Sunday, 19 May 2024
ผู้ประกอบการ

นครนายก - รองรับแผนเปิดประเทศ! ประชุมผู้ประกอบการ ร้านค้า สถานบริการ โรงแรม รีสอร์ท ตามมาตรการป้องกัน และควบคุมการระบาดของโควิด-19 เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยว

ที่ห้องประชุมชั้น 3 ตำรวจภูธรจังหวัดนครนายก พลตำรวจตรี ดร.จักษ์ จิตตธรรม ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครนายก พันตำรวจเอกกล้าหาญ โชคพิพัฒน์ไพบูลย์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครนายก พันตำรวจเอกทนงศักดิ์ คำมาตย์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองนครนายก พร้อมคณะ จัดการประชุมผู้ประกอบการ ร้านค้า สถานบริการ โรงแรม รีสอร์ท ตามมาตรการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รองรับแผนเปิดประเทศ เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยว โดยเชิญผู้ประกอบการ ร้านค้า สถานบริการ โรงแรม รีสอร์ท ในจังหวัดนครนายกจำนวน 80 ราย ได้เข้าร่วมประชุมชี้แจงและขอความร่วมมือเพื่อหาแนวทางในการป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดนครนายก

ด้วยสถานีตำรวจภูธรเมืองนครนายก ได้เชิญผู้ประกอบการฯ เข้าร่วมประชุมรับฟังคำชี้แจงให้เข้าใจข้อกฎหมาย ประกาศคำสั่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องขอความร่วมมือร่วมใจ ช่วยกันรักษากฎกติกา เพื่อให้เกิดความตระหนักถึงความจำเป็น และร่วมมือร่วมใจมิให้ฝ่าฝืน ลักลอบการกระทำผิดหรือสนับสนุนช่วยเหลือผู้กระทำผิดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน

 

อาสาสมัครแรงงาน ผู้ประกันตน ผู้ประกอบการ SMEs จ.เพชรบูรณ์ ปลื้ม !! รมว.เฮ้ง ลงพื้นที่พบปะให้กำลังใจถึงที่ 

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมบูธกิจกรรมการให้บริการของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดเพชรบูรณ์ ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์

โดยมี นายชัชวาลย์ เบญจสิริวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเขาค้อ พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน และหัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดเพชรบูรณ์เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย สำหรับการตรวจเยี่ยมบูธกิจกรรมของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดเพชรบูรณ์ในครั้งนี้ ประกอบด้วย โครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านอาชีพ พบปะอาสาสมัครแรงงาน สถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงาน SMEs และพบปะแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากไปทำงานที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย

โครงการเพิ่มประสิทธิภาพ/ผลิตภาพสถานประกอบการ โครงการส่งเสริมสวัสดิการแรงงานพันธุ์ดี ตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง เยี่ยมผู้ประกันตนทุพพลภาพ ซึ่งผ่านการฝึกอาชีพจากศูนย์ฟื้นฟูฯ และนำผลิตภัณฑ์มานำเสนอ รวมทั้งพบปะให้กำลังใจผู้ประกันตน ม.40 จังหวัดเพชรบูรณ์อีกด้วย 

โดย นายสุชาติ กล่าวว่า ในวันนี้ผมมีความยินดีและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้มาตรวจเยี่ยมและพบปะผู้ประกอบการ SMEs อาสาสมัครแรงงาน รวมทั้งผู้ประกันตน ของจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งทุกท่านเป็นกลไกสำคัญในการร่วมกันขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวผ่านสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 
รัฐบาลภายใต้การนำของท่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และท่าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยต่อพี่น้องประชาชนและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน กระทรวงแรงงานได้ดำเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือ อาทิ  การเยียวยานายจ้าง ผู้ประกันตน ม.33, ม.39 และ ม.40 ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ มีนายจ้าง จำนวน 721 ราย เป็นเงิน 17,658,000 บาท ผู้ประกันตนรวม 3 มาตรา จำนวน 285,280 คน เป็นเงิน 2,798,760,000 บาท รวมเป็นเงิน 2,816,418,000 บาท

ผู้ประกอบการใจชื้น!! ดัชนีเชื่อมั่น SME โตต่อเนื่อง 3 เดือนติด หลังรัฐกระตุ้นเศรษฐกิจ-ท่องเที่ยวสำเร็จ

