ไขข้อข้องใจ ‘ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์’ มุมมองอีกด้านที่คนไทยทุกคนต้องรู้
ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ ตำแหน่ง อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ….
ที่ผ่านมา สถาบันพระมหากษัตริย์ถูกโจมตี ใส่ร้าย บิดเบือนเป็นอย่างมาก และทำเป็นกระบวนการ ไม่มีอะไรที่จะสยบความบิดเบือน การใส่ร้ายป้ายสีได้ดีเท่าการเอาความจริงเข้ามานำเสนอ เพื่อจะได้ทุบกะลาให้แตกออกมา และเมื่อความจริงปรากฏ ก็จะทำให้คนตาสว่างและเข้าใจในข้อเท็จจริงได้
สถาบันพระมหากษัตริย์ : ความจริงที่ถูกบิดเบือน
ผศ.ดร.อานนท์ ได้กล่าวว่า ตนก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน ว่าทำไมชอบใส่ร้ายเรื่องเงินทอง แต่มันอาจจะเป็นเรื่องของความบาดใจ เพราะบางคนที่ไม่มีก็จะอิจฉาคนที่มีมากกว่า ก็เลยรู้สึกว่า เรื่องที่โดนบิดเบือนเยอะที่สุดก็คือ เรื่อง ‘ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์’ กับ ‘ภาษีกู’ ที่เป็นประเด็นหลัก
ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
ต้นกำเนิดทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มาจาก ‘เงินถุงแดง’ ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านทรงค้าขาย และเอาเงินเก็บไว้ที่ข้างพระแท่นบรรทม จึงเรียกว่า ‘พระคลังข้างที่’ ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 5 ท่านได้มีการลงทุนปล่อยกู้ คนก็เอาที่ดินมาจำนอง ที่ดินงาม ๆ ในกรุงเทพฯ เยอะแยะมากมาย ถูกจำนองและถูกยึด เพราะว่าไม่ใช้หนี้ และได้มีการลงทุนในสมัยรัชกาลที่ 6 ที่ทรงลงทุนในปูนซิเมนต์ไทย ซึ่งหุ้นปูนซิเมนต์ไทย พระเจ้าอยู่หัวพระองค์ท่านทรงถือหุ้นอยู่ประมาณ 25% และหุ้นปูนซีเมนต์ไทย เป็นหุ้นที่มีมูลค่าเกินกว่า 100 เท่า นับตั้งแต่วันที่เข้าตลาด เพราะฉะนั้น ลองคิดดูว่า มันงอกเงยขึ้นมากี่เท่า ที่ดินแปลงงาม ๆ ในกรุงเทพฯ บวกกับหุ้นปูนซีเมนต์ไทย หรือหุ้นธนาคารไทยพาณิชย์ด้วยก็ตาม จึงทำให้ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์งอกเงยจากการลงทุนขึ้นมามากมาย
ทรัพย์สินส่วนพระองค์
ทรัพย์สินส่วนพระองค์ เป็นของราชวงศ์จักรี หมายความว่าจะสืบทอดต่อไปกับพระเจ้าแผ่นดินในอนาคต คนละส่วนกับทรัพย์สินของแผ่นดิน เพราะทรัพย์สินของแผ่นดิน อยู่ที่กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ หรือกระทรวงการคลัง แยกขาดจากกัน ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีการปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน จากจตุสดมภ์ 4 เวียง วัง คลัง นา และเปลี่ยนเป็น 12 กระทรวง
กษัตริย์ที่รวยที่สุดในโลก
เมื่อถามว่า พระเจ้าแผ่นดินจะร่ำรวยไม่ได้หรือ ในเมื่อบรรพบุรุษค้าขายมาเก่ง เก็บเงินเก่ง ลงทุนเก่งก็เป็นเรื่องปกติ แต่ว่าการที่พระเจ้าแผ่นดินมีพระราชทรัพย์ จริง ๆ ก็เป็นของที่เป็นประโยชน์อย่างหนึ่ง คือ สามารถพระราชทานช่วยเหลือประชาชนได้ในยามที่ประชาชนเดือดร้อนลำบาก ในช่วงโควิดที่ผ่านมา ทรงซื้อเครื่องช่วยหายใจไปเป็นหลายร้อยเครื่อง ถ้าไม่มีเครื่องช่วยหายใจที่ซื้อพระราชทานให้ โควิดจะมีคนตายมากกว่านี้
