Thursday, 17 April 2025
ความเครียด

‘ชัชชาติ’ ชี้ สังคมปัจจุบันแข่งขันสูง ทำคนเครียดสะสม แนะ!! ควรแก้ที่ต้นเหตุ จ่อเพิ่มนักจิตวิทยาให้บริการปชช.

(5 ต.ค.66) ที่ห้องประชุมชั้น 8 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุมหัวหน้าหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 10/2566

นายชัชชาติเปิดเผยภายหลังการประชุมว่า จากเหตุการณ์กราดยิงที่เกิดขึ้น ในฐานะที่เกิดในพื้นที่กรุงเทพฯ ผอ.เขตในพื้นที่เกิดเหตุจะต้องเป็นผู้อำนวยการเหตุ แม้ว่าเรื่องที่เกิดจะไม่เกี่ยวข้องกับ กทม.โดยตรง จะต้องรับทราบเรื่อง ประสานงานกับ สน.ในท้องที่ และรายงานให้ผู้บริหาร กทม.รับทราบด้วย

นายชัชชาติกล่าวว่า ต่อมาระบบเตือนภัยที่อยู่ในอำนาจของ กทม.ผ่านระบบ Line Alert ให้เพิ่มฟีเจอร์นอกจากการเตือนภัยธรรมชาติ เช่น ฝุ่น PM2.5 ซึ่งจะพูดคุยให้มีการเพิ่มการแจ้งเตือนน้ำท่วม หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ จะนำแพลตฟอร์มทราฟฟี่ฟองดูว์ (Traffy Fondue) สื่อสารข้อมูลให้มากขึ้น โดยให้ผู้พัฒนาทำระบบแจ้งเหตุต่างๆ กับผู้ใช้งาน ต่อมาคือระบบเตือนภัยใหญ่ ต้องมีการประสานงานกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งจะมีการส่ง SMS แจ้งเตือนกับคนที่อยู่ใกล้กับพื้นที่เกิดเหตุ

“การแจ้งเหตุก็มีความละเอียดอ่อน ในแง่ของความถูกต้องของข้อมูลที่ต้องสื่อสารไปอาจมีผลต่อการควบคุมการเกิดเหตุด้วย ผู้ควบคุมสถานการณ์จะให้มีการแจ้งเท่าไหร่ เป็นเรื่องที่ต้องหารือกันให้ดี” นายชัชชาติกล่าว

ด้าน น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ปภ.มีการทำงบประมาณระบบการแจ้งเตือนภัยผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Broadcast) ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการแจ้งเตือนภัยธรรมชาติ แต่ถ้าเป็นการเตือนภัยอื่นๆ ต้องประสานกับหน่วยงานความมั่นคง เช่น ตำรวจ หรือหน่วยงานที่มีพื้นที่สำคัญ ให้เข้าร่วมตรงนี้ด้วย ส่วน กสทช.มีการพูดคุยว่าถ้าเกิดเหตุในพื้นที่อื่นให้มีการแจ้งมายังระบบของ กทม.ด้วย ซึ่งมีการนัดคุยในสัปดาห์หน้า

ขณะที่นายชัชชาติกล่าวอีกว่า สุขภาพจิตของเด็กและประชาชนมีปัญหาค่อนข้างมาก เป็นต้นเหตุของปัญหา กทม.คงต้องมีการปรับในการดูแลสุขภาพจิต ปัจจุบันมีทรัพยากรอย่างจำกัด มีอัตราจิตแพทย์ค่อนข้างน้อย ขณะเดียวกันผู้ป่วยก็ไม่อยากเข้ามาที่โรงพยาบาล ดังนั้น การให้คำแนะนำต่างๆ อาจต้องกระจายลงไปยังศูนย์บริการสาธารณสุข หรือให้ความรู้แก่อาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) ให้มากขึ้น รวมทั้งให้ความรู้ความเข้าใจแก่โรงเรียนด้วย สิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ไม่รอให้มีความรุนแรงเกิดขึ้น

“การนำประชาสังคมมาร่วม การใช้แอพพ์ที่คุ้นเคย หรือสิ่งที่เราทำอยู่ อย่างสวน 15 นาที ดนตรีในสวน เปิดพื้นที่ให้คนแสดงออกก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยลดความเครียด ต้องเน้นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ไม่ใช่เน้นเรื่องแจ้งเหตุ

