

สำรวจผลโพล ‘วิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต’ ประเด็นนโยบายรัฐ ‘แลนด์บริดจ์’ ฉลุย!! คนอยากให้เดินหน้า ส่วน ‘แจกเงินดิจิทัล’ อยากให้ระงับ

(3 ก.พ. 67) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุริยะใส กตะศิลา คณบดีวิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดตัวโครงการ ‘Leadership Poll’ ภายในงานมีการแถลงข่าวผลสำรวจความคิดเห็นลีดเดอร์ชิพโพล ครั้งที่ 1/2567 โดย รองศาสตราจารย์ ร.ต.อ.ดร.จอมเดช ตรีเมฆ รองคณบดีฝ่ายวิชาการวิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม ในฐานะหัวหน้าลีดเดอร์ชิพโพลล์ นำเสนอผลสำรวจความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ 

สำหรับ Leadership Poll หรือ โพลผู้นำทางสังคม ธุรกิจและการเมือง จัดทำโดยวิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มผู้นำภาคสังคม, ธุรกิจและการเมือง ต่อนโยบายภาครัฐที่อยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการในปัจจุบัน 

โดยมีการเก็บข้อมูลทั้งสิ้น 543 ตัวอย่างในเดือนมกราคม พ.ศ. 2567 จากกลุ่มผู้นำภาคสังคม, ธุรกิจและการเมือง โดยคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling) แบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ ...

1.) ผู้นำภาคธุรกิจ : ตัวแทนนักธุรกิจที่ประกอบธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่
2.) ภาคประชาสังคม : ตัวแทนภาคประชาสังคม NGO และมูลนิธิต่างๆ ในประเทศไทย
3.) ภาคการเมือง : นักการเมืองระดับชาติและระดับท้องถิ่น นายกเทศมนตรี รองนายกเทศมนตรี นายกและรองนายก อบจ. นายกและรองนายก อบต. ในทุกภูมิภาคของประเทศ
4.) ภาคการศึกษา : นักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัยผู้ดำรงตำแหน่งคณบดี รองคณบดี ในมหาวิทยาลัยรัฐ และมหาวิทยาลัยเอกชน

สำหรับสาระสำคัญในการสอบถามความคิดเห็นต่อนโยบายรัฐบาล ประกอบไปด้วยประเด็นดังต่อไปนี้...

1.) ความคิดเห็นต่อนโยบาย ‘เงินหมื่นดิจิทัล’ ของรัฐบาล ผลการสำรวจพบว่า...
- 62.20 % ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวเห็นควรให้ระงับการดำเนินการ
- 21.30 % เห็นด้วยกับการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวแต่เห็นควรให้ชะลอการดำเนินการหรือมีการทบทวนการดำเนินการอย่างละเอียดรอบคอบอีกครั้ง
- 13.00 % เห็นด้วยตามที่รัฐบาลนำเสนอและควรเร่งดำเนินการตามกรอบเวลา
- 3.50 % ความคิดเห็นอื่นๆ เช่น...
(ยังไม่ได้ศึกษามากพอที่จะออกความคิดเห็น)
(ไม่แน่ใจ)
(ไม่ค่อยสนใจ)

2.) ความคิดเห็นต่อโครงการ ‘แลนด์บริดจ์’ ของรัฐบาล ผลสำรวจพบว่า...

- 36.70 % เห็นด้วยกับการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวแต่เห็นควรให้ชะลอการดำเนินการหรือมีการทบทวนการดำเนินการอย่างละเอียดรอบคอบอีกครั้ง
- 29.60 % ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวเห็นควรให้ระงับการดำเนินการ
- 28.00 % เห็นด้วยตามที่รัฐบาลนำเสนอและควรเร่งดำเนินการตามกรอบเวลา
- 5.70 % ความคิดเห็นอื่นๆ เช่น...
(ไม่ทราบรายละเอียด)
(ต้องการข้อมูลที่ศึกษา)
(ไม่แน่ใจ)

3.) ความคิดเห็นต่อยุทธศาสตร์ขับเคลื่อน ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ของรัฐบาล ผลสำรวจพบว่า...
- 41.10 % เห็นด้วยตามที่รัฐบาลนำเสนอและควรเร่งดำเนินการตามกรอบเวลา
- 37.30 % เห็นด้วยกับการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ดังกล่าวแต่เห็นควรให้ชะลอการดำเนินการหรือมีการทบทวนการจัดสรรงบประมาณอย่างละเอียดรอบคอบอีกครั้ง
- 14.50 % ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวเห็นควรให้ระงับการดำเนินการ
-1.40 % ความคิดเห็นอื่นๆ เช่น...
(ไม่ทราบรายละเอียด)
(เห็นด้วยเป็นบางอย่าง)
(ยังเข้าใจไม่ชัดเจน)

4.) ความคิดเห็นต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผลสำรวจพบว่า...
- 52.40 % เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา
- 28.8 % เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
- 14.5% ไม่เห็นด้วย
- 4.3% ความคิดเห็นอื่นๆ เช่น...
(ไม่เห็นด้วยกับการแก้มาตรา 112)
(แก้ไขบางมาตราที่กระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนจริงๆ)
(นำรัฐธรรมนูญ 2540 มาใช้และพิจารณาปรับปรุงหลักการในบางมาตรา)

