Tuesday, 8 April 2025
Thailand

ไทยรับอานิสงส์ Ricoh ย้ายฐานผลิตพริ้นเตอร์จากจีน เลี่ยงรบ.ทรัมป์ขึ้นภาษี 60% หากผลิตจากจีน

(26 พ.ย. 67) ริโก้ (Ricoh) บริษัทชั้นนำด้านอุปกรณ์สำนักงานจากญี่ปุ่น เตรียมย้ายการผลิตเครื่องพริ้นเตอร์มัลติฟังก์ชันจากโรงงานในเซี่ยงไฮ้และตงกวน ประเทศจีน มายังประเทศไทย เพื่อลดผลกระทบจากนโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนของรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 47 นายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่กำหนดอัตราภาษีใหม่สูงถึง 60%  

ปัจจุบัน สินค้าภายใต้แบรนด์ริโก้ที่จำหน่ายในตลาดสหรัฐฯ คิดเป็น 20% ของยอดขายทั่วโลก โดยริโก้มีโรงงานผลิตในไทยตั้งแต่ปี 2019 ซึ่งเป็นยุคแรกที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งก่อน  

ริโก้ยังวางแผนกระจายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นในอาเซียน เพื่อสนับสนุนความร่วมมือกับโตชิบา เทค  

ก่อนหน้านั้นช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ริโก้ประกาศแผนปลดพนักงานกว่า 2,000 คนทั่วโลก หรือราว 3% ของพนักงานทั้งหมด โดยในจำนวนนี้ 1,000 คนจะถูกปลดในญี่ปุ่น การปลดพนักงานครั้งนี้เน้นสายงานฝ่ายขายและซ่อมบำรุง คาดว่าจะเริ่มทยอยตั้งแต่วันนี้จนถึงมีนาคม 2025  

การปรับลดนี้เป็นส่วนหนึ่งของการปรับโครงสร้างธุรกิจ โดยลดขนาดธุรกิจเครื่องใช้สำนักงาน และมุ่งเน้นธุรกิจบริการดิจิทัล แม้จะมีค่าใช้จ่ายครั้งเดียว 112 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่คาดว่าจะช่วยให้ริโก้ทำกำไรเพิ่มขึ้น 9,000 ล้านเยนภายในปี 2026  

ตลาดเครื่องพิมพ์ยังเผชิญกับการชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง จากการลดการใช้กระดาษขององค์กร และการทำงานแบบยืดหยุ่น โดยยอดจัดส่งเครื่องพิมพ์และถ่ายเอกสารในปี 2023 อยู่ที่ 3.59 ล้านเครื่อง ลดลงถึง 26% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19  

บุกซื้อกิจการ-ลงทุน เวียดนามต่อเนื่อง 10 เดือนแรกปีนี้ ทุ่มแล้วกว่า 4,800 ล้านบาท

(2 ธ.ค. 67) สำนักข่าวบีบีซีภาคภาษาเวียดนาม รายงานว่าบรรดานักวิเคราะห์บางส่วนกำลังติดตามความเคลื่อนไหวของบรรดามหาเศรษฐีนักลงทุนจากไทยอย่างใกล้ชิด เนื่องจากพบว่าตลอดช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีบริษัทกลุ่มทุนใหญ่จากไทยหลายรายแห่เข้าไปลงทุนในเวียดนามอย่างต่อเนื่อง

บีบีซีระบุว่า ช่วงเดือนกันยายน 2024 รัฐบาลเวียดนามและไทยประกาศแผนปฏิบัติการภายใต้ความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็ง เพื่อผลักดันมูลค่าการค้าทวิภาคีให้ถึง 25,000 ล้านดอลลาร์  ข้อมูลจากกระทรวงแผนและการลงทุนเวียดนามเผยว่า ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2024 มีนักลงทุนไทยลงทุนในเวียดนามกว่า 141.42 ล้านดอลลาร์ (ราว 4,800 ล้านบาท) ทำให้ไทยอยู่อันดับที่ 15 จาก 106 ประเทศที่นิยมลงทุนในเวียดนาม  

เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2024 ที่ผ่านมา บริษัท WHA ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์และพัฒนานิคมอุตสาหกรรม ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลเวียดนามให้ลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดทัญฮว้า ด้วยเงินทุน 55 ล้านดอลลาร์ ขณะเดียวกัน บริษัททานตะวันอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) ลงนามสัญญาเช่าโรงงานในเตยนินห์เป็นเวลา 30 ปี  

ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เวียดนามรับเม็ดเงินลงทุนมหาศาลจากกลุ่มทุนไทยที่มักใช้กลยุทธ์เข้าซื้อกิจการในเวียดนามเพื่อทำกำไรอย่างต่อเนื่อง เช่น ช่น บริษัท SCBX เข้าซื้อ Home Credit Vietnam ในราคา 860 ล้านดอลลาร์ และ SCG ลงทุนในโครงการปิโตรเคมี Long Son มูลค่า 5.4 พันล้านดอลลาร์  ทั้งยังถือหุ้นอีก 55% ในบริษัท Binh Minh Plastic หนึ่งในผู้ผลิตและส่งออกพลาสติกรายใหญ่ของเวียดนาม

ขณะที่ภาคธุรกิจอาหารและค้าปลีก ในปี 2015 กลุ่ม  Central Group ขยายการลงทุนในเวียดนามกว่า 1.45 พันล้านดอลลาร์ และดำเนินธุรกิจค้าปลีกในห้างสรรพสินค้าและห้างค้าปลีก 41 แห่งทั่วเวียดนาม เช่น Big C และ อีคอมเมิร์ซ Nguyễn Kim และในปีเดียวกันนี้กลุ่มเซ็นทรัลยังประสบความสำเร็จในการเข้าซื้อกิจการบิ๊กซีเวียดนามจากกลุ่มคาสิโน (ฝรั่งเศส) ด้วยมูลค่าข้อตกลงมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในปี 2017 กลุ่มไทยเบฟเวอเรจของมหาเศรษฐีเจริญ สิริวัฒนภักดีใช้เงินเกือบ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อซื้อบริษัท Saigon Beer Alcohol Beverage Corporation (Sabeco) โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นประมาณ 54% เช่นเดียวกับบริษัทในเครือสองแห่งของ Fraser & Neave Ltd. (F&N) ในเครือของเจ้าสัวเจริญ  ปัจจุบันถือหุ้นมากกว่า 20% ใน Vinamilk ผู้ผลิตนมสัญชาติเวียดนาม 

เช่นเดียวกับกลุ่ม TCC Group ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยที่ดำเนินงานในภาคการค้าปลีก ในปี 2016 ได้ทุ่มเงิน 655 ล้านยูโรเพื่อซื้อกิจการค้าส่ง Metro Cash & Carry Vietnam ที่ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น MM Mega Market ขณะที่บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส แห่งประเทศไทย ถือหุ้นประมาณ 98% ใน Ngoc Nghia Plastic

ความเคลื่อนไหวดังกล่าว ส่งผลให้บรรดานักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า การเข้าซื้อกิจการของกลุ่มบริษัทไทยในภาคการผลิตและการค้าส่งของเวียดนาม อาจทำให้บริษัทเวียดนามเสียเปรียบในตลาด อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายมองว่านี่เป็นแนวโน้มปกติของโลกธุรกิจที่บริษัทเวียดนามต้องพัฒนาตัวเองเพื่อแข่งขันต่อไป  อีกทั้งมีความเห็นในแนวโน้มที่ว่า การเข้ามาของทุนใหญ่ไทยเป็นสถานการณ์ทางธุรกิจแบบ "ปลาใหญ่กินปลาเล็ก" ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ตามโลกทุนยิม ซึ่งบริษัทท้องถิ่นในเวียดนามมีทางเลือกไม่มากนอกจากต้องหาทางดิ้นรนด้วยตนเองในแบบเท่าที่จะทำได้

เมียนมาย้ำลูกเรือประมงปลอดภัยดี แต่ยังไม่ระบุวันปล่อยตัว

กองทัพเมียนมาออกแถลงการณ์เกี่ยวกับเหตุการณ์ยิงเรือประมงไทยในทะเลอันดามันเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยอ้างว่าการกระทำดังกล่าว 'เป็นไปตามกฎและระเบียบ' เนื่องจากเรือประมงไทยได้ล่วงล้ำน่านน้ำอาณาเขตของเมียนมา

เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน เวลา 02.40 น. บริเวณนอกชายฝั่งเกาะพยาม จังหวัดระนอง ประมาณ 12 ไมล์ทะเล (ราว 22 กิโลเมตร) เมื่อเรือรบหลายลำของกองทัพเรือเมียนมาโจมตีเรือประมงไทยจำนวน 15 ลำ  

