Tuesday, 14 May 2024
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานรับลูก  กฟผ. เคาะลดค่าไฟ 'พ.ค.- ส.ค.' เหลือ 4.70 บาท ส่วนงวดใหม่รอเช็กปริมาณก๊าซ

(24 เม.ย.66) นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) นัดพิเศษวันนี้ พิจารณาปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ FT งวดเดือน พ.ค.-ส.ค.2566 ตามที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เสนอ พร้อมรับภาระค่าเอฟทีลดลง 7 สต.ทำให้ค่าไฟฟ้า ค่าเอฟทีลดลงจากเดิมที่ 98.27 สตางค์ต่อหน่วย คิดเป็นอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวม 4.77 บาทต่อหน่วย เป็นอัตราเอฟทีใหม่ที่ 91.19 สตางค์ หรือค่าไฟเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 4.70 บาทต่อหน่วย

ทั้งนี้ในการดำเนินการดังกล่าวตามมติ กกพ. จะมีผลทันทีโดยไม่ต้องรับฟังความเห็นประชาชนรอบใหม่ เนื่องจากสมมุติฐานอื่นๆ ไม่เปลี่ยนแปลง 

ส่วนกรณีการแสดงความเห็นในช่วงนี้ว่าค่าไฟแพงนั้น นายคมกฤช ยอมรับว่า ค่าไฟฟ้าปัจจุบัน งวดเดือน มี.ค. –เม.ย. ยังไม่ได้ปรับขึ้น โดยยังคิดที่เฉลี่ย 4.72 บาทต่อหน่วย แต่ด้วยอากาศร้อน และมีการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างหนัก จึงทำให้การใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น โดยปัจจุบันค่าไฟฟ้าเป็นอัตราก้าวหน้า ยิ่งใช้มากก็ยิ่งต้องจ่ายมาก หากใช้เงิน 300 หน่วยต่อเดือน ก็ไม่มีส่วนลดจากรัฐบาล ก็ยิ่งทำให้หลายคนเจอกับปัญหาค่าไฟแพงด้วย

'กฟผ.' เร่งเดินหน้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนอุบลรัตน์  ผลิตไฟฟ้ารักษ์โลก-เสริมความมั่งคงด้านพลังงานให้ประเทศ

(18 ธ.ค. 66) ภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องถือเป็นปัจจัยสำคัญที่เร่งเร้าให้ทั่วโลกเดินหน้าเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยประเทศไทยตั้งเป้าเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 50% เพื่อสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดโดยเฉพาะในภาคการผลิตไฟฟ้าและขนส่ง เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ในปี 2050

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จึงเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ หรือ โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด (Hydro-floating Solar Hybrid) ซึ่งถือเป็นต้นแบบของโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดแบบผสมผสานระหว่างพลังงานแสงอาทิตย์ทำงานร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำของ กฟผ. ที่มีอยู่เดิม ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดได้อย่างต่อเนื่องยาวนานขึ้น และมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่ำ จนเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาทั่วโลกผ่านโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดใหญ่ที่สุดในโลกแห่งแรกที่เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี กำลังผลิตไฟฟ้า 45 เมกะวัตต์

สำหรับในปี 2566 กฟผ. เร่งดำเนินโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดแห่งที่ 2 ณ เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น กำลังผลิตไฟฟ้า 24 เมกะวัตต์ พัฒนาต่อยอดเพิ่มการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (BESS) แบบลิเธียมไอออนขนาด 6 เมกะวัตต์-ชั่วโมง ช่วยให้ระบบไฟฟ้าในช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างพลังงานแสงอาทิตย์และพลังน้ำมีเสถียรภาพมากขึ้น สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง ช่วยเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ

ปัจจุบันโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนอุบลรัตน์อยู่ในระหว่างดำเนินงานประกอบแผงโซลาร์เซลล์เข้ากับทุ่นลอยน้ำ โดยใช้แผงโซลาร์เซลล์ประมาณ 48,000 แผง ติดตั้งอยู่บนพื้นที่ผิวน้ำประมาณ 320 ไร่ ส่วนการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้า 22 กิโลโวลต์ เชื่อมต่อกับสถานีไฟฟ้าแรงสูงอุบลรัตน์ และการก่อสร้างอาคารอุปกรณ์ไฟฟ้า รวมถึงระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (BESS) มีความล่าช้าเล็กน้อยจากปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่ของ จ.ขอนแก่น ในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จภายในปี 2566

