Tuesday, 20 May 2025
PoliticsQUIZ

‘บิ๊กตู่’ เตรียมนำ 4 รัฐมนตรีใหม่เข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ 27 มี.ค. นี้ พร้อมเล็งประเมินผลงานรัฐมนตรีทั้งคณะทุก 3 เดือน ลั่นถ้าผลงานไม่ดี มีสิทธิโดนเด้ง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวว่า ภายหลังโปรดเกล้าฯ รัฐมนตรีใหม่แล้ววานนี้ เบื้องต้นรับทราบว่าจะมีการเข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ฯปฏิญาณตนในวันเสาร์ที่ 27 มี.ค.นี้ ซึ่งภายหลังเข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ฯแล้วจะเรียกรัฐมนตรีใหม่มาหารือพูดคุยถึงการทำงานก่อนที่จะเริ่มปฏิบัติหน้าที่

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการสลับตำแหน่งระหว่าง รมช.คมนาคมกับ รมช.พาณิชย์ ว่า เพื่อให้ทั้ง 2 กระทรวงขับเคลื่อนงานให้ดีและรวดเร็วขึ้น เพราะมีหลายอย่างที่ต้องทำ ยืนยันไม่ผิดหลักการใดๆ ทั้งสิ้น เพราะหากสลับปรับใครไป หากทำงานไม่ดี ก็จะถูกปรับออก ซึ่งงานของทั้ง 2 กระทรวง เป็นการสร้างโอกาสและให้ทุกคนเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานโดยเร็วที่สุด มีรายได้ทางเศรษฐกิจและการขนส่งสินค้า ซึ่งวันนี้ต้องเร่งหารายได้มากยิ่งขึ้น โดยขณะนี้มีการเปิดตลาดการค้าต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง

ส่วนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) นั้น นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ถือว่ามีความสำคัญและเป็นกลไกหนึ่งที่ต้องทำให้เกิดความทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำและเป็นธรรม เพราะขณะนี้สังคมมีปัญหาอุปสรรค เพราะมีความไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน มีข้อมูลที่ไม่ตรงกัน ซึ่งต้องสร้างความเข้าใจเรื่องของประชาธิปไตยที่ไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น เพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวายและทำผิดกฎหมาย การให้เกียรติซึ่งกันและกันเป็นสิ่งสำคัญ

ส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องวุฒิการศึกษาของรัฐมนตรีใหม่บางคนไม่ตรงกับกระทรวงที่ต้องบริหารงานนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐมนตรีก็ต้องปฏิบัติตามนโยบาย ซึ่งรัฐบาลจะเป็นผู้กำหนดนโยบายในภาพรวมและจะให้แนวทางแต่ละกระทรวงไปปฏิบัติตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติและกรอบการปฏิรูปการศึกษา

พร้อมยืนยันว่าทั้งหมดต้องถูกควบคุมการบริหารโดยนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล และต้องผ่านกลไกของ ครม. ทั้งนี้จะมีการติดตามการทำงานและประเมินผลงานของรัฐมนตรีทั้งหมดทุก 3 เดือน และจะมีการพิจารณาปรับอยู่เสมอและเชื่อว่าทุกอย่างจะดีขึ้น

“นภาพร” เผย ฝ่ายค้านหารือ พ.ร.บ.ประชามติ 1 เม.ย. 64 ยัน เดินหน้าตามวิถีประชาธิปไตย ซัด รบ.ไม่เห็นความสำคัญปชช.เลย

เมื่อวันที่ 24 มี.ค. ที่รัฐสภา นางสาวนภาพร เพ็ชร์จินดา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย กล่าวถึงประเด็นที่มีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) บางส่วน มีเเนวโน้มว่าจะคว่ำ พ.ร.บ ประชามติ ว่าหลังจากที่ตนได้เห็นข่าวเเล้วมีความรู้สึกว่า ส.ว.เเละส.ส. ฝ่ายรัฐบาลไม่ต้องการให้ฝ่ายค้านกระทำการในลักษณะใด ๆ เลย โดยก่อนหน้านี้มีข่าวว่าจะมีการยื่นหนังสือให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอีกครั้งหนึ่ง ตนเห็นว่าถ้ายังอยากให้ประเทศเดินหน้าต่อไป เเต่ท่านไม่ทำประชามติหรือทำอะไรเลย ประเทศจะเดินต่อไปได้ยาก

 

นางสาวนภาพร กล่าวว่า “ก่อนหน้านี้ในขณะที่มีผู้ชุมนุมออกมาเคลื่อนไหวในช่วงเเรกนั้น ส.ว. เห็นม็อบมีท่าทีจะจุดติด จึงเห็นด้วยให้มีการเเก้ไขรัฐธรรมนูญ เเต่พอเมื่อ ส.ว. เห็นว่าม็อบเริ่มจุดไม่ติดเเล้ว ผู้ชุมนุมบางส่วนถูกจำคุกเเละไม่ได้รับการประกันตัว ท่านกลับทำตัวเช่นนี้หรือ ส่วนประเด็นการทำประชามติ หากจะอ้างว่าเปลืองงบประมาณในการจัดทำประชามติคงไม่ถูกต้องเสียทีเดียว หากมองย้อนกลับว่าเรามีการประชุมศึกษาการเเก้ไขรัฐธรรมนูญไปตั้งกี่ครั้งเเล้ว ใช้งบประมาณไปเท่าไร เเต่สุดท้ายท่านทั้งหลายก็คว่ำ ท่านเสียดายเงินที่จะทำประชามติในอนาคต เเต่ท่านไม่เสียดายเงินตรงนี้บ้างหรือ หาก ส.ว. พูดเช่นนี้ดูเหมือนจะเป็นการเข้าข้างตัวเองเกินไปหรือไม่”

