Wednesday, 9 April 2025
นิด้า

ส่องคนดังเรียนโครงการ DAD รุ่นที่ 8 หลักสูตรสำหรับ 'ผู้บริหารยุคดิจิทัล' จาก NIDA

เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 66 ‘หนุ่มโตโน่’ ภาคิน คำวิลัยศักดิ์ เข้ารับใบประกาศนียบัตรสำเร็จหลักสูตรของโครงการ Development Administrator in Digital Era (DAD) ของ NIDA (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์) รุ่นที่ 8 ซึ่งก่อนหน้านั้น ‘หนุ่มโตโน่’ ก็ได้โพสต์ไอจีส่งการบ้านของกลุ่ม DeFi ที่สนับสนุนแอปพลิเคชัน ‘YoldYeah’ แอปที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้สูงอายุจากทั่วโลก มาท่องเที่ยวในเมืองไทยได้ง่ายและสบายที่สุด

สำหรับหลักสูตร ของโครงการ Development Administrator in Digital Era (DAD) ของ NIDA เป็นหลักสูตรสำหรับ ‘ผู้บริหารรุ่นใหม่’ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ที่ต้องการเพิ่มพูนความรู้ มุมมองใหม่ ทักษะและความสามารถเชิงพฤติกรรมผ่านการถ่ายทอดจากกูรูชั้นนำระดับประเทศจากทุกวงการ เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารและพัฒนาองค์กรในยุค Digital Transformation อีกทั้งยังพัฒนาทักษะที่สำคัญในยุค Digital ผ่านการร่วมกิจกรรม Design Think Workshop ที่ช่วยให้เข้าใจถึงแนวทางพื้นฐานในการแก้ปัญหาในองค์กร และกิจกรรม Bootcamp ที่ผู้เข้าอบรมจะได้นำความรู้จากกลุ่มวิชาต่าง ๆ มาลงมือปฏิบัติงานจริง ตลอดจนกิจกรรมต่าง ๆ ที่ช่วยสร้างเครือข่ายผู้เข้าอบรมต่อไปในอนาคต

และเรื่องที่น่าสนใจคือ ในบรรดาผู้เรียนหลักสูตร DAD รุ่นที่ 8 นี้ ก็มี ‘คนดัง’ จากวงการบันเทิง และ ‘นักการเมืองชื่อดัง’ ที่ผันตัวไปทำธุรกิจและเป็นผู้บริหาร ร่วมเข้าเรียนด้วย วันนี้ THE STATES TIMES จึงถือโอกาสรวบรวม โฉมหน้า ‘คนดัง’ ที่ได้เรียนรุ่นเดียวกับหนุ่มโตโน่ บอกเลยว่า ‘เด่นๆ ดังๆ’ กันทั้งนั้น เชื่อว่าลูกเพจ THE STATES TIMES ต้องรู้จักเป็นแน่!!

ขอเริ่มจากกลุ่มแรก ชื่อกลุ่ม XR มี 2 คนดังคือ ‘คุณกิ๊ฟท์ ธิติญา นพพงษากิจ’ ปัจจุบันเป็น CR&CC Manager บริษัทโตโยต้ากรุงเทพยนต์ ผู้จัดจำหน่ายโตโยต้าจำกัด ซึ่งในอดีตเป็นสมาชิกเกิร์ลกรุ๊ปชื่อดังของไทยอย่างวง ที-สเกิ๊ต มีผลงานเพลงเด่น ๆ ก็คือ เพลงเจ็บแทนได้ไหม ไม่เท่าไหร่ เป็นต้น

คนต่อมาคือคุณปู หรือ ดร.ดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย กรรมการผู้จัดการบริษัท ดิ เอ็กซ์ โซลูชั่นส์ จำกัด เดิมทีรับตำแหน่งรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ สำหรับใครที่ตามข่าวการเมืองบ่อย ๆ ก็จะคุ้นหน้าตากันดี

กลุ่มที่ 2 ชื่อกลุ่ม QUANTUM ต้องขอบอกเลยว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีคนดังอยู่เยอะที่สุด คนแรกของกลุ่มคือ คุณญาดา เทพนม ปัจจุบันเป็น Account Executive Spark Communication Company Limited และเป็นผู้รับตำแหน่งมิสแกรนด์ไทยแลนด์ 2013 ถือเป็นมิสแกรนด์ไทยแลนด์คนแรกของประเทศไทย

คนต่อมาคือ คุณนุ่น ดารัณ บุญยศักดิ์ เจ้าของกิจการบริษัท จอย ออฟ ไทยไลฟ์ จำกัด อดีตนักแสดงมากฝีมือและเป็นพี่สาวของเฌอมาลย์ บุญยศักดิ์ มีผลงานเด่นดังหลายเรื่อง เช่น ละครเงาราหู (2538) ละครทรายสีเพลิง (2539) ละครคมพยาบาท (2557)

คนถัดมาคือ คุณวิน เมธวิน อังคทะวานิช ปัจจุบันเป็น CEO Rabbit Moon Corportion Limited หากใครเติบโตในยุค 90 ก็จะคุ้นหน้าและคุ้นเสียงกันดีเพราะเป็นเจ้าของเพลงดังอย่าง เพลงนางฟ้า

คนต่อมาคือ คุณเอ๋ หรือ ดร.อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ปัจจุบันเป็นนักการเมือง อดีตเคยเป็นเลขาธิการพรรคกล้า มุ่งเน้นแก้ไขปัญหาในสังคมหลากหลายเรื่อง

คนสุดท้ายของกลุ่มนี้คือคุณบลู หรือ ผศ.ดร.ศักย์ ทับพลี (ชื่อเดิม เอราวัณ) วิทยากร / อาจารย์พิเศษ นอกจากนี้ยังเป็นเหรัญญิกและผู้อำนวยการพรรคกล้าอีกด้วย

กลุ่มที่ 3 ชื่อกลุ่ม ROBOTICS กลุ่มนี้มีคนดังคือคุณฟ้า อิงฟ้า เกตุคำ นักแสดงบริษัทกรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด หรือช่อง 7 HD มีผลงานฝากแฟน ๆ ละครหลายเรื่อง เช่น สายโลหิต (2561) สารวัตรใหญ่ (2562) ลมพัดผ่านดาว (2566) และปีหน้า (2567) จะมีละครสองทระนง ออนแอร์ให้แฟน ๆ รับชมด้วย

ต่อมากลุ่มที่ 4 ชื่อกลุ่ม DEFI คนดังในกลุ่มนี้ก็คือ โตโน่ ภาคิน คำวิลัยศักดิ์ นักร้องนักแสดง บริษัท เอ็กแซ็กท์ ซีเนรีโอ จำกัด จะคุ้นหน้าตาจากการประกวดร้องเพลงรายการเดอะสตาร์ 6 และกิจกรรมเพื่อสังคมอย่าง ‘One Man and The River’ ว่ายน้ำข้ามโขง หาเงินสมทบทุนสร้างโรงพยาบาลในไทยและ สปป.ลาว

และกลุ่มสุดท้าย กลุ่มที่ 5 ชื่อกลุ่ม AGI กลุ่มนี้ก็มีคนดังเช่นกัน ได้แก่ คุณณัช ณัชชาวีล์ วาณิชย์สุรางค์ พิธีกรและผู้ดำเนินรายการ Thailand News Network หรือที่รู้จักในนาม TNN ช่อง 16 นั่นเอง

เป็นอย่างไรกันบ้าง ‘คนดัง’ เพื่อนร่วมรุ่นของหนุ่มโตโน่แต่ละคนดีกรีไม่ธรรมดากันเลย นอกจากสวย หล่อ มีความรู้ความสามารถแล้ว ยังเป็นตัวอย่างของคนใฝ่เรียนรู้และพัฒนาตัวเองอีกด้วย

