Saturday, 18 May 2024
พารากอน

‘ตำรวจ’ คุมตัว ‘มือปืนอายุ 14’ ไล่ยิงคนในพารากอนแล้ว พบผู้เสียชีวิต 3 ราย ส่วนผู้บาดเจ็บกำลังตรวจสอบ

(3 ต.ค.66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเกิดเหตุระทึกกลางห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ทำให้ประชาชนที่อยู่ภายในห้าง ต่างวิ่งแตกตื่นหนีตายกันออกมา เจ้าหน้าที่ของห้างได้รีบอพยพคนออกมาภายนอกห้างอย่างเร่งด่วน

ขณะที่คนร้ายแต่งกายมิดชิด สวมหมวกแก๊บเดินถือปืนอยู่ในห้าง เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างเข้าพื้นที่เพื่อควบคุมสถานการณ์

สำหรับผู้บาดเจ็บล่าสุด พบว่ามี 4 ราย เป็นเจ้าหน้าที่ รปภ.ของห้าง ถูกนำตัวส่ง รพ.หัวเฉียว ส่วนอีก 2 ราย ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล

ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวคนร้ายได้แล้ว เป็นเด็กชาย อายุ 14 ปี โดยคนร้ายยอมมอบตัวภายในโรงแรมชื่อดัง ซึ่งตำรวจอยู่ระหว่างนำตัวไปสอบปากคำ พร้อมอาวุธปืนที่ใช้ก่อเหตุ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างเข้าตรวจสอบหาตัวผู้บาดเจ็บเพิ่มเติม

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า สำหรับผู้เสียชีวิตล่าสุดมีรายงานว่า ขณะนี้เสียชีวิตแล้ว 3 ราย ส่วนผู้บาดเจ็บอยู่ระหว่างตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ และกำลังตรวจสอบหาผู้บาดเจ็บเพิ่มเติมภายในห้างพารากอน

'รศ.ดร.นงนุช' ชี้!! สิทธิมนุษยชนต้องมีขอบเขต แนะ!! ให้เจตนาเป็นตัวตัดสินโทษ ไม่ใช่อายุ

(4 ต.ค. 66) รศ.ดร.นงนุช ตันติสันติวงศ์ นักวิชาการด้านเศรษฐกิจ การเงินและการคลังและภาษี มหาวิทยาลัยนอตทิงแฮม เทรนต์ ประเทศอังกฤษ และ Visiting Academic, School of Electronics & Computer Science, University of Southampton โพสต์เฟซบุ๊กถึงเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่สยามพารากอนว่า คำถาม 1 ผู้ก่อเหตุอายุเท่านี้เอาสิ่งที่มีกลไกเดียวกันกับปืนและกระสุนมาจากไหน

คำถาม 2 ทำไมถึงเลือกกราดยิงที่ห้างอย่างพารากอน ในเมื่อถ้าคนจะหยิบปืนไปฆ่าใครซักคน ถ้าไม่เพื่อปล้นทรัพย์ ก็ต้องมีปมกับคนหรืออะไรซักอย่างที่อยู่ในสถานที่ และเป็นที่ ๆ คุ้นเคย

คำถาม 3 ต่อไปนี้ คนเดินห้าง นอกจากต้องพกร่ม ชุดกันฝนในช่วงหน้าฝนแบบนี้ ยังต้องใส่ชุดกันกระสุนด้วยมั้ย

คำถาม 4 เหตุการณ์แบบนี้ ทำไมเอาอายุมาเป็นประเด็น ในเมื่อคนอายุต่ำกว่านี้ ก็ทำผิดกฎหมายกันเยอะแยะ สิ่งที่ควรคิด ไม่ใช่ว่าเค้าอายุน้อย เลยรู้สึกว่าโลกมันโหดร้ายขึ้น หรือเค้ามีเหตุกดดันอะไรจึงก่อเหตุ แต่มันกำลังบอกว่า

