Sunday, 18 May 2025
PoliticsQUIZ

พลังประชารัฐเตรียมลงดาบ 7 ส.ส. ฝืนแนวทางพรรค งดออกเสียงโหวต ‘ศักดิ์สยาม’ ส่วนข่าวลือคนในพรรคไม่พอใจ ‘ธรรมนัส’ คาดแค่หวังเสี้ยมก่อความขัดแย้ง

แหล่งข่าวจากกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า จากผลคะแนนการลงมติของ ส.ส.ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรี ในส่วนของพรรคพลังประชารัฐ ทางพล.อ.ประวิตรวงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้เรียกประชุมกรรมการบริหารพรรค ในวันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อประเมินผลการอภิปรายไม่ไว้วางใจและนำมาพิจารณาในภาพรวม

ทั้งนี้ประเด็นสำคัญในเรื่องของการโหวตลงมติต่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ พบว่ามี ส.ส. จำนวน 7 คน ที่ไม่ปฏิบัติตามแนวทางของพรรคที่วางไว้ โดย "งดออกเสียง" ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจในส่วนของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคมดังนั้นในที่ประชุมกรรมการบริหารพรรค จะพิจารณามาตรการลงโทษด้วย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความขัดแย้งภายในพรรค

นอกจากนี้ที่มีรายงานข่าวว่าสมาชิกพรรคหลายคนไม่สบายใจกรณีที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่ารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้คะแนนโหวตไว้วางใจมากกว่านายกรัฐมนตรีนั้น ไม่เป็นความจริง ซึ่งผู้ใหญ่ในพรรครู้สึกไม่สบายใจและข้องใจที่มีข่าวแบบนี้ออกมา และไม่พอใจอย่างยิ่งต่อผู้ที่ให้ข่าวเช่นนี้ ถือเป็นการเสี้ยมให้เกิดความขัดแย้งภายใน ทั้งที่มันไม่เป็นความจริง ยิ่งไปกว่านั้น


ที่มา: https://mgronline.com/politics/detail/9640000017042

ตั๋วช้างนิทานหลอกเด็ก ! ดร.นิวแฉฝ่ายค้านปั้นขบวนการสร้างปมเท็จปรับยศตำรวจ โยงข้อมูลเก่าปัดฝุ่นเล่าจนเป็นนิทานหลอกเด็ก

แม้จะจบศึกอภิปรายซักฟอกรัฐบาลประยุทธ์ 2 โดยมีผลลัพธ์ลงเอยด้วยการสอบผ่านทั้ง 10 รัฐมนตรีไปแล้วแต่ดูเหมือนว่าจะยังมีอีกหลายประเด็น ที่ฝ่านค้านน่าจะยังเดินหน้าตอแยต่อ

หนึ่งในปมประเด็นที่ถูกทิ้งไว้สังคมสงสัยต่อ คือ ‘ตั๋วช้าง’

‘ตั๋วช้าง’ คืออะไร?

‘ตั๋วช้าง’ นั้นเป็นแฮชแท็กที่เกิดจาก รังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล ซึ่งอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรองนายกรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ปมอ้างว่ามีตั๋วในการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ รวมทั้งมีการซื้อขายตำแหน่งอีกด้วย พร้อมโชว์เอกสารลับ ตั๋วช้าง จนทำให้นายสุชาติ ตันเจริญ ประธานในที่ประชุม ต้องสั่งให้สรุปจบ โดยนายรังสิมันต์ยอมรับว่าเรื่องที่อภิปรายเป็นเรื่องอันตราย แต่ตนได้ทำหน้าที่ในฐานะ ส.ส.

รังสิมันต์ โรม กล่าวอ้างว่า การมีอยู่ของตั๋วช้าง ทำให้เกิดความสมยอมในการกระทำผิด ดังนั้นพลเอกประยุทธ์และพลเอกประวิตรจะรับผิดชอบอย่างไร เนื่องจากที่ตนเองได้ข้อมูลมานั้นตั๋วเหล่านี้มีมูลค่าหลักล้านหรือหลายล้าน ก็เท่ากับว่าสุดท้ายตำรวจต้องลงเอยด้วยการเรียกเก็บผลประโยชน์จากบ่อน จากธุรกิจผิดกฎหมาย หรือจากการค้ามนุษย์

อย่างไรก็ตาม ได้มีข้อมูลอีกด้านของ ‘ตั๋วช้าง’ ที่น่าสนใจ และดูเหมือนจะเป็นการหักล้างข้อมูลของ รังสิมันต์ โรม จาก ดร.ศุภณัฐ อภิญญาณ (ดร.นิว) นักวิจัยภายใต้สถาบันวิจัย MAST Center และ คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ University of Arkansas ซึ่งได้โพสต์ลงเฟซบุ๊ก Suphanat Aphinyanไว้ว่า...