 

นางสาวนภาพร กล่าวต่อว่า ในส่วนทางพรรคตนก็ยังคงเดินหน้าต่อ เพราะเป็นวิถีทางเเห่งประชาธิปไตยที่ฝ่ายเราเห็นว่าควรจะต้องทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ไม่ใช่ให้บุคคลไม่กี่คนที่ใครเลือกมาก็ไม่รู้มาทำการตัดสินใจให้เกิดสิ่งที่ไม่ควรจะเกิด ซึ่งตนคิดว่าหากเป็นไปในลักษณะนี้ การเเก้ไขรัฐธรรมนูญอาจไม่เกิดขึ้นด้วยซ้ำไป ซึ่งตอนนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีการออกมาเย้ยประชาชนอย่างที่เป็นข่าว ตนจึงอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ จำการกระทำดังกล่าวไว้ให้ดี หากวันหนึ่งภาคประชาชนมีการรวมตัวขึ้นมาจากทุกกลุ่มสีเสื้อ เพราะในตอนนี้เริ่มมีการพูดคุยของหลายๆ ฝ่ายเเล้ว

 

เมื่อถามว่าทางออกในเรื่องนี้จะเป็นเช่นไร นางสาวนภาพร กล่าวว่า ฝ่ายค้านได้ประเมินสถานการณ์อยู่ว่าอาจจะเเก้รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราเเทน เเต่ก็มีบางท่านที่เห็นว่าหากทำในลักษณะนั้นก็อาจเข้าทางของฝ่ายเผด็จการได้ ซึ่งฝ่ายค้านก็จะมีการปรึกษาหารือทั้งเรื่องรัฐธรรมนูญเเละประชามติในวันที่ 1 เม.ย. 2564 อีกครั้งหนึ่ง

พี่สาวรุ้ง เผย ข้อความจาก ‘รุ้ง ปนัสยา’ ฝากถึงผู้ชุมนุม ยอมรับคนออกมาชุมนุมไม่มากเหมือนปีที่แล้ว แต่กระบวนประชาธิปไตยต้องไปต่อ

จากเฟซบุ๊ก Panusaya Sithijirawattanakul ได้มีการเผยแพร่ข้อความที่อ้างว่า พี่สาวของ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง ได้นำข้อความจาก รุ้ง ที่ขณะนี้อยู่ในเรือนจำ ฝากถึงผู้ชุมนุมว่า...

ข้อความจากรุ้ง

รุ้งรู้ว่าตั้งแต่ที่รุ้งเข้ามาเรือนจำ คนออกมาชุมนุมไม่มากเหมือนปีที่แล้ว อยากบอกทุกคนว่า ทุกคนมีเหตุผลของตัวเองที่จะออกมาหรือไม่ ไม่ว่าจะด้วยอุดมการณ์ ออกมาเพราะชื่นชมแกนนำ หรือเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของการเคลื่อนไหว

สถานการณ์ตอนนี้ไม่ดีเลย มีคนต้องเข้ามาอยู่ในเรือนจำทีละคนๆ พรุ่งนี้ก็อาจจะมีเพื่อนของเราเข้ามาเรือนจำอีกถ้าพวกเขาไม่ได้รับการประกันตัว

ถ้าทุกคนไม่ออกมาไม่ว่าด้วยความกลัว ความใจเย็น วันต่อไปก็อาจจะเป็นคนใกล้ตัวคุณที่จะต้องเข้าเรือนจำ

อย่าให้ความกลัวหยุดการเคลื่อนไหว ทำให้คุณลังเลในการออกมาชุมนุมกับเพื่อน ๆ ของเรา

กระบวนประชาธิปไตยต้องไปต่อ และต้องไปต่อเรื่อยๆ แม้จะมีคนหายไประหว่างทาง

แต่ถ้าคุณมีใจคิดถึงพวกเรา อยากให้พวกเราได้ออกไป และไม่ต้องการให้ใครเข้ามาในนี้อีกวันนี้ทุกคนต้องออกไปชุมนุมกับเพื่อนๆ

มีเพื่อนชวนเพื่อน ชวนพ่อ แม่ ชวนครอบครัว จับมือร่วมกับเพื่อนเรา ให้เขาได้รู้ว่าถึงคุณจะจับอีกกี่คนก็หยุดเจตจำนงของประชาชนไม่ได้

รุ้ง ปนัสยา

(โพสต์โดยพี่สาวน้องรุ้ง)


ที่มา: https://www.facebook.com/panusaya.sithijirawattanakul/posts/3806679712712630

"อนุทิน" เยี่ยม รพ.สนามสโมสรตำรวจ มั่นใจมาตรฐานความปลอดภัย ป้องกันเชื้อหลุดสู่ชุมชน

24 มีนาคม 2564 ที่ โรงพยาบาลสนาม บริเวณสโมสรตำรวจ ผู้สื่อข่าวรายงานว่านายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหารได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมมาตรการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 และมาตรฐานด้านความปลอดภัย ในการตั้งโรงพยายาลสนาม 

หลังการตรวจเยี่ยม นายอนุทิน กล่าวว่า การใช้โรงพยาบาลสนามในการควบคุมโรค เป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพ และใช้โดยทั่วไป ผู้ที่เข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งนี้ เป็นคนต่างด้าว ในวัยหนุ่มสาว ป่วยไม่แสดงอาการ ก็ต้องรักษาจนหาย ตามวิธีที่กำหนดไว้ แต่ถ้าหากแสดงอาการก็จะต้องส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาล อาทิ โรงพยาบาลในเครือข่ายสถาบันกรมการแพทย์ โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลนพรัตน์ โรงพยาบาลเลิดสิน  โรงพยาบาลในเครือข่ายของกรุงเทพมหานคร เป็นต้น

ในส่วนของการรักษา ทำอย่างเต็มที่ตามความเหมาะสม เมื่อผู้ป่วยหายป่วยแล้วก็ต้องผลักดันกลับประเทศ อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนดังกล่าวต้องประสานประเทศปลายทางให้มารับคนของตนเองกลับ ทางการไทย จะไม่นำใครไปทิ้งขว้าง 

ขอยืนยันว่า การตั้งโรงพยาบาลสนามแต่ละครั้งมีการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบมาก ต้องพิจารณาหลายปัจจัย ป้องกันการแพร่เชื้อสู่ชุมชนภายนอก ขอให้ประชาชนมั่นใจมาตรการ และความสามารถในการจัดการปัญ ทั้งนี้ ได้ จัดสรรวัคซีนแก่เจ้าหน้าที่ ตำรวจ พี่จะต้องทำงานเกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคแล้วเพื่อสร้างความมั่นใจในการปฏิบัติหน้าที่ 

สำหรับแผนการบริหารจัดการวัคซีนยังเป็นไปตามเป้า เดือนมิถุนายนจะมีการกระจายวัคซีนสู่ประชาชนจำนวน 5 ล้านโดส หลังจากนั้นจะเพิ่มมากขึ้นเป็น 10 ล้านโดสต่อเดือน ขอย้ำว่าประเทศไทย มีวัคซีนเพียงพอต่อความต้องการ

กลุ่มเปราะบางแม่กลอง เฮ!! กระทรวงแรงงาน สร้างโอกาส มีงานทำ มีอาชีพ สร้างหลักประกันในชีวิต

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่สมุทรสงคราม ตรวจเยี่ยมโครงการขยายโอกาสการมีงานทำแก่กลุ่มเปราะบาง กิจกรรมส่งเสริมการประกอบอาชีพให้ผู้สูงอายุตรงตามความต้องการของตนเอง ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม เสริมสร้างภาวะทางร่างกาย จิตใจ ตระหนักถึงคุณค่าและศักยภาพของตนเองให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ 
นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานตรวจเยี่ยมโครงการขยายโอกาสการมีงานทำให้ผู้สูงอายุ กิจกรรมส่งเสริมการประกอบอาชีพให้ผู้สูงอายุ จังหวัดสมุทรสงคราม ณ วิสาหกิจชุมชนบ้านสวนนุกูล หมู่ที่ 4 ตำบลท้ายหาด อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม โดยมี นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย 

โดยนางธิวัลรัตน์ กล่าวว่า รัฐบาล ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และกลุ่มเปราะบาง ให้มีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้ มีหลักประกันความมั่นคงในชีวิต

นางธิวัลรัตน์ กล่าวต่อว่า ในวันนี้ ท่านสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงได้มอบหมายให้ดิฉันลงพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อมาตรวจเยี่ยมโครงการขยายโอกาสการมีงานทำให้ผู้สูงอายุ กิจกรรมส่งเสริมการประกอบอาชีพให้ผู้สูงอายุ จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งมีผู้เข้ารับการอบรมเป็นผู้สูงอายุ 20 คน โดยกิจกรรมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการส่งเสริมการประกอบอาชีพที่ตรงตามความต้องการของตนเอง ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม รวมทั้งได้รับการเสริมสร้างภาวะทางร่างกาย จิตใจ ตระหนักถึงคุณค่าและศักยภาพของตนเองนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี 

โดยจัดอบรมหลักสูตร “การทำขนมไทยโบราณ” ได้แก่ การทำขนมบุหลันดั้นเมฆ ขนมช่อผกากรอง และขนมเปี๊ยะบัวหิมะ ในวันที่ 24 – 25 มีนาคม 2564 การฝึกอบรมในครั้งนี้จะทำให้ผู้เข้ารับการอบรมนำความรู้ที่ได้ไปประกอบอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ นำไปต่อยอดโดยการการส่งเสริมการมีงานทำ และส่งเสริมการประกอบอาชีพอิสระให้กับผู้สูงอายุ ผู้พิการ และกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ ให้มีรายได้สามารถพึ่งพาตนเองและมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นต่อไปได้อีกด้วย

“ประวิตร” รับ! ฉีดแอสตราเซเนกาแล้ว ไร้ผลข้างเคียง เผยพร้อมจิ้มเข็ม 2 อีก 3 เดือนข้างหน้า

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ผ่านทางโทรศัพท์ ถึงกระแสข่าวการเดินทางไปฉีดวัคซีน ป้องกันเชื้อไวรัส covid-19 ของบริษัทแอสตราเซเนกา เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมาที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์  ว่า ตนเองได้ฉีดวัคซีนของแอสตราเซเนกาจริง ซึ่งไม่มีผลข้างเคียงใด ๆ และมีอาการเป็นปกติ รวมไปถึงยังมีอารมณ์ดี ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร ยังเปิดเผยอีกว่า การฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 จะฉีดอีกครั้งในอีก 3 เดือนข้าง

“ชินวรณ์ - ราเมศ” รับหนังสือกลุ่มวีแฟร์ ยืนยัน ประชาธิปัตย์ ดำเนินนโยบายที่เป็นรากฐานของสังคม มั่นใจนโยบายที่ใช้หาเสียงมีความคืบหน้า

24 มี.ค. 2564 นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ ส.ส.จังหวัดนครศรีธรรมราช ในฐานะประธานวิปพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยนายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรค ร่วมกันเป็นตัวแทนรับหนังสือจากกลุ่มเครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม WE FAIR ที่พรรคประชาธิปัตย์ 

ภายหลังจากการรับหนังสือ นายชินวรณ์ ได้กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ เป็นสถาบันทางการเมือง โดยตั้งแต่พรรคได้ก่อตั้งมาจนถึงปัจจุบัน ก็ให้ความสำคัญเป็นพิเศษโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการเดินหน้าไปสู่รัฐสวัสดิการ ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์มีนโยบายที่เป็นรากฐานของสังคมจนมาถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็น นโยบายการกระจายโอกาสให้เด็กไทยได้มีโอกาสเรียนจากภาคบังคับ มาเป็นภาคการศึกษาขั้นพื้นฐาน ต่อมาขยายโอกาสให้ได้เรียนต่อในระดับมัธยม และเปิดมหาวิทยาลัยในภูมิภาคมากขึ้น 

โดยเฉพาะในสมัยที่ตนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พรรคประชาธิปัตย์ก็มีนโยบายเรื่องการเรียนฟรี 15 ปี โดยใช้งบประมาณอย่างน้อยปีละ 80,000 ล้านบาท จนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 12 ปี พี่น้องประชาชนคนยากคนจนได้หนังสือ แบบเรียน อุปกรณ์การเรียน ถือเป็นความพยายามลดความเหลื่อมล้ำ และยังได้เริ่มต้นโครงการสวัสดิการสังคมที่สำคัญในเรื่องสุขภาพ โดยพรรคประชาธิปัตย์มีแนวคิดในการให้พี่น้องประชาชนได้รับการประกันสุขภาพจนได้รับการพัฒนามาเป็นลำดับ สำหรับนโยบายที่เกี่ยวกับเด็ก สตรี และผู้สูงอายุ ในการที่จะให้ได้รับการดูแลจากรัฐก็ล้วนเริ่มต้นจากนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์เช่นกัน 

“ในฐานะที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ผมขอยืนยันว่า เราจะดำเนินแนวทางทางการเมืองที่เป็นธรรมาภิบาล เพื่อให้นำไปสู่การเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น โดยจะได้เห็นการต่อสู้ในเรื่องของการที่จะให้มีการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น เป็นไปตามหลักสากล” นายชินวรณ์กล่าว 

พร้อมกับระบุเพิ่มเติมว่า พรรคยึดมั่นในหลักการใหญ่ 3 ประการ เกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญ ประการแรกคือ ยึดมั่นการปกครองในประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยจะแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญยกเว้นหมวด 1 หมวด 2 และที่เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจ ประการที่ 2 มาตรา 256 ที่ทำให้การแก้ไขได้ยากนั้น ได้ใช้เสียงข้างน้อยมาครอบงำเสียงข้างมาก ไม่เป็นไปตามหลักสากลในระบอบประชาธิปไตย ที่ต้องตัดสินด้วยเสียงข้างมาก และเคารพเสียงส่วนน้อยด้วย (Majority rule and Minority rights) มาตรา 272 

การให้ ส.ว. มีสิทธิ์โหวตนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นเรื่องที่ไม่เป็นไปตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เพราะ เมื่อ ส.ว. ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็ควรมีหน้าที่ในการกลั่นกรองกฎหมายเท่านั้น และยังมีเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน เรื่องสิทธิชุมชน เรื่องรัฐสวัสดิการ และการกระจายอำนาจ ตลอดจนเรื่องธรรมาภิบาล 

ส่วนเรื่องเศรษฐกิจ พรรคก็มุ่งเน้นเรื่องปากท้องของประชาชน โดยยืนยันว่า พรรคจะทำไปพร้อมกันทั้งเรื่องการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญเพื่อให้ดุลยภาพ มีเสถียรภาพ ลดความขัดแย้งทางสังคม ส่วนเรื่องปากท้องของประชาชนนั้น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ก็ได้ดูแลโดยเฉพาะนโยบายการประกันรายได้เกษตรกร ในพืช 5 ชนิด ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพด 

พร้อมกับดูแลปัญหาราคาสินค้า นำมาสู่แนวคิด “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ในวันนี้ก็จะเห็นภาพได้อย่างชัดเจนว่า ในภาวะฝืดเคือง มีวิกฤติเศรษฐกิจ แต่กลุ่มเกษตรกรก็ยังมีนโยบายประกันรายได้ที่พอจะเป็นหลักพอที่จะทำให้หายใจได้ พรรคมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมฯ เพื่อดูแลเด็กและสตรี คนพิการ ซึ่งล้วนเป็นเรื่องที่มีความคืบหน้ามาแล้วทั้งสิ้น รวมไปถึงการเสนอ พรบ.เงินออม ซึ่งก็เป็นนโยบายของพรรคเช่นกัน

