‘วรวุฒิ อุ่นใจ’ ชี้ ทางออกผู้ประกอบการไทย ในวันที่ Crisis ทั้งใน-ต่างประเทศล้อมชิด 

เศรษฐกิจจะไปอย่างไรต่อ? ผู้ประกอบการไทยควรต้องระวังอะไรในช่วงที่สถานการณ์โลกและในเมืองไทยยังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ? อะไรคือความเสี่ยง? อะไรคือทางรอดที่จะทำให้ไปต่อได้?

หลากคำถามที่กล่าวมาข้างต้น คุณวรวุฒิ อุ่นใจ อดีตผู้ก่อตั้งบริษัทออฟฟิศเมท และอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) หรือ COL ได้ให้มุมมองแนะนำต่อผู้ประกอบการไทยถึงการปรับตัวในยุคที่วิกฤติต่างๆ เริ่มถาโถมก่อนที่ธุรกิจนั้นๆ จะปิดตัวไปอย่างน่าเสียดายผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดี ๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00- 08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 และ THE STATES TIMES ไว้ว่า...

“ตอนนี้เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงเปราะบาง เหมือนกับคนเพิ่งฟื้นไข้ เราป่วยเป็นโควิด ปิดบ้าน-ปิดเมือง ค้าขายไม่ได้ ค้าขายฝืดเคืองมา 3 ปี นักท่องเที่ยวไม่เข้าประเทศ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของไทยตอนนี้ เหมือนคนที่เพิ่งจะเริ่มฟื้นไข้ เพราะฉะนั้นการผ่าตัดระบบเศรษฐกิจไทยด้วยเรื่องใหญ่ๆ อันตรายอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงระบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบโครงสร้างการขึ้นค่าแรงต้องระวังให้มาก เพราะมันเหมือนกับร่างกายยังไม่แข็งแรง ดังนั้นหากให้ผมมองแล้ว การเลือกอัดฉีดเงินเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างเร่งด่วน จึงน่าจะเป็นเรื่องแรกๆ ที่ต้องทำก่อน”

คุณวรวุฒิ กล่าวต่อว่า “ไม่ว่าจะต้องผ่านเข้าสู่ยุครัฐบาลใด ผู้ประกอบการ ก็ต้องอยู่ให้ได้ทุกสภาวะ ฉะนั้นการปรับปรุงตัวเอง ปรับธุรกิจตัวเอง จึงเป็นทางเลือกและทางรอดที่หนีไม่พ้น พูดง่ายๆ ไม่ว่ารัฐบาลไหนจะมา รัฐบาลไหนจะไปเราก็ต้องดูแลตัวเอง”

ทั้งนี้ คุณวรวุฒิ ได้เปิดเผยถึงความเสี่ยงในโลกที่จะกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของเหล่าผู้ประกอบการไทยในยุคที่ต้องเท่าทันต่อสถานการณ์โลก ไว้อย่างน่าสนใจดังนี้...

1.) การถดถอยทางเศรษฐกิจโลก วันนี้เราก็ทราบกันดีว่าโลกกำลังเผชิญผลกระทบจากสภาวะของสงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงเรื่องของแทรกแซงตลาดจีนโดยสหรัฐฯ ส่งผลให้เกิดการแบ่งขั้วอำนาจ และก่อเป็นสงครามการรบในโลกยุคใหม่ ที่มีทั้งสงครามทางเศรษฐกิจ ผสมผสานกับสงครามจริง ต่างจากสงครามยุคก่อนที่มุ่งรบกันด้วยอาวุธและไทยซึ่งเป็นประชาคมโลกก็ยากที่จะหลีกหนีจากภัยสงครามรูปแบบนี้ (สงครามเศรษฐกิจ)