พระตำหนักที่เยอรมัน
นั่นก็เป็นเงินส่วนพระองค์ ที่ทรงซื้อไว้ตั้งแต่ยังเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ซื้อไว้ตอนที่ถูกมาก ในเมืองทุทซิง ซึ่งอยู่ในทำเลดีมาก และติดกับทะเลสาบ และส่งเสียภาษีที่ดินอย่างถูกต้องมาโดยตลอด แต่ระบบเยอรมันนั่น เป็นระบบที่แปลก คือ ปีภาษีจะครบทุก 4 ปี คราวนี้พอ 3 ปี ยังไม่ได้จ่าย ก็เลยมีคนบอกว่า ท่านไม่จ่ายภาษี จริง ๆ คือมันยังไม่ครบกำหนดที่จะต้องจ่าย นี่คือพวกหาเรื่อง ก็พระเจ้าแผ่นดินมีพระราชทรัพย์ตกทอด เนื่องจากราชสกุลมหิดล มีทรัพย์สินส่วนพระองค์ค่อนข้างเยอะ เพราะสมเด็จพระศรีสวรินธราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เป็นพระมเหสีที่ประหยัด ขยัน อดออม และฉลาดในการค้าขาย ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้ทอผ้าขายในพระราชวังสวนดุสิต และโปรดทรงทำนา และโปรดทำโรงสีข้าว ยกตัวอย่างเช่น หมู่บ้านสัมมากรทั้งหมู่บ้าน เป็นที่ดินของสมเด็จพระพันวัสสาฯ เป็นที่นาเก่าของสมเด็จพระพันวัสสาฯ และสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี ทรงเห็นว่า อยากให้ประชาชน คนที่มีสัมมาชีพ ได้มีสัมมาการอยู่อาศัย จึงได้พระราชทานมาจัดสรรเป็น ‘หมู่บ้านสัมมากร’ เป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ทั้งนั้น
เปลี่ยนแปลงเพื่อประชาชน
พระองค์ท่านทรงเปลี่ยนหลายอย่าง อย่างที่ 1 คือ พระราชทานทรัพย์สินที่ดินจำนวนมากให้กับหน่วยราชการ เช่นตรงซอยมหาดเล็กหลวง 1-3 ตรงราชดำริ มูลค่านับแสนล้าน ทรงพระราชทานให้วชิราวุธวิทยาลัย ค่ายนเรศวรของตำรวจตระเวนชายแดน ก็คือ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน กระทั่งสำนักข่าวกรองแห่งชาติ หรือว่ากรมตำรวจที่วังปารุสก์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ดินพระราชทานจำนวนมากมายมหาศาล ที่เดิมเป็นที่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และหน่วยราชการไปขอใช้ ท่านก็ทรงพระราชทานโฉนดให้หน่วยราชการนั้น อย่างมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต และหน่วยราชการอื่น ๆ กระทรวงศึกษาธิการ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ทั้งกองก็ตั้งอยู่บริเวณพระราชวังสวนดุสิต เพราะพระราชทานที่ดินให้ และอย่างทรัพย์สินแปลงใหญ่ ที่สุดในกรุงเทพฯ ตอนนี้ ก็กลายเป็นสวนสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ เหมือนกัน นั่นก็คือ สนามม้านางเลิ้ง
แก้กฎหมายให้พระมหากษัตริย์ต้องเสียภาษี
ทรงแก้กฎหมายให้ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ต้องเสียภาษีเหมือนกับทรัพย์สินประชาชน เพราะว่า พ.ร.บ. ทรัพย์สิน 2491 ยกเว้นภาษี พระองค์ท่านทรงไม่เห็นด้วย แต่นั่นก็เป็น พ.ร.บ. ที่ทำไว้ตั้งแต่สมัย นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งแต่ละปีก็ทรงเสียภาษีเป็นจำนวนมาก