พล.ต.ซอ มิน ตุน โฆษกรัฐบาลทหารเมียนมา เปิดเผยว่า เรือรบของเมียนมาตรวจพบ 'กิจกรรมที่น่าสงสัย' นอกชายฝั่งเกาะสองผ่านเรดาร์ ก่อนระบุว่าเป็นเรือประมงอวนลาก เมียนมาได้ส่งสัญญาณให้เรือหยุดเพื่อตรวจสอบ แต่เรือดังกล่าวกลับหลบหนี ส่งผลให้กองทัพต้องดำเนินการไล่ตามและควบคุมตัว  

“เราปฏิบัติตามกฎระเบียบในการจัดการกับเรือประมงที่ล่วงล้ำน่านน้ำเมียนมา” ซอ มิน ตุน กล่าว พร้อมอ้างว่าได้ตรวจพบ 'วัตถุที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มต่อต้าน' บนเรืออวนลาก แม้ว่าวัตถุดังกล่าวจะไม่ใช่อาวุธร้ายแรงถึงชีวิต  

ซอ มิน ตุน ระบุว่า ขณะนี้กำลังดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมในเรื่องดังกล่าว และได้แจ้งข้อมูลต่อเจ้าหน้าที่ไทยแล้ว เขายืนยันว่าผู้ถูกควบคุมตัวซึ่งเป็นชาวไทยและชาวเมียนมา อยู่ใน 'สภาพดี'  

อย่างไรก็ตาม ซอ มิน ตุน ไม่ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเงื่อนไขและเวลาปล่อยตัวลูกเรือไทย แต่ย้ำว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและเมียนมาในระดับรัฐบาลและกองทัพยังคงดี และมีความพร้อมในการร่วมมือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

ตั้งคณะทำงาน 4 ด้าน ‘อาหาร-ค้าลงทุน-ท่องเที่ยว-มั่นคง’ ขอบคุณมาเลเซียต้อนรับอย่างอบอุ่น กระชับความร่วมมือ 2 ประเทศ

(16 ธ.ค. 67) น.ส.ศศิกานต์ วัฒนจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการประชุมหารือประจำปี (Annual Consultation: AC) ครั้งที่ 7 ที่จัดขึ้นที่ห้องประชุม Bilik Mesyuarat Perdana ชั้น 3 ประเทศมาเลเซีย ระหว่าง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทย และ ดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย โดย น.ส.แพทองธาร ได้กล่าวย้ำถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการเสริมสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างสองประเทศ เพื่อบรรลุ "สันติสุขและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน" และมุ่งหวังที่จะร่วมมือกันเพื่อความก้าวหน้าและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนทั้งสองชาติ

ในเวลา 09.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งกรุงเทพฯ ช้ากว่ามาเลเซีย 1 ชั่วโมง) ณ เมืองปูตราจายา ประเทศมาเลเซีย น.ส.แพทองธาร และ ดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม ได้ร่วมกันตรวจแถวกองทหารเกียรติยศในพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการในโอกาสการเดินทางเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการ (Official Visit)

ในการประชุมหารือประจำปี (AC) ครั้งที่ 7 นายกรัฐมนตรีไทยได้กล่าวถึงความมุ่งมั่นในการเสริมสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือของสองประเทศในหลายด้าน เช่น เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และการสนับสนุนด้านอาหารฮาลาล รวมถึงการเชื่อมโยงด้านคมนาคม พลังงาน และความมั่นคงในภูมิภาค

นายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้กล่าวถึงการเป็นโมเดลความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน ที่ส่งผลดีต่อทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะการค้า การศึกษา และการท่องเที่ยว โดยมาเลเซียชื่นชมสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของไทย เช่น ภูเก็ต และสนับสนุนการส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างทั้งสองประเทศภายใต้แนวคิด "6 Countries, 1 Destination"

นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า มาเลเซีย เป็นมิตรประเทศ ที่ใกล้ชิดและมีความสัมพันธ์ อันดีมากอย่างยาวนาน ทั้งยังเป็นหุ้นส่วน ทางการค้า ที่ใหญ่ที่สุดประเทศหนึ่งในอาเซียน ขณะเดียวกัน มาเลเซียยังเป็น 1 ใน10 ประเทศ ที่มีคนไทยอาศัยอยู่จำนวนมากอีกด้วย ยิ่งเป็นการตอกย้ำให้ทั้ง2 ประเทศ มุ่งมั่น ในการประสานความร่วมมือ ที่จะทำงานร่วมกันเพื่อสันติสุขและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน เพื่อความก้าวหน้าและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนทั้ง 2 ประเทศ

ด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจและพลังงาน นายกรัฐมนตรีมาเลเซียยังได้กล่าวถึงการค้าระหว่างกัน เช่น การนำเข้ายางพาราจากไทย พร้อมทั้งลงนามบันทึกความเข้าใจด้านยางพาราระหว่างสองประเทศ

สำหรับมิติด้านความมั่นคง นายกรัฐมนตรีมาเลเซียยืนยันว่า ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยเป็นประเด็นภายในของไทย โดยมั่นใจว่าไทยจะสามารถสร้างสันติภาพในพื้นที่ได้ โดยการพูดคุยและพัฒนา

ทั้งสองฝ่ายยังได้กล่าวถึงการร่วมมือในด้านความมั่นคง เช่น การป้องกันอาชญากรรมข้ามชาติ เช่น การค้ามนุษย์ ยาเสพติด และการหลอกลวงทางออนไลน์ และจะร่วมกันจัดการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (GBC) และการประชุมความร่วมมือด้านความมั่นคงในปีหน้า

ทั้งนี้ สองประเทศได้ตั้งเป้าหมายการค้าระหว่างกันให้ได้ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2570 โดยการค้าชายแดนมีสัดส่วนถึง 30% ของการค้าทวิภาคี และเห็นควรผลักดันการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารข้ามแดนให้มีความสะดวกยิ่งขึ้น

ในด้านการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน นายกรัฐมนตรีไทยกล่าวถึงโครงการถนนเชื่อมด่านสะเดาใหม่และสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก ที่จะเสร็จตามกำหนด และคาดหวังว่าจะมีโครงการทางรางเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคในอนาคต

สุดท้าย นายกรัฐมนตรีไทยกล่าวถึงการเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนในปีหน้า ซึ่งมาเลเซียจะเป็นประธานอาเซียน ภายใต้หัวข้อ "Inclusivity and Sustainability" ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ "Malaysia Madani" โดยเชิญนายกรัฐมนตรีมาเลเซียเยือนไทยในโอกาสต่อไป

ฝ่ายค้านมาเลเซียวิจารณ์ 'อันวาร์' ตั้ง 'ทักษิณ' นั่งที่ปรึกษาประธานอาเซียนปีหน้า ถามเหมาะสมแล้วหรือ?

(18 ธ.ค.67) เกิดความขัดแย้งในการเมืองมาเลเซียหลังจากนายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิมประกาศแต่งตั้ง 'ทักษิณ ชินวัตร' อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีมาเลย์ในปีหน้าซึ่งเป็นช่วงที่มาเลเซียจะเป็นประธานอาเซียน โดยเรื่องดังกล่าวบรรดาพรรคฝ่ายค้านและนักการเมืองหลายคนตั้งคำถามว่า การแต่งตั้งครั้งนี้จะมีประโยชน์ต่ออาเซียนจริงหรือ และทำไมไม่เลือกนักการทูตหรือนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญด้านต่างประเทศแทน

นายอันวาร์เปิดเผยในระหว่างการแถลงข่าวร่วมกับแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทย เมื่อวันที่ 16 ธันวาคมว่า การแต่งตั้งทักษิณเป็นที่ปรึกษานั้นเป็นข้อเสนอจากมาเลเซีย และได้รับการตอบรับจากฝ่ายไทย โดยเขามั่นใจว่าประสบการณ์ของทักษิณจะช่วยให้มาเลเซียได้มุมมองที่มีค่าท่ามกลางวิกฤตในภูมิภาค

แม้บางฝ่ายจะมองว่าแต่งตั้งทักษิณเป็นกลยุทธ์ทางการเมืองเพื่อรับมือกับสถานการณ์ในพม่าและความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับจีน แต่ก็มีหลายเสียงที่ตั้งคำถามถึงการเลือกนักการเมืองต่างชาติที่มีประเด็นถกเถียงหลายเรื่อง เช่น ทักษิณที่ถูกลงโทษในคดีคอร์รัปชันและใช้อำนาจโดยมิชอบในไทย

อดีตนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ โมฮัมหมัดแสดงความสงสัยเช่นกันว่าเหตุใดถึงเลือกทักษิณ ทั้งที่มีตัวเลือกอื่นๆ ที่ไม่มีปัญหาทางกฎหมาย และเน้นว่าการเลือกบุคคลที่มีข้อถกเถียงอาจจะเป็นความเสี่ยงสำหรับอันวาร์

ทักษิณซึ่งกลับไทยในปี 2023 และถูกตัดสินจำคุก 8 ปีในข้อหาคอร์รัปชัน ก่อนจะได้รับการลดโทษและทัณฑ์บน ได้รับการยอมรับในบางวงการ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และจีน ซึ่งทำให้เขายังคงมีอิทธิพลทั้งในและต่างประเทศ ทักษิณเคยเสนอเป็นตัวกลางในการเจรจาระหว่างฝ่ายต่าง ๆ ในพม่า และยังคงเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการเมืองไทย แม้ว่าจะหลบหนีออกจากประเทศไปหลายครั้ง

อย่างไรก็ตาม การแต่งตั้งผู้นำต่างชาติในตำแหน่งที่ปรึกษาอาเซียนนี้ยังเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามว่าเป็นกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพหรือไม่ในระยะยาว

โฆษกรัฐบาลชี้ช่วยหนุนการค้า - ลงทุน คาดปี 68 โอกาสทองดันสินค้าไทยโกอินเตอร์

(24 ธ.ค. 67) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 24 ธันวาคม 2567 ได้รับทราบว่าประเทศไทยได้รับการตอบรับให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่ม BRICS ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ รวมถึงสมาชิกใหม่อีก 5 ประเทศ ได้แก่ อียิปต์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เอธิโอเปีย ซาอุดีอาระเบีย และอิหร่าน  

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระทรวงการต่างประเทศได้เสนอให้ ครม. รับทราบถึงการที่ไทยได้รับคำเชิญให้เข้าร่วมเป็น "ประเทศหุ้นส่วน" (BRICS Partner Country) ตามมติของการประชุมผู้นำ BRICS ครั้งที่ 16 เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2567 ณ เมืองคาซาน ประเทศรัสเซีย  

การเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนในกลุ่ม BRICS จะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการเงินระหว่างไทยกับประเทศสมาชิก นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสสำคัญในการส่งเสริมความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน รวมถึงเพิ่มบทบาทของไทยในเวทีความร่วมมือระหว่างประเทศ  

กระทรวงการต่างประเทศระบุว่าการเข้าร่วมกลุ่ม BRICS ยังช่วยส่งเสริมความเข้มแข็งของระบบพหุภาคี (multilateral system) และเปิดโอกาสให้ไทยสามารถเป็นสมาชิกเต็มรูปแบบในอนาคต  

หลังการตอบรับเข้าร่วม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยต้องเตรียมความพร้อมในการมีส่วนร่วมกับกิจกรรมของ BRICS เช่น การเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีในสาขาต่างๆ และการสนับสนุนเอกสารผลลัพธ์จากการประชุมผู้นำ รวมถึงการตั้งงบประมาณเพื่อรองรับการมีส่วนร่วมในการประชุมเหล่านี้  

คาดว่าในปี 2568 สินค้าไทยภายใต้แบรนด์ "Made in Thailand" จะมีโอกาสขยายตลาดในระดับโลกมากขึ้น ด้วยความร่วมมือที่แน่นแฟ้นจากกลุ่ม BRICS ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยและสร้างความคึกคักให้กับการค้าระหว่างประเทศ

นายกฯ กัมพูชายืนยันจุดยืนบูรณภาพแห่งดินแดน หลังมีเสียงวิจารณ์ปมเกาะกูด

ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา กล่าวระหว่างพิธีมอบปริญญาบัตรแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยฮิวแมน รีซอร์ส เมื่อ 26 ธ.ค. โดยยืนยันจุดยืนของรัฐบาลในการปกป้องบูรณภาพแห่งดินแดน หลังเผชิญเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในประเด็นเกาะกูด โดยย้ำว่ารัฐบาลยังคงมุ่งมั่นทำงานอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่ได้ตอบโต้ผ่านโซเชียลมีเดีย 