5.) ความคิดเห็นต่อความมุ่งมั่นตั้งใจในการขับเคลื่อนนโยบาย เพื่อสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ผบ.สำรวจพบว่า...
- 51.20 % ยังคงขาดความมุ่งมั่นในการดำเนินการ
- 34.90 % มีความมุ่งมั่นแต่ยังไม่มีการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม
- 9.40 % มีความมุ่งมั่น
- 4.50 % ความคิดเห็นอื่นๆ เช่น...
(ยังไม่ได้ศึกษามากพอที่จะออกความคิดเห็น)
(ไม่ทราบแน่ชัด)
(ไม่แน่ใจ ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งยังน้อยเกินกว่าที่จะประเมิน)

>> สำหรับข้อเสนอแนะอื่นๆ ที่ได้จากการสำรวจ...
1.) เท่าที่ผ่านมายังไม่เห็นอะไรเป็นรูปธรรมเท่าที่ควร อย่างน้อยนโยบายที่ใช้หาเสียงก็ควรมีการดำเนินการตามที่เคยพูดไว้ยังมองไม่ออกว่าอะไรที่ทำไปแล้ว และอะไรที่ยังไม่ได้ทำก็ควรชี้แจง

2.) รัฐบาลต้องเคารพกฎหมาย เป็นตัวอย่างของการรักษาความยุติธรรม ไม่ให้อภิสิทธิ์ใครให้อยู่เหนือกฎหมาย

3.) การพัฒนาประเทศควรใช้สิ่งที่ไทยได้เปรียบเป็นสารตั้งต้นสำคัญ นโยบายสาธารณะที่ดีบางครั้งเกิดจากนวัตกรรมทางกระบวนการ แค่ปรับเปลี่ยนวิธีการก็อาจมีผลดีอย่างมีนัยสำคัญ ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณมหาศาล
 
4.) รัฐบาลควรเร่งแก้ปัญหา ในเรื่องของยาเสพติด ควบคู่กับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยเร่งด่วน

5.) รัฐบาลควรลำดับความสำคัญ ความเร่งด่วนในการแก้ปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะการทุจริต การศึกษาและการทำงานของข้าราชการที่ล่าช้าและไม่สอดคล้องกับสภาวะการปัจจุบัน

6.) รัฐบาลยังคงกังวลเรื่องคะแนนเสียงมากกว่าการปฏิรูปประเทศอย่างจริงจังและจริงใจ

7.) โครงการแลนด์บริดจ์ ที่ดูไม่ได้รับความสนใจ เพราะต้องขนของจากเรือที่ฝั่งอ่าวไทย ขนขึ้นรถไฟ แล้วขนลงเรืออีกครั้งที่ฝั่งอันดามัน ไม่สมเหตุสมผลในทางปฏิบัติจริง ควรเปลี่ยนเป็นรูปแบบอื่น ที่ไม่ต้องขนของขึ้นๆลงๆ จากเรือ คือให้เรือทั้งลำแล่นผ่านไปได้เลย

8.) ควรให้ความสนใจปัญหาโครงสร้างทางสังคมและการศึกษาในระดับแรกๆ เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อนาคตของประเทศไทยดูแล้วมีแต่ถอยหลังเพราะเยาวชนของชาติไม่มีคุณภาพ คนไทยไม่ชอบใช้เหตุผล ใช้อารมณ์และความชอบส่วนตัวในการตัดสินใจปัญหา สนใจไสยศาสตร์มากกว่าวิทยาศาสตร์

9.) เข้าใจว่าผู้นำหลายท่านกังวลกับวิกฤติเศรษฐกิจ แต่วิกฤติความขัดแย้งที่เป็นผลเรื้อรังมานับสิบปีก็ยังคงมีอยู่ ซึ่งหากไม่มีแผนการดำเนินงานดังกล่าว ประชาชนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่จะตกอยู่ในภาวะ Burnout และเลือกที่จะชะลอการสร้างผลผลิต (Productivity) หรือเลือกที่จะไม่พัฒนาศักยภาพ (Capacity) ซึ่งจะเกิดปัญหาเรื้อรังต่อไปในอนาคต โดยอยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการสร้างบรรยากาศของการเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศ หรือสร้างความภูมิใจร่วมที่คนรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงได้

10.) เรื่องการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท รัฐบาลต้องตอบคำถามสังคมให้ได้ว่า ประเทศเกิดภาวะที่จะเรียกว่าวิกฤตหรือไม่ อย่างไร ถ้าจะแจก ควรกำหนดกลุ่มผู้เดือดร้อนให้ชัดเจน และเมื่อเป็นเงินกู้ เหตุใดจึงต้องจ่ายเป็นเงินดิจิทัล ทำไมไม่จ่ายเป็นเงินบาท ใครเป็นผู้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับอัตราการแลกเปลี่ยน และมีค่าใช้จ่ายในการแปลงอัตราแลกเปลี่ยนอย่างไร


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top