สำหรับใครอยากรับชมผลงานของทั้ง 5 กลุ่มจากโครงการ Development Administrator in Digital Era (DAD) ของ NIDA (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์) รุ่นที่ 8 ก็สามารถรับชมได้ตามลิงก์นี้เลย

📌 กลุ่ม DEFI (ได้คะแนนมากเป็นอันดับ 1 ของรุ่นที่ 8👏)
ท่องเที่ยวไทยสุดเจ๋ง! โตโน่ดันแอป ‘YoldYeah’
https://youtu.be/TV5mHgmUBsI?feature=shared

📌 กลุ่ม AGI 
‘Kiddee’ แอปช่วยให้เด็กรู้เวลา มีสมาธิ มีวินัย มีมารยาท รู้ว่าเวลาไหนควรเรียน เวลาไหนควรเล่น
https://youtu.be/CAqO7Xmq90s?feature=shared

📌 กลุ่ม QUANTUM
แปลงน้ำมันที่เหลือจากการประกอบอาหารเป็นเงินได้แถมยังมีคนไปรับถึงบ้านกับแอป ‘GetOil’
https://youtu.be/buMYwdztsX4?feature=shared

📌 กลุ่ม ROBOTICS
แค่กล้า = เปลี่ยน บอกลาความกลัว แล้วกล้าไปกับเรา ‘สูงวัย..อะกล้า’
https://youtu.be/mlj6Giw9gnQ?feature=shared

📌 กลุ่ม XR
‘Finfriend’ AI อัจฉริยะที่จะช่วยตอบทุกปัญหาทางการเงินที่คุณสงสัย
https://youtu.be/HhbPfVExong?feature=shared

ส่วนแฟนเพจคนไหนสนใจเรียนหลักสูตรโครงการ Development Administrator in Digital Era (DAD) ของ NIDA (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์) รุ่นที่ 9 ทางโครงการก็เตรียมเปิดรับสมัครในปีหน้า (2567) หากไม่อยากพลาดก็สามารถเข้าไปดูได้ที่ https://nida.ac.th/course/development-administrator-digital-era/ หรือติดตามแฟนเพจ https://www.facebook.com/dadgspanida ได้เลย 

‘โพลนิด้า’ เปิดผลสำรวจ ปชช.ต่อภาพรวมกรณีของ ‘ทักษิณ’ ชี้!! ร้อยละ 39.62 มองว่าไม่ส่งผลต่อความอยู่รอดของรัฐบาล

(21 ม.ค. 67) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น ‘นิด้าโพล’ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง ‘กรณีทักษิณ ชินวัตร กับความอยู่รอดของรัฐบาล’ ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 15-17 มกราคม 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง

จากการสำรวจเมื่อถามถึงความอยู่รอดของรัฐบาล จากกรณีทักษิณ ชินวัตร ยังคงรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 39.62 ระบุว่า ไม่ส่งผลกระทบต่อความอยู่รอดของรัฐบาลเลย

รองลงมา ร้อยละ 21.98 ระบุว่า ค่อนข้างส่งผลกระทบต่อความอยู่รอดของรัฐบาล ร้อยละ 18.70 ระบุว่า ไม่ค่อยส่งผลกระทบต่อความอยู่รอดของรัฐบาล ร้อยละ 15.42 ระบุว่า ส่งผลกระทบต่อความอยู่รอดของรัฐบาลอย่างมาก และร้อยละ 4.28 ระบุว่า เฉย ๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ท้ายที่สุดเมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนต่อการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้ส่งตัวทักษิณ ชินวัตร กลับเข้าเรือนจำ จะลุกลามจนนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองรอบใหม่เหมือนการชุมนุมของเสื้อเหลือง เสื้อแดง และ กปปส. ในอดีต พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 41.60 ระบุว่า จะไม่นำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองรอบใหม่แน่นอน