รัฐบาล ชี้ ผลสำเร็จมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ บูมท่องเที่ยว ดันดัชนีเชื่อมั่น SME โตต่อเนื่อง 3 เดือน พร้อมย้ำข่าวดีโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำธุรกิจโรงแรมและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SMESI) เดือนตุลาคม 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 อยู่ที่ระดับ 53.1 โดยที่เดือนกันยายน และสิงหาคม 2565 มีค่าดัชนีอยู่ที่ 52.9 และ 51.2 ตามลำดับ โดยที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SMESI) เดือนตุลาคม 2565 มีปัจจัยบวกมาจากการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเป็นสำคัญ อีกทั้งราคาน้ำมันและราคาวัตถุดิบมีแนวโน้มปรับตัวลดลง ส่งผลดีต่อกำไรของภาคธุรกิจ

'บิ๊กตู่' ขอบคุณ ‘รัฐ - เอกชน’ ทุกภาคส่วน ร่วมช่วยผู้ประกอบการ SMEs รอดพ้นวิกฤติโควิด

นายกฯ ขอบคุณ สมาคมธนาคารไทย-ธปท.-ภาคเอกชน ร่วมมือภาครัฐ หนุน ‘มาตรการสินเชื่อเพื่อการปรับตัว’ ขยายวงเงินกู้สูงสุด 150 ล้านบาท เสริมศักยภาพ SMEs รับธุรกิจโลกยุคใหม่ 

(10 ก.พ. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขอบคุณในความร่วมมือของสมาคมธนาคารไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และภาคเอกชน ในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง โดยนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 สมาคมธนาคารไทยได้ร่วมมือกับ ธปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ทั้งมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการในระยะสั้น 

โดยสามารถช่วยเหลือ SMEs ได้ถึง 7.7 หมื่นราย วงเงินรวม 1.4 แสนล้านบาท มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู ให้ความช่วยเหลือ 5.9 หมื่นราย คิดเป็นยอดอนุมัติสินเชื่อกว่า 2.1 แสนล้านบาท มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ ให้ความช่วยเหลือ 413 ราย คิดเป็นมูลค่าสินทรัพย์ที่รับโอนราว 5.8 หมื่นล้านบาท รวมถึงมาตรการแก้หนี้อย่างยั่งยืน ที่ช่วยเหลือลูกค้าแก้ไขปัญหาหนี้ได้ตรงจุด ทันการณ์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ผ่านวิกฤต มีความพร้อมกลับมาเติบโตได้อย่างยั่งยืน 

‘ครม.’ ไฟเขียว ปลดล็อกบังกะโล-แพ-บ้านต้นไม้-เต็นท์เป่าลม ผู้ประกอบการ ขอยื่นจดทะเบียนธุรกิจโรงแรมได้

รัฐบาลปลดล็อกบังกะโล แพ บ้านต้นไม้ เต็นท์แบบเป่าลม จดทะเบียนธุรกิจโรงแรมได้

(18 มี.ค.66) คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะและระบบความปลอดภัยของอาคารที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการและผู้ให้บริการสถานที่พักโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ภาคธุรกิจขนาดย่อมและขนาดเล็กในเมืองท่องเที่ยวเมืองรองสามารถนำอาคารที่ มีรูปแบบพิเศษอื่นมาประกอบธุรกิจโรงแรมได้ เพื่อให้ธุรกิจที่พักโรงแรมในประเทศไทยสามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน ซึ่งคณะกรรมการควบคุมอาคารได้เห็นชอบด้วยแล้ว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบแล้ว

สำหรับปัจจุบันอาคารที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรมมีลักษณะของอาคารที่มีความหลากหลายมากขึ้น มีการนำอาคารตามประเภทอื่นมาให้บริการที่พักแก่ประชาชนเป็นการทั่วไป เช่น การสร้างบังกะโลชั้นเดียวแบ่งเป็นห้อง ตู้คอนเทนเนอร์ แพที่อยู่ตามเขื่อนต่าง ๆ บ้านต้นไม้ เต็นท์แบบเป่าลม เป็นต้น ซึ่งลักษณะและโครงสร้างของอาคารไม่สอดคล้องกับอาคารที่จะนำมาประกอบธุรกิจโรงแรมตามที่กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารกำหนด  ทำให้ไม่สามารถขอรับใบอนุญาตให้ใช้อาคารเป็นโรงแรม เพื่อจะขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมได้ 

‘วรวุฒิ อุ่นใจ’ ชี้ ทางออกผู้ประกอบการไทย ในวันที่ Crisis ทั้งใน-ต่างประเทศล้อมชิด 

เศรษฐกิจจะไปอย่างไรต่อ? ผู้ประกอบการไทยควรต้องระวังอะไรในช่วงที่สถานการณ์โลกและในเมืองไทยยังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ? อะไรคือความเสี่ยง? อะไรคือทางรอดที่จะทำให้ไปต่อได้?

