Sunday, 20 April 2025
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

‘กฟผ.’ จับมือ ‘กรมพัฒนาพลังงานฯ’ ร่วมสร้างมาตรฐาน ฉลากแสดงประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการติดฉลาก เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย ‘ความเป็นกลางทางคาร์บอน’

เมื่อไม่นานมานี้ นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ร่วมกับ นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือยกระดับประสิทธิภาพพลังงานของโรงงานและอาคารที่มีอยู่เดิม ด้วยการติดฉลากแสดงประสิทธิภาพพลังงาน โดยมีผู้บริหาร พพ. และ กฟผ. ร่วมพิธี ณ อาคาร 50 ปี กฟผ. สำนักงานใหญ่

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท อธิบดี พพ. กล่าวว่า พพ. ได้ส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้พลังงานในโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม ผ่านการกำกับและบังคับใช้กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการจัดการพลังงานในโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม พ.ศ.2552 ความร่วมมือในครั้งนี้ พพ. และ กฟผ. จะร่วมกันกำหนดเกณฑ์มาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานของโรงงานและอาคาร ส่งเสริมกระบวนการติดฉลากแสดงประสิทธิภาพพลังงานเบอร์ 5 ให้แก่โรงงานและอาคารที่สามารถผ่านเกณฑ์ดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้เกิดการประหยัดพลังงาน ได้ 500 ktoe (พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ) ต่อปี ช่วยลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าได้ 5,864 ล้านหน่วย ลดการปล่อยคาร์บอนได้ 3.2 ล้านตัน ภายในปี 2580

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวเสริมว่า กฟผ. ได้ดำเนินงานบริหารจัดการด้านการใช้พลังงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้ดำเนินโครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 เป็นระยะเวลากว่า 30 ปี ติดฉลาก ฯ แล้วกว่า 470 ล้านดวง ลดการใช้ไฟฟ้ากว่า 37,000 ล้านหน่วย ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 20 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ นอกจากนี้ กฟผ. ยังได้ดำเนินโครงการที่ปรึกษาพลังงาน มุ่งเน้นการให้คำปรึกษาในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคอาคารและโรงงาน

การร่วมมือกับ พพ. ในครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพเชิงผลลัพธ์ของการใช้พลังงานในอาคารและโรงงานที่มีอยู่เดิมผ่านการกำหนดค่าประสิทธิภาพพลังงาน เตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการภาคอาคารและโรงงานสำหรับการบังคับใช้กฎหมายประหยัดพลังงานของประเทศไทยและการบังคับใช้มาตรการระดับสากลที่มีผลต่อธุรกิจในประเทศไทย รวมทั้งบูรณาการระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของการใช้พลังงานในภาคอาคารและโรงงาน เพื่อการตัดสินใจเชิงนโยบายหรือดำเนินมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์พลังงานของประเทศไทยในอนาคต 

ความร่วมมือในครั้งนี้นับเป็นการร่วมกันสร้างกลไกที่สำคัญและเป็นแนวทางที่มีศักยภาพในการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานในภาคส่วนที่มีการใช้พลังงานสูง สร้างผลลัพธ์เชิงบวกด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเศรษฐกิจระดับมหภาคของประเทศ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนต่อไป

กฟผ. จับมือ ทัพเรือภาคที่ 1 จัดกิจกรรมฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมทางทะเล พร้อมสนับสนุนการปรับปรุงซ่อมแซมท่าเทียบเรือและสะพานทางเดินศึกษาธรรมชาติเทิดพระเกียรติ รอบเกาะขาม

เมื่อ 16 ก.ค.67 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับทัพเรือภาคที่ 1 จัดกิจกรรมฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมทางทะเล พร้อมสนับสนุนการปรับปรุงซ่อมแซมท่าเทียบเรือและสะพานทางเดินศึกษาธรรมชาติเทิดพระเกียรติ รอบเกาะขาม โดยมีพลเรือโท สุระศักดิ์ สิงขรวัฒน์ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 เป็นประธาน พร้อมด้วย นายกอบเดช สีหะเนิน ผู้อำนวยการโครงการปรับปรุงและขยายระบบส่งไฟฟ้าที่เสื่อมสภาพตามอายุการใช้งาน (อค-ปส.) นายประวิทย์ เลิศโกวิทย์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมระบบส่ง (อวส.) และผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาชน และโรงเรียนต่างๆ ในพื้นที่อำเภอสัตหีบ เข้าร่วมกิจกรรม ณ อุทยานใต้ทะเลเกาะขาม อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี

พลเรือโท สุระศักดิ์ สิงขรวัฒน์ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 ประธานในพิธี กล่าวว่า อุทยานใต้ทะเล เกาะขาม อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบดูแลโดยทัพเรือภาคที่ 1 ซึ่งทางอุทยานฯ ได้มีการตรวจพบว่า ปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” (El Nino) อาทิ ปะการังฟอกขาว โรคปะการังแถบเหลือง การลดลงของสัตว์ทะเล ซึ่งล้วนแต่เกิดจากสภาพอากาศของโลกที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่ทําให้อุณหภูมิน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ดีในพื้นที่อุทยานใต้ทะเลเกาะขาม ยังคงมีวงจรที่เป็นไปตามธรรมชาติทุกๆ ปี นั่นคือ การมีเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่ ในช่วงเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม ทัพเรือภาคที่ 1 จึงได้จัดกิจกรรมการพัฒนาฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์ และความสมดุลของระบบนิเวศน์ให้เหมาะสมต่อการดํารงชีวิตของสัตว์ทะเลบริเวณอุทยานใต้ทะเล เกาะขาม รวมทั้งสร้างจิตสํานึกและทัศนคติที่ดีในการช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมให้กับผู้ร่วมกิจกรรมฯ และเยาวชนในพื้นที่ อีกด้วย

นายกอบเดช สีหะเนิน ผู้อำนวยการโครงการปรับปรุงและขยายระบบส่งไฟฟ้าที่เสื่อมสภาพตามอายุการใช้งาน กฟผ. กล่าวว่า เกาะขาม เป็นหนึ่งในเกาะที่อยู่ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ที่มีความสมบูรณ์ของแนวปะการังและยังเป็นแหล่งพักอาศัยของสัตว์ทะเล รวมทั้งพื้นที่บนบกยังมีพันธุ์ไม้หายากนานาชนิด ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เดินทางเยี่ยมชมความสวยงามและศึกษาธรรมชาติบนเกาะเป็นจำนวนมาก เพื่อความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว จึงมีความจำเป็นต้องปรับปรุงซ่อมแซมสะพานท่าเรือเกาะขาม สะพานทางเดินและทางเดินขึ้นจุดชมวิวให้มีความแข็งแรงปลอดภัยอยู่ตลอด

ซึ่ง กฟผ. ได้ร่วมดำเนินกิจกรรมสนับสนุนการอนุรักษ์อุทยานใต้ทะเลเกาะขามมาโดยตลอดระยะเวลากว่า 6 ปีแล้ว การจัดกิจกรรมครั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับกำลังพลทัพเรือภาคที่ 1 ประชาชนในพื้นที่สัตหีบ รวมถึงการสร้างจิตสํานึกและทัศนคติที่ดีในการช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม และเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเลในพื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยมีหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมกิจกรรมในวันนี้ ประกอบด้วย ทัพเรือภาคที่ 1 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เมืองพัทยา องค์การบริหารส่วนตำบลแสมสาร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี มูลนิธิกิจกรรมวิทยาศาสตร์ทางทะเลและการอนุรักษ์ มูลนิธิรักปะการัง โรงเรียนสัตหีบ เขตกองเรือยุทธการ และโรงเรียนสัตหีบ เขตฐานทัพเรือสัตหีบ

กิจกรรม ประกอบด้วย การปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำคืนสู่ทะเล เช่น ปลาการ์ตูน หอยมือเสือ หอยสังข์มะระ และปูม้า เพื่อเพิ่มจำนวนประชากรสัตว์น้ำในพื้นที่ การเก็บขยะบนบกและใต้น้ำ เพื่อรักษาความสะอาดและความสมบูรณ์ของสภาพแวดล้อมทางทะเล นับเป็นกิจกกรรมที่ สร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในการอนุรักษ์และพัฒนาสภาพแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อให้มีความสมบูรณ์และยั่งยืนต่อไป

นิราช/นันทพล ทิพย์ศรี ชลบุรี
0909535645

‘กฟผ.’ พร้อมรับมือแหล่งก๊าซฯ JDA-A18 หยุดจ่ายก๊าซฯ 16 วัน มั่นใจ!! ไม่กระทบผู้ใช้ไฟฟ้าภาคใต้ เตรียมมาตรการรับมือไว้ 5 ด้าน

(27 ก.ค.67) กฟผ. เตรียมมาตรการ 5 ด้าน พร้อมรับมือการหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติจากแหล่งพัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA-A18) เพื่อซ่อมบำรุงประจำปี ตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม – 13 สิงหาคม 2567 ยืนยันไม่ส่งผลต่อการใช้ไฟฟ้าภาคใต้ พร้อมขอความร่วมมือทุกภาคส่วนในพื้นที่ภาคใต้ร่วมประหยัดพลังงานในช่วงเวลา 18.00-21.30 น.

นายณัฐวุฒิ ผลประเสริฐ รองผู้ว่าการระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า แหล่งก๊าซธรรมชาติในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย หรือ JDA-A18 ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีกำหนดซ่อมบำรุงรักษาประจำปี ตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม – 13 สิงหาคม 2567 รวม 16 วัน ส่งผลให้ไม่สามารถส่งจ่ายก๊าซฯ ให้กับโรงไฟฟ้าจะนะ จ.สงขลา ซึ่งเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าสำคัญในพื้นที่ภาคใต้ได้ตามปกติ อย่างไรก็ตาม กฟผ. ได้วางแผนมาตรการรองรับ 5 ด้าน เพื่อไม่ให้กระทบต่อการใช้ไฟฟ้าของประชาชนในภาพรวม ประกอบด้วย

• ด้านเชื้อเพลิง สำรองปริมาณน้ำมันดีเซลที่โรงไฟฟ้าจะนะและน้ำมันเตาที่โรงไฟฟ้ากระบี่ให้เพียงพอต่อความต้องการใช้งานในช่วงเวลาหยุดจ่ายก๊าซฯ รวมทั้งมีแผนรองรับหากการซ่อมบำรุงล่าช้ากว่ากำหนด

• ด้านระบบผลิต เตรียมโรงไฟฟ้าจะนะให้สามารถเดินเครื่องด้วยน้ำมันดีเซล พร้อมประสานโรงไฟฟ้าอื่น ๆ ในภาคใต้ให้มีความพร้อมเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า และสามารถรับไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซียได้ทันทีในกรณีฉุกเฉิน 

• ด้านระบบส่ง ตรวจสอบสายส่งเชื่อมโยงจากภาคกลางมายังภาคใต้ สายส่งไฟฟ้าและอุปกรณ์สำคัญในพื้นที่ให้พร้อมใช้งาน รวมถึงงดการทำงานบำรุงรักษาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง

• ด้านบุคลากร จัดเตรียมทีมงานเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมเข้าแก้ไขสถานการณ์ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน

• ด้านผู้ใช้ไฟฟ้า กฟผ. ขอความร่วมมือจากภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาชน ร่วมกันประหยัดพลังงานไฟฟ้าตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม – 13 สิงหาคม 2567 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลา 18.00-21.30 น. ซึ่งเป็นช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของภาคใต้

“กฟผ. พร้อมดำเนินการตามมาตรการรองรับการหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติจากแหล่ง JDA-A18 อย่างเต็มที่ และจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ขอให้ประชาชนมั่นใจว่าระบบไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้จะมีความมั่นคงและเพียงพอ ไม่กระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของพี่น้องประชาชน” นายณัฐวุฒิ ผลประเสริฐ ได้กล่าวย้ำในตอนท้าย 

‘กฟผ.’ จับมือ ‘CNOS’ เซ็น MOU แลกเปลี่ยนความรู้-เทคโนโลยี เตรียมความพร้อมพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็กในไทย

กฟผ. และบริษัทยักษ์ใหญ่จีน CNOS ร่วมลงนาม MOU แลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ตลอดจนศึกษาความเป็นไปได้ในการนำโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) มาใช้ในไทย มุ่งเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างความมั่นคงและยั่งยืนด้านการจัดหาพลังงานระยะยาว

เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 67 นายทิเดช เอี่ยมสาย รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ Mr.Qiao Gang, Vice President of China National Nuclear Corporation Overseas Ltd. (CNOS) จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ มุ่งส่งเสริมพลังงานสะอาด สร้างความมั่นคงและความยั่งยืนด้านการจัดหาพลังงาน ณ ห้อง Press Conference ชั้น 3 อาคาร 50 ปี กฟผ. สำนักงานใหญ่ กฟผ.

