Sunday, 19 May 2024
ปาตานี

จับตา ‘ขบวนการแบ่งแยกดินแดน’ แนวคิดที่อาจไปไม่ถึงฝั่งฝัน เพราะความเป็นปึกแผ่นของราชอาญาจักรไทยที่มิอาจแบ่งแยกได้

น่าสนใจยิ่งว่าวันนี้ ‘การแบ่งแยกดินแดน’ ที่มีมายาวนานในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีการสู้รบสูญเสียชีวิต เลือดเนื้อ งบประมาณไปจำนวนมหาศาล และดูเหมือนฝ่ายความมั่นคงจะมั่นใจว่า สถานการณ์ดีขึ้น

แต่ ‘การแบ่งแยกดินแดน’ กลับมาเป็นหัวข้อที่ถกเถียงกันในมหาวิทยาลัยอย่างเปิดเผย โดยนักวิชาการ นักศึกษา และนักการเมือง มีการจัดเสวนากันที่มหาวิทยาลัยสงขลานครนครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

องค์กรที่จัดชื่อว่า ขบวนนักศึกษาแห่งชาติ หรือ ‘เปลาจาร์ บังซา’ (Pelajar Bangsa) นำโดย นายอิรฟาน อูมา ดำรงตำแหน่งประธานขบวนนักศึกษาแห่งชาติ และเป็นการจัดขึ้ตในวันสถาปนาองค์กรนี้

ในงานมีการแสดงปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง (Self Determination) กับสันติภาพปาตานี” โดย รศ.ดร. มารค ตามไท อาจารย์สาขาการสร้างสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่

‘มารค’ บอกว่า ‘การกำหนดอนาคตตนเอง’ (Self-Determination) เป็นหลักการสำคัญของกฎหมายเกี่ยวกับการปกครองซึ่งเป็นพื้นฐานการพัฒนาประชาธิปไตย

เสร็จแล้วเป็นการเสวนาหัวข้อ “สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง (Self Determination) กับสันติภาพปาตานี” จะพบว่า การเสวนาเน้นใช้คำว่า “สันติภาพ” ซึ่งผิดไปจากสมัยรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เน้นใช้คำว่า “สันติสุข” ซึ่งสันติสุข จะลึกซึ้งกว่าสันติภาพ เพราะสันติภาพ ก็แค่ทำให้เกิดความสงบ ไม่มีการสู้รบ แต่สันติสุข ต้องเกิดขึ้นหลังเกิดสันติภาพแล้ว

- ผศ.ดร. วรวิทย์ บารู ว่าที่ ส.ส. ปัตตานี รองหัวหน้าพรรคประชาชาติ
- นายฮากิม พงตีกอ รองเลขาธิการพรรคเป็นธรรม
- นายอาเต็ฟ โซ๊ะโก ประธานกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า กลุ่มเดอะปาตานี (The Patani)

3 คนนี้เป็นผู้เข้าร่วมในการเสวนาในครั้งนี้ด้วย ในขณะที่นายรอมฎอน ปันจอร์ ว่าที่ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล งดร่วมงานกะทันหันโดยไม่ทราบสาเหตุ ทั้งๆ ที่เคยยืนยันเข้าร่วมก่อนหน้านี้แล้ว

ไปดูว่าผู้ร่วมเสวนาคิดอย่างไร

‘ฮากิม พงตีกอ’ มองว่า สิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง หรือ ‘RSD’ (Right to Self-determination) เป็นสิทธิเสรีภาพในการที่จะเลือกมาเป็นหลักการการดำเนินประเด็นทางการเมือง

‘อาเต็ฟ โซ๊ะโก’ ชี้ว่า เมื่อเราถือหลักที่สอดคล้องกับ RSD เป็นกระบวนการที่ยอมรับตามหลักสากล นำไปสู่การประชามติ ซึ่งไม่ว่าผลของการประชามติจะออกมาอย่างไร เราก็ควรที่จะยอมรับ และจะไม่มีคำว่าแพ้เกิดขึ้น เพราะนั่นเป็นสิ่งที่ประชาชนเลือก

‘วรวิทย์ บารู’ บอกว่า กระบวนยุติธรรมจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงหลายๆ ปัจจัย เพราะถ้าเราอยากได้ความเป็นธรรม เราก็ต้องเป็นที่จะให้ความเป็นธรรมนั้นแก่คนอื่น เพราะบางคนเรียกร้องถึงความเป็นธรรม แต่กลับอธรรมกับสิ่งที่ตนเองยึดถือหรือหลักศรัทธา นักศึกษา นักการเมือง และองค์กรภาคประชาสังคม มีสิทธิและเห็นควรที่จะผลักดันกระบวนการ RSD เพื่อเลือกที่จะกำหนดอนาคตตนเอง เพราะเป็นเรื่องของวิชาการและเป็นที่ยอมรับตามหลักสากล

ไฮไลต์ของงานมีการแจกบัตรกระดาษ ระบุหัวข้อว่า “คุณเห็นด้วยกับสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเองหรือไม่ ที่จะให้ประชาชนปาตานีสามารถออกเสียงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชได้อย่างถูกกฎหมาย”

มีหมายเหตุด้านล่าง ระบุ ให้กับชาวปาตานี : ผู้ที่ลงทะเบียนว่า “อาศัยอยู่ถาวรในพื้นที่ปาตานีหรือ จ.นราธิวาส, จ.ปัตตานี, จ.ยะลา และ จ.สงขลา (เฉพาะ อ.จะนะ, อ.นาทวี, อ.เทพา และ อ.สะบ้าย้อย)”

เอากันตรงๆ แบบนี้เลยครับ เหมือนกับจะออกแบบให้เป็นการ ‘ทำประชามติ’ ว่าจะแบ่งแยกดินแดน แบ่ง ‘ปัตตานี-ยะลา-นราธิวาส และ 4 อำเภอของสงขลา’ ไปเป็นเอกราช ปกครองตนเอง เหมือน ‘ติมอร์’ แยกตัวออกไปจากอินโดนีเซีย

“ประเทศไทยเป็นราชอาญาจักรเดียว จะแบ่งแยกมิได้” เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญชัดเจน แน่นอนว่า เมื่อมีการขับเคลื่อนในลักษณะ-เนื้อหาเช่นนี้ ฝ่ายความมั่นคงจะต้องเข้ามาตรวจสอบ และถ้าเข้าข่ายผิดต่อความมั่นคงของรัฐ เจ้าหน้าที่ก็ต้องจัดการตามกฎหมาย

ที่น่าจะเจอเต็มๆ คือ คณะพรรคประชาชาติ ที่มี ‘วันมูหะมัดนอร์ มะทา’ เป็นหัวหน้าพรรค และเป็น 1 ใน 8 พรรคร่วมรัฐบาลของพรรคก้าวไกล พรรคเป็นธรรม ก็เป็นอีกพรรคร่วมรัฐบาลของพรรคก้าวไกล มีระดับรองเลขาธิการพรรค เข้าร่วมเป็นวิทยากรด้วย แต่ตัวแทนจากพรรคก้าวไกลน่าจะไหวตัวทัน เลยไม่ได้เข้าร่วมในกิจกรรมครั้งนี้

3 จังหวัดชายแดนภาคใต้บวก 4 อำเภอของสงขลา มีการพูดถึงรูปแบบการบริหารจัดการอยู่ 3 รูปแบบ

1.) เป็นอยู่อย่างปัจจุบัน คือเป็นราชการส่วนภูมิภาค ที่รัฐบาลกลางแบ่งอำนาจไป ส่งคนไปปกครองดูแล มีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นหัวหน้าสูงสุด มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆซ้อนอยู่ เช่น อบจ./อบต./เทศบาล

2.) มหานครปัตตานี (ปาตอนี) เป็นการจัดรูปแบบการปกครองเป็น ‘การปกครองส่วนท้องถิ่น’ ตามหลักกระจายอำนาจ เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ คล้ายๆ พัทยา และกรุงเทพมหานคร

3.) แบ่งแยกตนเอง คือการแยกตัวออกไปเป็นประเทศราช มีเอกราชเป็นของตนเอง ซึ่งหมายถึงการตั้งประเทศใหม่นั้นเอง

ที่ผ่านมาหลายปีมีการกล่าวถึงใน 3 รูปแบบนี้ แต่ ‘มหานครปัตตานี’ และการแบ่งแยกประเทศ ยังไม่มีอะไรคืบหน้า และความเป็นไปได้ ส่วนการแยกประเทศแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะคงไม่มีใครยอมให้แบ่งแยกดินแดนแน่นอน

แต่การตั้งวงเสวนาครั้งนี้น่าสนใจยิ่ง เพราะมีการพูดกันเปิดเผย มีการเผยแพร่บทเสวนาผ่านสื่อหลากหลาย และเป็นการเสวนาที่เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งไม่นานนัก และเป็นการเลือกตั้งที่พรรคก้าวไกลชนะเกินคาด พรรคประชาชาติก็มีเสียงเพิ่มขึ้นจาก 6 เป็น 9 และพรรคสายเดียวกับประชาชาติ อย่างพรรคเป็นธรรม ก็เบียดเข้ามา 1 ที่นั่ง และทั้งพรรคประชาชาติ และพรรคเป็นธรรม ก็เป็นพรรคร่วมรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล ที่กำลังก่อตัวกันเป็นรัฐบาล

น่าจับตามองว่า ขบวนการนี้จะพัฒนาไปถึงไหน ฝ่ายความมั่นคงคิดอย่างไร และจะทำอะไรต่อไป แต่แน่นอนว่าคงไม่มีใครยอมให้แบ่งแยกประเทศอย่างง่ายๆ หรอก เพราะ “ประเทศไทยเป็นหนึ่งเดียว จะแบ่งแยกมิได้”
 

กอ.รมน.ภาค4 โฟกัสฟ้อง 3 กลุ่ม ประชามติ.. แยกดินแดนปาตานี

วันนี้ขอเลียบการเมืองไปที่แนวรบด้านความมั่นคงที่กำลังร้อนฉ่าอยู่ที่ปลายด้ามขวานสักหน่อย  กองทัพภาคที่ 4 แถลงชัดเจนแล้วว่าอีกไม่เกิน 2 สัปดาห์ก็จะดำเนินการฟ้องคดีเอาผิดกับบุคลที่เกี่ยวข้องกับการจัดกรรมทำประชามติจำลองแยกปาตานีเป็นเอกราช..ในงานเสวนา “สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง (Selt Determination) กับสันติภาพปาตานี” เมื่อวันที่ 7มิ.ย.ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี..

ยังไม่รู้ว่ากองทัพภาคที่ 4 จะฟ้องร้องกล่าวโทษกี่คนและเป็นใครบ้าง  “เล็ก  เลียบด่วน” ฟังพล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์  รองแม่ทัพภาคที่ 4 ให้สัมภาษณ์ทางรายการ “รู้ทันข่าว92.5” ของกรมประชาสัมพันธ์ท่านบอกกว้าง ๆ เพียงว่ามีอยู่ 3 กลุ่ม  คือ

1)กลุ่มที่จัดกิจกรรม  

2)คนที่มาร่วมงาน และ

3)ผู้ที่สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง..

พล.ต.ปราโมทย์ให้ข้อมูลว่า  ก่อนหน้านี้ก็เคยมีการทำไประชามติจำลอง แต่เป็นการทำประชามติเรื่อง” การกำหนดใจตนเอง” เท่านั้น ไม่เลยธงเหมือนในครั้งนี้ที่ถึงขั้นถามว่าเห็นด้วยกับการแยกตัวเป็นเอกราชหรือไม่..ครั้งนี้จึงเป็นการยกระดับการเคลื่อนไหว  ที่พยายามขยายผลต่อยอดเรื่อง “สิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง” ตามข้อมติสหประชาชาติที่ 1514 ออกในปี ค.ศ. 1960  ซึ่งแม้ไทยจะร่วมรับรองแต่เราก็สงวนสิทธิเรื่องการแบ่งแยกดินแดนไว้อย่างชดเจนว่าทำไม่ได้..

ที่น่าสนใจกว่านั้น ฟังแล้วไม่สบายใจเอามากๆ คือ พล.ต.ปราโมทย์.. สถานการณ์ปลายด้ามขวานวันนี้กลุ่มบีอาร์เอ็นยังคงปฏิบัติการทางการทหารเพื่อหล่อเลี้ยงสถานการณ์  ช่วงเดือนรอมฎอนที่ผ่านมาเป็น “รอมฎอนเดือด”ที่สุดในรอบ 10ปี  แต่ที่น่ากลัวไปมากกว่านั้นคือความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ได้ชำแรกแทรกซึมความคิดไปยังกลุ่มต่างๆ ทั้งองค์กรสิทธิมนุษยชน   เยาวชนนักศึกษา  นักการเมืองและพรรคการเมือง..ซึ่งสนับสนุนแนวคิดในลักษณะเลยธง..