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดถือเป็นต้นแบบโรงไฟฟ้าแห่งอนาคตที่จะเข้ามาแทนโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพราะเป็นกระบวนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดจึงไม่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) โดยกระบวนการทำงานของโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดจะนำพลังงานแสงอาทิตย์มาผลิตไฟฟ้าในช่วงกลางวัน และผลิตไฟฟ้าด้วยโรงไฟฟ้าพลังน้ำเช่วงที่แสงแดดน้อยหรือไม่มีแสงแดด ส่วนระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่จะกักเก็บพลังงานส่วนที่เหลือจากโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ และช่วยจ่ายไฟฟ้าเสริมความต้องการของระบบไฟฟ้าในช่วงเปลี่ยนผ่านตอนหัวค่ำ จึงสามารถตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้อย่างต่อเนื่องและยาวนานขึ้น

ส่วนแผงโซลาร์เซลล์ที่นำมาใช้เป็นแผงโซลาร์เซลล์ชนิด Double Glass ที่มีความแข็งแรงทนทานสูง ทนความชื้นได้ดี สามารถออกแบบวางชิดผิวน้ำซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ถึงร้อยละ 10 - 15 และใช้ทุ่นลอยน้ำเป็นทุ่นพลาสติกชนิด High Density Poly Ethylene (HDPE) ซึ่งเป็นวัสดุประเภทเดียวกับท่อส่งน้ำประปาจึงเป็นมิตรต่อสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อม รวมถึงสามารถทนต่อความเสื่อมจากการกระทบของรังสี UV ได้เป็นอย่างดี จึงมีอายุการใช้งานได้นานถึงประมาณ 25 ปี

นอกจากนี้โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดยังตอบโจทย์พลังงานเพื่อทุกคน เนื่องจากเป็นการพัฒนาโครงการที่มีขนาดใหญ่ (Economy of Scale) โดยใช้ที่่ดินและอุปกรณ์โครงข่ายไฟฟ้าของเขื่อนอุบลรัตน์ที่มีอยู่เดิมให้เต็มประสิทธิภาพ จึงสามารถช่วยลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้มีต้นทุนผลิตไฟฟ้าต่ำ อีกทั้งในช่วงการก่อสร้างยังได้จ้างแรงงานท้องถิ่นทำให้เกิดการจ้างงาน กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ และเมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ กฟผ. ได้เตรียมพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้านพลังงานหมุนเวียนแห่งใหม่ของ จ.ขอนแก่น เพื่อสร้างรายได้ให้กับประชาชนในท้องถิ่นอีกทางหนึ่งด้วย

โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดถือเป็นก้าวสำคัญของการเดินหน้าผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดที่เชื่อถือได้ และแสดงถึงความมุ่งมั่นเอาจริงเอาจังในการส่งเสริมพลังงานสะอาดของไทย โดยให้ความสำคัญกับชุมชนโดยรอบเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน และเดินหน้าสู่สังคมไร้คาร์บอนอย่างแท้จริง เพื่อคนไทยทุกคน

เสธ.เปิ้ล 'พลโท เจียรนัย วงศ์สอาด' ผงาด!! นั่งบอร์ด กฟผ. ร่วมทีมสร้างพลังงานไทยเป็นธรรม เพื่อประชาชน

(20 ก.พ. 67) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติ/เห็นชอบ การแต่งตั้ง ดังนี้...

ครม.มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงานเสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รวม 10 คน แทนประธานกรรมการและกรรมการอื่นเดิมที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากมีอายุครบหกสิบห้าปีบริบูรณ์และขอลาออก ดังนี้...

1.นายประเสริฐ สินสุขประเสิริฐ ประธานกรรมการ
2.รองศาสตราจารย์กุลยศ อุดมวงศ์เสรี กรรมการ
3.พลโท เจียรนัย วงศ์สอาด กรรมการ
4.รองศาสตราจารย์ฐากูร ศิริยุทธ์วัฒนา กรรมการ
5.นางสาวนิรมาณ ไหลสาธิต กรรมการ
6.นายปกรณ์ อาภาพันธุ์ กรรมการ
7.นายพรพจน์ เพ็ญพาส กรรมการ
8.ศาสตราจารย์พิสุทธิ์ เพียรมนกุล กรรมการ
9.นายวรากร พรหโมบล กรรมการ (ผู้แทนกระทรวงพลังงาน)
10.นายอัครุตม์ สนธยานนท์ กรรมการ (ผู้แทนกระทรวงการคลัง)

โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเป็นต้นไป 

สำหรับ เสธ.เปิ้ล พลโท เจียรนัย วงศ์สอาด เคยเป็นแกนนำ ตท.29 เป็นผู้ทรงคุณวุฒิสำนักปลัดกลาโหม และเคยเป็น ประธานบอร์ดการเคหะฯ ในยุครัฐบาลบิ๊กตู่ ซึ่งมี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยความเป็นธรรม และเร่งรัดการปฏิบัติราชการในขณะนั้น

เปิดประวัติ ‘เทพรัตน์ เทพพิทักษ์’ ผู้ว่าฯ ‘กฟผ.’ คนใหม่ ‘คว่ำหวอด-เชี่ยวชาญ’ สายงานด้านพลังงานแบบรู้ลึก

เมื่อวานนี้ (3 มี.ค. 67) คณะรัฐมนตรี (ครม.) วาระพิเศษ มีติเห็นชอบการแต่งตั้งนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ เป็นผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คนใหม่ คนที่ 16 ซึ่งกระทรวงการคลัง โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้เห็นชอบในรายละเอียดแล้ว

สำหรับการเสนอแต่งตั้งนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ เป็นผู้ว่าฯ กฟผ. คนใหม่ ครั้งนี้ ถือว่าค้างมาจากรัฐบาลก่อน โดยจากนี้ไปจะต้องไปดูมติครม.ก่อนว่าเมื่อครม.มีมติแล้วนายเทพรัตน์ จะเริ่มเข้าทำงานอย่างเป็นทางการเมื่อใดต่อไป

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา คณะกรรมการ กฟผ. ในการประชุมครั้งที่ 1/2567 ได้มีมติเห็นชอบการยืนยันเสนอชื่อ นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ ปฏิบัติงานที่บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าฯ กฟผ. คนใหม่ ตามที่คณะกรรมการสรรหาเสนอ เพื่อแทนนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร อดีตผู้ว่าฯ กฟผ. ซึ่งครบวาระการดำรงตำแหน่งไปเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา

จากการตรวจสอบพบว่า ก่อนหน้านี้นายเทพรัตน์ได้เคยลงสมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าการ กฟผ. เมื่อปี 2563 แต่พลาดตำแหน่ง จนกระทั่งเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 นายเทพรัตน์ ซึ่งอยู่ในตำแหน่งรองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้รับตำแหน่ง ขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของเอ็กโก กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ กฟผ.  เริ่มงานตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563

>> ส่วนประวัติของ ‘เทพรัตน์ เทพพิทักษ์’ ประกอบด้วย   

- วันเกิด : 31 ก.ค. 2508 
- อายุ : 58 ปี

>> ประวัติการศึกษา

- ระดับปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 
- ปริญญาโท วิศวกรรมศาสตร์ สาขา Electricity Industry Management and Technology มหาวิทยาลัยสแตรธไคลด์ (University of Strathclyde) สหราชอาณาจักร 

>> ประวัติการอบรม

- หลักสูตร Advanced Management Program จาก Harvard Business School สหรัฐอเมริกา
- หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร จากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร 
- หลักสูตร Senior Executive Program จากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ 
- หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านวิทยาการพลังงาน จากสถาบันวิทยาการพลังงาน 
- หลักสูตรผู้นำผู้สร้างแรงบันดาลใจสำหรับผู้บริหารระดับสูง จากสถาบันพระปกเกล้า

>> ประวัติการทำงาน 

- ปี 2560 - 2561 ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้ว่าการพลังงานหมุนเวียนและพลังงานใหม่ 
- ปี 2561 - 2563 ดำรงตำแหน่ง รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน 
- ปี 2563 - ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ ปฏิบัติงานที่บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่

‘กฟผ. - Metlink’ แลกเปลี่ยนความรู้เทคโนโลยีดักจับก๊าซคาร์บอนฯ ปักหมุด!! วิธี ‘ไครโอเจนิค’ เล็งต่อยอดใช้งานในโรงไฟฟ้าของ กฟผ.

เมื่อวันที่ (20 มี.ค.67) นายทิเดช เอี่ยมสาย รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน เป็นผู้แทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมลงนามสัญญารักษาความลับ Confidentiality Agreement (CA) ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและองค์ความรู้เทคโนโลยีการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยวิธีไครโอเจนิค (Cryogenic Carbon Capture: CCC) กับนายประพันธ์ อัศวพลังพรหม กรรมการและประธานบริหาร ผู้แทนจาก บริษัท เมทลิงค์ อินโฟ จํากัด (Metlink Info Co.,Ltd) โดยมีนายฉัตรชัย มาวงศ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิศวกรรมและก่อสร้างโรงไฟฟ้า กฟผ. และนายนิพนธ์ ลิ่มบุญสืบสาย ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เมทลิงค์ อินโฟ จํากัด ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ อาคาร 50 ปี กฟผ. สำนักงานใหญ่ จ.นนทบุรี

นายทิเดช เอี่ยมสาย รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน กฟผ. กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า เป็นก้าวสำคัญในการขยายองค์ความรู้ด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้กว้างขึ้น โดยการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยวิธีไครโอเจนิคหรือความเย็นยิ่งยวด Cryogenic Carbon Capture: CCC เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่น่าสนใจ สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดเพื่อใช้กับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ได้ในอนาคต และเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ Triple S: Sink ของ กฟผ. ด้วยวิธี ‘การดักจับ ใช้ประโยชน์และกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture Utilization and Storage: CCUS)’ ซึ่งจะตอบโจทย์แผน EGAT Carbon Neutrality ที่มีเป้าหมายเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 

