Tuesday, 8 July 2025
TheStatesTimes

ยอดขายรถยนต์แบรนด์จีนทั่วโลก มากกว่าแบรนด์สหรัฐฯ แล้ว แม้ตลาดภายในประเทศจีน จะลดความร้อนแรงลงไปบ้างก็ตาม

(21 มิ.ย.67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีนขายรถยนต์ทั่วโลกได้มากกว่าบรรดาผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติสหรัฐฯ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ อ้างอิงจากรายงานที่เผยแพร่โดยบริษัทวิจัยตลาด JATO Dynamics 

จากข้อมูลพบว่า แบรนด์ต่าง ๆ ของจีน ที่นำโดยบีวายดี ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในเซินเจิ้น ขายรถยนต์ใหม่ได้ 13.43 ล้านคันในปีที่แล้ว ส่วนแบรนด์ต่าง ๆ ของสหรัฐฯ ขายรถยนต์ได้รวมกันราว 11.93 ล้านคัน อย่างไรก็ตามแบรนด์รถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นยังคงอยู่ในสถานะที่แข็งแกร่ง รักษาความเป็นผู้นำได้อย่างเหนียวแน่น ด้วยยอดขายทั่วโลก 23.59 ล้านคัน

ทั้งนี้ รายงานยังพบด้วยว่ายอดขายรถยนต์ของบรรดาบริษัทจีนมีอัตราการเติบโตมากกว่าแบรนด์สัญชาติสหรัฐฯ โดยมียอดขายเพิ่มขึ้น 23% จากหนึ่งปีก่อนหน้า ส่วนเหล่าบริษัทสัญชาติสหรัฐฯ มียอดขายเติบโตเพียง 9%

เฟลิเป มูนอซ นักวิเคราะห์อาวุโสของ JATO กล่าวว่า “ความประมาทเลินเล่อของค่ายรถยนต์เก่าแก่ ผลก็คือราคารถยนต์ยังอยู่ในระดับสูงมาอย่างต่อเนื่อง ได้ผลักพวกผู้บริโภคหันเข้าหารถยนต์ทางเลือกค่ายจีนที่เข้าถึงได้ง่ายกว่า โดยไม่ได้ตั้งใจ ในขณะที่ราคารถยนต์ยังคงเพิ่มขึ้นในทุก ๆ แห่ง แบรนด์รถยนต์จีนใช้ประโยชน์จากแนวโน้มนี้ในการเข้าถึงเสียงตอบรับของตลาดในอัตราที่รวดเร็วอย่างมาก”

รายงานของ JATO พบว่าแบรนด์รถยนต์สัญชาติจีนมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเกือบทั่วทุกภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นตะวันออกกลาง ยูเรเชีย และแอฟริกา และมีทีท่าเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ในลาตินอเมริกา
และเอเชีย นอกจากนี้ แบรนด์รถยนต์จีนยังมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว อย่างยุโรป ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอิสราเอล

อ้างอิงรายงานของ JATO พบว่า Qin รถคอมแพกต์ซีดานของบีวายดี เป็นรถจีนรุ่นที่ได้รับความนิยมมากที่สุด แม้ตลาดภายในจีน ยอดขายรถยนต์จะส่งสัญญาณลดความร้อนแรงลงไป แต่บรรดาผู้ผลิตของประเทศแห่งนี้กำลังค้นหาแหล่งบ่อเกิดแห่งการเติบโตในต่างแดนมาทดแทน

รายงานยังระบุอีกว่า สาเหตุที่แบรนด์รถยนต์จีนประสบความสำเร็จในด้านยอดขายในบรรดาชาติเศรษฐกิจเกิดใหม่ สืบเนื่องจากนโยบายที่เข้าถึงได้ง่าย การปรับลดอุปสรรคทางการค้า และความอ่อนไหวต่อราคาของบรรดาผู้บริโภค

'คิม จองอึน' มอบสุนัขประจำชาติ 'พุงซาน' เป็นของขวัญให้ 'ปูติน' หลังการลงนามข้อตกลงหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างกว้างขวาง

(21 มิ.ย. 67) สำนักข่าวกลางเกาหลี ของทางการเกาหลีเหนือรายงานว่า คิม จอง อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือได้มอบสุนัขพันธุ์ 'พุงซาน' (Pungsan) ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในสมบัติชาติของเกาหลีเหนือ และเป็นสุนัขล่าสัตว์ที่มีความจงรักภักดีและเฉลียวฉลาด ให้เป็นของขวัญแก่ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายประชุมสุดยอดร่วมกันที่กรุงเปียงยาง

โดยทางสำนักข่าวยอนฮับ รายงานเพิ่มเติมว่า คิม จอง อึน มอบสุนัขให้กับนายปูติน ในระหว่างที่ทั้งสองเดินเล่นในสวนของบ้านพักรับรองคึมซูซัน หลังจากลงนามในข้อตกลงส่งเสริมความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างกว้างขวาง ขณะที่ด้านสำนักข่าวกลางเกาหลี รายงานว่า คิมมอบสุนัขประจำชาติ 1 คู่ให้กับปูติน ซึ่งผู้นำรัสเซียได้กล่าวแสดงความขอบคุณ

ทั้งนี้ หากย้อนไปเมื่อปี 2018 ‘คิม จอง อึน’ เคยส่ง สุนัขพุงซานให้ ‘มุน แจ อิน’ ประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนก่อน และในปี 2000 ก็เคยมอบลูกสุนัขพันธุ์พุงซานแด่ ‘คิม แด จอง’ อดีตประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ เช่นกัน

อย่างไรก็ตามในปี 2022 อดีตประธานาธิบดีมุน ก็จำต้องทิ้งสุนัขทั้ง 2 ตัว ที่ชื่อ ซองคังและโกมิ โดยอ้างว่า ขาดการสนับสนุนทางการเงินสำหรับการเลี้ยงดูสุนัขจากรัฐบาลชุดปัจจุบันของประธานาธิบดี ยุน ซอก ยอล ทำให้สุนัขทั้ง 2 ตัว ต้องย้ายไปอยู่ที่สวนสัตว์ในเมืองกวางจู หลังจากไปพักชั่วคราวที่โรงพยาบาลสัตว์ในเมืองแทจู และถูกดูแลต่อในฐานะสัญลักษณ์ของสันติภาพ การปรองดอง และความร่วมมือระหว่างเกาหลีใต้และเกาหลีเหนือ

โฆษก สธ. เผย อีก 42 จังหวัดลงประกาศราชกิจจา อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อม ให้บริการตามนโยบาย '30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว' หลังนำร่องไปแล้ว 4 จังหวัด

นางสาวตรีชฎา ศรีธาดา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ฝ่ายการเมือง กล่าวว่า การขับเคลื่อนให้บริการตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว หลังจากนำร่องไปแล้วเฟสแรก 4 จังหวัดและคิกออฟไปแล้วเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2567 และเฟสสอง เฟสสามตามลำดับ ยังต้องใช้เวลาในการเตรียมการอยู่อีกหลายพื้นที่ ซึ่งเป็นไปตามแผนการขับเคลื่อนของรัฐบาลที่ได้แบ่งจังหวัดในการเริ่มนโนบายเป็น 4 ระยะ โดยขณะนี้เป็นการเตรียมความพร้อมดำเนินการระยะที่ 4 ใน ซึ่งนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ จะครอบคลุมทั้งประเทศภายในปี 2567 ตามที่รัฐบาลประกาศไว้ 

“การขับเคลื่อนที่ได้มีการประกาศราชกิจจานุเบกษาฯ นั้น การเริ่มให้บริการขึ้นอยู่กับความพร้อมแต่ละจังหวัด ซึ่งจะมีการประกาศให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบอีกครั้ง แต่ทั้งนี้จะเป็นไปตามแผนที่รัฐบาลวางไว้ คือจะครอบคลุมทั้งประเทศภายในปีนี้ สำหรับในส่วนของพื้นที่ กทม. นั้น ด้วยเป็นพื้นที่มีประชาชนอาศัยหนาแน่ รวมถึงจำนวนหน่วยบริการที่มีจำกัด ไม่มีเพียงพอ ดังนั้นการขับเคลื่อนนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ใน กทม. จึงกำหนดเป็นนโยบาย“บัตรประชาชนใบเดียว ไปปฐมภูมิได้ทุกแห่ง” ที่ประชาชนเมื่อเกิดอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยให้เริ่มต้นไปรับบริการที่หน่วยนวัตกรรมบริการสาธารณสุขที่สะดวกก่อน แต่หากไม่ดีขึ้นก็ให้เข้ารับบริการที่หน่วยบริการประจำของท่าน แต่หากเกิดขีดความสามารถในการดูแลโดยหน่วยบริการประจำ ก็จะมีระบบส่งต่อไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลที่มีศักยภาพต่อไป โดยประชาชนสามาถสังเกตป้ายคลินิกปฐมภูมิ 7 วิชาชีพได้แก่ คลินิกเวชกรรมชุมชนอบอุ่น คลินิกทันตแพทย์ชุมชนอบอุ่น คลินิกเทคนิคการแพทย์ชุมชนอบอุ่น คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่นคลินิกแพทย์แผนไทยชุมชนอบอุ่น คลินิกกายภาพชุมชนอบอุ่นและร้านยา

ขณะนี้ สปสช.เขต 13 กทม. ได้ร่วมมือกับสภาวิชาชีพทางการแพทย์ ในการเชิญชวนสถานพยาบาล คลินิกเอกชน และร้านยา เข้ามาร่วมเป็นหน่วยบริการในระบบเพื่อให้บริการประชาชนตามนโยบาย โดยจากข้อมูล ล่าสุดมีหน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยนวัตกรรมบริการสาธารณสุขใน กทม. จำนวน 1,135 แห่งแล้ว ประกอบด้วย คลินิกชุมชนอบอุ่น 134 แห่ง คลินิกเทคนิคการแพทย์ชุมชนอบอุ่น 38 แห่ง คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น 89 แห่ง คลินิกกายภาพบำบัดชุมชนอบอุ่น 20 แห่ง คลินิกแพทย์แผนไทยชุมชนอบอุ่น 12 แห่ง ร้านยาชุมชนอบอุ่น 830 แห่ง และคลินิกการพยาบาลชุมชนอบอุ่น 13 แห่ง โดยประชาชนในต่างจังหวัดสามารถเข้าไปดูรายละเอียดหน่วยบริการเอกชนได้ที่ลิ้งค์ของสปสช. https://www.nhso.go.th/page/Innovative-services-pilot-provinces 

“สปสช.เขต 13 กทม. อยู่ระหว่างการประชาสัมพันธ์และเชิญชวนให้สถานพยาบาล คลินิกเอกชน และร้านยา ที่กระจายอยู่ในเขตต่างๆ มาร่วมสมัครเพื่อให้บริการตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ กับ สปสช. ซึ่งทันทีที่ได้จำนวนตามเป้าหมายแล้ว จะมีการเปิดตัวการให้บริการตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ให้ประชาชนรับทราบต่อไป” โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าว

‘เอ็มเคสุกี้’ ออกแถลงการณ์ ปมลูกค้าแพ้อาหารจนต้องแอดมิต เข้าเยี่ยม-ติดตามอาการใกล้ชิด พร้อมรับผิดชอบค่ารักษาทั้งหมด

(21 มิ.ย. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งได้โพสต์ลงในกลุ่ม 'พวกเราคือผู้บริโภค' เผยว่าได้พาครอบครัวไปรับประทานสุกี้เจ้าดังแห่งหนึ่ง ซึ่งทางครอบครัวรับประทานกันเป็นประจำ โดยเมนูสั่งมาคือ ‘ลูกชิ้นปู’ กับ ‘หมูทรงเครื่อง’ เมื่อรับประทานไปได้สักระยะลูกชายเริ่มมีอาการไอและอาเจียน พูดไม่มีเสียง ตนจึงรีบเช็กบิลและพาลูกส่งรพ.เอกชนที่ใกล้เคียงที่สุด เมื่อมาถึงหมอแจ้งว่าดีนะที่มาไว หากช้ากว่านี้สัก 2-3 นาทีลูกชายอาจจะหายใจเองไม่ได้แน่ เพราะว่าตอนที่มาถึงหลอดลมตีบมาก แต่หมอและพยาบาลได้ช่วยจนได้พ้นขีดอันตราย

