Monday, 2 December 2024
Vlora

เปิดเรื่องราว ‘Vlora’ เรือมนุษย์ที่บรรทุกผู้อพยพมากสุดในโลก หลังชาวแอลเบเนียทำการบุกจี้ยึดเรือ เพื่ออพยพหลบหนีออกประเทศ

เมื่อถึงวันที่ 30 เมษายน ผู้เขียนมักจะนึกย้อนไปถึงปี 1975 ด้วยวันนี้เป็นวันจบสิ้นลงของประเทศสาธารณรัฐเวียตนาม หรือ เวียตนามใต้ (The Republic of Vietnam) คำว่า “เวียตนาม” ในยุคสมัยที่ยังมีเวียตนามใต้ คนไทยใช้ ‘ต’ สะกด แต่ปัจจุบัน ใช้ ‘ด’ สะกด (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน) การสิ้นสุดของสาธารณรัฐเวียตนามทำให้ชาวอดีตเวียตนามใต้พากันอพยพหลบหนีออกนอกประเทศ และวิธีการที่ใช้ในการหลบหนีมากที่สุดคือทางเรือ อันเป็นที่มาของ ‘เรือมนุษย์เวียดนาม’  (Vietnamese Boat People) ทั้งนี้ สามารถตามอ่านได้ที่ https://thestatestimes.com/post/2021050108

(การรื้อทำลายอนุสาวรีย์ Lenin ที่แอลเบเนียในปี 1991)

การสิ้นสุดลงของประเทศสหภาพโซเวียต ผู้นำค่ายคอมมิวนิสต์ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ส่งผลให้ลัทธิคอมมิวนิสต์ในแอลเบเนียล่มสลาย และลุกลามไปจนถึงเศรษฐกิจของประเทศกลายเป็นความถดถอยจนครั้งใหญ่ เกิดการขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง ท่ามกลางความไม่สงบทางการเมืองและสังคมที่กระจายไปทั่วประเทศกระตุ้นให้ชาวแอลเบเนียจำนวนมากพยายามออกจากประเทศ โดยก่อนหน้านี้ชาวแอลเบเนียจำนวนมากหนีไปทางตอนใต้เพื่อไปกรีซ ในขณะที่ชาวสลาฟชาติพันธุ์บางกลุ่มพยายามข้ามไปยังเพื่อนบ้านทางตอนเหนือของยูโกสลาเวีย ในกรุงติรานา สถานทูตต่างประเทศถูกชาวแอลเบเนียจำนวนมากพยายามบุกเข้าไป ภายหลังจากมีข่าวลือแพร่สะพัดเกี่ยวกับการให้วีซ่าชาวแอลเบเนียกว่า 3,000 คน สามารถเข้าไปในบริเวณสถานทูตเยอรมันได้ ในขณะที่บางคนเข้าไปในบริเวณสถานทูตเชโกสโลวาเกียได้สำเร็จ ในที่สุดชาวแอลเบเนียในสถานทูตเยอรมันก็ได้รับอนุญาตให้อพยพไปยังเยอรมนีผ่านทางอิตาลีได้

เส้นทางเรือที่ผู้อพยพชาวแอลเบเนียใช้ข้ามช่องแคบโอตรันโตไปยังอิตาลี

ในขณะที่ผู้อพยพชาวแอลเบเนียจำนวนมากตัดสินใจเลือกอิตาลีเป็นจุดหมายปลายทาง ด้วยความอิตาลีอยู่ห่างออกไปไม่ถึงร้อยไมล์ โดยข้ามช่องแคบโอตรันโต จากโฆษณาทางโทรทัศน์ที่การแสดงความมั่งคั่งเกินจริงในอิตาลีที่ชาวแอลเบเนียได้ชมเป็นแรงบันดาลใจอันหนึ่งให้กับตัวเลือกนี้ในช่วงต้นปี 1991 มีความพยายามในการข้ามช่องแคบโอตรันโตหลายครั้ง โดยผู้ลี้ภัยชาวแอลเบเนียหลายร้อยหรือหลายพันคนได้จี้บังคับเรือต่าง ๆ ตั้งแต่เรือบรรทุกสินค้าของโรมาเนียไปจนถึงเรือลากจูงของกองทัพเรือแอลเบเนีย หน่วยรักษาความปลอดภัยประจำท่าเรือเมือง Durrës ที่ถูกบุกรุกทำได้แค่ยืนดูเฉย ๆ ไม่สามารถช่วยอะไรได้ ครั้งหนึ่งมีการข้ามช่องแคบของผู้อพยพชาวแอลเบเนียประมาณ 20,000 คนเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 1991 โดยขึ้นฝั่งที่เมืองบรินดิซีด้วยเรือขนาดเล็กหลายลำ เมืองนี้มีประชากรเพียง 80,000 คน จึงประสบปัญหาในการรับมือกับการไหลบ่าเข้ามาของผู้อพยพดังกล่าว แต่ผู้อพยพก็ได้รับการต้อนรับอย่างดีโดยชาวเมืองต่างก็เอื้อเฟื้อให้อาหารและที่พัก 

(ผู้อพยพชาวแอลเบเนีย 15,000-20,000 คนบนเรือสินค้า Vlora)

เหตุการณ์จี้ยึดเรือสินค้า Vlora เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 1991 โดย Vlora เป็นเรือบรรทุกสินค้าที่ต่อขึ้นในปี 1960 ที่เมือง Ancona อิตาลี ซึ่งได้แล่นในทะเลภายใต้ธงแอลเบเนียจนถึงปี 1996 โดยบริษัทร่วมขนส่งซิโน-แอลเบเนียของรัฐบาล เรือสินค้า Vlora เดินทางกลับมาจากคิวบาพร้อมกับน้ำตาลจำนวนมาก และได้จอดเทียบท่าที่เมือง Durrës เพื่อขนถ่ายสินค้าและเข้ารับการซ่อมแซมเพราะเครื่องยนต์หลักชำรุดใช้งานไม่ได้ ขณะเดียวกัน มีผู้อพยพชาวแอลเบเนียจากทั่วประเทศจำนวนมากมารวมตัวกันที่ท่าเรือด้วยความหวังว่าจะได้ขึ้นเรือลำใดก็ได้และแล่นไปยังอิตาลี โดยไม่มีใครหยุดยั้งพวกเขาได้ โดยมีผู้อพยพจำนวนระหว่าง 15,000 - 20,000 คนได้บุกขึ้นเรือสินค้า Vlora ในวันที่ 7 สิงหาคม 1991 พวกเขากระโดดลงทะเลแล้วปีนขึ้นไปตามเชือก และอยู่กันจนเต็มพื้นที่แทบทุกตารางนิ้วของเรือ (บางส่วนต้องห้อยตัวกับบันไดและราวกั้นตลอดการเดินทาง) Halim Milaqi กัปตันของเรือสินค้า Vlora ถูกจี้บังคับจากกลุ่มคนติดอาวุธจึงต้องตัดสินใจนำเรือที่มีผู้อพยพนับหมื่นคนข้ามช่องแคบโอตรันโตไปยังอิตาลี ด้วยเกรงว่าจะเหตุการณ์จะเลวร้ายไปกว่านี้หากปล่อยให้มือสมัครเล่นมาทำหน้าที่ควบคุมเรือ

ผู้อพยพชาวแอลเบเนีย 15,000-20,000 คนบนเรือสินค้า Vlora

เรือสินค้า Vlora แล่นโดยใช้เพียงเครื่องยนต์สำรองและไม่มีเรดาร์ เนื่องจากมีผู้อพยพอยู่เต็มไปหมดจนเรดาร์ไม่สามารถทำงานได้ และสูญเสียระบบทำความเย็นไปหลังจากที่ผู้อพยพตัดเปิดท่อทำความเย็นออกเพื่อเอาน้ำมาดื่ม จากนั้นกัปตันจึงต้องใช้น้ำทะเลเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เครื่องยนต์ร้อนจัด โชคดีที่พวกเขาได้ประโยชน์จากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยจนสามารถเดินทางมาถึงชายฝั่งอิตาลีในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 8 สิงหาคม เมื่อเข้าใกล้ท่าเรือของเมืองบรินดิซีในเวลาประมาณ 04.00 น. กัปตันได้รับคำแนะนำไม่ให้เทียบท่าในเมืองโดยรองหัวหน้าตำรวจของเมือง เพราะเมืองนี้ยังคงมีผู้อพยพชาวแอลเบเนียหลายพันคนที่เดินทางมาถึงในเดือนมีนาคมหรือระหว่างนั้นติดค้างอยู่ และไม่มีความสามารถที่จะรองรับผู้อพยพได้มากกว่านี้แล้ว

กัปตัน Milaqi จึงเปลี่ยนเส้นทางไปที่เมืองบารีซึ่งอยู่ห่างออกไปเพียง 55 ไมล์ แต่เรือสินค้า Vlora ที่แทบจะหมดสภาพแล้วต้องใช้เวลาเดินทางถึงเจ็ดชั่วโมง ในช่วงเวลานั้นทางการอิตาลีแทบไม่ได้ทำอะไรเลยเพื่อเตรียมพร้อมรองรับสำหรับการมาถึงของผู้อพยพจำนวนมหาศาลครั้งนี้ ทั้งนายกเทศมนตรีและหัวหน้าตำรวจต่างเดินทางไปเที่ยวพักผ่อน ส่วนสำนักงานนายกเทศมนตรีจะได้รับแจ้งข่าวเมื่อเรือเข้าเทียบท่าแล้วเท่านั้น มีความพยายามที่จะปิดล้อมทางเข้าท่าเรือโดยใช้เรือเล็กและเรือรบของกองทัพเรืออิตาลีเพื่อพยายามบังคับกัปตัน Milaqi ให้หันหัวเรือกลับไปยังแอลเบเนีย แต่ด้วยสภาพที่ย่ำแย่ลงบนเรือหลังจากที่ผู้อพยพใช้เวลา 36 ชั่วโมงโดยไม่มีอาหารหรือน้ำท่ามกลางความร้อนอบอ้าว กัปตัน Milaqi จึงปฏิเสธที่จะหันเรือกลับ เขานำเรือสินค้า Vlora เข้าไปในท่าเรือโดยแจ้งว่า เรือสินค้า Vlora เสียหายและไม่สามารถหันเรือกลับด้วยกลไกได้ ท่าเรือเมืองบารีเป็นท่าเรือที่อยู่ห่างจากใจกลางเมืองมากที่สุด ซึ่งโดยปกติแล้วจะสงวนไว้สำหรับการขนถ่ายถ่านหิน พอถึงท่าเรือมีผู้อพยพจำนวนมากกระโดดลงน้ำว่ายเข้าฝั่งหรือปีนเชือกขณะจอดเรือ โดยมีหลายคนหายตัวไปในตัวเมือง