ข้อเท็จจริง "นิทานเรื่องตั๋วช้าง"

ได้ด้วยหรือ? อยู่ๆ ก็ยัดเยียดเอกสารฉบับหนึ่งเป็นตั๋วช้างได้หรือ? คำว่าตั๋วช้างก็โยงมาจากข่าวเก่าๆ ด้วยความมั่ว

นิทานเรื่อง #ตั๋วช้าง เป็นการเชื่อมโยงแบบมั่วๆ ปั้นน้ำเป็นตัวแต่งนิทานหลอกเด็ก เพื่อปั่นกระแสแหกตาประชาชน หวังหลอกใช้เป็นเบี้ยในการทำผิดกฎหมายและสร้างความแตกแยก

1.คำว่า "ตั๋วช้าง" มาจากข่าวแฉตำรวจใน https://mgronline.com/specialscoop/detail/9600000061278 วันที่ 15 มิ.ย. 2560

2.ตั๋วลดราคาตำแหน่ง 8 ล้าน ลดเหลือ 4 ล้าน มาจากคำพูดของอดีตผู้การวิสุทธิ์ใน https://www.posttoday.com/politic/report/444162 วันที่ 21 ก.ค. 2559

3.เอกสารที่นายโรมและขบวนการล้มเจ้านำมาปั่นกระแสบิดเบือน ถูกนำมาโยงกับ ข้อ 1-2 แบบมั่วๆ ทั้งๆที่เป็นการปรับตำแหน่งตามปกติให้กับตำรวจที่มีผลงานโดดเด่น และอาจเคยถวายงานรับใช้เบื้องพระยุคลบาท

ขนาด ส.ส.พรรคล้มเจ้าที่ความดีไม่เคยมีปรากฏ ยังอยากได้เครื่องราชฯ

แล้วทำไมตำรวจดีๆที่มีผลงาน จะขอเกียรติยศให้กับการปรับตำแหน่งของตัวเองที่เป็นไปตามระบบไม่ได้?

ขอยกตัวอย่างบุคคลชื่อแรกที่ปรากฏในเอกสารดังกล่าว พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ

พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ ได้รับการขนานนามว่าเป็น “มือปราบอาชญากรออนไลน์” มีผลงานรับใช้ประชาชนที่โดดเด่นมากมายดังที่ได้พบเห็นในข่าวสารอยู่เป็นประจำ ช่วยเหลือประชาชนในการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี บรรเทาทุกข์ให้กับพี่น้องประชาชนที่เดือดร้อนจากเหล่ามิจฉาชีพต่างๆ ในโลกออนไลน์ จับกุมฉ้อโกง แฮคเกอร์ และเฟคนิวส์ได้เป็นจำนวนมาก เป็นวิทยากรให้ความรู้เพื่อป้องกันตนเองจากอาชญากรรมไซเบอร์มาหลายเวที

นอกจากนี้ยังเคยเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายจนถูกยิงจากการปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือประชาชนอีกด้วย จึงไม่น่าแปลกที่คนดีๆมีผลงานโดดเด่นแบบนี้ จะได้รับการพระราชทานเกียรติยศประกอบการเลื่อนตำแหน่งตามที่สมควรได้โดยชอบธรรมอยู่แล้ว ซึ่ง พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ ได้รับการเลื่อนตำแหน่ง 1 ระดับจาก “ผกก.3 บก.ปอท.” เป็น “รอง ผบก.ปอท”

การเชื่อมโยงแบบมั่วๆ ปั่นกระแสบิดเบือนของนิทานตั๋วช้างในครั้งนี้ ทำให้ประชาชนชาวไทยทั้งประเทศได้เห็นแล้วว่า พรรคก้าวไกล คณะก้าวหน้า และม็อบ รวมถึงขบวนการล้มเจ้า เป็นกลุ่มเครือข่ายเดียวกัน ที่เคลื่อนไหวปั่นกระแสร่วมกันอย่างเป็นระบบ อยู่เบื้องหลังการยุยงปลุกปั่นสร้างความแตกแยก หมกมุ่นอยู่กับการบิดเบือนให้ร้ายหวังบ่อนทำลายความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์

ที่มา:

https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=3912616712134271&id=100001579425464


อ้างอิง...

https://mgronline.com/specialscoop/detail/9600000061278

https://www.posttoday.com/politic/report/444162

https://provincialnewscenter.com/?p=6373

สวนดุสิตโพล เผยผลสำรวจการซักฟอก มองจุดเด่นภาพรวมอภิปรายของฝ่ายค้าน จุดด้อยประท้วงบ่อย ขณะที่ส่วนใหญ่ไม่เชื่อมั่นรัฐบาลให้คะแนนแค่ 5.01 เต็มสิบ ส่วนฝ่ายค้านได้ 6.90 มองหลังจบอภิปรายครั้งนี้การเมืองไทยยังเหมือนเดิม

นางสาวพรพรรณ บัวทอง นักวิจัย สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศเฉพาะผู้ที่สนใจติดตามการอภิปราย กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,712 คน ระหว่างวันที่ 17 - 20 กุมภาพันธ์ 2564 พบว่า ส่วนใหญ่ติดตามผ่านทางสื่อโซเชียลมีเดียมากที่สุด ร้อยละ 43.81 มองจุดเด่นของการอภิปราย คือ ภาพรวมการซักฟอกของฝ่ายค้าน ร้อยละ 52.64 จุดด้อย คือ การประท้วงบ่อย ทำให้เสียเวลา ร้อยละ 71.26

หลังการอภิปรายเสร็จสิ้นคาดว่าการเมืองไทยจะเหมือนเดิม ร้อยละ 55.40 และไม่เชื่อมั่นต่อรัฐบาล ร้อยละ 43.25 ภาพรวมให้คะแนนฝ่ายค้าน 6.90 คะแนน ให้คะแนนฝ่ายรัฐบาล 5.01 คะแนน

การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ 2 ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ประชาชนให้คะแนนฝ่ายค้านมากกว่าฝ่ายรัฐบาล เพราะเห็นว่าภาพรวมทำงานได้ดี มีเนื้อหาน่าสนใจ เตรียมข้อมูลเชิงลึกมาอภิปรายให้เห็นภาพ โดยมองว่าหลังจบอภิปรายครั้งนี้สถานการณ์การเมืองไทยก็น่าจะยังเหมือนเดิม และที่สำคัญประชาชนนั้นรู้สึก “ไม่เชื่อมั่น” ต่อรัฐบาล ถึงแม้ในสภา 10 รัฐมนตรีจะได้รับการไว้วางใจก็ตาม

ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดังนภสร ณ ป้อมเพชร หลักสูตรรัฐศาสตร์ โรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ระบุว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจ คือ มาตรการหรือเครื่องมืออย่างหนึ่งในการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ การตัดสินใจ รวมไปถึงความโปร่งใสของรัฐบาล ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญที่จะแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของฝ่ายนิติบัญญัติในการคานอำนาจ ของรัฐบาล และยังเป็นการขับเคลื่อนกลไกทางการเมืองให้เป็นไปตามแนวทางในระบอบประชาธิปไตย

ทั้งนี้ ความสำคัญของการอภิปรายไม่ไว้วางใจมีมากกว่าการมองเพียง “ผลโหวต” เนื่องจากผลนั้นอาจเกิดจากวิถีทางการเมือง เช่น การที่รัฐบาลมีฐานเสียงมากกว่า ฝ่ายค้านมีหลักฐานไม่เพียงพอ หรือด้วยเหตุอื่นใดก็ตาม

หากแต่ “การอภิปรายไม่ไว้วางใจ” มีความสำคัญในการที่จะสามารถเป็นต้นแบบของวัฒนธรรมการเมืองที่ดี นั่นคือ การทำหน้าที่ในการใช้อำนาจของประชาชนในการอภิปรายและชี้แจงด้วยวุฒิภาวะของผู้นำทางการเมือง การนำประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง มาอภิปราย การใช้หลักฐานข้อมูลที่ถูกต้องเชื่อถือได้ การเชื่อมต่อการตรวจสอบกับภาคประชาชน เหล่านี้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะก่อให้เกิดกลไกในการสร้างความเป็นประชาธิปไตยให้แก่สังคมไทยอย่างแท้จริง

รัฐบาล ประกาศเดินหน้า ผลักดันกัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจ - สร้างรายได้ให้เกษตรกร ย้ำ ทุกครัวเรือนปลูกได้ แต่ต้องขออนุญาต อย. และสาธารณสุขจังหวัด ยื่นขอภายใต้วิสาหกิจชุมชน และสหกรณ์

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากที่รัฐบาลมีนโยบายเร่งด่วนผลักดันให้กัญชาและกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร จนนำไปสู่การปรับปรุงกฎหมายและออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท5 พ.ศ. 2563 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2563 ที่ผ่านมา กำหนดให้ส่วนของพืชกัญชาและกัญชง เฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้ปลูก ผลิต หรือสกัดในประเทศไทย ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษนั้น ปรากฏว่ามีประชาชนทั้งเกษตรกร และผู้ประกอบการแขนงต่างๆ ให้ความสนใจขอรับคำแนะนำมายังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบการอนุญาตเป็นจำนวนมาก

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลย้ำว่าประชาชนทุกครัวเรือนมีสิทธิปลูกกัญชาได้เพียงแต่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นั่นคือ ทั้งการปลูก สกัด และผลิต จะต้องขออนุญาตจาก อย. ตามพ.ร.บ.ยาเสพติด ฉบับที่ 7 ซึ่งกำหนดให้ผู้ที่จะขออนุญาตต้องเป็นหน่วยงานรัฐ สถาบันอุดมศึกษา วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ เภสัชกร แพทย์แผนไทย ซึ่งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์จะต้องร่วมกับหน่วยงานรัฐเพื่อขออนุญาต ซึ่งการยื่นคำขออนุญาตปลูกนั้น สามารถยื่น ณ สถานที่ปลูกตั้งอยู่ โดยหากอยู่ที่กรุงเทพฯ ให้ยื่นที่ อย. หากอยู่ต่างจังหวัดให้ยื่นที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.)

“ประชาชนมีสิทธิ์ปลูกกัญชาได้ผ่านการรวมตัวเป็นวิสาหกิจชุมชนและร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ เช่นร่วมกับ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) เพื่อขออนุญาตปลูกกัญชาโดยมีจุดประสงค์เพื่อใช้ในทางการแพทย์ ซึ่งเวลานี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ผลักดันให้เริ่มความร่วมมือรูปแบบนี้แล้ว ใน 46 จังหวัด ครอบคลุมประชาชนประมาณ 2,500 ครัวเรือน รพ.สต. 251 แห่ง ปลูกกัญชาไปแล้ว 15,000 ต้น โดยรัฐบาลคาดหวังว่าตั้งแต่นี้ไปทั้งกัญชาและกัญชงจะเป็นอีกหนึ่งพืชเศรษฐกิจหลัก ที่เป็นทางเลือกการสร้างรายได้และสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับเกษตรกร และเป็นพื้นฐานสำคัญของการผลิตสินค้าที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ ในอนาคต” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ส่วนของกัญชาและกัญชงที่ไม่จัดเป็นยาเสพติดซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้นั้น ได้แก่ เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน และราก ใบซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย สารสกัดที่มีสารแคนนาบิไดออล (CBD) เป็นส่วนประกอบ และมีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (THC) ไม่เกิน 0.2% โดยน้ำหนัก เมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง หรือสารสกัดจากเมล็ดกัญชง ซึ่งแต่ละส่วนสามารถใช้ประโยชน์ทั้งทางการแพทย์ เช่นใช้ในตำรับยาแผนไทย ผลิตภัณฑ์สมุนไพร อุตสาหกรรมยา อาหาร เครื่องสำอางตลอดจน เป็นเส้นใยใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ

ในแง่ของผู้สามารถใช้ประโยชน์นั้น ไม่ได้มีเพียงผู้ประกอบการเท่านั้นที่สามารถนำส่วนของกัญชา และกัญชงไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ แต่ประชาชนทั่วไปก็สามารถใช้ประโยชน์ได้ เช่นการนำไปประกอบอาหารในครัวเรือน หรือประกอบอาหารและเครื่องดื่มเพื่อขายในร้านอาหาร เพียงแต่ต้องเป็นผลผลิตจากผู้ที่ได้รับอนุญาตปลูกที่ถูกต้องตามกฎหมาย สามารถระบุที่มาของส่วนกัญชาหรือกัญชงได้ ผู้สนใจสามารถตรวจสอบผู้ได้รับอนุญาตปลูกจากเว็บไซต์กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

น.ส. ไตรศุลี กล่าวว่า เพื่อสร้างความเข้าใจของสังคมต่อพืชกัญชาและกัญชง โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนในธุรกิจนี้ ให้เข้าใจถึงข้อกฎหมายและการสนับสนุนของภาครัฐ ในวันที่ 22 ก.พ. 2564 สถาบันกัญชาทางการแพทย์ จะจัดงาน ก้าวต่อไป กัญชา กัญชง สู่พืชสมุนไพรเศรษฐกิจ ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี เวลา 8.00 - 14.00 น.

โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข จะเป็นประธานในงาน เพื่อให้นโยบายกับผู้บริหารและข้าราชการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้การขับเคลื่อนการส่งเสริมกัญชาและกัญชง แต่ละหน่วยงานเป็นไปในทิศทางเดียวกันด้วย

พรรคก้าวไกล จ่อลงโทษ 4 ส.ส. งูเห่า ยกมือโหวตให้ ‘อนุทิน’ เล็งไม่ส่งลงสมัคร ส.ส. ในครั้งหน้า, งดเข้าร่วมกิจกรรมพรรค และตัดสิทธิในสภาที่พึงมีในนามพรรค แต่ยังไม่ขับออกจากพรรค เหตุไม่อยากเพิ่มเสียงให้ฝั่งรัฐบาล

นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณี ส.ส.ของพรรคโหวตไว้วางใจ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ว่า กรณีที่ 4 ส.ส. พรรคก้าวไกล ได้แก่ 1.) คารม พลพรกลาง 2.) พีรเดช คำสมุทร 3.) เอกภพ เพียรพิเศษ และ 4.) ขวัญเลิศ พานิชมาท ลงมติไว้วางใจให้รัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทยนั้น พรรคก้าวไกลต้องขอโทษสมาชิกพรรคและประชาชนที่สนับสนุนพรรคทุกคนครับ

และพรรคจะให้คณะกรรมการวินัยพิจารณาลงโทษต่อไป เช่น ไม่ส่งลงสมัคร ส.ส. ในครั้งหน้า, งดเข้าร่วมกิจกรรมพรรค, และตัดสิทธิในสภาที่พึงมีในนามพรรค

ส่วนเหตุผลที่ไม่ไล่ออกจากพรรคเพราะเราไม่ต้องเติมเสียงให้รัฐบาลอย่างเป็นทางการอย่างที่พวกเขาต้องการ

และตั้งแต่เดือนมีนาคม พรรคก้าวไกลจะประกาศรับเลือดใหม่เป็นผู้สมัคร ส.ส. ทั่วประเทศ”

อดีตรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ ‘ทิพานัน ศิริชนะ’ ซัด ‘ปิยบุตร’ หยุดเป็น ‘ทะแนะ’ ให้ ก้าวไกล - ราษฎร ชี้ ทำตัวเป็นนักกฎหมายศรีธนญชัยดิ้นหาแต่ ‘รูลอด’ ช่องกฎหมาย

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ อดีตรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีที่สภาฯลงมติไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป พร้อมด้วยรัฐมนตรีรวม10คน ว่า เนื่องจากพล.อ.ประยุทธ์ สามารถชี้แจงได้กระจ่างชัดทุกประเด็น ทำลายน้ำหนักของฝ่ายค้าน เหนืออื่นใดคือความมุ่งมั่นและจริงใจในการบริหารประเทศ โดยปราศจากผลประโยชน์ ใดๆ เช่นเดียวกับรัฐมนตรีทุกคนที่มีความตั้งใจในการทำหน้าที่ ประกอบกับข้อมูลของฝ่ายค้านที่ไม่น่าเชื่อถือ

ดังที่ซูเปอร์โพลเผยผลสำรวจความเห็นประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 98.7 ระบุ ว่าการอภิปรายพูดเรื่องเดิม ๆ รู้อยู่แล้ว เอาข้อมูลจากสื่อมาพูด ขาดหลักฐานใหม่ จึงไม่แปลกที่ร้อยละ 97.5 ระบุ รู้สึกผิดหวังต่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน ซึ่งเท่ากับเวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลกลายเป็นจุดอ่อนของฝ่ายค้าน กลายเป็นเวทีที่ประจานตนเอง ให้ประชาชนไม่ไว้วางใจฝ่ายค้านในการทำหน้าที่ต่อไป

