Friday, 17 May 2024
ทุนนิยม

'ดร.สุวินัย' แฉ!! บรรษัทเทคยักษ์ใหญ่ อำนาจเหนือรัฐที่คาดไม่ถึง คุม 'การเมือง-การตลาด' ปั่นหัวคนรุ่นใหม่ ให้กลายเป็นซอมบี้

(6 ต.ค. 66) ดร.สุวินัย ภรณวลัย ประธานยุทธศาสตร์วิชาการ สถาบันทิศทางไทย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'Suvinai Pornavalai' ในหัวข้อ อนาคตของลูกหลานเรา กับการปฏิวัติมนุษย์นิยมภายใต้ ‘ทุนนิยมสอดแนม’ โดยระบุว่า…

เขาควบคุมผู้คนได้ง่าย หลากหลายวิธี จากการที่เราค้นหาสิ่งที่ชอบ เขาจะรู้หมด เขาจะเร้ากระตุ้นเราได้ตลอดเวลาและต่อเนื่อง จนเราถูกครอบงำโดยไม่รู้ตัว ยิ่งถ้าไม่ฝึกจิตใจฝึกสติ ขนาดผู้ใหญ่เองก็ยังไม่รอด พวกเด็กยิ่งแล้วใหญ่เลย

นี่คือข้อคิดรวบยอดหลังผมจากได้อ่าน ‘ทุนนิยมสอดแนม’ : ระบบทุนนิยมใหม่ใต้เงาบรรษัทเทคยักษ์ใหญ่ (The Age of surveillance capitalism, 2019) (ฉบับแปลไทย 2023, สำนักพิมพ์ bookspace) กับ ‘โฮโมดีอุส : ประวัติย่อของวันพรุ่งนี้’ (Homo Deus : A Brief History of Tomorrow)(2016)

ทุนนิยมสอดแนม คือรูปการล่าสุดของทุนนิยมที่ ‘กลายพันธุ์เป็นเนื้อร้าย’ โดยมีจุดเด่น 2 ประการคือ

(1) มันทำให้การกระจุกตัวของความมั่งคั่ง-ความรู้-อำนาจ มากระจุกตัวที่บรรษัทเทคยักษ์ใหญ่ของโลกเพียงไม่กี่บรรษัท โดยที่บรรษัทเทคเหล่านี้มีอำนาจเหนือ ‘รัฐชาติ’ หลายประเทศที่เติบใหญ่ขึ้นมาพร้อมกับ ‘ความทันสมัย’ (modernization) หรือทุนนิยมอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 20

(2) ประเทศที่ตระหนักถึงภัยของ ‘ทุนนิยมสอดแนม’ อย่างรวดเร็วที่สุดว่าเป็นเนื้อร้ายที่กลายพันธุ์ คือ ประเทศจีนภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน จึงทำให้ประเทศจีนสามารถ ‘ควบคุม’ ทุนนิยมสอดแนมจีน ให้อยู่ภายใต้อำนาจรัฐอย่างที่ประเทศอื่นไม่สามารถทำได้

ประเทศอื่น ๆ จึงได้รับผลร้ายของทุนนิยมสอดแนมเข้าไปเต็มๆ ...ผลร้ายที่ว่านั้นคือ ‘การเมืองแบ่งขั้วอย่างสุดโต่ง’ ที่ประชาชนถูกอัลกอริทึมปั่นหัวให้ขัดแย้งอย่างรุนแรงแบบแบ่งขั้ว

นี่คือสิ่งที่หนังสือเล่มนี้เรียกว่า ‘อำนาจผ่านเครื่องมือ (อัลกอริทึม)’ ซึ่งเป็นอำนาจชนิดใหม่ ที่เข้ามาแผ่อิทธิพลครอบงำสังคมทางความคิด โดยที่ ‘อำนาจใหม่’ (อำนาจผ่านเครื่องมือ) ที่ว่านี้กำลังจะกลายเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุดในการมีชัยชนะทางการเมืองและทางการตลาด

ในฐานะที่เป็นปัญญาชนตัวแทนของคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ ผมต้องยืนกรานในเจตจำนงและวิสัยทัศน์ (vision) ของคนรุ่นตัวเอง…จึงเลี่ยงไม่ได้ที่ผมจะต้องแสดงทัศนะของคนรุ่นผมต่อ ‘อนาคตดิจิทัล’ ในสังคมไทย ซึ่งรวมทั้งพิษภัยของทุนนิยมสอดแนมด้วย…

โลกดิจิทัลกำลังเข้ามาครอบครองและสร้างนิยามใหม่ให้แก่ทุกสิ่งในสังคมไทยที่เราคุ้นเคย

อารยธรรมสารสนเทศ (information civilization) กำลังก่อเกิด เพราะเทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้าถึงผู้คนเกินกว่าครึ่งของประชากรทั้งหมดทั่วโลกไปแล้ว

แต่สิ่งที่กำลังโดนกระทบอย่างรุนแรงจริง ๆ คือ ความสั่นคลอนของ ‘เขตอภัยทานส่วนบุคคล’ (sanctuary) หรือ ‘พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์’ ในจิตใจผู้คนที่โดนกลบกลืน โดนกวาดล้าง อันเนื่องมาจากกระแสดิสรัปต์ชั่นทางเทคโนโลยีที่ตามมาด้วยความสั่นคลอนของระบบสถาบันต่าง ๆ

ผู้คนที่สูญเสีย ‘เขตอภัยทานส่วนบุคคล’ หรือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในจิตใจตนไปแล้ว ย่อมกลายร่างกลายพันธุ์ไปเป็น ‘ซอมบี้’ ที่อาละวาดไปทั่ว…

นับวันจำนวน ‘ซอมบี้’ ในสังคมไทยมีแต่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะพวกซอมบี้ที่เป็น ลูกหลานของเรา

ตราบใดที่ผู้คนยังไม่รู้ทันพิษภัยของทุนนิยมสอดแนม และไม่สามารถปกปักรักษา ‘พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์’ ในจิตใจตนเอาไว้ได้ ตราบนั้น ‘โศกนาฏกรรมเงียบ’ ย่อมคืบคลานมาสู่ครอบครัวของพวกเราทุกครอบครัวโดยแทบไม่มีข้อยกเว้น

โดยที่ลูกหลานของเราคือ เหยื่อที่เปราะบางที่สุด ต่อผลกระทบในเชิงลบของ ทุนนิยมสอดแนม ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนักถึงพิษภัยของมันเลย…จนกว่าจะเกิดเหตุการณ์รุนแรงด้วยน้ำมือของเด็กและเยาวชน

