Monday, 21 April 2025
นักวิทยาศาสตร์ไทย

ไทยหน้าบาน!! จีนเลือกอุปกรณ์นักวิทย์ฯ ไทย ติดยาน 'ฉางเอ๋อ 7' ลุยสำรวจดวงจันทร์ปี 69

(16 ต.ค. 66) คณะกรรมการวิทยาศาสตร์ฝ่ายจีนในโครงการฉางเอ๋อ 7 ได้คัดเลือก ‘อุปกรณ์สำรวจสภาพอวกาศระหว่างโลกและดวงจันทร์ ตรวจวัดรังสีคอสมิก และติดตามผลกระทบที่มีต่อโลก’ (Sino-Thai Sensor Package for Space Weather Global Monitoring) เป็น 1 ใน 7 อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ที่จะติดตั้งไปกับอวกาศยานฉางเอ๋อ 7

เครื่องมือดังกล่าวมีน้ำหนัก 3 กิโลกรัม ติดตั้งเซ็นเซอร์แม่เหล็กซึ่งจะพุ่งเป้าลงไปยังดวงจันทร์เพื่อตรวจสอบสนามแม่เหล็ก และส่งการแจ้งเตือนเหตุการณ์สภาพอากาศในอวกาศ เช่น พายุสุริยะ ไปยังโลก ในขณะที่เครื่องตรวจจับอีกชิ้นหนึ่งที่จะตรวจวัดรังสีคอสมิกพลังงานต่ำในช่วงพลังงานที่ไม่เคยมีการตรวจสอบอย่างต่อเนื่องมาก่อน

รายงานระบุว่า อุปกรณ์ดังกล่าวได้รับการพัฒนาร่วมกัน นำโดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) และมหาวิทยาลัยมหิดลภายใต้กรอบความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการสำรวจอวกาศเชิงลึก ภายใต้โครงการสถานีวิจัยดวงจันทร์นานาชาติ (International Lunar Research Station)

ปัจจุบัน ทีมวิจัยของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยมหิดลกำลังทำงานร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์อวกาศแห่งชาติในกรุงปักกิ่งเพื่อปรับแต่งการออกแบบเชิงวิศวกรรมโดยละเอียด

ตามแผนโครงการสำรวจดวงจันทร์ระยะที่ 4 ยานอวกาศฉางเอ๋อ-7 จะทำการสำรวจภูมิประเทศขั้วใต้ของดวงจันทร์ รวมทั้งองค์ประกอบของทางกายภาพ และสภาพแวดล้อมในอวกาศ ตั้งเป้าเปิดตัวในปี 2569 เพื่อปูทางสำหรับการก่อสร้างสถานีวิจัยดวงจันทร์นานาชาติ (ILRS) ซึ่งเป็นฐานที่จีนและพันธมิตรระหว่างประเทศจะสร้างบนดวงจันทร์เพื่อการสำรวจทางวิทยาศาสตร์และการใช้ทรัพยากรในช่วงปี 2573

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2566 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการสำรวจอวกาศเชิงลึก (Deep Space Exploration Laboratory : DSEL) องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (China National Space Adminnistration: CNSA) ได้ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการสำรวจอวกาศเชิงลึก ภายใต้โครงการสถานีวิจัยดวงจันทร์นานาชาติ เพื่อร่วมกันออกแบบและพัฒนาระบบอุปกรณ์ปฏิบัติภารกิจอวกาศ ดาวเทียมวิจัยวิทยาศาสตร์ และอุปกรณ์วิทยาศาสตร์สนับสนุนอื่น ๆ รวมถึงแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และทักษะเชิงวิจัย ด้านดาราศาสตร์ฟิสิกส์ และวิศวกรรมดาราศาสตร์เชิงลึก ครอบคลุมถึงการสำรวจอวกาศ สภาพอวกาศ วิทยาศาสตร์ข้อมูล และการพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูง

คนไทยปลื้ม!! นักวิทยาศาสตร์ไทย คว้ารางวัลระดับนานาชาติจากประเทศคูเวต ผลงาน!! นวัตกรรมด้านการทำความสะอาดฆ่าเชื้อในรถบริการการแพทย์ฉุกเฉิน

(29 ส.ค. 67) จากเพจ 'Thailand FACT Today' ได้โพสต์ข้อความระบุว่า...

ล่าสุด นางสาวพรรัตน์ ไชยมงคล นักวิทยาศาสตร์ กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวง อว.

นำผลงาน 'นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ด้านการทำความสะอาดฆ่าเชื้อในรถบริการการแพทย์ฉุกเฉิน'

เข้าร่วมประกวดผลงานนวัตกรรมในงาน International Exhibition of Inventions in the Middle East ณ ประเทศคูเวต ซึ่งจัดโดย Kuwait Science Club ในพระอุปถัมภ์ของเจ้าผู้ครองรัฐคูเวต 

และได้รับรางวัลระดับนานาชาติ เป็นผลงานการวิจัยและพัฒนาร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์

นวัตกรรมดังกล่าวใช้กระบวนการ Advanced Oxidation Process ในการฆ่าเชื้อโรคทั้งในพื้นผิวและอากาศภายในรถบริการการแพทย์ฉุกเฉิน

ประกอบด้วย 2 Model ได้แก่ Model สำหรับติดตั้งในสถานีรถพยาบาล จะใช้งานเมื่อรถพยาบาลออกไปให้บริการผู้ป่วยและกลับมาทำความสะอาดฆ่าเชื้อที่ Station และ Portable Model สำหรับติดตั้งในรถพยาบาลกรณีที่ไม่สามารถกลับเข้าทำความสะอาดที่สถานีได้ และมีประโยชน์อย่างยิ่งในสถานการณ์โรคระบาดรุนแรงและสถานการณ์ปกติ 

เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่บุคลากรและผู้ป่วย ที่อาจสัมผัสเชื้อโรคได้ สำหรับตัวเครื่องใช้แบตเตอรีและสามารถชาร์จไฟจากรถพยาบาลได้

โดยทั้ง 2 Model ทำการฆ่าเชื้อแบบอัตโนมัติ สามารถสั่งงานผ่าน Remote หรือ Applications โดยไม่ต้องใช้คนเข้าไปทำความสะอาดฆ่าเชื้อ

ทั้งนี้ ผลงานฯ ดังกล่าว ได้ส่งมอบเพื่อนำร่องใช้งานจริงในรถบริการการแพทย์ฉุกเฉินใน 3 พื้นที่ ได้แก่ ปทุมธานี, แหลมฉบัง, ชลบุรี, สมุทรปราการ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อให้แก่เจ้าหน้าที่และผู้ป่วย และเป็นการร่วมผลักดันบูรณาการระหว่างองค์กรด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม เพื่อให้เกิดการพัฒนาต่อยอดระบบฆ่าเชื้อที่สามารถติดตั้งในรถบริการการแพทย์ฉุกเฉินและสามารถขยายการใช้งานนวัตกรรมทั่วประเทศต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top