Monday, 13 May 2024
ประพฤติ_ฉัตรประภาชัย

‘อ.อุ๋ย ปชป.’ แนะ!! นายกฯ สานต่อ ‘คนละครึ่ง-เราเที่ยวด้วยกัน’  แทนการผลักดันเงินดิจิทัล ที่ไม่รู้ว่าจะได้เมื่อไรและเสี่ยงผิดกม. 

(8 ก.พ.67) จากกรณีที่ ป.ป.ช. ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับโครงการเงินดิจิทัลของรัฐบาลนายกเศรษฐา ว่าต้องระมัดระวังด้านข้อกฎหมายหลายประการ ซึ่งมีโอกาสจะทำให้โครงการเงินดิจิทัลต้องล่าช้าออกไปอย่างไม่มีกำหนด นั้น นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย หรืออาจารย์อุ๋ย อดีตผู้สมัคร สส. กรุงเทพมหานคร เขตบางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ให้ความเห็นว่า ตนเพิ่งได้ลงพื้นที่สำรวจกิจกรรมทางเศรษฐกิจระดับฐานรากในพื้นที่เขตบางกะปิ เช่น บริเวณตลาดนัดการกีฬาแห่งประเทศไทย ซอยมหาดไทย (รามคำแหง 65) และย่านการค้าหน้าและหลังมหาวิทยาลัยรามคำแหง พบว่าปัญหาส่วนใหญ่ของประชาชนคือ การขาดเงินหมุนเวียนระยะสั้นเพื่อนำมาจับจ่ายใช้สอย บวกกับหนี้ครัวเรือนที่พุ่งขึ้นสูง ทำให้ต้องจำกัดการใช้จ่ายเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น เช่น อาหารการกินราคาประหยัด ค่าเดินทาง ค่าโทรศัพท์ อินเตอร์เน็ต ค่ารักษาพยาบาล ฯลฯ ทำให้สินค้าและบริการอย่างอื่นขายแทบไม่ได้เลย ต้องทยอยปิดตัวเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่งผลให้เกิดการว่างงานเพิ่มมากขึ้น 

ดังนั้นรัฐบาลควรเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากโดยเร็ว หากจะรอให้โครงการเงินดิจิทัล ซึ่งยังติดขัดข้อกฎหมายอีกหลายประการ ยังขาดความชัดเจนว่าจะเริ่มได้เมื่อไหร่ ก็อาจจะไม่ทันการกับความต้องการของประชาชน ตนจึงเสนอให้รัฐบาลสานต่อโครงการคนละครึ่ง ซึ่งทำให้เกิดภาระทางการคลังน้อยกว่าเพราะรัฐบาลออกเงินเพียงครึ่งเดียวของราคาสินค้าและบริการ นำเม็ดเงินเข้าสู่ผู้ประกอบการโดยตรงและพุ่งเป้าไปที่คนที่ต้องการใช้เงินจริงๆ นอกจากนี้ระบบต่างๆ ของโครงการคนละครึ่งได้ถูกวางไว้เรียบร้อยแล้ว โดยไม่ปรากฏข้อติดขัดทางกฎหมาย พร้อมใช้งานได้ทันที ดีกว่าที่จะรอโครงการเงินดิจิทัล ซึ่งไม่รู้จะได้ใช้เมื่อไหร่ และต้องเสียเวลากับการออกแบบโครงสร้างระบบอีก 

นอกจากนี้อีกไม่กี่เดือนก็จะเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ ซึ่งรัฐบาลคิดจะฉลองยาวถึง 21 วัน ตนก็คิดว่าเป็นโอกาสอันดีที่รัฐบาลชุดปัจจุบันจะสานต่อโครงการ ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวของไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายส่งเสริม Soft Power ที่รัฐบาลกำลังผลักดันอยู่เช่นกัน 

ทั้งนี้ตนเชื่อว่าหากนายกเศรษฐาและรัฐบาลสานต่อทั้งสองโครงการของรัฐบาลชุดที่แล้ว จะได้รับเสียงชื่นชมจากประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่ายอย่างแน่นอน เพราะแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลยึดถือประโยชน์ของประชาชนทั้งประเทศเป็นสำคัญอยู่เหนือสิ่งอื่นใด

