Sunday, 20 April 2025
ตำรวจไซเบอร์เตือนภัย

ตำรวจไซเบอร์เตือนภัย เพจที่พักปลอมระบาดหนักในฤดูกาลท่องเที่ยว ก่อนโอนเงินตรวจสอบให้ดี

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. ขอประชาสัมพันธ์เตือนภัย มิจฉาชีพสร้างเพจเฟซบุ๊กปลอม โดยลอกเลียนแบบเพจที่พักจริงในพื้นที่สำคัญต่างๆ แอบอ้างเป็นเจ้าของที่พัก หรือแอดมินเพจหลอกลวงประชาชนให้โอนเงินค่ามัดจำ ดังนี้

ได้รับรายงานว่าจากการตรวจสอบในระบบการรับแจ้งความออนไลน์ พบมีผู้เสียหายหลายถูกมิจฉาชีพหลอกลวงให้โอนเงินค่ามัดจำที่พักก่อนเดินทางเข้าพักจริงในช่วงวันหยุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่พักในพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญๆ ในหลายจังหวัด ไม่ว่าจะเป็น ภูเก็ต ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด เป็นต้น ซึ่งมิจฉาชีพจะใช้แผนประทุษกรรมหลักอยู่ 2 วิธี คือ วิธีที่หนึ่ง สร้างเพจเฟซบุ๊กที่พักปลอมขึ้นมา หรือใช้เพจเฟซบุ๊กเดิมที่มีผู้ติดตามอยู่แล้ว ตั้งชื่อหรือเปลี่ยนชื่อเพจให้เหมือนกับเพจจริง คัดลอกภาพโปรไฟล์ ภาพหน้าปก เนื้อหา และโปรโมชันต่างๆ จากเพจจริงมาใช้หลอกลวงผู้เสียหาย และใช้เทคนิคในการซื้อ หรือยิงโฆษณาเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และเพื่อที่จะสามารถเข้าถึงเป้าหมายได้ง่ายขึ้น วิธีที่สอง ใช้บัญชีเฟซบุ๊กอวตารแฝงตัวเข้าไปในกลุ่มแนะนำโรงแรม หรือที่พักต่างๆ โพสต์ข้อความในลักษณะว่ามีที่พักหลุดจองราคาดี กระทั่งผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินไปแล้ว ก็จะไม่สามารถติดต่อเพจนั้น หรือบัญชีอวตารนั้นได้ หรือกรณีที่แย่ที่สุดเมื่อผู้เสียหายเดินทางไปถึงที่พักจริงแล้ว กลับได้รับแจ้งว่าไม่ได้มีการจองที่พักมาแต่อย่างใด ทำให้นอกจากจะสูญเสียทรัพย์สิน เสียเวลาแล้ว ยังจะไม่มีที่เข้าพักอีกด้วย ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมาจากการตรวจสอบพบว่ามีผู้เสียหายกว่า 238 ราย ความเสียหายรวมหลายล้านบาท หรือคิดเป็นเฉลี่ยรายละประมาณ 4,600 บาท

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้ความสำคัญ และมีความห่วงใยต่อภัยการหลอกลวงผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงประชาชนขายสินค้าหรือบริการผ่านสื่อสังคมออนไลน์ สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง โดยได้กำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งวางมาตรการในการป้องกันและปราบปรามอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร., พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ซึ่งรับผิดชอบในด้านงานป้องกันปราบปราม ได้กำชับสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดเร่งดำเนินการปราบปรามจับกุมผู้กระทำผิดอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง รวมถึงวางมาตรการป้องกันสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของเหล่ามิจฉาชีพ

