Wednesday, 3 July 2024
ทางยกระดับลาดกระบังถล่ม

เปิดข้อเท็จจริงอีกด้าน ทางยกระดับลาดกระบังถล่ม เชื่อเป็นความประมาทและละเลยมาตรฐานทางวิศวกรรม

(11 ก.ค.66) ผู้ใช้เฟซบุ๊ก ‘ดำรงค์ นาวิกไพบูลย์’ ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับกรณีสะพานข้ามแยก ย่านลาดกระบัง ถล่ม โดยระบุว่า…

ส่วนที่มีการโจมตีว่า เพราะทีมชัชชาติไปสั่งแก้แบบ เลยทำให้สะพานถล่ม
อันนี้ ผมเองก็เป็นวิศวกร และผมคิดว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับแก
ชัชชาติเคยลงพื้นที่ตรงนั้นเมื่อหลายเดือนก่อนจริง
แต่ที่แกสั่งคือ เร่งรัดการก่อสร้าง เพราะผู้รับเหมา (ผรม.) ทำงานช้ากว่ากำหนด แถมทำพื้นที่ส่วนรวมเลอะเทอะ ชาวบ้านเดือดร้อน

ส่วนแบบที่ กทม. เสนอแก้อ่ะ คือจากแบบเดิมที่ ‘หล่อหน้างาน’ (girder box segment) มาเป็นแบบ ‘หล่อจากโรงงาน’ (precast box segment) แล้วยกมาประกอบหน้างาน

โครงการสะพานใหญ่ ๆ ในบ้านเรา ใช้เทคนิค precast กันก็เยอะ โครงการรถไฟฟ้าก็ใช้

Precast มันดีตรงที่หล่อในโรงงาน จึงควบคุมคุณภาพได้แม่นยำกว่าแบบหล่อหน้างาน แต่ข้อเสียคือขนส่งลำบาก มึงต้องมีรถนำขบวน แถมต้องขนตอนดึก เวลาที่คนนอนกันหมดแล้ว

แต่จะเปลี่ยนเทคนิคกันยังไงก็ช่าง
แบบก่อสร้าง ต้องมีวิศวกรระดับสามัญ - วุฒิวิศวกรเซ็นรับรอง ซึ่งกว่ามึงจะได้ใบอนุญาตมานะ เลือดตาแทบกระเด็น 

ระดับสามัญ อย่างเร็วคือ 7 ปี แต่บางคนทำมาเป็น 10 ปียังสอบไม่ได้เลย
แถมพลาดมา ติดคุก คำเดียว
ทำงานช้าแค่โดนด่า แต่ทำงานพลาดมึงติดคุก
อาชีพวิศวกรที่มีใบอนุญาตฯ มันเป็นแบบนี้

ที่สำคัญนะ
งานก่อสร้างอ่ะ ที่แบบไม่ค่อยพลาดกันหรอก
มันมีคู่มือให้เดินตาม มีมาตรฐานประกบหมด โอกาสพลาดต่ำมาก

ส่วนใหญ่จะพลาดกันที่การก่อสร้าง ทำงานไม่ได้มาตรฐาน
อันนี้ มึงไปดูโพสต์พี่เอ้ สุชัชวีร์ อดีตศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรม
แกเคยเตือนเอาไว้เมื่อปีที่แล้วว่าไซต์นี้เสี่ยง เนื่องจากทำงานไม่ได้มาตรฐานทางวิศวกรรม
ซึ่งมาตรฐานทางวิศวกรรมที่ว่า แกหมายถึงมาตรฐานความปลอดภัยในการปฏิบัติงานวิศวกรรมนั่นแหละ

เรื่องนี้ ทีมชัชชาติไม่เกี่ยว
ส่วนตัวผมคิดว่า เป็นความประมาท และละเลยมาตรฐานทางวิศวกรรมเสียมากกว่า

'อ.ต่อตระกูล' แนะ!! เริ่มสอบจาก 'วิศวกร' ก่อน เชื่อ!! ไม่น่าใช่อุบัติเหตุ และไม่ใช่ครั้งสุดท้าย

(11 ก.ค.66) รองศาสตราจารย์ ต่อตระกูล ยมนาค นายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กเกี่ยวกับกรณีทางยกระดับถล่มย่านลาดกระบัง ว่า..

โครงการทางยกระดับ เขตลาดกระบัง ของกทม. มูลค่าเกือบ 2 พันล้าน ยาวถึง 3 กิโลเมตร ได้ถล่มลงมาในระหว่างการก่อสร้าง เหลือเป็นเศษคอนกรีต 

ขอเสนอในฐานะที่เป็นวิศวกรด้วยกัน ว่าต้องเริ่มสอบสวนที่ วิศวกร ก่อน 

สอบจากวิศวกรทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ออกแบบ ผู้ควบคุมงาน วิศวกรโครงการของผู้รับเหมา   

และสอบผู้จัดการประมูล ที่ได้มาซึ่งผู้รับเหมารายนี้ด้วย    

โครงการก่อสร้างทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร มูลค่าโครงการ 1,938.3 ล้านบาท เป็นของสำนักงานกรุงเทพมหานคร (สำนักงาน กทม.) 1,664.5 ล้านบาท และงานของการไฟฟ้านครหลวง 273.75 ล้านบาท สัญญาสิ้นสุดต้องเสร็จภายใน สิงหาคม 2566 นี้

ฝาก วสท. (วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์) ช่วยส่งทีมวิศวกรจากหลาย ๆ ฝ่าย ให้ความยุติธรรม และให้เหตุผลทางหลักวิชาการวิศวกรรม เพื่อเป็นบทเรียน ไว้ใช้ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำซากอีกต่อไป

ไม่ใช่อุบัติเหตุ แน่นอน ครับ ! และจะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย

‘เพื่อไทย’ เร่งหาสาเหตุ ‘ทางยกระดับลาดกระบังถล่ม’ เยียวยาผู้เสียหาย ควบคุมการก่อสร้างทุกพื้นที่ทันที

(12 ก.ค.66) ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงเหตุการณ์โครงการก่อสร้างทางยกระดับถนนอ่อนนุช-ลาดกระบังทรุดตัวจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บว่า พรรคเพื่อไทยขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้เสียชีวิต ผู้ได้รับบาดเจ็บ และผู้ได้รับความเสียหายทุกท่าน 

ทั้งนี้ ตัวแทนของพรรคเพื่อไทยนำโดย ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เขตลาดกระบัง และ ดร.สุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตลาดกระบัง ได้เข้าประสานงานช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหายทันทีที่รับทราบสถานการณ์ และขอแสดงความขอบคุณต่อหน่วยงานของกรุงเทพมหานครที่เข้าดำเนินการต่อสถานการณ์ดังกล่าวด้วยความรวดเร็ว

พรรคเพื่อไทย ขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีมาตรการที่เร่งด่วนในการดำเนินการต่อไป ดังนี้...

1. เร่งรัดกระบวนการตรวจสอบสาเหตุของสถานการณ์ดังกล่าวอย่างโปร่งใส และนำเสนอความคืบหน้าในการตรวจสอบให้สาธารณชนอย่างต่อเนื่อง 

2. เร่งกำชับการกำกับดูแลการก่อสร้างในทุกพื้นที่ และตรวจสอบให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้เดินทางผ่านพื้นที่ก่อสร้างต่าง ๆ และประชาชนโดยรอบ ได้มีความสบายใจในการดำเนินกิจกรรมตามปกติ 

3. เร่งรัดมาตรการเยียวยาแก่ผู้เสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top