นายประพันธ์ อัศวพลังพรหม กรรมการและประธานบริหาร ตัวแทนจาก บริษัท Metlink เปิดเผยว่า ความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยให้ กฟผ. สามารถบรรลุเป้าหมายของ CCUS ด้วยต้นทุนที่ต่ำ โดยการดักจับคาร์บอนด้วยวิธีความเย็นยิ่งยวด เป็นเทคโนโลยีทางเลือกในการดักจับคาร์บอน และกำลังได้รับการพัฒนาเพื่อใช้งานในโรงไฟฟ้า สามารถแข่งขันได้ในเชิงต้นทุน และคาร์บอนไดออกไซด์ที่ได้จากการดักจับมีความบริสุทธิ์เกือบ 100% จึงมีศักยภาพที่จะนำไปใช้งานได้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม และทางการแพทย์ เป็นต้น

‘กฟผ.’ ปรับโซนใหม่ ศูนย์การเรียนรู้ ‘Elextrosphere โลกใหม่ Right Carbon’ อัดแน่น ‘ความรู้-ความสนุก-สื่อทันสมัย’ จูงใจเรียนรู้เรื่องพลังงานอย่างมีส่วนร่วม

เมื่อวานนี้ (25 มี.ค. 67) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดรอบพิเศษแก่คณะสื่อมวลชน ชมนิทรรศการศูนย์การเรียนรู้ที่ปรับปรุงใหม่ ‘Elextrosphere โลกใหม่ Right Carbon’ โดยมีนางสาวรัชดาพร เสียงเสนาะ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารและประชาสัมพันธ์องค์การ กฟผ. และผู้บริหารศูนย์การเรียนรู้นำชม ณ ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี 

กฟผ. ปรับปรุงนิทรรศการศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง โซน ที่ 2 และ 5 ด้วยเทคโนโลยีสื่อจัดแสดงที่ทันสมัย ให้เยาวชนและผู้เยี่ยมชมได้สัมผัสประสบการณ์อันตื่นตาตื่นใจไปกับการเรียนรู้ด้านพลังงานอย่างมีส่วนร่วม ภายใต้กลยุทธ์ EGAT Carbon Neutrality ของ กฟผ. โดยจัดแสดง ผ่าน 5 สัมผัสพิเศษ 5 เทคนิคจัดแสดง ดังนี้

โซนที่ 2 Elextrosphere โลกใหม่ Right Carbon:
1. Elextrosphere โลกใหม่ Right Carbon นิทรรศพลังงานแห่งอนาคตกับการสร้างประสบการณ์ร่วมในโลกเสมือน พาทุกคนร่วมเดินทางไปสัมผัสความรู้สึกเมื่อโลกที่เราอาศัยอยู่ต้องเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง และความงดงามของโลกแห่งจินตนาการที่ทุกสรรพสิ่งอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล ในดินแดนคาร์บอนเรืองแสง ผ่านเทคนิค Interactive Immersive Experience & Theater 6D - 8K ภาพยนตร์ 6 มิติ บนจอภาพยนตร์ขนาดยักษ์ความยาวถึง 30 เมตร

โซนที่ 5 Right Carbon สร้างสมดุลคาร์บอน:
2. Carbon คือผู้ร้ายจริงหรือ แกะร่องรอยปริศนาผู้อยู่เบื้องหลังภาวะโลกเดือด จุดเริ่มต้นของปัญหาภัยพิบัติครั้งยิ่งใหญ่ ตามหา Carbon ที่อยู่รอบตัวเราผ่านเทคนิค AR Interactive

3. พลังงานขับเคลื่อนชีวิต ย้อนเวลาสู่ก้าวแรกแห่งการค้นพบพลังงานไฟฟ้าเรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของ กฟผ. และสนุกกับเกมการเรียนรู้ด้านพลังงานรูปแบบ Self-learning ผ่านเทคนิค Model Interactive Projection Mapping Graphic Wall

4. Welcome to ELEXTROSPHERE ภารกิจขับเคลื่อนโลกสู่ ‘EGAT CARBON NEUTRALITY’ ภายใต้กลยุทธ์ Triple S ลด ชดเชย กักเก็บ อาทิ การปรับปรุงโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ รองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียน และทางเลือกในการจัดการพลังงานแห่งอนาคต ผ่านเทคนิค Projection Mapping Interactive & AR Interactive

5. แต่งแต้มจินตนาการให้แก่โลก ELEXTROSPHERE สนุกกับกิจกรรมกักเก็บ Carbon เพื่อสร้างสมดุลพลังงานยั่งยืน คืนชีวิตแก่ ต้นไม้แสงนิรันดร์ และมีส่วนร่วมในการสร้างโลกใหม่ Right Carbon ด้วยการปลดปล่อยพลังสร้างสรรค์ แต่งแต้มสีสันให้กับ ELEXTROSPHERE ผ่านเทคนิค Touch Screen L&S Interactive Projection Mapping