“ในขณะที่รัฐบาลหลังผ่านศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้วจะมีความแข็งแกร่งมากขึ้น ประชาชนเชื่อมั่นและอยู่ยาวจนครบเทอม ซึ่งนับจากนี้จะได้ตั้งหน้าตั้งตาแก้ปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชนเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป” น.ส.ทิพานัน กล่าว

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า สิ่งน่าผิดหวังที่สุด คือความพยายามพูดพาดพิงสถาบันในการอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยไม่จำเป็น และไม่เกิดประโยชน์ต่อการบริหารประเทศ ซึ่งประชาชนรู้เท่าทัน แม้แต่ส.ส.ของพรรคก้าวไกลเอง ก็ยังแสดงออกด้วยการลงมติสวนทางกับพรรคถึง 4 คน สะท้อนถึงการต่อต้านกรณีดังกล่าว แต่นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า กลับตะแบงอ้างว่า "การอภิปรายพูดถึงบุคคลภายนอกในสภาผู้แทนราษฎรกระทำได้" โดยยกรัฐธรรมนูญมาตรา 124 วรรค 3 และข้อบังคับการประชุมสภาข้อ 39 ที่ให้บุคคลภายนอกผู้เสียหายมีสิทธิขอเข้ามาชี้แจงได้ภายใน 3 เดือน

และมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ มาอ้าง โดยพยายามหา "รูลอด" ช่องกฎหมาย แบบนักกฎหมาย "ศรีธนญชัย" เพราะที่ยกมาอ้างนั้นเป็นเพียงมาตรการเยียวยาความเสียหายเบื้องต้นของบุคคลภายนอกที่ถูกละเมิดเท่านั้น ไม่ได้หมายความตามที่นายปิยบุตรตีความเข้าข้างตัวเอง

ใจความสำคัญของเอกสิทธิ์ ส.ส. ในเรื่องนี้นั้น รัฐธรรมนูญมาตรา 124 วรรค 2 บัญญัติชัดเจนว่า “เอกสิทธิ์ตามวรรคหนึ่งไม่คุ้มครองสมาชิกผู้กล่าวถ้อยคำในการประชุมที่มีการถ่ายทอดฯ ปรากฏนอกบริเวณรัฐสภา และการกล่าวถ้อยคำนั้นมีลักษณะเป็นความผิดทางอาญาหรือละเมิดสิทธิในทางแพ่งต่อบุคคลอื่นซึ่งมิใช่รัฐมนตรีหรือสมาชิกแห่งสภานั้น” และรัฐธรรมนูญมาตรา 124 วรรค 3 บัญญัติชัดเจนว่า “ทั้งนี้ โดยไม่กระทบต่อสิทธิของบุคคลในการฟ้องคดีต่อศาล”

และข้อบังคับการประชุมข้อที่ 69 ที่กำหนดว่า ’ห้ามผู้อภิปรายแสดงกิริยาหรือใช้วาจาอันไม่สุภาพ ใส่ร้าย หรือเสียดสีบุคคลใด และห้ามกล่าวถึงพระมหากษัตริย์หรือออกชื่อสมาชิกหรือบุคคลใดโดยไม่จำเป็น’ ฉะนั้น ผู้อภิปรายย่อมตระหนักดีว่า การอภิปรายมีการถ่ายทอดทางวิทยุและโทรทัศน์รัฐสภาอยู่แล้ว จึงไม่มีเอกสิทธิ์คุ้มครองให้พูดพาดพิงถึงบุคคลภายนอกและพาดพิงสถาบันฯ โดยไม่มีความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 112 และกฎหมายอื่นได้

ฉะนั้นไม่ว่าจะในกฎหมายแม่บท คือรัฐธรรมนูญ หรือข้อบังคับการประชุมก็ไม่มีข้อไหนเปิดช่องให้ทำได้ตามที่นายปิยบุตรพยายามบิดเบือนแต่อย่างใด ซึ่งนายปิยบุตรเองก็คงทราบดีว่านำข้ออ้างดังกล่าวไปอ้างในกระบวนการยุติธรรมไม่ได้ ดังนั้นจึงไม่เห็นนายปิยบุตริเสนอตัวเป็นทนายแก้ต่างในคดีมาตรา112 ให้แกนนำม็อบราษฎรเลย เพราะรู้ดีว่าอย่างไรก็ไม่รอด ดังนั้นขอให้นายปิยบุตรหยุดทำตัวเป็น “ทะแนะ” พูดบิดเบือนกฎหมายหลอกประชาชน

ปะทะเดือดหน้า สภ.เมืองขอนแก่น ผู้ชุมนุมถูกจับ 3 คน หลังม็อบราษฎร โขง ชี มูล เคลื่อนพลจากสวนสาธารณะประตูเมือง ไปยัง สภ.เมืองขอนแก่น ขอพบผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 เรียกร้องให้ยกเลิกการดำเนินคดีมาตรา 112 กับแกนนำคณะราษฎร