“สังคมปัจจุบันมีการแข่งขันสูง ในแง่ความคาดหวังจากพ่อแม่ การแข่งขันสภาพเศรษฐกิจ สุดท้ายก็มาลงที่เด็ก พ่อแม่เครียดจากการทำงาน ถ้ามีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย เด็กก็ต้องรับไป คงเป็นเรื่องที่รุนแรงมากขึ้น การหาคำแนะนำที่ถูกต้องไม่ได้หาได้ง่าย จิตแพทย์ สำนักการแพทย์มีแค่ 23 คน สำนักอนามัยมีเพียง 1 คน แผนระยะยาวต้องปรับอัตราให้เหมาะสม รวมถึงเพิ่มนักจิตวิทยา หรือคนที่ให้คำแนะนำต่างๆ ในโรงเรียนด้วย” นายชัชชาติกล่าว

ด้าน นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ปัญหาเรื่องสุขภาพจิตก็เป็นปัญหาที่คนรุ่นใหม่เผชิญอยู่ สำนักการศึกษาเคยนำแอปพลิเคชันตัวหนึ่งเข้าไปที่โรงเรียน กทม.พบว่าพอเป็นการส่งข้อมูลจากคุณครูจะไม่มีความเชื่อมั่น เชื่อใจ แต่จะเชื่อเพื่อนและเชื่อเครือข่ายมากกว่า เราจะต้องเชื่อมโยงเครือข่ายทั้งหมด โดยวันอาทิตย์นี้จะมีการจัดเสวนา มีเครือข่ายด้านสุขภาพจิตมาร่วมด้วยพูดคุย หลังจากนี้คงต้องดูว่าภาครัฐจะช่วยเสริมภาคประชาสังคมที่เข้ามาช่วยได้อย่างไรเพื่อจะได้ช่วยกันแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างยั่งยืน

นายศานนท์ กล่าวว่า ส่วนเรื่องการประเมินผลการเรียนของนักเรียนนั้นคาดว่าจะมีการปรับรูปแบบในการประเมินด้วย ไม่ใช่แค่วัดเกี่ยวกับผลการเรียนดีอย่างเดียว อาจมีการประเมินเรื่องทักษะอื่นเสริมเข้าไปด้วยก็จะทำให้เด็กรู้สึกมีชัยชนะเป็นของตัวเองและไม่มีการเปรียบเทียบด้วย

ทั้งนี้ ในวันที่ 8 ตุลาคม กทม.ร่วมกับ Sati APP และ Thailand Institute for Mental Health Sustainability (TIMS) จัดงาน Better Mind Better Bangkok 2023 ขึ้น ณ สามย่าน มิตรทาวน์ โดยมีวิทยากรผู้เปี่ยมประสบการณ์และเป็นแรงบันดาลใจในแวดวงสุขภาพจิตมาร่วมพูดคุย อาทิ น.ส.ทวิดา, นายศานนท์, เขื่อน ภัทรดนัย, อแมนด้า ออบดัม, รัศมีแข

เปิดผลสำรวจสุขภาพจิตคนไทย จาก DXT360 อึ้ง!! ร้อยละ 30 เครียดสะสมจากปัญหาการทำงาน

(10 ต.ค. 67) ในยุคปัจจุบันสังคมเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันอย่างรวดเร็ว สุขภาพจิตได้กลายเป็นประเด็นสำคัญที่ทุกคนควรตระหนักและให้ความสนใจมากขึ้น ไม่เพียงแต่เป็นเรื่องของอารมณ์และความคิดส่วนตัวเท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงกับปัจจัยทางสังคมและวัฒนธรรมโดยรอบ การทำความเข้าใจถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโตและความสุขของทุกคนในสังคม

ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตระบุว่า ในปี 2566 มีผู้ป่วยจิตเวชมารับบริการถึง 2.9 ล้านคนในประเทศไทย แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของปัญหาสุขภาพจิต สาเหตุหนึ่งมาจากการที่สังคมไทยเริ่มเปิดใจยอมรับและเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตมากขึ้น นอกจากนี้ สภาพสังคมปัจจุบันยังมีปัจจัยหลายประการที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต เช่น ความไม่สมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว (Work-life balance) ที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของคนรุ่นใหม่ รวมถึงความหลากหลายของช่วงวัย (Generation gap) ในที่ทำงานซึ่งอาจนำไปสู่ความขัดแย้งและความเครียด

บทความนี้ใช้เครื่องมือ DXT360 ฟังเสียงผู้คนบนสังคมออนไลน์ (Social Listening) ของ บริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด ผู้ให้บริการ Media Intelligence ในการรวบรวมข้อมูลเชิงลึกจากโซเชียลมีเดียระหว่าง 1 กันยายน - 4 ตุลาคม 2567 เพื่อทำความเข้าใจมุมมองและประสบการณ์ด้านสุขภาพจิตของผู้คนในสังคม