พร้อมกันนี้นายชินวรณ์ ได้กล่าวขอบคุณกลุ่มเครือข่ายที่มาเป็นแรงเสริม เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนนโยบายต่อไป ซึ่งประชาธิปไตยจะเข้มแข็งได้ภาคประชาชนจะต้องมีความเข้มแข็งด้วย 

ทั้งนี้ นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรค ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงนโยบายเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด พรรคก็ได้เริ่มทำแล้วแม้จะยังไม่ถ้วนหน้า แต่ก็เล็งเห็นว่าเด็ก เยาวชนต้องได้รับการดูแล พร้อมทั้งมั่นใจว่าในอนาคตก็จะมีความคืบหน้าไปโดยลำดับ ซึ่งจะเห็นได้จากการที่ประชาธิปัตย์เป็นพรรคแรกที่ส่งเสริมให้เด็กได้ดื่มนม โดยโครงการนมโรงเรียนได้ริเริ่มมาตั้งแต่สมัยนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี จนถึงปัจจุบัน 

“ข้อมูลที่ได้นำเสนอมา ก็เชื่อว่าตัวแทนของประชาชนก็พร้อมที่จะผลักดันเพิ่มเติมเพื่อให้ได้งบประมาณต่อไป แต่เมื่อพรรคไม่ได้เป็นแกนนำหลัก และการมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องในบางกระทรวง พรรคจึงได้พยายามผลักดันนโยบายให้เป็นไปตามสิ่งที่ได้เคยหาเสียงไว้ และทำให้ดีที่สุด” นายราเมศกล่าว

อีกทั้งได้เพิ่มเติมในเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญว่า พรรคได้มองไปถึงเรื่องสิทธิของพี่น้องประชาชน รวมถึงเรื่องสวัสดิการต่างๆ ที่ในรัฐธรรมนูญปี 60 ขาดตกบกพร่องไปพอสมควร อย่างเรื่องสิทธิชุมชน พรรคจึงมีแนวคิดดึงสิ่งเหล่านี้กลับคืนมาด้วย

'ปิยบุตร' ไม่ทิ้ง ‘คนยโสธร-คนอีสาน’ รับฟังปัญหากลุ่มทุนมาตั้ง ‘โรงงานน้ำตาล - โรงไฟฟ้าชีวมวล’ โดยที่คนในพื้นที่ไม่ต้องการ ซัด นี่เป็นการล่าอาณานิคมโดยทุนขนาดใหญ่ภายในประเทศ

วันที่ 24 มีนาคม 2564 ที่ อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า เดินทางไปรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ที่คัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล และเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง

โดยผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อนายปิยบุตร เดินทางมาถึงยังพื้นที่ ชาวบ้านต่างตะโกนโห่ร้องแสดงความยินดีและปรบมือแสดงความดีใจ เนื่องจากเมื่อครั้งที่นายปิยบุตร เป็น ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ และเป็นประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ทางชาวบ้านได้เคยมายื่นหนังสือเพื่อขอให้ผลักดันปัญหาความเดือดร้อนจากการตั้งโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ของกลุ่มทุนใหญ่

โดยปัญหานี้ สืบเนื่องจากช่วงกลางปี พ.ศ. 2559 ในพื้นที่ ต.น้ำปลีก อ.เมือง จ.อํานาจเจริญ มีโครงการจัดตั้งโรงงานน้ำตาลขนาด 20,000 ตันอ้อย/วัน และโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาด 61 เมกะวัตต์ มีความกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ก่อให้เกิดการรวมตัวกันของกลุ่มชาวบ้านใน ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร ซึ่งเป็นชุมชนที่อยู่ภายใต้รัศมี 5 กิโลเมตรจากพื้นที่สร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล

นายปิยบุตร กล่าวว่า พี่น้องประชาชนได้เคยมายื่นหนังสือร้องเรียนกับตนเองในวันที่ 10 ธ.ค. 2562 ตอนนั้นตนเองเป็นประธาน กมธ.กฎหมายฯ เมื่อได้รับหนังสือร้องเรียนมาแล้วก็ได้บรรจุเรื่องนี้เข้าไปในวาระการประชุมทันที ซึ่งวาระดังกล่าวก็ยังอยู่ในขั้นตอนการต่อคิวอยู่ พอดีว่าต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญได้สั่งยุบพรรคอนาคตใหม่และตัดสิทธิทางการเมืองตนเองอีก 10 ปี ทำให้เมื่อไม่มีอำนาจรัฐแล้ว ไม่ได้เป็น ส.ส.แล้ว จึงได้ฝากเรื่องนี้กับเพื่อน ส.ส.จากพรรคอนาคตใหม่ ที่ต่อมาก็ได้มาสังกัดพรรคก้าวไกล คือ รังสิมันต์ โรม ที่ก็อยู่ กมธ.กฎหมายด้วยกัน ให้ช่วยผลักดันเรื่องนี้ต่อ สุดท้ายตอนนี้ กมธ.กฎหมายฯ ก็ได้ตั้งคณะทำงานตรวจสอบการมีส่วนร่วมกรณีโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล 8 จังหวัดขึ้นมา

นายปิยบุตร กล่าวต่อไปว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้ง กรณีโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล รวมถึงปัญหาการเอาเขื่อนขนาดใหญ่ นิคมอุตสาหกรรมมาสร้างนั้น มีปัญหาร่วมกันระดับโครงสร้าง 3 ประการด้วยกัน คือ 

