Sunday, 19 May 2024
S&P

‘S&P’ ผุดนิวโมเดลไซส์ย่อ เจาะปั๊ม ปตท. รับเทรนด์ ‘ซื้อกลับ-สั่งด่วน’ มาแรง

‘เอส แอนด์ พี’ ผุดสาขารูปแบบใหม่ นำร่องเจาะปั๊มน้ำมัน ปตท. 2 สาขาแรก เบเกอรี่ครบไลน์ อาหารเน้นเมนูสะดวกรวดเร็ว เผยแผนทั้งปีนี้ลุยเปิดเบเกอรี่ช็อป 25 สาขา และร้านอาหาร 3 สาขา โชว์ครึ่งปีแรกรายได้รวมโต 12% ส่วนช่องทางนั่งทานในร้านพุ่ง 66%

(11 ก.ย.66) นายอรรถ ประคุณหังสิต ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฎิบัติการธุรกิจเอสแอนด์พี บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) หรือ S&P เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้เปิดตัวธุรกิจร้านโมเดลใหม่ ‘คอนเซ็ปท์ ฟุ้ด แอนด์ เบเกอรี่’ (Food and Bakery) ซึ่งเป็นร้านที่มีบริการทั้งเบเกอรี่ เครื่องดื่มครบไลน์ และบริการอาหารด้วย โดยเปิดสาขาแรกที่ปั๊มน้ำมัน ปตท. พระรามสี่ใกล้กล้วยน้ำไท พื้นที่ประมาณ 100ตารางเมตร เปิดบริการเมื่อประมาณ 3 เดือนที่ผ่านมา และเตรียมที่จะเปิดสาขาที่สองอีกที่ปั๊มน้ำมัน ปตท. วิภาวดีรังสิต ซึ่งเป็นปั๊มที่สร้างใหม่

“รูปแบบของสาขาโมเดลใหม่นี้ จะมีขนาดที่ไม่เล็กไม่ใหญ่ แต่มีบริการเบเกอรี่เครื่องดื่มครบไลน์ ส่วนอาหารจะไม่ครบไลน์เหมือนร้านอาหารมาตรฐานเดิม จะเป็นลักษณะคล้ายนั่งทานอาหารหน้าเคาน์เตอร์บาร์ เน้นเมนูสะดวกรวดเร็ว และเน้นเทคอะเวย์กับเดลิเวอรีด้วย อย่างไรก็ตาม ไม่ได้ผูกติดเฉพาะกับปั๊มน้ำมันเท่านั้น ขึ้นอยู่กับว่าได้ทำเลและขนาดพื้นที่ที่มีความเหมาะสมหรือไม่” นายอรรถ กล่าว

ทั้งนี้ การเปิดตัวร้านรูปแบบใหม่ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนการขยายสาขาอย่างต่อเนื่องของบริษัทฯ โดยปีนี้วางแผนที่จะเปิด ร้านเบเกอรี่ช็อป ประมาณ 25 สาขา ลงทุนเฉลี่ย 2 ล้านบาทต่อสาขา เปิดไปแล้ว 15 สาขา และจะเปิดอีก 10 สาขาต่อถึงสิ้นปีนี้ ส่วนร้านอาหาร ลงทุนเฉลี่ย 8-10 ล้านบาทต่อสาขา ซึ่งจะเปิดเล็กลงประมาณ 150 ตารางเมตร จากเดิมเฉลี่ยมากกว่า 200 ตารางเมตร จะเปิดปีนี้ 3 สาขา โดยเปิดไปแล้วที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และเตรียมจะเปิดอีกที่โรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข และอีกแห่งจะเปิดในเครือข่ายค้าปลีกของกลุ่มเซ็นทรัลสาขา

ปัจจุบัน บริษัทฯ มีเครือข่ายร้านค้ารวม 437 สาขา โดยแบ่งเป็น ร้านเบเกอรี 300 สาขา และร้านอาหาร 137 สาขา อีกทั้งยังไม่ได้นับรวม ร้านเดลโก้ ที่่เป็นจุดบริการเดลิเวอรีโดยเฉพาะ อีก 33 สาขา ซึ่งก็ยังคงมีการเติบโตที่ดีแต่อาจจะไม่หวือหวาเหมือนช่วงโควิด-19ระบาดหนัก ที่ความต้องการเดลิเวอรีสูงมาก ส่วนแผนการรีโนเวทร้านเดิมก็ยังมีต่อเนื่อง ซึ่งช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาที่โควิดระบาด มีการรีโนเวทไปมากกว่า 100 สาขาแล้ว ใช้งบไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ส่วนปีที่แล้วเปิดร้านใหม่ประมาณ 35 สาขา