ที่ผ่านมา บช.สอท. โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบ

โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า เเม้ว่าการหลอกลวงในลักษณะดังกล่าวจะมีความเสียหายที่ไม่มากเท่ากับความเสียหายของการหลอกลวงในรูปแบบอื่นๆ แต่จะเห็นว่ามีจำนวนผู้เสียหายสูงกว่าในรูปแบบอื่น ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงแต่ไม่ประสงค์จะแจ้งความร้องทุกข์ เนื่องจากเห็นว่าเป็นจำนวนเงินเล็กน้อย เพราะฉะนั้นการสำรองที่พัก หรือบริการต่างๆ ผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ ควรตรวจสอบให้ดีเสียก่อน เพราะอาจจะเป็นช่องทางที่ถูกมิจฉาชีพสร้างปลอมขึ้นมาเพื่อหลอกลวงเอาทรัพย์สินของประชาชน ขอให้ระมัดระวัง รู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพเหล่านี้ ไม่หลงเชื่อเพียงเพราะมีชื่อเพจเฟซบุ๊กที่พักเหมือนที่พักจริง หรือเพียงเพราะพบเจอผ่านการค้นหาผ่านเว็บไซต์ค้นหาทั่วไป พบเจอในกลุ่มท่องเที่ยวต่างๆ หรือถูกส่งต่อกันมาตามสื่อสังคมออนไลน์

ตำรวจไซเบอร์เตือนภัย มิจฉาชีพแอบอ้างสถาบันการเงิน หลอกลวงให้กู้เงินออนไลน์ระบาดหนัก

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. กล่าวว่า ได้รับรายงานจากการตรวจสอบสถิติการรับแจ้งความผ่านศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์พบว่า ในช่วงที่ผ่านมามีผู้เสียหายหลายรายถูกมิจฉาชีพหลอกลวงให้กู้เงินผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพจfacebook ซึ่งถูกมิจฉาชีพสร้างขึ้นมาโดยแอบอ้างชื่อเพจสถาบันการเงิน หรือธนาคารต่างๆ รวมถึงใช้สัญลักษณ์ของสถาบันการเงินนั้นๆ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ มีการประกาศโฆษณาด้วยข้อความต่างๆ อาทิเช่น บริการกู้เงินฉุกเฉินในวงเงินสูง สมัครง่าย อนุมัติเร็ว ดอกเบี้ยต่ำ ใช้เอกสารน้อย ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน ไม่ตรวจสอบเครดิต และมีกฎหมาย PDPA คุ้มครอง เป็นต้น จากนั้นเมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อเพิ่มเพื่อนทางไลน์เพื่อติดต่อไปขอรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง มิจฉาชีพจะหลอกขอข้อมูลส่วนตัว ภาพถ่ายบัตรประชาชน เลขที่บัญชีธนาคาร มีการให้ทำสัญญากู้เงินปลอม จากนั้นจะให้ผู้เสียหายโอนเงินให้ก่อนอ้างว่าเป็นเงินค่าธรรมเนียม ค่าเบี้ยประกัน หรือค่าอื่นๆ กระทั่งผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินไปแล้วก็ไม่ได้รับเงินกู้แต่อย่างใด มิจฉาชีพก็อ้างเหตุผลต่างๆ เพื่อให้ผู้เสียหายโอนเงินมาเพิ่มอีก เช่น โอนเงินผิดบัญชี หรือโอนเงินเกินเวลาที่กำหนด หรือทำธุรกรรมการเงินที่ผิดพลาดอื่นๆ ทั้งนี้ในระหว่างวันที่ 1 – 30 มิ.ย. 66 มีประชาชนถูกหลอกลวงให้กู้เงินออนไลน์กว่า 1,739 เรื่อง หรือคิดเป็น 10.34% ของจำนวนเรื่องการรับแจ้งความออนไลน์ทั้งหมด และมีความเสียหายรวมกว่า 73 ล้านบาท

บช.สอท. โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้เร่งรัดขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอาชญากรรมออนไลน์ในทุกรูปแบบ รวมถึงการสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงประชาชนให้กู้เงินผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งถือเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน

โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันมิจฉาชีพจะแอบอ้างเป็นผู้ให้บริการเงินกู้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย หลอกลวงประชาชนผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ หรือผ่านข้อความสั้น (SMS) หรือโทรศัพท์ไปยังประชาชน โฆษณาชวนเชื่อในลักษณะว่า กู้ง่าย อนุมัติเร็ว วงเงินสูง ดอกเบี้ยต่ำ ไม่ต้องมีหลักประกัน ใช้เอกสารน้อย เป็นต้น เพราะฉะนั้นประชาชนต้องพึงระวังการกู้เงินในลักษณะดังกล่าว ต้องรู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพ ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าผู้ให้บริการได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจอย่างถูกต้องหรือไม่ หากจำเป็นต้องกู้เงินควรเลือกกู้เงินจากสถาบันการเงินที่น่าเชื่อถือ และศึกษารายละเอียดของผู้ให้กู้ให้ดี รวมถึงมีสัญญาการกู้ที่ชัดเจนและเป็นธรรม เพื่อป้องกันการถูกเอาเปรียบ หากพบเห็นความผิดปกติ หรือขอเสนอที่ดีเกินไปควรหลีกเลี่ยง อย่าหลงเชื่อว่าตัวเองโชคดี

จึงขอฝากประชาสัมพันธ์แนวทางป้องกันการถูกหลอกลวงให้กู้เงินออนไลน์ ดังนี้
1.ถ้าผู้ให้บริการกู้เงินรายใด แจ้งให้ผู้ขอกู้โอนเงินก่อน ไม่ว่าจะเป็นค่าใดๆ ก็ตาม สันนิษฐานไว้เลยว่าเป็นมิจฉาชีพ
2.ตรวจสอบผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตได้ที่เว็บไซต์ ธนาคารแห่งประเทศไทย www.bot.or.th
3.ระวังเว็บไซต์ปลอมที่แอบอ้างสถาบันการเงินต่างๆ โดยเว็บไซต์ปลอมจะไม่สามารถเข้าถึงฟังก์ชันต่างๆ ของเว็บไซต์ได้ คาดหวังเพียงหลอกลวงให้เหยื่อเพิ่มเพื่อนทางไลน์เท่านั้น
4.ระวังไลน์ทางการปลอม ตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีสัญลักษณ์ยืนยันตัวตนโล่สีเขียว หรือโล่สีน้ำเงิน หรือไม่
5.ไม่ควรกู้เงินผ่านแอปพลิเคชัน ที่ถูกส่งลิงก์แนบมากับข้อความสั้น (SMS) หรือสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ
6.แอปพลิเคชันเงินกู้นอกระบบ มักจะตั้งชื่อคล้ายคลึงกับผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาต หรือแอบอ้างเป็นผู้ได้รับอนุญาต ควรสอบถาม หรือหาข้อมูลด้วยตนเองจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ว่าเป็นแอปพลิเคชันของผู้ให้บริการจริงหรือไม่
7.แอปพลิเคชันเงินกู้สามารถเข้าถึงข้อมูลรายชื่อผู้ติดต่อในโทรศัพท์ มิจฉาชีพจะนำข้อมูลที่ได้ไปข่มขู่บุคคลดังกล่าว เพื่อให้ผู้กู้อับอายรีบนำเงินมาชำระโดยเร็ว
8.ไม่ควรหลงเชื่อเพียงเพราะมีการสร้างความน่าเชื่อ เช่น สอบถามข้อมูลส่วนตัว ให้ทำสัญญาเงินกู้ และขอเอกสารต่างๆ เช่น สำเนาบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน สมุดบัญชีเงินฝาก คล้ายกับการขอกู้ที่ธนาคารจริง

ตำรวจไซเบอร์เตือนภัย มิจฉาชีพใช้ภาพหญิงสาวหน้าตาดีประกาศโฆษณา ผ่านเพจเฟซบุ๊กหลอกลวงให้เหยื่อโอนเงิน พบผู้เสียหายแล้วหลายราย

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. กล่าวว่า ได้รับรายงานว่าจากการตรวจสอบการกระทำความผิดในสื่อสังคมออนไลน์พบเพจเฟซบุ๊กจำนวนหลายเพจ มีการนำเสนอภาพและคลิปวิดีโอของหญิงสาวหน้าดี หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงในสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งถูกมิจฉาชีพนำมาตัดต่อประกอบกับโพสต์ข้อความในลักษณะเชิญชวนบุคคลทั่วไปให้มาใช้บริการทางเพศออนไลน์ เช่นใช้คำโฆษณาว่า “ แหล่งรวมสาวสวย เราจัดให้แล้วมีทั้ง PR นักศึกษา ชุดคอสเพลย์ หรือแหล่งรวมสาว ม.ปลาย - มหาลัย ความสุขที่ไม่ต้องเดินทาง จัดส่งให้ถึงที่ไม่ว่าใกล้หรือไกล ” เป็นต้น โดยเมื่อเข้าไปตรวจสอบภายในเพจดังกล่าวแม้จะมีผู้ติดตามอยู่จำนวนมาก แต่จะมีผู้จัดการดูแลเพจอยู่ต่างประเทศ ทั้งนี้เมื่อมีผู้หลงเชื่อติดต่อส่งข้อความ หรืออินบ็อก (Inbox) ไปยังเพจในลักษณะดังกล่าว ก็จะถูกมิจฉาชีพออกอุบายหลอกลวงให้โอนเงินไปยังบัญชีที่เตรียมไว้ เมื่อโอนเงินเรียบร้อยจะถูกบล็อคบัญชีทำให้ไม่สามารถติดต่อได้ แล้วไปหลอกลวงผู้เสียหายรายอื่นๆ ต่อไป

การกระทำดังกล่าวอาจจะเข้าข่ายความผิดฐาน “ ฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตา 343, นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบาง ส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน, นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติมหรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใดฯ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(1), 16 และโฆษณาหรือรับโฆษณา ชักชวน หรือแนะนำด้วยเอกสารสิ่งพิมพ์ หรือกระทำให้แพร่หลายด้วยวิธีใดไปยังสาธารณะที่เห็นได้ว่าเป็นการเรียกร้องหรือการติดต่อเพื่อการค้าประเวณีของตนเองหรือผู้อื่น ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี มาตรา 7 ” หรือฐานความผิดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

บช.สอท. โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้เร่งรัดขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอาชญากรรมออนไลน์ในทุกรูปแบบ รวมถึงการสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงประชาชนให้โอนเงินด้วยวิธีการหรือกลโกงต่างๆ

โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้ประชาชนอย่าเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเพจหรือเว็บไซต์ในลักษณะดังกล่าวอย่างเด็ดขาด เพราะนอกจากท่านจะเสี่ยงถูกมิจฉาชีพหลอกลวงให้โอนเงินสูญเสียทรัพย์สินแล้ว ท่านยังมีอาจจะมีความผิดในส่วนของผู้ที่มีส่วนส่งเสริม หรือเกี่ยวข้องกับการค้าบริการทางเพศ โดยผู้ใช้บริการทางเพศโดยหลักแล้วไม่มีความผิดแต่อย่างใด เว้นแต่จะใช้บริการทางเพศจากอายุเกิน 15 แต่ไม่ถึง 18 ปี ในสถานการค้าประเวณี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี – 3 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 – 60,000 บาท ถ้าใช้บริการทางเพศจากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ต้องรับโทษหนักขึ้นอีก คือ จำคุกตั้งแต่ 2 – 6 ปี และปรับตั้งแต่ 40,000 – 200,000 บาท กรณีนี้ แม้ผู้ให้บริการทางเพศจะยินยอมก็มีความผิดตามกฎหมาย

ตำรวจไซเบอร์เตือนภัย มิจฉาชีพจัดโปรโมชัน ลด แลก แจก แถม ในช่วงวันแม่แห่งชาติ หลอกขายสินค้าและบริการออนไลน์

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. กล่าวว่าได้รับรายงานจากการตรวจสอบสถิติการรับแจ้งความผ่านศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์พบว่า ในช่วงที่ผ่านมายังคงมีผู้เสียหายหลายรายถูกมิจฉาชีพหลอกลวงขายสินค้าและบริการออนไลน์ในหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวันแม่แห่งชาตินั้น มิจฉาชีพอาจฉวยโอกาสใช้วันสำคัญดังกล่าวจัดโปรโมชันต่างๆ เพื่อหลอกลวงขายสินค้าหรือบริการให้แก่ประชาชนผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเพจร้านค้าปลอม หรือเพจที่พักปลอม หรือสร้างเพจปลอมเลียนแบบเพจจริง โดยจะมีการขายสินค้า หรือบริการในราคาต่ำกว่าปกติ เมื่อหลอกลวงได้ทรัพย์สินของผู้เสียหายแล้ว ก็จะปิดเพจหรือบล็อคบัญชีของผู้เสียหายทำให้ไม่สามารถติดต่อได้ ยกตัวอย่างกรณีของปีที่ผ่านๆ มา เช่น การปลอมเพจหลอกลวงขายผลไม้ในช่วงเวลาดังกล่าว, ผู้เสียหายซื้อโทรศัพท์มือถือเพื่อเป็นของขวัญให้แม่จากเพจร้านค้าปลอม, ผู้เสียหายสำรองห้องพักโปรโมชันวันแม่จากเพจที่พักปลอม เป็นต้น

ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมา นับตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.66 – 31 ก.ค.66 การหลอกลวงขายสินค้าหรือบริการออนไลน์ มีประชาชนตกเป็นเหยื่อสูงเป็นลำดับที่ 1 มีจำนวนกว่า 7,714 เรื่อง หรือคิดเป็น 49.09% ของเรื่องที่มีการรับแจ้งความออนไลน์ในเดือนดังกล่าว และมีมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 140 ล้านบาท

บช.สอท. โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้เร่งรัดขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอาชญากรรมออนไลน์ในทุกรูปแบบ รวมถึงการสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงขายสินค้าหรือบริการผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ

โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา บช.สอท. ได้เร่งระดมปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดในลักษณะดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง สามารถทำการจับกุมผู้ต้องหาได้หลายรายมาลงโทษตามกฎหมาย อย่างไรก็ตามการซื้อสินค้าหรือบริการผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่มิจฉาชีพฉวยโอกาสเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ หลอกลวงเอาทรัพย์สินของประชาชนโดยมิชอบ

จึงขอฝากประชาสัมพันธ์ พร้อมแนวทางการซื้อสินค้า หรือบริการผ่านช่องทางออนไลน์ ดังนี้
1.ระมัดระวังการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลหรือวันสำคัญๆ ควรหลีกเลี่ยงการซื้อสินค้าที่ไม่มีหน้าร้าน ควรติดต่อซื้อจากบริษัท หรือตัวแทนจำหน่ายโดยตรง รวมถึงการจองที่พักควรจองผ่านช่องทางที่เป็นทางการ หรือผ่านผู้ให้บริการออนไลน์ที่น่าเชื่อถือเท่านั้น
2.ระมัดระวังการซื้อสินค้าหรือบริการที่ราคาถูกกว่าปกติ หรือมีการจัดโปรโมชันอ้างลดแลกแจกแถม
3.หากจะซื้อสินค้าหรือบริการใดๆ ผ่านเพจเฟซบุ๊ก ต้องระมัดระวังเพจปลอม หรือเพจลอกเลียนแบบ โดยเพจจริงจะได้รับเครื่องหมายยืนยันตัวตน มีผู้ติดตามสูงกว่าเพจปลอม สร้างมาเป็นเวลานาน และมีรายละเอียดการติดต่อที่ชัดเจน อย่างน้อยต้องสามารถโทรศัพท์ติดต่อไปสอบถามข้อมูลได้
4.ตรวจสอบความโปร่งใสของเพจ ว่ามีการเปลี่ยนชื่อมาก่อนหรือไม่ ผู้จัดการเพจอยู่ในประเทศหรือไม่
5.หากเป็นการซื้อสินค้าออนไลน์ ควรตรวจสอบว่ามีสินค้าจริงหรือไม่ โดยขอดูภาพหลายๆ มุม สอบถามรายละเอียดสินค้าที่เกี่ยวข้อง ผลิตจากที่ใด เงื่อนไขการรับประกัน วิธีการใช้งาน เป็นต้น
6.ตรวจสอบการรีวิวสินค้าหรือบริการ จากผู้ที่เคยสั่งซื้อหรือรับบริการว่าเป็นอย่างไร
7.ก่อนโอนชำระเงินค่าสินค้า หรือบริการ ให้ตรวจสอบประวัติของร้าน ชื่อผู้รับโอนเงิน และหมายเลขบัญชีธนาคารปลายทาง ว่ามีประวัติการฉ้อโกงหรือไม่ ผ่านเว็บไซต์ Google, Blacklistseller, chaladohn เป็นต้น
8.ที่พักส่วนใหญ่ไม่มีนโยบายโอนเงินไปยังบัญชีส่วนตัว หรือบัญชีบุคคลธรรมดา บัญชีธนาคารปลายทางควรเป็นบัญชีชื่อที่พักหรือชื่อบริษัทเท่านั้น
9.กดรายงานบัญชี หรือเพจเฟซบุ๊กปลอม เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นหลงเชื่อ และตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

ตำรวจไซเบอร์เตือนภัย ใช้บริการนายหน้าหาคู่รักชาวต่างชาติออนไลน์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก เสี่ยงสูญเงินฟรี

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) กล่าวว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ และได้รับรายงานจากศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ตรวจสอบพบมีผู้เสียหายซึ่งเป็นหญิงหลายรายใช้บริการหาคู่รักผ่านเพจที่มีชื่อเสียงเพจหนึ่ง มีผู้ติดตามกว่า 150,000 ราย ถูกผู้ต้องหาที่อ้างตัวว่าเป็นโค้ช หรือนายหน้า ช่วยเหลือทำการติดต่อหาคนรักเป็นชายชาวต่างชาติให้ โดยมีการคิดค่าบริการแบ่งออกเป็นระดับตามสาขาอาชีพต่างๆ ได้แก่ คนรักชาวต่างชาติแบบธรรมดา อาชีพรับราชการ วิศวกร ราคา 20,000 บาท คนรักชาวต่างชาติแบบพิเศษ อาชีพนักธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ ราคา 30,000 บาท คนรักชาวต่างชาติแบบพิเศษ อาชีพแพทย์ เภสัชกร ราคา 50,000 บาท คนรักชาวต่างชาติแบบ Exclusive อาชีพเจ้าของไร่องุ่น ฟาร์มโคนม ราคา 100,000 บาท เป็นต้น รวมไปถึงการบริการสร้างโปรไฟล์ภาษาอังกฤษ เพื่อแนะนำตัว ในราคา 7,000 บาท และสอนวิธีการหาคนรักชาวต่างชาติแบบส่วนตัว (Private Coaching) ในราคา 5,000 บาท แต่สุดท้ายผู้ต้องหาก็ไม่ได้ติดต่อชายชาวต่างชาติให้ผู้เสียหายแต่อย่างใด หรือได้รับการติดต่อจากผู้ต้องหาว่ามีชายชาวต่างชาติสนใจผู้เสียหาย แต่ภายหลังกลับพบว่ารูปภาพบุคคลที่ส่งมาให้เป็นดารา นักกีฬา และนักธุรกิจที่มีชื่อเสียง จึงเชื่อว่าตนถูกหลอกลวงได้รับความเสียหาย จึงได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาดังกล่าวให้ได้รับโทษตามกฎหมาย
ทั้งนี้ที่ผ่านมานับตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.65 – 17 ก.ย.66 มีประชาชนถูกหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว หรือในลักษณะใกล้เคียงกันกว่า 2,621 เรื่อง หรือคิดเป็น 0.80% สูงเป็นลำดับที่ 12 ของจำนวนเรื่องการรับแจ้งความออนไลน์ทั้งหมด ความเสียหายรวมกว่า 881 ล้านบาท

การกระทำในลักษณะดังกล่าวอาจจะเข้าข่ายความผิดฐาน “ ฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนฯ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” และความผิดฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ที่ผ่านมากองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา  ผบช.สอท. ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของ รัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอาชญากรรมออนไลน์ในทุกรูปแบบ ซึ่งได้ให้ความสำคัญและมีความห่วงใยต่อภัยการหลอกลวงผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยได้กำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งวางมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอย่างต่อเนื่องและจริงจัง พร้อมประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้แนวทางป้องกันให้ประชาชนไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

โฆษก บช.สอท. กล่าวอีกว่า ในการใช้บริการในลักษณะดังกล่าวผ่านสื่อสังคมออนไลน์ควรตรวจสอบให้ดีเสียก่อน เพราะอาจเป็นช่องทางหนึ่งของมิจฉาชีพที่ใช้ในการหลอกลวงเอาทรัพย์สินของประชาชน ควรพิจารณาอย่างรอบคอบว่าทรัพย์สินที่อาจจะต้องสูญเสียไปคุ้มค่าแล้วหรือไม่ นอกจากนี้แล้วยังมีการหลอกลวงในอีกรูปแบบที่เรียกว่า Romance Scam คือ การหลอกลวงให้ผู้เสียหายหลงรัก มีความเชื่อใจ หลอกลวงว่าเป็นชายชาวต่างชาติหน้าตาดี จะเดินทางมาใช้ชีวิตในบั้นปลายด้วยกัน แต่ภายหลังก็หลอกลวงให้โอนเงินไปให้เป็นค่าต่างๆ เช่น ค่าภาษีสิ่งของที่มีมูลค่าสูงอ้างส่งมาให้จากต่างประเทศ หลอกลวงว่าพ่อแม่ป่วยขอให้โอนเงินไปให้ เป็นต้น โดยหากท่านได้รับความเสียหายจากการถูกหลอกลวงในลักษณะดังกล่าวสามารถแจ้งความออนไลน์ได้ที่ https://thaipoliceonline.com พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบจะได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนนำผู้กระทำผิดมาฟ้องลงโทษตามกฎหมายต่อไป