รองลงมา ร้อยละ 41.30 ระบุว่า จะนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองรอบใหม่ แต่ไม่ใหญ่โตเหมือนในอดีต ร้อยละ 11.15 ระบุว่า จะนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองรอบใหม่เหมือนในอดีตแน่นอน และร้อยละ 5.95 ระบุว่า เฉย ๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

‘ดร.อานนท์’ เตือนต้องสอนให้เด็ก รู้จริงก่อนวิพากษ์ มิเช่นนั้นจะสับสนระหว่าง ข้อเท็จจริง-การเดามั่ว

(9 มี.ค.67) ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เกี่ยวกับระบบการศึกษาของไทย โดยได้ระบุว่า...

ผมว่าสังคมไทยกำลังเดินมาผิดทางมาก 

โดยเฉพาะการศึกษาที่เน้นให้แสดงความคิดเห็นกันมากเหลือเกิน แทนที่จะสอนให้แสวงหาความรู้ที่ถูกต้องแม่นยำ การแสดงความเห็นเป็นของดีแต่ต้องมีความรู้แม่นยำก่อน ผมจะแสดงความเห็นเรื่องใดก็ตาม ผมต้องศึกษาจนมีความรู้ในเรื่องนั้นอย่างทะลุปรุโปร่งก่อน จึงจะกล้าแสดงความเห็น 

ผมคิดว่าการแสดงความเห็นเรื่อยเจื้อยโดยปราศจากหลักฐานหรือการวิพากษ์ความเห็นนั้น 
เราจะต้องถามกันเลยว่า 
What do you mean? 
How do you know? 
Is it true? 
Can it be explained otherwise? 

คือผมสอนหนังสือผมก็ให้เด็กแสดงความเห็นนะครับ แต่ต้องมีความรู้ก่อน แล้วผมก็ใช้ dialectical method ไล่บี้ถามไปจนสุดทางว่าความเห็นเหล่านี้มีที่มาอย่างไร อะไรทำนองนี้ 

ปัญหาคือสังคมแข่งกันแสดงความเห็น แล้วเข้าใจว่าความเห็นคือความรู้ แล้วแยกไม่ออกระหว่าง Facts กับ Conjectures 

อืม บ่นยาวเป็น Epistemology กันทีเดียวครับ หงุดหงิดทาสทองมิวสิคครับ ผมว่าสังคมมันเพี้ยนครับ

'ดร.อานนท์' สรุป!! วิวาทะประชาธิปไตย 'ส.ศิวรักษ์-ศ.ดร.ไชยันต์' เปี่ยมด้วยตรรกะ ภายใต้ท่าทีอ่อนน้อม ไร้ซึ่งการแถ-ตีแสกหน้า

(5 พ.ค.67) ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...

อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ วิจารณ์ แอนิเมชั่น 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ แบบไม่มีเชิงอรรถอ้างอิง ส่วนใหญ่เป็นความเห็นส่วนตัวของอาจารย์สุลักษณ์เอง พอ ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร ไปยืนยันด้วยเอกสารหลักฐานอ้างอิงจำนวนมากอย่างแน่นหนัก 

ข้อดีของอาจารย์สุลักษณ์คือ ไม่แถต่อ ยอมรับว่าไม่เคยอ่านหลักฐานหรือไม่มีเอกสารอ้างอิงใดๆ เป็นความเห็นส่วนตัวล้วนๆ เป็นจำนวนมาก 

หรือหากเถียงด้วยตรรกะไม่ได้ อาจารย์สุลักษณ์ก็ไม่ได้พยายามแถต่อไป

ข้อดีของอาจารย์ไชยันต์ คือ การถกเถียงโต้แย้งด้วยท่าทีอันอ่อนน้อมแต่หนักแน่นด้วยหลักฐาน อาจารย์ไชยันต์ไม่ได้เถียงอย่างก้าวร้าว ไม่เหยียบซ้ำอาจารย์สุลักษณ์ ไม่ไล่ต้อนอาจารย์สุลักษณ์ อาจารย์ไชยันต์ ไม่ได้เหยียบ อาจารย์สุลักษณ์จนราบเป็นหน้ากลอง ทั้งๆ ที่อาจจะทำได้ แต่อาจารย์ไชยันต์ก็ไม่ได้ทำ 

