Monday, 28 April 2025
TheStatesTimes

โควิด-19 ระบาดรอบแรก ประชาชนต้องประสบปัญหาขาดแคลนหน้ากากอนามัย แถมพวงมาด้วยราคาที่แพงหูฉี่ โควิด-19 ระบาดรอบใหม่นี้ ทาง ‘ลุงตู่’ จึงรีบออกมากำชับให้กระทรวงพาณิชย์ดูแลเรื่องนี้อย่างเข้มข้นอย่าให้ซ้ำรอยเดิมเด็ดขาด

อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นในประเทศ ทาง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จึงได้กำชับกระทรวงพาณิชย์ ให้เข้มงวดเรื่องการบริหารจัดการหน้ากากอนามัย โดยประชาชนควรหาซื้อได้ง่าย ในราคาที่ไม่แพง

โดยได้ให้กระทรวงพาณิชย์ควบคุมราคา รวมทั้งดูแลเรื่องการกระจายหน้ากากอนามัยให้ทั่วถึง และให้ใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและจริงจังเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้ประชาชน และลงโทษคนที่ทำผิดกฎหมายอย่างเด็ดขาด

นอกจากนี้นายกฯ ยังขอให้ประชาชนปฎิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข โดยให้ประชาชนทั่วไปที่ไม่ป่วยสามารถสวมใส่หน้ากากผ้าได้ เพียงแต่ใช้แล้ว 1 วันต้องซัก จึงควรมีหน้ากากผ้าสลับสับเปลี่ยน และสิ่งที่สำคัญสำหรับคนไม่ป่วยคือ การล้างมือบ่อยๆ เพราะเชื้อจะติดได้นั้น หลักๆ คือ การสัมผัส ดังนั้นการล้างมือจะช่วยได้ ไม่ว่าจะล้างมือด้วยน้ำและสบู่ หรือล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจล และข้อสำคัญสุดท้ายคือการรักษาระยะห่าง หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด

นายกรัฐมนตรีอังกฤษ สั่งล็อกดาวน์ด่วน หลังนักวิทยาศาสตร์ค้นพบไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ทางตะวันออกเฉียงใต้ในอังกฤษ ซึ่งมีประสิทธิภาพการระบาดได้เร็วกว่าเดิมสูงถึง 70%

CNN รายงานว่า นายกรัฐมนตรีอังกฤษ บอริส จอห์นสัน ประกาศมาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดรอบใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นไม่กี่วันหลังเขาออกมาบอกว่า "เป็นการไร้มนุษยธรรมมากเกินไปหากจะให้มีการยกเลิกการจัดฉลองวันคริสต์มาสที่จะมีขึ้นในสัปดาห์นี้"

อย่างไรก็ตามจอห์นสันได้ออกแถลงมาตรการต่างๆ สำหรับการป้องกันการระบาดโรคโควิด-19 ให้มีความเข้มงวดมากขึ้น หลังการระบาดในประเทศยังเพิ่มขึ้น และส่งผลให้มีจำนวนผู้เสียชีวิตกว่า 67,000 คน และติดเชื้อกว่า 2 ล้านคน

โดย จอห์นสันได้กล่าวว่า กรุงลอนดอน และพื้นที่ส่วนใหญ่ทางใต้ รวมถึงทางตะวันออกของอังกฤษที่มีเคสพุ่งสูงนั้นจะเข้าสู่มาตรการจำกัด 4 ขั้นที่คล้ายกับการล็อกดาวน์โดยเริ่มขึ้นในวันอาทิตย์ (20)

ทว่าสิ่งที่น่าสนใจในการแถลงข่าวนั้น คือ การพบไวรัสโควิด-19 ที่เกิดการกลายพันธุ์ในอังกฤษ โดยจอห์นสัน เผยว่า “การระบาดถูกทำให้หนักมากขึ้นจากไวรัสสายพันธุ์ใหม่” และเสริมต่อว่า “มัน (ไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์) ดูเหมือนติดง่ายกว่าและดูเหมือนสูงถึง 70% ของการระบาดเมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดิม”

สำหรับการเตือนขั้นระดับ 4 ได้ถูกใช้ในสหราชอาณาจักรอังกฤษ เวลส์ สก๊อตแลนด์ และไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งภายใต้มาตรการเตือนขั้นระดับ 4 ประชาชนต้องอยู่แต่ภายในที่พักเว้นแต่เหตุผลที่จำเป็น และต้องไม่พบปะกับผู้อื่นที่ไม่ได้อยู่ในบ้านพักเดียวกัน ส่วนธุรกิจร้านค้านั้นต้องปิดตัว

เหตุการณ์นี้ ทำให้องค์การอนามัยโลก WHO ออกแถลงการณ์ทางทวิตเตอร์ของ WHO โดยประกาศจะทำงานร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่อังกฤษในสถานการณ์การระบาดไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ หลัง อังกฤษได้ส่งข้อมูลจากการศึกษาที่กำลังวิจัยอยู่ในเวลานี้เกี่ยวกับการกลายพันธุ์ของไวรัส และทางองค์การอนามัยโลก โดยจะแจ้งให้ชาติสมาชิกอื่นๆ และสาธารณะทราบข่าวความคืบหน้าในการเรียนรู้ลักษณะไวรัสสายพันธุ์ใหม่และการแบ่งตัวของมันต่อไป

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เรียกประชุมผู้บริหารระดับสูง พร้อมอธิบดีทุกกรม และผู้ที่เกี่ยวข้อง ให้กำชับหน่วยงานในสังกัด ควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด – 19 ในกลุ่มแรงงานอย่างเคร่งครัด

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีการแพร่ระบาดของโควิด - 19 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ว่า ได้ติดตามสถานการณ์และมีความห่วงใยพี่น้องผู้ใช้แรงงานและประชาชนทั่วไปต่อการแพร่ระบาดของโควิด – 19

ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาล ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และการกำกับดูแลของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้มีความห่วงใยพี่น้องแรงงานและประชาชนทุกกลุ่ม

ทั้งนี้ ได้มีการสั่งการและดำเนินการตามมาตรการมาอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของกระทรวงแรงงาน ได้สั่งการให้กรมการจัดหางานและกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ลงพื้นที่เข้าไปชี้แจงทำความเข้าใจกับนายจ้างสถานประกอบการเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ลูกจ้างรู้จักวิธีการป้องกันจากการแพร่ระบาดของโควิด -19

นอกจากนี้ ยังได้มีการประชุมและประสานข้อมูลรายงานกับศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด -19 (ศบค.) อย่างใกล้ชิด ในส่วนของจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสถานประกอบการขนาดใหญ่ที่มีลูกจ้างเป็นจำนวนมาก ซึ่งสถานประกอบการแต่ละแห่งก็ได้มีมาตรการป้องกันโควิด – 19 ที่เข้มงวดอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตามในวันนี้ ตนเองในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงได้เชิญผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง อธิบดีทุกกรม และผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อกำชับให้หน่วยงานในสังกัดทุกพื้นที่บูรณาการร่วมมือกันปฏิบัติตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

รวมทั้งประชุมทางไกลผ่านระบบ Video Conference ไปยังหัวหน้าส่วนในสังกัดจังหวัดสมุทรสาครเพื่อติดตามสถานการณ์ โดยได้กำชับให้ทุกส่วนราชการในสังกัดกระทรวงแรงงานทุกพื้นที่ชี้แจงทำความเข้าใจกับนายจ้างสถานประกอบการ เพื่อให้ลูกจ้างรู้จักวิธีการป้องกันจากการแพร่ระบาดของโควิด -19

รวมทั้งให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด – 19 ทั้งในกลุ่มแรงงานไทย แรงงานต่างด้าวในสถานประกอบการ รวมทั้งการออกประกาศห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวในทุกกรณีและจัดให้มีมาตรการเฝ้าระวังและตรวจสอบคัดกรองโรค เช่น การประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ เป็นต้น

นายสุชาติ ยังกล่าวอีกว่า กระทรวงแรงงาน ยังได้ประสานไปยังสถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทย เครือข่ายภาคเอกชน และ NGOs เพื่อให้ทางการเมียนมาออกสื่อประชาสัมพันธ์เป็นภาษาเมียนมา เพื่อให้ลูกจ้างเมียนมาที่มาทำงานในประเทศไทยรับทราบและปฏิบัติตัวในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด – 19 โดยรณรงค์ให้แรงงานต่างด้าวและสถานประกอบการที่มีการจ้างแรงงานต่างด้าว ตระหนักถึงมาตรการป้องกันและควบคุมโรค

โดยประชาสัมพันธ์ในภาษาของแรงงานต่างด้าวตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด เช่น สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาที่ร่วมกิจกรรม ล้างมือบ่อย ๆ หรือทำความสะอาดด้วยเจลแอลกอฮอล์ เว้นระยะห่างระหว่างกันอย่างน้อย 1 เมตร เป็นต้น รวมทั้งการระงับการให้บริการศูนย์จัดเก็บข้อมูลแรงงานเมียนมาชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคมนี้ไปจนถึงวันที่ 3 มกราคม 2564

ทั้งนี้ จังหวัดสมุทรสาครมีแรงงานต่างด้าว จำนวน 275,782 คน (ข้อมูล 15 ธ.ค.63) เมียนมา 243,617 คน ลาว 13,200 คน กัมพูชา 9,648 คน และสัญชาติอื่นๆ 9,317 คน โดยส่วนใหญ่ทำงานในอุตสาหกรรมประมงและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง

สำหรับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานต่างด้าวกระทรวงแรงงานนั้น ด้านป้องกัน ได้แก่

1) การชะลอการอนุมัตินำเข้แรงงานต่างด้าว ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ

2) การผ่อนปรนให้แรงงานต่างด้าว MOU ที่ใบอนุญาตจะครบตั้งแต่พฤศจิกายน 2563 - ธันวาคม 2564 สามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานได้ต่อไปอีก 2 ปี

3) ตรวจสอบคัดกรองและเฝ้าระวังแรงงานต่างด้าว ณ ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออก เรือประมง (PIPO)

4) ขอความร่วมมือสถานประกอบการทั่วประเทศ ประขาสัมพันธ์และให้ความรู้แก่ลูกจ้าและผู้ประกันตนในสถานประกอบการ เรื่องไวรัสโควิด-19 และการปฏิบัติตนตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข

5) แจ้งมาตรการให้นายจ้างในสถานประกอบการการคัดกรองลูกจ้างแรงานต่างด้าวและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

6) ป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานต่างด้าวโดยร่วมมือกับสภากาชาดไทย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการป้องกันโดยจัดทำเอกสารเผแพร่เป็นภาษาของแรงงานต่างด้าว สร้างความเข้าใจเรื่องมาตรการเยียวยาผลกระทบ มอบสิ่งของบรรเทาทุกข์ มีกระบวนการคัดกรองและการกักตัว 14 วัน ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

7) รวบรวมรายชื่อสถานประกอบการที่มีการจ้างแรงงานต่างด้าวหรือสถานที่ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงและจำนวนแรงงานต่างด้าวทุกจังหวัด ทั่วประเทศ และแจ้งข้อมูลให้ ศบค.ทราบเพื่อใช้ในการวางแผนตรวจหาเชื้อโควิด-19 ตามมาตรการป้องกันเชิงรุกร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขแรงงานต่างด้าว (อสต.)

ส่วนในด้านเยียวยา การให้บริการทางการแพทย์ แก่ผู้ประกันตนที่ป่วยเป็นโรคโควิด-19 ภายหลังสถานการณ์ผ่อนคลาย ได้แก่ 1) ส่งเสริมการจ้างานคนไทยให้เข้าสู่ระบบการจ้างงาน 2) จัดทำข้อมูลความจำเป็นในการใช้แรงงานต่างด้าวในประเทศ และ 3) การเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นระบบ

สรุปผลการเลือกตั้งนายกองค์การบริการส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) อย่างไม่เป็นทางการ ณ เวลา 08.00 น.

สรุปผลการเลือกตั้งนายกองค์การบริการส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) อย่างไม่เป็นทางการ ณ เวลา 08.00 น. โดยมีจังหวัดที่น่าสนใจ ดังนี้

1. เชียงใหม่ นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร จากพรรคเพื่อไทย ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 1 เอาชนะคู่แข่งคนสำคัญ คือ นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ อดีตนายก อบจ.เชียงใหม่ ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 2

2. เชียงราย นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ ผู้สมัครอิสระ ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 1 โดยเอาชนะ น.ส.วิสาระดี เตชะธีรวัฒน์ จากพรรคเพื่อไทย ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 2

3. นครราชสีมา นางยลดา หวังศุภกิจโกศล ภรรยารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 1

4. สมุทรปราการ นางนันทิดา แก้วบัวสาย ทายาททางการเมืองตระกูลดังบ้านใหญ่ ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 1 

5. ขอนแก่น นายพงษ์ศักดิ์ ตั้งวานิชกพงษ์ สามารถป้องกันตำแหน่งนายก อบจ.เอาไว้ได้ มีคะแนนนำมาเป็นอันดับ 1 จ่อเป็นว่าที่นายก อบจ.สมัยที่ 6 ติดต่อกัน

6. ปทุมธานี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง อดีตนายตำรวจคนดัง ได้คะแนนมาเป็นอันดับที่ 1 ว่าที่นายก อบจ. ผู้ล้มนายก อบจ.คนเดิม นายชาญ พวงเพ็ชร์ นายก อบจ. 4 สมัย โดยได้คะแนนมาเป็นอันดับ 2

7. ชลบุรี นายวิทยา คุณปลื้ม อดีตนายก อบจ. คนดัง ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 1 เตรียมทำหน้าที่ต่ออีกสมัย

8. นราธิวาส นายกูเซ็ง ยาวอหะซัน อดีตนายก อบจ.นราธิวาส 4 สมัย ซึ่งเป็นแชมป์เก่า ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 1

9. นครศรีธรรมราช นางกนกพร เดชเดโช ได้คะแนนมาเป็นอับดับ 1 โดยคะแนนนำแบบม้วนเดียวจบ เตรียมทำหน้าที่นายก อบจ.

10. นนทบุรี พ.ต.อ.ธงชัย เย็นประเสริฐ อดีตนายก อบจ. ซึ่งได้รับความไว้วางใจจากประชาชนในพื้นที่มายาวนาน ได้คะแนนมาเป็นอับดับ 1

11. สระแก้ว นางขวัญเรือน เทียนทอง ผู้สมัครตระกูลการเมืองคนดังในพื้นที่ ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 1

12. นครปฐม นายจิรวัฒน์ สะสมทรัพย์อิสระ ผู้สมัครทายาทตระกูลการเมืองดัง มีเครือข่ายการเมืองทุกระดับ ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 1 ทิ้งห่างคู่แข่ง

อย่างไรก็ตาม ว่าที่นายก อบจ. ที่ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 1 ทั้งหมด ต้องรอการรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต่อไป



ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์
 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยยังไม่ห้ามจัดเคาท์ดาวน์ทั้งประเทศ วอนเข้มมาตรการด้านสาธารณสุข ทั้งงานแต่ง งานบวช ยืนยันเวชภัณฑ์ไม่ขาดแคลน องค์การเภสัชกรรมผลิตเองได้ แต่ขู่อย่าคิดโก่งราคา

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเข้าพบพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกฯ เพื่อรายงานสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ในจังหวัดสมุทรสาครและอีกหลายจังหวัดว่า ตนและคณะได้รายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในจังหวัดสมุทรสาครให้นายกฯทราบ โดยเฉพาะมาตรการที่ได้ดำเนินการไปแล้ว โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อที่ตลาดกลางกุ้ง ซึ่งเป็นที่พักของบรรดาแรงงานต่างด้าว จนเกือบครบแล้ว

โดยอัตราการติดเชื้ออยู่ร้อยละ 42 แต่ส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ และยังต้องกักกันโรค โดยห้ามเข้า ห้ามออก และดูแลเรื่องอาหาร ชีวิตประจำวัน ให้เขามีความปลอดภัย รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุขได้จัดเตรียมตั้งโรงพยาบาลสนามในพื้นที่ดังกล่าวเบื้องต้นประมาณ 100 เตียง

ซึ่งถ้าบุคคลในพื้นที่นั้นมีอาการป่วยขึ้นมาแล้วไม่ได้เข้าขั้นรุนแรงก็จะรักษาในนั้น ไม่ให้ออกมาข้างนอก เว้นแต่คนที่มีอาการรุนแรงมาก ก็จะมีวิธีการขนถ่ายไปโรงพยาบาลที่มีความพร้อมสมบูรณ์ในการรักษาโดยยึดหลักความปลอดภัย

นายอนุทิน กล่าวว่า "นายกรัฐมนตรี เน้นให้มีความพร้อมในการสนับสนุนทุกด้านเพื่อให้เกิดความปลอดภัยของประชาชน หากมีสิ่งใดขาดเหลือให้มารายงานนายกฯโดยตรง และเน้นย้ำความปลอดภัยของประชาชนให้มีเวชภัณฑ์ให้เพียงพอและตรวจค้นหาให้มากที่สุด ส่วนมาตรฐานต่าง ๆ หากจะมีออกมานั้นขอประเมินตามสถานการณ์"

เมื่อถามถึงข้อกฎหมายที่เสนอต่อนายกฯ เพื่อควบคุมสถานการณ์ให้เข้มงวดมากขึ้นมีข้อสรุปอย่างไร นายอนุทิน กล่าวว่า "ขณะนี้เราอยู่ภายใต้พรก.ฉุกเฉิน และ ปฏิบัติตามข้อกำหนดมาตลอด หากเป็นข้อบังคับที่ใช้กันทั่วประเทศ ทางผู้ว่าราชการจังหวัด คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด สามารถออกมาตรการในพื้นที่นั้น ๆ ได้ทันที

อย่างไรก็ตาม การที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ระบุถึงพรบ.โรคติดต่อที่จะเข้าที่ประชุมครม.ในวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ.2563 นั่นคือเรื่องการแก้ไขพรบ.โรคติดต่อ ซึ่งเป็นฉบับแก้ไข เนื่องจากเห็นว่าหากสถานการณ์ดีขึ้นก็อาจจะต้องเลิกพรบ.ฉุกเฉิน แล้วมาใช้พรบ.ดังกล่าวให้เข้มข้นขึ้นแทน แต่จนถึงขณะนี้ คงต้องพรก.ฉุกเฉินไว้ก่อน"

ส่วนตลาดใหญ่ๆหลายแห่ง เช่น ตลาดไทย ตลาดบางใหญ่ จะเข้าตรวจเชิงรุกหรือไม่เนื่องจากมีแรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมากนั้น นายอนุทิน กล่าวว่า "กระทรวงสาธารณสุขทำได้ แต่โดยพื้นฐานก่อนที่จะเข้าไป เขาก็ต้องปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเข้มงวด คือต้องสวมหน้ากากอนามัย ตลอดเวลา ล้างมือและวัดไข้ก่อนเข้า ถือเป็นการคัดกรองได้ระดับหนึ่ง ซึ่งการติดเชื้อได้เกิดจากการสัมผัสใกล้ชิด และส่วนใหญ่ไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย หรือ สวมไว้ใต้คาง"

นายอนุทิน กล่าวว่า "สำหรับความพร้อมของเวชภัณฑ์ในการรักษาพยาบาล ยืนยันว่าวันนี้เพียงพอ เพราะได้สะสมมาตลอด9 - 10 เดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะหน้ากากอนามัย ได้เตรียมไว้ถึง 50 ล้านแผ่น เพราะองค์การเภสัชกรรมผลิตเองได้ ผลิตได้และขายแผ่นละไม่เกิน 2 บาท ถ้าใครกักตุน และมีการขึ้นราคา ทางกระทรวงสาธารณสุข ก็จะปล่อยทั้ง 50 ล้านแผ่นออกมา"

"ดังนั้นประชาชนอย่าไปซื้อของแพง หรือแม้แต่หน้ากาก N95 ก็มีเป็นล้านแผ่น ยารักษาโรคก็มีเพียงพอที่จะรักษาผู้ป่วย ต่อให้มีการปะทุของโรคก็ตาม แต่มั่นใจว่าไม่ไปถึงขนาดนั้น เพราะกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สามารถควบคุมป้องกันการระบาดของโรคได้ในระยะเวลาไม่นานหลังจากนี้"

"ส่วนกรณีที่มีการขอรับบริจาคตามโรงพยาบาลในต่างจังหวัดนั้น ถือเป็นการให้ประชาชนมีส่วนร่วม แต่ไม่ได้หมายถึงเราขาดแคลน เพราะจิตศรัทธา หรือ ความต้องการที่อยากจะช่วยเพื่อให้ประชาชนทุกคนปลอดภัยนั้น เรายินดีรับอยู่แล้ว แต่ถ้าจะให้เปิดรับบริจาคอย่างเป็นทางการไม่มี"

ส่วนในช่วงเทศการปีใหม่ หลายคนยังกังวลว่าจะจัดกิจกรรมรื่นเริง หรือ จัดเคาท์ดาวน์ ทั้งประเทศได้หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า "ต้องประเมินตามสถานการณ์ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ คิดว่าตอนนี้เอาเรื่องความปลอดภัยเป็นหลักไว้ก่อน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้แนวทางในเรื่องนี้ด้วยว่า ให้รีบไปดู แต่ถ้าสามารถควบคุมได้และผลตรวจออกมานิ่งแล้ว ก็ต้องมารายงานเป็นรายวันไป ช่วงนี้ทุกอย่างต้องประเมินสถานการณ์เป็นรายวัน และยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ห้ามจัดกิจกรรม"

เมื่อถามถึงงานบวช งานแต่งในช่วงนี้ยังจัดได้หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า "ถ้าอยู่นอกเขตที่ประกาศควบคุมก็ยังจัดได้ปกติ แต่ก็ต้องเข้มมาตรการกันหน่อย ย้ำกระทรวงสาธารณสุขพยายามทำงานเต็มที่ไม่ใช่ว่าเราจะหาวิธีห้ามประชาชนทำกิจกรรม เราอยากให้ทุกคนทำกิจกรรมปกติ ให้มีความสุข แต่ขอให้ช่วยกันรักษามาตราการเพื่อให้ไม่มีปัญหา โดยเฉพาะถ้ามีหน้ากากอนามัยอยู่บนใบหน้าก็จะไม่มีปัญหาอะไร"

อธิบดีกรมการค้าภายใน มั่นใจอาหารทะเลไม่ขาดแคลนและไม่กระทบด้านราคามากนัก เล็งดึงแหล่งผลิตอาหารทะเล ทางภาคตะวันออก และภาคใต้ทดแทน

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า หลังจากเกิดกรณีพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่จังหวัดสมุทรสาครหลายราย ซึ่งตลาดปลามหาชัยถือเป็นตลาดอาหารทะเลขนาดใหญ่ จึงมีผลกระทบต่อการซื้อขายอาหารทะเลในบางพื้นที่แน่นอนเมื่อเกิดการล็อกดาวน์ขึ้น

ล่าสุดกรมการค้าภายใน ได้มีการเชื่อมโยงแหล่งผลิตอาหารทะเลอื่น ๆ ในทางภาคตะวันออก และภาคใต้ ไปยังผู้ที่ต้องการทั้งผู้ค้าและผู้บริโภค เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหารขาดแคลน

นายวัฒนศักย์ กล่าวว่า "ในด้านผลกระทบด้านราคาอาหารทะเลนั้น เบื้องต้นกรมฯ ประเมินว่า ราคาไม่น่าทำให้สูงขึ้นนัก เพราะเมื่อเกิดกรณีนี้ขึ้น ทำให้คนเกิดความกังวลบางส่วนอาจลดการบริโภคอาหารทะเลในช่วงนี้ อย่างไรก็ตามในส่วนของการดูแลกลุ่มชาวประมงนั้น กรมฯ จะร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ พยายามดูแลไม่ให้ได้รับผลกระทบ โดยเชื่อมโยงหาตลาดให้จำหน่ายได้อย่างเป็นธรรม"

พรรคประชาธิปัตย์ ขอบพระคุณ ทุกคะแนนเสียงของประชาชน ขอแสดงความยินดีและพร้อมทำงานร่วมกันกับผู้ชนะการเลือกตั้งในทุกจังหวัดเต็มที่

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึงการเลือกตั้ง สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดว่า ขอขอบพระคุณทุกคะแนนเสียงที่ไว้วางใจผู้สมัครที่ลงในนามพรรค

ต่อจากนี้ไปผู้สมัครที่ชนะการเลือกตั้งก็จะได้นำนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ไปขับเคลื่อนเพื่อทำประโยชน์ให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยจะมีการทำงานร่วมกับพรรคและบุคลากรของพรรคอย่างเต็มที่ต่อไป และขอแสดงความยินดีต่อผู้ชนะการเลือกตั้งในทุกจังหวัด

พรรคประชาธิปัตย์ มีอุดมการณ์เรื่องการกระจายอำนาจอย่างชัดเจนตั้งแต่เมื่อครั้งก่อตั้งพรรค คือพรรคจะกระจายอำนาจการดำเนินการในท้องถิ่นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เนื่องจากความใกล้ชิดขององค์กรในท้องถิ่นมีมากกว่าส่วนกลาง

หลักการสำคัญนี้คือจุดตั้งต้นที่สำคัญที่พรรคผลักดันและสนับสนุนการกระจายอำนาจเพื่อให้ประชาชนได้เลือกคนที่เป็นคนในพื้นที่ที่มีความรู้ความเข้าใจปัญหาต่าง ๆ ได้ดี เพื่อเข้าไปทำหน้าที่แก้ปัญหาให้กับประชาชนท้องถิ่นนั้น ๆ ในทุกเรื่อง

การเลือกตั้งท้องถิ่นในครั้งนี้ อาจมีคำถามว่าเหตุใดพรรคประชาธิปัตย์จึงไม่ส่งผู้สมัครให้ครบทุกจังหวัด ก็ต้องตอบอย่างตรงไปตรงมาว่าการสนับสนุนการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นไม่ใช่การส่งผู้สมัครลงในนามพรรคแต่เพียงอย่างเดียว

แต่หมายความรวมถึงการสนับสนุนในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น สมาชิกพรรคที่ลงสมัครรับเลือกตั้งโดยไม่ได้ลงในนามพรรคก็มีอยู่หลายจังหวัด และเป็นการใช้สิทธิ์ลงสมัครในนามส่วนตัว รวมถึงมีสมาชิกหลายคนที่ไม่ได้ลงสมัครแต่อาสาทำงานส่งเสริมสนับสนุนการทำงานท้องถิ่นก็มี

ส่วนผู้สมัครที่พรรคส่งนั้น หากมีส่วนใดที่สนับสนุนและทำงานร่วมกันกับท้องถิ่นทุกจังหวัดก็ทำเต็มที่ เช่นขณะนี้พื้นที่ใดที่ประชาชนเกิดปัญหา พรรคฯ ก็ไม่ติดใจว่าเป็นคนของใคร แต่พรรคก็พร้อมจะทำงานร่วมกับท้องถิ่นนั้นโดยมุ่งถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ส่วนเรื่องกฎหมายมีส่วนไหนที่เป็นอุปสรรคต่อการปกครองส่วนท้องถิ่นก็มีการเสนอการแก้ไขกฎหมายอยู่หลายเรื่อง

นายราเมศ กล่าวตอนท้ายว่า "การเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดครั้งนี้หลังจากห่างหายมาหลายปีก็อยากจะให้ผู้ชนะการเลือกตั้งใช้โอกาสทำงานให้เต็มที่ โดยยึดมั่นในชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และทำงานให้ประชาชนในพื้นที่ โดยยึดหลักความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ตั้ง ก็จะเป็นผลดีต่อทุกคนทุกฝ่ายรวมถึงประเทศชาติด้วย"

เปิดหน้าชกหนัก หลังรัฐหละหลวมจนโควิด-19 คัมแบ็ค โดย ‘พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์’ ออกมาซัดรัฐบาล ผ่านเฟซบุ๊ก หลังเคยเขียนบทความเตือนรัฐไปแล้วกว่า 8 เดือน เรื่องแรงงานต่างชาติ แต่รัฐยังละเลยจนโควิด-19 กลับมาลุกลาม

หลังจากโควิด-19 กลับมาอีกรอบ ทำให้ ‘พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์’ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้ออกมาแสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เกี่ยวกับเรื่องที่ตนนั้นพยายามพูดมาตลอด 8 เดือน ในเรื่องของแรงงานต่างชาติ โดยนายพิจารณ์ ได้ระบุว่า

“ก่อนหน้านี้เคยโพสต์และสื่อสารผ่านสื่อมวลชนถึงความเสี่ยงของกลุ่มชุมชนแรงงานต่างชาติในพื้นที่สมุทรสาคร โดยเปรียบเทียบกับปัญหาที่เกิดขึ้นในสิงคโปร์ที่รัฐควรเข้าไปมีบทบาท ‘เชิงรุก’ ในการตรวจและค้นหาผู้ติดโรค เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด โดยมีข้อเสนอ 6 ข้อ อย่างไรก็ตาม ผู้ติดเชื้อที่ล่าสุดอยู่ที่เกือบ 700 ราย สะท้อนถึงความละหลวม ปล่อยปะละเลยของรัฐมาโดยตลอด

“โควิดกระจอก คำกล่าวของผู้ใหญ่ในรัฐบาลท่านหนึ่ง ที่ได้ตอกย้ำและแสดงให้เห็นถึงความละเลยในช่วงเวลาที่ผ่านมา ความลุแก่อำนาจของผู้นำรัฐบาลกับการใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินต่อเนื่องอย่างยาวนาน ซึ่งดูจะสวนทางกับการป้องกันการลักลอบเข้าเมืองตามแนวชายแดน และในท้ายที่สุด อาจจะไม่สามารถหยุดยั้งความเสียหายที่กำลังจะเกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดรอบใหม่นี้ได้

“ความสำเร็จในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ผ่านมา เป็นชัยชนะด้วยประสิทธิภาพของระบบสาธารณสุข บุคลากรทางการแพทย์ แต่ที่สำคัญอย่างยิ่ง ชัยชนะที่ผ่านมาเป็น ความเสียสละของพี่น้องประชาชน ที่ต้องแลกมาด้วยการถูกให้ออกจากงาน การถูกลดเวลาการทำงาน และการหยุดกิจการของผู้ประกอบการหลายราย หาใช่ความสำเร็จในการจัดการสถานการณ์ของรัฐบาล

ในการป้องกันและแก้ปัญหาระยะยาว รอบนี้คงต้องถามดัง ๆ ถึงหน่วยงานด้านความมั่นคง เพื่อหา ‘ผู้รับผิดชอบ’ ต่อความล้มเหลวในการดูแลและป้องกันการลักลอบเข้าเมืองตามแนวชายแดน ซึ่งจะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก ประยุทธ์ จันทร์โอชา”

นอกจากนี้ พิจารณ์ ยังได้เขียนบทความเพื่อเตือนรัฐบาล ด้วยการยกกรณีของสิงค์โปร์เป็นตัวอย่าง ซึ่งบทความนี้ได้ระบุถึงสถานการณ์โควิด-19 ของสิงค์โปร์ ที่กำลังควบคุมได้แต่ กลับต้องมียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น เนื่องจากแรงงานต่างชาติที่อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างแออัด หากมีผู้ติดเชื้อเพียงคนเดียวในกลุ่มก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่กระจายโรคมีมากขึ้น ทำให้เห็นว่าแรงงานต่างชาติเป็นกลุ่มที่รัฐไม่ควรมองข้าม ขณะเดียวกันเมื่อหันกลับมามองแรงงานต่างชาติในไทยก็พบว่า การรับมือของบ้านเรานั้นไม่ได้ต่างจากสิงค์โปร์

พิจารณ์ยังได้ระบุว่า “จากการไปเยี่ยมประชาชนในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งมีแรงงานต่างชาติมากถึง 2 แสนกว่าราย หรือเกือบเท่าจำนวนแรงงานต่างชาติในประเทศสิงคโปร์ ภายในชุมชน 43 แห่งในจังหวัด ล้วนแล้วแต่เป็นพื้นที่ที่มีความแออัดและเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคในลักษณะเดียวกับประเทศสิงคโปร์ นอกจากนั้นยังพบว่า แรงงานต่างด้าวบางส่วนไม่สวมใส่หน้ากากอนามัย ดังนั้นรัฐบาลจึงควรมีแนวทางและมาตราการที่ชัดเจนในการดูแลคนกลุ่มนี้ ภายใต้หลักคิดสำคัญในการกำหนดมาตรการคคือ (1) การช่วยเหลือดูแลตามหลักสิทธิมนุษยชนที่บุคคลหนึ่งควรได้รับ (2) ในฐานะฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน และ (3) บทพื้นฐานการควบคุมและป้องกันจุดเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรค”

จากการระบาดที่เกิดขึ้นนายพิจารณ์ จึงมีข้อเสนอเชิงมาตรการต่อเรื่องดังกล่าวอีก 6 ข้อ ได้แก่

1.) การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ ความเข้าใจในการป้องกันตนเองแก่แรงงานต่างชาติในภาษาที่หลากหลาย

