Saturday, 19 April 2025
Ukraine

เปิดไอเดีย 'ทรัมป์' ปฏิรูป NATO จ่ายน้อย คุ้มครองน้อย หากชาติพันธมิตรบริจาคเงินไม่ถึง 2% ของ GDP

(28 พ.ย.67) นับตั้งแต่ที่โดนัลด์ ทรัมป์ กำลังจะกลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอีกสมัย ส่งผลให้บรรดาชาติในยุโรปโดยเฉพาะกลุ่มสมาชิกนาโต้ เกิดความกังวลในประเด็นต่าง ๆ ตั้งแต่การบริจาคด้านงบประมาณกลาโหมของแต่ละชาติให้กับนาโต้ ไปจนถึงเรื่องสถานการณ์ในยูเครน 

ตลอดช่วงการหาเสียงทรัมป์ทรัมป์วิพากษ์วิจารณ์พันธมิตรอย่างต่อเนื่องและบ่นว่าสหรัฐฯ จ่ายเงินงบประมาณมากเกินไปในขณะที่สมาชิกสหภาพยุโรปใช้จ่ายด้านกลาโหมน้อยเกินไป ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง เขากล่าวว่าสหรัฐฯ จะปกป้องสมาชิกนาโตจากการโจมตีของรัสเซียในอนาคตก็ต่อเมื่อสมาชิกปฏิบัติตามพันธกรณีการใช้จ่ายด้านกลาโหม

ด้านมาร์ก รุตเตอ เลขาธิการ NATO ได้กล่าวแสดงความเห็นด้วยกับแนวคิดของทรัมป์โดยเฉพาะประเด็นการใช้จ่ายงบประมาณด้านกลาโหมให้มากกว่า 2%

ล่าสุดทรัมป์ได้ตั้งพลเอก คีธ เคลล็อกก์ นายพลเกษียณอายุราชการและอดีตหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่สภาความมั่นคงแห่งชาติของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ช่วยประธานาธิบดีและทูตพิเศษประจำยูเครนและรัสเซีย ในรัฐบาลทรัมป์ 2.0 ที่จะเริ่มขึ้นในปีหน้า ซึ่งตำแหน่งดังกล่าวจะมีบทบาทโดยตรงกับองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ในฐานะฝ่ายที่สนับสนุนยูเครน

ก่อนหน้านี้ช่วงเดือนก.พ.ที่ผ่านมา พลเอกเคลล็อกก์ เคยให้สัมภาษณ์ว่า หากสมาชิกในกลุ่มพันธมิตร 31 ประเทศไม่สามารถบริจาคเงินให้ได้อย่างน้อย 2% ของจีดีพี ประเทศนั้นไม่ควรมีสิทธิ์ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 5 ของนาโต้

มาตรา 5 ของนาโต้ มีข้อกำหนดว่า หากประเทศใดก็ตามในกลุ่มชาติสมาชิกถูกโจมตี จะเท่ากับเป็นการโจมตีชาตินาโต้ทั้งหมด สมาชิกทั้งหมดของนาโต้ต้องตอบโต้ร่วมกัน

"หากคุณต้องการเป็นส่วนหนึ่งของพันธมิตร คุณต้องมีส่วนสนับสนุนพันธมิตร" เคลล็อกก์ กล่าว

เคลล็อกก์ ยังกล่าวอีกว่าหากทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง เขาจะเสนอให้จัดประชุมสมาชิกนาโต้นัดพิเศษในเดือนมิถุนายน 2025 เพื่อหารือเกี่ยวกับอนาคตของนาโต้ โดยทรัมป์จะเสนอให้รูปแบบสมาชิกของชาตินาโต้เป็นแบบแพ็กเกจ (tiered alliance) โดยสมาชิกบางรายจะได้รับการคุ้มครองมากขึ้นตามความสอดคล้องของมาตรา 5 และตามงบประมาณสนับสนุนด้านกลาโหมที่ไม่น้อยกว่า 2% ของจีดีพีแต่ละชาติ

ไบเดนเหลือเงินอัดฉีดยูเครนกว่า 6.5 พันล้านดอลลาร์ หลังทิ้งทวนรีบแจกอาวุธให้เซเลนสกีไม่อั้น

(29 พ.ย.67) ประธานาธิบดีโจ ไบเดนในช่วงเดือนสุดท้ายของการดำรงตำแหน่งกำลังเร่งอัดฉีดทั้งเงินและอาวุธให้กับประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี เพื่อเสริมความแข็งแกร่งในการรับมือกับสงครามจากรัสเซีย เนื่องจากโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีจุดยืนไม่สนับสนุนการให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครน

ล่าสุด ไบเดนได้อนุมัติงบประมาณและอาวุธมูลค่า 725 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 24,934 ล้านบาท) ให้กับยูเครน เพื่อช่วยให้สามารถสู้ศึกรัสเซียได้ก่อนที่วาระการดำรงตำแหน่งของเขาจะสิ้นสุดในเดือนมกราคมนี้ การช่วยเหลือดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในหลายครั้งที่ไบเดนเร่งมอบให้ยูเครนในช่วงที่ผ่านมานับตั้งแต่ที่กมลา แฮร์ริส แพ้การเลือกตั้ง

งบประมาณดังกล่าวมาจาก 'อำนาจเบิกจ่ายอาวุธของประธานาธิบดี' หรือ Presidential Drawdown Authority (PDA) ซึ่งอนุญาตให้สหรัฐฯ เบิกจ่ายอาวุธจากคลังของตนเพื่อช่วยเหลือพันธมิตรในกรณีฉุกเฉิน ปัจจุบันสหรัฐฯ มีงบประมาณภายใต้ PDA ไม่น้อยกว่า 6.5 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 223,957 ล้านบาท ที่ไบเดนสามารถใช้ในการส่งมอบอาวุธให้กับยูเครนในช่วงที่เหลือของการดำรงตำแหน่ง

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่า เพนตากอนได้ถึงขีดจำกัดในการส่งอาวุธให้ยูเครนทุกเดือนโดยไม่กระทบต่อความสามารถในการป้องกันของกองทัพสหรัฐฯ และการขนส่งยุทโธปกรณ์ไปยังยูเครนก็เริ่มประสบปัญหาด้านโลจิสติกส์

หากไบเดนต้องการใช้เงิน 6.5 พันล้านดอลลาร์ให้หมดภายในเวลาที่เหลือในตำแหน่ง นั่นหมายความว่าเขาจะต้องใช้เงินมากกว่า 110 ล้านดอลลาร์ต่อวันในการจัดหาอาวุธ ซึ่งเกินขีดความสามารถของโรงงานผลิตอาวุธในสหรัฐฯ และยังมีข้อจำกัดในการส่งมอบอาวุธไปยังแนวหน้า

ในรายงานของ WSJ เจ้าหน้าที่รัฐสภาสหรัฐฯ กล่าวยืนยันว่า แม้ไบเดนจะเร่งรัดการแจกจ่ายเงินให้ยูเครนมากแค่ไหน แต่ก็ไม่สามารถใช้เงินทั้งหมดได้ทันภายในเวลาน้อยกว่าเดือน เนื่องจากมีข้อจำกัดทั้งจากผู้ผลิตอาวุธและการขนส่งของกองทัพสหรัฐฯ

เซเลนสกี ส่งสัญญาณยอมรัสเซีย ยึดดินแดนบางส่วนแลกจบสงคราม

(3 ธ.ค. 67) โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน แสดงความประสงค์ที่จะยุติสงครามกับรัสเซียในเร็ววัน พร้อมระบุว่ายูเครนอาจสามารถฟื้นกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนที่ถูกรัสเซียยึดครองได้ผ่านการเจรจาทางการทูต หากได้รับการยืนยันสถานะสมาชิกในองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต)

ถ้อยแถลงดังกล่าวสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงจุดยืนของเซเลนสกี ซึ่งก่อนหน้านี้ยืนกรานว่าสงครามจะยุติลงได้ก็ต่อเมื่อรัสเซียคืนดินแดนทั้งหมดที่ยึดครองจากยูเครน  

ในการให้สัมภาษณ์กับ **สกายนิวส์** ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน เซเลนสกีระบุว่าความขัดแย้งสามารถยุติได้ หากนาโตให้คำมั่นในการค้ำประกันความมั่นคงของยูเครนในดินแดนที่ยังอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลยูเครนในปัจจุบัน  

เซเลนสกีย้ำว่าข้อตกลงหยุดยิงใดๆ จะต้องมีการรับประกันว่ารัสเซียจะไม่กลับมายึดครองดินแดนยูเครนเพิ่มเติม หลังจากที่รัสเซียได้ครอบครองดินแดนยูเครนไปแล้วราว 20% โดยเฉพาะการผนวก คาบสมุทรไครเมีย ในปี 2014 รวมถึง แคว้นโดเนตสก์ ลูฮันสก์ เคอร์ซอน และ ซาปอริซเซีย ในปี 2022  

ถ้อยแถลงของเซเลนสกีสะท้อนถึงความพยายามในการหาทางออกทางการทูตท่ามกลางความขัดแย้งที่ยืดเยื้อ ขณะที่นาโตยังคงมีบทบาทสำคัญในสมรภูมิทางการเมืองระหว่างยูเครนและรัสเซีย

สังหาร 'พลโท อิกอร์ คิริลอฟ' หัวหน้าฝ่ายนิวเคลียร์ เผยคนร้ายขี่สกู๊ตเตอร์ซุกระเบิดจอดหน้าบ้าน สงสัยเอี่ยวยูเครน

(17 ธ.ค. 67) คณะกรรมการสอบสวนของรัสเซียเปิดเผยว่า เกิดเหตุระเบิดรุนแรงจากอุปกรณ์แสวงเครื่องซุกซ่อนในสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า บริเวณถนน Ryazansky Prospekt ในกรุงมอสโก ส่งผลให้ พลโท อิกอร์ คิริลลอฟ ผู้บัญชาการกองกำลังป้องกันนิวเคลียร์ ชีวภาพ และเคมีของกองทัพรัสเซีย พร้อมผู้ช่วยเสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุ

คณะกรรมการสอบสวนของรัสเซียระบุว่า ได้เปิดสอบสวนทางอาญาเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้อย่างเป็นทางการแล้ว โดยเจ้าหน้าที่สืบสวน นักนิติวิทยาศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุระเบิดกำลังปฏิบัติงานในจุดเกิดเหตุอย่างเร่งด่วน เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและค้นหาผู้ก่อเหตุ

หน่วยฉุกเฉินของรัสเซียเปิดเผยว่า พลังระเบิดของอุปกรณ์มีความแรงเทียบเท่า TNT ประมาณ 200 กรัม ซึ่งส่งผลให้กระจกของอาคารใกล้เคียงแตกเสียหาย ขณะเดียวกัน กองกำลังความมั่นคงกำลังตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิดในพื้นที่เพื่อหาข้อมูลเบาะแสเพิ่มเติม

หนึ่งวันก่อนหน้าเกิดเหตุ หน่วยความมั่นคงยูเครน (SBU) ได้ตั้งข้อหากับพลโทคิริลลอฟ โดยกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธเคมีต้องห้ามจำนวนมากในแนวหน้า  ขณะที่ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา รัฐบาลสหราชอาณาจักรได้ดำเนินมาตรการตอบโต้ เนื่องจากคิริลลอฟมีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลการใช้อาวุธเคมีในยูเครน

ด้านนาง มาเรีย ซาคาโรวา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ระบุว่าพลโทคิริลลอฟเป็นผู้ที่กล้าหาญในการเปิดโปงอาชญากรรมและยั่วยุของกลุ่มนาโต้อย่างต่อเนื่อง ด้านคอนสแตนติน โคซาเชฟ รองประธานสภาสูงของรัสเซีย กล่าวไว้อาลัยว่า “นี่คือการสูญเสียที่ไม่อาจทดแทนได้ ฆาตกรต้องถูกลงโทษอย่างไร้ความปรานี”

สมาชิกรัฐสภารัสเซีย อเล็กซี จูราฟเลฟ กล่าวกับสำนักข่าวสปุตนิกว่า หน่วยข่าวกรองยูเครนอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ โดยอ้างว่ายูเครนอาจพยายามสร้างผลกระทบเชิงโฆษณาชวนเชื่อจากการเสียชีวิตของคิริลลอฟ พร้อมระบุว่า การดำเนินการในลักษณะนี้สะท้อนถึงการสนับสนุนการก่อการร้ายจากชาติตะวันตก

ทัพรัสเซียตั้งกองกำลังโดรนพลีชีพ เสริมทัพแนวหน้าศึกยูเครน

เมื่อวันที่ (16 ธ.ค. 67) นายอังเดร เบโลโซฟ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมรัสเซียเผยว่า ได้อนุมัติการจัดตั้งกองกำลังรบรูปแบบใหม่ที่ใช้การโจมตีด้วยอากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน ภายใต้หน่วยที่ชื่อ 'Unmanned Systems Forces' โดยหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นใหม่นี้นอกจากเป็นกองกำลังด้านการรบโดยใช้โดรนในแนวหน้าแล้ว ยังรับผิดชอบด้านการฝึกอบรม จัดหายุทโธปกรณ์ จัดหาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านโดรนโดยเฉพาะต่อหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐบาลรัสเซียด้วย

Dmitry Kornev ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ข่าวสารทางทหารของรัสเซียกล่าวกับสปุตนิก ว่า หนึ่งในวิธีการบริหารกองทัพที่มีประสิทธิภาพคือการจัดตั้งหน่วยงานที่เสมือนกองทัพขนาดย่อมๆ แยกต่างหาก เพื่อดำเนินการงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน โดยที่ผ่านกองทัพรัสเซียเริ่มมีการใช้และจัดหาโดรนและอากาศยานไร้คนขับด้านการทหารมากขึ้น