นอกจาก 2 โซนใหม่เอี่ยมล่าสุดแล้ว ยังมีอีก 5 โซนที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น โซน 1 จุดประกาย จุดประกายแสงแรกในตัวคุณ ลงทะเบียนรับ RFID แปลงร่างเป็น AVATAR ผจญภัยในโลกพลังงานไฟฟ้า 

โซน 3 คืนสู่สมดุล สัมผัสชีวิตอนาคตที่มีความสมดุลระหว่างมนุษย์ ธรรมชาติ และเทคโนโลยี 

โซน 4 สายน้ำแห่งความภูมิใจ สัมผัสภารกิจแห่งในการดูแลชุมชน ตั้งแต่ป่าต้นน้ำสู่สายน้ำเจ้าพระยาควบคู่ไปกับการผลิตไฟฟ้าเพื่อความสุขของคนไทย 

โซน 6 โลกที่ยั่งยืน สำรวจโลกพลังงานไฟฟ้าการบริหารจัดการกับการใช้ไฟฟ้าจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก 

โซน 7 แสงนิรันดร์ ประมวลผลการเรียนรู้และรวมพลังสร้างแสงแห่งสุขนิรันดร์

ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง เปิดให้บริการทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์ ตั้งแต่เวลา 09.00 - 16.00 น. สนใจสามารถเข้าชมได้ฟรี ติดต่อรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊กเพจ ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง หรือ โทร. 0-2436-8953

‘การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ’ หนุนสองล้อไฟฟ้าดัดแปลงเพื่อธุรกิจ ใต้โครงการแข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงครั้งที่ 3

สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย จับมือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี พร้อมเดินหน้าจัดงานแข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเพื่อธุรกิจแห่งอนาคต ครั้งที่ 3 พร้อมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อการผลิตและพัฒนาสมรรถนะกำลังคน ด้านยานยนต์ไฟฟ้า และการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า ระหว่างสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย และมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี

ไม่นานมานี้ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) นำโดย นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมฯ พร้อมด้วย นายชัยวุฒิ หลักเมือง ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เเละอาจารย์สมมาตร ทองคำ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี จัดงานเเถลงข่าวโครงการแข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเพื่อธุรกิจแห่งอนาคต ครั้งที่ 3 และ พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อการผลิตและพัฒนาสมรรถนะกำลังคนด้านยานยนต์ไฟฟ้า และการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า ระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี กับ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคารสปอร์ตคอมแพล็ค มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี

นายชัยวุฒิ หลักเมือง ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า “ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มีความรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการจัดแข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเพื่อธุรกิจแห่งอนาคต ร่วมกับทาง สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย และ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี โดยในปีนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้สนับสนุนมาเป็นปีที่ 3 แล้ว ซึ่งการจัดเเข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดเเปลงเเห่งอนาคตในครั้งนี้ เล็งเห็นว่าเป็นโอกาสที่จะช่วยสร้างบุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านยานยนต์ไฟฟ้าให้ได้แสดงออกถึงศักยภาพการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ที่สามารถต่อยอดในการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต เพื่อผลักดันเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อสอดรับกับภารกิจมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนตามนโยบายภาครัฐ”

นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) กล่าวว่า “สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ในปีนี้รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับความร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเเห่งประเทศไทย เเละ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ซึ่งในวันนี้เราได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลง ด้านความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อการผลิตและพัฒนาสมรรถนะกำลังคนด้านยานยนต์ไฟฟ้า กับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ภายใต้การสนับสนุนบุคลากรหรือผู้เชี่ยวชาญ ที่จะมาร่วมแลกเปลี่ยน องค์ความรู้ วางรากฐาน และแนวทางในการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าในมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี นอกจากนี้ทางสมาคมฯยังได้รับความร่วมมือจากทั้ง 2 ฝ่าย ในการจัดงานการแข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเพื่อธุรกิจแห่งอนาคต ที่ทางสมาคมฯ ได้ดำเนินการจัดการเเข่งขันขึ้นเป็น ครั้งที่ 3 เเล้ว โดยจะใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี เป็นสถานที่จัดงานการเเข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดเเปลง ซึ่งในปีนี้ได้รับความสนใจจากหลายทีมสมัครเข้าร่วมการเเข่งขัน โดยจะมีขึ้นในวันที่ 26 - 27 เมษายน นี้ ณ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ซึ่งการจัดงานเเข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดเเปลงเเห่งอนาคตในครั้งนี้ทางสมาคมฯ มีความมุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะผลักดันการปลูกฝังเเละผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า ป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ที่กำลังมีการเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีสมัยใหม่ สอดรับกับเป้าหมายของรัฐบาลไทยที่ต้องการให้ประเทศเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าป้อนสู่ตลาดโลก”

โดยในบันทึกข้อตกลงดังกล่าวเป็นการลงนามระหว่าง 2 ฝ่าย ได้เเก่ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ร่วมกับ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ซึ่งเป็นการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเพื่อการผลิตและพัฒนาสมรรถนะกำลังคนด้านยานยนต์ไฟฟ้า ภายใต้วัตถุประสงค์…

1. เพื่อการร่วมมือกันในการร่างหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่ ตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
2. เพื่อร่วมมือกันพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อพัฒนาสมรรถนะ กำลังคนให้ตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
3. เพื่อการร่วมมือกันแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ วางรากฐานและแนวทางในการ

ส่วนกรอบระยะเวลาดำเนินการนั้น ตามกรอบบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการดังกล่าวนี้ มีระยะเวลา 3 ปี มีผลนับตั้งแต่วันลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการนี้

เกี่ยวกับ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (Electric Vehicle Association of Thailand) เป็นสมาคมที่ไม่เเสวงหาผลกำไร โดยแนวทางของสมาคมมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนการเเลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท ยังรวมไปถึงการให้คำปรึกษาข้อบังคับมาตรฐาน และการดำเนินงานในการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ในปัจจุบันสมาคมมี คุณกฤษฎา อุตตโมทย์ ทำหน้าที่นายกสมาคม และมีสมาชิกที่มาจากภาคเอกชน สถาบันศึกษา รัฐวิสาหกิจ และบุคคลทั่วไปรวมทั้งสิ้นกว่า 379 รายโดยทางสมาคมมีการกำหนดการจัดการประชุม ในทุกๆ เดือน และมีการเเบ่งคณะทำงานในด้านต่างๆ เพื่อสนับสนุน และส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทยให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ที่ www.evat.or.th 

เปิดวิสัยทัศน์ ‘เทพรัตน์ เทพพิทักษ์’ ผู้ว่ากฟผ.คนใหม่ ชู 5 ภารกิจสำคัญ สร้างความมั่นคงให้ระบบไฟฟ้าไทย

เมื่อไม่นานมานี้ นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมพูดคุยกับสื่อมวลชนถึงทิศทางการดำเนินงานของ กฟผ. และแนวทางการบริหารงานหลังเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 16 เมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา ณ อาคาร 50 ปี กฟผ. สำนักงานใหญ่ จ.นนทบุรี

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า ระยะเวลา 1 ปี 4 เดือน ในฐานะผู้ว่าการ กฟผ. พร้อมเร่งเดินหน้า 5 ภารกิจสำคัญ คือ การรักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้า ซึ่งต้องเผชิญความท้าทายทั้งจากการบริหารจัดการพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมีความผันผวนสูง รวมถึงปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากการชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า ทำให้ กฟผ. จำเป็นต้องเร่งพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid Modernization) เพื่อรองรับการบริหารจัดการปริมาณไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าหลัก อาทิ ปรับปรุงโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ให้มีความยืดหยุ่น (Flexible Power Plant) การพัฒนาศูนย์การพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Forecast Center) และศูนย์ควบคุมการตอบสนองด้านโหลด (Demand Response Control Center) เพื่อลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าจากผู้ใช้ไฟฟ้าที่สมัครใจในช่วงความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงเพื่อสร้างความสมดุลให้ระบบไฟฟ้า และเตรียมพร้อมต่อยอดสู่โรงไฟฟ้าเสมือน (Virtual Power Plant) ในการบริหารจัดการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนได้อย่างต่อเนื่อง

บริหารจัดการค่าไฟฟ้าให้เป็นธรรมและแข่งขันได้ โดยเร่งรัดการนำเอาทรัพยากรธรรมชาติทั้งในประเทศและพื้นที่ทับซ้อนมาใช้ประโยชน์โดยเร็ว พิจารณาการนำเข้า LNG เพื่อให้ได้ต้นทุนต่ำที่สุด สนับสนุนการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าให้เป็นธรรมตามนโยบายกระทรวงพลังงาน พร้อมขับเคลื่อนนโยบาย No Net Metering Support Net Billing เพราะผู้ที่ได้รับประโยชน์ควรจ่ายค่าไฟฟ้ามากกว่า ส่วนประชาชนที่เสียประโยชน์ควรได้รับการชดเชย นอกจากนี้ กฟผ. ยังสนับสนุนนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำของ สปป.ลาว เพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกกลุ่มได้รับความเป็นธรรม สามารถเข้าถึงราคาค่าไฟฟ้าได้

ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวต่อไปว่า กฟผ. ยังให้ความสำคัญในการออกแบบระบบไฟฟ้าของประเทศเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมาย Carbon Neutrality ของประเทศ ทั้งการเดินหน้าพัฒนาโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดในเขื่อนของ กฟผ. และศึกษาพัฒนาเชื้อเพลิงทางเลือกอื่น ๆ โดยเฉพาะไฮโดรเจนซึ่งเป็นได้ทั้งเชื้อเพลิงเผาไหม้เหมือนก๊าซธรรมชาติ และเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) รวมถึงมีแนวโน้มราคาที่ถูกลง โดยในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดยังสามารถนำไฮโดรเจนมาใช้เป็นเชื้อเพลิงร่วมในโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ที่มีอยู่เดิมโดยไม่ต้องปรับปรุงโรงไฟฟ้า รวมถึงศึกษาและนำเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอนมาใช้ด้วย

สำหรับกรณีนโยบายแยกศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า (System Operator) ให้โปร่งใส เป็นธรรม กฟผ. ในฐานะหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพลังงานต้องดำเนินการตามนโยบายภาครัฐ ในเบื้องต้นจำเป็นต้องพัฒนาปรับปรุงการควบคุมระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคง ทันสมัย พร้อมรองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียน สามารถควบคุมสั่งการระบบผลิต ระบบส่ง ให้ตอบสนองความผันผวนและเหตุสุดวิสัยแบบอัตโนมัติและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ส่วนการจัดทำระบบเปิดเผยข้อมูลศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าให้มีความเป็นธรรม ความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และการจัดทำสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า (Internal PPA) ให้ครอบคลุมโรงไฟฟ้าทุกประเภท สามารถดำเนินการได้ทันที

ทั้งนี้ กฟผ. เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่เป็นเครื่องมือในการดำเนินธุรกิจแทนรัฐ จำเป็นต้องมีกำไรเพื่อให้เป็นแหล่งรายได้สำคัญของรัฐ สำหรับนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศและรักษาเสถียรภาพด้านการเงินการคลังของประเทศ โดยควบคุมผลตอบแทนการลงทุน (Return of Invested Capital : ROIC) ของ กฟผ. ให้เพียงพอต่อการดำเนินกิจการและการลงทุนพัฒนาระบบไฟฟ้าของประเทศให้มีความมั่นคง

“กฟผ. เป็นกลไกของรัฐเพื่อดำเนินนโยบายด้านพลังงานและขับเคลื่อนเศรษฐกิจในการพัฒนาประเทศ โดยในช่วงที่ประเทศไทยเดินหน้าเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดด้วยการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ระบบไฟฟ้าต้องมีประสิทธิภาพและความมั่นคงสูง พร้อมส่งต่อไฟฟ้าที่มีคุณภาพไฟไม่ตก ไม่ดับ ควบคู่กับการดูแลค่าไฟฟ้าให้สามารถแข่งขันได้และเป็นธรรม เพื่อเป็นปัจจัยดึงดูดนักลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ”

'กฟผ.' ผนึกกำลัง 'รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว - Chiyoda - Mitsubishi' พัฒนาโครงการผลิต 'ไฮโดรเจนสีเขียว-แอมโมเนีย' ในไทย

กฟผ. รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว บริษัท Chiyoda และ บริษัท Mitsubishi ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือการศึกษาและพัฒนาการใช้ใบรับรองพลังงานหมุนเวียน เพื่อผลิตไฮโดรเจนสีเขียวและแอมโมเนีย ในพื้นที่ที่มีศักยภาพของไทย เดินหน้าพลังงานสีเขียว มุ่งสู่ Carbon Neutrality และ Net Zero Emission

(24 เม.ย. 67) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EDL) Chiyoda Corporation (CYD) และ Mitsubishi Company (Thailand) Ltd. (MCT) ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือ (MOC) การศึกษาและพัฒนาวิธีการใช้ประโยชน์ใบรับรองพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificates: RECs) แบบข้ามเขตแดน เพื่อนำเข้าไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน จากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) มาใช้ผลิตไฮโดรเจนสีเขียวและแอมโมเนีย ในพื้นที่ที่มีศักยภาพของประเทศไทย รวมถึงศึกษาโอกาสทางธุรกิจของไฮโดรเจน และแอมโมเนียสีเขียวทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ 

โดยมี นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ กฟผ. นายวงสกุล ยิ่งยง กรรมการผู้จัดการบริษัท EDL เป็นผู้ลงนาม พร้อมด้วย Mr. Yasuhiro Inoue General Manager - Hydrogen Business Department, CYD และ Mr. Kazuhiro Watanabe Senior Vice President, MCT ร่วมลงนามในฐานะพยาน ณ ห้องออดิทอเรียม อาคาร 50 ปี กฟผ. สำนักงานใหญ่ กฟผ. จ.นนทบุรี

