Tuesday, 22 April 2025
ภูเขาไฟฟูจิ

‘ญี่ปุ่น’ สั่งปิดเส้นทางขึ้น ‘ภูเขาไฟฟูจิ’ ชั่วคราว หลังพบปัญหา ‘นักท่องเที่ยวล้น - ขยะเกลื่อน’

เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 66 ทางการท้องถิ่นจังหวัดยามานาชิของญี่ปุ่น ประกาศปิดเส้นทางขึ้นสู่ ภูเขาไฟฟูจิ เป็นการชั่วคราวไปจนถึงสิ้นปีนี้ เพื่อหวังควบคุมปริมาณนักท่องเที่ยวที่แห่เดินทางที่นี่แน่นขนัด จนกลายเป็นปัญหาสภาพแวดล้อม จุดที่เป็นปัญหามากที่สุดจนต้องถูกสั่งปิด คือสถานีที่ 5 ของเส้นทางสายฟูจิซูบารุ ที่แล่นตรงจากโตเกียวสู่ภูเขาฟูจิ มีชื่อเล่นว่า ‘โกโกเมะ’ อยู่กึ่งกลางของเส้นทางจากพื้นเบื้องล่างสู่จุดสูงสุดของภูเขาฟูจิ สถานีที่อยู่เหนือระดับน้ำทะเลราว 2,300 เมตร เป็นจุดที่ต้องรับนักท่องเที่ยวมากที่สุด ราวร้อยละ 90% ของนักท่องเที่ยวเดินทางมาชมภูเขาแห่งนี้

ผู้ว่าราชการจังหวัดยามานาชิบอกว่า ปัญหาที่ส่งผลกระทบมากที่สุด คือการทำความสะอาดห้องสุขาและการเก็บขยะที่ถูกทิ้งเกลื่อนกลาด จากการมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาจำนวนมากจนเจ้าหน้าที่รับมือไม่ไหว ทำให้การรักษาสภาพแวดล้อมและให้ความสะดวกนักท่องเที่ยวพร้อม ๆ กัน เป็นไปด้วยความยากลำบาก

นอกจากสั่งปิดเส้นทางขึ้นภูเขาไฟฟูจิส่วนนี้เป็นการชั่วคราวแล้ว ทางการจังหวัดยามานาชิยังเสนอมาตรการอื่นๆ รวมทั้งการสั่งห้ามรถบัสและรถยนต์ที่มีผู้โดยสารขึ้นเขา โดยให้เปลี่ยนไปใช้บริการรถไฟรางเบาเพื่อขึ้นเขาแทน อีกทั้งเก็บค่าโดยสารแบบไป-กลับในราคา 10,000 เยน (ราว 2,422 บาท) เพื่อคัดกรองให้มีแต่นักท่องเที่ยวระดับคุณภาพ

พร้อมกับระบุว่า ปัญหานักท่องเที่ยวและขยะล้น รวมถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากยวดยานจำนวนมาก สร้างความกังวลแก่ทางการท้องถิ่นว่า สิ่งเหล่านี้จะทำลายเสน่ห์ของภูเขาฟูจิ ให้กลายเป็นสถานที่ที่ไม่น่ามาเที่ยวอีกต่อไป

‘ญี่ปุ่น’ ประกาศเก็บค่าผ่านทางเข้าชม ‘ภูเขาไฟฟูจิ’ เกือบ 500 บ. ผ่านเส้นทางยอดฮิต ‘โยชิดะ’ หวังคุมจำนวน นทท.ล้น เริ่ม!! 1 ก.ค.นี้

(6 มี.ค. 67) รัฐบาลท้องถิ่น ‘ญี่ปุ่น’ เตรียมเก็บค่าผ่านทางเข้าชม ‘ภูเขาไฟฟูจิ’ เกือบ 500 บาท เริ่มตั้งแต่ 1 ก.ค.67 นี้ เฉพาะเส้นทางโยชิดะ หวังลดจำนวนนักท่องเที่ยว หลังจากมีผู้คนเดินทางมาท่องเที่ยวมากเกินไป และทิ้งขยะเกลื่อนกลาด บางคนแต่งกายไม่เหมาะสมอีกด้วย

สำนักข่าว Japan Times รายงานว่า โคทาโร นางาซากิ ผู้ว่าการจังหวัดยามานาชิ ได้ออกประกาศเก็บค่าธรรมเนียมเข้าเส้นทางการเดินเขาโยชิดะ ซึ่งเป็นเส้นทางที่ใช้มากที่สุดในการขึ้นสู่ยอดภูเขาไฟฟูจิ ราคา 2,000 เยน หรือประมาณ 475 บาท โดยนักท่องเที่ยวจะต้องชำระเงินที่สถานีที่ห้าของเส้นทาง ซึ่งอยู่บนภูเขา ใกล้กับพื้นที่จังหวัดยามานาชิ จะเริ่มเก็บเงินตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.67 เป็นต้นไป

รัฐบาลท้องถิ่นหวังว่า การเก็บค่าเข้าในครั้งนี้จะช่วยควบคุมจำนวนผู้เข้าชมภูเขาไฟฟูจิ และใช้เป็นเงินทุนสำหรับมาตรการความปลอดภัยเพิ่มเติม เช่น การก่อสร้างที่พักพิงในกรณีที่เกิดการปะทุของภูเขาไฟ 

ในเดือนธ.ค.2566 มีประกาศการปิดเส้นทางขึ้นภูเขาไฟฟูจิตั้งแต่เวลา 16.00 - 02.00 น. ในช่วงฤดูปีนเขาปี 2024 (1 ก.ค.-10 ก.ย.67) เพื่อไม่ให้นักปีนเขาเดินทางลงมาในช่วงยามวิกาล และจะมีการจำกัดจำนวนนักเดินป่าที่ 4,000 คนต่อวัน

ภูเขาไฟฟูจิถือเป็นหนึ่งในเส้นทางที่นักปีนเขา และนักท่องเที่ยวจะรีบเดินทางอย่างรวดเร็ว ไม่มีการพักระหว่างทาง หรือ ‘Bullet Climbing’ โดยนักปีนเขามักจะพยายามปีนยอดเขาที่สูงที่สุด 3,776 เมตร แบบรวดเดียวจบ เพื่อจะได้ชมพระอาทิตย์ และกลับลงมาข้างล่างภายในวันเดียว ไม่ต้องนอนค้างคืนบนภูเขา ซึ่งถือว่าเป็นพฤติกรรมการปีนเขาที่ไม่ปลอดภัย โดยในแต่ละปีมักมีรายงานถึงนักท่องเที่ยวที่มาปีนเขาทั้งที่มีอุปกรณ์ไม่ครบ บางคนนอนบนเส้นทาง หรือจุดไฟเพื่อความร้อน ซึ่งอาจส่งผลให้นักท่องเที่ยวป่วยหรือได้รับบาดเจ็บ

“นักท่องเที่ยวล้นเกิน และผลที่ตามมาทั้งหมด เช่น ขยะ การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้น และนักเดินป่าที่ประมาท เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดที่ภูเขาไฟฟูจิกำลังเผชิญ” มาซาตาเกะ อิซุมิ เจ้าหน้าที่รัฐบาลจังหวัดยามานาชิ กล่าวกับสำนักข่าว CNN 

ช่วงฤดูปีนเขา มีนักท่องเที่ยวเดินทางมายังภูเขาไฟฟูจิมากกว่า 220,000 คน โดยเส้นทางโยชิดะเป็นเส้นทางที่นักปีนเขาประมาณ 60% เลือกเส้นใช้ เพราะเดินทางได้สะดวกจากกรุงโตเกียว ส่วนอีก 3 เส้นทางที่เหลือ ได้แก่ ซูบาชิริ, โกเท็มบะ และฟูจิโนะมิยะ ยังเปิดให้เข้าฟรี

‘ญี่ปุ่น’ เตรียมขึ้นฉากกั้น ปิดจุดถ่ายภาพหน้าร้าน LAWSON ใกล้ ‘ภูเขาไฟฟูจิ’ เพื่อตัดปัญหานักท่องเที่ยวไร้ระเบียบ ‘ทิ้งขยะเรี่ยราด-ไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร’