เช่นนี้ผู้ชมอาจจะไม่สะใจ แต่สำหรับผู้ชมที่มีการศึกษาและมีใจเป็นกลางน่าจะชอบครับ 

ผมดูแล้วสนุกมากครับ บันเทิงและประเทืองปัญญาโดยแท้ ดูจากลิงค์ในคอมเมนต์แรกครับ

ในฐานะที่อานนท์เคยเป็นแฟนคลับอาจารย์สุลักษณ์มาก่อน ผมชอบวิธีของอาจารย์ไชยันต์มากนะครับ แต่ผมไม่แน่ใจว่าถ้าเป็นผมไปพบอาจารย์สุลักษณ์เองผมจะมีท่าทีหรือวิธีการที่อ่อนน้อมถ่อมตนเท่าอาจารย์ไชยันต์หรือไม่ เพราะผมเป็นคนพูดตรงๆ แบบเรียบๆ แต่ตีแสกหน้าเสมอ หรือไม่ก็จะถามกลับด้วยคำถามที่ใครเจอเข้าไปก็หงายหลัง ผมเลยคิดว่าอาจารย์ไชยันต์ทำได้ดีมากครับ ขอชมเชยจากใจว่าหนักแน่นในเนื้อหา อ่อนน้อมในท่าที

ชมคลิป >> https://youtu.be/mOiOMpW3Ny0?si=RSIX4E82ATX-Guc8

'อ.นิด้า' ยกข้อความ 'รศ.ดร.เสรี' ไม่ควรกล่าวหาโยนความผิดให้บริษัทใด ชี้!! ทุกรายใหญ่ในปัจจุบัน ต้องเข้มในสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมอยู่แล้ว

(17 ก.ค.67) ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก อ้างอิงคำกล่าวของ รศ.ดร.เสรี วงษ์มณฑา เกี่ยวกับปมปลาหมอคางดำแพร่กระจาย ระบุว่า...

ไม่มีหลักฐานใด ๆ ทำไมจึงไปกล่าวหาโยนความผิดให้บริษัทที่เขายืนยันการทำงานด้วยความรับผิดชอบของใคร

บางทีคนบางคนอาจจะต้องตั้งคำถามตัวเองนะว่าทำไมจึงมีแนวโน้มที่มักจะมีอคติกับบริษัทยักษ์ใหญ่หลาย ๆ เรื่อง

เวลามีปัญหาสังคมเกิดขึ้น จะกล่าวหาบริษัทยักษ์ใหญ่ทันทีว่าเป็นต้นตอของปัญหาทั้งๆ ที่ยังไม่มีหลักฐานใด ๆ

บริษัทยักษ์ใหญ่แทบทุกบริษัทเขามีสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility) ทำประโยชน์กับสังคม

แทบทุกบริษัทดำเนินงานตามหลัก ESG คือ Environment, Society, และ Governance เป็นองค์กรเพื่อสังคม (Social Enterprise)

ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ใส่ใจสังคม และมีธรรมาภิบาล

‘นิด้าโพล’ เผยผลสำรวจ!! ผู้สูงอายุรับเงินสด 10,000 บาท ชี้!! มีแนวโน้ม ทำให้สนับสนุนรัฐบาล เกือบ 45%

(9 ก.พ. 68) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น ‘นิด้าโพล’ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจ ของประชาชน เรื่อง ‘ผู้สูงอายุรับเงินสด 10,000 บาทแล้วจะสนับสนุนรัฐบาลไหม’ ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 3-5 กุมภาพันธ์ 2568 จากประชาชนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่ทั้งตนเอง และ/หรือคนในครอบครัว ที่ได้รับเงิน 10,000 บาท จากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านผู้สูงอายุ กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการได้รับเงินสด 10,000 บาท จากรัฐบาล การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ ‘นิด้าโพล’ สุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนด
ค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0