ล่าสุด MK Restaurants บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้ออกหนังสือชี้แจงระบุว่า…

“เรื่อง ชี้แจงความคืบหน้ากรณีลูกค้าแพ้อาหารในร้านอาหาร MK Restaurants”

“จากกรณีลูกค้าแพ้อาหารที่เกิดขึ้น ทางบริษัทรู้สึกเสียใจเป็นอย่างยิ่งกับเหตุการณ์ครั้งนี้ หากทราบข้อมูลการแพ้อาหารก่อนรับประทาน ทางบริษัทสามารถตรวจสอบส่วนผสมในอาหารทุกรายการอย่างละเอียด และให้ข้อมูลกับลูกค้าก่อนสั่งอาหารได้”

“ทั้งนี้ ทางบริษัทไม่ได้นิ่งนอนใจและได้ดำเนินการติดตามอาการของลูกค้าตั้งแต่ขณะรับประทานที่ร้าน จนถึงโรงพยาบาล เข้าเยี่ยมติดตามอาการด้วยกระเช้าดอกไม้และมื้ออาหารสำหรับผู้ปกครองเฝ้าไข้ และดูแลลูกค้าตั้งแต่เกิดเหตุการณ์อย่างเต็มที่ โดยทางร้านได้ติดต่อกับลูกค้าเพื่อช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว” 

“ในส่วนของมาตรการของบริษัทในการป้องกันการแพ้อาหารของลูกค้า ทางบริษัทได้มีการจัดกลุ่มการแพ้อาหารกลุ่มหลัก โดยระบุข้อมูลในรายการอาหารทั้งหมด พร้อมคำแนะนำในเมนู หากลูกค้าแพ้อาหารชนิดใดสามารถแจ้งพนักงานเพื่อตรวจสอบส่วนผสมในรายการอาหารที่ลูกค้าต้องการสั่งได้ อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทางบริษัทตั้งใจที่จะปรับปรุงมาตรการให้ดีขึ้นเพื่อดูแลลูกค้าอย่างดีต่อไป”

‘ลิซ่า’ ปล่อยภาพโปสเตอร์ ‘Rockstar’ ก่อนฟังเต็มๆ 28 มิ.ย.นี้ ‘ความเท่-เก๋-แซ่บ’ ทำยอดไลก์พุ่งกระฉูด ภายใน 16 ชั่วโมง

(21 มิ.ย.67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศิลปินระดับโลก ‘ลิซ่า ลลิษา มโนบาล’ หรือ ‘ลิซ่า BLACKPINK’ จัดเซอร์ไพรส์อย่างยิ่งใหญ่ให้แฟน ๆ ได้หวีดกันอย่างสมใจ ที่ล่าสุดทางต้นสังกัด LLoud และ ลิซ่า ก็ได้ออกมาปล่อยภาพโปสเตอร์ทีเซอร์โซโล่เพลงเดี่ยว ‘Rockstar’ ในฐานะศิลปินเดี่ยวที่จะปล่อยออกมาอย่างเป็นทางการในวันที่ 28 มิ.ย. 2567 ตามเวลาไทย

โดยโปสเตอร์ที่ลิซ่าปล่อยออกมานั้น เรียกได้ว่าทำถึงมาก กับลีลาการโพสต์ที่มีทั้งความเท่ ความเก๋ และความแซ่บ สลัดภาพความเป็นศิลปิน K-Pop ได้อย่างไม่หลงเหลือ ซึ่งภายหลังจากที่ลิซ่าได้โพสต์ภาพดังกล่าวลงในอินสตาแกรม แฟน ๆ ก็เข้ามากดไลก์กันอย่างถล่มทลาย ซึ่งปัจจุบันยอดไลก์อยู่ที่ 5.2 ล้าน ภายในเวลาเพียงแค่ 16 ชั่วโมง

‘บ.ผลิตรถชื่อดัง นิคมแหลมฉบัง’ ปลดพนง.ซับยกล็อต ทำงานวันสุดท้าย 22 มิ.ย.นี้ ทั้งที่ช่วงปีใหม่เพิ่งรับคน

(21 มิ.ย.67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัทผลิตรถยนต์รายใหญ่ของไทย นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง สั่งปลดพนักงานซับทั้งหมดอย่างกะทันหัน หลังจากมีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง โพสต์บอกเล่าเรื่องราวลงในกลุ่ม ‘A1หางาน อีสเทิร์นฯ เหมราช ปลวกแดง บ่อวิน อมตะซิตี้ V.2’ โดยในเนื้อความระบุว่า... 

“ วันที่ 22 มิถุนายน 2567 นี้ ทำงานวันสุดท้าย ที่บริษัท… มอเตอร์ส นิคมแหลมฉบัง ประกาศเตรียมปลดพนักงานซับทั้งหมด เลิกจ้างกะทันหัน ขอเป็นกำลังใจให้พนักงานซับทุกคน สู้ ๆ กันต่อไปนะครับ ”

หลังจากโพสต์ดังกล่าวเผยแพร่ออกไป มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นและให้กำลังใจเป็นจำนวนมาก และบางรายก็คอมเมนต์ด้วยว่า “ได้ยินว่าไม่ใช่แค่แหลมฉบังหรอกครับที่จะปลด ในสยามก็จะปลดครับ, เห็นรับคนช่วงหลังปีใหม่มาไม่นานนี้เองปลดซะแล้ว, ฯลฯ ”

29 มิถุนายน พ.ศ. 2424 วันประสูติ ‘สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ฯ’ พระบิดาแห่งเพลงไทยเดิม ต้นสำเนาตำนาน 'โหมโรง'

