Tuesday, 20 May 2025
USAID

‘ต.ตุลยากร’ เผย!! ‘มาร์โค รูบิโอ’ ออกนโยบายข้อจำกัดเกี่ยวกับ ‘วีซ่า’ บีบ!! ‘ประเทศไทย’ ให้ถอยห่างจาก ‘จีน’ ซึ่งเป็นศัตรูการค้า ของสหรัฐฯ

(16 มี.ค. 68) หลังจากทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ก็ได้แต่งตั้ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ มาร์โค รูบิโอ เป็นรักษาการผู้อำนวยการองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (United States Agency for International Development: USAID) เหตุผลคือ ทรัมป์มองว่า “เงินทุนของ USAID โดยส่วนใหญ่ไม่สอดคล้องกับผลประโยชน์หลักแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา” [1]

ผลคือ รูบิโอ ตัดทิ้งโครงการช่วยเหลือกว่า 83% [2]

เหลือโครงการอีกประมาณ 17% ที่มีความสอดคล้องกับกรอบนโยบาย “America First” ของทรัมป์ และคาดว่าโครงการที่เหลือคงต้องดำเนินงานตามแนวทางของ รูบิโอ อย่างไม่มีบิดพริ้ว 

ถ้าไม่ทำตามก็ตัดเงินทุน ว่างั้นเถอะ

หลังจากเก็บกวาดหลังบ้านตัวเองเรียบร้อย จะเห็นว่าช่วงนี้สหรัฐฯและผองเพื่อนปล่อยหมัดใส่ไทยรัวๆเลย

หมัดแรก รัฐสภาอียูลงมติประณามไทยกรณีส่งกลับชาวอุยกูร์กลับประเทศจีนเมื่อปลายเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา

หมัดที่สอง องค์กร Freedom Houseในสหรัฐ ปรับลดสถานะของประเทศไทยจากประเทศมีเสรีภาพบางส่วน กลายเป็นประเทศไม่เสรีอีกครั้ง (ขณะที่ Freedom House กำหนดสถานะอิสราเอลเป็นประเทศที่เสรี)

หมัดที่สาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ มาร์โค รูบิโอ ออกแถลงการณ์ว่าด้วยนโยบายข้อจำกัดเกี่ยวกับวีซ่าเพื่อตอบโต้กรณีผลักดันชาวอุยกูร์กลับประเทศจีน

เข้าใจว่าเป็นการส่งสัญญาณบีบไทยให้ถอยห่างจากอิทธิพลของจีน ซึ่งสหรัฐฯกำลังทำสงครามการค้าด้วย

ข้อสังเกตุคือ ในปี 2023 Freedom House นั้นรับเงินอุดหนุนจาก USAID กว่า 63 ล้านเหรียญ [3]

ในขณะที่ทางยุโรปนั้น คณะกรรมาธิการยุโรปยอมรับว่าสหภาพยุโรปไม่สามารถเข้ามาแทนที่เงินทุน USAID ได้อย่างเต็มที่ [4]

ผมมองว่า โครงการ 17% ที่เหลือของ USAID นั้น จะช่วยให้ รูบิโอ สามารถกำหนดทิศทางของการดำเนินงานขององค์กรที่ได้รับเงินทุนได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น 

นั่นคงเป็นเหตุผลที่เห็นภาพหลายองค์กรหลายทิศทาง ออกมาขย่มไทยในแนวทางเดียวกัน ซึ่งสืบไปสืบมาก็คงไม่แคล้วไปเกี่ยวพันทางใดทางหนึ่ง กับ USAID ภายใต้การนำของ รูบิโอ

หันมาดูในส่วนขององค์กรภายในประเทศ ก็ได้แต่สงสัยว่า คนบางกลุ่มบางพวกที่ออกมาโจมตีประเทศของตัวเองในทิศทางที่สอดคล้องกับ “ผลประโยชน์หลักแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา”

คนพวกนี้มีความเกี่ยวพันกับ USAID อย่างไรบ้าง??

รองนายกฯ เซอร์เบียโวย การประท้วงได้รับการหนุนจากต่างชาติ ชี้ USAID คือแหล่งทุนสำคัญในการเคลื่อนไหวครั้งนี้

(25 มี.ค. 68) กระแสความไม่พอใจในเซอร์เบียยังคงเดือดดาล หลังเกิดการประท้วงต่อเนื่องทั่วประเทศตั้งแต่ช่วงปลายปี 2024 โดยล่าสุด นายอเล็กซานดาร์ วูลิน รองนายกรัฐมนตรีเซอร์เบีย ให้สัมภาษณ์กับ Sputnik โดยกล่าวหาว่าการประท้วงที่ลุกลามไปทั่วประเทศเป็นส่วนหนึ่งของ “แผนปฏิวัติสี” ซึ่งได้รับการวางแผนและสนับสนุนจากหน่วยข่าวกรองของชาติตะวันตก