2.) ภัยจากโรคระบาด วันนี้โควิด-19 ยังไม่หายไป และเราก็ไม่แน่ใจจะมีโควิดภาค2 กลายพันธุ์ไปอีกหรือเปล่า อันนี้ก็เป็นความเสี่ยงที่ประเทศเราต้องจับตาดู
.
3.) ความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ จะเห็นว่าวันนี้โลกกำลังประสบกับสภาวะ Global Warming หรือโลกร้อน ที่ส่งผลกระทบให้เกิดสารพัดภัยธรรมชาติที่รุนแรงและถี่ยิบกว่าในอดีตเมื่อเทียบกับ30-40 ปีก่อน สังเกตได้ว่าตอนนี้ภัยธรรมชาติหนักหนามากและเกิดถี่มากและเกิดขึ้นทุกภูมิภาคทั่วโลก ไม่ว่าเรื่องของน้ำแข็งขั้วโลกละลาย เรื่องของไฟป่า เรื่องของฝุ่นควัน หมอกควัน ฝุ่นพิษ PM 2.5” 

4.) ความเสี่ยงที่กล่าวมา คุณวรวุฒิ มองว่า เป็นตัวกดดันให้การทำธุรกิจในยุคปัจจุบันต้องเผชิญความเสี่ยงที่มากกว่าในอดีต เพราะทุกความเสี่ยงโยงใยต่อการกำหนดทิศทางธุรกิจ การบริหารจัดการต้นทุน รายได้ และกำลังซื้อเป็นอย่างมาก ดังนั้นหากผู้ประกอบการจะอยู่ให้รอดภายใต้ความเสี่ยงเหล่านี้ จะเป็นต้อง 1.ปรับตัว 2.ใช้นวัตกรรมต่างๆ มาประยุกต์กับธุรกิจ 

“ตัวอย่างที่ใกล้ตัวที่สุด คือ ในยุคนี้ถ้าใครไม่ใช้ออนไลน์ บอกเลยว่าธุรกิจของคุณจะเดินต่อได้ยาก เช่น ในเรื่องของยอดขาย จากสถิติล่าสุดออนไลน์มีสัดส่วนเท่ากับ 16% ของระบบการค้าไปแล้ว นี่ยังน้อยนะ อนาคตอันใกล้น่าจะเห็น 30-40% และมันจะยังเติบโตไปได้อีกเรื่อยๆ ฉะนั้นธุรกิจในภาคค้าปลีก ก็ต้องสวิตช์ตัวเองไปเป็นออนไลน์มากขึ้น แต่ถ้าผู้ประกอบการยังหวังพึ่งการขายแบบเดิมๆ โดยที่ยังไม่มีส่วนผสมของออนไลน์มาช่วย การแข่งขันในระยะยาวลำบากแน่นอน นี่คือตัวอย่างแรก

“ต่อมา คือ Innovation หรือ ‘นวัตกรรม’ เป็นสิ่งที่ขาดจากชีวิตไม่ได้อีกต่อไป เพราะผมเชื่อว่าวันนี้ทุกคนคงยอมรับถึงตัวแปรที่ทำให้โลกเปลี่ยนแปลงไวในรอบ 20 ปี จากอินเตอร์เน็ต ที่สร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ๆ ตามมา (Smart Device) จนเข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค เปลี่ยนการกินอยู่ เปลี่ยนการบันเทิง เมื่อก่อนใครจะไปคิดว่าทีวีจะถูกทิ้งร้างแล้วหันมานั่งดูหนังผ่าน Steaming แทน เมื่อก่อนใครจะคิดว่าแผ่นซีดีหนัง เพลง จะสูญพันธุ์ 

“ใครจะคิดว่าโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็น Facebook / YouTube / Twitter / TikTok และในอนาคตอีกมากมาย จะเข้ามามีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิต ทั้งการเสพข่าวสาร เปิดโลกไลฟ์สไตล์ รสนิยมใหม่ๆ รวมถึงซื้อขายสินค้าในแพลตฟอร์มเหล่านี้ได้แค่นิ้วคลิก นี่คือ สิ่งที่ผมอยากจะฝากผู้ประกอบการวันนี้ให้ตระหนัก” 

“ถ้าเราไม่เปลี่ยนหรือไม่ปรับตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่เดินตามนวัตกรรมที่มาช่วยขับเคลื่อนชีวิตพวกเขา ธุรกิจของเราก็จะตายไปโดยปริยาย” คุณวรวุฒิ กล่าวทิ้งท้าย