หลากคำถามที่กล่าวมาข้างต้น คุณวรวุฒิ อุ่นใจ อดีตผู้ก่อตั้งบริษัทออฟฟิศเมท และอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) หรือ COL ได้ให้มุมมองแนะนำต่อผู้ประกอบการไทยถึงการปรับตัวในยุคที่วิกฤติต่างๆ เริ่มถาโถมก่อนที่ธุรกิจนั้นๆ จะปิดตัวไปอย่างน่าเสียดายผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดี ๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00- 08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 และ THE STATES TIMES ไว้ว่า...

“ตอนนี้เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงเปราะบาง เหมือนกับคนเพิ่งฟื้นไข้ เราป่วยเป็นโควิด ปิดบ้าน-ปิดเมือง ค้าขายไม่ได้ ค้าขายฝืดเคืองมา 3 ปี นักท่องเที่ยวไม่เข้าประเทศ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของไทยตอนนี้ เหมือนคนที่เพิ่งจะเริ่มฟื้นไข้ เพราะฉะนั้นการผ่าตัดระบบเศรษฐกิจไทยด้วยเรื่องใหญ่ๆ อันตรายอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงระบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบโครงสร้างการขึ้นค่าแรงต้องระวังให้มาก เพราะมันเหมือนกับร่างกายยังไม่แข็งแรง ดังนั้นหากให้ผมมองแล้ว การเลือกอัดฉีดเงินเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างเร่งด่วน จึงน่าจะเป็นเรื่องแรกๆ ที่ต้องทำก่อน”

คุณวรวุฒิ กล่าวต่อว่า “ไม่ว่าจะต้องผ่านเข้าสู่ยุครัฐบาลใด ผู้ประกอบการ ก็ต้องอยู่ให้ได้ทุกสภาวะ ฉะนั้นการปรับปรุงตัวเอง ปรับธุรกิจตัวเอง จึงเป็นทางเลือกและทางรอดที่หนีไม่พ้น พูดง่ายๆ ไม่ว่ารัฐบาลไหนจะมา รัฐบาลไหนจะไปเราก็ต้องดูแลตัวเอง”

ทั้งนี้ คุณวรวุฒิ ได้เปิดเผยถึงความเสี่ยงในโลกที่จะกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของเหล่าผู้ประกอบการไทยในยุคที่ต้องเท่าทันต่อสถานการณ์โลก ไว้อย่างน่าสนใจดังนี้...

1.) การถดถอยทางเศรษฐกิจโลก วันนี้เราก็ทราบกันดีว่าโลกกำลังเผชิญผลกระทบจากสภาวะของสงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงเรื่องของแทรกแซงตลาดจีนโดยสหรัฐฯ ส่งผลให้เกิดการแบ่งขั้วอำนาจ และก่อเป็นสงครามการรบในโลกยุคใหม่ ที่มีทั้งสงครามทางเศรษฐกิจ ผสมผสานกับสงครามจริง ต่างจากสงครามยุคก่อนที่มุ่งรบกันด้วยอาวุธและไทยซึ่งเป็นประชาคมโลกก็ยากที่จะหลีกหนีจากภัยสงครามรูปแบบนี้ (สงครามเศรษฐกิจ)

2.) ภัยจากโรคระบาด วันนี้โควิด-19 ยังไม่หายไป และเราก็ไม่แน่ใจจะมีโควิดภาค2 กลายพันธุ์ไปอีกหรือเปล่า อันนี้ก็เป็นความเสี่ยงที่ประเทศเราต้องจับตาดู
.
3.) ความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ จะเห็นว่าวันนี้โลกกำลังประสบกับสภาวะ Global Warming หรือโลกร้อน ที่ส่งผลกระทบให้เกิดสารพัดภัยธรรมชาติที่รุนแรงและถี่ยิบกว่าในอดีตเมื่อเทียบกับ30-40 ปีก่อน สังเกตได้ว่าตอนนี้ภัยธรรมชาติหนักหนามากและเกิดถี่มากและเกิดขึ้นทุกภูมิภาคทั่วโลก ไม่ว่าเรื่องของน้ำแข็งขั้วโลกละลาย เรื่องของไฟป่า เรื่องของฝุ่นควัน หมอกควัน ฝุ่นพิษ PM 2.5” 

4.) ความเสี่ยงที่กล่าวมา คุณวรวุฒิ มองว่า เป็นตัวกดดันให้การทำธุรกิจในยุคปัจจุบันต้องเผชิญความเสี่ยงที่มากกว่าในอดีต เพราะทุกความเสี่ยงโยงใยต่อการกำหนดทิศทางธุรกิจ การบริหารจัดการต้นทุน รายได้ และกำลังซื้อเป็นอย่างมาก ดังนั้นหากผู้ประกอบการจะอยู่ให้รอดภายใต้ความเสี่ยงเหล่านี้ จะเป็นต้อง 1.ปรับตัว 2.ใช้นวัตกรรมต่างๆ มาประยุกต์กับธุรกิจ 

“ตัวอย่างที่ใกล้ตัวที่สุด คือ ในยุคนี้ถ้าใครไม่ใช้ออนไลน์ บอกเลยว่าธุรกิจของคุณจะเดินต่อได้ยาก เช่น ในเรื่องของยอดขาย จากสถิติล่าสุดออนไลน์มีสัดส่วนเท่ากับ 16% ของระบบการค้าไปแล้ว นี่ยังน้อยนะ อนาคตอันใกล้น่าจะเห็น 30-40% และมันจะยังเติบโตไปได้อีกเรื่อยๆ ฉะนั้นธุรกิจในภาคค้าปลีก ก็ต้องสวิตช์ตัวเองไปเป็นออนไลน์มากขึ้น แต่ถ้าผู้ประกอบการยังหวังพึ่งการขายแบบเดิมๆ โดยที่ยังไม่มีส่วนผสมของออนไลน์มาช่วย การแข่งขันในระยะยาวลำบากแน่นอน นี่คือตัวอย่างแรก

“ต่อมา คือ Innovation หรือ ‘นวัตกรรม’ เป็นสิ่งที่ขาดจากชีวิตไม่ได้อีกต่อไป เพราะผมเชื่อว่าวันนี้ทุกคนคงยอมรับถึงตัวแปรที่ทำให้โลกเปลี่ยนแปลงไวในรอบ 20 ปี จากอินเตอร์เน็ต ที่สร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ๆ ตามมา (Smart Device) จนเข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค เปลี่ยนการกินอยู่ เปลี่ยนการบันเทิง เมื่อก่อนใครจะไปคิดว่าทีวีจะถูกทิ้งร้างแล้วหันมานั่งดูหนังผ่าน Steaming แทน เมื่อก่อนใครจะคิดว่าแผ่นซีดีหนัง เพลง จะสูญพันธุ์ 

“ใครจะคิดว่าโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็น Facebook / YouTube / Twitter / TikTok และในอนาคตอีกมากมาย จะเข้ามามีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิต ทั้งการเสพข่าวสาร เปิดโลกไลฟ์สไตล์ รสนิยมใหม่ๆ รวมถึงซื้อขายสินค้าในแพลตฟอร์มเหล่านี้ได้แค่นิ้วคลิก นี่คือ สิ่งที่ผมอยากจะฝากผู้ประกอบการวันนี้ให้ตระหนัก” 

“ถ้าเราไม่เปลี่ยนหรือไม่ปรับตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่เดินตามนวัตกรรมที่มาช่วยขับเคลื่อนชีวิตพวกเขา ธุรกิจของเราก็จะตายไปโดยปริยาย” คุณวรวุฒิ กล่าวทิ้งท้าย

‘รศ.ดร.วีระพงศ์’ ชูภารกิจ สสว. เคียงข้างทุก SME ไทย แนะผู้ประกอบการ ‘ผสานดิจิทัล-สร้างมาตรฐานสินค้า’

SME ไทยไปต่ออย่างไร? กับสถานการณ์ในปัจจุบัน…

คำถามสุดคลาสสิกในห้วงสถานการณ์ที่เกี่ยวพันการเมือง เศรษฐกิจ และสถานการณ์โลกที่มักจะผุดขึ้นกับบรรดาผู้ประกอบการในบ้านเราอยู่เสมอ ซึ่งแน่นอนว่าปัญหาเหล่านี้กระทบ SME หลายรายแบบไม่ต้องปฏิเสธ 

อย่างไรก็ตาม คำตอบของคำถาม มีรูปแบบที่สามารถช่วยเหลือและเกื้อหนุนผู้ประกอบการ SME ไว้เสมอ เพียงแต่โจทย์ของผู้ประกอบการแต่ละรายจะตกผลึกเพื่อให้โซลูชันที่สอดคล้องต่อการช่วยให้เดินหน้า ‘อยู่รอด อยู่เป็น และอยู่ยาว’ ได้แค่ไหน?