โดยความตึงเครียดในเซอร์เบียยังคงเพิ่มสูงขึ้น ท่ามกลางการประท้วงที่เกิดขึ้นทั่วประเทศตั้งแต่ปลายปี 2024 ล่าสุด ประธานาธิบดี อเล็กซานดาร์ วูชิช ยืนยันว่าเขาได้เตือนถึงความพยายามแทรกแซงจากชาติตะวันตกตั้งแต่ปี 2023 และได้กล่าวถึงเรื่องนี้หลายครั้งในปี 2024 โดยอ้างอิงข้อมูลจาก หน่วยข่าวกรองรัสเซีย ที่ชี้ชัดถึงการเคลื่อนไหวที่ได้รับการสนับสนุนจากต่างชาติในประเทศเซอร์เบีย

วูลินระบุว่า เห็นสัญญาณของความพยายามแทรกแซงจากภายนอกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากประเทศในกลุ่ม สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป รวมถึง USAID เป็นแหล่งทุนใหญ่ ซึ่งเขาเชื่อว่าการประท้วงที่กำลังเกิดขึ้นอาจเชื่อมโยงกับ “ปฏิวัติสี” (Color Revolution) ที่เคยเกิดขึ้นในหลายประเทศในยุโรปตะวันออกและเอเชียกลางในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา พร้อมชี้ว่า “นี่ไม่ใช่การเคลื่อนไหวของประชาชนเพียงลำพัง แต่เป็นการดำเนินงานตามกลยุทธ์ของต่างชาติที่ต้องการแทรกแซงกิจการภายในของเซอร์เบีย”

คำว่า “ปฏิวัติสี” หมายถึง การลุกฮือของประชาชนที่ได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งมีเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลที่ไม่เป็นที่พอใจของชาติตะวันตก โดยมักเกิดขึ้นในช่วงที่มีความไม่พอใจในรัฐบาล และความเคลื่อนไหวของกลุ่มประชาชนเพื่อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง

สำหรับการประท้วงในเซอร์เบียครั้งนี้ เกิดการปะทุขึ้นจากหลายปัจจัย ตั้งแต่ปัญหาเศรษฐกิจ คอร์รัปชัน ไปจนถึงความไม่พอใจต่อรัฐบาลของประธานาธิบดีอเล็กซานดาร์ วูซิช 

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเซอร์เบียมองว่าการชุมนุมที่ขยายตัวขึ้นนี้ไม่ใช่เพียงแค่ปฏิกิริยาของประชาชน แต่เป็นแผนการที่มีการจัดตั้งและสนับสนุนจากภายนอก

ด้านผู้จัดการชุมนุมและนักเคลื่อนไหวหลายกลุ่มออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาของรัฐบาล โดยยืนยันว่าการประท้วงเกิดขึ้นจากความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อปัญหาภายในประเทศ และไม่มีอิทธิพลจากต่างชาติแทรกแซง

ขณะที่สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปยังไม่มีแถลงการณ์อย่างเป็นทางการเกี่ยวกับข้อกล่าวหาดังกล่าว แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมองว่า ประเด็นนี้อาจเพิ่มความตึงเครียดให้กับความสัมพันธ์ระหว่างเซอร์เบียกับชาติตะวันตกมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ การประท้วงยังไม่มีท่าทีจะลดความร้อนแรงลง ท่ามกลางความกังวลว่าสถานการณ์อาจนำไปสู่ความไม่สงบในระดับที่รุนแรงขึ้น ขณะที่รัฐบาลเซอร์เบียยืนยันว่าจะใช้มาตรการที่จำเป็นเพื่อรักษาความมั่นคงของประเทศต่อไป

ภาคประชาสังคมวิกฤติ หลังสหรัฐฯ ระงับงบ USAID ส่งผลให้โครงการสำคัญในยูเครนส่อหยุดชะงัก

(28 มี.ค. 68) ภาคประชาสังคมในยูเครนกำลังเผชิญความท้าทายครั้งใหญ่ หลังจากรัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศระงับงบประมาณของสำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐฯ (USAID) ที่ให้การสนับสนุนโครงการสำคัญหลายโครงการในประเทศ

การตัดสินใจดังกล่าวส่งผลให้โครงการด้านสิทธิมนุษยชน การช่วยเหลือผู้ลี้ภัย การพัฒนาประชาธิปไตย และการฟื้นฟูเศรษฐกิจในยูเครนต้องหยุดชะงักทันที นักวิเคราะห์มองว่านี่อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และยูเครน โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ประเทศกำลังเผชิญกับภาวะสงครามและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ

ขณะที่องค์กรภาคประชาสังคมกว่า 73 แห่งต้องเผชิญภาวะขาดแคลนงบประมาณอย่างหนัก จากรายงานของ Open Space Works Ukraine และเครือข่าย Public Initiatives of Ukraine ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่า 25% ขององค์กรที่ได้รับผลกระทบมีแผนลดจำนวนพนักงาน 19% จำเป็นต้องให้พนักงานลาหยุดโดยไม่รับเงินเดือน และ 14% เตรียมระงับโครงการบางส่วนอย่างไม่มีทางเลือก

ที่น่ากังวลยิ่งกว่านั้น คือ 75% ขององค์กรเหล่านี้กำลังดิ้นรนหาทุนทางเลือกใหม่ บางแห่งเริ่มเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจ ปรับโครงสร้างการทำงาน และหันไปพึ่งพาผู้บริจาคภายในประเทศแทน

องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) และหน่วยงานภาคประชาสังคมหลายแห่งออกมาแสดงความกังวลว่า การระงับงบประมาณครั้งนี้จะทำให้ประชาชนยูเครน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง 

รัฐบาลสหรัฐฯ ยังไม่ได้ให้เหตุผลอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการระงับงบประมาณของ USAID แต่แหล่งข่าววงในระบุว่า อาจเกี่ยวข้องกับความตึงเครียดทางการเมืองภายในสหรัฐฯ รวมถึงแรงกดดันจากกลุ่มที่ต้องการให้มีการทบทวนการใช้เงินภาษีเพื่อช่วยเหลือต่างประเทศ

นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า การตัดสินใจครั้งนี้อาจส่งผลให้สหรัฐฯ สูญเสียอิทธิพลในยูเครน และเปิดโอกาสให้มหาอำนาจอื่น เช่น สหภาพยุโรป หรือจีน เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการช่วยเหลือประเทศที่ยังอยู่ในภาวะสงคราม

ด้าน องค์กรภาคประชาสังคมในยูเครนออกแถลงการณ์เรียกร้องให้สหรัฐฯ ทบทวนการตัดสินใจดังกล่าว โดยเน้นย้ำว่าความช่วยเหลือจาก USAID มีบทบาทสำคัญในการรักษาเสถียรภาพของสังคมยูเครนในช่วงวิกฤติ

“การระงับงบประมาณครั้งนี้ไม่เพียงกระทบต่อโครงการพัฒนา แต่ยังเป็นสัญญาณเชิงลบต่อประชาชนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและเสรีภาพในยูเครน” ตัวแทนจากองค์กรสิทธิมนุษยชนยูเครนกล่าว

ในขณะที่รัฐบาลยูเครนยังไม่ได้ออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการต่อกรณีนี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าอาจมีการเจรจากับเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เพื่อหาทางออกต่อไป

ทั้งนี้ สถานการณ์ดังกล่าวยังคงเป็นที่จับตามองอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของยูเครนในระยะยาว และอาจเปลี่ยนแนวทางความร่วมมือระหว่างประเทศในอนาคต

อินเดียรื้อสอบบริษัทโยง ‘จอร์จ โซรอส’ เอี่ยวรับทุนอเมริกา (USAID) กว่า 80 ล้านรูปี

(4 เม.ย. 68) คณะกรรมการบังคับใช้กฎหมายของอินเดีย (Enforcement Directorate – ED) อยู่ระหว่างการสอบสวนเชิงลึกเกี่ยวกับเส้นทางการเงินของบริษัทแห่งหนึ่งที่มีความเชื่อมโยงกับมหาเศรษฐีนักลงทุนชื่อดังระดับโลก “จอร์จ โซรอส” หลังพบว่าบริษัทดังกล่าวได้รับเงินสนับสนุนจากหน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) เป็นจำนวนกว่า 80 ล้านรูปี หรือราว 32 ล้านบาทไทย ในช่วงปีงบประมาณ 2022-2023

แหล่งข่าวจาก ED เปิดเผยว่าบริษัทดังกล่าวอธิบายว่า มีการคืนเงิน 80 รูปี สำหรับบริการที่ให้แก่กลุ่มงานวิจัยในเดลีที่มีชื่อว่า Council on Energy Environment and Water (CEEW) อย่างไรก็ตาม ในแถลงการณ์ต่อ HT.com CEEW ปฏิเสธว่าไม่มีการเชื่อมโยงไปยัง George Soros หรือ Open Society Foundations

“CEEW ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับจอร์จ โซรอส หรือมูลนิธิโอเพ่นโซไซตี้ ASAR Social Impact Advisors ได้รับการว่าจ้างจาก CEEW เพื่อให้บริการเฉพาะสำหรับโครงการ USAID ที่เกี่ยวข้องกับอากาศที่สะอาดขึ้น โครงการนี้ได้สิ้นสุดลงแล้ว CEEW ไม่มีความสัมพันธ์กับ ASAR ในขณะนี้ CEEW ไม่ได้รับคำถามใดๆ จากหน่วยงานรัฐบาลใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับ ASAR เราไม่มีเหตุผลและไม่มีพื้นฐานใดๆ ที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการสืบสวนที่กำลังดำเนินอยู่” CEEW กล่าว

เจ้าหน้าที่ ED ระบุว่า การสอบสวนครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อตรวจสอบว่าเงินทุนดังกล่าวถูกนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ที่ประกาศไว้หรือไม่ และมีการละเมิดกฎหมายว่าด้วยเงินทุนต่างประเทศ (FCRA) หรือไม่ โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่อาจมีนัยทางการเมือง หรืออิทธิพลต่อความมั่นคงของประเทศ

สำหรับ จอร์จ โซรอส นักธุรกิจชาวอเมริกันเชื้อสายฮังการี เป็นนักวิเคราะห์ค่าเงิน นักลงทุนหุ้น ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานบริษัท Soros Fund Management และสถาบัน Open Society Institute ซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะผู้สนับสนุนองค์กรภาคประชาสังคมและการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยทั่วโลก เคยตกเป็นเป้าการวิพากษ์วิจารณ์จากรัฐบาลอินเดียในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยถูกกล่าวหาว่ามีบทบาทอยู่เบื้องหลังความเคลื่อนไหวที่อาจกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาล

แม้ในเบื้องต้นยังไม่มีข้อกล่าวหาอย่างเป็นทางการต่อบริษัทดังกล่าว แต่การสอบสวนของ ED ได้รับความสนใจจากสาธารณชนและสื่ออินเดียอย่างกว้างขวาง โดยมีการจับตาว่าเรื่องนี้อาจลุกลามไปสู่การทบทวนนโยบายเกี่ยวกับการรับเงินทุนจากต่างประเทศในวงกว้าง

โฆษกของ USAID ยังไม่ออกมาแสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ ขณะที่ตัวแทนของบริษัทที่อยู่ระหว่างการสอบสวนได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า ยินดีให้ความร่วมมือกับทางการอินเดียอย่างเต็มที่ และยืนยันว่าเงินทุนทั้งหมดถูกนำไปใช้เพื่อ “โครงการด้านการพัฒนาและสาธารณประโยชน์” อย่างโปร่งใสและถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ

ทั้งนี้ การสอบสวนยังคงดำเนินอยู่ โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

‘บิล เกตส์’ ประณาม ‘อีลอน มัสก์’ มีส่วนฆ่าเด็กยากจน ปมยกเครื่อง USAID ตัดงบช่วยเหลือต่างประเทศในยุคทรัมป์

(9 พ.ค. 68) บิล เกตส์ ผู้ร่วมก่อตั้งไมโครซอฟต์และนักการกุศลชื่อดัง ออกโรงวิจารณ์อีลอน มัสก์อย่างรุนแรง โดยกล่าวหาว่ามัสก์มีส่วนทำให้เด็กในประเทศยากจนเสียชีวิต จากบทบาทของเขาในการผลักดันการตัดงบสำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USAID) ระหว่างรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์

ในการให้สัมภาษณ์กับ The New York Times และ Financial Times เกตส์กล่าวว่า การตัดงบดังกล่าวทำลายความก้าวหน้าในการต่อสู้กับโรคร้ายอย่างหัด เอชไอวี และโปลิโอที่ใช้เวลากว่าสองทศวรรษสร้างมา พร้อมเปรียบเปรยว่ามัสก์ได้ 'โยน USAID เข้าเครื่องย่อยไม้'

บิล เกตส์ ยังตั้งคำถามถึงความจริงจังของมัสก์ต่อคำมั่นสัญญาภายใต้ 'Giving Pledge' ซึ่งเขาเคยลงนามว่าจะบริจาคทรัพย์สินอย่างน้อยครึ่งหนึ่งให้การกุศล พร้อมเน้นย้ำว่าแม้มัสก์อาจเป็นผู้ใจบุญในอนาคต แต่ปัจจุบันเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับความตายของเด็กยากไร้จำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม โฆษกทำเนียบขาวออกมาปกป้องมัสก์ โดยระบุว่าเขาเป็นผู้รักชาติที่ช่วยรัฐบาลขจัดความสิ้นเปลืองและทุจริต พร้อมเรียกร้องให้สมาชิกรัฐสภายกย่องความพยายามของมัสก์ในการผลักดันวอชิงตันให้โปร่งใส

ทั้งนี้ คำกล่าวของเกตส์มีขึ้นในช่วงที่มูลนิธิเกตส์ครบรอบ 25 ปี โดยเขาให้คำมั่นว่าจะบริจาคทรัพย์สินทั้งหมดภายใน 20 ปีข้างหน้า รวมมูลค่า 200,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อผลักดันภารกิจด้านสาธารณสุขและการพัฒนาในประเทศกำลังพัฒนา


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top