จอมพล จอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 36 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 กับสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ทรงประสูติเมื่อวันพุธ ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 8 ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2424 โดยพระองค์ทรงมีพระนามลำลองว่า ‘ทูลกระหม่อมชาย’ หรือ ‘ทูลกระหม่อมบริพัตร’ เป็นอดีต​ผู้บัญชาการกรมทหารเรือ อดีตเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ อดีตเสนาธิการทหารบก อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม อดีตเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย อดีตผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร เป็นอดีต​องคมนตรีตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงมีพระปรีชาสามารถในงานดนตรี ทรงได้รับการขนานพระนามเป็น ‘พระบิดาแห่งเพลงไทยเดิม’ ทรงพระนิพนธ์เพลงไทย เพลงฝรั่ง และเพลงไทยเดิมไว้มากมาย อย่างเช่น วอทซ์ปลื้มจิต, วอทซ์ชุมพล, สุดเสนาะ, เพลงมหาฤกษ์, เพลงพญาโศก และพระองค์ยังทรงเป็นต้นสำเนาตำนานของเพลง ‘โหมโรง’ อีกด้วย

อีกทั้ง พระองค์ได้ทรงบุกเบิกและวางรากฐานความเจริญในด้านต่าง ๆ ให้แก่ กองทัพเรือ เป็นอันมาก อาทิ…

- จัดระเบียบราชการในกองทัพเรือให้รัดกุม
- จัดทำข้อบังคับทหารเรือว่าด้วยหน้าที่ราชการในเรือหลวง
- วางรากฐานการจัดระเบียบการเรียนการสอนในโรงเรียนนายเรือใหม่
- ขยายและปรับปรุงอู่หลวง
- วางรากฐานกองดุริยางค์ทหารเรือ
- จัดทำโครงสร้างกำลังทางเรือ
- เสริมสร้างแสนยานุภาพของกองทัพเรือ โดยทรงสั่งซื้อเรือรบจากต่างประเทศเข้าประจำในกองทัพเรือ เป็นจำนวนมาก อาทิ เรือพระที่นั่งมหาจักรี (ลำที่ 2) เรือเสือทะยานชล เรือเสือคำรณสินธุ์
- สนับสนุนการก่อตั้งราชนาวิกสภา
- กำหนดรูปแบบริ้วกระบวนเรือพระราชพิธี ปรับปรุงการเห่เรือและการสร้างเรือพระราชพิธีขึ้นใหม่
- กำหนดระยะเวลาและวิธีรับคนเข้ารับราชการในกรมทหารเรือ
- วางแบบแผนการยิงสลุต
- กำหนดเครื่องแต่งกายทหารเรือ
- จัดให้มีพระธรรมนูญศาลทหารและกรมพระธรรมนูญทหารเรือ
- ปรับปรุงการสหโภชน์ และก่อตั้งโรงเรียนสูทกรรม
- ตั้งคลังแสงทหารเรือ
- ปรับปรุงการแพทย์ทหารเรือ
- ทำการสำรวจและจัดทำแผนที่น่านน้ำสยามขึ้นใหม่ โดยกองแผนที่ทะเลซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็นกรมอุทกศาสตร์ ขณะทรงรับราชการในกองทัพเรือ

อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ. 2567 ได้มีการสร้างแอนิเมชันเรื่อง ๒๔๗๕ รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ โดยมีตัวละคร สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต พากย์เสียงโดย จิราวัฒน์ วชิรศรัณย์ภัทร อีกด้วย

1 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 ‘ในหลวง ร.6’ ทรงสถาปนากิจการ ‘ลูกเสือไทย’ พร้อมพระราชทานคติพจน์ ‘เสียชีพ อย่าเสียสัตย์’

ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชทานกำเนิดเสือป่าได้ 2 เดือน ซึ่งในระยะเวลานั้นกิจการเสือป่าได้ดำเนินไปอย่างเป็นที่พอพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง เห็นได้จากการเพิ่มจำนวนสมาชิกของเสือป่าที่มากขึ้น และกิจการเสือป่าถูกจำแนกออกไปเป็นกองเสือป่าประเภทต่าง ๆ อีกมาก แม้จะทรงพอพระราชหฤทัยเพียงใด พระองค์ก็ไม่เคยที่จะยุติในพระราชดำริที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ด้วยพระองค์ทรงเห็นว่ากิจการเสือป่านั้นแม้จะประสบผลสำเร็จเพียงใด แต่สมาชิกนั้นเป็นผู้ใหญ่แต่ฝ่ายเดียว ทั้ง ๆ ที่บ้านเมืองนั้นประกอบด้วยพลเมืองหลายช่วงวัย เด็กผู้ชายทั้งหลายก็เป็นผู้ที่สมควรจะได้รับการฝึกฝน และปลูกฝังอุดมการณ์ความรักชาติไปพร้อม ๆ กับการฝึกฝนให้มีความรู้ และทักษะในทางเสือป่าด้วย เพื่อว่าในอนาคตเมื่อเติบโตขึ้นจะได้ประพฤติตัวให้เป็นประโยชน์แก่บ้านเกิดเมืองนอน

ดังนั้นในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงพระราชทานกำเนิดกิจการเสือป่าสำหรับเด็กชาย ที่ทรงพระราชทานชื่อว่า ‘ลูกเสือ’

ในกิจการนี้พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ที่ให้เด็กชายจดจำหลักสำคัญ 3 ประการคือ 

1. ความจงรักภักดีต่อผู้ทรงดำรงรัฐสีมาอาณาจักร โดยต้องตามนิติธรรมประเพณี 
2. ความรักชาติบ้านเมือง และนับถือพระศาสนา 
3. ความสามัคคีในคณะ และไม่ทำลายซึ่งกันและกัน

