วิเคราะห์ทุนนิยมสไตล์ 'อเมริกัน' VS 'จีน' ฝ่ายหนึ่งละ ฝ่ายหนึ่งแทรกแซงกิจการชาติอื่น

เมื่อพูดถึงเรื่องของ ‘ทุนนิยม’ ผู้คนต่างก็มักจะมองไปยังโลกตะวันตกโดยเฉพาะ ‘สหรัฐอเมริกา’ โดยลืมไปว่า ‘สาธารณรัฐประชาชนจีน’ ก็มีระบบเศรษฐกิจที่มีความเป็น ‘ทุนนิยม’ เฉกเช่นเดียวกัน ทั้ง ๆ ที่มีระบอบการปกครองที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงคือ ‘คอมมิวนิสต์’ กับ ‘ประชาธิปไตย’ 

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า การที่จีนก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจอันดับสองตามติดสหรัฐอเมริกาชนิดหายใจรดต้นคอได้ก็ด้วยเพราะ ระบบเศรษฐกิจแบบ ‘ทุนนิยม’ นับตั้งแต่ท่านเติ้งเสี่ยวผิง ผู้นำจีนในยุค 1980 ได้นำหลักการตามแนวคิด ‘ไม่ว่าแมวขาวหรือแมวดำ ขอเพียงจับหนูได้ ก็คือแมวที่ดี’ มาใช้ขับเคลื่อนประเทศ

ด้วยระบบเศรษฐกิจแบบ ‘ทุนนิยม’ นี้เองที่ทำให้จีนใช้เวลาเพียงไม่ถึง 40 ปี ในการเปลี่ยนแปลงประเทศจากความล้าหลังมากมาย จนกลายเป็นความล้ำสุด ๆ และที่สำคัญที่สุดคือ ‘กลายเป็นโรงงานอุตสาหกรรมของโลก’ ได้เกือบทุกชนิดในราคาที่ต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ โดยมี ‘สหรัฐอเมริกา’ ประเทศที่ขนาดเศรษฐกิจอันดับหนึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุด

ทั้งนี้ หากนำความหมายของคำว่า ‘ทุนนิยม’ (Capitalism) อันเป็นระบบเศรษฐกิจซึ่งนายจ้างเป็นเจ้าของปัจจัยในการผลิต ควบคุมการค้า อุตสาหกรรม และวิถีการผลิต โดยมีเป้าหมายเพื่อทำกำไรในเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี จะมีลักษณะที่สำคัญดังนี้...

(1) เอกชนสามารถถือครองทรัพย์สินได้มากเท่าที่จะหามาได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย 
(2) การแข่งขันเสรี ซึ่งจะทำให้ผู้ขายเสนอราคาที่เหมาะสมที่สุดด้วยศักยภาพการผลิตที่ดีที่สุด 
(3) ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบตลาด ซึ่งอนุญาตให้เอกชนสามารถลงทุนในการผลิตหรือใช้จ่ายเงินเพื่อหาซื้อสินค้าและบริการได้ตามความสามารถและความต้องการ โดยไม่มีกฎระเบียบหรือข้อบังคับจากรัฐบาล ด้วยเชื่อว่าที่สุดแล้วจะทำให้ราคาของสินค้าและบริการอยู่ในจุดสมดุลที่ผู้ซื้อและผู้ผลิตเห็นตรงกันว่าราคาอยู่ในช่วงที่เหมาะสม 
(4) มีความอิสระในการบริหาร โดยปราศจากการแทรกแซงของรัฐบาล 

ด้วยบริบทดังกล่าวนี้ที่ว่ามานี้ ทำให้ระบบ ‘ทุนนิยม’ ของจีนและสหรัฐอเมริกา จึงไม่ได้มีความแตกต่างกันแต่อย่างใดเลย

นับตั้งแต่จีนปล่อยให้ระบบเศรษฐกิจเป็นไปตามแนวทาง ‘ทุนนิยม’ ระบบเศรษฐกิจของทั้งจีนและสหรัฐฯ ต่างก็เกื้อหนุนกันมาโดยตลอด ระบบเศรษฐกิจของจีนโดยรวมก็เติบโตและมีความแข็งแกร่งขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สหรัฐฯ เองบรรดาผู้ประกอบการ ผู้นำเข้า และนักลงทุนในจีนต่างก็ได้ประโยชน์อย่างต่อเนื่องเช่นกัน 

ทว่า ก็มีความแตกต่างจากประโยชน์ของสองประเทศที่ได้รับ อาทิ จีนเกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจโดยภาพรวมกับประชาชนทุกระดับชั้น ในขณะที่สหรัฐฯ กลับอยู่กับเพียงคนกลุ่มเดียว (ผู้ประกอบการ ผู้นำเข้า และนักลงทุนในจีน) ในขณะที่ประชาชนชาวอเมริกันได้ประโยชน์เพียงการได้บริโภคสินค้าราคาถูกจากจีน 

อย่างไรก็ตาม ระบบ ‘ทุนนิยม’ ของสองประเทศนี้ต่างก็สร้างผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อชาวโลก 

ถึงกระนั้น หากดูหากภูมิหลัง ความต่อเนื่อง และบริบท ฯลฯ จะพบบทบาทและลักษณะที่เกิดขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจของโลกที่มีความแตกต่างกันจากทั้งสองประเทศ ดังนี้...

ความเป็น ‘ทุนนิยม’ ของสหรัฐฯ มีมาต่อเนื่องยาวนานกว่าร้อยปี จึงมีพัฒนาการและการแผ่ขยายและแพร่กระจายที่เห็นได้ชัดเจนกว่า โดยสหรัฐฯ ตั้งอยู่บนทวีปอเมริกาเหนือและเชื่อมต่อกับทวีปอเมริกาใต้ การขยายตัวด้านเศรษฐกิจและการค้าทางภาคพื้นดินจึงทำได้เพียงสองประเทศ 

ในขณะที่จีนตั้งอยู่ในทวีปเอเชีย ซึ่งเป็นทวีปที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและประชากรมากที่สุด ทั้งยังสามารถขยายตัวด้านเศรษฐกิจและการค้าทางภาคพื้นดินได้จนถึงทวีปยุโรปซึ่งอยู่ติดกัน อันเป็นที่มาของนโยบาย ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative (BRI) หรือ One Belt One Road (OBOR))’ เพื่อเชื่อมจีนกับสังคมโลกด้วยระบบเศรษฐกิจเครือข่าย

กลับกัน สหรัฐฯ ซึ่งหากจะเชื่อมต่อกับทวีปอื่น ๆ จำเป็นต้องใช้การขนส่งทางน้ำและทางอากาศ สหรัฐฯ จึงยังคงใช้นโยบาย ‘เรือปืน’ (Gunboat Diplomacy) ด้วยการมีฐานทัพทางทหารอยู่ทั่วโลกกว่า 800 แห่ง มีกำลังทางเรือและกำลังทางอากาศที่สามารถปฏิบัติการได้ทั่วโลกตลอด 24 ชั่วโมง 

ดังนั้น หากมองพัฒนาการ ‘ทุนนิยม’ ของสหรัฐฯ ที่มีความต่อเนื่องยาวนานกอปรกับนโยบาย ‘เรือปืน’ ปฏิสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศคู่ทั่วโลก จึงมีความเป็นระบบมากกว่า และดำเนินการโดยบริษัทการค้าข้ามชาติของสหรัฐฯ ขนาดใหญ่ และได้รับการสนับสนุนด้านนโยบายที่เอื้อประโยชน์ในด้านต่าง ๆ จากรัฐบาลอเมริกัน 

จากนั้น บริษัทอเมริกันต่าง ๆ จึงสามารถดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศได้อย่างสะดวกสบายโดยมีรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นหลังพิง (Back-up) ตราบใดที่ยังคงเสียภาษีให้กับรัฐอย่างถูกต้อง ไม่ทำผิดกฎหมายสหรัฐฯ (และให้การสนับสนุนพรรคการเมืองใหญ่ของอเมริกันทั้งสองพรรค) 