เกี่ยวกับเรื่องนี้ รศ.ดร. วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้เปิดเผยผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดีๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00-08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 66 ได้แนะแนวทางเพื่อช่วยเหลือ SME ให้ ‘อยู่รอด-อยู่เป็น-อยู่ยาว’ อย่างน่าสนใจ ซึ่ง SME หลายรายอาจจะคุ้นอยู่แล้ว ส่วนอีกหลายรายที่ยังทราบ ก็ถือเป็นการทบทวนกันอีกครั้ง

รศ.ดร. วีระพงศ์ เผยว่า “ก่อนที่จะมีสถานการณ์โควิด 19 ต้องบอกว่า SME 3 กลุ่มใหญ่ถือเป็นหัวสำคัญของการขับเคลื่อน GDP ไทย โดยกลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนGDP สูงกว่าทุกกลุ่มได้แก่ค้าส่ง ค้าปลีก, กลุ่มที่2 ผู้ประกอบการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว กลุ่มที่ 3 SME ที่เกี่ยวการส่งออกสินค้าแปรรูปเกษตรต่างๆ

“ทว่าเมื่อเกิดสถานการณ์โควิด19 SME เหล่านี้ต้องปรับตัวอย่างหนัก ถึงกระนั้นภารกิจ 3 เรื่องใหญ่ๆ ที่วันนี้ทาง สสว. ได้เข้าไปมีบทบาทช่วยให้ SME ไทยไปต่อก็ยังคงผลักดันอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น...

“1. โอกาสหรือตลาด โดยปัจจุบันทาง สสว. ได้มีการช่วยเหลือหาตลาดให้อย่างต่อเนื่อง / 2.การเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน ให้ SME สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยประหยัดงบประมาณและเพิ่มศักยภาพให้กับธุรกิจ และ 3.การเชื่อม SME ให้เข้าถึงแหล่งทุน”

ในส่วนของ ‘การเชื่อมเข้าถึงแหล่งทุน’ นั้น ทาง รศ.ดร.วีระพงศ์ ได้ขยายด้วยว่า “อันที่จริงแล้ว ถ้า SME มีการเปิดโอกาสในส่วนนี้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม หาก SME นั้นๆ มีต้นทุนเรื่องของความสามารถเป็นทุนเดิม บางครั้งการหาแหล่งทุนก็แทบจะไม่ใช่ปัญหาของผู้ประกอบการเลยแม้แต่น้อย ขณะเดียวกันส่วนใหญ่มักจะถามหาทุนในขณะที่ตนยังไม่เห็นตลาดของธุรกิจตน และยังไม่มีขยายขอบเขตศักยภาพได้แน่ชัด นั่นจึงเป็นอุปสรรคที่การคุยกันในเรื่องทุนหลายครั้ง นำมาสู่ความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน”

เมื่อถามถึงการปรับแนวทางในการดำเนินธุรกิจของ SME ว่าควรจะเป็นไปในทิศทางใดหลังช่วงวิกฤติโควิด19 ซา? รศ.ดร.วีระพงศ์ ตอบว่า “หากทำธุรกิจที่เกี่ยวกับค้าปลีก-ค้าส่ง วันนี้ต้องนำดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ ต้องวิ่งเข้าหาแพลตฟอร์มหรือช่องทางต่างๆ ในการซื้อ-ขายอย่างชัดเจน นี่คือการปรับตัวในแง่ของการใช้ช่องทางกับรูปแบบในการซื้อขาย

“ส่วนที่ 2 ที่ SME ต้องมีการปรับตัวคือ ถ้าวันนี้ธุรกิจของคุณเกี่ยวเนื่องกับการขยายตัวออกไปยังต่างประเทศ สิ่งสำคัญที่สุดที่ปฏิเสธไม่ได้ คือ สินค้าหรือบริการที่ต้องมีมาตรฐานในระดับสากลหรือระดับโลก อัตลักษณ์ของสินค้าเป็นอีกเรื่อง

“ส่วนที่ 3 การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ ส่วนนี้จะช่วยลดต้นทุน ลดเวลา ของ SME แต่ละรายได้มากขึ้น เช่น ถ้าผู้ประกอบการจะจัดการงานบริหารงานบุคคล การมีซอฟต์แวร์มาตรฐานของ HR สำคัญมาก หรือหากต้องมีการยกระดับขั้นตอนการผลิตต่างๆ ก็จำเป็นต้องมีซอฟต์แวร์ช่วยบริหารจัดการในส่วนนี้เข้ามาเพิ่มเติม เป็นต้น”

เมื่อถามถึงบทบาทของ สสว. ในส่วนที่จะเข้ามาช่วย SME ตอนนี้มีอะไรบ้าง? รศ.ดร.วีระพงศ์ เผยว่า “เราช่วยเหลือในเรื่องของ ‘โอกาส’ กับ ‘ตลาด’ ซึ่งสิ่งที่ สสว.ทำอยู่อย่างเป็นรูปธรรมในขณะนี้คือ ‘การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ’ ซึ่งเป็นนโยบายที่ สสว. ทำงานร่วมกับกรมบัญชีกลาง ด้วยการให้ภาครัฐพิจารณาจัดซื้อจัดจ้างจาก SME ก่อนรายใหญ่ๆ ซึ่งในปีที่ผ่านมามี SME ได้เข้าร่วมการจัดซื้อจัดจ้างกับภาครัฐคิดเป็นมูลค่ากว่า 5แสนล้านบาท ซึ่งถ้า SME ท่านใดสนใจสามารถไปขึ้นทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ สสว. https://www.sme.go.th ตรงนี้จะเป็นการเปิดตลาดในส่วนของภาครัฐ