ความร่ำรวยของ ‘พวกนายทุนสอดแนม’ มาจากการสร้าง ‘ตลาดพฤติกรรมล่วงหน้า’ (behaviorial futures market)

ข้อมูลเชิงพฤติกรรมที่นำมาใช้พยากรณ์ได้ดีที่สุด มาจากการแทรกแซงสถานการณ์ที่เกิดในปัจจุบัน เพื่อสะกิด โน้มน้าว ปรับค่า และต้อนพฤติกรรมให้สร้างผลกำไรมากขึ้น ผ่านกระบวนการจักรกลอัตโนมัติ (machine intelligence) ซึ่งไม่เพียง ‘รู้’ พฤติกรรมของเรา แต่ยัง ‘หล่อหลอม’ พฤติกรรมของเราอย่างมากด้วย

- เว็บพนันออนไลน์ คือตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดในการกระตุ้นพฤติกรรมของผู้คนจาก ‘โลภะ’

- การเคลื่อนไหวในโลกโซเชียลของพรรคก้าวไกล คือตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดในการกระตุ้นพฤติกรรมของผู้คนจาก ‘โทสะ’ และ ‘โมหะ’

- การคลั่งเกม เสพติดเกมออนไลน์ คือตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดในการกระตุ้นจิตใต้สำนึกของลูกหลานเราให้นิยมความรุนแรง ไม่รู้สึกถึงความเจ็บปวดของคนอื่นและเห็นใจผู้อื่น ...สุดท้ายก็สำแดงความรุนแรงออกมาในโลกจริงจนได้

นี่คือวิธีการเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร (data) เป็นอำนาจสายพันธุ์ใหม่ เพื่อดัดแปลงพฤติกรรม (behavioral modification)

…พวกทุนสีเทา ใช้เว็บพนันออนไลน์ สร้างซอมบี้ผีพนัน
…พรรคปฏิวัติ 2475 สายพันธุ์ใหม่ ใช้ ‘ลัทธิอำนาจผ่านเครื่องมือ’ (instrumentarianism) สร้างสาวกซอมบี้ ฯลฯ

เพราะนี่คือ อำนาจผ่านเครื่องมืออย่างอัลกอริทึม ที่รู้จักพฤติกรรมมนุษย์ดีที่สุด และทำการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์เหล่านั้นให้มารับใช้จุดประสงค์ของตนเอง

บัดนี้พวกนายทุนสอดแนมรู้แล้วว่า พวกเขาจะทำอะไรก็ได้ตามต้องการ ...เขาควบคุมผู้คนได้ง่าย หลากหลายวิธี จากการที่เราค้นหาสิ่งที่ชอบ เขาจะรู้หมด เขาจะเร้ากระตุ้นเราได้ตลอดเวลาและต่อเนื่อง จนเราถูกครอบงำโดยไม่รู้ตัว ยิ่งถ้าไม่ฝึกจิตใจฝึกสติ ขนาดผู้ใหญ่ก็ยังไม่รอด พวกเด็กยิ่งแล้วใหญ่เลย

***อนาคตของลูกหลานเรา กับทิศทางของการปฏิวัติมนุษย์นิยมในสังคมไทยต่อจากนี้***

ก่อนยุคทันสมัย เซเปียนส์ใช้ชีวิตโดยเอาเรื่องเล่าของพระเจ้าเป็นศูนย์กลาง (โดยเฉพาะในโลกของศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลามและศาสนาพราหมณ์)

แต่พอเข้าสู่ยุคทันสมัย เซเปียนส์ได้หันมาเอาเรื่องเล่าเกี่ยวกับมนุษย์หรือความเชื่อใหม่เรื่อง ‘มนุษย์นิยม’ เป็นศูนย์กลางแทน

นี่คือที่มาของ ‘การปฏิวัติมนุษย์นิยม’ ที่เกิดขึ้นเคียงคู่ ‘การทำให้ทันสมัย’

การปฏิวัติมนุษย์นิยมกลายเป็นหลักความเชื่อใหม่ที่ ‘พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน’ สำหรับคนสมัยนั้น และทำให้สามารถพิชิตโลกทั้งโลกในช่วงสองสามศตวรรษที่ผ่านมาได้

ศาสนามนุษย์นิยมบูชาความเป็นมนุษย์ และคาดหวังให้มนุษย์แสดงบทบาทที่พระเจ้าเคยแสดงในศาสนาคริสต์และอิสลาม

มนุษย์นิยมคาดหวังให้ประสบการณ์ของมนุษย์เป็นฝ่ายมอบความหมายให้จักรวาล ผ่านการดึงประสบการณ์ภายในของตนออกมา…

เพื่อสร้างความหมายให้แก่โลกที่ไร้ความหมาย หัวใจของการปฏิวัติมนุษย์นิยมในยุคทันสมัย จึงมิใช่การสูญสิ้นศรัทธาในพระเจ้า แต่เป็นการหันมาศรัทธาในมนุษย์แทน

คำขวัญของมนุษย์นิยมในทางจริยธรรม คือ ‘ถ้ารู้สึกดี จงทำ’
คำขวัญของมนุษย์นิยมในทางการเมือง คือ ‘ผู้ออกเสียงรู้ดีที่สุด’
คำขวัญของมนุษ์นิยมในทางเศรษฐกิจ คือ ‘ลูกค้าถูกเสมอ’
คำขวัญของมนุษย์นิยมในทางสุนทรียศาสตร์ คือ ‘ความงามอยู่ในดวงตาของผู้ชม’

สรุปสั้น ๆ ได้ว่า พวกมนุษย์นิยมเชื่อมั่นในความรู้สึกของปัจเจกซึ่งเป็นอัตวิสัยเท่านั้นในการตัดสินทุกเรื่องราวในชีวิต ในยุคทันสมัยภายใต้การปฏิวัติมนุษย์นิยม ความรู้สึกของมนุษย์คือแหล่งกำเนิดของความหมายและอำนาจทั้งปวง

ด้วยเหตุนี้ เป้าหมายสูงสุดของชีวิตแบบมนุษย์นิยมคือการพัฒนาความรู้อย่างเต็มที่ผ่านประสบการณ์อันหลากหลายทางด้านปัญญา อารมณ์และทางกายภาพ เป้าหมายของการดำรงอยู่ คือ การกลั่นประสบการณ์ที่เป็นไปได้อย่างกว้างขวางที่สุดของชีวิตให้กลายเป็นภูมิปัญญา (wisdom)

จุดยอดสูงสุดแห่งชีวิตมีเพียงประการเดียวเท่านั้นคือ การได้วัดความรู้สึกทุกสิ่งทุกอย่างในการเป็นมนุษย์