ทั้งนี้ ขอฝากประชาสัมพันธ์แนวทางการป้องกันการถูกหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว ดังต่อไปนี้
1.ระมัดระวังการหาคนรักผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในลักษณะดังกล่าว ควรพิจารณาให้รอบคอบถึงความเสี่ยง ไม่พิจารณาเพียงเพราะช่องทางดังกล่าวมีผู้ติดตามจำนวนมาก หรือมีการรีวิวไปในทิศทางที่ดี
2.การสูญเสียทรัพย์สินในการใช้บริการหาคนรักในลักษณะดังกล่าว ไม่ได้ยืนยันว่าจะได้รับบริการตามที่มีการกล่าวอ้าง หรือโฆษณาเสมอไป
3.การพูดคุยกับคนแปลกหน้าบนโลกออนไลน์ ต้องตรวจสอบข้อมูลให้ดีเสียก่อนว่าบุคคลนั้นมีตัวตนจริงหรือไม่ มิจฉาชีพมักใช้รูปบุคคลอื่นปลอมโปรไฟล์มาหลอกลวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปชาวต่างชาติหน้าตาดี มีหน้าที่การงานดี เป็นต้น
4.ไม่หลงเชื่อบุคคลที่เพิ่งรู้จัก หรือบุคคลไม่เคยเห็นหน้ามาก่อน รวมถึงไม่โอนเงินให้ผู้ใดโดยเด็ดขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นชื่อบุคคลอื่นที่เราไม่ได้ต้องการจะโอนให้ (บัญชีม้า)
5.ไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวกับบุคคลอื่น ไม่กรอก หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวลงบนสื่อสังคมออนไลน์
6.ไม่นัดพบเจอบุคคลที่รู้จักผ่านสื่อสังคมออนไลน์ หากจำเป็นควรนัดพบในสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน หรือพาเพื่อน หรือบุคคลที่ไว้ใจติดตามไปด้วย
7.หากเป็นมิจฉาชีพมักจะไม่ยอมเปิดกล้องให้เราเห็นใบหน้า แต่ก็ต้องระมัดระวังมิจฉาชีพใช้คลิปวิดีโอที่บันทึกภาพของผู้อื่นมา
​8.เบื้องต้นท่านสามารถนำภาพบุคคลที่ได้รับไปตรวจสอบก่อนว่าเป็นภาพบุคคล หรือดารานักแสดง หรือผู้มีชื่อเสียงหรือไม่ ผ่านเว็บไซต์การค้นหาทั่วไป

ตำรวจไซเบอร์เตือนภัย เพจขายลอตเตอรี่ (Lottery) ออนไลน์ปลอมระบาดหนัก

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. กล่าวว่าตามที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ กรณีที่มีผู้เสียหายถูกรางวัลจากการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือลอตเตอรี่ (Lottery) แต่ไม่ได้รับเงินรางวัล เนื่องจากภายหลังพบว่าตนถูกหลอกลวงให้ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล ผ่านเพจเฟซบุ๊กปลอมของมิจฉาชีพ ซึ่งได้ถูกปลอมเป็นผู้ให้บริการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือลอตเตอรี่ออนไลน์ที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง นั้น

การหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว ถือเป็นการหลอกลวงในรูปแบบเดิมๆ ที่ผ่านมามิจฉาชีพมักจะปลอมเพจเฟซบุ๊ก โดยใช้ชื่อเหมือน หรือใกล้เคียงกับเพจจริง แอบอ้างใช้สัญลักษณ์บริษัท หรือหน่วยงานนั้นๆ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ไม่ว่าจะเป็นเพจปลอมหลอกลวงขายสินค้า หรือบริการออนไลน์ เพจหน่วยงานราชการปลอม เพจบริษัทห้างร้านปลอม เพจสถาบันการเงินปลอม เพจที่พักปลอม เป็นต้น

นับตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.65 – 25 9.ค.66 มีประชาชนถูกหลอกลวงซื้อขายสินค้า และบริการออนไลน์ สูงเป็นลำดับที่หนึ่งกว่า 140,836 เรื่อง หรือคิดเป็น 40.27% ของจำนวนเรื่องการรับแจ้งความออนไลน์ทั้งหมด และมีความเสียหายรวมกว่า 2,041 ล้านบาท  

บช.สอท. โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้เร่งรัดขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ในการป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดอาชญากรรมออนไลน์ในทุกรูปแบบ รวมถึงการสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงขายสินค้า หรือบริการออนไลน์

โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการใช้งาน หรือเข้าถึงบริการต่างๆ บนสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างการติดต่อกับหน่วยงาน หรือร้านค้าออนไลน์ต่างๆ ควรตรวจสอบช่องทางเหล่านั้นให้ดีเสียก่อนว่าเป็นของหน่วยงาน หรือร้านค้านั้นจริงหรือไม่ ขอให้ประชาชนมีสติ ไม่หลงเชื่อง่ายๆ แม้ว่ามิจฉาชีพจะเปิดเพจใหม่ที่เหมือนเพจจริงมาหลอกลวงอย่างไร ถ้ามีประชาชนมีสติ ไม่หลงเชื่อ ตรวจสอบอย่างรอบคอบเสียก่อน ก็จะไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพเหล่านี้อย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา บช.สอท. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หาแนวทางในการแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (Anti Online Scam Operation Center) หรือศูนย์ AOC 1441 ซึ่งเปิดดำเนินการเมื่อ 1 พ.ย.66 ที่ผ่านมา เพื่อให้มีการบูรณาการในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ มีศูนย์ One Stop Service สามารถดำเนินการอายัดบัญชีของมิจฉาชีพให้แก่ประชาชนได้ทันที รวมทั้งให้คำปรึกษาแก่ประชาชนเกี่ยวกับคดีออนไลน์ ผ่านสายด่วน 1441 ตลอด 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้ จึงขอฝากประชาสัมพันธ์ พร้อมแนวทางการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ดังนี้

1.ระมัดระวังการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ หลีกเลี่ยงการซื้อสินค้าที่ไม่มีหน้าร้าน ควรติดต่อซื้อจากบริษัท หรือตัวแทนจำหน่ายโดยตรง
2.หากจะซื้อสินค้าผ่านเพจเฟซบุ๊ก ต้องระมัดระวังเพจปลอม หรือเพจลอกเลียนแบบของมิจฉาชีพ โดยเพจจริงควรจะมีผู้ติดตามสูง บัญชีถูกสร้างขึ้นมานานแล้ว ไม่มีการเปลี่ยนชื่อที่น่าสงสัย และมีรายละเอียดการติดต่อที่ชัดเจน สามารถโทรศัพท์ไปสอบถามได้
3.ตรวจสอบความโปร่งใสของเพจ ว่ามีการเปลี่ยนชื่อมาก่อนหรือไม่ ผู้จัดการเพจอยู่ในประเทศหรือไม่ หากไม่ได้อยู่ในประเทศอาจจะเป็นมิจฉาชีพ
4.ก่อนโอนชำระเงินค่าสินค้า ให้ตรวจสอบชื่อบัญชี และหมายเลขบัญชีธนาคารที่รับโอนเงิน ว่ามีประวัติไม่ดีหรือไม่ ผ่านเว็บไซต์ Google, Blacklistseller เป็นต้น ในกรณีนี้ควรโอนเงินชำระค่าสลากผ่านบัญชีบริษัทเท่านั้น หากเป็นชื่อบุคคลธรรมดาให้สันนิษฐานว่าเป็นบัญชีม้าของมิจฉาชีพ
5.หากมีการให้โอนเงินไปเพิ่มเติม โดยอ้างว่าเป็นค่าธรรมเนียม ค่าภาษี หรือค่าใดๆ ก็ตามให้สันนิษฐานว่าเป็นมิจฉาชีพเช่นกัน
6.ช่วยกันกดรายงานบัญชี หรือเพจในเฟซบุ๊กปลอม เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นหลงเชื่อ และตกเป็นเหยื่อ
7.หมั่นติดตามข่าวสารของทางราชการอยู่เสมอ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top