นายอรรถ กล่าวต่อว่า บรรยากาศการจับจ่ายในภาพรวมขณะนี้ ถือว่าในส่วนของกรุงเทพและปริมณฑลกลับมาดีมากขึ้นแล้ว ขณะที่ในตลาดต่างจังหวัดยังไม่ค่อยคึกคักเท่าที่ควร เพราะกำลังซื้อลดลง แต่คาดว่าจากนี้น่าจะดีขึ้นบ้างจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังจากที่มีรัฐบาลชุดใหม่แล้ว

สำหรับผลประกอบการที่ผ่านมาเป็นไปในทิศทางที่ดี มีการเติบโตที่ดี โดยในไตรมาสที่2ปี2566 รายได้รวมทั้งกลุ่ม 1,457 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 156 ล้านบาท หรือเติบโต 12% จากไตรมาสสองปีที่แล้ว ส่วนกำไรมีประมาณ 89 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6 ล้านบาท

ส่วนช่วงครึ่งปีแรกพบว่า มีรายได้รวมทั้งกลุ่ม 2,892 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 350 บาท หรือเติบโต 12% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และมีกำไรสุทธิครึ่งปีแรกที่ 194 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24 ล้านบาท เติบโต 14% โดยสัดส่วนรายได้หลักกว่า 80% มาจากร้านอาหาร ร้านเบเกอรี่ ในประเทศ ส่วนอีก 20% มาจากกลุ่มรีเทลฟู้ดกับต่างประเทศ

ทั้งนี้ ครึ่งปีแรกพบว่า รายได้จากช่องทางร้านอาหารนั่งทานในร้านเติบโตมากถึง 66% ช่องทางเทคอะเวย์ เติบโต 7% และช่องทางเดลิเวอรี เติบโต 5% สาเหตุหลักที่นั่งทานในร้านเติบโตมากเพราะพฤติกรรมผู้บริโภคกลับมาทานอาหารในร้านมากขึ้นแล้ว รวมทั้งกลยุทธ์ตลาดที่บริษัทฯ ทำด้วยในช่องทางร้านอาหาร เช่น ช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน จัดเทศกาลเมนูข้าวแช่ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมาก เดือนพฤษภาคมเริ่ม แคมเปญฉลอง 50 ปี 50 เมนู ซึ่งกิจการจะครบ 50 ปีในวันที่ 14 ตุลาคมนี้ ล่าสุดเทศกาลขนมไหว้พระจันทร์ ซึ่งปีนี้เปิดตัว 2 รสชาติใหม่คือ ใส้เกาลัดและชาอู่หลง ใส้บัวมันม่วง พร้อมโปรโมชั่นมากมาย

“ปีนี้คาดว่ารายได้รวมน่าจะเติบโต 15% ซึ่งขณะนี้รายได้รวมกลับไปถึงปี 2562 แล้วประมาณ 80% และคาดว่าปีหน้าน่าจะกลับคืนมา 100% ได้แน่นอน” นายอรรถ กล่าว

‘S&P’ หนุนองค์กรใช้พลังงานสะอาด-ซื้อคาร์บอนเครดิต มุ่งสู่ความเป็นกลางคาร์บอน ใส่ใจสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

(20 ม.ค. 67) ‘มณีสุดา ศิลาอ่อน’ ประธานเจ้าหน้าที่สำนักพัฒนาความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า รางวัลนั้นเกิดจากความพยายามเดินหน้าธุรกิจ ตามแนวคิด ‘คุณภาพ คุณค่า คุณธรรม’ เพื่อสร้างคุณค่าที่ยั่งยืนให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม คำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่คุณค่า

จากจุดเริ่มต้นปี พ.ศ. 2559 ที่บริษัทเริ่มติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อป บนอาคาร 4 แห่ง ได้แก่ โรงงานผลิตเบเกอรี่ บางพลี โรงงานผลิตเบเกอรี่ จ.ลำพูน และโรงงานผลิตอาหารลาดกระบัง รวมทั้งศูนย์กระจายสินค้า S&P (S&P Smart Distribution Center) ที่ลงทุนกว่า 500 ล้านบาท พร้อมติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปขนาด 594 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 785,712 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมงต่อปี ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 390 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ได้ถึง 12,104 ต้น

ขณะที่โรงงานผลิตเบเกอรี่และอาหาร 3 แห่ง ได้แก่ โรงงานผลิตเบเกอรี่บางนา-ตราด กม.23.5 (เฟส 3) โรงงานผลิตเบเกอรี่ลำพูน และ โรงงานผลิตอาหารลาดกระบัง สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์รวมทั้งสิ้น 2,285,531 กิโลวัตต์ ต่อชั่วโมงต่อปี ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 1,092 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ได้ถึง 33,980 ต้น ส่วนโรงงานผลิตเบเกอรี่สุขุมวิท 62 โครงสร้างอาคารไม่สามรถติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปได้ จึงนำระบบ Solar Light มาใช้แทน ซึ่งรวมแล้วทั้งหมด สามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้ราว 20-25%

