Sunday, 20 April 2025
พระราชกรณียกิจ

‘ผู้พันเบิร์ด’ เผย ร.10 ทรงงานแบบประชาธิปไตย ดำเนินพระราชกรณียกิจอย่างเหมาะสมและแยบยล

‘ผู้พันเบิร์ด’ พบ นร.แผนที่ทหาร เผยแพร่ สถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ปรับบทบาทให้เข้ากับบริบทสังคม และทรงพระราชกรณียกิจเพื่อบ้านเมืองนำสมัยนำพาประเทศชาติรอดพ้นวิกฤต ระบุ ร.10 ทรงงานแบบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง 
 
พ.อ.วันชนะ สวัสดี รองโฆษกกระทรวงกลาโหม ลงพื้นที่พบนักเรียนแผนที่ทหารร่วมพูดคุยถึงความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ว่าจะเป็นการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชหรือประชาธิปไตย ในหลวง ทุกพระองค์มีพระราชกรณียกิจที่เหมาะสมและแยบยล นำมาซึ่งความผูกพันระหว่างสถาบันกับประชาชนมาโดยตลอด 

โดยการทรงงานของในหลวงแต่ละพระองค์นั้นมีวิธีที่แตกต่างกันโดยเฉพาะรัชกาลปัจจุบันนั้น ถือได้ว่าเป็นการทำงานแบบประชาธิปไตยอย่างแท้จริงพระองค์ทรงงานผ่านฝ่ายเสธ (องคมนตรี) รับการรายงานเรื่องราวความทุกข์ร้อนของประชาชนผ่านองคมนตรี มีการส่งงานอย่างเป็นระบบและสืบสานต่อยอดจากในหลวงรัชกาลที่ 9 อย่างชัดเจน อย่างในกรณีการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในรัชสมัยของในหลวงรัชกาล ร.9 มีการสอนตั้งแต่ป.1-ม.6 แต่เมื่อลงไปสืบสภาพแล้ว ม.4-ม.6 มีครูเพียงพอ พระองค์จึงให้เอาสามปีท้ายนี้ไปเพิ่มในสามปีแรกในระดับอนุบาล

‘คุณอ้อย พอใจ’ เผย ความภาคภูมิใจที่ได้ถวายงาน ‘ในหลวง ร.9’ เมื่อครั้งยังเป็นเจ้าหน้าที่กระจายเสียง กรมประชาสัมพันธ์

เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 66 คุณพอใจ กิจถาวรรัตน์ หรือ ‘พี่อ้อย’ ข้าราชการบำนาญ อดีตหัวหน้าผู้ประกาศของสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี ได้เล่าถึงประสบการณ์ชีวิตการทำงาน ในบทบาทของเจ้าหน้าที่กระจายเสียง ผ่านรายการ ‘Baby Boom ภูมิใจ วัยเก๋า ไปด้วยกัน’ EP.1 ตอน อายุเป็นเพียงตัวเลข ออกอากาศเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 66 รับชมผ่านช่องทางรับชมในเครือ THE STATES TIMES และ MAYA Channel ช่อง 71, 93

โดยคุณพอใจ ได้เล่าย้อนกลับไปในสมัยเข้าบรรจุครั้งแรกที่สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ จังหวัดนครราชสีมา ก่อนจะย้ายเข้ามารับตำแหน่งที่กรุงเทพฯ ด้วยฝีมือและผลงานของตัวเอง ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างมากเนื่องจากในสมัยก่อน งานสื่อวิทยุกระจายเสียงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก และต้องมั่นฝึกฝนทักษะ และเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ จึงจะโลดแล่นในวงการได้อย่างราบรื่น

อย่างไรก็ตาม ในขอบเขตงานที่คุณพอใจได้ทำ และมีความภาคภูมิใจที่สุด คือการได้ถ่ายทอดเสียงพระราชกรณียกิจ ของในหลวง รัชกาลที่ 9 ซึ่งในรัชสมัยของพระองค์ท่านนั้น พระองค์ทรงงานเยอะมาก รวมถึงยังได้มีโอกาสถ่ายทอดเสียงพระราชพิธีต่างๆ ซึ่งทำให้คุณพอใจมีความภาคภูมิใจมากๆ ที่ได้ทำงานตรงนี้