จากการสำรวจเมื่อถามถึงการนำเงินไปใช้จ่ายของผู้ที่ได้รับเงิน 10,000 บาท ไม่ว่าจะเป็นตนเอง และ/หรือ คนในครอบครัวที่ได้รับเงินจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านผู้สูงอายุ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 86.18 ระบุว่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน (รวมค่าน้ำ ค่าไฟ น้ำมันเชื้อเพลิง) รองลงมา ร้อยละ 26.26 ระบุว่า ใช้จ่ายเพื่อสุขภาพ (เช่น ซื้อยารักษาโรค หาหมอ) ร้อยละ 13.66 ระบุว่า ใช้หนี้ ร้อยละ 11.98 ระบุว่า เก็บออมไว้สำหรับอนาคต ร้อยละ 9.24 ระบุว่า ใช้ลงทุนการค้า ร้อยละ 8.70 ระบุว่า ใช้จ่ายเพื่อการศึกษา ร้อยละ 4.35 ระบุว่า ใช้ซื้อหวย สลากกินแบ่งรัฐบาล ร้อยละ 1.76 ระบุว่า ใช้ซื้ออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ร้อยละ 0.53 ระบุว่า ใช้ซื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มือถือ และเครื่องมือสื่อสาร ร้อยละ 0.46 ระบุว่า ใช้จ่ายเพื่อการเดินทางท่องเที่ยว และร้อยละ 0.38 ระบุว่า ใช้จ่ายเพื่อการบันเทิง (เช่น เลี้ยงสังสรรค์ ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ เป็นต้น)

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงการสนับสนุนรัฐบาลของผู้ที่ได้รับเงิน 10,000 บาท ไม่ว่าจะเป็นตนเอง และ/หรือ คนในครอบครัวที่ได้รับผลประโยชน์จากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านผู้สูงอายุ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 44.89 ระบุว่ามีส่วนทำให้สนับสนุนรัฐบาล รองลงมา ร้อยละ 30.69 ระบุว่า จะมีหรือไม่มีโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็สนับสนุนรัฐบาลอยู่แล้ว ร้อยละ 14.35 ระบุว่า ไม่ว่าอย่างไรก็ไม่สนับสนุนรัฐบาล และร้อยละ 10.07 ระบุว่า ยังไม่แน่ใจว่าจะตัดสินใจอย่างไร 

‘ดร.อานนท์’ เสนอ ‘นิด้า’ วิทยาเขตสีคิ้ว ควรเปิด ป.ตรี ‘พยาบาลศาสตร์’ ควบ ป.โท สาขาอื่น ชี้! มีทรัพยากรบุคคลพร้อมสอนไม่ต้องหาใหม่

(18 มี.ค. 68) ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Arnond Sakworawich ว่า 

ผมมาลองคิดดูแล้ว นิด้าที่วิทยาเขตสีคิ้ว ควรเปิดหลักสูตรปริญญาตรีควบโทห้าปีป ตรี ให้เป็นสาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ ป โท ให้เลือกเรียนโทสาขาอื่น ในนิด้า เอง 

หนึ่ง นิด้ามีความจำเป็นต้องเปิดสอนระดับปริญญาตรี เพราะนิด้าไม่มี feeder ก็เลยฝืด มีปัญหานักศึกษาลดลง เนื่องจากมหาวิทยาลัยอื่น ต่างก็เปิดปริญญาโท-เอก กันเองหมดแล้ว ไม่เหมือนเมื่อก่อตั้งนิด้า เปิดสอนโท-เอก แทบจะเป็นที่เดียวในประเทศไทย