ตั้งแต่เซเปียนส์สร้างประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของตนขึ้นในช่วง 70,000 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยมีวัฒนธรรมไหนที่ให้ความสำคัญแก่ความรู้สึก ความปรารถนาและประสบการณ์ของมนุษย์มากเท่ามนุษย์นิยมมาก่อน

อย่างไรก็ดี ‘ลัทธิมนุษย์นิยม’ ได้แตกออกเป็นสามนิกายย่อยที่ตีความประสบการณ์ของมนุษย์แตกต่างกันไป คือ

(1) มนุษย์นิยมแบบเสรีนิยม (liberal humanism) หรือเรียกย่อๆว่า เสรีนิยม (liberalism) นี่คือมนุษย์นิยมแบบดั้งเดิมและเป็นกระแสหลักที่มองว่ามนุษย์แต่ละคนเป็นปัจเจกบุคคลที่มีความเฉพาะตัว จึงให้ความสำคัญกับเสรีภาพมากที่สุด

(2) มนุษย์นิยมแบบสังคมนิยม (socialist humanism) ที่โอบอุ้มความเคลื่อนไหวของสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์เอาไว้ โดยให้ความสำคัญกับความเสมอภาคมากกว่าเสรีภาพ และฝากศรัทธาทั้งหมดไว้ที่พรรคการเมืองของตน (เชื่อว่าพรรคการเมืองรู้ดีที่สุด)

(3) มนุษย์นิยมแบบวิวัฒนาการ (evolutionaly humanism) เชื่อมั่นแบบยึดมั่นถือมั่นในทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วิน จึงไม่ชื่อว่าวิวัฒนาการจะหยุดอยู่แค่เซเปียนส์ แต่ยังมีหนทางอีกยาวไกลที่มุ่งไปสู่การเป็น อภิมนุษย์ (superhuman)

ผู้สนับสนุนแนวคิดมนุษย์นิยมแบบวิวัฒนาการที่โด่งดังที่สุด คือพวกนาซี แต่นี่เป็นเพียงเวอร์ชั่นที่สุดโต่งของมนุษย์นิยมแบบวิวัฒนาการเท่านั้น

ลัทธินาซีเกิดขึ้นจากการจับคู่แบบมิจฉาทิฐิระหว่างมนุษย์นิยมแบบวิวัฒนาการกับทฤษฎีเชื้อชาติจำเพาะและอารมณ์คลั่งชาติอย่างรุนแรง

แปลกแต่จริง ในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 ที่เราเห็นได้ชัดถึงขีดจำกัดของมนุษย์นิยมแบบเสรีนิยม (ที่เลยจุดพีคมาแล้ว) และมนุษยนิยมแบบสังคมนิยม (ที่ส่วนใหญ่ล้มเหลวไม่เป็นท่ายกเว้นในประเทศจีน)

ปรากฏว่า มนุษยนิยมแบบวิวัฒนาการกลับผงาดขึ้นมาแทนและมีแนวโน้มว่าจะกลายมาเป็นกระแสหลักในการก่อร่างสร้างศตวรรษที่ 21 หลังจากนี้ ผ่านการผลักดันโครงการมนุษย์เทพหรือโฮโมดีอุส

โครงการ Homo Deus (มนุษย์เทพ) ที่กำลังวิจัยและพัฒนาอยู่ในปัจจุบัน กับความก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีชีวภาพ คือพลังทางวัตถุที่หนุนหลังแนวคิดมนุษย์นิยมแบบวิวัฒนาการให้ผงาดขึ้นมาอีกครั้งหลังจากนี้

พร้อมกันนั้น ศาสนาเทคโนโลยี (techno-religion) ในยุคดาต้านิยมกำลังจะเข้ามาแทนศาสนามนุษย์นิยมที่ครองโลกในยุคทันสมัย (ยุคทุนนิยม) มาอย่างยาวนาน

เพราะพร้อมๆกับการเกิดขึ้นของมวลชนที่เป็น ‘มนุษย์ที่ไร้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ’ จำนวนมหาศาล ที่เป็นผลมาจากการปฏิวัติปัญญาประดิษฐ์ในอนาคตอันใกล้

ความเชื่อความศรัทธาเรื่องมนุษย์นิยมแบบเสรีนิยมจะถูกบ่อนทำลายในระดับฐานราก

ปัจจุบัน ขบวนรถไฟแห่ง ‘ความก้าวหน้า’ ได้เริ่มเคลื่อนออกจากสถานีที่ชื่อทุนนิยมและมนุษย์นิยมไปแล้ว

สังคมไหน องค์กรไหน ปัจเจกคนไหนที่พลาดขบวนนี้จะไม่มีโอกาสอีกเป็นครั้งที่สอง

การจะหาที่นั่งในขบวนนี้ได้ สังคมนั้น องค์กรนั้น ผู้นั้นจำเป็นต้องเข้าใจเทคโนโลยีของศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะอำนาจของเทคโนโลยีชีวภาพและอัลกอริทึม

ผู้ที่ขึ้นรถไฟแห่งความก้าวหน้าในยุคดาต้านิยมได้ทัน จะได้รับอำนาจวิเศษแห่งการสร้างสรรค์และการทำลาย ส่วนพวกที่ถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลังจะต้องเผชิญกับการสูญพันธุ์ไม่ช้าก็เร็ว

เป็นที่น่าสนใจว่า ในการแย่งชิงความเป็นเจ้าโลกในยุคดาต้านิยมต่อจากนี้ระหว่างจีนกับสหรัฐ ขณะที่จีนเลือกโมเดล ‘มนุษย์นิยมแบบสังคมนิยม’ อย่างชัดเจน

ส่วนสหรัฐกลับเลือกโมเดล ‘มนุษย์นิยมแบบวิวัฒนาการ’ ผ่านโครงการโฮโมดีอุสมากกว่า …ฉะนั้นจงอย่างแปลกใจที่คนเขียน Homo Deus เป็นคนยิว

ส่วนประเทศไทย คนไทยโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ยังสับสนในตัวเองอยู่เลยว่าจะผลักดันการปฏิวัติมนุษย์นิยมไปทางไหนกันแน่?

คนรุ่นใหม่ที่เป็นลูกหลานของเรา ดูเหมือนจะฝากความหวังของ ‘การปฏิวัติมนุษย์นิยม’ (การปฏิวัติล้มเจ้าล้มสถาบันในสายตาของฝั่งอนุรักษ์นิยม) ไว้ที่ ‘พรรคการเมืองของพวกเขา’ ซึ่งค่อนข้างชัดว่าเป็น ‘มนุษย์นิยมแบบสังคมนิยม’ ที่บูชาเลื่อมใส รัฐสวัสดิการ

คนรุ่นใหม่ คิดดีแล้วหรือว่านี่คือ ทิศทางไทยที่ถูกต้อง?

