Wednesday, 23 April 2025
นพดล_ปัทมะ

‘เพื่อไทย’ ชี้ เลือกตั้งครั้งหน้าวัดกันที่นโยบาย เชื่อปชช.จะเทเสียงให้พรรคที่พูดแล้วทำได้จริง

เพื่อไทย มองการเลือกตั้งครั้งหน้าแข่งกันที่นโยบายหาเสียง ว่าตอบโจทย์ประเทศหรือไม่ และความเชื่อถือของประชาชนว่าพรรคการเมืองใดพูดแล้วทำได้จริง เล็งเดินสายพบประชาชนทยอยปล่อยนโยบายสำคัญก่อนเลือกตั้ง

นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รองประธานกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่าการเลือกตั้งครั้งหน้านั้น ปัจจัยสำคัญที่ประชาชนจะตัดสินใจเลือกผู้สมัครและพรรคใด มีอยู่ 2 เรื่องสำคัญคือนโยบายของพรรคที่ตอบโจทย์ประเทศและของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และเรื่องที่สองคือความเชื่อใจว่าพรรคการเมืองนั้นทำได้อย่างที่พูด มีผลงาน ซึ่งพรรคเพื่อไทยตระหนักในข้อนี้ และให้ความสำคัญกับนโยบายที่จะตอบโจทย์ประเทศและทำให้ชีวิตคนไทยดีขึ้นให้ได้ ส่วนตัวเห็นว่า

1. ปัญหาสำคัญที่ควรได้รับการแก้ไขเร่งด่วนคือ 1. เรื่องปากท้อง 2. ความยากจน 3. ความเหลื่อมล้ำ และ 4. ความสามารถในการแข่งขันของประเทศซึ่งถดถอยลงไปมาก ถ้าไม่เร่งแก้ไข เราจะสู้เพื่อนบ้านไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทุนมนุษย์ เสน่ห์ดึงดูดการลงทุน เป็นต้น

‘นพดล ปัทมะ’ เผยหลังเลือกตั้งครั้งหน้า เพื่อไทยพร้อมเสนอแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 272 ชี้ ถึงเวลาคืนอำนาจให้ประชาชน ลั่นโหวตเลือกนายกฯต้องเป็นส.ส.ที่มีจากการเลือกตั้งเท่านั้น

นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ และรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมือง พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เป็นที่ชัดเจนว่านายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันสามารถเป็นนายกฯต่อไปได้จนถึงปี 2568 โดยส่วนตัวมองข้ามไปสู่การเลือกตั้งในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า อย่างช้าไม่เกินพฤษภาคม 2566 อำนาจก็จะกลับมาอยู่ในมือของประชาชนผ่านการกาบัตรเลือกตั้ง

ประเด็นคือประเทศไทยควรกำหนดกติการการเข้าสู่อำนาจของนายกรัฐมนตรี ในการเลือกตั้งครั้งหน้าอย่างไร ตนก้าวข้ามตัวบุคคล และก้าวเข้าสู่การมีระบบ มีกติกาที่เป็นประชาธิปไตย เป็นธรรมกับทุกพรรคการเมือง และกับทุกแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และสำคัญที่สุดคือการเคารพประชาชน 66 ล้านคนว่าเสียงของประชาชนมีความหมาย และมีส่วนกำหนดผู้จะไปเป็นฝ่ายบริหาร ตนเห็นว่าบทบัญญัติใดในรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นธรรม ไม่เป็นประชาธิปไตยควรได้รับการแก้ไข โดยควรแก้ไขมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญให้เฉพาะส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้นมีอำนาจโหวตนายกรัฐมนตรี

'นพดล' แจง!! สถานการณ์ตั้งรัฐบาลตอนนี้ไม่ง่าย ไม่ได้วิ่งอยู่ในทุ่งลาเวนเดอร์ แต่จะทำให้ดีที่สุด 

(7 ส.ค. 66) นายนพดล ปัทมะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงการเห็นชอบแคนดิเดตนายกฯพรรคเพื่อไทย ในการประชุมรัฐสภาครั้งต่อไป ว่า น่าจะเป็นไปอย่างเรียบร้อย ต้องให้เวลาตัวแทนพรรคที่ไปเจรจาหาเสียงตั้งรัฐบาล การล่าช้าออกไปไม่กี่วันคงไม่กระทบโรดแมปในการตั้งรัฐบาลเข้ามาขับเคลื่อนประเทศและแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

นายนพดล กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้สื่อและนักวิเคราะห์ถกเถียงกันว่าใครจะเป็นนายกฯ จะพลิกขั้วไหม แต่ที่พรรคเพื่อไทยกังวลคือปัญหาปากท้อง ราคาพลังงานสูงขึ้น รายได้ประชาชนหดหาย หนี้สินครัวเรือน ยาเสพติดระบาด ปัญหาภัยแล้งเอลนิโญ ปัญหาไทยเสียโอกาสในเวทีโลก เด็กหลุดจากระบบการศึกษา การจัดทำงบประมาณประทศ เป็นต้น พรรคคิดตลอดว่าทำอย่างไรจึงจะมีรัฐบาลมาแก้ปัญหาเหล่านี้ให้เร็วที่สุด เพราะเราเอาปัญหาประชาชนเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่ง่วนกับการตั้งรัฐบาลเพื่อมีอำนาจอย่างเดียว นอกจากนั้นนักธุรกิจ นักวิชาการหลายคนเห็นว่าควรมีรัฐบาลโดยเร็ว ทางเลือกที่ให้ทอดเวลาไปเกือบปีเพื่อให้ สว.หมดอำนาจโหวตนายกฯ แล้วค่อยให้สภาผู้แทนฯ โหวตนายกฯ น่าจะมีผลเสียมากกว่าผลดี

เมื่อถามว่า มีคนวิจารณ์ท่าทีเพื่อไทยมากมายในช่วงนี้ นายนพดล กล่าวว่า เราเคารพความเห็นต่าง สิ่งใดที่เป็นประโยชน์ก็นำมาคิดต่อ น่าเสียดายบางคนด่าล่วงหน้าไปแล้ว แต่ขอให้ความมั่นใจกับพี่น้องประชาชนว่าพรรคเพื่อไทยจะเลือกแนวทางที่ดีที่สุด สถานการณ์การตั้งรัฐบาลขณะนี้ไม่ใช่งานง่าย เราไม่ได้วิ่งอยู่ในทุ่งลาเวนเดอร์ แต่ต้องทบทวนสิ่งที่พรรคเพื่อไทยทำมา ส.ส.ของพรรคเห็นชอบโหวตให้คุณพิธาครบ 141 เสียง และโหวตไม่เห็นด้วยกับญัตติที่ไม่ให้เสนอชื่อคุณพิธาเป็นครั้งที่ 2 ครบ 141 เสียง พรรคไม่ได้บิดพลิ้วเลย หลังจากที่พรรคก้าวไกลตั้งรัฐบาลไม่ได้ ก็ส่งไม้ต่อให้พรรคเพื่อไทย ซึ่งเราก็ต้องพยายามหาเสียงให้ครบ 375 เสียง ขณะนี้ก็ต้องดำเนินการขอเสียงสนับสนุน

"ผมขอความเป็นธรรมให้พรรคเพื่อไทยด้วยว่า พรรคไม่ได้มีทางเลือกมากมาย แต่จะพยายามทำให้ดีที่สุด โดยยึดมั่นประโยชน์ของประเทศและประชาชนมาก่อนประโยชน์พรรค" นายนพดล กล่าว

‘นพดล’ วอนหยุดปั่นกระแสไทยเสีย ‘เกาะกูด’ ย้ำชัด เกาะเป็นของไทย อย่าใช้ความเท็จโจมตีดั่งกรณีเขาพระวิหาร

‘นพดล’ วอนหยุดปั่นกระแสไทยเสียเกาะกูด หยุดใช้ความเท็จโจมตีอย่างที่ตนเคยถูกใส่ร้ายเรื่องเขาพระวิหาร แต่พอศาลยกฟ้องกลับเงียบหายไปหมด

เมื่อวันที่ (3 พ.ย.67) นายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงการปั่นกระแสว่าไทยจะเสียเกาะกูด และเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก เอ็มโอยู 44 รวมทั้งพาดพิงตนให้คนเข้าใจผิดเรื่องเขาพระวิหารแบบแผ่นเสียงตกร่องว่า ตนขอใช้สิทธิถูกพาดพิง คนที่เป็นห่วงโดยสุจริตก็มี และบางคนเป็นคนที่เคยร่วมจุดกระแสคลั่งชาติในปี 2551 โดยใช้ความเท็จใส่ร้ายว่าตนซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น ทำให้ไทยเสียปราสาทพระวิหารให้กัมพูชา ทั้ง ๆ ที่ไทยยกปราสาทพระวิหารให้กัมพูชาตามคำตัดสินศาลโลกไปแล้วตั้งแต่ปี 2505 ต่อมาในปี 2551 กัมพูชาเอา 1.ตัวปราสาทและ 2.พื้นที่ทับซ้อนไปขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก แต่รัฐบาลและตนเจรจาจนกัมพูชายอมตัดพื้นที่ทับซ้อนออก และยอมขึ้นทะเบียนมรดกโลกเฉพาะตัวปราสาทซึ่งเป็นของเขามาเกือบ 50 ปีแล้ว แต่ตนถูกโจมตีใส่ร้ายเท็จว่าขายชาติและไปฟ้องเอาผิดตน ซึ่งต่อมาในปี 2558 ศาลฎีกาก็ได้พิพากษายกฟ้องตน และในคำพิพากษาก็ได้ระบุว่าสิ่งที่ตนทำถูกต้องและประเทศจะได้ประโยชน์จากการกระทำของตน ข้อเท็จจริงคือตนไม่ได้ขายชาติ แต่คือคนที่ปกป้องชาติ แต่คนบางกลุ่มยังไม่สำนึกว่าการจุดกระแสคลั่งชาติเรื่องเขาพระวิหารในปี 2551 ทำให้มีการปะทะตามแนวชายแดน มีทหารเสียชีวิต และทำให้ในปี 2554 กัมพูชากลับไปศาลโลกอีกครั้งหนึ่ง เพื่อยื่นตีความคำพิพากษาศาลโลกปี 2505 ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเสื่อมทรามลงในเวลานั้น ถามว่าคนเหล่านี้จะรับผิดชอบอย่างไร

นายนพดล กล่าวว่า ส่วนประเด็นที่เรียกร้องให้ไทยยกเลิกเอ็มโอยู 44 นั้น คำถามคือถ้ามันจะทำให้ไทยเสียหายจริง นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีต่างประเทศที่ไปลงนามเอ็มโอยู 44 จะไปเซ็นได้อย่างไร นอกจากนั้นมีการบิดเบือนข้อเท็จจริงและกฎหมาย 3 เรื่องใหญ่ที่ต้องตอบคือ 1.การกล่าวหาว่าเอ็มโอยู 44 จะทำให้เสียเกาะกูดนั้นก็ไม่จริง เกาะกูดเป็นของไทยตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ไม่มีใครสามารถยกเกาะกูดให้กัมพูชาได้ เกาะกูดเป็นอำเภอหนึ่งของไทยและไปเที่ยวได้ตลอด 2.กล่าวหาว่าเอ็มโอยู 44 ไปยอมรับเส้นเขตไหล่ทวีปที่กัมพูชาประกาศ และจะทำให้ไทยเสียสิทธิทางทะเล ก็ไม่เป็นความจริงอีก เนื่องจากเนื้อหาของเอ็มโอยู  44 ไม่ได้ยอมรับเส้นที่กัมพูชาลากแต่อย่างใด เพราะถ้ายอมรับ แล้ว เราจะไปเจรจากันทำไม โดยเฉพาะที่ต้องเน้นคือเนื้อหาในข้อ 5 ของเอ็มโอยู 44 ที่ระบุไว้ชัดเจนว่าตราบใดที่ยังไม่มีข้อตกลงเรื่องการแบ่งเขตพื้นที่ทางทะเล ให้ถือว่า เอ็มโอยู 44 และการเจรจาตาม เอ็มโอยู 44 จะไม่มีผลกระทบต่อการอ้างสิทธิ์ทางทะเลของทั้งไทยและกัมพูชา  

นายนพดล กล่าวต่อว่า และ 3.ส่วนที่กล่าวหาว่ารัฐบาลนี้มุ่งแต่จะเจรจากับกัมพูชา เพื่อขุดน้ำมันและแก๊สในพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนก่อน โดยไม่สนใจพื้นที่ทางทะเลนั้น ก็เป็นข้อกล่าวหาที่ไร้มูลความจริง เนื่องจากไม่สามารถทำได้ตามกรอบเอ็มโอยู 44 เพราะ ก) การเจรจาแบ่งพื้นที่ทางทะเล และ ข) การเจรจาพื้นที่พัฒนาร่วมหรือ JDA ต้องทำคู่ผูกติดกันไป แยกจากกันไม่ได้ (indivisible package) ตามที่ระบุในข้อ 2 ของ เอ็มโอยู 44

“ผมสงสัยว่ารัฐบาลที่ผ่านมาก็เจรจาโดยใช้เอ็มโอยู 44 ไม่เห็นมีการประท้วง ผมเห็นว่าพี่น้องคนไทยควรได้รับทราบข้อเท็จจริง ไม่ใช่การให้ความเห็นที่ไม่ถูกต้อง คนที่แสดงความห่วงใยโดยสุจริต รัฐบาลคงพร้อมรับฟัง ส่วนคนที่บิดเบือนใส่ร้ายก็ขอยุติได้แล้ว บางคนเคยร่วมจุดกระแสคลั่งชาติเรื่องเขาพระวิหาร ยังไม่สำนึกรับผิดชอบต่อความเสียหายที่ทำขึ้น ผมเคยถูกใส่ร้ายเรื่องเขาพระวิหาร ทำลายผม ครอบครัวผม แต่พอศาลฎีกาท่านยกฟ้องตนและคำพิพากษาระบุว่าสิ่งที่ผมทำถูกต้องและประเทศจะได้ประโยชน์จากสิ่งที่ตนทำ กลับเงียบหายไปหมด” นายนพดล กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top