ครับ...ก็น่าลุ้นกันด้วยความระทึกใจว่า..ใครบ้างที่จะถูกฟ้องร้องกล่าวโทษ และในข้อหาอะไร  แน่นอนเป็นคดีความมั่นคง แต่จะหนักหนาสาหัสแค่ไหน...และมีใครจาก3พรรคการเมืองโดนด้วยหรือไม่

3 พรรคที่ว่าคือ พรรคเป็นธรรม  พรรคประชาชาติ ที่มีตัวแทนไปเป็นวิทยากรเสวนา  และพรรคก้าวไกลที่มีรูปโฆษณาเด่นหรากว่าใครเพื่อนอย่าง นายรอมฎอน  ปันจอร์ ว่าที่ ส.ส. บัญชีรายชื่อ  แต่ยกเลิกกะทันหันเหมือนนกรู้...

รายงานข่าวแจ้งว่า กอ.รมน. ภาค4 ส่วนหน้าได้จัดประชุมทีมกฎหมาย นักวิชาการ อัยการ ทหาร ตำรวจมาแล้ว 3 ครั้งเพื่อสรุปรูปคดี  ขณะที่ฝ่ายข่าวกอ.รมน.ภาค4 นั้นได้สรุปข้อมูลย้อนหลังโยงใยมาจนถึงวันจัดงานก็รู้แจ้งเห็นชัดว่าใครเป็นใคร ใครคิดอะไร..โดยเฉพาะพฤติการณ์ของนักการเมืองและพรรคการเมืองบางคนบางพรรค ที่ปลุกระดมความคิดการปกครองตนเอง  ความเป็นเอกราชมาตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง และโหมหนักช่วงเลือกตั้งด้วยหวังผลคะแนนเสียงเข้าข่ายที่จะดำเนินการกล่าวโทษให้ยุบพรรคในข้อหาล้มล้างการปกครองได้ แต่ประเด็นนี้ทางกองทัพหรือทหารจะไม่ดำเนินการ...ปล่อยให้เอกชนหรือภาคประชาชนอาศัยช่องทางรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ไปดำเนินการกันตามความเหมาะควรกันเอง...

แม้ว่านาทีนี้  บรรดาว่าที่ ส.ส. และนักการเมืองจาก 3 พรรคตั้งการ์ดสูงเวลาให้สัมภาษณ์จนบรรดาแนวร่วมเกิดอาการหมั่นไส้รำคาญกันเอง ก็ไม่ได้ทำให้พฤติการณ์ที่บรรดาว่าที่ ส.ส. และพรรคการเมืองดังกล่าวมาลบหายไปได้...  

เล็ก  เลียบด่วน เชื่อว่าถึงที่สุดวันใดวันหนึ่งคงมีคนไปฟ้องร้องกล่าวโทษให้มีการยุบพรรคแน่นอน..เพราะมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญบัญญัติชัดเจนว่า “ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวกัน  จะแบ่งแยกมิได้”..

‘สนธิ’ แจง ปฏิบัติการ 10 ข้อ เพื่อนำไปสู่ การแบ่งแยกดินแดน ยกตัวอย่างการประท้วงในฮ่องกง สู่การพยายามเปลี่ยนแปลงใน ‘ปาตานี’ 

นายสนธิ ลิ้มทองกุล สื่อมวลชนอาวุโส ผู้ก่อตั้งในเครือผู้จัดการ และนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ได้จัดรายการ สนธิทอล์ค เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2566 เล่าถึง การพยายามแบ่งแยกดินแดนของ ‘ปาตานี’ ยกตัวอย่างอ้างอิงจาก ฮ่องกงโมเดล โดยนายสนธิ ได้เล่าว่า ...

ฮ่องกงโมเดล คือตัวอย่างที่บุคคลบางกลุ่ม สมคบคิดกับคนต่างชาติ เพื่อเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการปกครองเป็นการขายชาติ แต่ชูป้ายว่าเป็นการเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งถึงณปัจจุบันนี้ ฮ่องกงโมเดลได้อวสานไปแล้ว เมื่อรัฐบาลจีนได้ประกาศใช้กฎหมายความมั่นคง เป็นเหตุให้ประเทศเจ้าแห่งอาณานิคม จำเป็นต้องย้ายฐานปฏิบัติการจะให้บุคลากรต่างๆ มาที่ประเทศไทย เพื่อจะผลักดันปาตานีโมเดล เพื่อให้เกิดการแบ่งแยกดินแดนทางภาคใต้ของไทย ซึ่งเนื้อหาในการปฏิบัติการเพื่อแบ่งแยกดินแดนนั้นสรุปได้ 10 ประการดังนี้

ข้อที่ 1 เขียนประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์ให้แตกต่างกัน เพื่อเป็นการแบ่งแยกผู้คนออกจากกัน ใช้วัฒนธรรมมาอ้างเพื่อแบ่งแยกทางอัตลักษณ์

ข้อที่ 2 อ้างค่านิยมสากล สร้างความเชื่อว่า เป็นค่านิยมที่ต้องยึดถือเช่น ประชาธิปไตยทุนนิยมเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียม

ข้อที่ 3 สร้างประวัติศาสตร์ว่าถูกกดขี่ ไม่เท่าเทียม

ข้อที่ 4 เรียกร้องโดยไม่สนใจหลักการใดๆทั้งสิ้น

ข้อที่ 5 ขยายผลจากการขับไล่ผู้นำไปสู่การเรียกร้องเอกราช

ข้อที่ 6 สร้างแนวร่วมนักการเมือง NGO สื่อมวลชน

ข้อที่ 7 การสร้างฮีโร่ในการเคลื่อนไหว ฮีโร่ผู้กล้าหาญที่จะท้าทายผู้มีอำนาจ เหมือนกับเพนกวินเหมือนกับรุ้ง แล้วลงไปสู่ในระดับเด็ก อย่างตะวัน หรือหยกและอีกหลายๆคน ยิ่งถ้าเป็นเด็กก็ยิ่งดีถ้าถูกมาตรการปราบปรามจากภาครัฐก็จะมองได้ว่าเป็นการที่ผู้ใหญ่รังแกเด็ก เป็นสงครามระหว่างรุ่นสร้างกระแสได้ว่าให้มันจบที่รุ่นเรา

ข้อที่ 8 มีการสร้างสัญลักษณ์ร่วม เพื่อให้สื่อมวลชนและสังคมจดจำได้อย่างง่ายดาย เช่นสีเสื้อ การสวมเสื้อสีดำการกางร่มสีเหลือง การปฏิวัติร่มในประเทศฮ่องกง การใช้สัญลักษณ์ชู 3 นิ้ว

ข้อที่ 9 การสร้างเครือข่ายเคลื่อนไหวในระดับสากล การเคลื่อนไหวทางการเมืองในปัจจุบันมิได้กำหนดจำกัดอยู่แค่ภายในประเทศของตัวเองเท่านั้น แต่ประเทศที่หนุนหลังนั้นก็ได้ขยายการเคลื่อนไหวไปสู่ประเทศอื่นๆด้วย โดยอ้างพาราดอนภาพหรือความเป็นพี่เป็นน้องกัน

ข้อที่ 10 สร้างความชอบธรรมโดยการสนับสนุนของต่างชาติ เป็นการเปิดประตูให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแซงในการภายในของประเทศ

'ก้าวไกล' ชงยุบ กอ.รมน. ตั้ง กมธ.สันติภาพ 'ปาตานี' เกมถนัดสั่นคลอน 'กลุ่มอำนาจเดิม-ฝ่ายความมั่นคง'

(20 ก.ค. 66) พลันที่พรรคก้าวไกลใกล้จะสูญเสียอำนาจฝ่ายบริหารอย่างเต็มรูปแบบ ทั้ง ๆ ที่ชนะเลือกตั้ง ได้ ส.ส.มาอันดับ 1

แต่พลาดทั้งตำแหน่งนายกฯ (หมดสิทธิ์ไปแล้วจากการตีตกญัตติโหวตเลือก นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ รอบ 2) และสถานะการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลกำลังจะหลุดมือ

ไม่นับเก้าอี้ ‘ประธานสภา’ ที่ต้องเสียให้พรรค 9 เสียงอย่างพรรคประชาชาติไปก่อนหน้านี้

ทำให้พรรคก้าวไกลพลิกเกมสู้ เลือกเดินทางถนัด คือจัดหนักเสนอร่างแก้ไขปัญหากฎหมายแนวปฏิรูป ซึ่งจะสั่นคลอนกลุ่มอำนาจเดิม ทั้งทุนใหญ่ผูกขาด กองทัพ และฝ่ายความมั่นคง จองคิวเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร

โดยร่างกฎหมายที่ยื่นล็อตแรกมีทั้งหมด 7 ฉบับ ตามหลักการเปลี่ยนประเทศ- ปฏิรูปกองทัพ โดยมีผู้แทนประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้รับเรื่อง และร่างกฎหมายที่เสนอมาทั้งหมด เมื่อวันที่ 18 ก.ค.66 ที่ผ่านมา

หลังการยื่น 7 ร่างกฎหมายของพรรคก้าวไกล นายรอมฎอน ปันจอร์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรค ได้โพสต์เฟสบุ๊กส่วนตัวระบุว่า “การยุบ กอ.รมน. เริ่มนับหนึ่งวันนี้นะครับ ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิก พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 พ.ศ. ....ถึงมีประธานแล้ว”

นอกจากนี้ นายรอมฎอน ยังโพสต์ข้อความเพิ่มเติม โดยมีเนื้อหาว่า “ความเคลื่อนไหวสำคัญเกี่ยวกับสันติภาพในชายแดนใต้ / ปาตานี เรื่องแรกคือการริเริ่มตั้งต้นยุบ กอ.รมน. ด้วยการเสนอร่างกฎหมายอย่างเป็นทางการ อีกเรื่องเป็นการเข้าชื่อเสนอญัตติให้สภาผู้แทนฯ ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญว่าด้วยเรื่องการสร้างสันติภาพ ลงนามโดย ส.ส.ก้าวไกล รวม 30 คน

ทั้งสองเรื่องเป็นสิ่งที่พรรคก้าวไกลสัญญาเอาไว้กับประชาชน วางอยู่บนแนวคิดที่ว่าการเผชิญหน้าและรับมือกับความขัดแย้งในชายแดนใต้มาตลอดหลายสิบปีนั้น จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนทิศทาง นั่นคือการลดบทบาทของกองทัพลง และเพิ่มบทบาทของพลเรือนให้มากขึ้น โดยเฉพาะสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีความชอบธรรมทางการเมืองในฐานะที่เป็นสถาบันที่ยึดโยงกับประชาชน พื้นที่ของสภาฯ เช่นนี้จะเปิดโอกาสให้เราสามารถดึงเสียงที่แตกต่างหลากหลายมาถกเถียงเรื่องสำคัญๆ ได้อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งโดยตัวมันเองก็เป็นกลไกที่จะส่งเสริมการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยไม่ใช้ความรุนแรง

ความขัดแย้งในชายแดนใต้เป็นปัญหาอำนาจรัฐ เป็นเรื่องใหญ่และเรื่องระดับชาติ การมอบหมายให้อยู่ภายใต้กรอบคิดและการดำเนินงานของหน่วยงานความมั่นคงชนิดพิเศษอย่างที่ผ่านมาไม่เพียงพอแล้ว เราต้องการทิศทางที่สร้างสรรค์และเปิดกว้างมากกว่านั้น เพื่อไม่ให้ทิ้งระเบิดเวลาให้กับคนรุ่นถัดไป

ที่จริงแล้ว การยุบ กอ.รมน. ไม่ได้วางอยู่บนเหตุผลแค่เรื่องสันติภาพในดินแดนใต้สุดเท่านั้น แม้ในช่วงการฟื้นตัวก่อกำเนิดขึ้นมาอีกครั้งในปี 2551 จะอิงกับเหตุการณ์ความไม่สงบที่นั่น ปัญหาของหน่วยงานรัฐซ้อนรัฐนี้ปรากฏอยู่ทั่วทั้งประเทศ การแทรกแซงเข้าไปในกิจกรรมทางการเมืองของประชาชน มองหาภัยคุกคามและข้าศึกอยู่ตลอดเวลาเช่นนั้นไม่เป็นผลดีต่อพัฒนาการของประชาธิปไตยในระยะยาว