Kornev ยังคาดการณ์กับสปุตนิกว่า โดรนที่คาดว่ากองทัพรัสเซียจะใช้ในภารกิจการรบและเฝ้าระวังในแนวหน้าแถบยูเครนมีหลายรูปแบบ ตั้งแต่โดรนติดมิสไซส์ Ovod (Gadfly) และ Upyr ที่มามารถบรรทุกอาวุธ เช่น หัวรบจาก RPG-7 และระเบิดขนาดเล็กได้ ไปจนถึง โดรนสังหารแบบกามิกาเซ่ที่นอกจากใช้ลาดตระเวนแล้วยังสามารถเปลี่ยนให้เป็นโดรนทำลายเป้าหมายได้ด้วยเช่น 

Orlan-10 โดรนอเนกประสงค์สำหรับการลาดตระเวน ซึ่งสามารถบูรณาการกับระบบเรดาร์เฝ้าระวังอิเล็กทรอนิกส์แบบ RB-341V Leer-3 ได้ มีพิสัยการบินไกล 600 กม. และบินอยู่กลางอากาศได้นาน 18 ชั่วโมง 

โดรนแบบ  HESA Shahed 136 เป็นโดรนโจมตีระยะไกลแบบกามิกาเซ่ที่โจมตีโครงสร้างพื้นฐานทางทหาร มีเครื่องยนต์ไอพ่น บินได้เร็วถึง 800 กม./ชม. มีพิสัยการบิน 2,500 กม. และบรรทุกวัตถุระเบิดได้มากถึง 50 กก.

และโดรนแบบZALA Kub-BLA  ซึ่งเป็นโดรนสำหรับ ภารกิจ ลาดตระเวนและโจมตีแบบพลีชีพ โดยสามารถบรรทุกน้ำหนักได้ 3 กิโลกรัม บินด้วยความเร็วสูงสุด 130 กม./ชม. นาน 30 นาที ขณะที่รุ่นปรับปรุงใหม่สามารถโจมตีได้ไกลกว่า 50 กม. และสามารถโจมตีเป็นกลุ่มได้พร้อมกัน

รัสเซียเชื่อมือบงการสังหารนายพลฝ่ายนิวเคลียร์ เป็นฝรั่งผิวขาวพูดอังกฤษ มั่นใจลากตัวลงโทษให้ได้

(18 ธ.ค.67) กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียออกแถลงการณ์ ยืนยันว่าจะดำเนินการทุกวิถีทางนำตัวผู้เกี่ยวข้องในเหตุสังหารพลโท อิกอร์ คิริลอฟ หัวหน้าหน่วยป้องกันทางชีวภาพ, เคมี และรังสีของกองทัพรัสเซีย มาลงโทษให้ได้

คำแถลงจากมาเรีย ซาคาโรวา โฆษกกระทรวงต่างประเทศรัสเซียระบุว่า "เรามั่นใจว่าผู้ที่เป็นผู้จัดการและผู้ลงมือฆ่านายพลอิกอร์ คิริลอฟ จะต้องถูกจับกุมและนำตัวมาลงโทษ ไม่ว่าจะเป็นใครที่ไหนก็ตาม และเราขอประกาศไปยังผู้สนับสนุนระบอบเคียฟ, ผู้ที่เกลียดชังรัสเซียทุกรูปแบบว่า ในฐานะประเทศและประชาชน เราจะไม่ถูกข่มขู่ เรากำลังปกป้องความจริง"

ซาคาโรวา ยังกล่าวอีกว่า ผู้อยู่เบื้องหลังการก่อเหตุเป็นชนชาติแองโกล-แซกซอน (ฝรั่งผิวขาวพูดภาษาอังกฤษ) เป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์หลักจากการโจมตีทางการก่อการร้ายในมอสโกครั้งนี้ โดยกล่าวว่า ระบอบเคียฟเพียงแค่ "เป็นเครื่องมือ" เท่านั้น โดยรัสเซียจะยกประเด็นการสังหารนี้ในการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในวันที่ 20 ธันวาคมนี้ด้วย

สำหรับพลโทคิริลอฟและผู้ช่วยของเขาถูกฆ่าตายจากการระเบิดในมอสโกเมื่อเช้าวันอังคารตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งเจ้าหน้าที่จากบริการความมั่นคงของยูเครน (SBU) ยืนยันกับ The New York Times ว่ายูเครนเป็นผู้รับผิดชอบในการสังหารครั้งนี้

ขณะที่ทางหน่วยงานความมั่นคงแห่งรัฐรัสเซีย (FSB) ระบุเมื่อวันพุธว่าได้จับกุมชายผู้ต้องสงสัยเป็นชาวอุซเบกิสถานวัย 29 ปี ในข้อหาวางระเบิดและจุดระเบิดจากระยะไกล โดยผู้ต้องสงสัยคนดังกล่าวให้การซัดทอดว่า ผู้ว่าจ้างชาวยูเครนที่ให้ลงมือจุดระเบิดสัญญาว่าจะให้เงินรางวัล 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมให้สัญชาติเป็นพลเมืองสหภาพยุโรป

ปูตินแถลงข่าว 4 ชม. ลั่นควรบุกยูเครนเร็วขึ้น พร้อมถกทรัมป์จบขัดแย้งเคียฟ

เมื่อวานนี้ (19 ธ.ค.67) นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย แถลงข่าวสิ้นปีผ่านทางโทรทัศน์เป็นเวลานานกว่า 4 ชั่วโมง ซึ่งเป็นธรรมเนียมประจำปีที่ผู้นำรัสเซียเปิดเวทีให้ประชาชนและสื่อมวลชนซักถาม โดยมีประเด็นสงครามในยูเครนเป็นหัวข้อสำคัญ พร้อมแสดงจุดยืนเปิดกว้างต่อการเจรจากับยูเครนและว่าที่ผู้นำสหรัฐฯ

ปูตินกล่าวถึงการรุกรานยูเครนที่เริ่มเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2565 โดยยอมรับว่า หากย้อนเวลากลับไปได้ รัสเซียควรเปิดฉากปฏิบัติการพิเศษทางทหารให้เร็วและมีการเตรียมพร้อมที่เป็นระบบมากกว่านี้ พร้อมเสริมว่าสถานการณ์สงครามเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และรัสเซียยังคงรุกคืบและยึดครองพื้นที่ใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่สามารถกำหนดกรอบเวลาที่แน่นอนได้ว่าการยึดคืนดินแดนจะเสร็จสิ้นเมื่อใด

เมื่อถูกถามถึงความสัมพันธ์กับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปูตินระบุว่าไม่ได้พูดคุยกับทรัมป์มานานกว่า 4 ปี แต่พร้อมเปิดการเจรจาทันทีหากอีกฝ่ายต้องการ พร้อมแสดงความมั่นใจว่าการสนทนาจะเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ เนื่องจากทรัมป์เคยให้คำมั่นระหว่างการหาเสียงว่าจะยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครนโดยเร็ว

ปูตินยอมรับว่า สถานการณ์เงินเฟ้อและปัญหาข้าวยากหมากแพงเป็นประเด็นที่น่าวิตกสำหรับรัสเซียในปัจจุบัน โดยอัตราการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างในปี 2567 อยู่ที่ 9% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงถึง 9.3% ส่งผลให้เศรษฐกิจรัสเซียยังคงเผชิญกับแรงกดดันอย่างหนักจากมาตรการคว่ำบาตรระหว่างประเทศและวิกฤตสงคราม

ปูตินยังเน้นย้ำถึงความร่วมมือที่แน่นแฟ้นกับจีน ซึ่งทั้งสองประเทศมุ่งสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อเวทีโลก พร้อมระบุว่าความสัมพันธ์กับประเทศพันธมิตรอื่น ๆ ยังคงพัฒนาไปในทิศทางที่ดี

ท่ามกลางสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้นำรัสเซียกล่าวว่า พร้อมเปิดกว้างต่อการเจรจาเพื่อยุติสงคราม แม้จะยังไม่ชัดเจนว่าการปรองดองที่พูดถึงจะมีรูปแบบใด ทั้งนี้การเจรจาทั้งหมดต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้นำที่ชอบธรรมของยูเครนเช่นกัน

การแถลงข่าวครั้งนี้สะท้อนถึงความหวังในการหาทางออกของวิกฤตที่ยืดเยื้อ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณถึงการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้

สื่อแฉ 'ทรัมป์' ส่งข้อความหา 'เซเลนสกี' แนะสละดินแดนยูเครนแลกหยุดยิง

(23 ธ.ค.67) El Pais สื่อของสเปนรายงานอ้างแหล่งข่าวว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ส่งข้อความถึง โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ขอให้พิจารณาทบทวนเกี่ยวกับข้อตกลงหยุดยิงและยอมรับการละทิ้งดินแดนบางส่วนที่ปัจจุบันอยู่ภายใต้การควบคุมของรัสเซีย ตามรายงานจากหนังสือพิมพ์เอลปาอิส เมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคม

ทรัมป์ยืนยันคำสัญญาที่ว่า เขาจะยุติความขัดแย้งในยูเครนภายในวันแรกที่เข้ารับตำแหน่ง แต่ยังไม่ได้ให้รายละเอียดว่าแผนการของเขาจะสำเร็จได้อย่างไร คำประกาศของเขาทำให้เกิดความกังวลในเคียฟ โดยเฉพาะเรื่องความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ที่อาจลดลง และการตรวจสอบเงินหลายหมื่นล้านดอลลาร์ที่ยูเครนได้รับจากรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน

“หากคุณมองไปที่เมืองต่าง ๆ เหล่านั้น บางเมืองไม่มีอาคารหลงเหลืออยู่ในสภาพดีเลยแม้แต่สักอาคารเดียว ดังนั้น เมื่อคุณพูดถึงการฟื้นฟูประเทศ ฟื้นฟูอะไร? การฟื้นฟูต้องใช้เวลามากกว่า 110 ปี” ทรัมป์กล่าวในข้อความที่ส่งถึงเซเลนสกี จากกอล์ฟคลับของเขาในฟลอริดา เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้ในช่วงกลางเดือนธันวาคม ทรัมป์เรียกร้องให้ทั้งยูเครนและรัสเซียบรรลุข้อตกลงหยุดยิงทันที โดยเขาโพสต์ข้อความบนทรัสต์โซเชียล แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ของเขาหลังจากที่ได้พบกับเซเลนสกีและประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศสในกรุงปารีส

หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล รายงานว่าในต้นเดือนธันวาคม ทรัมป์ได้กล่าวว่า ยุโรปตะวันตกควรประจำการทหารในยูเครน เพื่อสังเกตการณ์ข้อตกลงหยุดยิง และว่าอียูควรมีบทบาทหลักในการป้องกันและสนับสนุนยูเครน ในขณะที่สหรัฐฯ จะสนับสนุนทางการเงิน แต่ไม่ส่งกำลังพล

ในขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ได้เน้นย้ำในการแถลงข่าวสิ้นปีว่า มอสโกยังคงเปิดกว้างในการเจรจากับเคียฟโดยไม่ต้องวางเงื่อนไขล่วงหน้า ยกเว้นเงื่อนไขที่เคยตกลงกันในโต๊ะเจรจาที่อิสตันบูลในปี 2022 โดยพิจารณาสถานะความเป็นกลางของยูเครนและข้อจำกัดการประจำการอาวุธต่างชาติ

ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศฮังการี ปีเตอร์ ซิยาร์โต ได้กล่าวกับ RIA Novosti ของรัสเซีย ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่จำเป็นต้องการตัวกลางในการแก้ไขวิกฤตยูเครน “ถ้าจำเป็นต้องมีตัวกลาง ก็ต้องได้รับการเห็นชอบจากทั้งสองฝ่าย หรือทุกฝ่าย และผมไม่เห็นการเห็นชอบเช่นนั้นในตอนนี้” ซิยาร์โตกล่าว และเสริมว่า ทรัมป์สามารถติดต่อโดยตรงกับประธานาธิบดีของยูเครนหรือประธานาธิบดีของรัสเซียได้

คองเกรสสหรัฐฯ เปิดงบช่วยยูเครน ใช้เงินภาษีคนอเมริกันไปแล้วเกือบ 5 ล้านดอลลาร์

(24 ธ.ค. 67) กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ตลอดทั้งปี 2024 รัฐบาลสหรัฐมีการใช้เงินภาษีของชาวอเมริกันไปแล้วเกือบ 4.8 ล้านดอลลาร์ (ราว 163 ล้านบาท) ซึ่งภายหลังการเปิดเผยดังกล่าว สมาชิกวุฒิสภาสังกัดพรรครีพับลิกันจากรัฐเคนทักกี นาย แรนด์ พอล กล่าววิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการใช้งบประมาณของรัฐบาลไบเดนที่ไร้เหตุผลที่สุดของปี 2024 

รายงานยังระบุว่า นับตั้งแต่เกิดเหตุความขัดแย้งในยูเครน รัฐบาลวอชิงตันได้ใช้เงินภาษีของชาวอเมริกันในการให้การสนับสนุนรัฐบาลเคียฟและช่วยเหลือทหารยูเครนไปแล้วเกือบ 174 พันล้านดอลลาร์ โดยนายพอล กล่าวว่า "บางคนในกระทรวงการต่างประเทศยังคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ดีที่จะใช้เงินภาษีชาวอเมริกันอีก  4.8 ล้านดอลลาร์เพื่อกิจการในยูเครน 

นายพอล ยังเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ กลับไปใช้วิธีการทางการทูตที่จริงจัง แทนที่จะพึ่งพากลยุทธ์ผ่านการทหาร พร้อมเน้นย้ำว่า ผู้เสียภาษีชาวอเมริกันจำนวนมากที่กำลังดิ้นรนเพื่อให้พอเพียงในการดำรงชีวิตกำลังเป็นผู้จ่ายเงินในการใช้จ่ายนี้

พอลกล่าวว่า มันเป็นเรื่องที่ “น่าฉงน” ที่เห็นรัฐบาลสหรัฐฯ ใช้จ่ายเงินภาษีของประชาชนในช่วงเวลาที่ชาวอเมริกันจำนวนมากกำลัง “ประสบปัญหาทางการเงิน”

รายงานที่มีความยาว 41 หน้าครอบคลุมถึงการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งสว.พอลเรียกว่า "เป็นการใช้จ่ายที่ไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล"

ก่อนหน้านี้ ในการสัมภาษณ์กับ NBC News ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ได้รับเลือก โดนัลด์ ทรัมป์ ได้กล่าวว่า ภายใต้การบริหารของเขา รัฐบาลเคียฟไม่น่าจะได้รับความช่วยเหลือในระดับเดียวกับที่พวกเขาได้รับในสมัยประธานาธิบดีโจ ไบเดน

Leopard 2 สุดยอดรถถังของยุโรป กลายเป็นเศษเหล็ก หลังเผชิญหน้ารถถังรัสเซีย ในสมรภูมิยูเครน

(6 ม.ค. 68) สงครามระหว่างกับรัสเซีย-ยูเครนจะครบ 3 ปี ในเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ ปัจจัยที่ทำให้ยูเครนยังคงสามารถยืนหยัดต่อต้านกองกำลังของรัสเซียได้นั้น ส่วนใหญ่ที่สุดมาจากการสนับสนุนด้านอาวุธยุทโธปกรณ์จากสหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตร NATO สมาชิกองค์การ NATO จำนวนมากมายมหาศาลตั้งแต่อาวุธเบาเช่นปืนเล็กยาว ปืนกล ขีปนาวุธนานาชนิด ปืนใหญ่ รถถัง รถหุ้มเกราะ สารพัดชนิด กระทั่งเครื่องบินขับไล่แบบ F-16 (จนอาวุธยุทโธปกรณ์ในคลังสำรองของประเทศเหล่านั้นแทบจะหมดเกลี้ยง) อีกทั้งรัสเซียเองก็ไม่ได้ทุ่มสรรพกำลังเต็มที่ในการทำสงครามครั้งนี้ ด้วยยังคงกองกำลังส่วนใหญ่ไว้ในประเทศเพื่อป้องกันประเทศจากการรุกรานของชาติต่าง ๆ ที่เป็นปรปักษ์ซึ่งมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้

รถถังหลัก (Main battle tank : MBT) แบบ Leopard 2 ก็เช่นเดียวกัน รถถังรุ่นนี้ถือเป็นรถถังหลักที่ล้ำหน้าที่สุดรุ่นหนึ่งของโลก ด้วยเชื่อว่า รถถังหลักแบบ Leopard 2 จะเป็นรถถังหลักที่จะช่วยยูเครนเปลี่ยนรูปโฉมของสงครามกับรัสเซียได้ ดังนั้นตั้งแต่เดือนเมษายน 2022 รัฐบาลยูเครนได้ร้องขอให้ชาติพันธมิตรได้ให้การสนับสนุนด้วยการส่งมอบรถถังหลักแบบต่าง ๆ ที่ผลิตในประเทศตะวันตก ซึ่ง โปแลนด์ ฟินแลนด์ และประเทศอื่น ๆ ต่างประกาศความตั้งใจที่จะสนับสนุนรถถังหลักแบบ Leopard 2 จากคลังสำรองของประเทศเหล่านั้นในเบื้องต้นประมาณ 100 คันให้กับยูเครน อย่างไรก็ตาม เมื่อเยอรมนีส่งออกรถถังไปยังประเทศเหล่านี้ เยอรมนีได้กำหนดให้การส่งออกซ้ำต้องมีเงื่อนไขได้รับอนุญาตจากรัฐบาลเยอรมนีก่อน จึงเกิดเป็นประเด็นขึ้นมาเมื่อรัฐบาลเยอรมนีพยายามบ่ายเบี่ยงการอนุญาตดังกล่าว อีกทั้งยังเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาให้คำมั่นในการจัดหารถถัง M1 Abrams ก่อนที่จะส่งรถถังหลักแบบ Leopard 2 ที่ผลิตในเยอรมนีไปยังยูเครน