“ในตอนเด็กๆ พี่เคยสงสัยว่า เวลาเขาเล่าเรื่องราว ถ่ายทอดเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ ทำไมเขาถึงดูซาบซึ้งกันจังเลย ซึ่งนั่นเป็นไปด้วยความคิดแบบเด็กๆ ของพี่ในตอนนั้น แต่เมื่อเราโตขึ้น เราได้ไปศึกษา หาข้อมูล เราได้ติดตาม ได้รู้ ได้เห็น ก็ทำให้เข้าใจว่า ที่เขาเคยๆ พูดกันเรื่องพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านนั้น ไม่มีอะไรเกินจริงเลย”

“อย่าลืมนะว่าในยุคสมัยนั้นไม่มีสื่อโซเชียลเหมือนอย่างในยุคสมัยนี้ เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่เรื่องที่จะต้องมีการมานั่ง ‘สร้างภาพ’ อะไรกันเลย ทำงานก็คือทำงานกันจริงๆ”

“ดังนั้น พี่พอใจ จึงมีความภาคภูมิใจที่เราได้ทันเห็นพระองค์ท่าน ได้มีโอกาสถวายงานแก่พระองค์ท่าน ได้มีโอกาสทำงานรับใช้บ้านเมืองค่ะ” คุณพอใจ ทิ้งท้าย

หากต้องการติดตามเรื่องราวดีๆ จาก ‘Baby Boom ภูมิใจ วัยเก๋า ไปด้วยกัน’ EP.1 ตอน อายุเป็นเพียงตัวเลข แบบเต็มๆ สามารถคลิกลิงก์ >> https://www.youtube.com/live/FSYnVvf4WZQ?si=MYKTE708E9GwEeb8

‘อนุทิน’ ชวนร่วมงาน ‘ลมหายใจของแผ่นดิน’ 28-30 ก.ค.นี้ สนามช้างอารีน่า เผย!! มีไฮไลต์ ‘ออร์เคสตรา 250 คน’ บรรเลง ดนตรีไทย-ตะวันตก-อีสานใต้

(27 ก.ค.67) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทยและโฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ตลอดเดือน ก.ค.จังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศได้จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา ซึ่งในส่วนของจ.บุรีรัมย์ เป็นอีกหนึ่งจุดที่มีกิจกรรมเทิดพระเกียรติอย่างยิ่งใหญ่ ระหว่างวันที่ 28-30 ก.ค. ทางจังหวัดพร้อมทุกภาคส่วน รัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้จัดงาน ‘ลมหายใจแห่งแผ่นดิน’ ซึ่งมีหลากหลายกิจกรรมและการแสดงแสง สี เสียง เสียงระดับโลก ให้ประชาชนสามารถเข้าร่วมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ณ สนามช้างอารีน่า อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ 

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า โดยหนึ่งไฮไลต์ของงานคือการแสดงมิวสิคัลชุด “ลมหายใจของแผ่นดิน” ซึ่งได้รวมเยาวชนที่มีความสามารถด้านดนตรีและการแสดงจากทั่วจังหวัดบุรีรัมย์ ประกอบด้วย นักดนตรีวงดนตรีออร์เคสตรา 250 คน บรรเลงเครื่องดนตรีทั้งไทย เครื่องดนตรีตะวันตก เครื่องดนตรีอีสานใต้ และนักแสดงเดอะมิวสิคัล 70 คน ซึ่งได้ฝึกซ้อมตลอดเวลาหลายเดือนเพื่อการแสดงในงานนี้

ทั้งนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย จะเป็นส่วนหนึ่งของมิวสิคัลชุดนี้ โดยร่วมแสดงในการบรรเลงเพลงจอมราชา ในตำแหน่งเป่าแซ็กโซโฟน ซึ่งที่ผ่านมา รมว.มหาดไทย ได้ร่วมฝึกซ้อมกับเยาวชนนักดนตรีทั้ง 250 คนมาแล้วหลายครั้ง 

“ท่านอนุทิน เชิญชวนคนไทยทุกคนร่วมกิจกรรมเทิดพระเกียรติในสถานที่ต่างๆ ที่มีการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ แต่หากมีโอกาสไปเยือนหรืออยู่พื้นที่ใกล้เคียง จ.บุรีรัมย์ ก็ขอเชิญร่วมงานเฉลิมพระเกียรติที่ทางจังหวัดจัดขึ้น นอกจากจะได้ร่วมแสดงออกถึงพลังความรักที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนทั้งชาติแล้ว ยังได้ร่วมให้กำลังใจกับน้องๆ นักดนตรี นักแสดงและทีมงาน ให้ทุกคนได้แสดงออกถึงศักยภาพและความสร้างสรรค์ซึ่งอนาคตทุกคนจะกลายเป็นพลังสำคัญของชาติต่อไป” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

สำหรับงาน ‘ลมหายใจของแผ่นดิน’ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-30 ก.ค.ตั้งแต่เวลา 18.00 น.เป็นต้นไป ณ สนามช้างอารีน่า จ.บุรีรัมย์ จะมีการแสดงเทิดพระเกียรติสุดยิ่งใหญ่ด้วยเทคโนโลยีการจัดแสดงระดับโลก ได้แก่ การแสดงแสงสีเสียงประกอบ 3D Mapping,วงดนตรีออร์เคสตรา, การแสดง มิวสิคัล, นิทรรศการผลงานประกวดวาดภาพ พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมถึง การบำเพ็ญสาธารณกุศลต่างๆ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อาทิ บริจาคโลหิตส่งต่อผู้ป่วย จำนวน 720 ยูนิตต่อวัน รวม 7,200 ยูนิต โรงทานปันสุข ร้านชื่อดังต่าง ๆ นำอาหารเครื่องดื่มมาบริการแก่ผู้มาร่วมงาน โดยทั้งหมดสามารถเข้าชมได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย

‘นักเรียนดี’ เปิดตัว งานนิทรรศการเมต้าเวิร์ส ในหลวงรัชกาลที่ 10 ‘King Rama X’ เพื่อให้ ‘พระราชกรณียกิจ’ ของกษัตริย์ผู้ปิดทองหลังพระ ได้เผยแพร่สู่สายตาคนทั่วโลก

(27 ก.ค.67) ‘นักเรียนดี’ เปิดตัวงานนิทรรศการเมต้าเวิร์สในหลวงรัชกาลที่ 10 ‘King Rama X’ เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สู่สายตาคนทั่วโลกบน VR Metaverse เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

โดยสามารถเข้าชมได้ผ่านแพลตฟอร์ม Spatial. io ซึ่งสามารถเข้าได้ผ่าน Website หรือ Mobile Application ทั้ง Oculus / IOS และ Android

โดยในงานแบ่งการจัดแสดงออกเป็น ‘6 ส่วน’ ตามธีมนิทรรศการดังนี้

1. โซนพระราชประวัติ
2. โซนพระราชกรณียกิจ
3. โซนพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
4. โซนภาพวาดฝีพระหัตถ์
5. โซนพระราชกรณียกิจที่หลายคนอาจไม่เคยรู้
6. โซนห้องภาพแห่งความทรงจำ

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภารกิจในการส่งเสริมคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของประชาชน

งานนิทรรศการเมต้าเวิร์สในหลวงรัชกาลที่ 10 ‘King Rama X’ จึงเป็นนิทรรศการที่พสกนิกรจะร่วมรำลึกถึงพระมหากรุณาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงปิดทองหลังพระและทรงงานเพื่อปวงชนชาวไทยโดยเสมอมา

โดยท่านสามารถสมัครและ login เข้าไป จากนั้นค้นหา นิทรรศการ ‘Metaverse King Rama X’ หรือคลิกลิงก์ในโพสต์ตามลิ้งที่เราได้แนบไว้ หรือสแกน Qrcode แล้วท่านจะพบความประทับใจอันล้ำค่าที่พร้อมเผยแพร่สู่สายตาคนทั่วโลก บน Spatiol. io ที่จัดทำกันโดยกลุ่มนักเรียนดี ได้แล้ววันนี้