'อาจารย์อุ๋ย ปชป.' จี้รัฐลดพึ่งพาแพลตฟอร์มต่างชาติ หนุนแพลตฟอร์มคนไทย สร้าง 'อธิปไตยทางไซเบอร์' เพื่อ 'อำนาจต่อรอง-ความมั่นคงทาง ศก.' ระยะยาว

'นักวิชาการด้านกฎหมาย' ชี้!! ประเทศไทยต้องเร่งสร้างอธิปไตยทางไซเบอร์ ลดการพึ่งพาแพลตฟอร์มของต่างประเทศ สนับสนุนแพลตฟอร์มของคนไทย เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจในระยะยาว 

(6 มี.ค.67) จากเหตุการณ์เครือข่ายแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียชื่อดังใช้การไม่ได้เป็นเวลานานนับชั่วโมง นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย หรืออาจารย์อุ๋ย นักวิชาการด้านกฎหมายดิจิทัลและอดีตผู้สมัคร สส. กรุงเทพมหานคร เขตบางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ให้ความเห็นว่า เหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ผู้ใช้มากมายโดยเฉพาะผู้ที่ต้องใช้ระบบดังกล่าวในการหารายได้เพื่อเลี้ยงชีพ ไม่ว่าจะเป็นผู้ค้าออนไลน์ หรืออินฟลูเอนเซอร์ต่าง ๆ ต้องประสบปัญหามากมาย ถูกระบบไล่ออกมาและไม่สามารถเข้าระบบได้ ส่งผลให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจมากมาย ทั้งที่ได้จ่ายค่าบริการให้กับระบบดังกล่าวไปเป็นจำนวนไม่น้อย และตนก็เชื่อว่าเป็นการยากที่กลไกทางกฎหมายของประเทศไทยในปัจจุบันจะเอาผิด ลงโทษหรือแม้แต่เรียกร้องค่าเสียหายจากความผิดพลาดของแพลตฟอร์มดังกล่าวได้ เนื่องจากรัฐบาลไทยไม่เคยให้ความสำคัญกับ ‘อธิปไตยไซเบอร์’

ทั้งนี้ สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ได้ให้นิยามคำว่า อธิปไตยไซเบอร์ (Digital Sovereignty) ว่าหมายถึง 'การมีความสามารถในการกำหนดชะตากรรมด้านดิจิทัลด้วยตัวของเราเอง ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล ฮาร์ดแวร์ หรือซอฟต์แวร์ที่เราสร้างหรือใช้งานอยู่' ตนจึงอยากตั้งคำถามไปยังรัฐบาลว่าตอนนี้ประเทศไทยสามารถกำหนดชะตากรรมทางดิจิทัลอะไรได้บ้าง? เพราะแพลตฟอร์มที่คนไทยใช้ในปัจจุบัน ล้วนแล้วแต่เป็นของต่างชาติ ที่กฎหมายไทยควบคุมได้น้อยมากหรือแทบไม่ได้เลย และกรณีที่แพลตฟอร์มล่มในลักษณะนี้ก็ไม่ใช่ครั้งแรก และไม่สามารถลงโทษหรือเรียกร้องค่าเสียหายจากใครได้เลย 

ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย ทั้ง ๆ ที่ จากสถิติ คนไทยใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ติดอันดับต้น ๆ ของโลกมาตลอด แต่ประเทศกลับไม่มีมีอำนาจต่อรองกับแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างชาติได้มากเท่าที่ควร ไม่สามารถควบคุมและกำกับดูแลมาตรฐานของการให้บริการของแพลตฟอร์มเหล่านี้ได้ และปล่อยให้แพลตฟอร์มเหล่านี้กอบโกยประโยชน์ที่ประชาชนชาวไทยควรจะได้กลับประเทศแม่ไปหมด 

ตนจึงเสนอให้รัฐบาลเร่งสร้างอธิปไตยทางไซเบอร์ ออกแบบมาตรการทางกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมมาตรฐานการให้บริการของแพลตฟอร์มต่างชาติเหล่านี้ รวมทั้งสนับสนุนแพลตฟอร์มที่สร้างและดำเนินการโดยคนไทย ให้เป็นแพลตฟอร์มใหญ่ที่สามารถแข่งขันกับต่างชาติได้ เพื่อที่ประโยชน์จากกิจกรรมทางไซเบอร์เหล่านี้จะตกอยู่กับพี่น้องคนไทย เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจในระยะยาวของประเทศต่อไป

'อ.อุ๋ย-ปชป.' แนะรัฐบาลสั่ง 6 แบงก์รัฐ นำร่องลดดอกเบี้ย เดี๋ยวแบงก์พาณิชย์จะลดดอกเบี้ยตามเอง เพื่อไม่ให้เสียลูกค้า

เมื่อวานนี้ (10 พ.ค.67) นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย หรืออาจารย์อุ๋ย นักวิชาการด้านกฎหมาย อดีตผู้สมัคร สส. กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า...

ดอกเบี้ยนโยบายเป็นอัตราที่ธนาคารกลางจ่ายดอกเบี้ยให้กับธนาคารพาณิชย์ที่เอาเงินมาฝาก หรือเป็นอัตราที่ธนาคารกลางเก็บดอกเบี้ยจากธนาคารพาณิชย์ที่มากู้เงิน ซึ่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลกับอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์คิดกับลูกค้าที่เป็นผู้กู้หรือผู้ฝากเงินต่อไป เป็นเครื่องมือหนึ่งของแบงก์ชาติ ในการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ ควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ไม่ให้เกินเป้าหมาย 3% ต่อปี ตามหลักเศรษฐศาสตร์

อย่างไรก็ตาม แบงก์ชาติไม่มีอำนาจสั่งธนาคารพาณิชย์ ดอกเบี้ยนโยบายเป็นเพียงการส่งสัญญาณว่าธนาคารพาณิชย์ควรจะขึ้นหรือลดดอกเบี้ยเท่าใด ส่วนแต่ละธนาคารจะตัดสินอย่างไร เป็นเรื่องของแต่ละธนาคาร โดยดูจากปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ดังที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ขอความร่วมมือจาก 4 ธนาคารใหญ่ และสมาคมธนาคารไทย เมื่อวันที่ 23 เม.ย.67 ซึ่งสุดท้ายสมาคมธนาคารไทยก็มีการปรับลดดอกเบี้ย MRR ลงร้อยละ 0.25 สำหรับผู้กู้บางส่วน ซึ่งไม่ตรงกับมติของแบงก์ชาติ (กนง.)  

ดังนั้น เพื่อไม่ให้กระทบกับหลักความเป็นอิสระของแบงก์ชาติตามที่หลายฝ่ายกังวล รัฐบาลก็สามารถทำได้มากกว่าการขอความร่วมมือ โดยสั่งให้ธนาคารในกำกับดูแลของรัฐทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน, ธกส., ธอส., ธอท., ธพว. และ ธนาคารกรุงไทย ให้ลดดอกเบี้ยเงินกู้ โดยไม่ต้องไปยุ่งกับดอกเบี้ยนโยบาย เพราะจะเกิดผลกระทบหลายฝ่าย และรุนแรงในระยะยาว และเมื่อธนาคารของรัฐเหล่านี้ ซึ่งมีฐานลูกค้าหลายสิบล้านคน หากลดดอกเบี้ยได้มากพอและนานพอ สุดท้ายธนาคารพาณิชย์ของเอกชนก็จะต้องลดดอกเบี้ยตาม เพราะมิเช่นนั้นก็จะเสียลูกค้าไป

การทำเช่นนี้แม้จะทำให้รายได้หรือกำไรของธนาคารลดลง แต่ในภาพรวมจะทำให้ประชาชนมั่นใจในการลงทุนและจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เศรษฐกิจจะกระเตื้องขึ้น และรัฐบาลก็จะเก็บภาษีได้มากขึ้น และเอาเงินมาช่วยธนาคารเหล่านี้ภายหลังได้ โดยไม่ต้องไปกดดันแบงก์ชาติให้กระทบกับหลักความเป็นอิสระ ตามที่หลายฝ่ายท้วงติง 

ผมจึงขอฝากให้รัฐบาลนำวิธีนี้ไปพิจารณา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และหันมาร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทยในการทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยเจริญเติบโตก้าวหน้าต่อไปอย่างมั่นคงจะดีกว่า


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top