เมื่อวานนี้ (26 เม.ย. 67) เมืองฟูจิคาวากุจิโกะ มีจุดถ่ายภาพมุมมหาชนของนักท่องเที่ยว บริเวณเชิงเขาโยชิดะสู่ภูเขาไฟฟูจิ ซึ่งแต่ละวันเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่พยายามจะถ่ายภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มที่ยืนอยู่หน้าร้าน Lawson's เพื่อต้องการถ่ายภาพความแตกต่างระหว่างร้านที่สว่างไสวด้วยแสงไฟนีออนกับภูเขาอันงดงามอลังการด้านหลัง

แต่หลังจากนี้ จะไม่เป็นเช่นนั้นอีกแล้ว เมื่อเจ้าหน้าที่ของ เมืองฟูจิคาวากุจิโกะ เปิดเผยว่า หลังจากประสบปัญหานักท่องเที่ยวทิ้งขยะและไม่ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างต่อเนื่อง เช่น การข้ามถนน ไปจนถึงการปีนป่ายอาคารรอบ ๆ แม้จะมีป้ายและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคอยเตือนแล้วก็ตาม แต่สถานการณ์เดิม ๆ ก็ยังคงดำเนินต่อไป

เหตุผลดังกล่าว ทำให้ทางการญี่ปุ่นตัดสินใจใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด เตรียมสร้างฉากกั้นมีความสูง 2.5 เมตร และเส้นผ่านศูนย์กลาง 20 เมตร ที่จะถูกติดตั้งขึ้นในต้นสัปดาห์หน้า เพื่อบดบังไม่ให้เห็นวิวภูเขาไฟฟูจิแบบเดิมอีก

‘ญี่ปุ่น’ ติดฉากกั้นสีดำบังวิว ‘ภูเขาไฟฟูจิ’  อวสานจุดเช็กอิน นักท่องเที่ยว ‘ไร้วินัย’

(21 พ.ค.67) นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่คงจะมีความรู้สึกคล้าย ๆ กันว่าการได้ชมวิวภูเขาไฟฟูจิถึงจะเรียกได้ว่าเดินทางถึงญี่ปุ่นจริง ๆ และเมืองฟูจิคาวากุจิโกะก็เป็นอีกหนึ่งจุดชมวิวภูเขาไฟฟูจิที่ได้รับความนิยมมากจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขณะเดียวกัน ก็มีเสียงร้องเรียนจากคนท้องถิ่นว่าแขกผู้มาเยือนเหล่านี้มักจะทิ้งขยะเรี่ยราด รุกล้ำพื้นที่ หรือแม้กระทั่งฝ่าฝืนกฎจราจร เพื่อที่จะได้รูปในมุมที่สวยที่สุดเอาไปแชร์ลงโซเชียลมีเดีย

ชาวเมืองเล่าว่า นักท่องเที่ยวบางคนจอดรถในที่ห้ามจอด ไม่สนป้ายคำเตือนห้ามสูบบุหรี่ และไปยืนออกันอยู่บนบาทวิถี เพื่อจะถ่ายรูปกับร้านสะดวกซื้อซึ่งมีวิวยอดภูเขาไฟที่มีหิมะปกคลุมเป็นฉากหลัง

ล่าสุดวันนี้เจ้าหน้าที่ของเมืองเริ่มนำฉากตาข่ายสีดำขนาดกว้าง 2.5 เมตร ยาว 20 เมตร มาติดตั้งตรงจุดเช็กอินถ่ายรูปจนแล้วเสร็จเมื่อช่วงสาย ๆ ที่ผ่านมา ตามรายงานของผู้สื่อข่าวเอเอฟพี

“ฉันหวังว่าตาข่ายนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้มีใครทำกิจกรรมอันตรายบริเวณนี้อีก” มิจิเอะ โมโตโมจิ วัย 41 ปี เจ้าของร้านขนมหวานพื้นบ้านญี่ปุ่นในพื้นที่บอกกับเอเอฟพี