‘ถ้านายไม่อ่านหนังสือ นายจะไปรู้อะไร?’ (อาจารย์ศิลป์ พีระศรี)

‘น้าเน็ก’ สอน!! เงินมีความสำคัญ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ขอคนยุคนี้ อย่าให้ ‘วัตถุ-เงินทอง’ มีค่าเหนือชีวิต

(6 ต.ค.66) สายสัมภาษณ์หนึ่งที่โทรเข้ามาในรายการอย่าหาว่าน้าสอน ได้สอบถามถึงคุณค่าของเงินในโลกทุนนิยม โดยน้าเน็กได้ให้ข้อคิดส่วนหนึ่งสะท้อนผ่านมุมคิด ‘ความฝันแบบทุนนิยม’ ไว้ในรายการว่า...

“พี่รู้จักคนที่มีมากกว่าหมื่นล้านอีก แต่เขายังต้องทำงานหนัก พี่ก็ได้แต่สงสัยว่าตัวเลขเท่าไหร่ถึงจะพอ เพราะไปถึงตรงนั้นเขาไม่ได้ต้องการอิสระแล้วครับ เขาต้องใช้ชีวิตทั้งหมดเพื่อดูแลธุรกิจระดับหมื่นล้านของเขาครับ แล้วสิ่งของรอบกายของเขาไม่ว่าจะเป็น แต่ความรับผิดชอบ หรืออะไรบางอย่างที่มันใหญ่โตตามตัว มันก็ไม่ได้ทำให้เขามีอิสระทางการเงินหรอกครับ

“ในความเชื่อของพี่นะครับ พี่มีความรู้สึกว่า พี่ไม่เคยเอาสิ่งของภายนอกมายืนยันตัวตนภายใน สมมุติว่าเราเห็นใครสักคน ไอ้นี่ใครไม่รู้ แต่แม่งใส่นาฬิกาปาเต๊ะด้วย แปลว่าอะไร นาฬิกาใหญ่กว่าคน พี่ไม่มีวันยอมให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ในชีวิตครับ แปลว่าคนต้องใหญ่กว่าของ แต่ในโลกทุนนิยมมันเป็นการยากที่มันจะยืนยันตัวตนภายใน ผู้คนก็เลยใช้วิธีการใช้ของภายนอก ยืนยันตัวตนภายใน

“แล้วคนจำนวนไม่น้อยก็ยึดถือซะด้วย กูไม่รู้หละ ว่ามึงเป็นใคร แต่มึงมีกระเป๋าแบรนด์เนมแปลว่ามึงเจ๋ง มึงดูรวยมึงดูฟู่ฟ่า มึงลงไอจีกินแต่อาหารแพง แปลว่ามึงเป็นคนเจ๋งแน่ โดยไม่มีใครสนว่ามึงรวยมาจากอะไร มึงอาจจะเทาๆ ก็ได้ แต่คนไม่สนขอแค่มึงรวยก็พอ … เต้ (ผู้โทรเข้าสาย) เป็นเด็กอายุ 20 อย่าติดกับดักของทุนนิยม พี่ไม่เถียงว่าเงินก็มีความสำคัญในการมีชีวิต แน่นอนพี่ไม่ได้โลกสวยขนาดนั้น ไม่มีตังกูจะเอาอะไรมาจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ จ้างลูกน้อง แต่ อย่าให้มันเป็นทั้งหมดในชีวิตครับ...”

‘ดร.สุวินัย’ หวั่น!! ยุคดาต้านิยม แฮกความเป็นมนุษย์ ด้วยทุนนิยมสอดแทรก ‘เด็ก-เยาวชน’ เหยื่อโอชะ จิตวิญญาณข้างในค่อยๆ ถูกฆ่าให้ตาย

(10 ต.ค. 66) ดร.สุวินัย ภรณวลัย ประธานยุทธศาสตร์วิชาการ สถาบันทิศทางไทย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘Suvinai Pornavalai’ ระบุว่า…

แลไปข้างหน้าในยุคดาต้านิยม (Dataism) : ยุคแห่งมิคสัญญีท่ามกลางกระบวนการ ‘ย้ายอำนาจ’ (Power Shift)

โลกนี้วุ่นวายหนอ แต่เพจนี้ ที่นี่ไม่วุ่นวาย ขอเธอจงตั้งใจอ่านเถิด

วันนี้เรามาหัดมองป่าทั้งป่ากัน เพื่อเข้าใจว่าเรากำลังอยู่ในยุคอะไร และกำลังเผชิญกับอะไรอยู่ เพื่อรับมือกับคลื่นสึนามิลูกยักษ์ที่กำลังมา ไม่ให้ ‘นาวาสยาม’ ลำนี้ของเราล่มสลาย

ปัจจุบัน ‘ยุคดาต้านิยม’ (Dataism) ได้เริ่มต้นแล้ว และกำลังเข้ามาทดแทนยุคทุนนิยม (Capitalism) ที่ชาวโลกคุ้นเคย

มนุษย์จะไม่ใช่ ‘ตัวตนอันมีอิสระ’ (แบบเสรีนิยม) ที่ถูกขับเคลื่อนด้วย ‘เรื่องเล่า’ ที่ตัวตนประดิษฐ์ขึ้นมาเหมือนยุคก่อนๆ อีกต่อไป

แต่มนุษย์จะถูกกลืนจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายอัลกอริทึมระดับโลกอันมหึมาในที่สุด… โดยเป็นส่วนหนึ่งที่มีแต่จะถูกลดระดับความสำคัญลงเรื่อยๆ ในเครือข่ายระดับโลกอันมหึมานี้ (ขอให้ขีดเส้นใต้ตรงนี้… “มนุษย์จะถูกลดระดับความสำคัญลงเรื่อยๆ ในเครือข่ายอัลกอริทึมระดับโลก”)

การเกิดวิกฤติเศรษฐกิจกับ Global Politic ผ่าน ‘สงครามใหญ่’ อย่าง ‘สงครามยูเครน-รัสเซีย’ ตามมาด้วยสงครามในตะวันออกกลางระหว่างอิสราเอล-อิหร่าน และต่อไปจะลุกลามไปที่เกาะไต้หวันกับคาบสมุทรเกาหลี 

คือส่วนหนึ่งของกระบวนการ ‘The Great Reset’ ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระดับโลก พร้อมกับการสถาปนาระบบ Technocracy (เทคโนโลยีเป็นใหญ่) เพื่อมาแทน Democracy (ประชาธิปไตยเป็นใหญ่) ที่ถูกรองรับด้วยปรัชญามนุษย์นิยมที่กำลังล่มสลาย

ภายใต้ระบบ Technocracy… เทคโนโลยีในยุคดาต้านิยม ทำให้อัลกอริทึมภายนอกสามารถ ‘แฮกความเป็นมนุษย์’ ได้ทุกคน ทำให้มันสามารถรู้จักคนผู้นั้นดีกว่าที่ผู้นั้นรู้จักตัวเองเสียอีก…

คนทุกคนที่ใช้โซเชียลมีเดีย ล้วนถูกมัน ‘แฮกความเป็นมนุษย์’ ทั้งสิ้น เพราะอีกชื่อหนึ่งของ ‘ดาต้านิยม’ คือ ‘ทุนนิยมสอดแนม’ (Surveillance Capitalism) ที่อยู่ภายใต้เงื้อมมือของบรรษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ ที่แนบแน่นกับ ‘รัฐลึก’ (Deep State) ของประเทศมหาอำนาจทั้งสองฝ่ายที่กำลังแย่งชิง-ท้าทาย ‘ความเป็นเจ้าโลก’ ของมหาอำนาจเจ้าโลกเดิม

อีกไม่เกิน 30 ปีข้างหน้า (ภายในปี 2050) ความเชื่อในแนวคิดปัจเจกบุคคลของปรัชญามนุษย์นิยมคงถึงคราวล่มสลาย โดยที่ ‘อำนาจ’ จะย้ายเคลื่อนจาก ‘มนุษย์ผู้เป็นปัจเจก’ ไปยัง ‘อัลกอริทึม’ ที่โยงกันเป็นเครือข่ายมหึมาแทน…

กระบวนการ ‘ย้ายอำนาจ (Power Shift)’ นี้ มันเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2010 แล้ว และคงจะเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2050 ขณะที่คนทั้งโลกกำลังใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางกระบวนการ ‘ย้ายอำนาจ’ กระบวนการนี้

ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่ฉับพลัน รุนแรง คาดไม่ถึง และไม่เคยปรากฏมาก่อนในอดีต… เราต้องทำความเข้าใจมันด้วยมุมมองของ ‘ดาต้านิยม’ และ ‘กระบวนการย้ายอำนาจ’ ที่เกิดขึ้นแล้ว และกำลังดำเนินอยู่ คืบหน้าอยู่ด้วยอัตราเร่ง

ในราวๆ ปี 2050 มนุษย์คงจะต้องยอมศิโรราบต่ออัลกอริทึมโดยสิ้นเชิง แล้วถอดใจหันมามองตัวเองเป็นแค่ ‘จิ้งหรีด’ ที่เป็นกลุ่มกลไกทางชีวเคมี ที่ถูกเครือข่ายอัลกอริทึมอิเล็กทรอนิกส์คอยเฝ้ามอง และชี้นำจูงจมูกอย่างต่อเนื่อง…

นี่คือความเป็นจริงที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนและอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ความแปลกแยกที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ (Alienation) ที่ ‘คาร์ล มาร์กซ์’ เคยชี้ให้เห็นตอนเขาวิเคราะห์ระบบทุนนิยม และเรียกร้องให้ทุกคนที่รู้สึกแปลกแยกที่ถูกลดทอนความเป็นมนุษย์ ลุกฮือขึ้นทำการปฏิวัติกรรมาชีพ เพื่อโค่นล้มระบบทุนนิยม… จะกลายเป็นของเด็กๆ ที่น่ารักน่าคำนึงถึง เมื่อเทียบกับความแปลกแยกที่ลดทอนความเป็นมนุษย์อันเกิดจากระบบดาต้านิยม

พวกเด็กและเยาวชน ซึ่งมีจิตใจเปราะบางกว่าคนวัยอื่น คือ เป้าหมายหรือเหยื่ออันโอชะรายแรกๆ ของเครือข่ายอัลกอริทึม

- เป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรัง
- ติดพนันออนไลน์
- คลั่งการเมืองแบบฝูงซอมบี้
- นิยมความรุนแรง เห็นชีวิตเป็นผักปลาเพราะติดเกมออนไลน์
- เป็นหนี้อย่างหนัก เพราะถูกกระตุ้นให้สร้างหนี้เพื่อการบริโภค
ฯลฯ

ดังนั้น ภายในปี 2050 ภายใต้ระบบดาต้านิยมที่กำลังพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในอัตราเร่งอยู่นี้ พวกเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นลูกหลานของเราจำนวนมากจะถูกลดคุณค่าอย่างถึงที่สุด จนกลายเป็น ‘สิ่งไร้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ’ หรือ ‘สิ่งชำรุดทางประวัติศาสตร์’ หรือ ‘สวะ’ สำหรับระบบดาต้านิยม

ส่วนคนที่ยังมีคุณค่าใช้สอยในระบบดาต้านิยม คือคนยอมกลายเป็นส่วนหนึ่ง หรือชิ้นส่วนอินทรีย์ของเครือข่ายอัลกอริทึมอันมหึมาเท่านั้น คนประเภทนี้ต้องมีทักษะทางดิจิทัลที่สูง ทำงานร่วมกับอัลกอริทึมได้ เขียนโปรแกรมซอฟท์แวร์ได้ หรือไม่ก็ต้องเป็นคนที่มีความสามารถใน ‘งานบริการขั้นสูง’ ที่หุ่นยนต์หรืออัลกอริทึมยังทำไม่ได้หรือทำได้ไม่ดีพอ…

มีแต่คนแบบนี้เท่านั้น ถึงจะอยู่รอดในโลกอนาคตแห่งยุคดาต้านิยมได้

ในยุคดาต้านิยมนี้ อัลกอริทึมเริ่มต้นจากเป็น ‘เทพพยากรณ์ผู้รอบรู้ทุกสิ่ง’ (Oracle) ให้คนใช้ มันเป็นประโยชน์มาก และเป็นข้ารับใช้ที่ยอดเยี่ยมสำหรับมนุษย์

ปัจจุบันยุคดาต้านิยมเพิ่งอยู่ในขั้นนี้เท่านั้น

แต่อีกไม่นาน เมื่อยุคดาต้านิยมพัฒนาไปอีกขั้นหนึ่งในอีก 30 ปีข้างหน้า อัลกอริทึมจะวิวัฒนาการตนเองไปเป็น ‘ผู้แทน’ ที่ช่วยตัดสินใจแทน หรือทำงานแทนมนุษย์ในขอบเขตที่กว้างขึ้นเรื่อยๆ จนครอบคลุมทุกสิ่งทุกเรื่องในที่สุด

มันจะกลายเป็น ‘ผู้นำ’ หรือ ‘ผู้ตัดสินใจ’ ที่ยอดเยี่ยมกว่ามนุษย์ ที่มีข้อจำกัดในเรื่องความเครียด อารมณ์และความเหนื่อยล้า ในการตัดสินใจ

สุดท้าย ในที่สุดไม่ช้าก็เร็ว ก็จะมาถึงขั้นตอนสูงสุดแห่งยุคดาต้านิยม เมื่ออัลกอริทึมกลายเป็น ‘พระเจ้า’ หรือ ‘ผู้มีอำนาจสูงสุด’ เสียเอง

ช่วงเวลาร้อยปี หรือสองร้อยสามร้อยปีหลังจากนี้ จึงมิใช่ช่วงเวลาอื่นใด แต่คือ ช่วงเวลาแห่งการพัฒนาไปสู่ขั้นตอนที่มีวุฒิภาวะมากขึ้นเรื่อยๆ ของระบบดาต้านิยมเท่านั้น

ทบทวนอีกครั้ง เทคโนโลยีใหม่ของศตวรรษที่ 21 จะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘การปฏิปักษ์ปฏิวัติมนุษย์นิยม’ หรือการถอดรื้อการปฏิวัติมนุษย์นิยม ผ่านการริบยึดอำนาจไปจากมนุษย์ และมอบโอนอำนาจให้แก่อัลกอริทึมซึ่งไม่ใช่มนุษย์แทน

ต่อไปสิ่งที่จะเกิดขึ้นในยุคดาต้านิยม คือการที่ปัจเจกบุคคลจะถูกบดขยี้ให้แหลกลาญจากภายในเอง แทนที่จะถูกบดขยี้อย่างโหดร้ายจากภายนอก

ฟังให้ดีนะ ต่อไปลูกหลานของเรา… จะถูกบดขยี้จากภายใน พวกเขาจะถูกบดขยี้ทางจิตวิญญาณ ให้ย่อยยับไม่มีชิ้นดีจากภายใน จากข้างใน ในระดับลึกสุดถึงจิตวิญญาณ

โรคซึมเศร้าจะแพร่กระจายในหมู่คนทุกวัยทั่วทั้งสังคม แต่จะแพร่มากที่สุดในเด็กและเยาวชน

ต่อไป อัตราการฆ่าตัวตายจะเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าอัตราการถูกฆาตกรรมเสียอีก

เนื่องเพราะ ‘การตายทางจิตวิญญาณข้างใน’ ย่อมนำมาซึ่งการฆ่าตัวตายทางกายภาพ ไม่ช้าก็เร็ว

นี่คือสัญญาณช่วงต้นๆ ที่บ่งบอกถึงการถูกบดขยี้จากภายในของปัจเจกบุคลทั้งหลายในยุคดาต้านิยม…

แต่นี่เป็นแค่น้ำจิ้มเอง!!

ความแปลกแยกที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ น่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ในยุคดาต้านิยม โดยออกมาในรูปของมิคสัญญี…

- สงครามโลก 
- ความล่มสลายของทุกสถาบันหลักในสังคม โดยเฉพาะสถาบันครอบครัว  
- โรคระบาดระดับโลกโดยจงใจ (อาวุธชีวภาพ) 
- ความวุ่นวายไม่รู้จบสิ้นในแต่ละประเทศ หลังการล่มสลายทางเศรษฐกิจ
- สงครามกลางเมือง ที่มีที่มาจากความแตกแยกทางความคิดเป็นสองขั้วอย่างรุนแร งเพราะต่างฝ่ายต่างโดนปลุกปั่นด้วยอัลกอริทึม จนมันระเบิดออกมาแบบรวมหมู่ในที่สุด
ฯลฯ

ยุคของมวลชนและยุคเพื่อมวลชน ใกล้จะจบสิ้นแล้ว พร้อมๆ กับการรุดหน้าแบบก้าวกระโดดของระบบดาต้านิยมหลังจากนี้

ภายใต้ยุคดาต้านิยม คงจะเกิดศาสนาใหม่ขึ้นที่เรียกว่า ‘ศาสนาดาต้า’ (Data Religion) ซึ่งเป็นลัทธิบูชาดาต้าเทคโนโลยีแบบวัตถุนิยมสุดโต่งประเภทหนึ่ง

เพราะ ‘ศาสนาดาต้า’ ให้สัญญาแก่ผู้คนว่า จะนำพาผู้คนให้หลุดพ้นได้ด้วยอัลกอริทึมที่ ‘อัปเกรดจิตใจมนุษย์’ และด้วยเทคโนโลยีพันธุกรรม

สเปกตรัมของสภาวะจิต (Spectrum of mental state) ที่นักวิทยาศาสตร์ยุคดาต้านิยมใช้ในการสร้างอัลกอริทึมที่อัปเกรดจิตใจมนุษย์ มาจากภาคส่วนเล็กๆ 2 ภาคส่วนเท่านั้น คือ ส่วนพร่องจากบรรทัดฐาน (Sub-normaltive) และกลุ่ม WEIRD ที่มาจากคำหน้าของคำว่า Western, Educated, Industrialsed, Rich, Democratic คือ ใช้สภาวะจิตและระดับจิตเฉลี่ยของพลเมืองในสังคมประเทศตะวันตกเป็นข้อมูลพื้นฐานเท่านั้น

ตรงนี้แหละ คือข้อจำกัดของพวกดาต้านิยมในการทำความเข้าใจเรื่องจิต!!

เพราะพวกบรรษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ที่บูชา ‘ลัทธิดาต้านิยม’ ก็ยังยึดติดอยู่ในกรอบความคิดแบบวัตถุนิยมประวัติศาสตร์อย่างสุดโต่ง

แนวคิดแบบวัตถุนิยมประวัติศาตร์ของพวกดาต้านิยม คือมิจฉาทิฐิที่ร้ายแรงที่สุดในยุคนี้… ที่โลกได้เข้าสู่ยุคดาต้านิยมแล้ว

โลกทัศน์แบบวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ที่สุดโต่งของพวกนักวิทยาศาสตร์ และนักเทคโนโลยีในวงการปัญญาประดิษฐ์ระดับแนวหน้าของโลกตอนนี้  คือสิ่งกำหนดทิศทางของยุคดาต้านิยมในวันข้างหน้าอย่างแน่นอน

ในฐานะที่เป็นคนฝึกจิต ผมทราบดีว่าเรื่องที่เขียนข้างต้นนี้เป็นเรื่องที่ไกลตัวมาก สำหรับชาวบ้านที่ยังต้องปากกัดตีนถีบดิ้นรนทางเศรษฐกิจไปวันๆ

แต่ลองตั้งใจอ่านบทความข้างต้นของผมทุกบรรทัด ทุกตัวอักษรเถิด แล้วใช้มุมมองนี้ไปทำความเข้าใจเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น และกำลังเกิดขึ้นอยู่ตอนนี้… บางทีท่านผู้อ่านอาจได้คิด หรือสำเนียก แลเห็นสิ่งที่ตัวเองไม่เคยเห็นหรือเคยเฉลียวใจมาก่อนก็เป็นได้

รู้ไว้นะ คนที่อ่านอนาคตได้ขาด คนที่มองอนาคตได้กระจ่าง มีไม่มากนักหรอก ไม่ว่าในยุคใด

จะมีก็แต่คนประเภทนี้เท่านั้น ที่สามารถนำพาผู้คนโต้คลื่นแห่งยุคสมัยได้ โดยไม่ถูกคลื่นสึนามิกระหน่ำซัดจนล่มสลายเหมือนเรือลำอื่น

วิเคราะห์ทุนนิยมสไตล์ 'อเมริกัน' VS 'จีน' ฝ่ายหนึ่งละ ฝ่ายหนึ่งแทรกแซงกิจการชาติอื่น

เมื่อพูดถึงเรื่องของ ‘ทุนนิยม’ ผู้คนต่างก็มักจะมองไปยังโลกตะวันตกโดยเฉพาะ ‘สหรัฐอเมริกา’ โดยลืมไปว่า ‘สาธารณรัฐประชาชนจีน’ ก็มีระบบเศรษฐกิจที่มีความเป็น ‘ทุนนิยม’ เฉกเช่นเดียวกัน ทั้ง ๆ ที่มีระบอบการปกครองที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงคือ ‘คอมมิวนิสต์’ กับ ‘ประชาธิปไตย’ 

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า การที่จีนก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจอันดับสองตามติดสหรัฐอเมริกาชนิดหายใจรดต้นคอได้ก็ด้วยเพราะ ระบบเศรษฐกิจแบบ ‘ทุนนิยม’ นับตั้งแต่ท่านเติ้งเสี่ยวผิง ผู้นำจีนในยุค 1980 ได้นำหลักการตามแนวคิด ‘ไม่ว่าแมวขาวหรือแมวดำ ขอเพียงจับหนูได้ ก็คือแมวที่ดี’ มาใช้ขับเคลื่อนประเทศ

ด้วยระบบเศรษฐกิจแบบ ‘ทุนนิยม’ นี้เองที่ทำให้จีนใช้เวลาเพียงไม่ถึง 40 ปี ในการเปลี่ยนแปลงประเทศจากความล้าหลังมากมาย จนกลายเป็นความล้ำสุด ๆ และที่สำคัญที่สุดคือ ‘กลายเป็นโรงงานอุตสาหกรรมของโลก’ ได้เกือบทุกชนิดในราคาที่ต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ โดยมี ‘สหรัฐอเมริกา’ ประเทศที่ขนาดเศรษฐกิจอันดับหนึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุด

ทั้งนี้ หากนำความหมายของคำว่า ‘ทุนนิยม’ (Capitalism) อันเป็นระบบเศรษฐกิจซึ่งนายจ้างเป็นเจ้าของปัจจัยในการผลิต ควบคุมการค้า อุตสาหกรรม และวิถีการผลิต โดยมีเป้าหมายเพื่อทำกำไรในเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี จะมีลักษณะที่สำคัญดังนี้...

(1) เอกชนสามารถถือครองทรัพย์สินได้มากเท่าที่จะหามาได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย 
(2) การแข่งขันเสรี ซึ่งจะทำให้ผู้ขายเสนอราคาที่เหมาะสมที่สุดด้วยศักยภาพการผลิตที่ดีที่สุด 
(3) ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบตลาด ซึ่งอนุญาตให้เอกชนสามารถลงทุนในการผลิตหรือใช้จ่ายเงินเพื่อหาซื้อสินค้าและบริการได้ตามความสามารถและความต้องการ โดยไม่มีกฎระเบียบหรือข้อบังคับจากรัฐบาล ด้วยเชื่อว่าที่สุดแล้วจะทำให้ราคาของสินค้าและบริการอยู่ในจุดสมดุลที่ผู้ซื้อและผู้ผลิตเห็นตรงกันว่าราคาอยู่ในช่วงที่เหมาะสม 
(4) มีความอิสระในการบริหาร โดยปราศจากการแทรกแซงของรัฐบาล 

ด้วยบริบทดังกล่าวนี้ที่ว่ามานี้ ทำให้ระบบ ‘ทุนนิยม’ ของจีนและสหรัฐอเมริกา จึงไม่ได้มีความแตกต่างกันแต่อย่างใดเลย

นับตั้งแต่จีนปล่อยให้ระบบเศรษฐกิจเป็นไปตามแนวทาง ‘ทุนนิยม’ ระบบเศรษฐกิจของทั้งจีนและสหรัฐฯ ต่างก็เกื้อหนุนกันมาโดยตลอด ระบบเศรษฐกิจของจีนโดยรวมก็เติบโตและมีความแข็งแกร่งขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สหรัฐฯ เองบรรดาผู้ประกอบการ ผู้นำเข้า และนักลงทุนในจีนต่างก็ได้ประโยชน์อย่างต่อเนื่องเช่นกัน 

ทว่า ก็มีความแตกต่างจากประโยชน์ของสองประเทศที่ได้รับ อาทิ จีนเกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจโดยภาพรวมกับประชาชนทุกระดับชั้น ในขณะที่สหรัฐฯ กลับอยู่กับเพียงคนกลุ่มเดียว (ผู้ประกอบการ ผู้นำเข้า และนักลงทุนในจีน) ในขณะที่ประชาชนชาวอเมริกันได้ประโยชน์เพียงการได้บริโภคสินค้าราคาถูกจากจีน 

อย่างไรก็ตาม ระบบ ‘ทุนนิยม’ ของสองประเทศนี้ต่างก็สร้างผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อชาวโลก 

ถึงกระนั้น หากดูหากภูมิหลัง ความต่อเนื่อง และบริบท ฯลฯ จะพบบทบาทและลักษณะที่เกิดขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจของโลกที่มีความแตกต่างกันจากทั้งสองประเทศ ดังนี้...