“นอกจากนี้ ในส่วนของ วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อยและขนาดเล็ก หรือ MSMEs ทาง สสว. ก็มีโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS หรือ ‘SMEปัง ตังได้คืน’ อย่างต่อเนื่อง โดยเดิมโครงการนี้ให้การอุดหนุนวิสาหกิจรายย่อย (Micro) ที่เป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาซึ่งจดทะเบียนทำธุรกิจกับหน่วยงานภาครัฐ (SME-GP) ที่มีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาท/ปี ที่สัดส่วน 80% แต่ไม่เกิน 50,000 บาท ขณะที่วิสาหกิจขนาดย่อม (Small) ภาคการผลิต ที่มีรายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาท/ปี และภาคอื่นๆ ไม่เกิน 50 ล้านบาท/ปี ได้รับการอุดหนุนที่สัดส่วน 80% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนวิสาหกิจขนาดกลาง (ME) ซึ่งเป็นนิติบุคคล ภาคการผลิตที่มีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท/ปี และภาคอื่นๆ ไม่เกิน 300 ล้านบาท/ปี ได้รับการอุดหนุนที่สัดส่วน 50% แต่ไม่เกิน 200,000 บาท”

“ขณะเดียวกัน สสว. ยังได้ร่วมมือกับสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และสมาคมสำนักงานบัญชีไทย ให้การอุดหนุน MSME เพิ่มเติมภายใต้โครงการฯ BDS โดย MSME ทุกขนาด ที่เป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาซึ่งจดทะเบียนทำธุรกิจกับหน่วยงานภาครัฐ (SME-GP) ทั้งวิสาหกิจรายย่อย (Micro) ที่มีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาท/ปี วิสาหกิจขนาดย่อม (Small) ภาคการผลิต ที่มีรายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาท/ปี และภาคอื่นๆ ไม่เกิน 50 ล้านบาท/ปี และวิสาหกิจขนาดกลาง (ME) ภาคการผลิตที่มีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท/ปี และภาคอื่นๆ ไม่เกิน 300 ล้านบาท/ปี จะได้รับการอุดหนุนที่สัดส่วน 90% แต่ไม่เกิน 10,000 บาท ภายใต้แคมเปญ ‘จ่ายหนึ่งหมื่น คืนเก้าพัน’ ซึ่งจะให้การอุดหนุนแต่สำหรับ MSME 5,000 รายแรก ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2566 ในวงเงินจำนวน 50 ล้านบาท โดยการกำหนดกลุ่ม MSME จะพิจารณาข้อมูลรายได้ล่าสุด ที่ได้จากการตรวจสอบของ สสว. หรือ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า หรือกรมสรรพากร”

รศ.ดร. วีระพงศ์ กล่าวอีกว่า “ขณะนี้โครงการฯ BDS มีหน่วยงานผู้ให้บริการทางธุรกิจ (BDSP) จำนวน 131 หน่วยงานให้บริการบนเว็บไซต์ จำนวน 220 บริการ ส่วนผู้ประกอบการสมัครเข้าใช้บริการ จำนวน 5,475 ราย เลือกใช้บริการแล้ว 660 ราย มีการใช้งบประมาณอุดหนุนผู้ประกอบการไปแล้ว 40.96 ล้านบาท จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการที่สนใจ ลงทะเบียนเข้ารับบริการผ่านช่องทางออนไลน์ได้ที่ bds.sme.go.th รวมทั้งยังสามารถติดตามข่าวสารและสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่ www.sme.go.th” พร้อมทิ้งท้ายอีกด้วยว่า “นอกจากเว็บไซต์ของทาง สสว.แล้ว ยังมีแอปพลิเคชัน ‘SME CONNEXT’  ซึ่งจะมีรายละเอียดต่างๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดรวมไว้ให้อีกด้วย ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถโหลดเพื่อเข้าไปศึกษารายละเอียดต่างๆ ของโครงการที่ สสว.ผลักดันได้ทั้งหมด” 

'รมว.อุตฯ' ปลื้ม!! ผู้ประกอบการไทยร่วมดันหลากซอฟต์พาวเวอร์ ช่วยหนุนมูลค่าเศรษฐกิจโต เพิ่มรายได้ให้ชุมชนยั่งยืน