1.) ปัญหาด้านการกระจายอำนาจ เพราะถ้าหากมีการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง ท้องถิ่นมีงบประมาณ มีทรัพยากรและมีอำนาจตัดสินใจ เมื่อจะทำโครงการอะไร ท้องถิ่นเป็นคนอนุมัติ ก็ต้องกลับมาสอบถาม มาฟังเสียงของประชาชนเพราะประชาชนเป็นคนเลือกมากับมือ แต่ในปัจจุบันไม่ได้เป็นเช่นนั้นเพราะอำนาจอยู่ที่ส่วนกลาง อยู่ที่ส่วนภูมิภาค ที่ใช้อำนาจผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งผู้ว่าฯ เองก็ได้รับการแต่งตั้งมาจากกระทรวงมหาดไทย และยังได้รับความดีความชอบจากกระทรวงมหาดไทย จึงไม่แปลกที่จะตัดสินใจหรือเงี่ยหูฟังอำนาจจากส่วนกลางมากกว่าฟังประชาชนในพื้นที่

2.) ปัญหาขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน หรือหากมีก็เป็นเพียงพิธีกรรมที่ทำให้เสร็จไปตามขั้นตอนทางกฎหมายเท่านั้น ไม่ได้ต้องการให้ประชาชนเกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ทั้งนี้ วิธีแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริงเพื่อรักษาสมดุลระหว่างการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิต นอกจากนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นในกระบวนการมีส่วนร่วมก็มีกลโกงต่างๆ มากมาย อาทิ การให้ข้อมูลหลอกชาวบ้านในทีแรกว่าซื้อที่ไปสร้างสิ่งอื่น พอเรื่องแดงถึงจะมีการเปิดเผยความจริง 

รวมทั้งมีการกีดกันคนที่เห็นต่างในการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น และเกณฑ์คนที่เห็นด้วยหรือเกณฑ์คนจากพื้นที่อื่นเข้ามางานรับฟังความคิดเห็น หรือการมีหน่วยงานความมั่นคง ทั้งทหาร ตำรวจ กอ.รมน. เข้ามาควบคุมไม่ให้คนเห็นต่างเข้ามาเพราะกลัวเกิดเกิดความวุ่นวาย และเรื่องนี้พูดให้ถึงที่สุดยังเกี่ยวข้องกับโครงสร้างของกฎหมาย การจัดทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมหรือ EIA ที่เจ้าของบริษัทที่จะเอาโรงงานมาตั้งในพื้นที่ เป็นคนจ้างบริษัทที่ปรึกษามาทำรายงาน EIA ดังนั้นผู้รับจ้างเมื่อรับเงินแล้วก็ย่อมต้องทำให้ผ่าน หรือหากไม่ผ่าน ก็ยังไม่ตกไป ยังสามารถมีกระบวนการแก้ไขหรือจ้างบริษัทที่ปรึกษาใหม่มาทำให้กระบวนการนี้ผ่านให้ได้

3.) ปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างกลุ่มทุนขนาดใหญ่กับกลุ่มการเมืองที่มีอำนาจอยู่ในปัจจุบัน เพราะเป็นที่แน่ชัดแล้วว่านโยบายการอนุญาตให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล การสร้างโรงงานน้ำตาลจำนวนมาก ซึ่งหากแล้วเสร็จทั้งหมดจะมีจำนวนสูงถึงเกือบ 50 โรงด้วยกัน รวมทั้งการนำเอานิคมอุตสากรรมมาตั้งในพื้นที่ภาคอีสาน เป็นผลสืบเนื่องมาจากการรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 ที่รัฐบาล คสช. ออกนโยบายดังกล่าวมาเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนที่สนับสนุนรัฐบาล คสช.และต่อมาได้สืบทอดอำนาจมาเป็นรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ตั้งข้อสงสัยว่า ยังมีเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนที่ประธานคณะกรรมการที่ คสช.ตั้งมาอนุมัติโครงการก็เป็นคนเดียวกับประธานของกลุ่มทุนด้วย

“การเอาโครงการขนาดใหญ่อย่างโรงงานน้ำตาล โรงไฟฟ้าชีวมวลมาตั้งในพื้นที่โดยที่ประชาชนไม่ต้องการ เรื่องนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องของคนยโสธร หรือของคนอีสานเท่านั้น แต่เป็นปัญหาร่วมกันของพวกเราทุกคน ชัดเจนว่า เป็นทิศทางการพัฒนาประเทศที่ผิด นโยบายรัฐบาลเอื้อกลุ่มทุนใหญ่ ให้มากอบโกยเอาทรัพยากรกลับไป และทิ้งปัญหาและมลภาวะเอาไว้ให้ชุมชน เหมือนย้อนกลับไปยุคล่าอาณานิคม แต่เป็นการล่าอาณานิคมโดยทุนขนาดใหญ่ภายในประเทศ” นายปิยบุตร กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ชาวบ้านที่มาร่วมงานในวันนี้ ทุกคนต่างพร้อมใจกันชู 3 นิ้ว เพื่อเป็นสัญลักษณ์บอกไปยังผู้มีอำนาจในรัฐบาลว่า ต้องการให้เกิดการฟื้นฟู เยียวยา และแก้ไข ปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงใจและจริงจัง นอกจากนี้ ภายหลังจากเสร็จภารกิจในจังหวัดยโสธร นายปิยบุตรยังได้เดินทางต่อไปยังพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อช่วยผู้สมัครนายกเทศมนตรีและสมาชิกสภาเทศบาลปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งในช่วงโค้งสุดท้ายจำนวน 8 เวทีด้วยกัน ที่จะมีการเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 28 มีนาคม 2564 นี้