เมื่อเวลา 00.00 น. วันที่ 21 ก.พ.2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่ากลุ่มผู้ชุมนุมในชื่อกลุ่มราษฎร โขง ชี มูล นำโดย นายอรรถพล บัวพัฒน์ หรือครูใหญ่ , นายวชิรวิทย์ เทศศรีเมือง หรือ เซฟ และ นายภาณุพงษ์ ศรีธนาณุวัฒน์ หรือ ไนซ์ ได้นำกลุ่มผู้ชุมนุมเดินจากสวนสาธารณะประตูเมืองขอนแก่น มายังหน้า สภ.เมืองขอนแก่น เพื่อเรียกร้องให้มีการยกเลิกการดำเนินคดีมาตรา 112 กับนายพริษฐ์ ชีวารักษ์ หรือเพนกวิน และ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน 2 แกนนำกลุ่มราษฎร ที่ถูกดำเนินคดีในพื้นที่รับผิดชอบของ สภ.เมืองขอนแก่น

โดยทันทีที่กลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนพลมาถึงยังหน้า สภ.เมืองขอนแก่น เจ้าหน้าที่ตำรวขชุดปราบจลาจลและควบคุมฝูงชน ได้ตั้งแนวโล่กำบังที่บริเวณด้านหน้าประตูทางเข้าไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมได้เข้าไปภายใน สภ.เมืองขอนแก่นได้ โดยมี พ.ต.อ.ปรีชา เก่งสาริกิจ ผกก.สภ.เมืองขอนแก่น นำเจ้าหน้าที่ออกมาเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุม โดยทางกลุ่มผู้ชุมนุมยืนยันว่าจะขอพบกับ พล.ต.ท.ยรรยง เวชโอสภ ผบช.ภ. 4 เพื่อยืนหนังสือเรียกร้องให้ยกเลิกการดำเนินคดีในมาตรา 112 กับแกนนำคณะราษฎรทั้ง 2 คน

ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจยืนยันว่าทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการของกฎหมาย ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมไม่พอใจและพยายามฝ่าแนวกำแพงโล่ของเจ้าหน้าที่เพื่อที่จะเข้าไปภายใน สภ.เมืองขอนแก่น ทำให้เกิดการปะทะกันขึ้นอีกครั้งแต่ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ จากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมได้ถอยมาตั้งหลักพร้อมทั้งนำอาหารสุนัขชนิดเม็ดมาโปรยใส่เจ้าหน้าที่ที่ตรึงกำลังอยู่ ทางเข้า สภ.เมืองขอนแก่น

และพยายามที่จะฝ่าเข้าไปอีกครั้งครั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้ทำการจับกุมกลุ่มผู้ชุมนุม 3 คนก่อนที่จะปล่อยตัวออกมา แต่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปล่อยตัวออกมา โดยการชุมนุมหน้า สภ.เมืองขอนแก่น ผ่านไปประมาณเกือบ 2 ชม.ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็เข้ามาเจรจากับแกนนำอีกครั้ง โดยทางเจ้าหน้าที่ตำรวจยอมถอยให้กลุ่มผู้ชุมนุมได้เข้ามาภายในสถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น แต่ต้องอยู่บริเวณด้านหน้าเท่านั้น

ในเวลาต่อมาได้มีผู้แทน ผบช.ภ.4 เดินทางมารับหนังสือเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม โดยนายอรรถพล ได้ยื่นคำขาดขอให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจยกเลิกการดำเนินคดีมาตรา 112 กับนายพริษฐ์ ชีวารักษ์ หรือเพนกวิน และ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน 2 แกนนำกลุ่มราษฎร ที่ถูกดำเนินคดีในพื้นที่ สภ.เมืองขอนแก่นก่อนหน้านี้ และห้ามดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามในวันนี้ที่ทางกลุ่มผู้ชุมนุมมีการจัดกิจกรรมขึ้น และขอทราบผลภายใน 5 วัน หากไม่ยกเลิกจะกลับมารวมตัวที่ สภ.เมืองขอนแก่นอีกครั้ง และหากพื้นที่ใดมีการแจ้งความดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุมก็จะเดินทางไปชุมนุมที่ สภ.นั้น ๆ ทันที

โดยที่ผู้แทน ผบช.ภ. 4 กล่าวกับผู้ชุมนุมว่า จะรับหนังสือไว้และจะส่งต่อให้กับ ผบช.ภ. 4 ได้พิจารณาและสั่งการตามขั้นตอนต่อไป ก่อนที่ผู้ชุมนุมจะแยกย้ายและเดินทางกลับไปปักหลักชุมนุมต่อภายในสวนสาธารณะประตูเมือง ริม ถ.มิตรภาพ เขตเทศบาลนครขอนแก่น

 

นิด้าโพล เผย คนส่วนใหญ่เห็นควรฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้จังหวัดที่แพร่ระบาดมากก่อน ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ การสาธารณสุขควรได้ฉีดก่อน ส่วนนักการเมืองควรได้วัคซีนเป็นกลุ่มสุดท้าย

สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ใครก่อนดี” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 15-17 กุมภาพันธ์ 2564 จากประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,318 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 97.0

จากการสำรวจเมื่อถามถึงจังหวัดที่ควรเป็นกลุ่มเป้าหมายแรกในการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 56.90 ระบุว่า จังหวัดที่มีการแพร่ระบาดมากในรอบที่ 2 ที่ผ่านมา รองลงมา ร้อยละ 16.77 ระบุว่า เริ่มทุกจังหวัดพร้อม ๆ กัน ร้อยละ 10.70 ระบุว่า จังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ร้อยละ 10.39 ระบุว่า จังหวัดที่อยู่ติดกับชายแดนทั้งหมด และร้อยละ 5.24 ระบุว่า จังหวัดที่มีการลงทุนด้านอุตสาหกรรมสูง