นายทิเดช เอี่ยมสาย รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน กฟผ. เปิดเผยว่า กฟผ. มีเป้าหมายบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 ด้วยการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ซึ่งพลังงานนิวเคลียร์เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าสูง ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการผลิตไฟฟ้า สามารถช่วยเพิ่มความมั่นคงและความยั่งยืนด้านการจัดหาพลังงานในระยะยาวได้ 

ปัจจุบัน กฟผ. อยู่ระหว่างศึกษาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (Small Modular Reactor: SMR) ตลอดจนการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเพื่อรองรับโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย ซึ่ง SMR เป็นหนึ่งในพลังงานทางเลือกที่มีความเป็นไปได้ในแผนพลังงานชาติ เพื่อตอบสนองความต้องการใช้พลังงานในอนาคตและเสริมความมั่นคงด้านพลังงาน นอกจากนี้โรงไฟฟ้า SMR มีขนาดเล็กจึงมีความยืดหยุ่นและความปลอดภัยสูง โดยออกแบบและผลิตเป็นโมดูลในโรงงานแล้วนำไปติดตั้งในพื้นที่ ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายและระยะเวลาการก่อสร้างได้ 

ด้าน Mr.Qiao Gang, Vice President of CNOS กล่าวว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนมีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าแล้ว 57 เครื่อง (Unit) และกำลังก่อสร้างหรืออยู่ในระหว่างขออนุมัติจากรัฐบาล 36 เครื่อง โดยเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ของ China National Nuclear Corporation (CNNC) ที่เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าแล้ว 26 เครื่อง และอยู่ระหว่างก่อสร้างหรืออนุมัติ 18 เครื่อง ซึ่ง CNNC เป็นบริษัทแม่ของ CNOS และเป็นบริษัทเดียวในสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ดำเนินธุรกิจด้านนิวเคลียร์อย่างครบวงจรตั้งแต่ การทำเหมืองยูเรเนียมที่เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ การออกแบบและก่อสร้าง จนถึงการจัดการเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้ว และเป็นกำลังหลักในการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเฉพาะการพัฒนาโรงไฟฟ้า SMR ที่ทั่วโลกให้ความสนใจเป็นอย่างมาก CNNC อยู่ระหว่างการก่อสร้าง SMR แห่งแรก 

โดยกำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ภายในสิ้นปี 2568 สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งเมื่อทราบว่า กฟผ. เป็นหน่วยงานสำคัญด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทย มีความมุ่งมั่นในการสำรวจและพัฒนาพลังงานไฟฟ้าของประเทศไปสู่ความยั่งยืน ตามแนวทางที่รัฐบาลไทยกำลังพิจารณาและวางแผนการใช้โรงไฟฟ้า SMR ในทศวรรษหน้า เนื่องจากพลังงานนิวเคลียร์เป็นพลังงานสะอาด มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย รวมทั้งมีบทบาทสำคัญในการลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก

การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ กฟผ. และ CNOS จะร่วมกันแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดใหญ่ และโรงไฟฟ้า SMR ทั้งในด้านเชื้อเพลิง งานวิศวกรรม งานก่อสร้าง การดำเนินงานและการบำรุงรักษา รวมถึงการจัดการกากกัมมันตรังสีและเชื้อเพลิงใช้แล้ว โดย CNOS จะให้การสนับสนุนการศึกษาและเตรียมการพัฒนาโรงไฟฟ้า SMR ของ กฟผ. เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ด้านพลังงานนิวเคลียร์และการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสู่การดำเนินงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

‘กฟผ.’ จัดนิทรรศการ ‘โลกไฟฟ้ายั่งยืน Into Sustainable World’ พร้อมชวน ‘เยาวชน’ พิชิตภารกิจสร้างโลกไฟฟ้ามั่นคง เพื่อโลกยั่งยืน

เมื่อวานนี้ (16 ส.ค.67) นายสมศักย์ ปรางทอง ผู้อำนวยการฝ่ายจัดการด้านการใช้พลังงานและสิ่งแวดล้อม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ร่วมเป็นประธานพิธีเปิดนิทรรศการ ‘โลกไฟฟ้ายั่งยืน Into Sustainable World’ ที่ กฟผ. จัดขึ้นภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2567 ระหว่างวันที่ 16 – 25 สิงหาคม 2567 เวลา 09.00 – 19.00 น. ณ อาคาร 12 อิมแพ็ค เมืองทองธานี 