ทั้งนี้ การก่อตั้งกิจการลูกเสือในครั้งแรกนั้น พระองค์ทรงตั้งกองลูกเสือให้มีในโรงเรียนก่อน และกองลูกเสือกองแรกของสยามประเทศคือ ‘กองลูกเสือโรงเรียนมหาดเล็กหลวง’ หรือ ‘โรงเรียนวชิราวุธ’ ในปัจจุบันและถูกเรียกว่ากองลูกเสือหลวง หรือกองลูกเสือกรุงเทพที่ 1 และลูกเสือในโรงเรียนนี้ก็ถูกเรียกว่าลูกเสือหลวงเช่นกัน ก่อนที่กิจการลูกเสือจะขยายไปสู่โรงเรียนเด็กชายทั่วประเทศในเวลาไม่นาน โดยลูกเสือคนแรก คือ นักเรียนโรงเรียนมหาดเล็กหลวงที่ชื่อ ชัพน์ บุนนาค การเป็นลูกเสือของนายชัพน์ บุนนาค นั้นเกิดจากการที่ได้แต่งเครื่องแบบลูกเสือ และกล่าวคำปฏิญาณของลูกเสือ ซึ่งเป็นการกล่าวต่อหน้าพระพักตร์ ซึ่งครั้งนั้นมีผู้ที่บันทึกเหตุการณ์เอาไว้ว่า…

ร.6 : “อ้ายชัพน์ ดอกหรือ เอ็งกล่าวคำสาบานของลูกเสือได้หรือเปล่า” 
ชัพน์ : “ข้าพระพุทธเจ้าท่องมาแล้วว่า 
        1. ข้าจะมีใจจงรักภักดีต่อพระเจ้าอยู่หัว 
        2. ข้าจะประพฤติตนให้สมควรเป็นลูกผู้ชาย 
        3. ข้าจะประพฤติตนตามข้อบังคับและแบบแผนของลูกเสือ” 
ร.6 : ในหน้าที่ซึ่งข้าได้เป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทลูกเสือของชาติขึ้นมา ข้าขอให้เจ้าเป็นลูกเสือคนแรก”

จากนั้นพระองค์ทรงมีพระราชดำรัสเพียงสั้น ๆ ว่า “อ้าย ชัพน์ เอ็งเป็นลูกเสือแล้ว" และแล้วกิจการลูกเสือ ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นมาอย่างสมบูรณ์แบบ

ต่อมาพระองค์ก็ทรงพระราชทานคติพจน์ให้กับลูกเสือ ที่ภายหลังลือลั่นไปทั่วทั้งแผ่นดินและเป็นที่กล่าวขาน รำลึก พูดสอนกันอย่างติดปากในสังคม อีกทั้งยังปรากฏอยู่บนเครื่องหมายสำคัญต่าง ๆ ของลูกเสือว่า ‘เสียชีพ อย่าเสียสัตย์’

สำหรับคำว่า ‘ลูกเสือ’ ที่พระองค์ทรงพระราชทานชื่อนั้น มีนัยว่าพระองค์ทรงเล่นล้อคำกับคำว่า ‘เสือป่า’ ที่บางครั้งทรงเรียกว่า ‘พ่อเสือ’ และเมื่อมีกิจการแบบเดียวกันที่มีเหล่าสมาชิกเป็นเด็กชาย พระองค์จึงทรงใช้คำว่าลูกเสือ แต่ภายหลังทรงพระราชนิพนธ์ถึงที่มาของชื่อลูกเสืออย่างเป็นทางการเอาไว้ว่า…

“ลูกเสือ บ่ ใช่สัตว์เสือไพร    เรายืมมาใช้ด้วยใจกล้าหาญปานกัน
ใจกล้ามิใช่กล้าอาธรรม์    เช่นเสืออรัญสัญชาติชนคนพาล
ใจกล้าต้องกล้าอย่างทหาร    กล้ากอปรกิจการแก่ชาติประเทศเขตคน"

เป็นเวลา 6-7 เดือน หลังจากที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานกำเนิดลูกเสือในสยามประเทศ หากย้อนกลับไปที่ประเทศอังกฤษที่เป็นต้นกำเนิดกิจการลูกเสือโลกขณะนั้น ก็กำลังคึกคักและแพร่ขยายความนิยมไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วเกาะอังกฤษ เด็ก ๆ รวมไปถึงผู้ใหญ่ต่างให้ความสนใจในกิจการนี้มาก โดยนายซิดนีย์ ริชเชส ซึ่งอดีตเคยเป็นครูสอนศาสนาวันอาทิตย์ เป็นผู้หนึ่งที่สนใจกิจการลูกเสือ และได้เข้ารับตำแหน่งเป็นผู้กำกับกองลูกเสือที่ 8 แห่งลอนดอนตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งครั้งหนึ่งบิดาของเขาได้เคยทำงานอยู่ในสถานกงศุลไทย ซึ่งภายหลังได้เป็นถึงกงศุลใหญ่ประจำสถานทูตไทย ณ กรุงลอนดอนนั้นมีความใกล้ชิดสนิทสนมกับ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งที่ยังทรงดำรงอิสริยยศเป็นมกุฎราชกุมาร สมัยที่ยังทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษ

และเมื่อความเจริญก้าวหน้าของกิจการลูกเสือในอังกฤษนั้น ควบคู่ไปกับการเจริญก้าวหน้าของกิจการลูกเสือแห่งสยามประเทศ ข่าวคราวของกิจการลูกเสือแห่งสยามประเทศ ก็แพร่กระจายเข้าสู่เกาะอังกฤษอย่างรวดเร็ว ซึ่งนายริชเชส เป็นผู้หนึ่งที่ได้รับทราบข่าวนั้น และประกอบกับความสัมพันธ์ของผู้เป็นบิดากับพระเจ้าแผ่นดินแห่งสยามประเทศ เขาจึงได้ทำหนังสือมากราบบังคมทูลอัญเชิญ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์กองลูกเสือที่เขาเป็นผู้กำกับอยู่ และขอพระบรมราชานุญาตให้ชื่อลูกเสือกองนี้ว่า ‘King of Siam ’s own boy scout group’ ซึ่งแปลว่า กองลูกเสือในพระเจ้ากรุงสยาม หรือ กองลูกเสือแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม หรือ กองลูกเสือรักษาพระองค์พระเจ้าแผ่นดินสยาม โดยมีชื่อย่อว่า K.S.O.