>>>การใช้โซเชียลมีเดียของคนไทยกับปัญหาสุขภาพจิต

จากการรวบรวมความคิดเห็นบนโซเชียลมีเดียพบว่าผู้คนส่วนใหญ่ 61% ใช้โซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่เพื่อการโพสต์ระบายความรู้สึกและแสดงตัวตน รองลงมา 22% เป็นการเล่า แลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตของตนเองและผู้อื่น ซึ่งพบว่าผู้ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า มักได้รับผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพจิตด้วย 

ถัดมาอีก 11% พบว่า เป็นการให้ข้อมูลและคำแนะนำ ซึ่งเป็นการแบ่งปันข้อมูลที่เป็นประโยชน์และวิธีการดูแลรักษาสุขภาพจิตที่ดี และ 6% เป็นการให้กำลังใจ โดยผู้ใช้โซเชียลมีเดียแสดงความห่วงใยและให้กำลังใจแก่ผู้ที่กำลังเผชิญปัญหาสุขภาพจิต 

>>>ส่อง Insight เรื่องไหนกระทบใจชาวโซเชียลจนต้องระบาย

โลกออนไลน์กลายเป็นพื้นที่สำหรับการระบายความรู้สึกและแชร์ประสบการณ์ เผยให้เห็นถึงปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของผู้คน ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน

>>>ปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต

ปัจจัยภายนอก คือ สิ่งแวดล้อมภายนอกซึ่งส่งผลต่อสภาพจิตใจโดยที่บุคคลไม่สามารถควบคุมได้โดยตรง พบว่า

-ปัญหาจากการทำงาน 30%: เนื่องด้วยการทำงานร่วมกับผู้คนที่มีความหลากหลาย และ การขาดสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงาน (Work life Balance) ซึ่งในขณะเดียวกันเราพบว่า ผู้คนส่วนใหญ่มีแนวโน้มให้ความสำคัญกับสุขภาพจิต โดยมีผู้ใช้โซเชียลจำนวนหนึ่งเลือกลาออกจากงานที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตมากกว่าการทนอยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่เหมาะสม ซึ่งสอดคล้องกับแคมเปญธีม 'Mental health at Work' จาก World Health Organization (WHO) เนื่องในวันสุขภาพจิตโลกปี 2024 ที่รณรงค์ให้ผู้คนทั่วโลกตระหนักถึงความเชื่อมโยงระหว่างสุขภาพจิตและการทำงาน เนื่องจากสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยส่งผลดีต่อสุขภาพจิต และในทางกลับกันสภาพแวดล้อมการทำงานที่ย่ำแย่ก็ส่งผลต่อปัญหาสุขภาพจิตเช่นกัน

-การรับรู้ข้อมูลมากเกินไป 18%: การรับรู้ข่าวสารเรื่องของคนอื่นมากเกินไป (Over information) โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับไอดอล ศิลปิน รวมถึงข่าวสารเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น ข่าวการเกิดภัยพิบัติ หรือ ข่าวอุบัติเหตุ 
-การเรียน/การศึกษา 14%: พบว่าผู้ที่อยู่ในวัยเรียนส่วนมากต่างละเลยสุขภาพในช่วงการสอบเพื่อผลคะแนนที่ดี
-ปัญหาขัดแย้งในครอบครัว 11%: ปัจจัยด้านครอบครัวส่วนใหญ่เกิดจากความเห็นต่างกันตามช่วงวัย (Generation Gap)

-ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล 10%: ชาวโซเชียลจำนวนหนึ่งระบุว่า ความเกรงใจและการละเลยความรู้สึก นำไปสู่ความขัดแย้งและความสัมพันธ์เชิงลบ เช่น คู่รัก หรือเพื่อน เป็นเหตุทำให้เกิดความขัดแย้ง และความ Toxic สะสม
-ปัญหาการดำเนินชีวิต 9%: โดยเฉพาะเรื่องการจราจรติดขัดและความไม่สะดวกในการสัญจรด้วยรถสาธารณะ นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ที่มีประสบการณ์เชิงลบจากการเผชิญกับพนักงานขายแบบ Hard Sell  เช่น การขายประกัน หรือการขายคอร์สเสริมความงาม ซึ่งสร้างความเครียดและความอึดอัดให้กับผู้บริโภคจนอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตที่สะสมได้

-ปัญหาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจ 7%: เช่น ปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้น
-การตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ 1%: เช่นโดนมิจฉาชีพแอบอ้างจนก่อให้เกิดความเสียหายทางการเงิน

>>>ปัจจัยภายในที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต

ปัจจัยภายใน มาจากพื้นฐานสภาพจิตใจ ร่างกาย ความรู้สึกนึกคิดของตัวบุคคลเอง ส่งผลต่อสุขภาพจิตของบุคคล สรุปได้ ดังนี้

-ปัญหาด้านสุขภาพกาย 42%: สภาพร่างกายเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อสภาวะจิตใจ
-การเห็นคุณค่าในตนเอง (Self-Esteem) 28%: ความรู้สึกเกี่ยวกับตนเองมีผลต่อสุขภาพจิต 
-ความคาดหวังในตนเอง 23%: เช่น ความคาดหวังคะแนนการสอบ หรือต้องการความสมบูรณ์แบบในการทำงาน  
-ประสบการณ์และภูมิหลัง 7%: ภูมิหลังส่วนตัวและประสบการณ์ฝังใจในวัยเด็กส่งผลระยะยาวต่อสุขภาพจิต

>>>พบจิตแพทย์เป็นเรื่องปกติ  

จากการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลโซเชียลมีเดีย พบวิธีการฟื้นฟูสุขภาพจิตที่ผู้คนบนโซเชียลนิยมใช้ ดังนี้ 

1.การดูแลสุขภาพร่างกายและใส่ใจกับสุขภาพจิต (43%) โดยมีทั้งการออกกำลังกาย การเลือกรับประทานอาหารที่ชอบ รวมถึงยังพบว่าผู้คนส่วนใหญ่เปิดใจรับการปรึกษากับจิตแพทย์และรับการรักษาโดยใช้ยา
2.การเลือกรับสื่อบันเทิง (22%) ทั้งการดูหนัง ซีรีส์ รวมไปถึงการอ่านนิยายวายที่เริ่มมีบทบาทเข้ามาช่วยให้ผู้อ่านมีความบันเทิง ฟื้นฟูสุขภาพจิตได้
3.การทำ Social Detox (14%) เพื่องดหรือลดปริมาณการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย
4.การระบายความรู้สึก (9%) การพูดคุย ถ่ายทอดเรื่องราวออกมา ไม่ว่าจะเป็นการเขียนใส่กระดาษ การพูดคุยกับเพื่อนหรือคนในครอบครัว 
5.การปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อม (8%) เช่น การย้ายที่อยู่โดยออกมาอยู่คนเดียว การย้ายที่ทำงาน การเดินทาง การท่องเที่ยว เป็นต้น
6.Pet Therapy (4%) การใช้สัตว์เลี้ยงมาช่วยฮีลใจ หรือฟื้นฟูจิตใจ

จะเห็นได้ว่าในสังคมปัจจุบัน ผู้คนมีความตระหนักรู้เกี่ยวกับสุขภาพจิตมากขึ้น และให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพจิตในรูปแบบต่าง ๆ ทั้ง การเลือกปรึกษาจิตแพทย์ นักจิตบำบัด และนักจิตวิทยา ซึ่งส่งผลให้เกิดการเติบโตของธุรกิจในด้านการดูแลสุขภาพจิต ทั้งโรงพยาบาล คลินิกจิตเวช และศูนย์เวลเนสต่าง ๆ นอกจากนี้ ความเข้าใจและการยอมรับเกี่ยวกับสุขภาพจิตที่เพิ่มขึ้นยังช่วยลดอคติทางสังคม ทำให้ผู้คนรู้สึกมีความปลอดภัยในการเข้าถึงการรักษาและการสนับสนุนทางจิตใจ การลงทุนในบริการเหล่านี้จึงไม่เพียงแต่ช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้คน แต่ยังเป็นโอกาสทางธุรกิจที่สำคัญในยุคที่ผู้คนมุ่งมั่นต่อการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมมากขึ้น

ข้อมูลทั้งหมดที่นำมาวิเคราะห์หา Insight รวบรวมข้อมูลจาก DXT360 (Social Listening and Media Monitoring Platform) ของบริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด (dataxet:infoquest) โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่  1 กันยายน - 4 ตุลาคม 2567

'สมศักดิ์' สั่งการบุคลากรทางการแพทย์และสธ.เร่งช่วยประชาชน 5 จังหวัดชายแดนใต้โดนน้ำท่วมหนัก พบผู้ประสบภัยมีภาวะความเครียดสูง เสี่ยงซึมเศร้า 

