ในอดีตไทยและซาอุดีอาระเบียเคยมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การเมือง สังคม และวัฒนธรรม
อย่างไรก็ตามภายหลังเหตุการณ์ความขัดแย้งอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับซาอุดีอาระเบีย ในปี 2532 และต่อเนื่องถึงปี 2533 ซึ่งเกิดขึ้นในไทย จากกรณีฆาตกรรมนักการทูตซาอุดีอาระเบีย ลักลอบขโมยเพชรของสมาชิกราชวงศ์ซาอุดีอาระเบียโดยคนงานชาวไทย และคดีอุ้มฆ่าอัล-รูไวลี่ หนึ่งในสมาชิกของราชวงศ์อัล-สะอุดแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียนั้น ได้นำมาซึ่งการระงับความสัมพันธ์ปกติเป็นเวลายาวนานกว่า 30 ปี
ผลลัพธ์บังเกิด!! ทำให้เศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างกันต้องหยุดชะงักลงตั้งแต่นั้นเรื่อยมา เพียงแต่ในช่วงดังกล่าว ไทยและซาอุดีอาระเบีย ก็ยังคงมีการติดต่อสัมพันธ์ทางการค้า และการลงทุนทางอ้อมผ่านประเทศที่สามบ้าง ทำให้ไทยยังคงมีความน่าเชื่อถือพอเหลืออยู่ในหมู่ชาวซาอุดีอาระเบียบางพวกบางกลุ่ม
อย่างไรก็ตาม จากการออกแบบและจัดการโครงการวิสัยทัศน์ซาอุดีฯ 2030 (Saudi Vision 2030) ของรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย เพื่อลดการพึ่งพารายได้จากการขายน้ำมันอย่างเดียวของประเทศ และเป็นการเพิ่มช่องทางการหารายได้ทางเศรษฐกิจให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น จึงทำให้ซาอุดีอาระเบียต้องเปิดประเทศมากขึ้น และแสวงหาโอกาสในการลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพ ทั้งต้องสร้างพันธมิตรใหม่และผูกมิตรกับประเทศต่าง ๆ มากกว่าเดิม
แน่นอนว่า ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ซาอุดีอาระเบียมองว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพ แต่กระนั้น กว่า 30 ปี ของการระงับความสัมพันธ์ปกติระหว่างไทย-ซาอุดีอาระเบียนั้น ก็ถือเป็นหนึ่งในอุปสรรคดังกล่าว แม้รัฐบาลไทยทุกชุดทุกสมัยตลอดเวลาที่ผ่านมานั้นจะพยายามหาทางรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบียให้กลับคืนมาเป็นปกติ แต่ก็ไม่ประสบผล
ฉะนั้น การเกิดโครงการวิสัยทัศน์ซาอุดีฯ 2030 ขึ้น และซาอุดีอาระเบียก็ต้องการหาความร่วมมือกับประเทศใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพเพื่อรองรับโครงการดังกล่าว แสงแห่งการสานสัมพันธ์อย่างแท้จริงของสองประเทศจึงเกิดขึ้นแบบจริงจัง ภายใต้ 'รัฐบาลลุงตู่'
วันแห่งประวัติศาสตร์!! เมื่อวันที่ 25-26 มกราคม 2565 ‘ลุงตู่’ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และคณะผู้แทนระดับสูง ได้เดินทางเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถือเป็นการเริ่มต้นเปิดศักราชความสัมพันธ์ปกติระหว่างไทย-ซาอุดีอาระเบียอีกครั้งหนึ่ง
‘ลุงตู่’ ได้เข้าเฝ้าฯ และพบหารือกับองค์มกุฎราชกุมาร โดยผู้นำทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบร่วมกันให้ปรับความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียให้กลับสู่ระดับปกติอย่างสมบูรณ์ อันเป็นผลสืบเนื่องจากความพยายามในหลายระดับของทั้งสองฝ่ายที่มีมาอย่างยาวนาน
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับการดำเนินการภายหลังการฟื้นฟูความสัมพันธ์ในระยะแรก และการจัดตั้งกลไกการหารือทวิภาคี รวมถึงได้หารือการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันทั้งในกรอบทวิภาคีและพหุภาคี เพื่อรื้อฟื้นความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ รวมทั้งแสวงหาความร่วมมือในสาขาใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพ อีกทั้งมีการยืนยันความร่วมมือและการสนับสนุนซึ่งกันและกันในกรอบต่าง ๆ ตลอดจนการประกาศการสนับสนุนการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงาน World Expo 2030 ของซาอุดีอาระเบีย