เรื่องนี้เป็นหนึ่งในกฎหมาย 5 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปกองทัพ แต่ละเรื่องนับเป็นหัวใจสำคัญของหลักการควบคุมกองทัพด้วยรัฐบาลพลเรือนแทบทั้งสิ้น ชวนทุกท่านติดตามและถกเถียงถึงพัฒนาการของกระบวนการสันติภาพในรัฐสภาไทยอย่างใกล้ชิด”

นอกจากโพสต์ข้อความ นายรอมฎอนยังโพสต์ภาพเอกสารร่าง พ.ร.บ.ยกเลิก พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 เพื่อดำเนินการยุบ กอ.รมน. และภาพเอกสาร ขอเสนอญัตติด่วน เรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษา ติดตามและส่งเสริมการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ / ปาตานี โดยเอกสารทั้ง 2 ฉบับมีนายรอมฎอน ปันจอร์ ลงชื่อเป็นผู้เสนอ

เป็นที่น่าสังเกตว่า เอกสารการขอเสนอญัตติ พิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาติดตามและส่งเสริมการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ / ปาตานี มีการใช้คำว่า ‘ปาตานี’ ซึ่งเป็นวาทกรรมที่ถูกสร้างขึ้นมาจากขบวนการชาตินิยมปัตตานี ที่ผ่านมามักถูกใช้โดยฝ่ายที่เห็นต่างจากรัฐและกลุ่มขบวนการก่อความไม่สงบ แต่ ส.ส.พรรคก้าวไกล ซึ่งเป็น ส.ส.ของปวงชนชาวไทย ซึ่งหมายถึงคนไทยทั้งประเทศ นำมาใช้ห้อยท้ายชื่อของคณะกรรมาธิการฯ ที่ตนเองเสนอ

ทั้งนี้ ยังไม่ชัดเจนในเจตนาว่าเป็นความต้องการสะท้อนความแตกต่างหลากหลาย หรือเป็นการยอมรับคำกล่าวของคู่เจรจา ซึ่งบางส่วนใช้อาวุธต่อสู้กับรัฐไทยกันแน่

นายทหารระดับสูงใน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า (ขอสงวนนาม) แสดงทัศนะหลังได้เห็นการโพสต์ข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ของนายรอมฎอนว่า “อย่านำความมั่นคงของรัฐมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง”

สำหรับร่างกฎหมายทั้งหมด 7 ฉบับ ที่ ส.ส.พรรคก้าวไกล เสนอแก้ไข แบ่งเป็น 2 ชุด

ชุดที่ 1 ชุดกฎหมายปฏิรูปกองทัพ (Demilitarize) จำนวน 5 ฉบับ เพื่อทำให้กองทัพมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และอยู่ใต้รัฐบาลพลเรือน ประกอบด้วย

1) ร่าง พ.ร.บ.รับราชการทหาร เพื่อยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารในยามปกติ และเปลี่ยนเป็นระบบสมัครใจ 100%
2) ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม เพื่อตัดอำนาจสภากลาโหม ให้พลเรือนอยู่เหนือกองทัพ
3) ร่าง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ เพื่อเพิ่มความโปร่งใสเรื่องภาระค่าใช้จ่ายและเงินนอกงบประมาณทั้งหมดของรัฐ
4) ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิก พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 เพื่อดำเนินการยุบกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)
5) ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศ คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. เพื่อยกเลิกประกาศและคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพ

ชุดที่ 2 ชุดกฎหมายปิดช่องทุนผูกขาด (Demonopolize) จำนวน 2 ฉบับ เพื่อส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม และยกระดับขีดความสามารถของเศรษฐกิจไทย ประกอบด้วย

1) ร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต หรือร่าง “สุราก้าวหน้า” เพื่อปลดล็อกการผลิตสุราของผู้ผลิตรายย่อยและสุราชุมชน
2) ร่าง พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า เพื่อสร้างกติกาแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม ปฏิรูปคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า และออกกฎ “คนฮั้ววงแตก” ในการป้องกันการฮั้วประมูลของบางบริษัทที่ร่วมมือกันผูกขาดหรือลดการแข่งขัน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top