นายสมศักย์ ปรางทอง ผู้อำนวยการฝ่ายจัดการด้านการใช้พลังงานและสิ่งแวดล้อม กฟผ. กล่าวว่า การจัดนิทรรศการในครั้งนี้ กฟผ. ได้นำเสนอแนวคิดเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และความเข้าใจในภารกิจหลักของ กฟผ. ที่มุ่งสร้างไฟฟ้ามั่นคง เพื่อโลกและอนาคตที่ดีกว่าและยั่งยืน หรือ Mission To Sustainability ภายใต้กลยุทธ์ Triple S  ได้แก่ Sources Transformation : การปรับเปลี่ยนรูปแบบผลิตไฟฟ้า, Sink Co-creation : การเพิ่มแหล่งดูดซับกักเก็บคาร์บอนอย่างมีส่วนร่วม, Support Measures Mechanism : การสนับสนุนโครงการชดเชยและหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ผ่านรูปแบบนิทรรศการผสมผสานที่สนุก น่าสนใจ เข้าใจง่าย รวมถึงส่งเสริมให้เยาวชนได้ร่วมมือกันอนุรักษ์พลังงานไฟฟ้าและสิ่งแวดล้อม

ภายในนิทรรศการ ‘โลกไฟฟ้ายั่งยืน Into Sustainable World’ ประกอบด้วย 4 โซน โดยเริ่มต้นการผจญภัย ด้วยการลงทะเบียนเพื่อรับพาสปอร์ตสะสมแต้มจากภารกิจในแต่ละโซนเพื่อแลกรับของรางวัลสุดพิเศษจาก กฟผ. และออกผจญภัยไปยังโซนต่างๆ ได้แก่

โซนแรก เรียนรู้ Sources Transformation การเปลี่ยนผ่านพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ด้วยการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่เป็นเชื้อเพลิงสะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีไฮไลท์อยู่ที่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ รวมถึงการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้า และเทคโนโลยีให้ทันสมัย การพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้า (Grid Modernization) รองรับพลังงานหมุนเวียนซึ่งจะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ลดความผันผวน และสร้างความมั่นคงต่อระบบไฟฟ้าของประเทศ

โซนที่ 2 ทำความรู้จัก Sink Co-creation การเพิ่มแหล่งดูดซับกักเก็บคาร์บอนอย่างมีส่วนร่วม ผ่านการเรียนรู้ประโยชน์ของต้นไม้ และรู้จักเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture Utilization and Storage) ที่มีส่วนสำคัญในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 

โซนที่ 3 สนุกกับ Support Measures Mechanism : การสนับสนุนโครงการชดเชยและหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ผ่าน 3 เรื่องราว 1) ทำความรู้จักห้องเรียนสีเขียว แหล่งเรียนรู้ด้านการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  2) เรียนรู้ความสำคัญของฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 พร้อมตัวอย่างอุปกรณ์ที่ได้รับฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 3) ผจญภัยในโลกไฟฟ้ายั่งยืนยุคใหม่กับ EV STATION สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า EleX by EGAT เรียนรู้การใช้แอปพลิเคชัน EleXA ที่พร้อมให้บริการและสร้างความมั่นใจในทุกการเดินทาง

โซนสุดท้าย  ตะลุยค้นหาศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ทั่วประเทศ เพื่อสื่อสารพันธกิจ กฟผ. และต่อยอดเรียนรู้การอนุรักษ์พลังงานไฟฟ้า รวมทั้งปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแก่เยาวชน

นอกจากนี้ ภายในบูทนิทรรศการของ กฟผ. ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ บนเวที อาทิ การแข่งขัน E- Sport พร้อมร่วมลุ้นรับของรางวัลมากมายจากการสะสมแต้มตลอดการจัดงาน ผู้ที่สนใจสามารถเยี่ยมชมบูทนิทรรศการของ กฟผ. ได้ ในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2567 ระหว่างวันที่ 16 – 25 สิงหาคม 2567 ตั้งแต่เวลา 09.00 – 19.00 น. ณ อาคาร 12 อิมแพ็ค เมืองทองธานี

‘ก.พลังงาน-กฟผ.’ เคียงข้างคนไทยทุกวิกฤต เร่งช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ที่เชียงราย ส่งมอบ ‘ถุงยังชีพ-น้ำดื่ม’ กว่า 3,000 ชุด พร้อมประเมินสถานการณ์ น้ำในเขื่อน

