Friday, 29 March 2024
กรุงรัตนโกสินทร์

‘วัดบวรนิเวศวิหาร’ พระอารามหลวงชั้นเอก | The States Times Story เรื่องจริง ฟังเพลิน โดย เจต ณ นคร EP.52

“วัดบวรนิเวศวิหาร” หรือ “วัดบวรนิเวศวิหารราชวิหาร” เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร และเป็นวัดประจำ 2 รัชกาลของกรุงรัตนโกสินทร์ ได้แก่ รัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 9 เดิมชื่อ “วัดใหม่” ตั้งอยู่ใกล้กับ “วัดรังษีสุทธาวาส” แต่แล้วก็ได้รวมเข้าเป็นวัดเดียวกัน โดยกรมพระราชวังบวรมหาศักดิ์พลเสพ ในรัชกาลที่ 3 มีการทำนุบำรุง บูรณะปฏิสังขรณ์วัดเรื่อยมา จนถึงสมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ที่ทรงมาประทับ และก่อตั้งคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย รวมถึงบูรณะปฏิสังขรณ์และสร้างเสริมถาวรวัตถุไว้มากมาย

.

.

‘วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร’ วิจิตรงาม - พระอารามหลวงชั้นเอก!! | MEET THE STATES TIMES EP.56

📌 ‘วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร’ วิจิตรงาม - พระอารามหลวงชั้นเอก
📌 หนึ่งในสถาปัตยกรรมอันงดงาม…แห่งต้นกรุงรัตนโกสินทร์!!   

👄 ในรายการ MEET THE STATES TIMES ข่าวคุยเพลิน

💻 ดำเนินรายการโดย หยก THE STATES TIMES

.

.

‘บิ๊กป้อม’ ประชุม คกก. ‘พัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ เมืองเก่า’ เห็นชอบบูรณะสะพานพุทธฯ - ตั้งศูนย์การเรียนรู้แห่งชาติ

พล.อ.ประวิตร ประชุม คกก.อนุรักษ์/พัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า เตรียมเสริมความแข็งแรง ‘สะพานพุทธฯ’ เพิ่มความสะดวกสัญจรข้ามเจ้าพระยา ยังคงสถาปัตยกรรมและรักษาสมบัติของชาติไว้ ให้ยั่งยืน

เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 65 เวลา 09.30 น. พล.ท.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผช.โฆษกรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า ครั้งที่ 2/2565 ณ ห้องประชุมมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

ที่ประชุมได้รับทราบ ความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการจัดทำแผนปฏิบัติการ ด้านการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเมืองเก่า 12 เมือง โดยมีการจัดทำร่างขอบเขตงาน (TOR) โครงการจัดทำแผนปฏิบัติการฯ ให้ทั้ง 12 จังหวัดแล้ว

จากนั้นได้พิจารณาเห็นชอบ โครงการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้แห่งชาติ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก ประกอบด้วยโครงการ Ratchadamnoen Center 1 (ห้องสมุดมีชีวิต, พื้นที่เรียนรู้และพัฒนาทักษะ, พื้นที่แสดงออก เป็นต้น) และโครงการ Ratchadamnoen Center 2 (พื้นที่อเนกประสงค์เพื่อการเรียนรู้, พื้นที่บริการลูกค้า เป็นต้น) และเห็นชอบในหลักการให้บูรณะสะพานพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งใช้เวลา 2 ปี เพื่อเสริมความแข็งแรงความปลอดภัย สะดวกสัญจร และคงรูปแบบทางสถาปัตยกรรม รักษาสมบัติของชาติไว้ให้ลูกหลานอย่างยั่งยืนนาน

‘พระองค์เจ้าขุนเณร’ ผู้นำหน่วยรบพิเศษแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้านายนอกพระราชวงศ์ เบื้องหลังพิชิตศึกสงคราม 9 ทัพ

‘ผู้นำหน่วยรบพิเศษ, หน่วยจารชน, หน่วยทะลวงฟัน, หน่วยนินจา, หน่วยเสือหมอบแมวเซา, หน่วยทหารกองโจร’

คำเหล่านี้เปรียบเสมือน Key Word ของเจ้านายพระองค์หนึ่ง นาม ‘พระองค์เจ้าขุนเณร’ ‘ซึ่งเป็นพระโอรสของ ‘พระเจ้าขุนรามณรงค์’ พระเชษฐาของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

แม้ว่าจะมีชาติกำเนิดเป็นสามัญชน เนื่องจากเกิดแต่อนุภรรยา และนับว่าเป็นเจ้านายนอกราชวงศ์จักรี แต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนา ‘พระองค์เจ้าขุนเณร’ ขึ้นเป็นเจ้านายในพระราชวงศ์จักรีในชั้นพระองค์เจ้า เนื่องจากทรงพระเมตตาและทรงเล็งเห็นว่า เจ้านายพระองค์นี้จะเป็นกำลังสำคัญต่อกองทัพของกรุงรัตนโกสินทร์เป็นแน่ 

‘พระองค์เจ้าขุนเณร’ ที่ผมกำลังจะเล่าให้ฟังนี้ หากเราจะค้นหาพระประวัติของพระองค์อย่างละเอียดนั้น บอกได้เลยว่า ‘ยากมาก’ เหมือนค้นหาประวัติของสายลับที่ถูกซ่อนไว้ในชั้นความลับ จะพบก็แต่เพียงร่องรอยที่ประทับและบันทึกการรบของพระองค์เท่านั้น

หากแต่ก็พอมีประวัติของประทับ ‘พระองค์เจ้าขุนเณร’ อยู่บ้าง นั่นก็คือ ‘วังบ้านปูน’ วังที่ ณ วันนี้ หลงเหลือเรื่องราวให้ติดตามน้อยพอดู รู้แต่เพียงว่าในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกนั้น เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ เพื่อปกป้องบ้านเมืองในภาวะที่ยังไม่ปลอดจากสงคราม รัชกาลที่ ๑ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านายเสด็จไปประทับในพื้นที่บริเวณตั้งแต่ปากคลองบางกอกน้อยไล่ลงไปทางทิศใต้จนถึงวัดระฆัง อันได้แก่ วังสวนลิ้นจี่, วังสวนมังคุด และวังบ้านปูน

สำหรับ ‘วังบ้านปูน’ นั้น มีประวัติที่ระบุเพียงพระนาม ‘พระองค์เจ้าขุนเณร’ ไปประทับเพียงองค์เดียว ไม่ปรากฏเชื้อสายของพระองค์ และมีเพียงซากของกำแพงเก่าที่ไม่น่าจะระบุอะไรได้ชัดเจนนัก หรือถ้าจะมีบันทึก ก็มีเพียงสั้นๆ จากพระนิพนธ์เรื่อง ‘ตำนานวังเก่า’ ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในปี พ.ศ.๒๔๖๕ ที่ระบุว่า…

“วังบ้านปูน อยู่ระหว่างวังสวนมังคุดกับวัดระฆัง ซึ่งในเวลานั้นมีทางเดินเป็นตรอกเรียกว่า ‘ตรอกเจ้าขุนเณร’ และปัจจุบันเชื่อกันว่า พื้นที่ของ ‘วังบ้านปูน’ ได้กลายเป็นโรงเรียนสุภัทรา และ ภัทราวดีเธียเตอร์ ไปแล้ว”

>> จากที่ประทับ ก็มาสู่เรื่องของภารกิจการรบของพระองค์ที่พอจะมีบันทึกกันอยู่บ้างดีกว่า...

เริ่มจากคราวสงคราม ๙ ทัพ ที่เป็นสงครามใหญ่กับฝั่งพม่าครั้งสุดท้าย ครานั้น ‘พระเจ้าปดุง’ พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์โก้นบอง (ราชวงศ์สุดท้ายของพม่า) ได้ส่งไพร่พลจำนวนกว่า ๑๕๐,๐๐๐ นาย มาบุกกรุงรัตนโกสินทร์ถึง ๙ กองทัพ ได้มุ่งเข้าตีตั้งแต่เหนือจรดใต้ 

- ทัพที่ ๑ ตีเมืองปักษ์ใต้ ตั้งแต่ชุมพรลงไปจนถึงเมืองถลาง 
- ทัพที่ ๒ ตีหัวเมืองตะวันตกทางด่านบ้องตี้ ตีเมืองราชบุรี, เพชรบุรี เพื่อไปบรรจบทัพที่ ๑ ที่เมืองชุมพร 
- ทัพที่ ๓ ตีหัวเมืองเหนือจากเชียงแสน, ลำปาง ไล่ลงมาเพื่อมาบรรจบที่กรุงเทพฯ 
- ทัพที่ ๔ ตีหัวเมืองเหนือจาก เมืองตาก, กำแพงเพชร ลงมาบรรจบที่กรุงเทพฯ
- ส่วนทัพที่ ๕, ๖, ๗, ๘, ๙ ซึ่งมีทัพหลวงของพระเจ้าปดุงรวมอยู่ด้วย โดยยั้งรอกองทัพอื่นๆ เพื่อที่จะรุกเข้าสู่สยามทางด่านพระเจดีย์สามองค์

เกริ่นทัพของพม่าไปแล้ว ก็ขอวนมาที่ ‘กองทัพสยาม’ ซึ่งก็ต้องแจ้งให้ทราบชัดว่า เรามีคนน้อยกว่าเขาเยอะ โดยเฉพาะทัพหลัก ๕ กองทัพ ที่เราต้องต้านไว้ก่อนที่พม่าจะรุกเข้ามาในเขตปะทะ…

โดยจอมทัพสยามในขณะนั้นคือ ‘สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท’ ได้มีพระบัณฑูรมอบหมายภารกิจให้ ‘พระองค์เจ้าขุนเณร’ พร้อมหน่วยรบพิเศษที่พระองค์เข้าพื้นที่ก่อนที่ทัพหลักจะเดินทางไปถึง เพื่อไปสกัดทัพหน้าของพม่า คอยดูลาดเลา สืบราชการลับ และรวบรวมไพร่พลที่พอจะเป็นกำลังรบได้ ซึ่งในบริเวณนั้นก็จะมี ชาวไทย, มอญ, ข่า, ละว้า และกะเหรี่ยง ตั้งค่ายเฉพาะกิจอยู่ที่ท่ากระดาน อันเป็นยุทธการสำคัญและเสี่ยงตายมากๆ 

(ปัจจุบันพื้นที่ตรงนี้ถูกน้ำท่วมไปหมดแล้ว ที่เคยปรากฏชื่อก็จะมี ‘บ้านเจ้าเณร’ หรือชื่อเดิมของเขื่อนศรีนครินทร์ที่เรียกว่า ‘เขื่อนเจ้าเณร’ ให้ได้นึกตาม)

ภารกิจต่อมาเมื่อทัพหลวงของวังหน้า (สยาม) มาถึงแล้ว ก็ได้เริ่มยุทธวิธี ‘การรบแบบกองโจร’ โดยใช้ไพร่พลเพียง ๑,๘๐๐ คน อ้อมไปตีค่ายพม่าจากด้านหลัง คอยปล้นเสบียงและยุทโธปกรณ์ของพม่า ทั้งช้าง ทั้งม้า ที่ยกมาจากเมืองเมาะตะมะ ทวาย และตะนาวศรีไม่ให้ถึงกองทัพหลักของพม่าที่ตั้งประชิดอยู่ในชายแดนไทย เรียกว่าทำยังไงก็ได้ให้ทัพพม่าเกิด ‘ห่วงหน้า-พะวงหลัง’ ขาดแคลนเสบียง เสียขวัญ ดังพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพที่ระบุว่า... 

“พระเจ้าปดุง (พม่า) ทราบว่ากองทัพหน้ามาถึงประชิดอยู่กับไทย ได้แบ่งเสบียงในกองทัพหลวงส่งมายังกองทัพหน้าก็ถูกไทยตีชิงเอาไปเสียเนืองๆ ครั้งหนึ่งใช้เอาเสบียงบรรทุกช้าง ๖๐ เชือก มีกองลำเลียงเสบียง คุมมา ๕๐๐ คน กองโจรของไทยไปซุ่มอยู่ก็ตีเอาไปได้หมด ทีหลังจึงส่งเสบียงกันไม่ได้”

เมื่อเหตุการณ์เป็นอย่างนี้อยู่ราวๆ ๒ เดือนเศษ ‘สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท’ ทรงเห็นว่ากองทัพพม่ามีใจที่ฮึกเหิมน้อยลง อดอยากปากแห้ง หนีทัพไปก็มาก จึงได้รุกระดมตีค่ายพม่าพร้อมกันทุกค่ายจนทัพพม่าแตกพ่ายหนีตายกลับไปจนสิ้นทัพ ซึ่งการที่จะเป็นเช่นนั้นได้ ล้วนเกิดจากยุทธวิธีแทรกซึม เพื่อทำลายล้างหลังบ้านของกองทัพพม่า จนไม่เป็นอันทำการรบ จากความฉกาจของหน่วยรบพิเศษ ‘พระองค์เจ้าขุนเณร’ นั่นเอง 

อย่างไรก็ตาม หลังจากสงคราม ๙ ทัพ ก็เหมือนว่าเรื่องของ ‘พระองค์เจ้าขุนเณร’ ดูจะเงียบหายไป จนกระทั่งมาเกิดเหตุการณ์ศึกใหญ่อีกครั้งทางฝั่งลาวในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ จากบันทึก ‘อานามสยามยุทธ’ ถึงเรื่องกบฏของเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ 