เข้าไปชมงานที่ลิงก์นี้ได้เลยจ้า
> https://bit.ly/3Sr7vkG

บันทึกเรื่องราวตราตรึงจิตตราบนิจนิรันดร์ แม้ถ่ายทอดได้เพียงเศษเสี้ยว ‘พระราชกรณียกิจ’

ในหลวงในดวงใจ เรื่องราวประทับของนักเล่าเรื่องแห่ง THE STATES TIMES 

วันที่ 13 ตุลาคม 2567 วันคล้ายวันเสด็จสวรรคตของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หรือ 'วันนวมินทรมหาราช' เวียนมาบรรจบเป็นปีที่ 8 แล้ว ซึ่งไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปี นักเล่าเรื่องราวอย่างผมก็ยังอยากจะเล่าเรื่องราวของพัฒนากรผู้ยิ่งใหญ่ของโลกอย่างในหลวงรัชกาลที่ 9 เพราะเรื่องราวของพระองค์ท่านช่างมีมากมายเสียเหลือเกิน ซึ่งเรื่องราวเหล่านั้นเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าประเทศไทยช่างโชคดีที่มีพระมหากษัตริย์อย่างพระองค์ท่าน 

ผมเองไม่ได้มีความเก่งกาจอะไรในการจะมานั่งเล่าเรื่องราว หรือมานั่งเขียนบทความอะไร แต่ด้วยโอกาสจาก THE STATES TIMES ที่อยากให้มาถ่ายทอดเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และเรื่องราวของในหลวงรัชกาลที่ 9 จากการที่เป็นคนชอบอ่านและเป็นคนชอบทำ ทำให้มีเรื่องราวต่าง ๆ มาเล่าสู่กันฟัง โดยเฉพาะช่วงที่จัดรายการ “ตามรอยพระบาทยาตรา”มีเรื่องราวจำนวนมากที่ได้นำมาเล่า ซึ่งในบทความนี้ผมขอยกเรื่องเล่าประทับใจมาให้คุณได้อ่านกันเพลิน ๆ ดังนี้ 

เริ่มต้นการเล่าเรื่องของผม บอกเลยผมไม่มีความมั่นใจมากมายอะไรนัก และคิดอยู่หลายวันว่าจะเล่าเรื่องราวอะไรดี จนตัดสินใจได้ว่าจะเริ่มต้นเล่าเรื่องราวด้วยการยกเพลงพระราชนิพนธ์ “แผ่นดินของเรา” มานำเสนอ เพราะผมเองเป็นนักดนตรี และทำมาหากินเกี่ยวกับดนตรีมาตั้งแต่เริ่มมีหน้าที่การงาน และเชื่อว่าความมหัศจรรย์ของบทเพลงนี้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เวลาเพียง 10 นาที พระราชนิพนธ์เพลง ๆ นี้ เพลงที่แรกมีเพียงไม่กี่ห้อง แต่เมื่อเติมเต็มกลับกลายเป็นเพลงที่สร้างให้จิตใจของเรามีสำนึกในการรักบ้าน รักเมือง ซึ่งการนำเรื่องของบทเพลงนี้เป็นปฐม จะช่วยทำให้ผมเล่าเรื่องราวได้ดี ซึ่งการเล่าเรื่องเพลงพระราชนิพนธ์ในครั้งแรก ทำให้ผมมีความมั่นใจที่มากขึ้น ทั้งยังเล่าเรื่องราวของพระองค์ต่อไปได้อีกหลายตอน 