(14 ก.ย.67) นายจรัญ คำเงิน รองผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พร้อมด้วย นายธวัชชัย สำราญวานิช รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟผ. นายปรศักดิ์ งามสมภาค พลังงานจังหวัดเชียงราย และคณะผู้บริหาร กฟผ. ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ในพื้นที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย โดยส่งมอบถุงยังชีพ 1,000 ชุด พร้อมน้ำดื่มน้ำใจ กฟผ. จำนวน 1,000 แพ็ก แจกจ่ายบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนในพื้นที่อำเภอแม่สาย วัดพรหมวิหาร หมู่บ้านปิยพร ม.13 ชุมชนบ้านยาง ม.6 บ้านเหมืองแดง หมู่ 1 บ้านเวียงหอม ม.4 และบ้านป่าซาง

นอกจากนี้ จะทยอยส่งมอบถุงยังชีพ และน้ำดื่มน้ำใจ กฟผ. อีกกว่า 2,000 ชุด ดังนี้ 1) วันที่ 16 กันยายน 2567 มอบถุงยังชีพและน้ำดื่ม 500 ชุด แก่พื้นที่อำเภอแม่จัน 2) วันที่ 16 กันยายน 2567 มอบถุงยังชีพและน้ำดื่ม 500 ชุด แก่พื้นที่อำเภอแม่ฟ้าหลวง และ 3) วันที่ 17 กันยายน 2567 มอบถุงยังชีพและน้ำดื่ม 1,000 ชุด แก่พื้นที่อำเภอเมืองเชียงราย และยังคงช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องต่อไป

กฟผ. ได้ติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพื่อวางแผนการระบายน้ำที่เหมาะสม ต่อการป้องกันและบรรเทาอุทกภัย โดยสถานการณ์น้ำเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก ณ วันที่ 14 กันยายน 2567 มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำอยู่ที่ 6,843 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 51 ของความจุอ่าง ยังสามารถรับน้ำได้อีก 6,619 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 49

ซึ่ง กฟผ. ได้ระบายน้ำขั้นต่ำที่สุดเพื่อให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค และการรักษาระบบนิเวศท้ายเขื่อน วันละ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร

ด้านเขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้น มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำอยู่ที่ 7,826 ร้อยละ 18 มีแผนการระบายน้ำวันละ 14 ล้านลูกบาศก์เมตร 

ทั้งนี้ สามารถติดตามข้อมูลสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำของ กฟผ. ได้จาก https://water.egat.co.th/ หรือทางแอปพลิเคชัน EGAT One

‘กฟผ.’ ผนึกกำลังพันธมิตร ยกระดับความร่วมมือดูแลคุณภาพอากาศ บูรณาการ!! ข้อมูลภาค ‘พื้นดิน-อวกาศ’ เพื่อแก้ปัญหา PM2.5 ให้ปชช.

(15 ก.พ. 68) กฟผ. ร่วมกับกระทรวงพลังงาน กรมควบคุมมลพิษ GISTDA และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือด้านคุณภาพอากาศ ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลภาคพื้นดินและอวกาศ วิเคราะห์สาเหตุมลพิษและฝุ่น PM2.5 มุ่งกำหนดนโยบายปรับปรุงคุณภาพอากาศอย่างตรงจุด เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีและลมหายใจสะอาดของคนไทย

กระทรวงพลังงาน กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือด้านคุณภาพอากาศ 'Breathe Our Future: Space & Sensor Synergy' รวมพลังเพื่อลมหายใจแห่งอนาคต ณ ห้องออดิทอเรียม อาคาร 50 ปี กฟผ. สำนักงานใหญ่ จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568

นายสมภพ พัฒนอริยางกูล รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานได้ขับเคลื่อนนโยบายการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและ PM2.5 ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก โดยวางโครงสร้างพื้นฐานของยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อผลักดันให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าแทนเครื่องยนต์สันดาป การยกระดับคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง การนำชีวมวลมาผลิตไฟฟ้าเพื่อลดการเผาในที่โล่ง และสนับสนุนหน่วยงานภาคีเครือข่ายพัฒนานวัตกรรมตรวจวัดคุณภาพอากาศ (Sensor for ALL) เพื่อหาสาเหตุจากแหล่งการเกิดฝุ่น และใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาเพื่อออกนโยบายแนวทางแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน

นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า การป้องกันที่แหล่งกำเนิดเป็นสิ่งจำเป็นในการลดมลพิษทางอากาศและ PM2.5 ในขณะที่การขยายความร่วมมือและการพัฒนาเครื่องมือก็เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งปัจจุบันกรมควบคุมมลพิษได้ติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศแล้วจำนวน 100 สถานี ครอบคลุมพื้นที่ 69 จังหวัด และคาดว่าจะมีครบทุกจังหวัดในปี 2569 พร้อมร่วมมือกับภาคีเครือข่ายนำข้อมูลไปใช้วิเคราะห์หาสาเหตุการเกิดฝุ่นจากแหล่งที่มา และสื่อสารข้อมูลที่ได้จากเครื่องมือตรวจวัดแต่ละชนิด เพื่อให้ประชาชนเกิดความเข้าใจและสามารถนำไปใช้ประโยชน์สูงสุด

นางกานดาศรี ลิมปาคม รองผู้อำนวยการ GISTDA เปิดเผยว่า GISTDA มีดาวเทียมที่สามารถติดตามความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศรายชั่วโมง จึงสามารถช่วยสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาฝุ่นจากแหล่งกำเนิดได้ พร้อมกันนี้ยังได้ใช้ AI ในการพยากรณ์และสื่อสารถึงประชาชนผ่านแอปพลิเคชัน “เช็คฝุ่น” โดย GISTDA มุ่งหวังและตั้งเป้าหมายที่จะผสานการตรวจวัดคุณภาพอากาศจากดาวเทียมและภาคพื้นดิน เพื่อให้ได้สาเหตุการเกิดฝุ่นจากแหล่งที่มาได้อย่างถูกต้องแม่นยำ และส่งผลให้เกิดนวัตกรรมการแก้ไขปัญหาคุณภาพอากาศอย่างยั่งยืนมากขึ้น

รศ.ดร.วิทยา วัณณสุโภประสิทธิ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนความยั่งยืน โดยวางนโยบายเปลี่ยนมหาวิทยาลัยให้เป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการพัฒนานวัตกรรม Sensor for ALL ที่เดินหน้าต่อเนื่องมาแล้ว 7 ปี โดยติดตั้งเซนเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่ต่าง ๆ และกระจายฐานข้อมูลเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ โดยมีแผนที่จะใช้ Sensor สอดประสานความแม่นยำของข้อมูลกับภาคีเพื่อขยายผลการตรวจวัดตั้งแต่ภาคพื้นดินสู่อวกาศต่อไป

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ กฟผ. เปิดเผยว่า กฟผ. ดำเนินภารกิจผลิตไฟฟ้าควบคู่กับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม การดูแลคุณภาพอากาศที่ปล่อยจากการผลิตไฟฟ้าจึงถูกควบคุมดูแลตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำซึ่งเป็นผู้ใช้ไฟฟ้า โดยเลือกใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงเพื่อให้การปล่อยมลสารจากโรงไฟฟ้าดีกว่าเกณฑ์ค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด อีกทั้งผลักดันการดำเนินมาตรการต่าง ๆ อาทิ การนำร่องใช้ยานยนต์ไฟฟ้า การส่งเสริมมาตรฐานฉลากเบอร์ 5 การสนับสนุนจักรยานยนต์ไฟฟ้าเบอร์ 5 การติดตั้งนวัตกรรมระบบหมุนเวียนและบำบัดอากาศ City Tree การส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่ช่วยแก้ปัญหาฝุ่น และสนับสนุนภารกิจป้องกันไฟป่าและหมอกควัน โดย กฟผ. ได้ร่วมมือกับกระทรวงพลังงาน และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ติดตั้ง Sensor for All ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งจากการเก็บข้อมูลย้อนหลัง 3 ปี พบว่า ประเทศไทยยังไม่สามารถแก้ปัญหาและลด PM2.5 ได้ จึงต้องผนึกกำลังร่วมมือกับภาคีเครือข่ายเพิ่มมากขึ้น เพื่อช่วยกันนำข้อมูลมาวิเคราะห์ทบทวนและกำหนดมาตรการเสริมในการลดมลพิษทางอากาศและ PM2.5 ของประเทศต่อไป

สำหรับการประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือด้านคุณภาพอากาศในครั้งนี้ ทั้ง 5 หน่วยงานได้บูรณาการข้อมูลและเทคโนโลยีร่วมกัน เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุของมลพิษทางอากาศและ PM2.5 ให้ตรงจุดมากขึ้น นำไปสู่การกำหนดนโยบายด้านคุณภาพอากาศของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ และส่งเสริมการบริหารจัดการคุณภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมระดับประเทศ เพื่อลมหายใจสะอาดและสุขภาพที่ดีของคนไทยอย่างยั่งยืนต่อไป

‘กฟผ.’ ชวนอัพเดท!! เทรนด์เทคโนโลยี โอกาสทางธุรกิจ ‘สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า’

(23 มี.ค. 68) นายสายัณห์ ปานซัง ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารธุรกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นประธานเปิดงาน EGAT EV : Charge Up Your Business งานสัมมนาสำหรับผู้สนใจในธุรกิจสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า โดยนำเสนอข้อมูลทางธุรกิจ แนวคิด เทคโนโลยี และโอกาสความร่วมมือที่จะสามารถต่อยอดให้กับผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าสู่การให้บริการในธุรกิจสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า เช่น การขายเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า การติดตั้ง ดูแล บำรุงรักษา ตลอดจนผู้ประกอบการที่ต้องการติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านทางการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงเพื่อสร้างรายได้เพิ่มต่อยอดจากธุรกิจเดิมที่มีอยู่ โดยมีผู้ประกอบการให้ความสนใจเข้าร่วมกว่า 300 คน ณ อาคาร 50 ปี กฟผ. สำนักงานใหญ่ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี 

นายสายัณห์ ปานซัง ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารธุรกิจ กฟผ. เผยว่า ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา กฟผ. ได้ร่วมขับเคลื่อนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านการให้บริการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า EleX by EGAT การให้บริการแอปพลิเคชัน EleXA เพื่ออำนวยความสะดวกและตอบสนองความต้องการผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนการพัฒนาระบบบริหารจัดการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า BackEN EV เพื่อร่วมสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า (EV Ecosystem) ของประเทศ ผ่านการนำเสนอข้อมูล แนวคิด เทคโนโลยี และแนวทางความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชน รวมถึงสนับสนุนภาคธุรกิจที่มองหาโอกาสในการลงทุนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน 

ด้านนางณิศรา ธัมมะปาละ ผู้อำนวยการฝ่ายจัดการธุรกิจนวัตกรรมพลังงาน กฟผ. เสริมว่า กฟผ. มีความตั้งใจที่จะส่งมอบความรู้ ข้อมูล และประสบการณ์ รวมถึงขยายผลนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ได้พัฒนาขึ้นเพื่อให้บริการ EGAT EV Business Solutions โดยเฉพาะระบบ BackEN EV ซึ่งเป็นระบบบริหารจัดการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร ผู้ใช้งานสามารถค้นหาสถานีและใช้ผ่านแอปพลิเคชัน EleXA เจ้าของสถานีสามารถควบคุมและตรวจสอบการทำงานของสถานีชาร์จแบบเรียลไทม์ รองรับเครื่องชาร์จได้หลากหลายยี่ห้อและการใช้งานพร้อมกันได้จำนวนมาก ชาญฉลาดด้วยระบบแสดงผลและวิเคราะห์ข้อมูลอัจฉริยะ พร้อมรายงานข้อมูลการใช้งานและรายงานทางบัญชี ทำให้ผู้ประกอบการสามารถปรับกลยุทธ์และดำเนินธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ถูกต้อง สร้างรายได้และการเติบโตอย่างยั่งยืน ปัจจุบันจึงมีผู้ประกอบกิจการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เข้ามาใช้บริการ BackEN EV มากกว่า 110 ราย และตั้งเป้ารุกขยายตลาดไปยังกลุ่มบริษัท องค์กร ผู้ประกอบกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ธุรกิจติดตั้งโซลาร์เซลล์ สถานีบริการน้ำมัน และบริษัทที่ติดตั้งระบบไฟฟ้า

นอกจากนี้ กฟผ. ยังเตรียมเปิดตัวโครงการ EGAT Academy เพิ่มขีดความสามารถบุคลากรในธุรกิจสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า โดยร่วมกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพเพื่อออกใบรับรองมาตรฐานอาชีพสาขาวิชาชีพบริการยานยนต์ สาขายานยนต์ไฟฟ้า อาชีพช่างเทคนิคติดตั้งและซ่อมบำรุงสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยและความมั่นคงเชื่อถือได้ให้กับระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า 

สำหรับผู้สนใจธุรกิจในการประกอบธุรกิจสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในด้านต่าง ๆ สามารถติดต่อรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจ EGAT EV Business Solutions กฟผ. โดยไม่มีค่าใช้จ่าย 

หรือติดตามรายละเอียดได้ที่ Facebook Page: EGAT EV เว็บไซต์ egatev.egat.co.th และ Line OA: @BackenEV


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top