ไทยหน้าบาน!! จีนเลือกอุปกรณ์นักวิทย์ฯ ไทย ติดยาน 'ฉางเอ๋อ 7' ลุยสำรวจดวงจันทร์ปี 69

(16 ต.ค. 66) คณะกรรมการวิทยาศาสตร์ฝ่ายจีนในโครงการฉางเอ๋อ 7 ได้คัดเลือก ‘อุปกรณ์สำรวจสภาพอวกาศระหว่างโลกและดวงจันทร์ ตรวจวัดรังสีคอสมิก และติดตามผลกระทบที่มีต่อโลก’ (Sino-Thai Sensor Package for Space Weather Global Monitoring) เป็น 1 ใน 7 อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ที่จะติดตั้งไปกับอวกาศยานฉางเอ๋อ 7

เครื่องมือดังกล่าวมีน้ำหนัก 3 กิโลกรัม ติดตั้งเซ็นเซอร์แม่เหล็กซึ่งจะพุ่งเป้าลงไปยังดวงจันทร์เพื่อตรวจสอบสนามแม่เหล็ก และส่งการแจ้งเตือนเหตุการณ์สภาพอากาศในอวกาศ เช่น พายุสุริยะ ไปยังโลก ในขณะที่เครื่องตรวจจับอีกชิ้นหนึ่งที่จะตรวจวัดรังสีคอสมิกพลังงานต่ำในช่วงพลังงานที่ไม่เคยมีการตรวจสอบอย่างต่อเนื่องมาก่อน

รายงานระบุว่า อุปกรณ์ดังกล่าวได้รับการพัฒนาร่วมกัน นำโดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) และมหาวิทยาลัยมหิดลภายใต้กรอบความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการสำรวจอวกาศเชิงลึก ภายใต้โครงการสถานีวิจัยดวงจันทร์นานาชาติ (International Lunar Research Station)

ปัจจุบัน ทีมวิจัยของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยมหิดลกำลังทำงานร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์อวกาศแห่งชาติในกรุงปักกิ่งเพื่อปรับแต่งการออกแบบเชิงวิศวกรรมโดยละเอียด

ตามแผนโครงการสำรวจดวงจันทร์ระยะที่ 4 ยานอวกาศฉางเอ๋อ-7 จะทำการสำรวจภูมิประเทศขั้วใต้ของดวงจันทร์ รวมทั้งองค์ประกอบของทางกายภาพ และสภาพแวดล้อมในอวกาศ ตั้งเป้าเปิดตัวในปี 2569 เพื่อปูทางสำหรับการก่อสร้างสถานีวิจัยดวงจันทร์นานาชาติ (ILRS) ซึ่งเป็นฐานที่จีนและพันธมิตรระหว่างประเทศจะสร้างบนดวงจันทร์เพื่อการสำรวจทางวิทยาศาสตร์และการใช้ทรัพยากรในช่วงปี 2573

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2566 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการสำรวจอวกาศเชิงลึก (Deep Space Exploration Laboratory : DSEL) องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (China National Space Adminnistration: CNSA) ได้ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการสำรวจอวกาศเชิงลึก ภายใต้โครงการสถานีวิจัยดวงจันทร์นานาชาติ เพื่อร่วมกันออกแบบและพัฒนาระบบอุปกรณ์ปฏิบัติภารกิจอวกาศ ดาวเทียมวิจัยวิทยาศาสตร์ และอุปกรณ์วิทยาศาสตร์สนับสนุนอื่น ๆ รวมถึงแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และทักษะเชิงวิจัย ด้านดาราศาสตร์ฟิสิกส์ และวิศวกรรมดาราศาสตร์เชิงลึก ครอบคลุมถึงการสำรวจอวกาศ สภาพอวกาศ วิทยาศาสตร์ข้อมูล และการพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูง