‘บิ๊กป้อม’ ประชุม คกก. ‘พัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ เมืองเก่า’ เห็นชอบบูรณะสะพานพุทธฯ - ตั้งศูนย์การเรียนรู้แห่งชาติ

พล.อ.ประวิตร ประชุม คกก.อนุรักษ์/พัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า เตรียมเสริมความแข็งแรง ‘สะพานพุทธฯ’ เพิ่มความสะดวกสัญจรข้ามเจ้าพระยา ยังคงสถาปัตยกรรมและรักษาสมบัติของชาติไว้ ให้ยั่งยืน

เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 65 เวลา 09.30 น. พล.ท.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผช.โฆษกรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า ครั้งที่ 2/2565 ณ ห้องประชุมมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

ที่ประชุมได้รับทราบ ความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการจัดทำแผนปฏิบัติการ ด้านการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเมืองเก่า 12 เมือง โดยมีการจัดทำร่างขอบเขตงาน (TOR) โครงการจัดทำแผนปฏิบัติการฯ ให้ทั้ง 12 จังหวัดแล้ว

จากนั้นได้พิจารณาเห็นชอบ โครงการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้แห่งชาติ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก ประกอบด้วยโครงการ Ratchadamnoen Center 1 (ห้องสมุดมีชีวิต, พื้นที่เรียนรู้และพัฒนาทักษะ, พื้นที่แสดงออก เป็นต้น) และโครงการ Ratchadamnoen Center 2 (พื้นที่อเนกประสงค์เพื่อการเรียนรู้, พื้นที่บริการลูกค้า เป็นต้น) และเห็นชอบในหลักการให้บูรณะสะพานพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งใช้เวลา 2 ปี เพื่อเสริมความแข็งแรงความปลอดภัย สะดวกสัญจร และคงรูปแบบทางสถาปัตยกรรม รักษาสมบัติของชาติไว้ให้ลูกหลานอย่างยั่งยืนนาน

โดยจะต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้และเข้าใจถึงความจำเป็น อย่างน้อย 3 เดือนก่อนดำเนินการ เพราะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อการจราจรทั้งทางน้ำ และทางบกเป็นวงกว้าง และเห็นชอบในหลักการให้ดำเนินโครงการ อาคารรักษาพยาบาลและสถานีศิริราช คณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ซึ่งมีรูปแบบอาคารและสิ่งก่อสร้าง ที่เชื่อมต่อของระบบรถไฟฟ้ากับอาคารของโรงพยาบาล โดยอยู่ภายใต้การบริหารและกำกับดูแลของคณะแพทย์ศาสตร์, รฟท. และรฟม. 

รวมทั้งเห็นชอบโครงการปรับปรุงอาคารศาลากลางจังหวัดน่าน (หลังเก่า) ให้เป็นหอศิลปวัฒนธรรมเมืองน่าน เพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ ศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก และศูนย์การศึกษาความเป็นน่าน ให้กับประชาชน ต่อไป

พล.อ.ประวิตร ได้เน้นย้ำ คณะกรรมการฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งรัดดำเนินการตามมติที่ประชุม และขับเคลื่อนโครงการให้บรรลุผลเป็นรูปธรรมตามกรอบเวลาอย่างเคร่งครัด โดยคำนึงถึงการอนุรักษ์เอกลักษณ์วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่น และประเทศชาติ เพื่อเก็บรักษาไว้ให้ลูกหลานคนไทย สืบไป