"ผมขอพูดอย่างชัดเจนว่า การที่รัฐบาลไม่ได้ตอบโต้ข้อกังวลบนเฟซบุ๊ก ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ได้ทำงานเพื่อปกป้องและเสริมสร้างบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศ หรือส่งเสริมการพัฒนาและยกระดับสถานะของกัมพูชาในเวทีโลก เราทำเรื่องนี้กันทุกวันอยู่แล้ว " นายกฯ ฮุนมาเนต ยังเน้นย้ำว่า "เรื่องนั้นไม่จำเป็นต้องโบกธงหรือตะโกนคัดค้านใดๆ สิ่งที่เราต้องทำคือมุ่งเน้นที่การทำงานของเรา"  

ถ้อยแถลงดังกล่าวมีขึ้นเพื่อตอบโต้เสียงวิจารณ์ที่ว่ารัฐบาลของนายฮุนมาเนตเพิกเฉยต่อข้อกล่าวหาเรื่องการสูญเสียดินแดน โดยเฉพาะจากกลุ่มฝ่ายค้านชาวกัมพูชาในสหรัฐฯ ซึ่งเตรียมจัดการประท้วงในชื่อ 'ปกป้องเกาะกูด' (Defend Koh Kut) ที่เมืองลองบีช รัฐแคลิฟอร์เนีย ในวันที่ 19 มกราคม  

รายงานจากสำนักข่าว พนมเปญโพสต์ ระบุว่า ประเด็นเกาะกูดกลายเป็นข้อพิพาท เนื่องจากทั้งกัมพูชาและไทยต่างอ้างกรรมสิทธิ์เหนือเกาะดังกล่าว ขณะที่สื่อไทยรายงานล่าสุดว่า ไทยได้ประกาศอ้างสิทธิเหนือเกาะนี้เช่นกัน  

ขณะที่กลุ่มฝ่ายค้านในสหรัฐฯ เรียกร้องให้รัฐบาลกัมพูชาแสดงจุดยืนที่ชัดเจน โดยต้องการให้รัฐบาลยืนยันว่าเกาะกูดเป็นดินแดนของกัมพูชาอย่างเป็นทางการ หรือยกระดับประเด็นนี้ให้ถึงขั้นพิจารณาในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) เพื่อแก้ไขข้อพิพาทอย่างเป็นธรรม

ไทยในฐานะชาติพันธมิตรกลุ่ม BRICS ปีหน้า 68 'บราซิล' เป็นเจ้าภาพจัดประชุม

นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยเมื่อ 26 ธันวาคมที่ผ่านมาว่า ประเทศไทยได้รับหนังสือเชิญอย่างเป็นทางการจากรัสเซียตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2567 ซึ่งรัสเซียในฐานะเป็นประธานกลุ่ม BRICS ประจำปี 2567 ให้เข้าร่วมเป็นประเทศหุ้นส่วนของกลุ่ม BRICS และในวันที่ 24 ธันวาคม 2567 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้รับทราบว่า ไทยจะมีหนังสือตอบรับการเชิญดังกล่าว โดยในวันเดียวกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยได้ส่งหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย เพื่อตอบรับการเข้าร่วมเป็นประเทศหุ้นส่วนกลุ่ม BRICS

กลุ่ม BRICS ได้กำหนดบทบาทของประเทศพันธมิตรไว้ในเอกสาร Modalities of BRICS Partner Country Category โดยในฐานะที่ไทยเป็นชาติหุ้นส่วน มีประเด็นหลักสำคัญที่ต้องมีส่วนร่วม เช่น ประเทศหุ้นส่วนจะต้องเข้าร่วมการหารือระหว่างประเทศสมาชิกกลุ่ม BRICS กับประเทศหุ้นส่วนในระดับต่าง ๆ ได้แก่ (1) การประชุมระดับผู้นำ (2) การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ และ (3) การประชุมรัฐมนตรีรายสาขาที่ได้รับเชิญอย่างแข็งขัน นอกจากนี้ ประเทศหุ้นส่วนยังสามารถให้การสนับสนุนเอกสารผลลัพธ์จากการประชุมผู้นำและรัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่ม BRICS ได้ด้วย