1.คนรู้จักควบคุมความรู้สึกของตัวเองน้อยลง มี EQ ที่ต่ำ

2.ในช่วง 10 กว่าปีมานี้ วัฒนธรรมการสอนในครอบครัว ในสถานศึกษา มีรูปแบบที่มีการผ่อนปรน ลดความรุนแรงและความเครียด มีการเอาพ่อแม่มามีส่วนร่วมในการเรียน มีการสอนด้วยเหตุผลมากขึ้น แต่ก็ยังมีเหตุการณ์แบบวันนี้ เพราะการผ่อนปรนจนละเลยการสอนให้รู้จักกฏระเบียบ รู้จักวินัย รู้จักขอบเขตของสิ่งที่แต่ละคนพึงกระทำได้ และอะไรที่ทำไม่ได้ ไม่ควร

3.เด็กประถมปีที่ 1-4 สมัยนี้ จัดกระเป๋าไปเรียนเองโดยที่พ่อแม่ไม่ต้องคอยเตือน มีกี่คน เด็กส่วนใหญ่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าที่จะสอบน่ะ สอบวิชาอะไร หัวข้ออะไร เนื้อหาเป็นยังไง ข้อสอบเป็นปรนัยหรืออัตนัย ต้องอ่านตรงไหนเป็นพิเศษ คนที่ตอบได้คือพ่อแม่ของเด็ก การประคบประหงมลูกแบบนี้ ไม่ได้ช่วยให้เด็กพัฒนาทักษะการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ การเอาตัวรอด และการรับผิดชอบในหน้าที่

4.ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีเด็กประถมกี่คนที่ทำการบ้านเอง หยิบหนังสือขึ้นมาอ่านเองทุกวัน…เมื่อพ่อแม่จัดตารางเรียนพิเศษให้ ต้องคอยมีครูประกบตลอด หรือจะต้องมีพ่อแม่คอยเตือนให้ทำการบ้าน อ่านหนังสือ…สภาพแบบนี้ เค้าจะพัฒนาทักษะการมีวินัย การรู้จักกาลเทศะ ได้ยังไง

5.การเล่นเกมไม่ได้ผิดเสมอไปค่ะ เพราะบางเกมมันช่วยพัฒนาสมองพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ของเด็ก ถ้าจะโทษต้องย้อนกลับไปถามว่าทำไมเด็กถึงต้องใช้อุปกรณ์อย่าง tablet, smartphone ในวัยเรียน ไม่ว่าจะที่บ้านหรือที่โรงเรียน การที่เด็กมีอุปกรณ์ที่เข้าถึงเกมได้ตลอด มันเป็นช่องทางให้เด็กเข้าถึงเกมที่ไม่เหมาะสมในระหว่างที่ไม่มีผู้ใหญ่ควบคุมการใช้

'นายกฯ' ร่วมยืนไว้อาลัย เหตุสลดยิงกลางห้างดัง ลั่น!! ขอให้เหตุการณ์นี้ เกิดขึ้นแค่เพียงครั้งเดียว

(4 ต.ค. 66) ที่ชั้น 4 ศูนย์การค้าสยามพารากอน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธีเปิด ‘SCBX NEXT TECH’ เทคคอมมูนิตี้แห่งโลกอนาคต โดยมี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ น.ส.ชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่ ผู้บริหารศูนย์การค้าสยามพารากอน และผู้เกี่ยวข้องร่วมงานจำนวนมาก

โดยก่อนเริ่มงาน น.ส.ชฎาทิพได้แถลงการณ์พร้อมกล่าวไว้อาลัยต่อเหตุการณ์ยิงในพื้นที่สยามพารากอนเมื่อเย็นวันที่ 3 ตุลาคมว่า กราบเรียนนายกรัฐมนตรี น.ส.แพทองธาร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCB ท่านผู้มีเกียรติและสื่อมวลชน ในโอกาสนี้สยามพารากอนขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม โดยผู้บริหารและพนักงานของเราได้ดำเนินการระงับเหตุทันที อย่างสุดความสามารถ รวมถึงการอพยพลูกค้าออกจากพื้นที่โดยเร็วที่สุดและรักษาความปลอดภัยแก่บรรดาร้านค้าและพนักงานที่มีอยู่ในอาคารนี้ไม่ต่ำกว่า 20,000 คนจนสามารถระงับเหตุได้ภายในเวลาอันสั้น

