Wednesday, 3 July 2024
จังหวัดเชียงใหม่

แม่ทัพภาคที่ 3 ร่วม แถลงผลงานไฟป่าหนึ่งเดือน จุดความร้อนลดลงอย่างเห็นได้ชัด คุณภาพอากาศดีขึ้นต่อเนื่อง

จังหวัดเชียงใหม่ แถลงผลงานไฟป่าหนึ่งเดือนที่ผ่านมา จุดความร้อนลดลงต่อเนื่อง ค่าคุณภาพอากาศดีขึ้น 93 เปอร์เซ็นต์ เผยปีหน้าเตรียมปรับแผนบริหารจัดการจุดโม่ข้าวโพดไม่ให้เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ลุกลามเป็นวงกว้าง 

เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ ห้องประชุม ตะวัน กังวานพงศ์ ชั้น 4 อาคารยุทธศาสตร์ สำนักงานมหาวิทยาลัยเชียงใหม่  พลโท ประสาน แสงศิริรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 3 /ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการไฟป่ากองทัพภาคที่ 3 พร้อมด้วย นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พลตรี วิทยา แก้วพรม รองแม่ทัพภาคที่ 3/ รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทานภาค 3 /รองผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการไฟป่ากองทัพภาคที่ 3 ,พลตรี ธีระ ผดุงสุนทร ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33/ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทานมณฑลทหารบกที่ 33 ร่วมกันประชุมคณะกรรมการแก้ปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 แบบบูรณาการ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี ส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เข้าร่วมประชุม จากนั้น ภายหลังจากเสร็จสิ้นการประชุมดังกล่าวแล้ว ได้มอบหมายให้ นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน 

โดยในปีนี้จังหวัดเชียงใหม่ได้ปรับแผนการดำเนินงานจากปีที่ผ่านมาให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่โดย แบ่งพื้นที่การดำเนินงานเป็น 7 กลุ่มป่า และ 1 พื้นที่ป่าพิเศษ เพื่อจัดทำแผนป้องกันไฟป่าและบริหารจัดการเชื้อเพลิง ขณะเดียวกันได้มีการปรับการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในที่โล่งตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมถึง 30 เมษายน 2567 ให้สามารถเผาได้หากมีความจำเป็น โดยผู้ที่มีความประสงค์จะเผาต้องลงทะเบียนขอรับบริหารจัดการเชื้อเพลิงผ่านระบบ Fire-D และต้องได้รับการอนุมัติจากศูนย์บัญชาการระดับอำเภอก่อน ประกอบกับการปฏิบัติการเชิงรุก “เดินเข้าหาไฟ” เป็นการดึงเชื้อเพลิงออกจากแปลงเกษตรลดการเผา ด้วยวิธีการไทยกลบหรือการรับซื้อเศษวัสดุทางการเกษตร เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนด้วยหลัก เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา 

จากการดำเนินงานที่ผ่านมาทำให้สถานการณ์หมอกควันไฟป่า และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จังหวัดเชียงใหม่ ในห้วงตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 8 กุมภาพันธ์ 2567 เกิดจุดความร้อนเพียง 111 จุด ลดลงจากปี 2566 มากถึง 747 จุด ลดลงถึง 87 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ค่าคุณภาพอากาศที่เกินมาตรฐานคือ 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ลดลงจาก 30 วัน เหลือเพียง 2 วัน เท่านั้น หรือลดลงมากถึง 93 เปอร์เซ็นต์  ถือว่าดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน สอดคล้องกับจำนวนสถิติผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจก็ลดลงด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ในห้วงเดือนกุมภาพันธ์ จนถึงเดือนเมษายน ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงที่สถานการณ์จะรุนแรงมากที่สุดนั้น นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จังหวัดเชียงใหม่ได้เตรียมความพร้อมในการรับมือโดยการให้ทุกหน่วยเข้มงวดกวดขันในการลาดตระเวนเฝ้าระวังในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ป่า เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงที่ชาวบ้านว่างจากการทำการเกษตรมักจะเข้าป่า เพื่อหาของป่าตามวิถีชีวิตของชาวบ้าน ขณะเดียวกันให้ในช่วงที่จะมีการเผาซังข้าวโพดนั้นได้สั่งการให้เกษตรจังหวัดเข้าไปควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งในปีถัดไปจะมีการควบคุมการโม่ข้าวโพดอย่างเข้มข้นขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ซังข้าวโพดลุกลามไปในวงกว้าง 

‘ส้มสายน้ำผึ้งฝาง’ ขึ้นแท่นสินค้า GI ลำดับที่ 5 จ.เชียงใหม่ สีสวย-กลิ่นหอม-หวานอมเปรี้ยว สร้างรายได้สู่ชุมชน 270 ลบ./ปี

(11 มิ.ย. 67) นางสาวกนิษฐา กังสวนิช รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ประกาศขึ้นทะเบียน ‘ส้มสายน้ำผึ้งฝาง’ สินค้า GI ลำดับที่ 5 ของจังหวัดเชียงใหม่ ต่อจากผ้าตีนจกแม่แจ่ม, ร่มบ่อสร้าง, ศิลาดลเชียงใหม่ และกาแฟเทพเสด็จ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนไปก่อนหน้านี้ 

‘ส้มสายน้ำผึ้งฝาง’ มีแหล่งกำเนิดเดิมอยู่ที่จังหวัดยะลา เรียกว่า ‘ส้มพันธุ์โชกุน’ ได้ถูกนำมาเพาะปลูกในพื้นที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูง มีแหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญหลายสาย ได้แก่ แม่น้ำฝาง ลำห้วยแม่ใจ ลำน้ำแม่มาว ลำน้ำแม่เผอะ เขื่อนแม่มาว เขื่อนบ้านห้วยบอน ห้วยแม่งอน เป็นต้น

รวมไปถึงยังมีน้ำพุร้อน ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่น้ำอุณหภูมิสูงไหลพุ่งจากใต้ดินขึ้นสู่อากาศ ทำให้สภาพดินอุดมไปด้วยแร่ธาตุเหมาะสมต่อการเพาะปลูกส้มสายน้ำผึ้ง ด้วยแหล่งภูมิศาสตร์นี้ ทำให้ส้มสายน้ำผึ้งฝางสามารถเติบโตได้ดี มีผิวสีเขียวอมเหลือง เขียวอมส้ม มันวาว เนื้อกุ้งฉ่ำแน่น ชานและใยนุ่ม รสชาติหวานอมเปรี้ยว กลิ่นหอม มีอัตลักษณ์ชัดเจนแตกต่างจากส้มสายน้ำผึ้งจากแหล่งปลูกอื่น

หากเก็บเกี่ยวในช่วงฤดูหนาว ส้มสายน้ำผึ้งฝางจะมีผิวสีเหลืองอมส้ม มีความโดดเด่น จึงได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมากในช่วงเทศกาลปีใหม่และตรุษจีน อีกทั้งหน่วยงานในพื้นที่ยังให้การสนับสนุน ยกให้ส้มสายน้ำผึ้งฝางเป็นของดีจังหวัดเชียงใหม่ สร้างชื่อเสียงและรายได้ให้กับชุมชนให้พื้นที่กว่า 270 ล้านบาทต่อปี 

ทั้งนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาขอเชิญทุกท่านร่วมสนับสนุนผู้ประกอบการ GI และอุดหนุนสินค้า GI ไทย โดยติดตามข้อมูลสินค้า GI รายการต่าง ๆ และข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องได้ที่เพจ Facebook : GI Thailand หรือสอบถามเพิ่มเติมโทรสายด่วนกรมทรัพย์สินทางปัญญา 1368


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top