กระทรวงแรงงาน รับข้อเสนอ ทางการเมียนมา เตรียมจัดตั้งศูนย์ CI ในประเทศไทย 5 แห่ง

คณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (คบต.) เสนอขอจัดตั้งศูนย์ออกเอกสารรับรองบุคคล (CI) ของทางการเมียนมาในประเทศไทย จำนวน 5 แห่ง และศูนย์บริการเคลื่อนที่แก้ปัญหาหนังสือเดินทางคนต่างด้าวทยอยหมดอายุ เนื่องจากไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางเพื่อต่ออายุได้

วันที่ 24 มีนาคม 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (คบต.) ครั้งที่ 2/2564  โดยมีนายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม  ณ ห้องประชุม เทียน อัชกุล ชั้น 10 กรมการจัดหางาน อาคารกระทรวงแรงงาน เพื่อพิจารณาการขอจัดตั้งศูนย์ออกเอกสารรับรองบุคคล (CI) ของทางการเมียนมาในประเทศไทย จำนวน 5 แห่ง ในจังหวัดระนอง 1 แห่ง จังหวัดสมุทรปราการ 1 แห่ง จังหวัดเชียงใหม่ 1 แห่ง จังหวัดสมุทรสาคร 1 แห่ง และชลบุรี 1 แห่ง ถ้าหากจำเป็น จะออกให้บริการเคลื่อนที่นอกเหนือจาก 5 แห่งข้างต้นด้วย 

“จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  ทำให้ประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านที่จัดส่งแรงงานมาทำงานในประเทศไทย ประกาศใช้มาตรการด้านสาธารณสุข และมาตรการควบคุมโรค ซึ่งต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัย  อย่างไรก็ตาม การไม่สามารถเดินทางผ่านแดนได้ตามสถานการณ์ปกตินั้น หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะกระทบขั้นตอนการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ซึ่งกระทรวงแรงงานได้เตรียมแนวทางการรับมือปัญหาดังกล่าว โดยจัดตั้งศูนย์ออกเอกสารรับรองบุคคล (CI) ของทางการเมียนมาในประเทศไทย แห่งแรกในจังหวัดสมุทรสาคร พื้นที่เดียวกันกับศูนย์จัดเก็บข้อมูลแรงงานเมียนมาชั่วคราว (The Temporary Data Collection Centre : TDCC) และในอนาคตจะมีการจัดตั้งศูนย์ฯ เพิ่มขึ้นในจังหวัดต่างๆ ประมาณ 3 – 5 แห่ง  ตามความจำเป็น 

“ในส่วนทางการกัมพูชา จะส่งทีมเจ้าหน้าที่เข้ามาดำเนินการขยายอายุเอกสารเดินทาง (Travel Document : TD) โดยการติดสติ๊กเกอร์ลงในเล่มมีอายุ 2 ปี ณ สถานทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย ทั้งนี้ แรงงานกัมพูชาสามารถยื่นคำขอผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ และทางการลาว หนังสือเดินทางของแรงงานลาวที่ใกล้หมดอายุ สามารถมาดำเนินการติดต่อขอเปลี่ยนเล่มใหม่ได้ ณ สถานทูตลาวประจำประเทศไทย เพื่อมิให้แรงงานต่างด้าวที่ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีแล้วและถือเอกสารประจำตัวที่หมดอายุและกำลังจะหมดอายุมีสถานะเป็นคนต่างด้าวผิดกฎหมาย เรื่องนี้พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เน้นย้ำและติดตามความคืบหน้ามาโดยตลอด เนื่องจากอาจกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ปัญหาด้านความมั่นคง การค้ามนุษย์ รวมถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานด้วย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว 

ด้านนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า กรณีหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางของคนต่างด้าว ที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานอยู่ในประเทศไทยทยอยหมดอายุ และแรงงานต่างด้าวไม่สามารถเดินทางกลับเข้าประเทศต้นทางเพื่อไปทำหนังเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางใหม่ได้ เป็นเรื่องเร่งด่วนที่กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่รับผิดชอบของทั้ง 3 ประเทศ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ต้องร่วมกันหารือแนวทางรับมือข้อขัดข้องที่อาจเกิด เนื่องจากการที่แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติจะทำงานและอยู่ในราชอาณาจักรอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เอกสารประจำตัวแรงงานต่างด้าวจะต้องมีความครบถ้วนสมบูรณ์ก่อนที่จะไปดำเนินการตรวจลงตรา (Visa) เพื่อขออยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไป ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง 

สำหรับผู้ที่ต้องการสอบถามขั้นตอนขอรับใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าว สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10  หรือที่ไลน์ @Service_Workpermit หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694  ซึ่งมีการจัดล่ามในภาษากัมพูชา เมียนมา และอังกฤษ ให้บริการข้อมูลข่าวสาร และแนะนำวิธีการดำเนินการ