ทั้งนี้ หากมองปฏิสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้า ซึ่งเป็นไปในระดับบนหรือระดับชาติเป็นส่วนใหญ่นั้น เพราะสหรัฐฯ เองเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่มากเกือบเท่ากับจีน แต่กลับมีประชากรเพียงหนึ่งในสี่ของประชากรจีน ประกอบด้วยรัฐต่าง ๆ จึงแทบจะไม่เห็น พ่อค้า นักธุรกิจ ชาวอเมริกันมาประกอบธุรกิจขนาดเล็กในประเทศต่าง ๆ 

ขณะที่จีน ซึ่งมีพลเมืองกว่า 1.4 พันล้านคน จะพบว่ามีพ่อค้า นักธุรกิจ ชาวจีนออกมาประกอบธุรกิจมากมายหลายอย่าง ตั้งแต่ธุรกิจขนาดเล็กไปจนถึงธุรกิจขนาดใหญ่อยู่ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยของเรา

ฉะนั้น ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดคือ พ่อค้า นักธุรกิจ ชาวจีน จะออกมาประกอบธุรกิจการค้าในต่างแดน โดยไม่มีรัฐบาลจีนเป็นหลังพิง (Back-up) เหมือนกับบรรดาบริษัทอเมริกันทั้งหลาย จึงต้องทำตามกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติของตามแต่ละประเทศนั้น ๆ 

แน่นอนว่า ในประเทศที่ผู้บังคับใช้กฎหมายเคร่งครัดในการปฏิบัติ ก็จะไม่มีปัญหาในการลักลอบกระทำผิดกฎหมายของคนเหล่านั้น แต่กลับกันในประเทศที่ในประเทศที่ผู้บังคับใช้กฎหมายหย่อนยาน ไม่เคร่งครัด ในการปฏิบัติหน้าที่ ไม่มีความยับยั้งชั่งใจ ละโมบ โลภมาก ก็จะมีปัญหาในการลักลอบกระทำผิดกฎหมายเกิดขึ้น ดังเช่นเรื่อง 'จีนเทา' ที่เกิดขึ้นในบ้านเรา ซึ่งต้องยอมรับว่า เกิดจากความหย่อนยานในการปฏิบัติ ความละโมบโลภมาก เห็นแก่อามิสสินจ้าง ความเกรงกลัวต่ออิทธิพลของผู้มีอำนาจ ฯลฯ ของเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบเหล่านั้น 

อันที่จริงเรื่องของการกระทำผิดกฎหมาย อาชญากรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกคนในสังคม หากเราทราบเรื่อง มีเบาะแส เกี่ยวกับความไม่ถูกต้องที่เกิดขึ้นทั้งหลายทั้งปวง ต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบดำเนินการทันที 

...และหากเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเพิกเฉยละเลย ในปัจจุบันก็มีช่องทางมากมายในการติดตามหรือเร่งรัด ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์ดำรงธรรมประจำจังหวัด, กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.), สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.), คณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องของรัฐสภา, สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และศาลปกครอง เป็นต้น

สำหรับบ้านเราแล้ว ปัญหาจาก ‘ทุนนิยม’ จีน สามารถจัดการแก้ไขได้ง่ายกว่าปัญหาจาก ‘ทุนนิยม’ อเมริกัน เพราะในเรื่องของการทำผิดกฎหมายแล้ว รัฐบาลจีนจะไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวแทรกแซงกับกิจการภายในของประเทศที่ชาวจีนหรือบริษัทไปสร้างปัญหาหรือทำผิดกฎหมาย ถ้ากระบวนการยุติธรรมของประเทศนั้น ๆ เป็นไปด้วยความถูกต้องและเที่ยงธรรม 

หากแต่ถ้าเป็นประเทศตะวันตกอย่างเช่น สหรัฐอเมริกาแล้ว รัฐบาลอเมริกันพร้อมที่จะเข้าไปแทรกแซงยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในของประเทศที่ชาวอเมริกันหรือบริษัทอเมริกันไปสร้างปัญหาหรือทำผิดกฎหมายในเรื่องของเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ไม่ว่ากระบวนการยุติธรรมของประเทศนั้น ๆ เป็นไปด้วยความถูกต้องและเที่ยงธรรมหรือไม่ก็ตาม 


เรื่อง: กองบรรณาธิการ THE STATES TIMES