ด้าน คริสตินา รอยส์ นักท่องเที่ยวชาวนิวซีแลนด์ วัย 36 ปี ออกมาบ่นด้วยความเสียดายว่า “ฉันรู้สึกผิดหวังที่พวกเขาเอาตาข่ายมาติดตั้ง ตรงนี้มันเป็นจุดถ่ายรูปที่เยี่ยมมาก แต่ก็เข้าใจได้ พวกเรามาถึงตั้งแต่คืนวานนี้ และได้ถ่ายรูปเป็นครั้งสุดท้ายก่อนจะมีการติดตั้งฉาก และมีคนจำนวนมากที่ทำแบบเรา”

“จะว่าไปมันก็อันตรายอยู่ เพราะมีรถยนต์ขับไปมาบนถนน ยังมีสถานที่อื่น ๆ ที่พวกคุณสามารถถ่ายภาพกับภูเขาไฟฟูจิได้”

ญี่ปุ่นมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางไปเยือนมากเป็นประวัติการณ์ โดยจำนวนนักท่องเที่ยวพุ่งทะลุ 3 ล้านคนต่อเดือนเป็นครั้งแรกเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา และอีกครั้งในเดือน เม.ย.

นักท่องเที่ยวที่จะใช้เส้นทางยอดนิยมปีนขึ้นภูเขาไฟฟูจิในฤดูร้อนปีนี้จะต้องเสียค่าธรรมเนียม 2,000 เยนต่อคน โดยทางการยังได้จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยววันละไม่เกิน 4,000 คนเพื่อลดปัญหาความแออัด

‘ญี่ปุ่น’ จ่อเปลี่ยนที่บังวิว จุดถ่ายรูป ‘ฟูจิ’ ตรงลอว์สันให้แข็งแรงขึ้น หลัง นทท.ไม่รามือ!! แอบเจาะตาข่ายจนพรุน หวังแชะรูปให้ได้

เมื่อวานนี้ (30 พ.ค.67) สื่อญี่ปุ่นรายงานว่า ทางการเมืองฟูจิคาวากุชิโกะ ซึ่งเป็นที่ตั้งหนึ่งในจุดชมวิวภูเขาไฟฟูจิยอดนิยมของญี่ปุ่นในจังหวัดยามานาชิ จะทำการเปลี่ยนที่บังวิวใหม่ บริเวณจุดถ่ายรูปฮอตฮิตตรงร้านสะดวกซื้อ ‘Lawson’ ที่มีวิวด้านหลังเป็นภูเขาไฟฟูจิ

โดยจะติดตั้งที่บังวิวซึ่งทำจากวัสดุที่แข็งแรงขึ้น หลังจากการใช้ตาข่ายสีดำ ขนาดสูง 2.5 เมตร และยาว 20 เมตร ติดตั้งบังวิวฟูจิจากร้านสะดวก ‘Lawson’ ไปก่อนเมื่อไม่กี่วันก่อน ปรากฏว่ายังมีนักท่องเที่ยวมือบอนมาแอบเจาะตาข่ายที่บังวิวให้เป็นรูเล็ก ๆ อย่างน้อย 10 รู ในความพยายามจะถ่ายรูปวิวภูเขาไฟฟูจิหลังร้านสะดวกซื้อแห่งดังกล่าวผ่านรูเล็ก ๆ บนที่บังวิวนั้นให้ได้

สำนักข่าวเกียวโดและสื่ออีกหลายสำนักรายงานว่า ที่บังวิวใหม่จะทำให้แข็งแรงขึ้นและอาจเปลี่ยนเป็นสีที่อ่อนลง เช่น สีฟ้าหรือสีเขียวแทน

ด้าน นายฮิเดยูกิ วาตานาเบะ นายกเทศมนตรีเมืองฟูจิคาวากุชิโกะ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ตนหวังจะให้มีการเปลี่ยนที่บังวิวใหม่โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ก่อนช่วงฤดูร้อนนี้

ทั้งนี้ การตัดสินใจติดตั้งที่บังวิวบริเวณจุดถ่ายรูปฮิตที่ร้านสะดวกซื้อ ‘Lawson’ แห่งนี้ มีขึ้นเพื่อแก้ปัญหานักท่องเที่ยวล้นและการไม่เคารพกฎจราจรของนักท่องเที่ยว เช่น การข้ามถนนไปมาเพื่อที่จะถ่ายรูปซึ่งถือเป็นอันตราย ทำให้ทางการญี่ปุ่นต้องจัดหามาตรการเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

‘ญี่ปุ่น’ มีความเสี่ยง!! เกิดแผ่นดินไหวมหึมา ‘เมกะเควก’ เพิ่มมากถึง 82% ในอีก 30 ปีข้างหน้า

(18 ม.ค. 68) คณะกรรมธิการวิจัยแผ่นดินไหวของญี่ปุ่นเพิ่มระดับความเป็นไปได้ที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่มากเป็นร้อยละ 75-82 จากเดิมอยู่ที่ระหว่างร้อยละ 74-81 และประเมินว่าความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นจากเมกะเควกขนาด 8-9 แม็กนิจูดจะทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิคร่าชีวิตผู้คนหลายแสนรายและสร้างความเสียหายหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

แผ่นดินไหวระดับมหาวิปโยคที่อาจเกิดขึ้นเป็นผลจากการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกใน ‘ร่องลึกนันไก’ ซึ่งมีความยาวประมาณ 800 เมตร ทอดตัวขนานไปกับชายฝั่งแปซิฟิกของญี่ปุ่น

ร่องน้ำลึกก้นสมุทรนันไกอยู่บนแผ่นเปลือกโลกฟิลิปปินส์และกำลังมุดตัวหรือค่อยๆ เคลื่อนตัวอยู่ใต้แผ่นเปลือกโลกที่ญี่ปุ่นตั้งอยู่ หลังจากแผ่นเปลือกโลกเคลื่อนตัวแล้วจะหยุดชะงัก กักเก็บพลังงานมหาศาล ก่อนปล่อยออกมาและเป็นสาเหตุให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดมหึมา

สำนักงานส่งเสริมการวิจัยแผ่นดินไหวของรัฐบาลระบุว่าในช่วง 1,400 ปีที่ผ่านมา เกิดแผ่นดินไหวในร่องลึกนันไกทุกๆ 100-200 ปี โดยแผ่นดินไหวรุนแรงครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อปี 2489 หรือ 79 ปีก่อนและความเสี่ยงที่อาจจะเกิดแผ่นดินไหวจะเพิ่มขึ้นทุกปีในอัตราร้อยละ 1

รัฐบาลญี่ปุ่นคาดการณ์ไว้เมื่อปี 2555 ว่าหากเกิดแผ่นดินไหวเมกะเควกขึ้นมาจะทำให้เกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งของเกาะหลักอาจทำให้เกิดสึนามิสูงกว่า 30 เมตร พื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นบนเกาะหลัก ทั้งเกาะฮอนชูและชิโกกุจะถูกคลื่นยักษ์ถล่มภายในไม่กี่นาที

เมื่อเดือนส.ค.2567 กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นออกประกาศเตือนภัยแผ่นดินไหวขนาดมหึมาเป็นครั้งแรกตามกฎระเบียบที่ร่างไว้ หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิที่ภูมิภาคโทโฮคุเมื่อปี 2554 และมีความเป็นไปได้มากขึ้นที่อาจเกิดแผ่นดินไหวใหญ่แถบร่องลึกนันไก หลังเกิดแผ่นดินไหวที่ความรุนแรงขนาด 7.1 แม็กนิจูด ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บ 15 คน

แม้ประกาศยกเลิกคำเตือนหลังผ่านพ้นเหตุการณ์ระทึกขวัญไปได้ 1 สัปดาห์แล้ว แต่ทำให้ประชาชนตื่นตระหนกและพากันกักตุนข้าวสารและสิ่งของจำเป็นอื่นๆ

ทั้งนี้ เมื่อปี 2250 หรือเมื่อ 318 ปีก่อน ทุกส่วนของร่องลึกนันไกเคยแตกออกมาพร้อมกันทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งยิ่งใหญ่และยังเป็นแผ่นดินไหวที่ทรงพลังเป็นอันดับ 2 ของประเทศจนถึงทุกวันนี้

แผ่นดินไหวครั้งนั้นส่งผลให้ภูเขาไฟฟูจิปะทุเป็นครั้งสุดท้าย หลังจากนั้นเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงในร่องลึกนันไก 2 ครั้งในปี 2397 และอีก 2 ครั้ง ในปี 2487 และ 2489


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top