ด้านกลุ่มอายุที่ควรเป็นกลุ่มเป้าหมายแรกในการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 38.01 ระบุว่า กลุ่มวัยทำงาน ตั้งแต่ 20 - 59 ปี รองลงมา ร้อยละ 37.10 ระบุว่า กลุ่มผู้สูงอายุ (60 ปี ขึ้นไป) ร้อยละ 15.10 ระบุว่า เริ่มทุกกลุ่มอายุพร้อม ๆ กัน และร้อยละ 9.79 ระบุว่า กลุ่มเด็กและเยาวชนที่อายุไม่เกิน 20 ปี

เมื่อถามถึงกลุ่มอาชีพที่ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นกลุ่มเป้าหมายแรก พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 40.48 ระบุว่าเป็น กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ การสาธารณสุข รองลงมา ร้อยละ 14.41 ระบุว่าเป็น กลุ่มผู้รับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 8.87 ระบุว่าเป็น กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านการท่องเที่ยวทุกรูปแบบ ร้อยละ 7.59 ระบุว่าเป็น เริ่มทุกกลุ่มอาชีพพร้อม ๆ กัน ร้อยละ 5.29 ระบุว่าเป็น กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านการเดินทางและขนส่งทุกชนิด ร้อยละ 4.93 ระบุว่าเป็น กลุ่มนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 4.85 ระบุว่าเป็น กลุ่มเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 4.38 ระบุว่าเป็น กลุ่มข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 3.82 ระบุว่าเป็น กลุ่มพนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 3.49 ระบุว่าเป็น กลุ่มพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 1.41 ระบุว่าเป็น กลุ่มเกษตรกร ประมง และร้อยละ 0.48 ระบุว่าเป็น กลุ่มนักการเมือง

ส่วนความคิดเห็นของประชาชนต่อการบังคับให้ชาวต่างชาติทุกคนในประเทศไทยฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 44.54 ระบุว่า ควรบังคับชาวต่างชาติทุกคนให้ฉีดวัคซีน รองลงมา ร้อยละ 28.22 ระบุว่า ควรเป็นไปตามความสมัครใจในการฉีดวัคซีน ร้อยละ 26.25 ระบุว่า ควรบังคับเฉพาะชาวต่างชาติกลุ่มเสี่ยงให้ฉีดวัคซีน และร้อยละ 0.99 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ความคิดเห็นของประชาชนต่อการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้กับชาวต่างชาติในประเทศไทย พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 38.92 ระบุว่า ชาวต่างชาติทุกคนต้องเสียเงินในการฉีดวัคซีนเอง รองลงมา ร้อยละ 31.72 ระบุว่า ชาวต่างชาติที่เสียภาษีถูกต้องเท่านั้นที่ควรได้รับการฉีดวัคซีนฟรี ร้อยละ 25.72 ระบุว่า ชาวต่างชาติทุกคนควรได้รับการฉีดวัคซีนฟรี ร้อยละ 0.68 ระบุว่า ชาวต่างชาติกับรัฐบาลจ่ายคนละครึ่ง และร้อยละ 2.96 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

รัฐบาล จัดเต็มลดต้น - ลดดอก - ลดเบี้ยปรับกยศ. ช่วยลูกหนี้ฝ่าวิกฤตโควิด พร้อมเร่งผลิตกำลังคนรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลผ่านโครงการส่งเสริมการพัฒนาทุนมนุษย์ ระหว่างปีการศึกษา 2562 - 2566 สำหรับนักศึกษาผู้กู้ยืมเงินในระดับปริญญาตรี เมื่อสำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาที่กำหนดจะคิดดอกเบี้ยอัตราไม่เกิน 0.5% ต่อปี และได้ส่วนลดเงินต้น 30% สำหรับนักเรียน/นักศึกษาผู้กู้ยืมเงินในระดับอาชีวศึกษา เมื่อสำเร็จการศึกษา ในสาขาวิชาที่กำหนดจะคิดดอกเบี้ยอัตราไม่เกิน 0.5% ต่อปี และได้ส่วนลดเงินต้น 50%

“นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญในการสร้างโอกาสให้เด็กและเยาวชนไทยทุกคนโดยเฉพาะเด็กยากจนหรือเด็กด้อยโอกาส ให้เข้าถึงการศึกษา เพื่อผลิตกำลังคนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และ 3 โครงสร้างพื้นฐาน เพื่อป้อนกำลังคนในสาขาที่เป็นความต้องการในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษและวิชาชีพสาขาขาดแคลน ให้สอดคล้องกับแนวนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และเศรษฐกิจ BCG โดยในปีการศึกษา 62 และ 63 มีนักศึกษาเข้าร่วมโครงการแล้ว 59,874 คนและ 65,217คน ตามลำดับ”

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กยศ. ยังได้มีมาตรการช่วยเหลือผู้กู้ยืมในช่วงโควิด-19 เช่น ได้กำหนดลดเบี้ยปรับ 100% สำหรับผู้กู้ยืมที่ค้างชำระหนี้และปิดบัญชีสิ้นสุด 30 มิ.ย. 2564 ลดเบี้ยปรับ 80% เฉพาะผู้กู้ยืมที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีที่ชำระหนี้ค้างให้มีสถานะปกติสิ้นสุด 30 มิ.ย. 2564 ลดเงินต้น 5% สำหรับผู้กู้ยืมที่ไม่เคยผิดชำระหนี้และชำระหนี้ปิดบัญชีในคราวเดียวกันสิ้นสุด 30 มิ.ย. 2564 ลดอัตราเบี้ยปรับจาก 7.5% เหลือ 0.5% ถึง 30 มิ.ย. 2564 และพักชำระหนี้ให้แก่ผู้กู้ยืมที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2 ปี (2563 - 2564)