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายเทพรัตน์ ผู้ว่าฯ กฟผ. กล่าวว่า การลงนามในครั้งนี้ สืบเนื่องจากการลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับบริษัทชั้นนำของประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2566 ในการศึกษาและพัฒนาโครงการการผลิตไฮโดรเจนและแอมโมเนียสะอาดบนพื้นที่ศักยภาพ กฟผ. พบว่า ต้นทุนค่าไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาไฮโดรเจนอย่างมีนัยสำคัญ กฟผ. จึงมีแนวคิดในการศึกษาการใช้ประโยชน์จากการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป.ลาว และหากต้นทุนของพลังงานสะอาดสำหรับโครงการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวในประเทศไทยลดลง จะทำให้ราคาของไฮโดรเจนที่ผลิตอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ทั้งตลาดภายในและต่างประเทศ ผลักดันให้เกิดการพัฒนาโครงการที่เกี่ยวข้องกับไฮโดรเจนอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจก เพื่อบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero Greenhouse Gas Emissions ของประเทศได้อย่างยั่งยืน

ด้าน นายวงสกุล กรรมการผู้จัดการ EDL เปิดเผยว่า สปป.ลาว มีศักยภาพในการเป็นแหล่งผลิตพลังงานทดแทน และยังมีโครงข่ายไฟฟ้าที่เชื่อมโยงกับ กฟผ. โดย EDL เป็นรัฐวิสาหกิจของ สปป.ลาว ที่มีบทบาท ด้านการวางแผนระบบไฟฟ้าและดูแลความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าของประเทศ ความร่วมมือในครั้งนี้จึงเป็นโอกาสที่ดีในการพัฒนาด้านพลังงานหมุนเวียนผ่านการศึกษาและการประยุกต์ใช้ RECs ในโครงการไฮโดรเจนสีเขียวและแอมโมเนีย และยังเป็นการส่งเสริมการทำงานและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพื่อมุ่งสู่พลังงานสีเขียวในอนาคตร่วมกัน

ฟาก Mr. Yasuhiro Inoue General Manager - Hydrogen Business Department (นายยาสุฮิโระ อิโนอุเอะ ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายธุรกิจไฮโดรเจน) ผู้แทน CYD กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า มีความคาดหวังที่จะพัฒนาศักยภาพด้านการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวและแอมโมเนีย ซึ่ง CYD ในฐานะบริษัทด้านวิศวกรรมระดับโลกยินดีสนับสนุนความร่วมมือทางด้านเทคนิค เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาและขยายตัวของพลังงานสะอาดในประเทศไทย ลาว และญี่ปุ่นในอนาคต

Mr. Kazuhiro Watanabe Senior Vice President (นายคาซูฮิโระ วาตานาเบะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่) ผู้แทน MCT กล่าวว่า การศึกษาในครั้งนี้นับเป็นอีกก้าวในการขยายและเติมเต็มการพัฒนาการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวและแอมโมเนีย ในพื้นที่ที่มีศักยภาพของประเทศไทย ผ่านการนำเข้าไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจาก สปป.ลาว ด้วยกลไก RECs ซึ่งจะช่วยให้การแข่งขันดียิ่งขึ้น ความร่วมมือระหว่างกันในครั้งนี้จะทำให้เกิดแหล่งผลิตไฮโดรเจนสีเขียวภายในประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาด้านพลังงานสะอาดของภูมิภาค ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการเดินหน้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนที่ทั่วโลกมีเป้าหมายร่วมกันในอนาคต

‘กฟผ.’ เตรียมแผนรับมือ หลังไฟไหม้ถังเก็บสารเคมีมาบตาพุด ขอให้ ปชช.มั่นใจ ยัน!! ไม่กระทบต่อระบบไฟฟ้าของประเทศ

(9 พ.ค. 67) นายณัฐวุฒิ ผลประเสริฐ รองผู้ว่าการระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. ขอให้ประชาชนมั่นใจในระบบไฟฟ้าของประเทศไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เพลิงไหม้บริษัทมาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด 

โดยเบื้องต้น กฟผ. ได้จัดตั้งทีมเฉพาะกิจเพื่อติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และเตรียมความพร้อมระบบไฟฟ้ารองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยสั่งเพิ่มการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าราชบุรีเพาเวอร์ด้วยเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติฝั่งตะวันตก โรงไฟฟ้ากัลฟ์อุทัยด้วยเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติตะวันออก เพื่อเตรียมการเปลี่ยนเชื้อเพลิงเป็นน้ำมันดีเซล และเพิ่มการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าพลังน้ำต่างประเทศ พร้อมทั้งประสานโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติตะวันออกทั้งหมดให้เตรียมความพร้อมหากมีความจำเป็นต้องเดินเครื่องด้วยน้ำมันดีเซล 

สำหรับการเตรียมความพร้อมด้านเชื้อเพลิง ขณะนี้มีน้ำมันสำรองเพียงพอรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินทดแทนก๊าซธรรมชาติจึงไม่ส่งผลกระทบต่อการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า

“กฟผ. พร้อมร่วมมือกับทุกหน่วยงานรักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการใช้ไฟฟ้าของประชาชนและทุกภาคส่วนอย่างเต็มความสามารถ” รองผู้ว่าการระบบส่งกล่าวทิ้งท้าย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top