ช่อ พรรณิการ์ หาเสียงโคราช ชูนโยบายเอาใจวัยรุ่น 4 แก้ 4 ก้าว

วันที่ 24 มีนาคม ที่ จ.บุรีรัมย์นางสาวพรรณิการ์  วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า เดินทางพบปะ ผู้สมัครนายกเทศมนตรี  ในนามคณะก้าวหน้า ในส่วนของเทศบาลตำบลหนองตาด คณะก้าวหน้าส่งนางสาวกาญจนา เขียวรัมย์ ลงสมัครในตำแหน่งนายกเทศมนตรีเทศบาลหนองตาด เบอร์ 5 โดยกิจกรรมเป็นการพูดคุยกับพ่อแม่พี่น้องตำบลหนองตาด นางสาวพรรณิการ์ ระบุว่า “พ่อแม่พี่น้องทราบหรือไม่เทศบาลตำบลเรามีงบประมาณพัฒนาหนองตาดประมาณ 300 ล้านบาทตลอดวาระ 4 ปี เงินจำนวนนี้จะว่าน้อยก็น้อย จะว่าเยอะก็เยอะ

“ถ้าเรานำมาจัดสรรได้จริงตรงตามความต้องการที่แท้จริงของพ่อแม่พี่น้อง นำมาแก้ปัญหาน้ำแล้ง ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน ทำศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก มีโรงเรียนคุณภาพเป็นของตัวเอง วันอาทิตย์ที่ 28 มีนานี้ออกไปใช้สิทธิ์เข้าคูหาเลือกอนาคตของท่านด้วยตัวท่านเอง เลือกคนที่มีอุดมการณ์ เลือกคนที่มีนโยบายที่จะทำให้หนองตาดเจริญ เปลี่ยนความคิดให้โอกาสคนหน้าใหม่ หากท่านเลือกเฉพาะคนรู้จัก คนคุ้นหน้า คนเดิมๆ ก็จะได้แต่อะไรเดิมๆ อยากทุกคนดูที่ความตั้งใจ นโยบายเป็นหลัก” 

ด้านนางสาวกาญจนา ผู้สมัครเทศมนตรีเทศบาลตำบลหนองตาด เบอร์ 5 กล่าวว่า ตนมีความพร้อมที่จะเข้ามาพัฒนาบ้านเกิดอย่างจริงจัง เพราะก่อนหน้านี้ตนได้เคยดำรงตำแหน่ง นักพัฒนาวางแผนข้อมูลของเทศบาลตำบลหนองตาดมากว่า 10 ปี และขอได้ลาออกมาเตรียมตัวลงสมัครนายกเทศมนตรีมาอย่างน้อย 5 ปีแล้ว ยุทธศาสตร์ของหนองตาดที่ตนเล็งเห็นคือเรา มีรถไฟวิ่งผ่านกลางเมืองเทศบาล จึงมีแนวคิดจะนำส่งสินค้าเกษตรของพี่น้องเข้าไปขายในเมืองเพื่อเพิ่มมูลค่า เพราะปัจจุบันสินค้าทางเกษตรมากมาย ทั้งหอม กระเทียม เห็ดนางฟ้า ของเรามีคุณภาพมาก แต่ยังขาดตลาดที่รองรับ หากตนได้รับเลือกเข้ามาทำงานก็จะผลักดัน อย่างเต็มที่เพราะได้ลงมือปลูกและสอนชาวบ้านทำแปลงเกษตร บ้านเห็ดด้วยตัวเองอีกด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้น นางสาวพรรณิการ์เดินทางต่อไปยังจ.นครราชสีมา เพื่อช่วยนายฉัตร สุภัทรวณิชย์ ผู้สมัครนายกเทศมนตรีเทศบาลนครนครราชสีมา เบอร์ 4 และพบปะทีม สท ทั้ง 4 เขต โดยทีมผู้สมัครคณะก้าวหน้า ได้นำเสนอนโยบายที่จะแก้ปัญหาให้ชาวโคราช “4แก้4ก้าว เพื่อชาวโคราช” 

4 แก้ได้แก่
1.) แก้โครงสร้างพื้นฐาน ถนนต้องดี มีไฟทั่วถึง ประชาชนมีน้ำสะอาดใช้ 
2.) แก้เศรษฐกิจ Korat Walkable City เมืองที่เดินได้อย่างปลอดภัย คึกคัก24ชม.พัฒนาแลนมาร์ก 
3.) แก้รถติด มีระบบขนส่งมวลชนที่มันสมัยด้วย รถเมล์ไฟฟ้าไร้มลพิษ 
4.) แก้การเมืองให้โปร่งใส วางรากฐานที่มั่นคงตรวจสอบได้เปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมพัฒนาบ้านเกิดไปด้วยกัน 

4 ก้าวได้แก่ 
1.) ก้าวสู่ความมั่นคงทางสุขภาพ ด้วยการเพิ่มศูนย์การแพทย์ดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียงโดยนำเทคโนโลยีพบหมอออนไลน์ใช้อีกด้วย 
2.) ก้าวสู่สังคมแห่งความเท่าเทียมทางเทคโนโลยีด้วยการใช้เทคโนโลยี AIและBig Data มาจัดการบริหารเมืองSmart governance เข้าถึงข้อมูลด้วยคิวอาร์โค้ดแจ้งฝนตกน้ำท่วมเข้ามือถือทุกคนได้แบบญี่ปุ่น
3.) ก้าวสู่เมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อลดความเหลื่อมล้ำสร้าง korat Youth Spaceส่งเสริม E-sport Gaming , E Commerce 
4.) ก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัล สนับสนุนการใช้ Digital Currency สนับสนุนการท่องเที่ยวโดยการสร้างเทศกาลระดับนานาชาติ โดยตลอดทั้งสัปดาห์หน้านี้นางสาวพรรณิการ์ จะเดินสายไปช่วยผู้สมัครนายกเทศมนตรีในนามคณะก้าวหน้า ในภาคอีสานต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top