นอกจากนี้ ในการบริหารจัดการคาร์บอน สโคป 1 และ 2 เป็นเรื่องที่เอสแอนด์พีดำเนินการต่อเนื่อง และพยายามพัฒนาแนวทางใหม่ ๆ ขึ้นเรื่อย ๆ โดยปี 2566 เอสแอนด์ พี ได้ซื้อคาร์บอนเครดิตจากบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อชดเชยการปล่อยคาร์บอนแล้ว 1.3 หมื่นตัน ซึ่งเทียบเท่ากับปริมาณคาร์บอนที่เอส แอนด์ พี ปล่อยต่อปี โดยยังไม่รวมปริมาณคาร์บอนจากสาขาอีกเกือบ 500 สาขา ที่จะเริ่มนับและคำนวณปริมาณคาร์บอนในปีนี้

นอกจากนี้ ยังได้นำรถไฟฟ้า S&P EV Truck จำนวน 1 คัน มาใช้ในการขนส่งสินค้า ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงปีละประมาณ 20 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังตั้งเป้าการเพิ่มรถบรรทุกพลังงานสะอาดอีก 4 คัน ในปี 2567 เพื่อครอบคลุมระยะทางขนส่งสายหลัก และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้เชื้อเพลิง

ขณะเดียวกันได้มีการปรับปรุงระบบการขนส่งใหม่ ของศูนย์กระจายสินค้า ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตั้งแต่การบรรจุสินค้าใส่รถยนต์ การกำหนดเส้นทางการเดินรถ เพื่อช่วยประหยัดพลังงาน และค่าใช้จ่าย และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงานด้าน Supply chain ให้ดียิ่งขึ้น หลังจากการปรับปรุงทำให้สามารถลดค่านํ้ามันลงได้ถึง 9 ล้านบาทต่อเดือน

มณีสุดา กล่าวอีกว่า การทำงานด้านความยั่งยืน และใส่ใจสิ่งแวดล้อม เกิดจากจุดเริ่มต้นการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปที่โรงงาน ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีการตื่นตัวเรื่องนี้ ทำให้ต้องใช้งบค่อนข้างสูง

อีกทั้ง สิ่งที่ดำเนินการไปพร้อม ๆ กัน เป็นการปรับพฤติกรรมพนักงานในองค์กร เริ่มจากการแยกขยะ เก็บขวดพลาสติกมาอัพไซคลิ่งเป็นเสื้อของพนักงานทำมาแล้ว 3 รุ่น รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์สินค้า สู่วัสดุรีไซเคิล หมายรวมถึงพลาสติกที่เริ่มจากการลดความหนาของพลาสติกลง ซึ่งขณะนี้ดำเนินการไปได้แล้วทั้งหมด 94%

“การเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ในร้าน ซึ่งมีอยู่เกือบ 500 สาขาทั่วประเทศ หากต้องเปลี่ยนพลาสติกทั้งหมด ต้องใช้งบไม่ตํ่ากว่า 100 ล้านบาท หรือแม้แต่การลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนภาคในองค์กร รวมถึงกระบวนการผลิตทั้งหมดให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ต้องใช้งบเป็น 1,000 ล้านบาท เพราะฉะนั้นการลงมือทำ จากสิ่งใกล้ตัวก่อนและค่อย ๆ ทยอยทำ จะช่วยให้งานทั้งหมดสามารถเดินหน้าไปได้ ไม่เช่นนั้นคำนวณ Payback Period มันไม่คุ้ม”

เอส แอนด์ พี พยายามทำทั้ง Green Product และ Green Restaurant ซึ่งดำเนินการไปแล้ว 11 สาขา รวมถึงการทำ โครงการ Food Rescue โดยร่วมกับมูลนิธิสโกลารส์ ออฟซัสทีแนนซ์ หรือ ‘SOS Thailand’ ส่งต่ออาการส่วนเกินให้กับผู้ที่มีความต้องการ ทำให้สามารถลดขยะอาหารจาก 240 ล้านบาท เหลือ 168 ล้านบาทในปัจจุบัน

“เอส แอนด์ พี ยังดำเนินการร่วมกับซัพพลายเชน เช่น เกษตรกรและพาร์ทเนอร์ต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายขององค์กร เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ค.ศ.2050”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top