'อาจารย์อุ๋ย ปชป.' จี้รัฐลดพึ่งพาแพลตฟอร์มต่างชาติ หนุนแพลตฟอร์มคนไทย สร้าง 'อธิปไตยทางไซเบอร์' เพื่อ 'อำนาจต่อรอง-ความมั่นคงทาง ศก.' ระยะยาว

'นักวิชาการด้านกฎหมาย' ชี้!! ประเทศไทยต้องเร่งสร้างอธิปไตยทางไซเบอร์ ลดการพึ่งพาแพลตฟอร์มของต่างประเทศ สนับสนุนแพลตฟอร์มของคนไทย เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจในระยะยาว 

(6 มี.ค.67) จากเหตุการณ์เครือข่ายแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียชื่อดังใช้การไม่ได้เป็นเวลานานนับชั่วโมง นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย หรืออาจารย์อุ๋ย นักวิชาการด้านกฎหมายดิจิทัลและอดีตผู้สมัคร สส. กรุงเทพมหานคร เขตบางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ให้ความเห็นว่า เหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ผู้ใช้มากมายโดยเฉพาะผู้ที่ต้องใช้ระบบดังกล่าวในการหารายได้เพื่อเลี้ยงชีพ ไม่ว่าจะเป็นผู้ค้าออนไลน์ หรืออินฟลูเอนเซอร์ต่าง ๆ ต้องประสบปัญหามากมาย ถูกระบบไล่ออกมาและไม่สามารถเข้าระบบได้ ส่งผลให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจมากมาย ทั้งที่ได้จ่ายค่าบริการให้กับระบบดังกล่าวไปเป็นจำนวนไม่น้อย และตนก็เชื่อว่าเป็นการยากที่กลไกทางกฎหมายของประเทศไทยในปัจจุบันจะเอาผิด ลงโทษหรือแม้แต่เรียกร้องค่าเสียหายจากความผิดพลาดของแพลตฟอร์มดังกล่าวได้ เนื่องจากรัฐบาลไทยไม่เคยให้ความสำคัญกับ ‘อธิปไตยไซเบอร์’

ทั้งนี้ สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ได้ให้นิยามคำว่า อธิปไตยไซเบอร์ (Digital Sovereignty) ว่าหมายถึง 'การมีความสามารถในการกำหนดชะตากรรมด้านดิจิทัลด้วยตัวของเราเอง ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล ฮาร์ดแวร์ หรือซอฟต์แวร์ที่เราสร้างหรือใช้งานอยู่' ตนจึงอยากตั้งคำถามไปยังรัฐบาลว่าตอนนี้ประเทศไทยสามารถกำหนดชะตากรรมทางดิจิทัลอะไรได้บ้าง? เพราะแพลตฟอร์มที่คนไทยใช้ในปัจจุบัน ล้วนแล้วแต่เป็นของต่างชาติ ที่กฎหมายไทยควบคุมได้น้อยมากหรือแทบไม่ได้เลย และกรณีที่แพลตฟอร์มล่มในลักษณะนี้ก็ไม่ใช่ครั้งแรก และไม่สามารถลงโทษหรือเรียกร้องค่าเสียหายจากใครได้เลย 

ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย ทั้ง ๆ ที่ จากสถิติ คนไทยใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ติดอันดับต้น ๆ ของโลกมาตลอด แต่ประเทศกลับไม่มีมีอำนาจต่อรองกับแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างชาติได้มากเท่าที่ควร ไม่สามารถควบคุมและกำกับดูแลมาตรฐานของการให้บริการของแพลตฟอร์มเหล่านี้ได้ และปล่อยให้แพลตฟอร์มเหล่านี้กอบโกยประโยชน์ที่ประชาชนชาวไทยควรจะได้กลับประเทศแม่ไปหมด 

ตนจึงเสนอให้รัฐบาลเร่งสร้างอธิปไตยทางไซเบอร์ ออกแบบมาตรการทางกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมมาตรฐานการให้บริการของแพลตฟอร์มต่างชาติเหล่านี้ รวมทั้งสนับสนุนแพลตฟอร์มที่สร้างและดำเนินการโดยคนไทย ให้เป็นแพลตฟอร์มใหญ่ที่สามารถแข่งขันกับต่างชาติได้ เพื่อที่ประโยชน์จากกิจกรรมทางไซเบอร์เหล่านี้จะตกอยู่กับพี่น้องคนไทย เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจในระยะยาวของประเทศต่อไป