'รศ.ดร.นงนุช' ชี้!! สิทธิมนุษยชนต้องมีขอบเขต แนะ!! ให้เจตนาเป็นตัวตัดสินโทษ ไม่ใช่อายุ

(4 ต.ค. 66) รศ.ดร.นงนุช ตันติสันติวงศ์ นักวิชาการด้านเศรษฐกิจ การเงินและการคลังและภาษี มหาวิทยาลัยนอตทิงแฮม เทรนต์ ประเทศอังกฤษ และ Visiting Academic, School of Electronics & Computer Science, University of Southampton โพสต์เฟซบุ๊กถึงเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่สยามพารากอนว่า คำถาม 1 ผู้ก่อเหตุอายุเท่านี้เอาสิ่งที่มีกลไกเดียวกันกับปืนและกระสุนมาจากไหน

คำถาม 2 ทำไมถึงเลือกกราดยิงที่ห้างอย่างพารากอน ในเมื่อถ้าคนจะหยิบปืนไปฆ่าใครซักคน ถ้าไม่เพื่อปล้นทรัพย์ ก็ต้องมีปมกับคนหรืออะไรซักอย่างที่อยู่ในสถานที่ และเป็นที่ ๆ คุ้นเคย

คำถาม 3 ต่อไปนี้ คนเดินห้าง นอกจากต้องพกร่ม ชุดกันฝนในช่วงหน้าฝนแบบนี้ ยังต้องใส่ชุดกันกระสุนด้วยมั้ย

คำถาม 4 เหตุการณ์แบบนี้ ทำไมเอาอายุมาเป็นประเด็น ในเมื่อคนอายุต่ำกว่านี้ ก็ทำผิดกฎหมายกันเยอะแยะ สิ่งที่ควรคิด ไม่ใช่ว่าเค้าอายุน้อย เลยรู้สึกว่าโลกมันโหดร้ายขึ้น หรือเค้ามีเหตุกดดันอะไรจึงก่อเหตุ แต่มันกำลังบอกว่า

1.คนรู้จักควบคุมความรู้สึกของตัวเองน้อยลง มี EQ ที่ต่ำ

2.ในช่วง 10 กว่าปีมานี้ วัฒนธรรมการสอนในครอบครัว ในสถานศึกษา มีรูปแบบที่มีการผ่อนปรน ลดความรุนแรงและความเครียด มีการเอาพ่อแม่มามีส่วนร่วมในการเรียน มีการสอนด้วยเหตุผลมากขึ้น แต่ก็ยังมีเหตุการณ์แบบวันนี้ เพราะการผ่อนปรนจนละเลยการสอนให้รู้จักกฏระเบียบ รู้จักวินัย รู้จักขอบเขตของสิ่งที่แต่ละคนพึงกระทำได้ และอะไรที่ทำไม่ได้ ไม่ควร

3.เด็กประถมปีที่ 1-4 สมัยนี้ จัดกระเป๋าไปเรียนเองโดยที่พ่อแม่ไม่ต้องคอยเตือน มีกี่คน เด็กส่วนใหญ่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าที่จะสอบน่ะ สอบวิชาอะไร หัวข้ออะไร เนื้อหาเป็นยังไง ข้อสอบเป็นปรนัยหรืออัตนัย ต้องอ่านตรงไหนเป็นพิเศษ คนที่ตอบได้คือพ่อแม่ของเด็ก การประคบประหงมลูกแบบนี้ ไม่ได้ช่วยให้เด็กพัฒนาทักษะการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ การเอาตัวรอด และการรับผิดชอบในหน้าที่

4.ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีเด็กประถมกี่คนที่ทำการบ้านเอง หยิบหนังสือขึ้นมาอ่านเองทุกวัน…เมื่อพ่อแม่จัดตารางเรียนพิเศษให้ ต้องคอยมีครูประกบตลอด หรือจะต้องมีพ่อแม่คอยเตือนให้ทำการบ้าน อ่านหนังสือ…สภาพแบบนี้ เค้าจะพัฒนาทักษะการมีวินัย การรู้จักกาลเทศะ ได้ยังไง

5.การเล่นเกมไม่ได้ผิดเสมอไปค่ะ เพราะบางเกมมันช่วยพัฒนาสมองพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ของเด็ก ถ้าจะโทษต้องย้อนกลับไปถามว่าทำไมเด็กถึงต้องใช้อุปกรณ์อย่าง tablet, smartphone ในวัยเรียน ไม่ว่าจะที่บ้านหรือที่โรงเรียน การที่เด็กมีอุปกรณ์ที่เข้าถึงเกมได้ตลอด มันเป็นช่องทางให้เด็กเข้าถึงเกมที่ไม่เหมาะสมในระหว่างที่ไม่มีผู้ใหญ่ควบคุมการใช้