น.ส.ชฎาทิพกล่าวว่า อย่างไรก็ดีความสูญเสียที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบเป็นวงกว้างนั้น ไม่สามารถประเมินค่าได้ สยามพารากอนขอขอบพระคุณทุกกำลังใจที่มอบให้แก่บริษัทและพนักงานของเรา ท่ามกลางวิกฤตการณ์นี้ และขอน้อมรับคำแนะนำทั้งปวงเพื่อนำมาพัฒนาและป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก ขอให้เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเครื่องเตือนใจพวกเราในฐานะคนไทยที่จะต้องช่วยกันปรับปรุงและดูแลสังคมและเยาวชนของเราให้กลับสู่วัฒนธรรมแห่งความรักความเอื้ออาทรเช่นที่เคยเป็นมา ในโอกาสนี้สยามพารากอนขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บทุกท่าน จึงขอเรียนเชิญทุกท่านที่อยู่ ณ ที่นี้ร่วมยืนและตั้งใจสงบนิ่งเป็นเวลา 1 นาที เพื่อไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิตร่วมกัน

จากนั้นนายกรัฐมนตรี น.ส.แพทองธาร และผู้ร่วมงานยืนไว้อาลัยต่อเหตุการณ์เป็นเวลา 1 นาที

ต่อมาเวลา 10.48 น. นายกฯ ขึ้นเวทีกล่าวแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อคืนนี้ และขอส่งกำลังใจให้กับญาติพี่น้องทางผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุการณ์สุดวิสัย ไม่สามารถควบคุมได้ ตนเชื่อว่าทางศูนย์การค้าสยามพารากอนและเจ้าหน้าที่รัฐและได้พยายามอย่างสุดความสามารถ เพื่อที่จะดูแลความปลอดภัยตรงนี้ ก็ขอให้เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว ส่วนการป้องกันต่างๆ ทางรัฐบาลยืนยันเต็มที่กับการดำเนินการในเรื่องนี้

'นายกฯ' จ่อพบทูตจีนสร้างความมั่นใจ เชื่อ!! นักท่องเที่ยวเข้าใจ เป็นเหตุสุดวิสัย

(4 ต.ค.66) ที่ชั้น 4 ศูนย์การค้าสยามพารากอน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิด ‘SCBX NEXT TECH’ เทคคอมมูนิตี้แห่งโลกอนาคต ว่า ขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่คาดไม่ถึง ขอแสดงความเสียใจกับญาติผู้เสียชีวิต ซึ่งทางพารากอนได้ทำสุดความสามารถ และมีมาตรการป้องกันดูแลในที่เกิดเหตุได้อย่างดี ดังนั้นงานในวันนี้ต้องเดินหน้าต่อไป เพราะพื้นที่เล็กๆ นี้ 4,000 ตารางเมตร ที่สยามพารากอนจัดงาน เชื่อว่าจะเป็นกลไกสำคัญในการใช้พื้นที่เอกชน ที่เห็นความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนไทยในทุกๆ มิติเพื่อให้ก้าวยืนบนเวทีโลก เสริมสร้างการแข่งขันให้กับเยาวชนไทย ต้องขอชื่นชมหวังว่าฟันเฟืองเล็กๆ ตรงนี้จะเป็นตัวอย่างให้บริษัทเอกชนหลายๆ บริษัทร่วมกันพัฒนาให้มีพื้นที่เยาวชนได้แสดงออกอย่างเหมาะสมและถูกต้องอย่างบูรณาการ