รมว.แรงงงาน ติดตามระบบลงทะเบียน "ม33เรารักกัน" ออนไลน์วันแรก เผย แค่เที่ยงวัน ยอดพุ่งกว่า 5.6 ล้านคน มั่นใจข้อมูลไม่ตกหล่น ด้านสำนักงานประกันสังคม จัดเจ้าหน้าที่บริการทางสายด่วน 1506 ย้ำหมดเขต 7 มีนาคมนี้

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงภาพรวมการลงทะเบียนออนไลน์โครงการ ม33เรารักกัน ผ่านเว็บไซต์ www.ม33เรารักกัน.com ที่ได้เปิดลงทะเบียนในวันนี้เป็นวันแรก โดยเริ่มมาตั้งแต่เวลา 06.00 น.นั้นปรากฎว่า จนถึงเวลา 12.00 น. มีผู้ประกันตนมาตรา 33 ใช้สิทธิ์ลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์แล้วกว่า 5.6 ล้านคน โดยผู้มีสิทธิ์จะต้องเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ก่อนวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

สำหรับการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกันตนขณะนี้สำนักงานประกันสังคมได้จัดเจ้าหน้าที่ไว้คอยบริการข้อมูลทางโทรศัพท์กรณีผู้ประกันตนรายใดที่มีปัญหาติดขัดในการลงทะเบียนหรือจะสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ ม33เรารักกัน สามารถโทรศัพท์มาได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 1 สำนักงานประกันสังคม

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการ ม33เรารักกัน คณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 โดยรัฐบาลจะจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับสิทธิคนละ 4,000 บาท และได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในวันนี้ผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงได้มาติดตามความคืบหน้าผลการลงทะเบียนออนไลน์โครงการ ม33เรารักกัน ในวันนี้ซึ่งเป็นวันแรก ที่สำนักงานประกันสังคม

ข้อดีของโครงการ ม33เรารักกัน เนื่องจากสำนักงานประกันสังคมมีระบบฐานข้อมูลความเป็นผู้ประกันตนของนายจ้างและลูกจ้างแต่ละคนในระบบอยู่แล้ว จึงเชื่อมั่นว่ากรณีข้อมูลตกหล่นจะไม่เกิดขึ้นแต่อย่างใด รมว.แรงงานยังเน้นย้ำให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่มีคุณสมบัติครบ คือ มีสัญชาติไทย เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ไม่เป็นผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และไม่ได้รับสิทธิโครงการเราชนะ ไม่มีเงินฝากในสถาบันการเงินรวมกันเกิน 500,000 บาท ณ 31 ธ.ค.63 รีบลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันนี้ เวลา 06.00 - 23.00 ไปจนถึงวันที่ 7 มีนาคม 2564 โดยลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.ม33เรารักกัน.com

และตรวจสอบการได้รับสิทธิ์ จากนั้น ธนาคารทำการตรวจสอบข้อมูลรวมทั้งประมวลผลคัดกรอง วันที่ 8 - 14 มี.ค.64 ตรวจสอบสถานะผู้ได้รับสิทธิผ่านทาง www.ม33เรารักกัน.com และกดยืนยันตัวตนผ่านแอพพลิเคชั่น‘เป๋าตัง’ วันที่ 15 - 21 มี.ค.64 ได้วงเงินผ่านแอปพลิเคชัน ‘เป๋าตัง’ครั้งละ 1,000 บาท รวมทั้งสิ้น 4,000 บาท ในวันที่ 22,29 มี.ค. และวันที่ 5,12 เม.ย.64 เริ่มใช้แอปพลิเคชัน ‘เป๋าตัง’จ่ายเงินสำหรับการซื้อสินค้าและบริการกับร้านค้าภายในโครงการเราชนะได้ตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค. - 31 พ.ค.64

ส่วนการขอทบทวนสิทธิ วันที่ 15-28 มี.ค.64 ผู้ที่ไม่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติ จะสามารถขอทบทวนสิทธิผ่าน www.ม33เรารักกัน.com วันที่ 29 มี.ค.- 4 เม.ย.64 ธนาคารทำการตรวจสอบข้อมูลรวมทั้งประมวลผลคัดกรอง วันที่ 5 - 11 เม.ย.64 ตรวจสอบสถานะผู้ได้รับสิทธิผ่านทาง www.ม33เรารักกัน.com และกดยืนยันตัวตนผ่านแอพพลิเคชั่น‘เป๋าตัง’วันที่ 12,19 เม.ย.64 ได้วงเงินผ่านแอปพลิเคชัน ‘เป๋าตัง’ครั้งละ 2,000 บาท เริ่มใช้แอปพลิเคชัน ‘เป๋าตัง’จ่ายเงินสำหรับการซื้อสินค้าและบริการผ่านร้านค้า/ผู้ประกอบการ/บริการร้านธงฟ้าที่ใช้แอป "ถุงเงิน" โครงการคนละครึ่ง และโครงการเราชนะได้ตั้งแต่วันที่ 12 เม.ย.- 31 พ.ค.64


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top