มาถึงเรื่องของป่า ที่ผมยกมาเล่าก็เป็นเพียงแค่เรื่องราวเล็กที่ได้ไปสัมผัสป่าในภาคเหนือจากการไปทำฝายแม้ว ได้เห็นป่าที่เรียงกันอย่างเป็นระเบียบ หนาแน่น จนได้คำตอบจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ท่านหนึ่งว่า ป่าที่คุณเห็นคือป่าที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำริให้ปลูกเสริม เนื่องจากพระองค์ทรงทอดพระเนตรเมื่อทรงพระราชดำเนินผ่านทางอากาศโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง ทรงเห็นว่าเขาตรงบริเวณนั้นหัวโล้น ทั้งยังแห้งแล้ง ซึ่งเป็นช่วงเวลาเพียงครู่เดียวเท่านั้นที่พระองค์ทรงบินผ่าน ทรงจำได้และทรงมีพระราชดำริให้ร่วมมือกันของแต่ละหน่วยงานในพื้นที่ปลูกต้นไม้สายพันธุ์เดียวกับป่าในพื้นที่เสริมและปล่อยให้ธรรมชาติทำหน้าที่ของมันในการฟื้นฟูตนเอง โดยหลังจากปลูกเสริมพื้นที่บริเวณนั้น พร้อมกับปล่อยให้ป่าได้ฟื้นฟูสุดท้ายจากป่าบนภูเขาหัวโล้นก็กลับมาเป็นป่าสมบูรณ์อีกครั้ง อีกทั้งพระองค์ท่านยังทรงสำทับด้วยประโยคสำคัญว่า 
“…ควรจะปลูกต้นไม้ในใจคนเสียก่อน แล้วคนเหล่านั้นก็จะพากันปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดินและรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง...” ซึ่งปัจจุบันนี้หลายคนคงหลงลืมไปแล้ว จนเกิดเหตุการณ์อุทกภัยดินโคลนถล่มเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ 

เรื่องถัดมาที่ผมยกมาเล่าก็คือเรื่องของ 'น้ำ' จากพระราชดำรัสที่ได้พระราชทานไว้ว่า 'น้ำคือชีวิต หากไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้' เป็นภาคต่อจากเรื่องของป่า จากแนวพระราชดำริว่าการทำลายป่าในพื้นที่ต้นน้ำจำนวนมากเป็นเหตุให้เกิดความแห้งแล้ง ก่อให้เกิดภัยพิบัติในช่วงฤดูฝน และสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน เมื่อมีป่า จึงก่อให้เกิดน้ำ และการจัดการน้ำคือโอกาสในการมีกิน มีใช้ ของประชาชน ผมก็ยกเรื่องราวในการไปโครงการหลวงและศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ้องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ การไปพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติศรีลานนา และการไปทำฝายแม้วในอีกหลายพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งตอนแรกผมไม่เชื่อว่าฝายเล็ก ๆ จะสร้างผลอะไรให้เกิดขึ้นกับพื้นที่ หรือทางน้ำอะไรได้ แต่เมื่อได้ลงมือทำแล้วกลับไปดูสิ่งที่เกิดขึ้นในอีกเพียง 1 ปีให้หลัง ก็ได้พบกับการเปลี่ยนแปลงของหน้าดิน ทางน้ำ ต้นไม้ จนต้องมาเล่าให้กับชาว THE STATES TIMES ฟัง ว่าสิ่งเล็ก ๆ ที่เราได้มีส่วนร่วม ตามแนวพระราชดำริมันสามารถฟื้นฟูระบบนิเวศให้กับป่าได้จริง และเมื่อเราได้รู้จักการชะลอน้ำจนเกิดป่า เมื่อถึงหน้าแล้งเราก็ยังมีน้ำ เมื่อเข้าหน้าฝนเราก็จะไม่เจอน้ำหลาก นี่คือสิ่งเล็ก ๆ ที่สร้างประโยชน์มหาศาล 

เรื่อง 'นักการเมืองให้ปลา พระราชาให้เบ็ด' เป็นหัวข้อที่ผมยกขึ้นมาหลังจากได้เห็นภาพหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์บ้านเมือง ฉบับวันพุธที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2518 ซึ่งบันทึกอยู่ใน ‘สมุดภาพโครงการตามพระราชดำริ’ พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2525 ก็เลยไปลองหาข้อมูลต่อ โดยเฉพาะความสนใจเรื่องของ ‘ที่ดินทำกิน’ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในยุคแห่งการสร้างเนื้อสร้างตัวของคนไทย อันมีเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก และเป็นเรื่องหลักที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ทรงพระราชทานให้เป็นมรดกของปวงชนชาวไทย โดยนับเนื่องมาตั้งแต่ปี 2507 จากโครงการเริ่มต้น 10,000 ไร่ ในจ.เพชรบุรีไปสู่ที่ดินทำกินหลายแสนไร่ทั่วประเทศ เกี่ยวเนื่องพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่องที่ดินนี้ ผมขอยกบทความของท่านอดีตประธานองคมนตรี ฯพณฯ ธานินทร์ กรัยวิเชียร เรื่อง ‘พระบารมีคุ้มเกล้าฯ’ ในหนังสือ ‘พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับคณะองคมนตรี’ โดยมีใจความบางส่วนบางตอนที่เล่าเรื่อง ‘การปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรผู้ยากไร้ได้มีที่ดินทำกิน’ ความว่า...

