‘ชัชชาติ’ ชี้ สังคมปัจจุบันแข่งขันสูง ทำคนเครียดสะสม แนะ!! ควรแก้ที่ต้นเหตุ จ่อเพิ่มนักจิตวิทยาให้บริการปชช.
(5 ต.ค.66) ที่ห้องประชุมชั้น 8 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุมหัวหน้าหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 10/2566
นายชัชชาติเปิดเผยภายหลังการประชุมว่า จากเหตุการณ์กราดยิงที่เกิดขึ้น ในฐานะที่เกิดในพื้นที่กรุงเทพฯ ผอ.เขตในพื้นที่เกิดเหตุจะต้องเป็นผู้อำนวยการเหตุ แม้ว่าเรื่องที่เกิดจะไม่เกี่ยวข้องกับ กทม.โดยตรง จะต้องรับทราบเรื่อง ประสานงานกับ สน.ในท้องที่ และรายงานให้ผู้บริหาร กทม.รับทราบด้วย
นายชัชชาติกล่าวว่า ต่อมาระบบเตือนภัยที่อยู่ในอำนาจของ กทม.ผ่านระบบ Line Alert ให้เพิ่มฟีเจอร์นอกจากการเตือนภัยธรรมชาติ เช่น ฝุ่น PM2.5 ซึ่งจะพูดคุยให้มีการเพิ่มการแจ้งเตือนน้ำท่วม หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ จะนำแพลตฟอร์มทราฟฟี่ฟองดูว์ (Traffy Fondue) สื่อสารข้อมูลให้มากขึ้น โดยให้ผู้พัฒนาทำระบบแจ้งเหตุต่างๆ กับผู้ใช้งาน ต่อมาคือระบบเตือนภัยใหญ่ ต้องมีการประสานงานกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งจะมีการส่ง SMS แจ้งเตือนกับคนที่อยู่ใกล้กับพื้นที่เกิดเหตุ
“การแจ้งเหตุก็มีความละเอียดอ่อน ในแง่ของความถูกต้องของข้อมูลที่ต้องสื่อสารไปอาจมีผลต่อการควบคุมการเกิดเหตุด้วย ผู้ควบคุมสถานการณ์จะให้มีการแจ้งเท่าไหร่ เป็นเรื่องที่ต้องหารือกันให้ดี” นายชัชชาติกล่าว
ด้าน น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ปภ.มีการทำงบประมาณระบบการแจ้งเตือนภัยผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Broadcast) ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการแจ้งเตือนภัยธรรมชาติ แต่ถ้าเป็นการเตือนภัยอื่นๆ ต้องประสานกับหน่วยงานความมั่นคง เช่น ตำรวจ หรือหน่วยงานที่มีพื้นที่สำคัญ ให้เข้าร่วมตรงนี้ด้วย ส่วน กสทช.มีการพูดคุยว่าถ้าเกิดเหตุในพื้นที่อื่นให้มีการแจ้งมายังระบบของ กทม.ด้วย ซึ่งมีการนัดคุยในสัปดาห์หน้า
ขณะที่นายชัชชาติกล่าวอีกว่า สุขภาพจิตของเด็กและประชาชนมีปัญหาค่อนข้างมาก เป็นต้นเหตุของปัญหา กทม.คงต้องมีการปรับในการดูแลสุขภาพจิต ปัจจุบันมีทรัพยากรอย่างจำกัด มีอัตราจิตแพทย์ค่อนข้างน้อย ขณะเดียวกันผู้ป่วยก็ไม่อยากเข้ามาที่โรงพยาบาล ดังนั้น การให้คำแนะนำต่างๆ อาจต้องกระจายลงไปยังศูนย์บริการสาธารณสุข หรือให้ความรู้แก่อาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) ให้มากขึ้น รวมทั้งให้ความรู้ความเข้าใจแก่โรงเรียนด้วย สิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ไม่รอให้มีความรุนแรงเกิดขึ้น
“การนำประชาสังคมมาร่วม การใช้แอพพ์ที่คุ้นเคย หรือสิ่งที่เราทำอยู่ อย่างสวน 15 นาที ดนตรีในสวน เปิดพื้นที่ให้คนแสดงออกก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยลดความเครียด ต้องเน้นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ไม่ใช่เน้นเรื่องแจ้งเหตุ
“สังคมปัจจุบันมีการแข่งขันสูง ในแง่ความคาดหวังจากพ่อแม่ การแข่งขันสภาพเศรษฐกิจ สุดท้ายก็มาลงที่เด็ก พ่อแม่เครียดจากการทำงาน ถ้ามีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย เด็กก็ต้องรับไป คงเป็นเรื่องที่รุนแรงมากขึ้น การหาคำแนะนำที่ถูกต้องไม่ได้หาได้ง่าย จิตแพทย์ สำนักการแพทย์มีแค่ 23 คน สำนักอนามัยมีเพียง 1 คน แผนระยะยาวต้องปรับอัตราให้เหมาะสม รวมถึงเพิ่มนักจิตวิทยา หรือคนที่ให้คำแนะนำต่างๆ ในโรงเรียนด้วย” นายชัชชาติกล่าว
ด้าน นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ปัญหาเรื่องสุขภาพจิตก็เป็นปัญหาที่คนรุ่นใหม่เผชิญอยู่ สำนักการศึกษาเคยนำแอปพลิเคชันตัวหนึ่งเข้าไปที่โรงเรียน กทม.พบว่าพอเป็นการส่งข้อมูลจากคุณครูจะไม่มีความเชื่อมั่น เชื่อใจ แต่จะเชื่อเพื่อนและเชื่อเครือข่ายมากกว่า เราจะต้องเชื่อมโยงเครือข่ายทั้งหมด โดยวันอาทิตย์นี้จะมีการจัดเสวนา มีเครือข่ายด้านสุขภาพจิตมาร่วมด้วยพูดคุย หลังจากนี้คงต้องดูว่าภาครัฐจะช่วยเสริมภาคประชาสังคมที่เข้ามาช่วยได้อย่างไรเพื่อจะได้ช่วยกันแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างยั่งยืน
นายศานนท์ กล่าวว่า ส่วนเรื่องการประเมินผลการเรียนของนักเรียนนั้นคาดว่าจะมีการปรับรูปแบบในการประเมินด้วย ไม่ใช่แค่วัดเกี่ยวกับผลการเรียนดีอย่างเดียว อาจมีการประเมินเรื่องทักษะอื่นเสริมเข้าไปด้วยก็จะทำให้เด็กรู้สึกมีชัยชนะเป็นของตัวเองและไม่มีการเปรียบเทียบด้วย
ทั้งนี้ ในวันที่ 8 ตุลาคม กทม.ร่วมกับ Sati APP และ Thailand Institute for Mental Health Sustainability (TIMS) จัดงาน Better Mind Better Bangkok 2023 ขึ้น ณ สามย่าน มิตรทาวน์ โดยมีวิทยากรผู้เปี่ยมประสบการณ์และเป็นแรงบันดาลใจในแวดวงสุขภาพจิตมาร่วมพูดคุย อาทิ น.ส.ทวิดา, นายศานนท์, เขื่อน ภัทรดนัย, อแมนด้า ออบดัม, รัศมีแข