Tuesday, 14 May 2024
การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

กนอ. ตั้งนิคมฯ ‘ฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้’ เล็งดูดเม็ดเงินลงทุนเพิ่มในพื้นที่อีอีซี

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จับมือ บริษัท ดับเบิ้ลพี แลนด์ จำกัด จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้ พื้นที่กว่า 1,000 ไร่ เม็ดเงินพัฒนาโครงการ 4,856 ล้านบาท รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซี

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า แนวโน้มการลงทุนในขณะนี้มีสัญญาณบวกชัดเจนขึ้น เห็นได้จากหลายอุตสาหกรรมที่ขยายตัวได้ดี ประกอบกับมีความสนใจการลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment : FDI) เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะมองว่าประเทศไทยมีปัจจัยพื้นฐานที่ดี และเหมาะกับการตั้งฐานธุรกิจในระยะยาว เห็นได้จากการย้ายฐานการผลิตที่เป็นผลจากสงครามการค้าระหว่างประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ (จีน-สหรัฐฯ) ยังคงมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการจากจีนและไต้หวัน ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาย้ายฐานเข้ามาแล้ว 250 โครงการ เงินลงทุนรวมกว่า 126,000 ล้านบาท (ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน BOI ) 

ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมและเตรียมพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมรองรับการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ตามนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Development : EEC) กนอ.จึงลงนามในสัญญาร่วมดำเนินงาน กับ บริษัท ดับเบิ้ลพี แลนด์ จำกัด จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้ เพื่อรองรับการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมสมัยใหม่ S-Curve และ New S-Curve ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลเขาดิน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นการดำเนินงานในรูปแบบนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงานที่เอกชนเป็น ผู้ลงทุนพัฒนา และให้บริการระบบสาธารณูปโภค จัดเป็นนิคมอุตสาหกรรมลำดับที่ 67 โดยใช้ระยะเวลาพัฒนาโครงการประมาณ 2 ปี และจะเปิดขายพื้นที่/ให้เช่าพื้นที่ทั้งหมดได้ภายใน 4 ปี   

กนอ.- GPSC - TTM ลงนามศึกษาโรงไฟฟ้า เล็งใช้พลังงานสะอาด หนุนภาคการผลิต

กนอ. ลงนามร่วม GPSC - TTM ศึกษาและวิจัยพัฒนาโรงไฟฟ้าป้อนภาคการผลิตในนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ จ.สงขลา เล็งสร้างความมั่นคงระบบไฟฟ้า หนุนพลังงานสะอาด มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ดึงความเชื่อมั่นการลงทุนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ 

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ. ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาเสถียรภาพทางพลังงานไฟฟ้าและเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเพื่ออุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ ระหว่าง กนอ. บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC และบริษัท  ทรานส์ ไทย-มาเลเซีย (ประเทศไทย ) จำกัด หรือ TTM เพื่อศึกษา วิจัย และพัฒนาโครงการสร้างเสถียรภาพด้านพลังงานไฟฟ้าและเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติให้กับภาคอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ จ.สงขลา เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการลงทุนของในพื้นที่ภาคใต้ โดยโครงการนี้ มีระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี (ปี 2565 - ปี 2566) 

ทั้งนี้ กนอ. เลือกพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ จ.สงขลา เนื่องจากเล็งเห็นว่าเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ และมีความเหมาะสมต่อการพัฒนาด้านพลังงานหลากหลายรูปแบบให้มีประสิทธิภาพ และมีเสถียรภาพมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมทั้งเป็นต้นแบบการพัฒนาระบบไฟฟ้าและพลังงานในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งสามารถขยายไปยังพื้นที่ที่มีศักยภาพอื่น ๆ ได้

“ความร่วมมือครั้งนี้ กนอ. จะจัดหาข้อมูลรายละเอียดเชิงพื้นที่ เกี่ยวกับความต้องการไฟฟ้าทั้งในปัจจุบันและแผนในอนาคต รวมถึงกฎระเบียบและข้อกำหนดต่าง ๆ ในการพัฒนาโครงการเพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านระบบไฟฟ้าในพื้นที่ และรองรับการขยายการลงทุนสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตในอุตสาหกรรมยางพาราครบวงจร ซึ่งจะมีความเชื่อมโยงในระบบห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะเกษตรกรสวนยางพาราของไทย ที่จะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ยางของประเทศในอนาคต” ผู้ว่าการ กนอ. กล่าว

กนอ. ขานรับนโยบาย ‘สุริยะ’ ดันโรงงานมุ่งสู่อุตสาหกรรมสีเขียว คิกออฟ ‘นิคมฯ หนองแค โมเดล’ ที่แรก

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ชู ‘นิคมฯหนองแค โมเดล’ พัฒนาตามแนวทางส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อม สอดรับกับโมเดลเศรษฐกิจใหม่ของรัฐบาล เน้นพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ภายใต้การดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและปลอดภัยเพื่อชุมชน เตรียมปรับเกณฑ์การประเมินประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-Efficiency) ปี 2565 พร้อมผลักดันสถานประกอบการสู่อุตสาหกรรมสีเขียวให้เป็นไปตามเป้าที่กำหนดไว้! 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการให้มีความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันได้ รวมทั้งส่งเสริมให้ การประกอบกิจการต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามแนวทางอุตสาหกรรมสีเขียวเพื่อเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 สอดรับกับโมเดลเศรษฐกิจใหม่ของรัฐบาล หรือ BCG Model ที่เป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม 3 มิติไปพร้อมกัน ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลเกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน

“กระทรวงฯมุ่งมั่นผลักดันโรงงานสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) โดยตั้งเป้าทุกแห่งภายในปี 2568 แบ่งเป็น เป้าหมาย 60% ในปี 2565 เป้าหมาย 80% ในปี 2566 เป้าหมาย 90% ในปี 2567 และเป็น 100% ในปี 2568 ซึ่งเป็นไปตามแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมและพัฒนาสถานประกอบการสู่อุตสาหกรรมสีเขียว 2564 - 2580 เน้นเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ส่งเสริมและกำกับดูแลคุณภาพสิ่งแวดล้อมของสถานประกอบการ” นายสุริยะ กล่าว

กนอ.ประกาศแผนปี’65 เดินหน้ากระตุ้นลงทุนในนิคมฯ ดันขึ้นแท่นฮับฐานผลิตในอาเซียน

กนอ. ครบรอบ 49 ปี พร้อมเปลี่ยนเพื่ออนาคต ประกาศแผนปี’65 เดินหน้าพัฒนานิคมฯ ครบวงจร ตอบรับนโยบาย BCG มุ่งสู่ศูนย์กลางฐานการผลิตของภูมิภาคอาเซียน 

นายนรินทร์ กัลยาณมิตร ประธานกรรมการ กนอ. ร่วมเป็นเกียรติในงานฉลองครบรอบ 49 ปี กนอ. โดยระบุว่า ภารกิจหลักของ กนอ.คือ การพัฒนา จัดตั้ง และบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรม สร้างฐานการผลิตเพื่อรองรับการลงทุนด้านอุตสาหกรรมของประเทศ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากร มุ่งเน้นนวัตกรรมนำการเปลี่ยนแปลง และสร้างการเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน เพื่อให้เกิดการเติบโตในทุกภาคส่วนของประเทศ ทั้งนี้จากสถานการณ์และสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในปัจจุบัน ทำให้ กนอ. ต้องปรับตัวเพื่อให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยผ่านการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีมาตรฐานจริยธรรม จรรยาบรรณการดำเนินธุรกิจ และกรอบการบริหารจัดการความยั่งยืน 

อย่างไรก็ตาม ภายใต้การดำเนินงานขององค์กรเพื่อให้เป็นรัฐวิสาหกิจชั้นนำของประเทศ จำเป็นต้องใช้ศักยภาพที่มีอยู่อย่างเต็มที่ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมไทยเดินหน้าต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับแนวนโยบาย BCG (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อให้ภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สังคม และสิ่งแวดล้อม มีการพัฒนาในทิศทางที่สมดุล และสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างผาสุก

นายสมเจตน์ ทิณพงษ์ อดีตผู้ว่าการ กนอ. (ปี 2532 - 2542) กล่าวว่า กว่า 49 ปี ที่ กนอ. ประสบความสำเร็จในการดำเนินงานบนฐานของพันธกิจ ปรัชญาในการดำเนินงาน และหล่อหลอมเป็นหนึ่งเดียวภายใต้ระบบคุณค่า 5E’s ประกอบด้วย มุ่งสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (Economy) มุ่งกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคอย่างทั่วถึง เท่าเทียม (Equitability) มุ่งรักษาสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย อาชีวอนามัย (Environment) สร้างองค์ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการ ชุมชน และสังคม (Education) และการเสริมสร้างจริยธรรม คุณธรรม และความรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศชาติ (Ethics) ซึ่ง กนอ. ได้ยึดถือเป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานมาโดยตลอด จนทำให้ กนอ. เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ที่สำคัญยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ที่วางกรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลก เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ นำไปปฏิบัติให้บรรลุผลสำเร็จและเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

อดีตผู้ว่าการ กนอ. กล่าวต่อว่า ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ส่งผลต่อการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมให้มีความก้าวหน้า โดยปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น มุ่งเน้นสร้างมูลค่าเพิ่ม ต่อยอดทางธุรกิจ ด้วยการจัดการบนพื้นฐานของเทคโนโลยี ผสานองค์ความรู้และนวัตกรรมแห่งอนาคต เพื่อให้องค์กรเติบโตยั่งยืน และมุ่งมั่นเป็นองค์กรที่ดีของสังคม สร้างการมีส่วนร่วมเพื่อวางรากฐานให้ชุมชนเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้ ตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนควบคู่กับการดูแลสังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างการเติบโตทางธุรกิจ และตอบสนองความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ควบคู่กับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เปรียบเสมือนรากฐานที่มั่นคงในการพัฒนาอุตสาหกรรม ส่งผลต่อเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศให้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องอย่างยั่งยืน

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า ความสำเร็จของ กนอ. ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันพิสูจน์ให้เห็นว่า บนรากฐานของความร่วมมืออย่างดีจากพันธมิตรทางธุรกิจ และนโยบายของผู้บริหารที่มุ่งมั่นพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในแต่ละช่วงสมัย ส่งผลให้ กนอ. เติบโตอย่างต่อเนื่องและมีศักยภาพ จนกลายเป็นฐานการผลิตที่สำคัญในระดับภูมิภาค เห็นได้จากปัจจุบันมีนิคมอุตสาหกรรมที่เปิดดำเนินการแล้ว 65 แห่ง 16 จังหวัด ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ. ดำเนินงานเอง 14 แห่ง และนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน 51 แห่ง และท่าเรืออุตสาหกรรม 1 แห่ง มีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ประมาณ 178,891 ไร่ มูลค่าเงินลงทุนสะสม 5.27 ล้านล้านบาท มีผู้ใช้ที่ดินสะสม 5,019 โรงงาน มีแรงงานสะสม 815,804 คน โดยมีนักลงทุนทั้งจากในประเทศ และต่างประเทศร่วมลงทุนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง 

‘วีริศ’ หารือ ‘ผู้ว่าฯ - นายด่านอรัญประเทศ’ ดึง ‘นักลงทุน’ เพิ่ม!! ในนิคมฯ สระแก้ว

‘วีริศ’ ลงพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว หารือผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว นายด่านอรัญประเทศ หวังดึงนักลงทุนในพื้นที่ พร้อมหาแนวทางการบูรณาการความร่วมมือ ให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมร่วมกันอย่างยั่งยืน

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของนิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา (20-21 ม.ค. 65) ว่า ปัจจุบันนิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว อยู่ระหว่างการขอปรับเปลี่ยนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA: Environmental Impact Assessment) โดยเพิ่มหัวข้อประเภทโรงงานอุตสาหกรรมที่มีระบบการระบายออกทางปล่อง (Stack) เข้ามาประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรมได้ ซึ่งอุตสาหกรรมในลักษณะเช่นนี้ ได้แก่ อุตสาหกรรมแปรรูป, ผลผลิตทางการเกษตร เป็นต้น ประกอบกับเป็นการสนับสนุนให้เกิดระบบเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG Economy) ซึ่งสามารถสร้างโอกาสทางการแข่งขันให้กับนักลงทุน และเพิ่มประสิทธิภาพให้กับผู้ผลิตเดิม เช่น เกษตรกร และชุมชน ให้เป็นผู้ประกอบการที่สามารถผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงได้

กนอ.จัดสัมมนา ‘สร้างภูมิคุ้มกัน รู้เท่าทันโควิด-19’ กระตุ้นบุคลากรเกี่ยวเนื่องในนิคมฯ การ์ดแน่น

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จับมือสมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข จัดสัมมนา ‘สร้างภูมิคุ้มกัน รู้เท่าทันโควิด-19’ ให้กับบุคลากร กนอ. ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม หวังสร้างการตระหนักรู้ในการป้องกันตนเอง ลดการแพร่กระจายและความเสี่ยง รวมถึงลดภาระสถานพยาบาล

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) ในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทยที่มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์นี้มากขึ้น รัฐบาลจึงยกระดับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด โดยได้ออกประกาศข้อกำหนดในราชกิจจานุเบกษา ตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 41) เพื่อใช้ควบคุมสถานการณ์โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่กำลังระบาดในไทย ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2565 (ข้อ 6) การยกระดับการปฏิบัติงานเพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาด ด้วยการประเมินสถานการณ์แพร่ระบาดที่จำนวนผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

กนอ.มีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ‘โครงการสร้างภูมิคุ้มกัน รู้เท่าทันโควิด-19’ กับสมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2564 เพื่อร่วมกันดำเนินโครงการฯ โดยการให้ความรู้เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แนวทางการดูแลตนเอง การทำ Home Isolation เพื่อรักษาตนเองที่บ้าน และการทำ Company/Factory Isolation รวมถึงการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วย Rapid Antigen Test Kit แก่บุคลากรของ กนอ. และผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อลดอัตราการแพร่กระจายเชื้อ ลดความเสี่ยง รวมถึงลดภาระสถานพยาบาล