“...พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นการณ์ไกลในอนาคตว่า ยิ่งนานวันชาวไร่ชาวนาจะยิ่งไม่มีที่ดินทำกิน เพราะความยากจนของเขาเหล่านี้ พวกที่เคยมีที่ดินต้องยอมสูญเสียกรรมสิทธิ์ให้แก่นายทุน และกลายมาเป็นผู้เช่าหรือไร้ที่ดินทำกินในที่สุด จึงมีพระราชดำริที่จะปฏิรูปที่ดินทำกิน เพื่อช่วยราษฎรที่ยากจนให้มีที่ดินทำกินตลอดไปชั่วลูกชั่วหลาน โดยทรงดำเนินโครงการเป็นแบบอย่างเริ่มจาก ‘โครงการจัดสรรและพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์หุบกะพง’ 

เรื่องต่อไปที่ผมประทับใจและอยากยกขึ้นมาอีก 1 เรื่องก็คือเรื่องของ 'ต้นกาแฟ' 2 – 3 ต้น โดยเรื่องราวนี้เกิดขึ้นหลังจากก่อตั้งมูลนิธิโครงการหลวงในปี 2512 ด้วยพระราชปณิธานของพระองค์ที่จะช่วย 'ชาวไทยภูเขา' ด้วยการส่งเสริมการปลูกพืชเมืองหนาวแก่ชาวเขา เพื่อหารายได้ทดแทนการปลูกฝิ่น ในปี 2517 พระองค์ได้เสด็จ ฯ หมู่บ้านหนองหล่ม ในพื้นที่ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ แล้วผู้ใหญ่บ้านในขณะนั้นคือ 'ปู่พะโย่' ได้ทูลเกล้า ฯ ถวาย เมล็ดกาแฟที่ได้พันธุ์มาจาก UN จำนวน 1 กิโลกรัม ซึ่งมาจากต้นกาแฟ 2 – 3 ต้น พระองค์ทรงสนใจว่าต้นกาแฟที่ว่าอยู่ตรงไหน จึงได้เสด็จ ฯ ด้วยรถยนต์พระที่นั่ง ต่อด้วยการทรงม้าที่เพื่อไปทอดพระเนตรต้นกาแฟที่ปลูกไว้เหนือหมู่บ้าน พระองค์ทอดพระเนตรแล้วก็ได้ตรัสว่า "จะกลับมาช่วยอีกครั้ง" จนมาปี 2518 พระองค์ทรงกลับไปที่หมู่บ้านแห่งนี้พร้อมเมล็ดพันธุ์กาแฟ 'อาราบิก้า' เพื่อส่งเสริมให้ชาวไทยภูเขาได้ปลูก จนเป็นที่มาของ 'กาแฟโครงการหลวง' จากดอยสูง กาแฟพันธุ์ดีที่ส่งขายไปสู่มูลนิธิโครงการหลวงและบริษัทกาแฟชั้นนำทั้งในไทยและต่างประเทศ 

เรื่องราวที่ผมยกขึ้นมานี้ เป็นเรื่องราวแห่งความประทับใจที่ผมเล่าไปพร้อมรอยยิ้มและน้ำตา ในช่องทางของ THE STATES TIMES ซึ่งเรื่องที่เล่าเป็นเพียงเศษเสี้ยวของโครงการต่าง ๆ หลายพันโครงการ ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อประชาชนของพระองค์ 

ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top