นโยบายที่เข้มงวดของรัฐบาลอิตาลี โดย Vincenzo Scotti รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คือการหยุดยั้งเรือผู้ลี้ภัยไม่ให้ขึ้นฝั่งอิตาลี มิฉะนั้นก็ส่งผู้อพยพออกไปทันที ด้วยเหตุนี้ผู้อพยพจากเรือ Vlora จึงไม่ได้ลงจากเรือ ด้วยคำสั่งจากรัฐบาลอิตาลีคือกักผู้อพยพไว้ที่ท่าเรือ โดยไม่ต้องช่วยอะไรเลย และส่งกลับไปยังแอลเบเนียโดยเร็วที่สุด เมื่อแผนดังกล่าวไม่น่าจะเป็นไปได้ ก็มีมาตรการอื่น ๆ เกิดขึ้นอย่างไม่ได้ตั้งใจ ผู้อพยพที่เจ็บป่วยบางส่วนถูกนำตัวโดยรถพยาบาลไปโรงพยาบาล เช่นเดียวกับสตรีตั้งครรภ์หนักจำนวนหนึ่ง ผู้อพยพถูกส่งตัวไปยัง Stadio della Vittoria ซึ่งเป็นสนามกีฬาที่ไม่ใช้งาน ซึ่งพวกเขาจะกักตัวไว้จนกว่าจะถูกเนรเทศ เมื่อบรรดาผู้อพยพชาวแอลเบเนียเข้าใจว่าในที่สุดพวกเขาก็ถูกส่งกลับ ผู้อพยพบางกลุ่มจึงพยายามบังคับพวกเขาผ่านวงล้อมของตำรวจที่อยู่รอบสนามกีฬา เนื่องจากมีหลายคนพยายามหลบหนี เจ้าหน้าที่จึงตัดสินใจหยุดนำผู้อพยพมาที่สนามกีฬาและปิดประตูและขังพวกเขาไว้ข้างใน สถานการณ์ลุกลามจนควบคุมไม่ได้ เจ้าหน้าที่สนามก็ถูกจับเป็นตัวประกัน บุคลากรที่ดูแลการจัดการการปันส่วนอาหารถูกทำร้าย จากนั้นตำรวจจึงอพยพออกจากสนาม กลายเป็นพื้นที่ไร้กฎหมายที่ถูกควบคุมโดยกลุ่มที่มีความรุนแรงที่สุด (บางคนมีอาวุธปืน) เจ้าหน้าที่โยนอาหารและน้ำข้ามกำแพงโดยใช้รถดับเพลิง ซึ่งหมายความว่ากลุ่มอันธพาลได้เก็บอาหารและน้ำส่วนใหญ่ไว้แล้ว

ความตึงเครียดยิ่งปะทุขึ้นเกิดการปะทะกันระหว่างตำรวจและชาวแอลเบเนียที่พยายามฝ่าวงล้อม ตำรวจได้เปิดฉากยิงทำให้ผู้อพยพชาวแอลเบเนียบางคนได้รับการรักษาจากบาดแผลกระสุนปืน ตามที่ตำรวจระบุ หลังจากการผ่อนปรนช่วงสั้น ๆ เกมแมวจับหนูระหว่าผู้อพยพชาวแอลเบเนียที่พยายามหลบหนีกับตำรวจก็เริ่มต้นอีกครั้งในวันต่อมา ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 200 ราย รวมถึงตำรวจประมาณ 20 นาย ขณะที่ผู้อพยพหลายร้อยคนสามารถหลบหนีออกมาได้ โดยบางส่วนซ่อนตัวอยู่ในศาลานิทรรศการฟิเอรา เดล เลบานเต มีผู้ลี้ภัยราว 2,000 คนถูกตำรวจล้อมอยู่ด้านนอกสนามกีฬา พวกเขาค่อย ๆ ขนย้ายผู้หลบหนีไปยังท่าเรือ แม้ว่าบางครั้งพวกเขาจะต่อต้านอย่างรุนแรงก็ตาม ในที่สุดทางการอิตาลีก็สามารถจัดการตอบสนองต่อวิกฤติผู้อพยพได้ในที่สุด พวกเขาใช้เรือเฟอร์รี่เอกชนส่งผู้อพยพกลับไปยังแอลเบเนีย ซึ่งเรือรบอิตาลีสองลำได้ช่วยสนับสนุนด้วย บรรดาผู้อพยพที่ใช้ความรุนแรงบางส่วนถูกนำตัวไปยังสนามบินและถูกส่งกลับไปยังแอลเบเนียด้วยเครื่องบินลำเลียง C-130 ของกองทัพอากาศอิตาลี (ประมาณ 60 คน โดยมีตำรวจจำนวนหนึ่งควบคุม) ในช่วงบ่ายของวันที่ 9 มีผู้ถูกส่งตัวกลับประเทศประมาณ 3,000 คน บางส่วนจากไปด้วยความสมัครใจเนื่องจากการต้อนรับที่ไม่เป็นมิตรและสภาพที่ย่ำแย่ทำให้พวกเขาเลิกสนใจกับการที่จะใช้ชีวิตในอิตาลี เพื่อไม่ให้มีการต่อต้านขัดขืนผู้อพยพส่วนใหญ่จึงถูกหลอกว่าเรือและเครื่องบินจะพาพวกเขาไปยังเมืองอื่นๆ ของอิตาลี 