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชกรุณาโปรดเกล้าให้จัดตั้งกองลูกเสือแห่งชาติขึ้นเพียง 5 เดือนเท่านั้น ก็ปรากฎว่า มีกองลูกเสือทั่วราชอาณาจักรอยู่ถึง 61 กอง

การดำเนินกิจการลูกเสือทั่วทั้งโลกมักมีลักษณะที่เหมือนกันอย่างหนึ่งคือ เริ่มจากกิจการลูกเสือสำหรับเด็กชายก่อนที่จะเริ่มแพร่เข้าไปในหมู่เด็กหญิง และสำหรับกิจการลูกเสือในไทยก็เช่นกัน เมื่อถึงระยะเวลาอันควร พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงมีพระราชดำริที่จะให้สตรีและเด็กหญิงได้มีส่วนร่วมในกิจการลูกเสือ โดยทรงเห็นว่าสามารถที่จะเป็นกำลังให้กับชาติบ้านเมืองได้ แม้จะไม่ใช่กองกำลังหลักก็ตามที ดังนั้นจึงทรงตั้งกลุ่มสตรีขึ้นมากลุ่มหนึ่ง ซึ่งพระองค์เรียกว่าสมาชิกแม่เสือ ส่วนใหญ่เป็นบุตรและภรรยาเสือป่า โดยแม่เสือมีหน้าที่หลักในการจัดหาเสบียงและเวชภัณฑ์ให้กับกองเสือป่า ในขณะเดียวกันก็ทรงจัดตั้งกองลูกเสือสำหรับเด็กหญิง และพระราชทานชื่อว่า ‘เนตรนารี’ ซึ่งเนตรนารี กองแรก คือ กองเนตรนารี โรงเรียนกุลสตรีวังหลัง ต่อมาได้เป็นชื่อ ‘โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย’

ทั้งนี้ นางสาวหนุ่ย โชติกเสถียร 1 ในเนตรนารีกองแรก ได้เขียนถึงกิจกรรมสำหรับเนตรนารีในสมัยนั้น ไว้ว่า…

“ในปี พ.ศ. 2457 โรงเรียนกุลสตีรวังหลัง จัดตั้งกองเนตรนารีขึ้น และให้เราเป็นกลุ่มแรกที่รับการฝึกหัด ข้าพเจ้ายังจำและรู้สึกถึงความสนุกสนานของเวลานั้นได้จนบัดนี้ เราช่วยกันจัดข้าวของและห้องหลับ ห้องนอน ตลอดจนช่วยครัว ห้าโมงเย็นก็ลงมือรับประทานอาหาร สองทุ่มก็เข้านอนกันหมด เข้าเรียนเวลา สามโมงเช้า และเรียนกันตามใต้ร่มไม้ วิชาที่เรียนคือ…

1. วิชาพฤกษศาสตร์ เป็นวิชาที่พวกเราชอบมาก เพราะได้ลงมือเพาะเมล็ดพืช ผัก ดอกไม้ มันฝรั่งและหัวหอม

2. วิชาปฐมพยาบาล หัดช่วยคนเป็นลม วิธีพันผ้าพันแผล และเข้าเฝือก เราจับเด็กชาวนามาชำระล้างและพันแผลให้

3. วิธีทำกับข้าว หุงข้าว วิชานี้เป็นงานไปในตัว เพราะเราต้องผลัดเวรกันไปตลาดและทำกับข้าว เวลาบ่ายๆ เราต้องเรียนและฝึกซ้อมกฎของเนตรนาร คือพยายามหาความงามในทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนประพฤติ โดยมีความสุภาพอ่อนโยน อารีอารอบ ต้องพยายามหาความรู้เพื่อเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม และส่วนตัว อดทนในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม เวลาเรียกเข้าประชุมอาจารย์มักจะกู่ว่า โว วิลโล่ (คำที่ใช้เป็นเสียงร้องเรียก แทนการใช้สัญญาณนกหวีด) หลาย ๆ ครั้ง พวกเราก็รีบวิ่งมาทันที”

เชียงใหม่-สมาคมมัคคุเทศก์เชียงใหม่ จัดงานวัน”มัคคุเทศก์ไทย ประจำปี 2567”

วันที่ 21 มิถุนายน 2567 เวลา 9.00 น. ณ วิหารหลวง วัดสวนดอกพระอารามหลวง   สมาคมมัคคุเทศก์เชียงใหม่ จัดงานวันมัคคุเทศก์ไทย ประจำปี 2567  โดยมี นายสิทธิศักดิ์ อภิกุลชัยสุทธิ์ นายอำเภอเมืองเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธี นางพิกุล เรืองไชย นายกสมาคมมัคคุเทศก์เชียงใหม่ กล่าวรายงาน ถึงความสำคัญของวันมัคคุเทศก์ พร้อมด้วย รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ รองผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานจังหวัดเชียงใหม่ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ นายกสมาคมในภาคีเครือข่ายการท่องเที่ยวของเชียงใหม่ทุกสมาคม  มัคคุเทศก์ทุกๆภาษา และแขกผู้มีเกียรติร่วมงานเป็นจำนวนมาก

นายสิทธิศักดิ์ อภิกุลชัยสุทธิ์ นายอำเภอเมืองเชียงใหม่ กล่าวว่า "วันมัคคุเทศก์ไทย" ตรงกับวันที่ 21 มิถุนายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันประสูติของ พลเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โดยตลอดพระชนม์ชีพ ท่านทรงรับราชการ ประกอบพระกรณียกิจด้วยพระปรีชาสามารถ และด้วยความอุตสาหะ ได้ทรงเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระ จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระเชษฐา ได้ตรัสชมว่าทรงเป็นเสมือน "เพชรประดับพระมหาพิชัยมงกุฎ"พลเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นอัจฉริยะบุรุษ ทรงประกอบพระเกียรติคุณเป็นอันมาก 