สอง ประเทศไทย ขาดแคลนพยาบาลรุนแรงมากที่สุดในเวลานี้ มีการตกเขียว โดยให้ทุนระดับปริญญาตรี ตั้งแต่ปีหนึ่ง กับนักเรียนพยาบาล โดยโรงพยาบาลเอกชนกันมากมาย ยิ่งประเทศไทยก้าวเข้าสู่ super-aged society สูงอายุเต็มขั้นแล้ว พยาบาลยิ่งจะขาดแคลนหนักมาก

ดังนั้นถ้านิด้า จะเปิดสอน ป. ตรี ก็ควรเปิดสอนในสาขาที่ประเทศไทยขาดแคลนจริง ๆ และควรเป็นหลักสูตรตรีควบโทไปเลย 

ป ตรี พยาบาล จะเรียน ป โท ทางรัฐประศาสนศาสตร์ สถิติประยุกต์ บริหารธุรกิจ พัฒนาสังคม พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ นิติศาสตร์ ก็เป็นประโยชน์ทั้งนั้นต่อวิชาชีพพยาบาล นิด้าน่าจะสร้างพยาบาลที่รู้รอบได้ และตอบโจทย์ของประเทศ เพราะงานพยาบาลไทย ไม่ได้ทำงานหน้าเดียว ทำแม้แต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ

ไม่ต้องอื่นไกล บริษัทประกันภัยและประกันชีวิต ชอบแย่งพยาบาลออกมาจากระบบสาธารณสุข เพราะประกันชีวิตกับประกันสุขภาพ ต้องใช้คนมีความรู้ทางการแพทย์การพยาบาล พยาบาลไทย ปรับตัวเก่ง เรียนรู้เองได้ ออกมาอยู่บริษัทประกันภัยกันเยอะมาก แทบจะเดินชนกันตายแถวถนนรัชดาภิเษก 

ทำไม ไม่มาเรียนปริญญาโททางวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยงกันไปเลย จะได้เอาไปทำงานต่อยอดได้เลยทันที

สาม นิด้ามีอาจารย์ที่จบปริญญาตรี เป็นพยาบาลวิชาชีพมาก่อนเป็นจำนวนมากพอสมควร ไม่เอ่ยชื่อดีกว่า เดี๋ยวเจ้าตัวเขาจะรู้ตัว จึงเริ่มต้นได้ไม่ยากนัก Ratipon Tungfung Nanta Soo 

สี่ สีคิ้ว เป็นวิทยาเขต มีสถานที่กว้างขวาง สำหรับห้องเรียนและหอพักพยาบาลได้อย่างสะดวกสบาย มาก แต่ต้องหาโรงพยาบาลให้นักศึกษาพยาบาลระดับปริญญาตรีได้ฝึกงาน ซึ่งโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในภาคอีสานนั้นมีเป็นจำนวนมาก เช่น โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น โรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ฯลฯ น่าจะสอนพอแสวงหาความร่วมมือได้ครับ

ปัญหาใหญ่มีอยู่ประการเดียว คือ พรบ. นิด้า ที่เขียนล็อคตัวเองไว้ ว่าเปิดสอนเฉพาะบัณฑิตศึกษา 

เมื่อตอนนิด้า ออกนอกระบบ อานนท์ ได้ทักท้วงประเด็นนี้ไว้ว่า สถาบันวิชาการชั้นสูงตามพระราชดำริ ไม่ได้แปลว่าสอนปริญญาตรีไม่ได้ และปริญญาตรีก็สอนวิชาชั้นสูงได้ ถ้าจะสอนให้ดี

วิชาชีพพยาบาลก็เป็นวิชาชีพชั้นสูงครับ จำเป็นสำหรับบ้านเมืองอย่างยิ่ง 
สร้างบ้าน ต้องมีทางหนีไฟ ไม่ใช่เขียนล็อคตัวเองไว้
ผ่านมาห้าหกปี สถานการณ์จะบังคับเองครับ 
คงมีความจำเป็นต้องแก้ไข พรบ.


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top