กนอ. เผย ญี่ปุ่น ไม่ทิ้งฐานการผลิตในไทย!! พร้อมทุ่มลงทุนอีอีซีต่อเนื่อง มุ่งอุตฯ ยานยนต์ไฟฟ้า

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้ร่วมประชุมกับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) ซึ่งมีการนำผลการสำรวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมลงทุนญี่ปุ่นในประเทศไทยของหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพ (JCCB) มาหารือ พบว่า อุตสาหกรรมที่บริษัทญี่ปุ่นสนใจลงทุนในพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรมและเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มากที่สุดถึง 49% คือ ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์สมัยใหม่ 

นอกจากนี้ 37% ยังระบุด้วยว่า สนใจที่จะลงทุนต่อไป แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่มีอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ค่าดัชนีแนวโน้มเศรษฐกิจ (Diffusion Index) ของ JCCB ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 ที่ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 41 จากเดิมช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ที่อยู่ที่ 14 โดยขึ้นสูงสุดในรอบ 9 ปี ที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (Minister of Economy, Trade and Industry) หรือ เมติ ได้เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เพื่อหารือถึงแนวทางการลงทุนใหม่ๆ โดยญี่ปุ่นมีแผนการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศส่งเสริมการใช้และผลิตรถยนต์อีวี ปักหมุดการเป็นตลาดระดับโลก รวมถึงเป็นฐานการลงทุนขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ที่ทันสมัย

ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นำทัพตัวแทนจากสมาคมศิษย์เก่าสวนกุหลาบวิทยาลัย เข้าเยี่ยมชม กลุ่มบริษัทพลังงานบริสุทธิ์

(7 มี..65) รองศาสตราจารย์ ดร. วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และคณะ พร้อมด้วยตัวแทนจากสมาคมศิษย์เก่าสวนกุหลาบวิทยาลัย เข้าเยี่ยมชม โรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน บริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย)จำกัด นิคมอุตสาหกรรม ฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้ และ บริษัท แอ๊บโซลูท แอสเซมบลี จำกัด โรงงานผลิตรถบัสไฟฟ้า ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด โดยมี คุณอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน), นางสาวกุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ประธานผู้บริหารโครงการนิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้, นายชาญยุทธ ฉายาวัฒนะรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท อมิตา เทคโนโลยี(ประเทศไทย) จำกัด กล่าวให้การตอนรับ

SME D Bank ผนึก กนอ. หนุน SMEs ในนิคมฯ ‘เติมทุน - พัฒนา’ ธุรกิจสีเขียว ก้าวสู่ BCG Model 

นายโมกุล โปษยะพิสิษฐ์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ธนาคารเพื่อเอสเอ็มอีไทย ส่งเสริมผู้ประกอบการสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ตามยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทย ด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) 

โดย SME D Bank ร่วมกับ นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ในฐานะประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจการส่งเสริมมาตรการสนับสนุนทางการเงิน เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน การใช้พลังงานทางเลือก และพลังงานทดแทน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 

กนอ.สั่งระงับกิจการ-ใช้อาคารส่วนที่เสียหายในนิคมฯ บางปู พร้อมกำชับเร่งหาสาเหตุเพลิงไหม้โรงงานโดยเร็ว

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เร่งหาสาเหตุเพลิงไหม้โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมบางปู แจ้งเจ้าหน้าที่ควบคุมเหตุการณ์ได้ภายใน 1.15 ชั่วโมง โดยไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ไร้สารเคมีหรือมลพิษที่เป็นอันตรายกับชุมชน พร้อมสั่งการให้โรงงานระงับการประกอบกิจการชั่วคราว

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สำหรับเหตุเพลิงไหม้โรงงานของบริษัท มินเทค เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมบางปู ตำบลแพรกษา อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อเวลาประมาณ 23.15 น. ของวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา

โดยบริษัทฯ ประกอบกิจการผลิตและประกอบหมวกกันกระแทก และหมวกนิรภัยสำหรับใช้เล่นกีฬา มีพื้นที่กว่า 5 ไร่ เหตุเพลิงไหม้เกิดขึ้นบริเวณด้านข้างโรงงาน ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมบางปูได้ประสานไปยังสถานีดับเพลิง และนักผจญเพลิงในพื้นที่เข้าดำเนินการช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วน จนสามารถควบคุมเพลิงและระงับเหตุได้ในเวลา 00.30 น. ของวันที่ 25 มี.ค. 65 ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนจากเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานเพื่อหาสาเหตุเพลิงไหม้ในครั้งนี้ 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top