Monday, 20 May 2024
กองทุนอีดี

‘กองทุนดีอี’ ติดตามโครงการ Ai ลงรหัสโรค พบเพิ่มประสิทธิภาพเวชระเบียนได้ถูกต้อง – สมบูรณ์

กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ติดตามผลการดำเนินงานในโครงการการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการช่วยลงรหัสโรคทางการแพทย์ ของ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนฯ ในปีประกาศ พ.ศ. 2564 ตามมาตรา 26(1)

เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2566 กองบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นำโดยคณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผลโครงการ ผู้แทนจากคณะอนุกรรมการกลั่นกรองพิจารณาโครงการ และเจ้าหน้ากลุ่มติดตามและประเมินผล ได้ลงพื้นที่ติดตามประเมินผลการดำเนินงาน โครงการการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการช่วยลงรหัสโรคทางการแพทย์ ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

โครงการมีวัตถุประสงค์ ในการพัฒนาโปรแกรมต้นแบบสนับสนุนการใส่รหัสโรคด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความถูกต้องของการใส่รหัสโรคให้แก่ภาควิชาศัลยศาสตร์ และสามารถนำโปรแกรมต้นแบบไปพัฒนาต่อเพื่อใช้ในระดับโรงพยาบาลและสาธารณสุขของประเทศต่อไป

โดยมีผลการดำเนินโครงการในการพัฒนาต้นแบบสนับสนุนการใส่รหัสโรคด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ ที่ทำงานร่วมกับนักลงรหัสโรคได้ผลเป็นที่น่าพอใจ จากการทดลองใช้งานระบบทดสอบกับเวชระเบียนจากภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล สามารถแนะนำการให้รหัสโรค (ICD-10) และรหัสหัตถการ (ICD-9) ในกระบวนการทำงานของนักวิชาการเวชสถิติผู้ให้รหัส (Coder) แพทย์ และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดระยะเวลาในการทำงานต่อจำนวนเวชระเบียนได้อย่างมาก รวมถึงการแนะนำรหัสที่มีความครบถ้วนและสมบูรณ์ตามข้อกำหนดของ สปสช.

โครงการภายใต้การพัฒนา นำโดยคณะแพทย์ จากภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ นักพัฒนาระบบ จากคณะเทคโนโลยีสารสนเทศฯ มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และคณะที่ปรึกษาจาก สปสช.
 

‘กองทุนดีอี’ ติดตามโครงการจัดหาระบบ 5G Smart City ร่วมผลักดันพื้นที่ EEC ก้าวสู่เมืองอัจฉริยะน่าอยู่

กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามผลในการดำเนินงาน โครงการจัดหาระบบและอุปกรณ์ 5G Smart City สำหรับพื้นที่ EEC เพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการเมือง และ ส่งเสริมความเป็นเมืองน่าอยู่ ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนฯ ในปีประกาศ พ.ศ. 2564 ตามมาตรา 26 (1) ภายใต้กรอบนโยบาย Digital Government and Infrastructure

วันที่ 5 กันยายน 2566 กองบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นำโดยคณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผลโครงการ ผู้แทนจากคณะอนุกรรมการกลั่นกรองพิจารณาโครงการ ผู้อำนวยการกองทุนฯ และเจ้าหน้ากลุ่มติดตามและประเมินผล ได้ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงาน 'โครงการจัดหาระบบและอุปกรณ์ 5G Smart City สำหรับพื้นที่ EEC เพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการเมือง และ ส่งเสริมความเป็นเมืองน่าอยู่' ของ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)

ทั้งนี้ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ ได้ขอทุนสนับสนุนในการดำเนินโครงการจัดหาระบบและอุปกรณ์5G Smart City สำหรับพื้นที่ EEC เพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการเมือง และ ส่งเสริมความเป็นเมืองน่าอยู่ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในพื้นที่ EEC ได้แก่ การสร้างเครือข่าย Internet of Things และ CCTV พร้อม ทั้งต่อยอดการพัฒนาเครือข่าย 5G Mobile และสร้างให้มีการใช้พื้นที่ที่มีศักยภาพด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล รวมทั้งการสร้างความพร้อมในการพัฒนา Service Platforms ควบคู่กับการพัฒนาผู้ประกอบการเพื่อให้เกิดธุรกิจ ใหม่ในด้านเมืองอัจฉริยะ และสร้างงานสร้างรายได้ให้กับเมือง ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากร เพื่อความยั่งยืนในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่นักพัฒนาเมืองจะสามารถ ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการแก้ปัญหา และต่อยอดการพัฒนาพื้นที่ EEC ได้

โดยผลการดำเนินงานในโครงการ ประกอบด้วย การติดตั้งเสา Smart Pole จำนวน 90 ต้นในเขตเมือง ชุมชน และแหล่งท่องเที่ยวในเทศบาลเมืองพัทยา เพื่อการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลด้าน IoT และระบบ CCTV ผ่านเครือข่ายสัญญาณ 5G ในการส่งเสริมการบริหารจัดการเมืองและความปลอดภัยของประชาชนและนักท่องเที่ยวในพื้นที่ ซึ่งมีศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะ Intelligent Operation Center (IOC) ตั้งอยู่ที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา ในการบริหารจัดการและดูแลระบบในการให้บริการประชาชนและนักท่องเที่ยว ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมในการเริ่มใช้งานจริง เพื่อยกระดับการพัฒนาเมืองพัทยาให้เป็น Smart City เมืองอัจฉริยะอย่างแท้จริง

'กองทุนดี' จัดอบรมเติมความรู้บุคลากรต่อเนื่อง เตรียมพร้อมประเมินผลงานทุนหมุนเวียน ปี 67

กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เติมความรู้ให้กับบุคลากรของกองทุน จัดฝึกอบรมในหัวข้อ ‘การประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียนและแนวทางการปรับปรุง และพัฒนาดำเนินงาน’ ภายใต้โครงการกำกับ ติดตาม บริหารจัดการแผนงานและตัวชี้วัดของกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีคณะที่ปรึกษาจากสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินกิจกรรมการอบรม

นางสุรีพร พรโสภณวิชญ์ ผู้อำนวยการกองบริหาร กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวถึงการฝึกอบรมในครั้งนี้ว่า เนื่องจากพระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 มาตรา 31 กำหนดให้กรมบัญชีกลางมีหน้าที่ประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียนที่ไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคลเป็นประจำทุกปี ซึ่งกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะต้องดำเนินการตามตัวชี้วัด พร้อมทั้งรายงานผลการประเมินผลการดำเนินงานของทุนหมุนเวียน เป็นรายไตรมาส และรายงานผลประจำปีงบประมาณ ซึ่งผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียน ประจำปีบัญชี 2565 ของกองทุนฯ ในภาพรวมมีผลการประเมินเฉลี่ยเท่ากับ 3.6595 คะแนน 

ทั้งนี้ สำหรับปีบัญชี 2566 กองทุนฯ อยู่ระหว่างการรวบรวมและจัดทำรายงานผลการดำเนินงานตัวชี้วัดภายในสิ้นปีบัญชี พร้อมทั้ง กองทุนฯ ได้มีการกำหนดตัวชี้วัดร่วมกับกรมบัญชีกลาง และบริษัทที่ปรึกษา (บริษัท ทริส คอร์ปอเรชั่น จำกัด) เพื่อเป็นกรอบการประเมินผลการดำเนินงาน ประจำปีบัญชี 2567 ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการประเมิน ในปีถัดไป ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงได้กำหนดจัดอบรมการประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียน และแนวทางการปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินงานของกองทุนฯ ในครั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในหลักเกณฑ์การประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียน ให้กับบุคลากรของกองทุน นำไปประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติงานได้อย่างเหมาะสม ซึ่งประกอบไปด้วยหัวข้อ ‘แนวทางการปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินงานเพื่อยกระดับการประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียนของกองทุนฯ’, ‘การบริหารจัดการความเสี่ยงและการควบคุมภายใน’ และ ‘หลักเกณฑ์การประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียน ประจำปี 2567’   

นางสุรีพร พรโสภณวิชญ์ ผู้อำนวยการกองบริหาร กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้กล่าวต่อไปว่า กิจกรรมในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับบุคลากรของกองทุน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติงานได้อย่างเหมาะสมตามหลักเกณฑ์และตัวชี้วัดที่กำหนด นำไปสู่การปฏิบัติ ได้อย่างเหมาะสมตามหลักเกณฑ์ และเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการประเมินผลการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพในปีถัดไป

‘กองทุนดีอี’ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการ 5G ต้นแบบ หลัง ม.เชียงใหม่ได้รับทุนนำร่องขยายบริการเข้าถึงประชาชน

สดช. ลงพื้นที่เชียงใหม่ ตรวจเยี่ยมโครงการนำร่องการพัฒนาย่านเทคโนโลยี 5G ต้นแบบ สำหรับให้บริการประชาชน (5G District)

เมื่อวันที่ 21-22 ก.ย. 66 นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) พร้อมด้วยนายสมบูรณ์ เมฆไพบูลย์วัฒนา ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการบริหารเทคโนโลยีดิจิทัลและการสื่อสาร’ นายสมเกียรติ ศิริวัฒนโชค ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการบริหารจัดการเชิงนโยบาย พร้อมด้วย  นางสุรีพร พรโสภณวิชญ์ ผู้อำนวยการกองบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, และผู้บริหารจากสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อตรวจเยี่ยมโครงการนำร่องการพัฒนาย่านเทคโนโลยี 5G ต้นแบบ สำหรับให้บริการประชาชน (5G District) ส่วน 5G Smart Health เพื่อพัฒนาแนวทางและประยุกต์ใช้ระบบเทคโนโลยี 5G ในการส่งเสริมการให้บริการการแพทย์ 5G Smart Ambulance สำหรับบริหารจัดการรถพยาบาลแบบรวมศูนย์ และ Telemedicine สำหรับโรงพยาบาลประจำอำเภอในเขตจังหวัดภาคเหนือตอนบน

โดยโครงการดังกล่าว เป็นโครงการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นผู้ได้รับทุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีแหล่งข้อมูล (Big Data) เพื่อนําไปวิเคราะห์และประมวลผลต่อในด้านการพัฒนาพื้นที่ให้เหมาะสมต่อประชากรในท้องถิ่นระบบเชื่อมโยงและข้อมูลระหว่างกลุ่มข้อมูลแบบเรียลไทม์ ณ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และโรงพยาบาลสันทราย จ.เชียงใหม่


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top