(‘Sono persone’ ประติมากรรมอนุสรณ์ของเหตุการณ์ดังกล่าว)

จากนั้นผู้อพยพถูกส่งกลับแอลเบเนียอย่างรวดเร็วด้วยเรือเฟอร์รี่อีกสองลำ Espresso Grecia และ Malta สองวันต่อมาในวันที่ 11 ยังคงเหลือชาวแอลเบเนียประมาณ 3,000 คนอยู่ในสนามกีฬาของเมืองบารี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มหัวรุนแรงที่ปฏิเสธที่จะเชื่อเจ้าหน้าที่อิตาลี Vincenzo Parisi หัวหน้าตำรวจจึงโน้มน้าวให้กลับไปพร้อมกับเสนอเสื้อผ้าชุดใหม่และเงินคนละ 50,000 ลีร์ (ในขณะนั้นถือว่าเป็นเงินจำนวนมากในแอลเบเนีย) หลังจากผ่านไปสามวันผู้อพยพที่เหลือก็ได้รับแจ้งว่า พวกเขาได้รับสิทธิ์ให้อยู่ในอิตาลีได้ อย่างไรก็ตาม ทันทีที่พวกเขาออกจากสนามกีฬาก็ถูกนำขึ้นรถบัสและพาไปยังสนามบิน จากนั้นจึงถูกส่งขึ้นเครื่องบินบินตรงไปยังกรุงติรานา เรื่องนี้ทำให้สื่อมวลชนพาดหัวข่าวว่า ‘การบุกรุกของผู้อพยพชาวแอลเบเนีย’ ได้ยุติลงแล้วในวันที่ 16 สิงหาคม ท่ามกลางความสนใจของสื่อที่เน้นย้ำถึงสถานการณ์เลวร้ายในแอลเบเนีย ทางการแอลเบเนียซึ่งได้รับแรงกดดันจากรัฐบาลอิตาลีให้จัดการควบคุมท่าเรือของตนให้อยู่ภายใต้กองทัพ และระงับการเดินทางของรถไฟโดยสารทั้งหมดเพื่อสกัดกั้นการหลั่งไหลของผู้อพยพ ในเวลาเดียวกัน รัฐบาลอิตาลีเสนอที่จะช่วยเหลือแอลเบเนียทางการเงินเป็นเงิน 9 ล้านเหรียญสหรัฐในด้านอาหาร หากแอลเบเนียช่วยควบคุมและรับผู้อพยพที่ออกจากอิตาลีกลับ แม้ว่าการอพยพโดยไม่มีเอกสารจากแอลเบเนียจะดำเนินต่อไปหลังจากนั้น แต่ก็ลดขนาดลงและส่วนใหญ่จัดตั้งโดยแก๊งอาชญากร พวกเขาใช้เรือยนต์เร็วเพื่อข้ามช่องแคบในเวลากลางคืนและปล่อยให้ผู้โดยสารที่จ่ายเงินแล้วว่ายน้ำเข้าฝั่ง

(เรือสินค้า Vlora)

ตามบันทึกของกัปตัน Milaqi เรือสินค้า Vlora จอดอยู่ในท่าเรือของเมืองบารีเป็นเวลา 45 วัน ก่อนที่ลูกเรือและตัวเขาเองจะสามารถนำเรือกลับไปยังแอลเบเนียได้ (เป็นไปได้ว่าอาจถูกลากจูงเนื่องจากเรือได้รับความเสียหายอย่างหนัก) เรือสินค้า Vlora ยังคงถูกใช้งานเป็นเรือบรรทุกสินค้าต่อจนถึงเดือนธันวาคม 1994 และเลิกใช้งานในปี 1995 ถูกยกเลิกการจดทะเบียนในปี 1996 และถูกทิ้งเพื่อแยกชิ้นส่วนในวันที่ 17 สิงหาคมของปีเดียวกันที่ท่าเรือ Aliağa ของตุรกี เรือสินค้า Vlora ถือเป็นเรือมนุษย์ที่บรรทุกผู้อพยพมากที่สุดในโลก (ซึ่งตัวเลขผู้อพยพอยู่ระหว่าง 15,000-20,000 คน) 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top