นายเศรษฐา กล่าวว่า เมื่อคืนวันที่ 3 ต.ค.66 หลังจากได้มาพูดคุยกับผู้บริหารสยามพารากอน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้รับรายงานอย่างละเอียด จากนั้นเดินทางไปโรงพยาบาลตำรวจ และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อเยี่ยมผู้ป่วย และได้พูดคุยกับผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาฯ พร้อมสั่งการให้ดูแลอย่างเต็มที่ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี ทรงมีพระบรมราชานุเคราะห์ ให้ผู้ป่วยอยู่ในความดูแล ซึ่งทุกคนปลื้มปิติ และระหว่างนั้นยังได้มีการต่อสายพูดคุยกับเอกอัครราชทูตจีน เพื่อขอโทษกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และให้มั่นใจได้ว่ารัฐบาลไทยทำทุกอย่าง และดูแลผู้ป่วยอย่างดีที่สุด และยังได้มีการตามญาติผู้ป่วย พร้อมประสานงานผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว โดยประมาณเวลา 22.00 น. ก็เจอญาติ เป็นการพูดคุยซึ่งทางทูตจีนได้สบายใจ และอีก 1-2 วันนี้ ตนจะเข้าไปพบเอกอัครราชทูตจีน

เมื่อถามว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะกระทบการท่องเที่ยวโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่ไทยเปิดฟรีวีซ่า ตรงนี้จะเรียกขวัญกำลังใจกับนักท่องเที่ยวที่ยังท่องเที่ยวอยู่ในไทยอย่างไรหรือไม่ นายกฯกล่าวว่า ตนเชื่อว่านักท่องเที่ยวเข้าใจว่าเป็นเหตุการณ์ที่สุดความสามารถจริงๆ และรัฐบาลไทย รวมถึงเอกชนไทยได้ประสานความร่วมมือดูแลเพื่อให้นักท่องเที่ยวเกิดความมั่นใจ

เมื่อถามว่า ในเรื่องระบบการป้องกันและเตือนภัย มีเสียงสะท้อนว่าให้เข้มงวดมากขึ้น นายกฯ กล่าวว่า ได้คุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรียบร้อย เพราะไม่ใช่แค่ระบบเตือนภัยอย่างเดียว แต่เป็นระบบเตือนภัยทั้งหมดรวมถึงการกระจายข่าวเพื่อให้พี่น้องประชาชนได้ทราบว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง

เมื่อถามว่า ขณะนี้มีคำถามว่าทำไมอาวุธปืนถึงหาซื้อได้ง่ายโดยเฉพาะในเด็กเยาวชนที่ท่องในโลกโซเชียลก็สามารถหาซื้อได้แล้ว นายกฯ กล่าวว่า อันนี้เป็นปัญหาหนึ่งซึ่งได้มีการพูดคุยกับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในกรณีที่มีการซื้อทางออนไลน์จะต้องมีการรัดกุมให้มากยิ่งขึ้น รวมถึงการที่เยาวชนสามารถเข้าถึงการซื้ออาวุธ ตรงนี้น้อมรับ ถือเป็นนโยบายที่จะต้องไปดำเนินการให้รัดกุมมากยิ่งขึ้นในการให้เข้าถึงการซื้ออาวุธปืนให้ได้ยากมากขึ้น

‘สิ่งที่ควรทำ - ไม่ควรทำ’ เมื่อเกิดเหตุระทึกขวัญ ช่วยหยุดการเลียนแบบ - ลดผลกระทบทางจิตใจเหยื่อ

เมื่อเกิดเหตุระทึกขวัญ หรือเหตุการณ์น่าสะเทือนใจในสังคม สิ่งที่ตามมาคือการกระจายข่าวออกไปในวงกว้างทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ ข้อดีคือทำให้คนหมู่มากรับรู้และระวังตัวยิ่งขึ้น แต่ข้อเสียก็คือบางครั้งอาจจะเป็นการกระจายข้อมูลที่มากเกินขอบเขต และส่งผลเสีย มากกว่าผลดี

วันนี้ THE STATES TIMES ได้รวบรวม ‘สิ่งที่ควรทำ - ไม่ควรทำ’ เมื่อเกิดเหตุระทึกขวัญ เพื่อจะช่วยหยุดพฤติกรรมเลียนแบบ และลดผลกระทบทางจิตใจของเหยื่อ จะมีอะไรบ้าง มาดูกัน!!