กระทรวงอุตสาหกรรม โชว์ความสำเร็จพัฒนา 3 อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์อาหาร แฟชัน และงานแฟร์ ดันผ้าไหมไทยเข้าวงการแฟชั่นโลก ชู 22 เมนูอร่อยชุมชนดีพร้อม พร้อมจัดงานแฟร์เปิดพื้นที่โปรโมทสินค้า ดึงอัตลักษณ์ท้องถิ่นชูผลิตภัณฑ์ เกิดผู้ประกอบการใหม่ ตอบโจทย์เทรนด์ตลาดโลก สร้างรายได้เข้าชุมชนต่อเนื่อง เผยเดินหน้าขยายผลพัฒนาต่อเนื่องขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

(25 ก.ย. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นโยบายของรัฐบาลปัจจุบันมุ่งสนับสนุนการสร้างพลังสร้างสรรค์ หรือ ซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ของประเทศ เพื่อยกระดับและพัฒนาความสามารถด้านความรู้ความสามารถ และความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยให้สร้างมูลค่าและสร้างรายได้ รวมทั้งการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาต่อยอดศิลปะ วัฒนธรรม และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อนำมาสร้างมูลค่าเพิ่ม

กระทรวงอุตสาหกรรม จึงมีเป้าหมายส่งเสริมและพัฒนา 3 อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ ประกอบด้วย...

1. อาหาร (Food) 2.การออกแบบแฟชั่นไทย (Fashion) และ 3. การจัดงานแสดงสินค้า (Fair) ตั้งแต่ปีที่ผ่านมาจนประสบความสำเร็จและยังคงเดินหน้าขยายผลพัฒนาต่อเนื่องเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจชุมชนให้มากขึ้น

“ประเทศไทยมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นชัดเจนและมีชื่อเสียง ทั้งอาหาร วัฒนธรรม การแต่งกาย เครื่องดนตรี ฯลฯ จนกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ทำให้นักท่องเที่ยวและทั่วโลกได้รู้จักสินค้าและบริการต่าง ๆ เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ส่งผลให้เกิดการสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่นชุมชน ซึ่งเราต้องให้ความสำคัญและช่วยกันพัฒนาสิ่งเหล่านี้ให้มากขึ้นเพื่อสร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็งเกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชน และให้ภาคอุตสาหกรรมมีการปรับตัวเข้าสู่วิถีใหม่ได้อย่างสมดุลและยั่งยืน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าว

สำหรับอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ในส่วนของแฟชันไทยผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยนับเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมทั้งจากคนไทยและต่างชาติ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบให้สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เข้าไปยกระดับอุตสาหกรรมสิ่งทอและผ้าพื้นเมือง ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตามยุทธศาสตร์ของกระทรวงฯ โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไหมมัดหมี่ในรูปแบบใหม่ บนพื้นฐานของความคิดสร้างสรรค์และอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ผสานเทคโนโลยี ในการสร้างมูลค่าเพิ่ม จนสามารถผลิตผ้าไหมได้ถึง 24 ผลิตภัณฑ์ จาก 8 วิสาหกิจชุมชน สามารถสร้างมูลค่าเศรษฐกิจได้กว่า 7,000,000 บาท ทำให้ชุมชนที่เข้าร่วมโครงการมีรายได้เพิ่มขึ้น 400,000 - 1,700,000 บาทต่อชุมชน 

โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้มีการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ในงาน 'มัดทอใจ มรดกผ้าไทยร่วมสมัย' ภายใต้โครงการพัฒนาผ้าไหมไทยร่วมสมัย (Premium Thai Silk) ประจำปี 2566 รวมทั้งยังมีการจัดส่งผ้าไหมไทย เพื่อขยายตลาดไปยังประเทศต่าง ๆ อาทิ เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, รัสเซีย, อิตาลี และยุโรป ซึ่งได้รับการตอบรับจากกลุ่มผู้ซื้อเป็นอย่างดี

ในส่วนของอุตสาหกรรมอาหาร ที่นับเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่สำคัญของไทย ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม ดำเนินการจัดโครงการเมนูเด็ดชุมชนดีพร้อม 22 เมนู ปั้นเชฟชุมชนดีพร้อม 22 ชุมชน ทั่วประเทศ เพื่อยกระดับวัตถุดิบท้องถิ่นด้วย Soft Power ด้านอาหารผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่น สามารถต่อยอดสร้างมูลค่าเศรษฐกิจได้สูงถึง 25,000,000 บาท และเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย เพื่อสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น พร้อมขยายผลและต่อยอดเป็นโมเดลต้นแบบต่อไป

ซอฟต์พาวเวอร์อีกส่วนที่สำคัญคือ การจัดงานแสดงสินค้าหรืองานแฟร์ (Fair) เพื่อให้เกิดกลไกทางการตลาดรองรับผลิตภัณฑ์ ผ่านการจัดกิจกรรมจัดงานแฟร์ตลอดทั้งปีทั่วประเทศ เป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการของกระทรวงฯ ได้มีช่องทางการจัดจำหน่ายและกระจายสินค้าไปยังผู้บริโภคได้ใช้ของดีมีคุณภาพและมาตรฐาน และเป็นการกระตุ้นผู้ประกอบการเพิ่มศักยภาพด้านการผลิต กระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างแท้จริง

โดยในช่วงที่ผ่านมาได้มีการจัดงาน 'อุตสาหกรรมแฟร์' กระจายตามพื้นที่ต่างๆ จำนวน 14 ครั้ง สามารถสร้างรายได้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจถึง 700 ล้านบาท โดยปี 2567 มีแผนการจัดงานแฟร์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการบูรณาการกับหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมขยายขอบเขตบกลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ควบคู่ไปกับการปั้นผู้ประกอบการใหม่ที่สามารถพัฒนาและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้สินค้าไทยสามารถเติบโตในตลาดโลกและสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจชุมชนไทย

'ภูมิธรรม' ลุยปทุมธานีวันหยุด คุยผู้ประกอบการ คนรุ่นใหม่ 4 จังหวัดใหญ่รอบกรุงฯ รับฟังปัญหา ช่วยกันหาทางออก เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ

วันที่ 20 เมษายน 2567 เวลา 14.30 น. ที่ร้าน Yung 7 Lifestyle&Eatery จ.ปทุมธานี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่จังหวัดปทุมธานี เพื่อพบปะพูดคุยกับกลุ่มผู้ประกอบการ และกลุ่มคนรุ่นใหม่ของจังหวัดปริมณฑล 4 จังหวัดใหญ่(นครปฐม สมุทรปราการ นนทบุรีและปทุมธานี) ถึงปัญหาและอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ เพื่อช่วยเหลือหาทางออกและส่งเสริมผู้ประกอบการสร้างรายได้ให้ประเทศ ร่วมกับกลุ่ม YEC กลุ่ม Young Smart Farmer หอการค้า สภาอุตสาหกรรม MOC Biz Club และท่องเที่ยว

นายภูมิธรรม กล่าวว่า 4 จังหวัดรอบกรุงเทพฯ(นครปฐม สมุทรปราการ นนทบุรีและปทุมธานี) มีลักษณะพิเศษ ทั้งความเป็นเมืองและชนบท วันนี้ตนได้เจอกับผู้ประกอบการรุ่นใหญ่ทั้งสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม และเจอรุ่นเยาว์ YEC  Young Smart Farmer และ MOC Biz Club ที่มีแนวคิดแบบใหม่ ซึ่งอยากให้คนรุ่นใหญ่ที่มีประสบการณ์เดิมรับแนวคิดใหม่มาต่อยอด เมื่อวานนี้ตนได้ให้นโยบายกับผู้ว่าราชการทั้ง 4 จังหวัดช่วยกันหาทางออก ให้เอกชนเป็นทัพหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจทำเงินเข้าประเทศ ส่งเสริมเอกชนให้เขาเดินหน้าได้  ทั้งเรื่องระบบโลจิสติกส์ การคมนาคมต้องเชื่อมต่อกัน ทั้งทางน้ำ ทางบก ทางราง สัมพันธ์กับผังเมืองสอดคล้องกับความเป็นจริงไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาในอนาคต

รัฐจะช่วยต้องแก้ไขกฎระเบียบให้เศรษฐกิจฐานรากโต สนับสนุนส่งเสริมให้เอกชนโตได้มากกว่านี้ ตนสนใจที่จะฟังคนรุ่นใหม่ที่เป็นอนาคตของจังหวัด มีองค์ความรู้ มีแนวคิดสร้างสรรค์ เห็นความตั้งใจในการแก้ไขปัญหาของจังหวัด รัฐจะมาเป็นแบ็คอัพสนับสนุนเอกชนให้เป็นทัพหน้าหารายได้เข้าประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นายภูมิธรรมได้ล้อมวงคุยกับผู้ประกอบการ ซึ่งร่วมกันแสดงความเห็นสะท้อนปัญหาในแต่ละจังหวัดปริมณฑล ร่วมกันหาทางออก ซึ่งอยากให้รัฐช่วยอำนวยความสะดวกผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น จะได้ทำให้เศรษฐกิจฐานรากของประเทศเติบโต ซึ่งนายภูมิธรรมรับข้อเสนอเพื่อดำเนินการส่งเสริมต่อไป


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top