ความเป็น ‘ทุนนิยม’ ของสหรัฐฯ มีมาต่อเนื่องยาวนานกว่าร้อยปี จึงมีพัฒนาการและการแผ่ขยายและแพร่กระจายที่เห็นได้ชัดเจนกว่า โดยสหรัฐฯ ตั้งอยู่บนทวีปอเมริกาเหนือและเชื่อมต่อกับทวีปอเมริกาใต้ การขยายตัวด้านเศรษฐกิจและการค้าทางภาคพื้นดินจึงทำได้เพียงสองประเทศ 

ในขณะที่จีนตั้งอยู่ในทวีปเอเชีย ซึ่งเป็นทวีปที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและประชากรมากที่สุด ทั้งยังสามารถขยายตัวด้านเศรษฐกิจและการค้าทางภาคพื้นดินได้จนถึงทวีปยุโรปซึ่งอยู่ติดกัน อันเป็นที่มาของนโยบาย ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative (BRI) หรือ One Belt One Road (OBOR))’ เพื่อเชื่อมจีนกับสังคมโลกด้วยระบบเศรษฐกิจเครือข่าย

กลับกัน สหรัฐฯ ซึ่งหากจะเชื่อมต่อกับทวีปอื่น ๆ จำเป็นต้องใช้การขนส่งทางน้ำและทางอากาศ สหรัฐฯ จึงยังคงใช้นโยบาย ‘เรือปืน’ (Gunboat Diplomacy) ด้วยการมีฐานทัพทางทหารอยู่ทั่วโลกกว่า 800 แห่ง มีกำลังทางเรือและกำลังทางอากาศที่สามารถปฏิบัติการได้ทั่วโลกตลอด 24 ชั่วโมง 

ดังนั้น หากมองพัฒนาการ ‘ทุนนิยม’ ของสหรัฐฯ ที่มีความต่อเนื่องยาวนานกอปรกับนโยบาย ‘เรือปืน’ ปฏิสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศคู่ทั่วโลก จึงมีความเป็นระบบมากกว่า และดำเนินการโดยบริษัทการค้าข้ามชาติของสหรัฐฯ ขนาดใหญ่ และได้รับการสนับสนุนด้านนโยบายที่เอื้อประโยชน์ในด้านต่าง ๆ จากรัฐบาลอเมริกัน 

จากนั้น บริษัทอเมริกันต่าง ๆ จึงสามารถดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศได้อย่างสะดวกสบายโดยมีรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นหลังพิง (Back-up) ตราบใดที่ยังคงเสียภาษีให้กับรัฐอย่างถูกต้อง ไม่ทำผิดกฎหมายสหรัฐฯ (และให้การสนับสนุนพรรคการเมืองใหญ่ของอเมริกันทั้งสองพรรค) 

ทั้งนี้ หากมองปฏิสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้า ซึ่งเป็นไปในระดับบนหรือระดับชาติเป็นส่วนใหญ่นั้น เพราะสหรัฐฯ เองเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่มากเกือบเท่ากับจีน แต่กลับมีประชากรเพียงหนึ่งในสี่ของประชากรจีน ประกอบด้วยรัฐต่าง ๆ จึงแทบจะไม่เห็น พ่อค้า นักธุรกิจ ชาวอเมริกันมาประกอบธุรกิจขนาดเล็กในประเทศต่าง ๆ 

ขณะที่จีน ซึ่งมีพลเมืองกว่า 1.4 พันล้านคน จะพบว่ามีพ่อค้า นักธุรกิจ ชาวจีนออกมาประกอบธุรกิจมากมายหลายอย่าง ตั้งแต่ธุรกิจขนาดเล็กไปจนถึงธุรกิจขนาดใหญ่อยู่ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยของเรา

ฉะนั้น ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดคือ พ่อค้า นักธุรกิจ ชาวจีน จะออกมาประกอบธุรกิจการค้าในต่างแดน โดยไม่มีรัฐบาลจีนเป็นหลังพิง (Back-up) เหมือนกับบรรดาบริษัทอเมริกันทั้งหลาย จึงต้องทำตามกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติของตามแต่ละประเทศนั้น ๆ 

แน่นอนว่า ในประเทศที่ผู้บังคับใช้กฎหมายเคร่งครัดในการปฏิบัติ ก็จะไม่มีปัญหาในการลักลอบกระทำผิดกฎหมายของคนเหล่านั้น แต่กลับกันในประเทศที่ในประเทศที่ผู้บังคับใช้กฎหมายหย่อนยาน ไม่เคร่งครัด ในการปฏิบัติหน้าที่ ไม่มีความยับยั้งชั่งใจ ละโมบ โลภมาก ก็จะมีปัญหาในการลักลอบกระทำผิดกฎหมายเกิดขึ้น ดังเช่นเรื่อง 'จีนเทา' ที่เกิดขึ้นในบ้านเรา ซึ่งต้องยอมรับว่า เกิดจากความหย่อนยานในการปฏิบัติ ความละโมบโลภมาก เห็นแก่อามิสสินจ้าง ความเกรงกลัวต่ออิทธิพลของผู้มีอำนาจ ฯลฯ ของเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบเหล่านั้น 

อันที่จริงเรื่องของการกระทำผิดกฎหมาย อาชญากรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกคนในสังคม หากเราทราบเรื่อง มีเบาะแส เกี่ยวกับความไม่ถูกต้องที่เกิดขึ้นทั้งหลายทั้งปวง ต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบดำเนินการทันที 

...และหากเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเพิกเฉยละเลย ในปัจจุบันก็มีช่องทางมากมายในการติดตามหรือเร่งรัด ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์ดำรงธรรมประจำจังหวัด, กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.), สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.), คณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องของรัฐสภา, สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และศาลปกครอง เป็นต้น

สำหรับบ้านเราแล้ว ปัญหาจาก ‘ทุนนิยม’ จีน สามารถจัดการแก้ไขได้ง่ายกว่าปัญหาจาก ‘ทุนนิยม’ อเมริกัน เพราะในเรื่องของการทำผิดกฎหมายแล้ว รัฐบาลจีนจะไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวแทรกแซงกับกิจการภายในของประเทศที่ชาวจีนหรือบริษัทไปสร้างปัญหาหรือทำผิดกฎหมาย ถ้ากระบวนการยุติธรรมของประเทศนั้น ๆ เป็นไปด้วยความถูกต้องและเที่ยงธรรม 

หากแต่ถ้าเป็นประเทศตะวันตกอย่างเช่น สหรัฐอเมริกาแล้ว รัฐบาลอเมริกันพร้อมที่จะเข้าไปแทรกแซงยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในของประเทศที่ชาวอเมริกันหรือบริษัทอเมริกันไปสร้างปัญหาหรือทำผิดกฎหมายในเรื่องของเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ไม่ว่ากระบวนการยุติธรรมของประเทศนั้น ๆ เป็นไปด้วยความถูกต้องและเที่ยงธรรมหรือไม่ก็ตาม 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top