และในปีเดียวกันนั้นเอง ระหว่างวันที่ 17-19 พฤศจิกายน เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ก็ยังได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาล ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของ ‘ลุงตู่’ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น โดยถือเป็นการเสด็จฯ เยือนไทยครั้งแรกในระดับราชวงศ์และระดับผู้นำของซาอุดีอาระเบีย ภายหลังการเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการของ ‘ลุงตู่’ และการปรับความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียให้กลับสู่ระดับปกติอย่างสมบูรณ์
โดยในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท อีกด้วย ซึ่งการเข้าเฝ้าฯ ในครั้งนี้ ถือเป็นเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ ด้วยเป็นการพบกันอย่างเป็นทางการครั้งแรกระหว่างพระบรมวงศานุวงศ์ของทั้งสองประเทศ
หากได้สังเกตโดยละเอียดแล้วจะพบว่า ผู้นำของซาอุดีอาระเบียได้แสดงออกถึงความชื่นชมและประทับใจในการวางตัวของ ‘ลุงตู่’ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยในขณะนั้น ซึ่งมีบุคลิกท่าทางที่สุภาพและอ่อนน้อมถ่อมตน ตลอดจนการแสดงออกถึงความยกย่องนับถือผู้นำของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งทรงเป็นทั้งนายกรัฐมนตรีและสมาชิกสำคัญของราชวงศ์ซาอุดีอาระเบียด้วย กอปรกับราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศที่มีการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือราชาธิปไตยเต็มรูปแบบ
ดังนั้นสมาชิกของรัฐบาลส่วนใหญ่ จึงเป็นสมาชิกของราชวงศ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้มีบทบาทนำทั้งในรัฐบาลและราชวงศ์ซาอุดีอาระเบียชุดปัจจุบัน เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรี
ความชื่นชมและประทับใจดังกล่าวได้ส่งผลถึงความสัมพันธ์และมิตรภาพอันดียิ่ง และถูกส่งต่อมายัง ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ผู้เคยเป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรีของ ‘ลุงตู่’ โดย ‘พีระพันธุ์’ ได้นำคณะข้าราชการและผู้เกี่ยวข้องกับกิจการพลังงานของไทยไปเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ระหว่างวันที่ 15-17 กรกฎาคมที่ผ่านมา
โดยฝ่ายซาอุดีอาระเบีย ซึ่งนำโดยเจ้าชาย Abdulaziz bin Salman Al Saud รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ให้การต้อนรับคณะของ ‘พีระพันธุ์’ เป็นอย่างดียิ่ง ทั้งได้จัดเครื่องบินพิเศษให้ ‘พีระพันธุ์’ และคณะได้ไปเยี่ยมชมการทำงานของ ‘Saudi Aramco’ บริษัทพลังงาน (มหาชน) อันดับหนึ่งของโลก ณ สำนักงานใหญ่ของบริษัทฯ เมือง Dhahran จังหวัดตะวันออก (Eastern Province)
ว่ากันว่า...สัมพันธ์อันดีของสองประเทศที่เกิดขึ้นได้นี้ ส่วนสำคัญมาจากการแสดงออกถึงความเป็นไทยของ ทั้ง 'ลุงตู่' และ 'ลุงพี' อันประกอบด้วย รอยยิ้ม ความสุภาพ ความอ่อนน้อมถ่อมตน การแสดงออกถึงความยกย่องนับถือ ให้เกียรติ และจริงใจ ซึ่งเป็นคุณสมบัติพิเศษ อันเป็นทั้งเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของคนไทยที่สร้างความชื่นชมและประทับใจให้กับชาวต่างชาติมากมาย
สิ่งเหล่านี้ถือเป็น Soft Power ของประชาชนคนไทยโดยธรรมชาติ และเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งที่สังคมไทยต้องสืบทอดและรักษาไว้ให้อยู่คู่บ้านเมืองตลอดไป