'กองทุนดี' จัดอบรมเติมความรู้บุคลากรต่อเนื่อง เตรียมพร้อมประเมินผลงานทุนหมุนเวียน ปี 67

กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เติมความรู้ให้กับบุคลากรของกองทุน จัดฝึกอบรมในหัวข้อ ‘การประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียนและแนวทางการปรับปรุง และพัฒนาดำเนินงาน’ ภายใต้โครงการกำกับ ติดตาม บริหารจัดการแผนงานและตัวชี้วัดของกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีคณะที่ปรึกษาจากสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินกิจกรรมการอบรม

นางสุรีพร พรโสภณวิชญ์ ผู้อำนวยการกองบริหาร กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวถึงการฝึกอบรมในครั้งนี้ว่า เนื่องจากพระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 มาตรา 31 กำหนดให้กรมบัญชีกลางมีหน้าที่ประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียนที่ไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคลเป็นประจำทุกปี ซึ่งกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะต้องดำเนินการตามตัวชี้วัด พร้อมทั้งรายงานผลการประเมินผลการดำเนินงานของทุนหมุนเวียน เป็นรายไตรมาส และรายงานผลประจำปีงบประมาณ ซึ่งผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียน ประจำปีบัญชี 2565 ของกองทุนฯ ในภาพรวมมีผลการประเมินเฉลี่ยเท่ากับ 3.6595 คะแนน 

ทั้งนี้ สำหรับปีบัญชี 2566 กองทุนฯ อยู่ระหว่างการรวบรวมและจัดทำรายงานผลการดำเนินงานตัวชี้วัดภายในสิ้นปีบัญชี พร้อมทั้ง กองทุนฯ ได้มีการกำหนดตัวชี้วัดร่วมกับกรมบัญชีกลาง และบริษัทที่ปรึกษา (บริษัท ทริส คอร์ปอเรชั่น จำกัด) เพื่อเป็นกรอบการประเมินผลการดำเนินงาน ประจำปีบัญชี 2567 ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการประเมิน ในปีถัดไป ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงได้กำหนดจัดอบรมการประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียน และแนวทางการปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินงานของกองทุนฯ ในครั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในหลักเกณฑ์การประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียน ให้กับบุคลากรของกองทุน นำไปประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติงานได้อย่างเหมาะสม ซึ่งประกอบไปด้วยหัวข้อ ‘แนวทางการปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินงานเพื่อยกระดับการประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียนของกองทุนฯ’, ‘การบริหารจัดการความเสี่ยงและการควบคุมภายใน’ และ ‘หลักเกณฑ์การประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียน ประจำปี 2567’   

นางสุรีพร พรโสภณวิชญ์ ผู้อำนวยการกองบริหาร กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้กล่าวต่อไปว่า กิจกรรมในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับบุคลากรของกองทุน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติงานได้อย่างเหมาะสมตามหลักเกณฑ์และตัวชี้วัดที่กำหนด นำไปสู่การปฏิบัติ ได้อย่างเหมาะสมตามหลักเกณฑ์ และเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการประเมินผลการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพในปีถัดไป