Thursday, 29 May 2025
TheStatesTimes

‘หมอชลน่าน’ เตรียมชี้แจงแนวทางฉีดวัคซีน HPV ก่อนคิกออฟพร้อมกันทั่วประเทศ 1 พ.ย.นี้

(11 ต.ค.66) นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข โดย นพ.ชลน่านแถลงภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมว่า ที่ประชุมได้ติดตามการขับเคลื่อนนโยบายยกระดับ 30 บาทพลัส ทั้ง 13 ประเด็น ซึ่งทุกประเด็นมีความก้าวหน้าเป็นที่น่าพอใจ 

ยกตัวอย่าง ประเด็นยาเสพติด/สุขภาพจิต พบว่า มีการจัดตั้งมินิธัญญารักษ์ เพื่อบำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติดแล้ว 35 จังหวัด คิดเป็น 46% รวมถึงเรื่องให้มีการจัดตั้งหอผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป และเพิ่มช่องทางการเข้าถึงบริการสุขภาพจิต โดยเฉพาะผ่านระบบสื่อสังคมออนไลน์ หรือ ประเด็นมะเร็งครบวงจร จะมีการชี้แจงแนวทางการฉีดวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก แก่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และกทม. วันที่ 12 ตุลาคมนี้ เพื่อคิกออฟฉีดพร้อมกันทั่วประเทศ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566

ส่วนประเด็นดิจิทัลสุขภาพ ทีมส่วนกลางได้ร่วมกับทีมโรงพยาบาลในพื้นที่ จัดทำเกณฑ์โรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Hospital) ครอบคลุมทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน การบริหารจัดการ การให้บริการ และความปลอดภัยไซเบอร์ เพื่อใช้เป็นแนวทางพัฒนาโรงพยาบาล รองรับนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ ตามที่ประกาศนำร่องไว้ มั่นใจว่าจะมี Smart Hospital ไม่น้อยกว่า 200 แห่งในระยะเริ่มแรก

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้รับทราบการดำเนินงานด้านสาธารณสุขฉุกเฉิน 2 เรื่อง คือ 1.เหตุการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล ซึ่งคนไทยชุดแรกจะกลับมาถึงประเทศไทยวันที่ 12 ตุลาคมนี้ เวลา 10.35 น. จะมีทีมแพทย์คัดกรองสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ ที่สนามบิน หากมีปัญหาสุขภาพกายจะส่ง รพ.ราชวิถี รพ.เลิดสิน หรือ รพ.นพรัตนราชธานี

หากมีปัญหาด้านสุขภาพจิตได้เตรียมโรงพยาบาลด้านจิตเวชไว้รองรับ คือ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา รพ.ศรีธัญญา และสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ และติดตามเฝ้าระวังตามมาตรฐานจนอาการเป็นปกติ

นอกจากนี้ได้ส่งทีมเยียวยาจิตใจ (MCATT) ลงไปดูแลญาติของผู้ที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ทุกแห่ง ตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา และ 2.การติดตามสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ซึ่งยังมีสถานการณ์ในหลายจังหวัดส่วนใหญ่เป็นอุทกภัยซึ่งขณะนี้ระดับน้ำเริ่มลดลง

ทั้งนี้ ได้กำชับให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป/โรงพยาบาลชุมชน ดูแลผู้ประสบภัยอย่างเต็มที่ เตรียมพร้อมยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ โดยขณะนี้มีสถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบ 19 แห่ง ยังเปิดให้บริการตามปกติ 18 แห่ง ต้องปิดบริการ 1 แห่ง คือ รพ.สต.บ้านดอนนายาง จ.กาฬสินธุ์

‘กองทุนดีอี’ หนุนทุกภาคส่วนร่วมต่อยอดเทคโนโลยี 5G เดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมด้วยดิจิทัลครบทุกมิติ

สดช. จัดเวทีสัมมนาเพื่อประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ (ร่าง) มาตรการส่งเสริมการลงทุนและการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G หวังนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้อย่างเต็มศักยภาพในทุกมิติ

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2566 นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงานสัมมนาเพื่อประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ (ร่าง) มาตรการส่งเสริมการลงทุนและการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G โดยมีนายธีรวุฒิ ธงภักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมด้วยนางสาววรรณศิริ พัวศิริ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนานโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ตลอดจนผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน จำนวนกว่า 200 คน เข้าร่วม ณ โรงแรม PULLMAN BANGKOK KING POWER กรุงเทพฯ

นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า สดช. ได้ดำเนินโครงการจัดทำมาตรการส่งเสริมการลงทุนและการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G ซึ่งได้ทำการศึกษายุทธศาสตร์ชาติ นโยบายและแผนระดับชาติ แผนงาน มาตรการ โครงการ และแนวปฏิบัติที่ดีของต่างประเทศ รวมถึงข้อมูลด้านกฎหมาย กฎ ระเบียบ และรูปแบบแนวทางในการจัดทำมาตรการฯ โดยผลการดำเนินงานในปัจจุบัน สดช. ได้จัดทำ (ร่าง) มาตรการฯ และเอกสารคู่มือที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยมาตรการ 3 กลุ่ม ได้แก่ มาตรการสนับสนุนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) มาตรการสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร และมาตรการการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสนับสนุน เพื่อกระตุ้นการขับเคลื่อนและผลักดันภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสู่การปฏิบัติจริงที่จะก่อให้เกิดการลงทุนและการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงสร้างระบบนิเวศด้านการลงทุนให้พร้อมต่อการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยต่อไป

“ทั้งนี้ สดช. ยังมีภารกิจสำคัญในการกำหนดทิศทางและวางยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งเป็นแกนกลางในการส่งเสริม ประสาน และบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อก่อให้เกิดการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้อย่างเต็มศักยภาพในทุกระดับและทุกมิติของภาคเศรษฐกิจและสังคมไทย โดยที่ผ่านมา สดช. ได้ดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการว่าด้วยการส่งเสริมการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G ของประเทศไทย ระยะที่ 1 ที่ได้สิ้นสุดไปในปีที่ผ่านมา และปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการดังกล่าว ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 - 2570) ซึ่งประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ส่งเสริมการพัฒนาโครงข่าย 5G ประสิทธิภาพสูง ยุทธศาสตร์ที่ 2 ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลผ่านเทคโนโลยี 5G ยุทธศาสตร์ที่ 3 สร้างสังคมคุณภาพด้วยเทคโนโลยี 5G และยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาระบบนิเวศให้พร้อมต่อการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G สำหรับการจัดทำมาตรการส่งเสริมการลงทุนและการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G เป็นการดำเนินการที่สอดคล้องและสนับสนุนยุทธศาสตร์ทั้ง 4 ยุทธศาสตร์ของแผนปฏิบัติการว่าด้วยการส่งเสริมการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G ของประเทศไทย รวมถึงสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลประสิทธิภาพสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ภายใต้นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2561-2580 ฉบับทบทวน โดยมีตัวชี้วัดในภาพรวม 3 ตัวชี้วัด ได้แก่ มูลค่าเพิ่มของเศรษฐกิจดิจิทัลมีสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Digital Contribution to GDP) ปี พ.ศ. 2570 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศใน World Digital Competitiveness Ranking ปี พ.ศ. 2570 อยู่ใน 30 อันดับแรกของโลก หรืออยู่ใน 3 อันดับแรกของอาเซียน และสถานภาพการเข้าใจดิจิทัล (Digital Literacy: DL) ของประชาชนคนไทยมากกว่า 80 คะแนน ในปี พ.ศ. 2570” นายภุชพงค์ฯ กล่าวเพิ่มเติม

ด้านนางสาวสิริกาญจน์ สุขผล ผู้อํานวยการกลุ่มบริหารกองทุน ได้กล่าวถึงบทบาทของกองทุนฯ บนเวทีเสวนา "การส่งเสริมการลงทุนและการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี5G" ว่า กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมหรือกองทุนดี มีหน้าที่ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาด้านดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัล โดยการจัดสรรเงินทุนสนับสนุนในแต่ละปีนั้น จะขึ้นอยู่กับงบประมาณที่กองทุนดีอีได้รับมากจาก กสทช. 

ทั้งนี้ ทางกองทุนดีอี จะจัดสรรเงินทุนสนับสนุนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยแบ่งเป็น 2 ด้าน ส่วนแรก เป็นการสนับสนุนด้านการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ส่วนที่สอง เป็นการสนับสนุนด้านการวิจัย โดยโครงการที่จะนำเสนอเข้ามานั้น ทางกองทุนฯ อยากให้คำนึงถึงโครงการที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อประโยชน์ในเชิงสาธารณะ 

“การนำเสนอโครงการที่ต้องทุนสนับสนุน เพื่อการจะพัฒนาขึ้นนั้น จะต้องส่งผลประโยชน์ต่อมุมกว้าง มีการให้บริการประชาชนในหลากหลายรูปแบบ ยกตัวอย่างกลุ่มคนที่ด้อยโอกาสหรืออยู่ในพื้นที่ห่างไกล อาจจะเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์มากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ ขณะเดียวกันในส่วนของการวิจัยนั้น จะเน้นไปที่โครงการที่ทำการวิจัยด้วยเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ ๆ เช่นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G โดยทางกองทุนฯ เปิดกว้างให้กับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐภาคเอกชน หรือกลุ่มบุคคลทั่วไป สามารถจะเสนอขอรับทุนได้ โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยี 5G ไปต่อยอดประยุกต์ใช้กับบริการด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษาการ การพัฒนากำลังคนดิจิทัล และพัฒนาเมืองปลอดภัยน่าอยู่ หรือ สมาร์ทซิตี้ ซึ่งหน่วยงานที่มีโครงการอยู่ในมือ ต้องการจะพัฒนาขึ้น แต่ยังขาดเงินทุนสนับสนุน ก็สามารถนำเสนอโครงการเข้ามาได้ที่กองทุนฯ ซึ่งจะเปิดรับในช่วงต้นปี ประมาณเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ ของแต่ละปี” นางสาวสิริกาญจน์ กล่าว

วิกฤตคนหนุ่มสาวจีน ‘หมดไฟ-ไม่อดทน-ไร้ความพยายามสู้ชีวิต’ อ้าง!! แรงแข่งขันสูงในสังคม ผลักให้กลับมาเกาะพ่อแม่กิน

เมื่อไม่นานนี้ ได้มีผู้ใช้ติ๊กต็อกช่องหนึ่ง ชื่อ ‘daodiy’ ออกมาเล่าถึงสถานการณ์ในสังคมยุคปัจจุบัน ที่กำลังเกิดวิกฤตจากการที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ขาดความพยายามในการเอาตัวรอดในสังคม และหันมาพึ่งพาพ่อแม่มากขึ้น โดยเจ้าของช่องได้ระบุว่า…

ในปัจจุบัน กลุ่มคนรุ่นใหม่ในจีนที่ยังต้องพึ่งพาพ่อแม่อยู่ หรือที่เรียกกันว่า ‘เกาะพ่อแม่กิน’ มีจํานวนอัตรามากกว่า 270 ล้านคนทั่วประเทศ โดยคนกลุ่มนี้ ในภาษาจีนมีชื่อเรียกว่า ‘เขินเหล่าจู๋’ (啃老族) ซึ่งถ้าแปลเป็นตรงตัวจะหมายถึง ‘กลุ่มคนที่กัดกินผู้สูงอายุ’

กลุ่มคนที่กัดกินผู้สูงอายุเหล่านี้ กำลังมีจํานวนที่เพิ่มมากขึ้นในสังคมจีน และแนวโน้มว่าจะเพิ่มมากยิ่งขึ้นไปอีกในอนาคต ประเด็นสําคัญที่ทําให้คนกลุ่มนี้ มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ คือ

1.) ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนที่เป็นลูกคนเดียวของที่บ้าน โดยคนกลุ่มนี้จะได้รับการประคบประหงม ถูกดูแลอย่างดีจากคุณพ่อคุณแม่ ตั้งแต่เด็กจนโต โดยเฉพาะคนที่เกิดในช่วงปี 1985 ถึงประมาณ 1990 เป็นต้นไป ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว คนกลุ่มนี้มักจะเติบโตมาในครอบครัวที่มีอันจะกิน จึงทําให้พวกเขานั้นไม่มีความสามารถที่จะต่อสู้กับคนในสังคมได้มากนัก หรือก็คือ ‘ขาดทักษะในการเอาตัวรอด’ นั่นเอง เพราะว่าคนกลุ่มนี้นั้นพึ่งพาครอบครัวของเขามาตลอด

2.) การศึกษา ในระบบการศึกษาของจีนนั้นยังเน้นสอนแบบการ ‘ท่องจํา’ เป็นส่วนใหญ่ ทำให้เด็กจีนมีทักษะในการเอาตัวรอดในสังคมค่อนข้างน้อย เพราะฉะนั้น นักศึกษาที่เรียนจบไปส่วนใหญ่ มักจะเก่งแค่เรื่องของทฤษฎีและวิชาการ แต่ในด้านการปฏิบัติเมื่อต้องออกไปเจอสังคมภายนอก อาจจะทำให้เอาตัวรอดได้ยาก

3.) เศรษฐกิจของจีน สังคมในที่ทํางานส่วนใหญ่นั้นมักจะมีความกดดัน หรือการแข่งขันกันค่อนข้างสูงและรุนแรง ทําให้คนรุ่นใหม่หลายคนเกิดความเหนื่อยล้า จนยอมแพ้และลาออกจากงาน เพื่อกลับไปบ้านกับพ่อแม่ จนในที่สุดก็กลายเป็นกลุ่มคนที่เกาะพ่อแม่กินนั่นเอง

4.) ระบบในสังคมจีน ซึ่งยังเป็นระบบของที่มีการใช้ ‘ความสัมพันธ์’ (Relationship) หรือที่เรียกกันว่า ‘ระบบเส้นสาย’ ในสังคมค่อนข้างสูง ทำให้คนที่มีเส้นสายสามารถเข้าไปอยู่ในหน่วยงานดีๆ ได้ทํางานที่ดีๆ ส่วนคนที่ไม่ได้มีพื้นฐานทางครอบครัวที่ดีนัก หรือว่าที่บ้านไม่ได้มีเส้นสาย ก็ต้องไปต่อสู้ แก่นแย้งกับคนที่มีเส้นสาย ทําให้คนกลุ่มนี้ ขาดกำลังใจ เกิดความหมดอาลัยตายอยากกับชีวิต และสุดท้ายก็กลับไปอยู่บ้าน ทั้งหมดนี้ คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมจีน และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มสูงยิ่งขึ้นในอนาคต

แล้วที่ ‘ประเทศไทย’ ล่ะ… เป็นอย่างไรบ้าง?

ตรัง-สงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง พร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน YICMG 2024ประกวดออกแบบนวัตกรรม แก้ปัญหาพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง จัดแถลงข่าวเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดประกวดออกแบบนวัตกรรม “The Youth Innovation Competition on Lancang-Mekong Region’s Governance and Development” หรือ YICMG 2024 โดยมี ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี พร้อมด้วย ผศ. ดร.ปาริชาติ มณีมัย คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการ และ ดร.สุธิภรณ์ ตรึกตรอง ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหารและยุทธศาสตร์ วิทยาเขตตรัง ร่วมแถลงข่าว ณ โรงละคร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2566 The Youth Innovation Competition on Lansang – Mekong Region’s Governance and Development (YICMG) เป็นการประกวดออกแบบนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาในมิติต่าง ๆ บนพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษาในระดับปริญญาตรี ไม่จำกัดคณะ ชั้นปี ของทุกมหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ในประเทศลุ่มแม่น้ำโขงรวม 6 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน สหภาพเมียนมาร์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ราชอาณาจักรไทย และราชอาณาจักรกัมพูชา ภายใต้การสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนหลายหน่วยงานของจีน โดยมีมหาวิทยาลัยฟู่ต้าน เมืองเซี่ยงไฮ้ เป็นผู้ดำเนินการหลัก พร้อมกับมหาวิทยาลัย อีก 2 แห่งในจีน คือ มหาวิทยาลัยชิงไห่ และมหาวิทยาลัยกว่างซี ร่วมดำเนินโครงการ โดยได้จัดการแข่งขันครั้งแรกในปี 2559 ณ เขตการปกครองตนเองยูซู (Yushu Tibetan Autonomous Prefecture) มณฑลชิงไห่ สาธารณรัฐประชาชนจีน

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง มีส่วนร่วมในการแข่งขันโครงการ YICMG ตั้งแต่การจัดการแข่งขันในครั้งที่ 1 โดยนักศึกษาให้ความสนใจและสมัครเข้าส่งผลงานในทุกปี และได้รับรางวัลต่าง ๆ อาทิ รางวัลชนะเลิศประเภท The Best Multi-national Team ในปี 2559 รางวัล The Best Incubation ในปี 2561 รางวัล The Best Creative Award ในปี 2564 และล่าสุดได้รับรางวัล The Most Valuable Question และ รางวัล The Most Creative Team จากการแข่งขันครั้งที่ 7 เมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา

นอกจากการส่งนักศึกษาเข้าร่วมการแข่งขันในทุกๆ ปีแล้ว มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ยังส่งอาจารย์เข้าร่วมโครงการ YICMG ในฐานะ Expert อีกด้วย โดยมีหน้าที่หลักในการให้ความรู้ คำแนะนำ ข้อคิดเห็นต่อผลงานของนักศึกษาจากทุกทีมและทุกประเภทที่เข้าร่วมการแข่งขัน อีกทั้งยังร่วมกับ Expert จากประเทศอื่น ๆ ในการลงคะแนนตัดสินผลงานของผู้เข้าประกวด

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ยังได้ร่วมลงนาม MOU กับมหาวิทยาลัยฟู่ต้าน และมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ทั้ง 6 ประเทศในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ณ มหาวิทยาลัยฟู่ต้าน เมืองเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ในการสร้างความร่วมมือขับเคลื่อนโครงการ YICMG โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้รับการพิจารณาให้จัดตั้งศูนย์ YICMG ซึ่งจะเป็นศูนย์บริการในการศึกษา ค้นคว้าวิจัย ที่เกี่ยวข้องกับสภาวะและปัญหาที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงของประเทศไทย โดยจัดตั้ง ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง

สำหรับการแข่งขัน YICMG ครั้งที่ 8 ประจำปี 2024 ซึ่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นเจ้าภาพ จะจัดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม 2567 ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต โดยมหาวิทยาลัยมีความพร้อมในทุก ๆ ด้าน ทั้งด้านพื้นที่ อาคาร สถานที่ที่เอื้อต่อการจัดการแข่งขัน เช่น ห้องประชุมที่มีหลายขนาด ตามรูปแบบการใช้งานที่ต้องการ ที่พักสำหรับคณะทำงาน PSU Lodge โรงแรมที่พักสำหรับผู้เข้าร่วมการแข่งขัน และแขก VIP จากทุกชาติสมาชิก 

ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากพื้นที่วิทยาเขตภูเก็ต อีกทั้งยังมีอาจารย์ บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการจัดโครงการระดับนานาชาติกระจายอยู่ในทุกวิทยาเขต ซี่งสามารถร่วมมือกันเพื่อเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันในครั้งนี้ นอกจากนี้ คณะผู้บริหารยังเล็งเห็นถึงโอกาสอันดีที่มหาวิทยาลัยฯ ได้รับการคัดเลือกเป็นเจ้าภาพ ในการฝึกฝนนักศึกษาให้มีทักษะสากล ผ่านการเรียนรู้จากการทำงานจริงในระดับนานาชาติ และมั่นใจในศักยภาพและความพร้อมทุกด้านต่อการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันในครั้งนี้

ตรัง-ม.อ. ตรัง โชว์ผลงานวิจัยขับเคลื่อนชุมชนผนึกกำลังเครือข่ายสัมพันธ์ สงขลานครินทร์

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดโครงการเครือข่ายสัมพันธ์ สงขลานครินทร์ ครั้งที่ 4 (The 4th PSU Network on Trang Campus) เพื่อเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้เห็นผลงานที่เป็นรูปธรรมของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะผลงานเพื่อชุมชน รวมทั้งเป็นการกระชับความสัมพันธ์ และสร้างเครือข่ายการสื่อสารผลงานและกิจกรรมมหาวิทยาลัยสู่สื่อมวลชนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยในปีนี้จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง ระหว่างวันที่ 11-13 ตุลาคม 2566 โดยมี ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย ผศ. ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและยุทธศาสตร์ และรักษาการแทนรองอธิการบดีวิทยาเขตตรัง ผศ. ดร.เถกิง วงศ์ศิริโชติ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวิเทศสัมพันธ์ คณะผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา ร่วมต้อนรับสื่อมวลชนจากส่วนกลาง ภาคเหนือ และพื้นที่ตั้งของมหาวิทยาลัย ตลอดจนเครือข่ายประชาสัมพันธ์ทั้ง 5 วิทยาเขต ที่เข้าร่วมงานอย่างอบอุ่น

ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี กล่าวว่า ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้มีการดำเนินภารกิจทั้งการสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการ การผลิตบัณฑิต การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทุกช่วงวัย การขับเคลื่อนสังคมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน การวิจัยและนวัตกรรมที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ การมีระบบรักษาพยาบาลที่มั่นใจในคุณภาพ คุณธรรมและการรักษาพยาบาลที่เป็นเลิศ รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบบริหารจัดการ มีการพัฒนาหลักสูตรให้ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และได้นำผลงานนวัตกรรมและบริการวิชาการ สู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์และเพื่อการพัฒนาประเทศ โดยได้รับการจัดอันดับเป็นมหาวิทยาลัยคุณภาพในระดับต้น ๆ ของประเทศและระดับโลก การวางแผนการดำเนินงานใน 4 ปี จนถึงปี 2570 

มหาวิทยาลัยได้มีการกําหนดวิสัยทัศน์ใหม่ให้เป็นมหาวิทยาลัยแห่งคุณค่าเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับแนวหน้าของโลก เพื่อสร้างศักยภาพในการดำเนินการเรื่องที่สําคัญและส่งผลให้เกิดการพัฒนาทั้งต่อชุมชนภาคใต้ ประเทศไทยและสังคมโลกได้อย่างแท้จริง จะมีการปรับวิธีการทำงานให้พร้อมที่จะร่วมกับทุกภาคส่วนทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ในการขับเคลื่อนประเด็นสำคัญของสังคม โดยใช้ศักยภาพของสถาบันที่เป็นสมองของประเทศที่ทุกคนให้ความเชื่อถือและไว้วางใจ โดยจะเน้นการขับเคลื่อนเพื่อวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ 5 ประเด็น คือ เรื่องเกษตรอาหาร สุขภาพ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สังคมพหุวัฒนธรรม และการสร้างนวัตกรรมและการท่องเที่ยว ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นจุดแข็งของประเทศไทย และเป็นความพร้อมของสงขลานครินทร์

“โครงการเครือข่ายสัมพันธ์ สงขลานครินทร์ ครั้งที่ 4” นอกจากสื่อมวลชนจะได้เยี่ยมชมหน่วยงานและผลงานของวิทยาเขตตรัง เพื่อการนำข้อมูลข่าวสารออกเผยแพร่ทางสื่อแล้ว ยังเป็นกิจกรรมที่ช่วยกระชับความสัมพันธ์ และสร้างเครือข่ายระหว่างสื่อมวลชนและผู้ปฏิบัติงานด้านการประชาสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัย เพื่อความร่วมมือกันต่อไปในอนาคต

ผศ. ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและยุทธศาสตร์ และรักษาการแทนรองอธิการบดีวิทยาเขตตรัง กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประกอบด้วย 5 วิทยาเขต แต่ละวิทยาเขตมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องประชาสัมพันธ์ภาพของมหาวิทยาลัยโดยใช้ข้อมูลและสถานที่การจัดกิจกรรมหมุนเวียนกันทุกวิทยาเขตในแต่ละปี เพื่อแสดงถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และเป็นการสานสัมพันธ์ทั้งระหว่างบุคลากรผู้ปฏิบัติงานภายในมหาวิทยาลัยด้วยกันเอง และกับเครือข่ายสื่อมวลชนในส่วนกลางและในพื้นที่ 

การจัดโครงการนี้ ผู้เข้าร่วมได้นำเยี่ยมชม หลักสูตรการเรียนการสอนที่น่าสนใจของวิทยาเขตตรัง เช่น ด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ และผลงานเด่น ๆ ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่ทำเพื่อชุมชน เช่น ผลงานวิจัยเส้นทางการท่องเที่ยวในชุมชนย่านเมืองเก่ากันตัง ชุมชนย่านตาขาวหรือย่านตาขาวโมเดล และสัมผัสวิถีชิวิตชาวเลที่ชุมชนบ้านน้ำราบ เป็นต้น เพื่อประชาสัมพันธ์วิทยาเขตตรัง และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากยิ่งขึ้น 

นอกจากยังมี นิทรรศการ และผลงานเด่นหน่วยงาน ของมหาวิทยาลัย ได้แก่ นครตรัง Innovation City (TRM+ICM+PART+PA), โครงการ U2T, โครงการมูลนิธิชมรมรากแก้ว, การทำ Digital Marketing ให้กับสถานประกอบการ (IDTM+DBIZ), MikroTik, Equity, BE Hall of Frame, Digital Accounting รางวัลสหกิจศึกษา – ACC Microneed, แผ่นเข็มขนาดไมครอนแบบสลายตัวได้, กรรมวิธีการผลิตไบโอแคลเซียม, เจลลี่พร้อมดื่มจากน้ำส้มสายชุหมัก, ผลิตภัณฑ์/สินค้าจากงานวิจัย ของศูนย์แสดงงานวิจัยและนวัตกรรม Research and Innovation Exhibition Center : RIEC (ริเอะ), สหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน, งานพันธกิจเพื่อสังคม, งานบริการวิชาการ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน, งานพัฒนาการศึกษา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในภาคใต้, ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงโอเลโอเคมีแบบครบวงจร, โครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพชุมชนและผู้ประกอบการเพื่อยกระดับรายได้จากกิจกรรมการท่องเที่ยวของชุมชน เกาะแรต จังหวัดสุราษฎร์ธานี, ผลิตภัณฑ์จากชุมชนภายใต้การสนับสนุนจากโครงการ Pattani Heritage City วงแหวนพหุวัฒนธรรม โครงการวิจัยแก้ไขปัญหาความยากจนแบบบูรณาการจังหวัดปัตตานี และสถาบัน ขงจื๊อภูเก็ต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

'ไทย-อิสราเอล' ค้าขายอะไรกันบ้าง?

กลายเป็นข่าวใหญ่ เมื่ออิสราเอลถูกกลุ่มปาเลสไตน์ติดอาวุธหรือ ‘ฮามาส’ โจมตีแบบสายฟ้าแลบด้วยจรวดราว 5,000 ลูกและแรงงานไทยก็ถูกจับเป็นตัวประกันและเสียชีวิตหลายคน

แม้ตอนนี้อิสราเอลจะปิดล้อมฉนวนกาซาได้แล้ว แต่ความขัดแย้งยังคงเป็นฝุ่นตลบ ไม่จางหายโดยง่าย ‘ฮิซบอลเลาะห์’ ซึ่งเป็นกลุ่มมุสลิมชีอะห์ติดอาวุธในเลบานอน ใช้โอกาสชุลมุนนี้เข้าโจมตีทางตอนเหนือของอิสราเอล จนอิสราเอลต้องเร่งระดมพลทหารสำรองอีกกว่า 3 แสนนาย เพื่อรับศึกรอบประเทศ

ถ้าความขัดแย้งบานปลายไปมากกว่านี้ คำถามสำคัญคือ เศรษฐกิจไทยผูกติดกับอิสราเอลมากเพียงใด ไทยนำเข้าสินค้าอะไรจากอิสราเอลมากที่สุด ขณะเดียวกัน ไทยส่งออกอะไรไปอิสราเอลมากที่สุด เพื่อจะได้เตรียมรับมือผลกระทบในสินค้าเหล่านั้น

ข้อมูลจาก ‘กระทรวงพาณิชย์’ โดยร่วมมือกับกรมศุลกากร ระบุว่า ปี 2566 ตั้งแต่เดือน ม.ค - ส.ค. ไทยมีมูลค่าการค้ากับอิสราเอล 29,288 ล้านบาท โดยเป็นมูลค่าส่งออก 18,562 ล้านบาท และเป็นมูลค่านำเข้า 10,726 ล้านบาท ซึ่งไทยได้เปรียบดุลการค้าอิสราเอล 7,836 ล้านบาท อีกทั้งอิสราเอลนับเป็นคู่ค้าอันดับที่ 40 ของไทย

สำหรับสินค้าที่ไทยค้าขายกับอิสราเอล THE STATES TIMES ได้รวบรวมมาให้แล้ว จะมีอะไรบ้าง มาดูกัน!!

'พีระพันธุ์' เชิญ 'ก้าวไกล' สนทนาแก้ปัญหาด้านพลังงานหลากมุม ปลุกบรรยากาศการเมือง 'สร้างสรรค์-รับฟัง' เพื่อประโยชน์คนไทย

ร่วมเดือนกว่าๆ หลังได้รัฐบาลใหม่ ประเด็นการเมืองไทย ยังมีเรื่องระอุให้ติดตามไม่เว้นวัน ทั้งนโยบายหลายก๊อกที่ยังรอคำตอบเคาะ เพื่อฝ่าคำค้าน นักวิชาการ และกระแสดรามาการเมืองที่ซัดเท...

ทว่า ควันหลงการเมืองไทยใต้หมอกแห่งความจัดแย้ง ก็ยังมีการเมืองในเชิงสร้างสรรค์ ให้เห็นอยู่บ้าง .
โดยในช่วงปลายเดือนก่อน (22 ก.ย.66) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ทำหนังสือด่วน เพื่อเชิญ นายศุภโชติ ไชยสัจ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เข้าหารือที่ทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 26 ก.ย.ช่วงบ่าย เหตุจากวันที่ 21 ก.ย. นายศุภโชติได้ยื่นกระทู้สดด้วยวาจาถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน สภา เกี่ยวกับปัญหาพลังงาน แล้ววันนั้นนายพีระพันธุ์ไม่ได้เข้าร่วมประชุมสภา เนื่องจากติดภารกิจที่จังหวัดชุมพร

บรรยากาศแบบนี้ มิค่อยได้เกิดขี้นบ่อยครั้งในจังหวะอุณหภูมิการเมืองระอุ โดยเฉพาะกับคนการเมืองที่อยู่ต่างขั้วต่างพรรคกันที่จะได้มานั่งประจันหน้ากันเพื่อคุยและถกแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชน

การประชุมในวันนั้น นายพีระพันธุ์ ได้ให้เกียรติ สส.ก้าวไกล ด้วยการเชิญผู้เกี่ยวข้องกับการลดราคาพลังงานของกระทรวงพลังงานมาหารือ ประกอบด้วย นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู รองปลัดกระทรวงพลังงาน, นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน, น.ส.นันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน และ นางพัทธ์ธีรา สายประทุมทิพย์ รองอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน

ขณะเดียวกัน ก็ได้เชิญ นายวรภพ วิริยะโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และนายเดชรัตน์ สุขกำเนิด ผอ.ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต พรรคก้าวไกล มาร่วมหารือในครั้งนี้ด้วย

ในห้องประชุม นายศุภโชคและคณะ ได้สอบถามถึงความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายของกระทรวงพลังงาน ทั้งกรณีที่รัฐบาลลดราคาไฟฟ้าลงเหลือหน่วยละ 3.99 บาท รวมถึงแสดงความเป็นห่วงเรื่องภาระระยะยาวหลังการยืดหนี้ของ กฟผ.ออกไปจนกลายเป็นภาระของประชาชน

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย และส่วนหนึ่งที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยขอให้รัฐบาลพิจารณาให้กลุ่มปิโตรเคมีที่ได้ประโยชน์จากราคาก๊าซในอ่าวไทย แต่ประชาชนกลับต้องรับภาระต้นทุนก๊าซจากต่างประเทศในการผลิตไฟฟ้า เปลี่ยนมาเฉลี่ยต้นทุนจากแหล่งก๊าซธรรมชาติทั้ง 2 แห่ง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และประเด็นเรื่องแผน PDP ที่ขอให้รัฐบาลเปิดโอกาสให้นักวิชาการภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย

หลังได้รับฟังข้อเสนอจากฝั่งก้าวไกล นายพีระพันธุ์ กล่าวกับนายศุภโชคและคณะในวันนั้นว่า หลังจากตนเข้ารับตำแหน่ง รมว.พลังงาน ก็ได้มอบนโยบายจากมุมมองที่ว่า พลังงานไม่ใช่เรื่องธุรกิจ แต่ให้มองเป็นเรื่องของความมั่นคงเรื่องความเป็นอยู่ของประชาชน และเป็นความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ดังนั้นจึงต้องหาความสมดุลและความเหมาะสมของทั้งสองฝ่าย

ฉะนั้น ประเด็นที่เป็นห่วงเรื่องปัญหาค่าไฟในระยะยาว รัฐบาลก็จะไม่ได้หยุดแค่การลดราคาไฟฟ้าราคานี้เท่านั้น แต่เนื่องจากเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องเร่งแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชนในระยะสั้น จึงต้องรีบทำก่อน โดยส่วนที่สามารถลดราคามาได้เป็นเพราะขอยืดหนี้จาก กฟผ.ออกไปและส่วนของต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่ลดลง จึงทำให้สามารถลดราคาค่าไฟให้ประชาชนลงได้อีก

รมว.พลังงาน ยังกล่าวอีกว่า กรณีของราคาก๊าซธรรมชาติที่ประเทศไทยนำมาใช้ผลิตไฟฟ้า ซึ่งมี 2 ส่วนคือนำเข้าจากต่างประเทศและส่วนได้มาจากอ่าวไทยเป็นนโยบายที่ตนได้นำเสนอมาก่อนหน้านี้ และทางคณะของพรรคก้าวไกลก็เห็นด้วย โดยเสนอว่าให้นำมาเฉลี่ยต้นทุนเพื่อให้ประชาชนได้ใช้ราคาค่าไฟที่เป็นธรรม แทนที่จะนำไปขายให้กลุ่มปิโตรเคมีในราคาถูกซึ่งจะได้ดำเนินการต่อไป

เมื่อกล่าวถึง แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย หรือ PDP ที่ทางคณะพรรคก้าวไกลเสนอให้นักวิชาการภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม รวมถึงประเด็นการศึกษากำลังไฟฟ้าสำรองที่จะเกิดในอนาคต ตนจะรับโจทย์ดังกล่าวไปศึกษาจัดทำเป็นนโยบายต่อไป

รมว.พลังงาน ย้ำอีกด้วยว่า ยังมีกฎหมายเดิมด้านพลังงานอีกหลายเรื่องต้องได้รับการแก้ไข เพราะกฎหมายหมายฉบับดำเนินการมาในอดีต แต่ปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป จึงเห็นว่าต้องรื้อตรวจสอบแก้ไขให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่ออำนวยต่อการจัดหาพลังงานให้กับประเทศ และให้ประชาชนได้ใช้พลังงานในราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรมต่อไป

ภายหลังจากการประชุมกับ รมว.พลังงาน ด้าน นายศุภโชติ ไชยสัจ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ก็ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมว่า ทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี พร้อมทั้งยอมรับว่า นายพีระพันธุ์รับฟังปัญหาของประชาชน ที่ฝากผ่านตนมาทั้งเรื่องราคาค่าไฟระยะยาว, มาตรการรองรับ, การปรับโครงสร้างราคาใหม่, การจัดทำแผน PDP ที่โปร่งใส

"รมว.พลังงาน รับที่จะนำข้อเสนอของพรรคก้าวไกล ไปพิจารณา ทั้งเรื่องค่าไฟ ราคาน้ำมัน หรือปัญหาด้านพลังงานอื่นๆ ที่จะต้องตอบคำถามประชาชนให้ได้ และอธิบายให้เข้าใจ ถือว่าเป็นการประชุมที่บรรยากาศเป็นไปด้วยดี" นายศุภโชติ กล่าว

ก็หวังว่า จากเหตุการณ์นี้ จะทำให้มิติการเมืองไทยยุคใหม่ เดินหน้าด้วยการร่วมกันทำงานอย่างสร้างสรรค์ในทุกๆ ฝ่าย และในทุกๆ กระทรวง ดั่งกรณีของกระทรวงพลังงานที่พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะด้วยความจริงใจ เพราะเป้าหมายสุดท้าย คือ ประโยชน์ของประชาชน ที่เชื่อว่าทุกภาคส่วนย่อมอยากให้เกิดผลลัพธ์อันดีต่อประเทศ...

'ไทย' ไปต่อ!! เตรียมส่งดาวเทียมแนคแซท 2 สู่อวกาศต้นปี 67 มุ่งภารกิจเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันอุตสาหกรรมอวกาศ

เมื่อวานนี้ (11 ต.ค. 66) ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) จัดงานแถลงข่าวพิธีส่งดาวเทียมแนคแซท 2 (KNACKSAT-2) ซึ่งเป็นโครงการดาวเทียมคิวบ์แซท (CubeSat) ขนาด 3U (30 x 10 x 10 ซม.) พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มีรูปแบบเป็น Ride Sharing Platform หรือการแชร์พื้นที่ใช้สอยบนดาวเทียมร่วมกัน

โดยดาวเทียม KNACKSAT-2 มีพื้นที่ในการบรรจุเพย์โหลด (Mission Payload) หรืออุปกรณ์เพื่อปฏิบัติภารกิจถึง 7 ระบบ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ที่ต้องการใช้ประโยชน์จากห้วงอวกาศให้สามารถเข้าถึงอวกาศได้ง่ายขึ้น โดยใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ

โครงการนี้ได้รับการจัดสรรทุนจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และมีบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด เป็นผู้ร่วมทุนในการวิจัยและพัฒนาระบบ IoT เป็นหนึ่งความสำเร็จจากความร่วมมือของหลายภาคส่วน ซึ่งนอกจากใช้ประโยชน์ในภาคการศึกษาพัฒนาบุคลากรและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศแล้ว KNACKSAT-2 ยังสามารถขยายไปสู่เชิงพาณิชย์ สร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับธุรกิจในการก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมอวกาศ

โดย มจพ. มีกำหนดนำดาวเทียม KNACKSAT-2 ออกจากประเทศไทยในเดือนตุลาคม 2566 เพื่อเตรียมความพร้อมในการนำส่งเข้าสู่วงโคจรจากสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ช่วงต้นปี 2567 โดยความร่วมมือระหว่าง มจพ. บริษัท NBSPACE มหาวิทยาลัย Kyushu Institute of Technology (KYUTECH) และ องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA)

‘วุฒิพงศ์’ สส.ก้าวไกล แจงปมแชตคุกคามสาวเป็นเรื่องเก่า ก่อนรับตำแหน่ง เชื่อ!! ถูกกลุ่มคนไม่หวังดีดิสเครดิต เพราะตนกำลังตรวจสอบทุจริตในพื้นที่

เมื่อวานนี้ (11 ต.ค. 66) นายวุฒิพงศ์ ทองเหลา สส.ปราจีนบุรี พรรคก้าวไกล ได้โพสต์คลิปชี้แจงกรณีถูกกล่าวหาแชตคุกคามสาว โดยระบุว่า

ที่ผ่านมาก้าวไกลได้ตั้งคณะกรรมการทางวินัยสอบกรณีนี้แล้ว เพื่อสืบหาที่มาที่ไปของเป้าประสงค์ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ตั้งแต่การเลือกตั้งสิ้นสุดลงกลางเดือน พ.ค. ผ่านมา 5 เดือนแล้ว มีกลุ่มคนในปราจีนฯ ตั้งตัวเป็นนักร้องเพื่อตรวจสอบผม ตลอดระยะเวลา 5 เดือนที่ผ่านมา พวกเขาพยายามดิสเครดิตทำลายชื่อเสียงของพรรคก้าวไกลและของผม เพื่อปิดบังเรื่องราวที่ผมกำลังตรวจสอบในจังหวัดขณะนี้

จากข่าวที่ปรากฎมา นับเป็นเรื่องที่สาม ที่บุคคลกลุ่มนี้พยายามขุดคุ้ยข้อมูลเพื่อสร้างประเด็นในการร้องเรียน และสร้างประเด็นในการแชร์ให้ปรากฎในโซเชียลฯ เป็นการแคปภาพเฉพาะบางส่วนมาเสนอต่อสาธารณชน

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ขอยืนยันว่าผ่านมา 1 ปีครึ่งแล้ว สำหรับภาพที่แคปมาเผยแพร่ ตั้งแต่ผมยังไม่ได้เป็น สส.

ซึ่งเป็นที่ชัดเจนของผู้ที่นำข้อมูลต่อสาธารณะ ว่าพวกเขาต้องการดิสเครดิตการทำงานของผม และมีเป้าหมายบางประการอย่างชัดเจน

กระผมขอเรียนต่อชาวปราจีนบุรีและสมาชิกพรรคก้าวไกลทุกท่านว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ทำให้ผมท้อถอยในการทำงานแต่ประการใด ในทางตรงกันข้ามกลับทำให้ผมยิ่งต้องการตรวจสอบในจังหวัด โดยเฉพาะเรื่องการเรียกรับผลประโยชน์โดยใช้ตำแหน่ง โดยเฉพาะเรื่องของมลพิษในพื้นที่ศรีมหาโพธิ

สุดท้ายผมขอให้ทุกท่านมั่นใจในการทำงานของผมว่าจะเป็นประโยชน์ต่อชาวปราจีนฯ และจังหวัดปราจีนบุรี

‘2 นักศึกษาสาว’ สงสาร ‘คุณยาย’ ปั่นจักรยานเก่า-ท่าทางเหนื่อยล้า อาสาไปส่งบ้าน ก่อนพบความจริงแล้วอึ้ง เมื่อเจอประธานบริษัทตัวจริง

(12 ต.ค. 66) คลิปไวรัลที่มีคนเข้าไปแห่ดูคลิปและแสดงความคิดเห็นกันจำนวนมาก เมื่อผู้ใช้ TikTok @kikida29 นักศึกษาพยาบาลศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด โพสต์คลิปวิดีโอถูกช็อตฟีลหนักมาก พร้อมระบุข้อความว่า “เมื่อยาย ทำเราอึ้ง”

โดยคลิปดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ที่เจ้าของคลิปกับเพื่อนที่เป็นนักศึกษาพยาบาล ลงพื้นที่ชุมชนใน จ.ร้อยเอ็ด เพื่อสอบถามข้อมูลด้านสุขภาพของคนในชุมชน แล้วได้ไปเจอคุณยายกับจักรยานคันเก่า สังเกตเห็นคุณยายเดินเข็นจักรยานพร้อมกระสอบข้าวสาร ท่าทางมีอาการเหนื่อยล้า เกิดความสงสาร จึงเข้าไปสอบถามและให้การช่วยเหลือ

กระทั่งไปถึงบริเวณหน้าบ้านหลังใหญ่ ทำเอาอึ้งไปเลยกับบ้านที่เห็นหลังใหญ่มากยังไม่พอ ยังมีพื้นที่มีบริเวณกว้างขวางอีกด้วย เจ้าของโพสต์จึงถามว่าบ้านใคร ยายหันมาตอบว่า บ้านยายนี่แหละ ทำเอาเจ้าของโพสต์ถึงกับร้องอุทานออกมาว่า “เอ้า” น้ำเสียงอารมณ์ช็อตฟีลสุดๆ อารมณ์ประมาณเจอท่านประธานบริษัทตัวจริง เรียกว่า ผ้าขี้ริ้วห่อทองกันเลยทีเดียว

ขณะที่มีชาวเน็ตได้ดูคลิปก็ต่างช็อตฟีลไปตามๆ กัน เข้าไปคอมเมนต์สนั่น อาทิ จริงๆ แล้ว ยายคือประธานบริษัท, จริงๆ แล้วยายคือประธานบริษัทปลอมตัวมา, เอ้าาาเสียงคือสิ้นหวัง555, ยิ่งกว่าในละครสั้น, ยายทดสอบสังคม, เขาเรียกผ้าขี้ริ้วห่อทองของแท้, แปลกๆ ตั้งแต่เอาผ้าแพรไหมเช็ดน้ำหมากแล้ว555 เป็นต้น

ขณะที่ผู้ใช้ติ๊กต็อกรายหนึ่งแสดงตัวว่าเป็นหลานของยายคนดังกล่าว เข้ามาคอมเมนต์ด้วยว่า “ย่าเราเองค่ะ ชอบปั่นจักรยานทุกวันค่ะ” ซึ่งก็มีคนมาแซว อาทิ ย่าดังแล้วปอน55555, ยายเพิ่ลจำหลานเขยอย่างอ้ายได้บ่น้อ เป็นต้น


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top