การที่ไทยได้รับเชิญให้เข้าร่วมเป็นประเทศหุ้นส่วนกลุ่ม BRICS ถือเป็นก้าวสำคัญในการที่ไทยจะสามารถเข้าเป็นสมาชิกเต็มรูปแบบของกลุ่ม BRICS ในอนาคต โดยไทยมีเป้าหมายในการยกระดับความร่วมมือกับกลุ่ม BRICS เพื่อเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ ทั้งในด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างบทบาทของไทยในการส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศกำลังพัฒนาและเสริมสร้างระบบพหุภาคีที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศกำลังพัฒนา

กระทรวงการต่างประเทศมีแผนที่จะหารือเพิ่มเติมกับหน่วยงานและภาคส่วนต่าง ๆ ของไทย เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าร่วมเป็นประเทศหุ้นส่วนของกลุ่ม BRICS ต่อไป โดยในวันที่ 1 มกราคม 2568 บราซิลจะรับตำแหน่งประธานกลุ่ม BRICS ต่อจากรัสเซีย โดยจะใช้หัวข้อหลักในการประชุมคือ “การเสริมสร้างความร่วมมือของประเทศโลกใต้เพื่อธรรมาภิบาลที่ครอบคลุมและยั่งยืนขึ้น” (Strengthening Cooperation in the Global South for More Inclusive and Sustainable Governance) ซึ่งไทยเตรียมจะเข้าร่วมการหารือดังกล่าว

ครบ 3 ปีรถไฟจีน-ลาว เชื่อมไทย-จีน ขนสินค้าดันเศรษฐกิจภูมิภาคโต สร้างการเดินทางข้ามประเทศ 1.6 ล้านครั้ง

(11 ก.พ.68) นับตั้งแต่ที่ทางรถไฟจีน-ลาวเปิดดำเนินการเมื่อกว่า 3 ปีก่อน ทางรถไฟสายนี้ไม่เพียงแต่กระชับความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ลาว แต่ยังช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งสำหรับไทยเองแล้ว ทางรถไฟจีน-ลาวยังถือเป็นโลจิสติกส์รูปแบบใหม่สำหรับการค้ากับจีน

รายงานระบุว่าการเปิดใช้งานจุดขนถ่ายสินค้าสถานีเวียงจันทน์ใต้บนทางรถไฟจีน-ลาวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกรกฎาคม 2022 นับเป็นก้าวสำคัญของการเชื่อมโยงระบบรางระหว่างจีน ลาว และไทย โดยตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งบรรทุกทุเรียน ลำไย และสินค้าอื่น ๆ จากไทยถูกนำเข้าสู่จีนผ่านทางรถไฟจีน-ลาว ส่วนสินค้าส่งออกจากจีน เช่น เบียร์และยา ถูกขนส่งสู่ไทยผ่านเส้นทางสายนี้ด้วยเช่นกัน

บริษัท การรถไฟแห่งประเทศจีน สาขานครคุนหมิง จำกัด รายงานว่ามีขบวนรถไฟสินค้าที่วิ่งผ่านทางรถไฟจีน-ลาว-ไทยโดยตรง จำนวน 272 ขบวน ในปี 2024 ซึ่งขนส่งสินค้าทั้งหมด 144,900 ตัน ตัวเลขข้างต้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 60 และร้อยละ 71.7 เมื่อเทียบปีต่อปี ตามลำดับ

นอกจากนี้ จีนและไทยได้ร่วมกันสำรวจรูปแบบการขนส่งที่ผสมผสานระหว่างทางถนนและทางราง โดยมีการขนส่งผลไม้สด ผัก และผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแช่เย็นจากไทยทางถนนสู่นครหลวงเวียงจันทน์ ก่อนจะขนถ่ายขึ้นขบวนรถไฟด่วนจีน-ลาวเพื่อส่งตรงถึงนครคุนหมิงของจีน ซึ่งช่วยลดต้นทุนการขนส่งและรับประกันการหมุนเวียนสินค้าที่มีประสิทธิภาพ

นอกเหนือจากการค้าแล้ว ทางรถไฟจีน-ลาวยังส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนและวัฒนธรรม โดยตลอดช่วงสามปีที่ผ่านมา ปริมาณการเดินทางของผู้โดยสารต่อเดือนเพิ่มขึ้นจากกว่า 6 แสนครั้งช่วงเริ่มให้บริการ อยู่ที่มากกว่า 1.6 ล้านครั้ง ซึ่งช่วยยกระดับการเชื่อมโยงและสายสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมในภูมิภาค


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top