‘มณีรัตน์ ลิมป์รัตนกาญจน์’ ชี้ ไทยควรมีแจ้งเหตุร้ายผ่านมือถือ หลังเผชิญเหตุกราดยิง แต่ไร้ระบบเตือนภัย - แนะวิธีปฏิบัติตัว

(4 ต.ค. 66) นางสาวมณีรัตน์ ลิมป์รัตนกาญจน์ อดีตคณะทำงานรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, ดีกรีนักกฎหมายจาก King's College London และอดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคภูมิใจไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงเหตุการณ์กราดยิงที่สยามพารากอน เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 โดยระบุว่า ในฐานะผู้ประสบภัย จากเหตุกราดยิงที่สยามพารากอน ทำให้ฉุกคิดขึ้นมาว่า บ้านเราควรจะมี SOS Alert ผ่านมือถือแล้วหรือยัง

ณ เวลาที่มีเสียงปืนดังขึ้น ตอนนั้นดิฉัน สามี และลูกสาวอยู่ใน Sea Life Ocean World ที่ชั้น B1 เจ้าหน้าที่ของ Sea Life รีบทำการปิดประตูรั้วเหล็กลง และไม่ให้ลูกค้าเดินออกไป ในตอนนั้นไม่มีใครรู้เหตุผลเลยว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงไม่ให้เราออกไปข้างนอก ครอบครัวเราก็เช่นกันเนื่องจากตอนที่อยู่ด้านล่าง จะไม่ได้ยินเสียงปืนด้านบนเลย รู้แต่เพียงว่าให้รวมตัวกันไว้ และรออยู่ด้านใน ในตอนนั้นมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเยอะพอสมควร ทุกคนต่างสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น เจ้าหน้าที่ของ Sea Life เพียงแต่บอกว่ามี Emergency Case ที่ด้านบน ในประเด็นนี้ก็เข้าใจว่าพยายามไม่ให้นักท่องเที่ยวตื่นตกใจ ซึ่งก็ขอชื่นชมเจ้าหน้าที่สามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างดีเยี่ยม

ในตอนนั้นสิ่งเดียวที่เราทำได้ คือหาข่าวจากสื่อ Social Media ต่างๆ และโทรเช็คข่าวกับที่บ้านว่าเกิดอะไรขึ้น เพื่อจะได้เตรียมรับมือได้ถูกต้อง ในทางกลับกันสำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ติดอยู่ด้วยกัน ไม่สามารถอัปเดตข่าวสารจากข้างนอกได้เลยได้เพียงแต่อดทนรอแบบไม่รู้สาเหตุ กลายเป็นคนที่ต้องประสบเหตุเผชิญสถานการณ์กลับรู้เรื่องน้อยกว่าบุคคลภายนอกเสียอีก จุดนี้เองส่วนตัวแล้วมองว่า การให้ข้อมูลที่ถูกต้อง และเหมาะสมเป็นเรื่องจำเป็นในเหตุเฉพาะหน้าเช่นนี้ ทำให้คิดต่อไปว่า ถ้าบ้านเรามีระบบแจ้งเตือน ไม่ว่าจะเป็นช่องทาง SMS หรือช่องทางใดๆก็ตาม เพื่อแจ้งเตือนให้บุคคลที่อยู่บริเวณที่ประสบเหตุทราบว่าเกิดอะไรขึ้น พร้อมบอกวิธีการปฏิบัติตัวก็คงจะเป็นเรื่องดี อย่างน้อยทำให้คลายความกดดัน ทำให้ทุกคนรู้ว่าจะต้องเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างถูกต้องและเป็นระเบียบ

‘ในหลวง-พระราชินี’ โปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนพระองค์ เข้าเยี่ยมชาวจีนที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุกราดยิงในห้างดัง

เมื่อวานนี้ (5 ต.ค. 66) เพจเฟซบุ๊ก ‘Chinese Embassy Bangkok สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย’ ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า…

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี โปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนพระองค์เข้าเยี่ยมชาวจีนที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุกราดยิง

ช่วงเช้าวันที่ 4 ตุลาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เชิญดอกไม้และตะกร้าสิ่งของพระราชทานไปมอบแก่ชาวจีนผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุกราดยิง ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ซึ่งกำลังเยี่ยมชาวจีนผู้ได้รับบาดเจ็บที่โรงพยาบาล เป็นผู้รับผู้แทนพระองค์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พระราชทานพระราชกระแสแสดงความเสียพระราชหฤทัย ต่อชาวจีนผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าว และพระราชทานกำลังใจแก่ครอบครัวของชาวจีนผู้เสียชีวิตและชาวจีนผู้ได้รับบาดเจ็บ และทรงให้กำลังใจให้ผู้ได้รับบาดเจ็บหายจากอาการบาดเจ็บโดยเร็ว

เอกอัครราชทูต หาน จื้อเฉียง กล่าวแสดงความขอบคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ของฝ่ายจีน ครอบครัวชาวจีนผู้เสียชีวิตและชาวจีนผู้ได้รับบาดเจ็บ โดยกล่าวว่าเหตุกราดยิงถือเป็นโศกนาฏกรรมอันน่าสะเทือนใจ แต่ความห่วงใยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี รวมถึงความพยายามของรัฐบาลไทยในการจัดการกับผลที่ตามมานั้นน่าอบอุ่นใจ ฝ่ายจีนยินดีที่ทำงานร่วมกับฝ่ายไทยโดยยกระดับมาตรการที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อความปลอดภัยของชาวจีนที่อยู่ในประเทศไทย

เปิดจดหมาย ‘พ่อแม่’ ผู้ก่อเหตุสลดที่สยามพารากอน น้อมรับผิดต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมขอโทษ-ขอขมาเหยื่อ

เมื่อวานนี้ (6 ต.ค.66) ครอบครัวของเด็กชายวัย 14 ปี ที่ก่อเหตุสลดในห้างสรรพสินค้าพารากอน เขียนจดหมายแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยระบุว่า…

ผมและครอบครัวรู้สึกเสียใจอย่างยิ่งและขอโทษอย่างที่สุดกับผู้เสียชีวิต ผู้ได้รับบาดเจ็บ และครอบครัว สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการกระทำของลูกชายของเราที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอนที่ผ่านมา รวมทั้งกับประชาชน นักท่องเที่ยว เจ้าของกิจการ ห้างร้าน และผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์หรือบริเวณใกล้เคียงที่ต้องอพยพ หรือเดือดร้อน รวมไปถึงเจ้าหน้าที่แพทย์ พยาบาล ตำรวจ เจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งของประเทศไทย จีน เมียนมา ลาว และทุกฝ่าย 1 ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ ตลอดจนความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นส่วนรวมของประเทศด้วย

ผมและครอบครัวต้องขออภัยที่ไม่ได้สื่อสารต่อสาธารณะให้เร็วกว่านี้ตลอดเวลาที่ผ่านมา ผมและครอบครัวอยู่ในระหว่างกระบวนการและขั้นตอนทางกฎหมาย ลูกชายเราถูกควบคุมตัวไว้ในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนตามคำสั่งศาลคดีเต็กและเยาวชน โดยผมและครอบครัวไม่ได้ยื่นขอประกันตัว เพราะผมและครอบครัวตั้งใจจะให้ความร่วมมือกับทางการอย่างเต็มที่ ในการค้นหาข้อเท็จจริง และให้เกิดความมั่นใจว่า จะไม่เกิดเหตุการณ์รุนแรงซ้ำขึ้นอีกจากกรณีเดียวกัน

เราเสียใจและตกใจอย่างมากกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และน้อมรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเต็มที่เท่าที่เราสามารถจะกระทำได้ ทั้งขอให้คำมั่นว่า เราจะให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ของรัฐ และทุกหน่วยงาน ในการดำเนินการตามกฎหมาย รวมทั้งบรรเทาและเยียวยาผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้ง

ผมและครอบครัวกราบขอโทษและขอขมาต่อครอบครัวผู้เสียชีวิต ผู้ได้รับบาดเจ็บและครอบครัว ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบร้ายแรงที่สุดจากเหตุการณ์นี้และทุกคนจากใจด้วยความเคารพครับ

ผู้ปกครองของเด็กที่ก่อเหตุ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top