2.) การสร้างเครือข่ายนายจ้างในการติดตามดูแลสุขภาพของลูกจ้างต่างชาติ

3.) การสนับสนุนเรื่องอาหารและความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่แรงงานต่างชาติที่ตกงานและไม่สามารถกลับประเทศต้นทางได้

4.) การสนับสนุนด้านสถานที่สำหรับแรงงานที่มีความจำเป็นในการกักตัวเอง

5.) การดำเนินมาตรการเชิงรุกในการสุ่มตรวจหาเชื้อภายในชุมชนที่มีแรงงานต่างชาติอาศัยจำนวนมาก

6.) การกำหนดมาตรการฉุกเฉินสำหรับการตรวจโรคและดูแลรักษาแรงงานต่างชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการของประเทศมาเลเซีย ทั้งนี้เพื่อสร้างแรงจูงใจในการเข้าระบบการรักษาและลดโอกาสการแพร่กระจายของเชื้อโรค

ข้อเสนอข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่รัฐบาลควรให้ความสนใจคนทุกกลุ่ม ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่ปกตินี้ เพื่อป้องกันไม่ให้ลุกลามมากขึ้นในอนาคต

วันนี้ 20 ธันวาคม พิธีเปิดอย่างเป็นทางการ มอเตอร์เวย์สายแรกของสปป.ลาว

คอลัมน์ “เบิ่งข้ามโขง”

วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ.2563 พิธีเปิดอย่างเป็นทางการ มอเตอร์เวย์สายแรกของสปป.ลาว

" นครหลวงเวียงจันทน์ - วังเวียง "

โดย นายบุนยัง วอละจิต ประธานประเทศ เข้าร่วมพิธี เป็นประธานในการเปิดมอเตอร์เวย์สายแรก อย่างเป็นทางการ

มูลค่าการก่อสร้าง 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลงทุนในแบบ BOT

โดยบริษัทก่อสร้าง - ลงทุนมณฑลยูนนาน ถือหุ้น 95% รัฐบาลลาว 5% ในนามบริษัทร่วมทุนพัฒนาลาว - จีน อายุสัมปทาน 50 ปี


หนุ่มโคราชคลุกคลี กับเมืองลาวทั้งด้านธุรกิจเอกชนและภาครัฐมานานหลายปี ยินดีแนะนําภาคเอกชนไทย บุกตลาดอินโดจีน สรรหาเรื่องเล่า วีถีชีวิต วัฒนธรรม เศรษฐกิจ

เจ้าหน้าที่จากสำนักงานป้องกัน และควบคุมโควิด-19 ของมณฑลเจียงซู ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบตลาดปลาและร้านอาหาร โดยผลปรากฎพบเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ในตัวอย่างบรรจุภัณฑ์ ‘ปลาดาบเงินแช่แข็ง’ จากร้านอาหารท้องถิ่นใน ‘อู๋ซี’

หลังนำไปตรวจสอบ ก็พบว่ามีการปนเปื้อนโควิด-19 จริง และมีผลเป็นบวก ซึ่งจากรายงานได้ระบุว่า ‘ปลาดาบเงินแช่แข็ง’ ดังกล่าวอยู่ในกลุ่มปลาแช่แข็งที่นำเข้าจาก ‘ประเทศเมียนมา’ และหลังจากทราบผลดังกล่าว ทางเจ้าหน้าที่จึงดำเนินการสั่งเก็บผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องโดยด่วน รวมถึงปูพรมฆ่าเชื้ออุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และยานพาหนะที่ใช้ในการขนส่งทั้งหมด

จากการสอบสวนพบว่า มีผู้ที่สัมผัสกับบรรจุภัณฑ์ที่ปนเปื้อนทั้งหมด 17 ราย โดยผลการทดสอบโควิด-19 ยังเป็นลบ ซึ่งทั้งหมดกำลังอยู่ระหว่างการแยกกักตัว และเฝ้าสังเกตอาการ

แน่นอนว่าไม่ใช่ครั้งแรกที่จีนพบเชื้อโควิด-19 ที่ติดมากับอาหารแช่แข็ง ทางการจีนจึงได้มีมาตรการต่างๆ อย่างเข้มงวด โดยทางการจีนได้ยกระดับความพยายามที่จะสะกัดกั้นเชื้อไวรัสดังกล่าว ผ่านอาหารนำเข้า ซึ่งให้กระทรวงคมนาคมเป็นผู้รับไม้ต่อ เพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ผ่านการตรวจสอบในทุกช่องทางที่จะเป็นไปได้

อย่างไรก็ตาม การพบเชื้อไวรัสในอาหารแช่แข็งที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ได้เป็นการติดเชื้อในตัวอาหาร หรือเนื้อสัตว์เอง แต่เป็นการติดเชื้อระหว่างการลำเลียง ขนส่ง การถือ สัมผัสอาหารเหล่านั้น จากพนักงาน หรือคนที่ติดเชื้อไวรัส


ที่มา: xinhuanet


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top