โดยพระองค์ได้รับภารกิจพิเศษจาก ‘สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ’ ในการรบแบบกองโจร โดยใช้ ‘ทหารไทย+ทวาย’ ที่เป็นคนโทษประมาณ ๕๐๐ คน ร่วมกับทหารในสังกัดของพระณรงค์สงคราม แห่งเมืองนครราชสีมาอีก ๕๐๐ คน เข้ารบแบบกองโจร ปล้นเผาค่าย ด้วยวิธีแบบจารชนคือ จับทหารลาวมาได้ ๗ คน ซึ่งยอมสวามิภักดิ์ต่อ พระองค์เจ้าขุนเณร (ซึ่งกำลังหาเสบียงกินกันเอง...นับว่าลำบากน่าดู) แล้ววางแผนดำเนินการแทรกซึมโดยใช้ทหารลาว ๑ คนผสมกับทหารไทยอีก ๖ คน แต่งกายเป็นลาวทำทีกลับเข้าค่ายลาวที่ทุ่งส้มป่อย โดยพระองค์เจ้าขุนเณรได้ตรัสสั่งแผนว่า...

“ถ้าเข้าค่ายลาวได้ ให้ไล่ฆ่าฟันลาวในค่ายคลุกคลีตีลาวไปอย่าให้ลาวทันตั้งตัวหาอาวุธได้ ให้นำคบเพลิงเผาค่ายลาวขึ้นด้วย”

เหตุการณ์เป็นไปตามแผนไฟลุกโหมเผาค่ายทุ่งส้มป่อยไปทั้งค่าย ทหารลาวที่บ้างก็นอนหลับ บ้างก็นั่งดื่ม บ้างก็ไม่พร้อมจะรบ ก็ถูกกำลังกองอาทมาต ๕๐๐ คน ซึ่งนำโดยพระองค์ลอบเข้าค่าย ฆ่าฟันทหารลาวเป็นจำนวนมาก จนเมื่อทัพหลวงของไทยมองเห็นค่ายของลาวเกิดไฟไหม้ จึงได้ยกทัพใหญ่บุกเข้าไปสมทบ ไล่รุกจนทัพลาวแตกกระเจิงไป

เรื่องน่าทึ่งของ ‘พระองค์เจ้าขุนเณร’ ก็คือหากนับจากเหตุสงคราม ๙ ทัพที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๓๒๘ คงมีพระชนม์ไม่น่าต่ำกว่า ๒๐ ชันษา มาจนถึงสงครามกับเจ้าอนุวงศ์ในปี พ.ศ. ๒๓๖๙ ที่ห่างกันถึง ๔๑ ปี พระชันษาของพระองค์ก็น่าจะประมาณ ๖๑ เมื่อมาเป็นหัวหน้าหน่วยรบพิเศษในครั้งหลัง แสดงว่าพระองค์ยังคงรักษาความเก่งกล้า ความเชี่ยวชาญ และร่างกายที่มีสมรรถภาพไม่แพ้วัยหนุ่ม

การรบการแบบกองโจรของ ‘พระองค์เจ้าขุนเณร’ ในพื้นที่การรบ ทำให้การรบของทัพหลวงได้รับชัยชนะรวดเร็วขึ้น แก้ไขสถานการณ์ที่เพลี่ยงพล้ำแก่ข้าศึก ให้กลายเป็นได้เปรียบอย่างคาดไม่ถึง กลยุทธ์ที่เสี่ยงแก่ชีวิต แต่รู้การแพ้ชนะในเวลาอันสั้น ใช้การลวง การจู่โจม ด้วยความเด็ดขาด กล้าหาญ รุนแรง รวดเร็ว เป็นแนวทางของการรบแบบกองโจรที่สืบต่อมาจนสมัยนี้

ที่ผมยกเรื่องของ ‘พระองค์เจ้าขุนเณร’ มาเล่านี้ นอกจากจะเป็นการหยิบเกร็ดประวัติศาสตร์มาเผยแพร่แล้ว อีกส่วนสำคัญก็เพื่อให้เราได้ตระหนักรู้ถึงการเสียสละภายใต้วีรกรรมอันเก่งกล้าของบรรพบุรุษไทย อย่าง ‘พระองค์เจ้าขุนเณร’ ที่แลดูเหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง ในการนำพระนามของพระองค์ท่านไปตั้งเป็นชื่อ ‘ค่ายขุนเณร’ กรมรบพิเศษที่ ๕ ตำบลแม่สา อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ 

เพราะนี่คือ สิ่งยึดเหนี่ยวสำคัญที่จะช่วยเตือนใจแก่เหล่า กำลังรบพิเศษแห่งสยาม ให้ฮึกเหิม เติมไฟด้วยเกียรติวีรกรรมของ ‘พระองค์เจ้าขุนเณร’ ไว้เป็นหมุดหมายแห่งความมุ่งมั่น เพื่อปกป้องอธิปไตยชาติไทยของเราสืบต่อไป...


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top