น.ส.ตรีชฎา ศรีธาดา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ฝ่ายการเมืองเปิดเผยว่า จากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ภาคใต้สร้างความเดือดร้อนต่อพี่น้องประชาชนและความเสียหายต่อทรัพย์สินได้รับความเสียหายอย่างมากนั้น นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมีความห่วง  มีความห่วงใยอย่างมากได้สั่งการไปยังนายอภิชาติ วชิรพันธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 12และผู้บริหารซึ่งรับผิดชอบทั้งส่วนกลางและในพื้นที่เร่งช่วยเหลือ แก้ไข เยียวยา ฟื้นฟูตามอำนาจหน้าที่อย่างดีที่สุด และให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่ปฏิบัติงานภาคสนาม ล่าสุด โรงพยาบาลจิตเวชสงขลานครินทร์และศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 ได้รายงานสรุปสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 12 มา ดังนี้

พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบสีแดง 5 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส มีอำเภอที่ได้รับผลกระทบรวม 18 อำเภอ โดยได้รับผลกระทบในลักษณะน้ำล้นตลิ่งและท่วมขัง. ประชากรที่ได้รับผลกระทบรวม 273,121 คน พบผู้เสียชีวิต 1 รายจากสาเหตุจมน้ำ มีศูนย์อพยพที่มีผู้เข้าพักแล้ว ได้แก่ สงขลา 7 แห่ง มีผู้ประสบภัยเข้าพัก 482 คน, ยะลา 15 แห่ง มีผู้ประสบภัยเข้าพัก 873  คน, ปัตตานี 9 แห่ง ยังไม่มีรายงานผู้เข้าพัก, นราธิวาส 32 แห่ง เปิดแล้ว 27 แห่ง มีผู้ประสบภัยเข้าพัก 1,095 คน

ทางดเานนายกิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิตการเตรียมทีมเยียวยาจิตใจ MCATT ในพื้นที่  87 ทีม ออกปฏิบัติการแล้ว 44 ทีม แผนการดำเนินงาน ทีม MCATT วางแผนประเมินสุขภาพจิตและให้การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ และเยี่ยมครอบครัวผู้เสียชีวิต โดยมีทีม MCATT กรมสุขภาพจิตให้การสนับสนุนการดำเนินงานในพื้นที่

น.ส.ตรีชฎากล่าวว่า การเกิดวาตภัย อุทกภัยและดินโคลนถล่มใน 4 จังหวัดชายแดนใต้ ครั้งนี้ สถานบริการสาธารณสุขในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 12 ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โรงพยาบาล สาธารณสุขอำเภอ สาธารณสุขจังหวัด หน่วยบริการปฐมภูมิ สถานบริการสาธารณสุขชุมชน (สสช.) หน่วยแพทย์แผนไทย อย่างไรก็ตามบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งรวมกลุ่มกันเป็นทีมปฏิบัติได้ให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อช่วยเหลือผู้เดือดร้อนอย่างต่อเนื่องด้วยการไปเยี่ยมบ้าน ให้สุขศึกษา ตรวจรักษา ส่งต่อ มอบชุดดูแลสิ่งแวดล้อม การจัดศูนย์พักพิง อีกทั้งให้บริการด้านสุขภาพจิต พบว่า มีภาวะความเครียดสูง 1,643 ราย เสี่ยงซึมเศร้า 405 ราย เสี่ยงฆ่าตัวตาย 86 ราย ส่งต่อจิตแพทย์ 310 ราย

ขณะที่โรงพยาบาลปัตตานี ได้รับรายงานจากนายรุซตา สาและ ผู้อำนวยการรพ.ปัตตานี รับคนไข้ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้และยังใช้ยาฉีดอยู่ เข้่ามา admit มีการขยายเตียง รพ เพื่อรองรับผู้ป่วยได้อย่างน้อย 50-60 คนรพ.พร้อมเปิดโรงครัว ดูแลทุกระดับ จัดระบบ logistics มีรถ 6 ล้อ จาก วิทยาลัยกาญจนาภิเษก รับผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ ระดมแพทย์ ทั้งรพ มาตรวจคนไข้ให้เร็วขึ้น.ขออัตรากำลังพยาบาลจาก รพช. มาขยายที่ขยายหอผู้ป่วยเพื่อช่วยเหลือให้ทันท่วงที” นางสาวตรีชฎากล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top