หลังจากที่ประธานาธิบดี Joe Biden ของสหรัฐฯ ตัดสินใจส่งมอบรถถังหลักแบบ M1 Abrams ให้กับยูเครน เนื่องจากเยอรมนียืนกรานที่จะดำเนินการร่วมกับพันธมิตร NATO ซึ่งการตัดสินใจส่งมอบรถถังหลักแบบ M1 Abrams ให้กับยูเครนของประธานาธิบดี Biden ก่อนหน้านี้เคยถูกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ คัดค้านมาแล้ว ปัจจุบัน ยูเครนได้รับมอบรถถังหลักแบบ Leopard 2 รุ่นต่าง ๆ จากชาติพันธมิตร NATO อาทิ เยอรมนี โปแลนด์ นอร์เวย์ แคนาดา สเปน โปรตุเกส กรีซ สวีเดน เดนมาร์ก ฟินแลนด์ และเนเธอร์แลนด์ รวมแล้วกว่า 200 คัน ซึ่งจาการสู้รบที่ผ่านมา Oryx เว็บไซต์ข่าวด้านความมั่นคงของเนเธอร์แลนด์ระบุว่า จากการยืนยันด้วยภาพ รถถังหลักแบบ Leopard 2 ของยูเครนถูกกองกำลังรัสเซียทำลายไปแล้วกว่า 40 คัน เป็น Leopard 2 รุ่น 2A4 จำนวน 21 คัน, 2A6 จำนวน 13 คัน และ Strv 122 จำนวน 7 คัน (Leopard 2 รุ่น 2A5 ของสวีเดน) หรือราว 20% จากที่มีอยู่ และอีกหลายคันทั้งที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์และเศษซากจากการทำลายโดยกองกำลังรัสเซีย ถูกยึดและส่งไปยังสหพันธรัฐรัสเซีย

รถถังหลักแบบ Leopard 2 ทั้งที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์และเศษซากจากการทำลายถูกนำไปตั้งแสดงในอนุสรณ์สถาน Patriot Park และ Leopard 2 ที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์คันหนึ่งได้ถูกส่งไปยังโรงงาน UVZ (UralVagonZavod : โรงงานผลิตยานยนต์แห่งเทือกเขาอูรัล) ในเมือง Nizhny Tagil ซึ่งเป็นโรงงานที่มีหน่วยงานวิจัย พัฒนา และผลิตอุปกรณ์ทางการทหาร รวมถึงรถถังหลักและรถบรรทุกรถถังบนรางรถไฟ เพื่อทำการถอดชิ้นส่วนเพื่อทำการศึกษาวิจัยต่อไป นอกจากนั้นแล้ว โรงงาน UVZ เป็นโรงงานรถยนต์ รถบรรทุก เพื่อการเกษตร ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องมือ และสินค้าอุปโภคบริโภค โดยการผลิตรถถังหลักแบบ T-90 คิดเป็น 18-20% ของการผลิตทั้งหมดของบริษัท 

ในปี 2008 โรงงาน UVZ ผลิตรถถังประมาณ 175 คัน รวมถึง T-90A 62 คันสำหรับกระทรวงกลาโหมของรัสเซีย และ T-90S 60 คันสำหรับกองทัพบกอินเดีย ซึ่งถือเป็นระดับการผลิตรถถังสูงสุดของโรงงาน UVZ และในรัสเซียโดยรวม ตามรายงานของ Moscow Defense Brief ระบุว่า ในปี 2008 จำนวนรถถังที่บริษัทผลิตได้มากกว่าจำนวนรถถังหลักที่ผลิตโดยประเทศอื่น ๆ ทั่วทั้งโลกรวมกัน และตั้งแต่เดือนธันวาคม 2016 โรงงาน UVZ ได้ถูกโอนไปอยู่ภายใต้ Rostec ซึ่งเป็นวิสาหกิจที่มีลักษณะเป็นบริษัท Holding ของรัฐบาลรัสเซียตามคำสั่งของประธานาธิบดี ในปี 2020 บริษัทรายได้มากถึง 28 พันล้านรูเบิล ในปี 2022 โรงงาน UVZ ถูกกำหนดให้อยู่ภายใต้มาตรการการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ชาติพันธมิตร และสหภาพยุโรป อันเป็นผลมาจากสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน

รถถังหลักแบบ Leopard 2 ที่มีใช้ในประเทศใกล้บ้านเราได้แก่ สิงคโปร์ (247 คัน) และอินโดนีเซีย (113 คัน) นอกจากรถถังหลักแบบ Leopard 2 แล้ว อาวุธยุทโธปกรณ์ของยูเครนที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ และชาติพันธมิตร NATO ทั้งรถถังหลัก (รวมทั้งรถถังหลักแบบ M 1 Abrams ของสหรัฐฯ) รถหุ้มเกราะ นานาชนิด ถูกกองทัพรัสเซียทำลายและยึดเอาไว้เป็นจำนวนมาก โดยรูปแบบของการรบในสงครามครั้งนี้เปลี่ยนโฉมไปมาก เมื่อทั้งสองฝ่ายนำโดรนโจมตี (Attack/Killer drone) เข้ามาปฏิบัติการ ดังนั้นนอกจากจาก เครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถัง ทุ่นระเบิดดักรถถัง และปืนใหญ่รถถังด้วยกันเองแล้ว กำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมากของทั้งสองฝ่ายได้ถูกทำลายโดยโดรนโจมตี ดังนั้นสงครามต่อไปในอนาคตโดรนจะมีบทบาทที่สำคัญในการรบทั้ง การลาดระเวน ตรวจการณ์ ชี้เป้า และโจมตี ฯลฯ 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top