ในด้านการศึกษา ทรงเป็นองค์ปฐมอธิบดีกรมศึกษาธิการ ในด้านการปกครอง ทรงเป็นองค์ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้บัญชาการทหารบก เป็นองคมนตรี อีกทั้งทรงพระปรีชาสามารถโดดเด่นใน ด้านการต่างประเทศ ด้านการสาธารณสุข ด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศิลปวัฒนธรรม ทรงได้รับพระสมัญญานามเป็น "พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทย" และ "พระบิดาแห่งมัคคุเทศก์ไทย" และที่น่าภาคภูมิใจอย่างที่สุดในนามปวงชนชาวไทย คือ พระองค์ได้รับการสดุดีจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และ วัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก และเป็นคนแรกของประเทศไทยที่ได้รับการยกย่องพระเกียรติระดับโลกนี้

การจัดงานในวันมัคคุเทศก์ไทยนี้ นับได้ว่าเป็นสิ่งที่ดี ที่ทางสมาคมมัคคุเทศก์เชียงใหม่ ซึ่งเป็นสมาคม มัคคุเทศก์ในประเทศไทย ที่มีความโดดเด่นในการจัดงานเพื่อรำลึกถึงท่านตลอดมา และจัดต่อเนื่องอย่างสมพระเกียรติตลอดทุกปี การจัดงานในวันนี้จึงเป็นการแสดงออกของสมาชิกมัคคุเทศก์จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีความกตัญญูรู้คุณ แสดงความรำลึกถึงองค์พระบิดาแห่งมัคคุเทศก์ไทย ผู้มีคุณูปการต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยที่ได้สร้างรายได้สำคัญให้กับประเทศ และประชาชนคนไทยหลายภาคส่วน

นางพิกุล เรืองไชย นายกสมาคมมัคคุเทศก์เชียงใหม่ กล่าวว่า ด้วยในวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ.2505 ครบรอบ 100 ปีชาตกาล องค์การยูเนสโก ได้ถวายสดุดีพระองค์เป็น บุคคลสำคัญของโลก และเป็นคนแรกของประเทศไทยที่ได้รับตำแหน่งนี้ ได้รับการขนานนามว่า "บิดาแห่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทย" นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังได้กำหนด วันที่ 1 ธันวาคม ของทุกปีเป็น "วันดำรงราชานุภาพ" และในปี พ.ศ.2549 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้ยกย่องพระองค์เป็น "พระบิดามัคคุเทศก์ไทย"

สมาคมมัคคุเทศก์เชียงใหม่ ได้เห็นความสำคัญในบทบาทของ มัคคุเทศก์ไทยซึ่งเป็นบุคลากรสำคัญในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ที่ทำรายได้หลักเข้าสู่ประเทศ จึงได้ดำเนินการจัดงานวันมัคคุเทศก์ไทย ต่อเนื่องทุกปี เป็นวาระและภารกิจสำคัญที่สมาคมมัคคุเทศก์เชียงใหม่ได้ตั้งปณิธานยึดมั่นในการดำเนินงาน และสานต่อสืบไป เพื่อตระหนักถึงความสำคัญแห่งพระบิดามัคคุเทศก์ไทย ผู้มีคุณปการต่อการท่องเที่ยวไทย และเป็นผู้มีอัจฉริยภาพมองการณ์ไกลในการค้นคว้าข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี ซึ่งมัคคุเทศก์ไทยได้ใช้ตำราของพระองค์ท่านเป็นข้อมูลบรรยายการนำเที่ยวมาถึงทุกวันนี้ 

เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงในพระกรุณาธิคุณแห่งองค์พระบิดามัคคุเทศก์ไทย พลเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ผู้มีคุณูปการต่อการประสิทธิ์ประสาทตำราวิชาความรู้ด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี และองค์ความรู้หลากหลายให้กับมัคคุเทศก์ไทย ซึ่งมัคุเทศก์ได้ศึกษาค้นคว้าเจริญรอยตามพระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่าน

การจัดกิจกรรมวันมัคคุเทศก์ เป็นการน้อมถวายความกตัญญต่อองค์บิดามัคคุเทศก์ไทยอย่างหาที่สุดมิได้ โดยในภาคเช้าเป็นส่วนของพิธีการ การวางพานพุ่ม พิธีสงฆ์และในภาคบ่ายเป็นการทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ในบริเวณวัดสวนดอก พระอารามหลวง กวาดลานวัด ทำความสะอาด บริเวณวัด ห้องน้ำ และจุดสำคัญอื่นๆอีกด้วย

พัฒนชัย/เชียงใหม่

“นวัตกรรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จากแล็บสู่ชีวิต Medical Sciences Innovations: From Lab to Life”

สิ้นสุดลงไปแล้วสำหรับงานงานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่ 32 ประจำปีงบประมาณพ.ศ. 2567 โดยนายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับมูลนิธิกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จัดขี้นโดยมีแนวคิดหลักคือ “นวัตกรรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จากแล็บสู่ชีวิต Medical Sciences Innovations: From Lab to Life” ในระหว่างวันที่ 5 - 7 มิถุนายน พ.ศ. 2567 ณ ศูนย์การประชุม อิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี 

ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงเป็นประธานเปิดการประชุม วิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่ 32 ประจำปีงบประมาณพ.ศ. 2567 และทรงพระราชทานพระดำรัสเปิดการประชุม พระราชทานโล่ที่ระลึก แก่นักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ดีเด่น นักวิทยาศาสตร์การแพทย์รุ่นใหม่ DMSc Award อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านดีเด่นด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน ระดับชาติ โดยมีคณะผู้บริหาร กระทรวงสาธารณสุข คณะผู้บริหารและบุคลากรกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ บุคลากรจากหน่วยงานด้านการแพทย์และสาธารณุสข รวมถึงคณะบุคคลจากหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมเฝ้ารับเสด็จฯ และร่วมพิธีเปิดการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์  ณ ศูนย์การประชุม อิมแพ็คฟอรั่มเมืองทองธานี วันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2567

เพื่อเป็นเวทีให้นักวิชาการด้านการแพทย์และสาธารณสุข เครือข่ายสุขภาพด้านต่างประเทศและเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ รวมถึงผู้ประกอบการที่เกี่ยวกับด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้นำเสนอผลงาน แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ตลอดจนความก้าวหน้าทางวิทยาการและเทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อจะได้ร่วมกันสร้างสรรค์งานวิชาการให้มีความก้าวหน้าและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศไทย

สำหรับกิจกรรมในงานประกอบด้วยการสัมมนาทางวิชาการ การเสวนาโดยวิทยากรจากชาวไทยและต่างประเทศ อาทิ เรื่องการเตรียมพร้อมรับมือกับการแพร่ระบาดการควบคุมการติดเชื้อ โดย ดร.โยชิฮารุ มัตสึอุระ ศูนย์การศึกษาและการวิจัยโรคติดเชื้อ (CiDER) สถาบันวิจัยโรคจุลินทรีย์ (RIMD)มหาวิทยาลัยโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ความหลากหลายของเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะในเอเชีย โดย ดร.ยูกิฮิโระ อาเคดะ ผู้อำนวยการภาควิชาแบคทีเรียวิทยา สถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติ ประเทศญี่ปุ่น

การใช้ CAR-T Cell ในการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือด โดย ศ.นพ.เจียนเซียง หวาง รองผู้อำนวยการสถาบันโลหิตวิทยา สถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์จีน, ผู้อำนวยการศูนย์มะเร็งเม็ดเลือดขาว โรงพยาบาลโรคเลือด,ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทางคลินิกแห่งชาติโลหิตวิทยา ประเทศจีน

การควบคุมกำกับการใช้ผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูงโมโนโคลนอลแอนติบอดีในการรักษาโรคไข้เลือดออก โดย ดร.เพ็ดดี เรดดี้ และ ดร.อนิรุธา โปเตย์ จากสถาบันเซรุ่มอินเดีย

นอกจากนี้ยังมีคณาจารย์จากโรงพยาบาลและมหาวิทยาลัย เช่น โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช,โรงพยาบาลราชวิถี,โรงพยาบาลรามาธิบดี, ศิริราชพยาบาล, มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ,มหาวิทยาลัยนเรศวร, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒที่จะมาบรรยายแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ด้านการรักษา การศึกษาวิจัย 

รวมทั้งยังมีภาคเอกชนมาร่วมแชร์ประสบการณ์ เช่น เรื่อง เถ้าแก้น้อย "วัยรุ่นพันธุ์แลปสู่นวัตกรรมพันล้าน" โดย ดร.วิสุทธิ์ วีระกุลพิริยะ จาก บริษัท เถ้าแก่น้อยฟู้ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) และยังมีหน่วยงานอื่นๆที่น่าสนใจอีกหลายหน่วยงาน
การนำเสนอและประกวดผลงานทางวิชาการ

ในงานมีการเปิดโอกาสให้นักวิจัยและนักวิชาการได้มีเวทีนำเสนอผลงานและแลกเปลี่ยนความรู้ ทั้งในรูปแบบบรรยายและโปสเตอร์โดยเฉพาะในปีนี้นอกจากงานวิชาการในเชิงลึกแล้ว มีการเปิดเวทีให้งานประเภท Routine to Research ที่มุ่งเน้นการศึกษาเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาในงานประจำ มาร่วมนำเสนอผลงานด้วย

การจัดงานครั้งนี้มีผลงานที่ส่งเข้าร่วม 426 เรื่องแบ่งเป็นการนำเสนอผลงานวิชาการ การนำเสนอด้วยวาจา 47 เรื่อง โปสเตอร์ 211 เรื่อง R2R 168 เรื่องและการนำเสนอผลงานทางวิชาการของผู้ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ดีเด่น และผู้ได้รับรางวัล DMSc award ตลอดจน อสม.วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชนระดับชาติ

การแสดงเทคโนโลยีทางการแพทย์ มีการจัดแสดงนิทรรศการนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อให้ที่ผู้สนใจเข้าร่วมงานได้เยี่ยมชมความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ในปัจจุบัน อาทิ
- บูทนิทรรศการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข แสดง  
  ผลงานดังนี้
* ด้านชันสูตรโรค แสดงการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการด้านโรคติดเชื้อโรคไม่ติดเชื้อและโรคทางพันธุกรรมในทุกช่วงวัยของคนไทย (เกิดจนตาย) ตลอดจนการวิจัยพัฒนาและการให้บริการที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง: Advanced therapeutic medicinal products
* ด้านคุ้มครองผู้บริโภค จัดแสดงการคุ้มครองผู้บริโภคใส่ใจทุกช่วงวัยของชีวิต
* ด้านสมุนไพร แสดงกระบวนการวิจัยพัฒนาและผลิตภัณฑ์สมุนไพร
* ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน แสดงงานวิทยาศาสาตร์การแพทย์ชุมชนจากแล็บสู่คุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจในชุมชน โดยการดำเนินการของ อสม.นักวิทย์และศูนย์แจ้งเตือนภัย รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการ OTOP/SME ด้านอาหารและเครื่องสำอางจากสมุนไพร

- นอกจากนี้ยังมีบูทจากเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการภาคเอกชนอื่นๆอีกกว่า 100 บูท อาทิองค์การเภสัชกรรม สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ หน่วยชีวสนเทศทางการแพทย์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับบริษัท Engine Life คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี สมาคมการค้าส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ เอส เอ็มอี ฯลฯ ที่จะมาจัดแสดงผลงานนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุข เทคโนโลยีการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการให้ความรู้และคำปรึกษาแก่ผู้ร่วมงาน

และในงานนี้ได้รับความสนใจจาก เจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนผู้ประกอบการ นักเรียน นักศึกษา ประชาชนเข้าร่วมงานและเยี่ยมชมนิทรรศการของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน และสำหรับในส่วยของเภสัชและนักเทคนิคการแพทย์สามารถเก็บสะสมคะแนนการศึกษาต่อเนื่องได้ ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่….
โทรศัพท์ : 0 29510000
เว็บไซต์ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ : www.dmsc.moph.go.th
FB : กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top