'ปิยบุตร' ไม่ทิ้ง ‘คนยโสธร-คนอีสาน’ รับฟังปัญหากลุ่มทุนมาตั้ง ‘โรงงานน้ำตาล - โรงไฟฟ้าชีวมวล’ โดยที่คนในพื้นที่ไม่ต้องการ ซัด นี่เป็นการล่าอาณานิคมโดยทุนขนาดใหญ่ภายในประเทศ

วันที่ 24 มีนาคม 2564 ที่ อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า เดินทางไปรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ที่คัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล และเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง

โดยผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อนายปิยบุตร เดินทางมาถึงยังพื้นที่ ชาวบ้านต่างตะโกนโห่ร้องแสดงความยินดีและปรบมือแสดงความดีใจ เนื่องจากเมื่อครั้งที่นายปิยบุตร เป็น ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ และเป็นประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ทางชาวบ้านได้เคยมายื่นหนังสือเพื่อขอให้ผลักดันปัญหาความเดือดร้อนจากการตั้งโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ของกลุ่มทุนใหญ่

โดยปัญหานี้ สืบเนื่องจากช่วงกลางปี พ.ศ. 2559 ในพื้นที่ ต.น้ำปลีก อ.เมือง จ.อํานาจเจริญ มีโครงการจัดตั้งโรงงานน้ำตาลขนาด 20,000 ตันอ้อย/วัน และโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาด 61 เมกะวัตต์ มีความกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ก่อให้เกิดการรวมตัวกันของกลุ่มชาวบ้านใน ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร ซึ่งเป็นชุมชนที่อยู่ภายใต้รัศมี 5 กิโลเมตรจากพื้นที่สร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล

นายปิยบุตร กล่าวว่า พี่น้องประชาชนได้เคยมายื่นหนังสือร้องเรียนกับตนเองในวันที่ 10 ธ.ค. 2562 ตอนนั้นตนเองเป็นประธาน กมธ.กฎหมายฯ เมื่อได้รับหนังสือร้องเรียนมาแล้วก็ได้บรรจุเรื่องนี้เข้าไปในวาระการประชุมทันที ซึ่งวาระดังกล่าวก็ยังอยู่ในขั้นตอนการต่อคิวอยู่ พอดีว่าต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญได้สั่งยุบพรรคอนาคตใหม่และตัดสิทธิทางการเมืองตนเองอีก 10 ปี ทำให้เมื่อไม่มีอำนาจรัฐแล้ว ไม่ได้เป็น ส.ส.แล้ว จึงได้ฝากเรื่องนี้กับเพื่อน ส.ส.จากพรรคอนาคตใหม่ ที่ต่อมาก็ได้มาสังกัดพรรคก้าวไกล คือ รังสิมันต์ โรม ที่ก็อยู่ กมธ.กฎหมายด้วยกัน ให้ช่วยผลักดันเรื่องนี้ต่อ สุดท้ายตอนนี้ กมธ.กฎหมายฯ ก็ได้ตั้งคณะทำงานตรวจสอบการมีส่วนร่วมกรณีโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล 8 จังหวัดขึ้นมา

นายปิยบุตร กล่าวต่อไปว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้ง กรณีโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล รวมถึงปัญหาการเอาเขื่อนขนาดใหญ่ นิคมอุตสาหกรรมมาสร้างนั้น มีปัญหาร่วมกันระดับโครงสร้าง 3 ประการด้วยกัน คือ 

1.) ปัญหาด้านการกระจายอำนาจ เพราะถ้าหากมีการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง ท้องถิ่นมีงบประมาณ มีทรัพยากรและมีอำนาจตัดสินใจ เมื่อจะทำโครงการอะไร ท้องถิ่นเป็นคนอนุมัติ ก็ต้องกลับมาสอบถาม มาฟังเสียงของประชาชนเพราะประชาชนเป็นคนเลือกมากับมือ แต่ในปัจจุบันไม่ได้เป็นเช่นนั้นเพราะอำนาจอยู่ที่ส่วนกลาง อยู่ที่ส่วนภูมิภาค ที่ใช้อำนาจผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งผู้ว่าฯ เองก็ได้รับการแต่งตั้งมาจากกระทรวงมหาดไทย และยังได้รับความดีความชอบจากกระทรวงมหาดไทย จึงไม่แปลกที่จะตัดสินใจหรือเงี่ยหูฟังอำนาจจากส่วนกลางมากกว่าฟังประชาชนในพื้นที่

2.) ปัญหาขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน หรือหากมีก็เป็นเพียงพิธีกรรมที่ทำให้เสร็จไปตามขั้นตอนทางกฎหมายเท่านั้น ไม่ได้ต้องการให้ประชาชนเกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ทั้งนี้ วิธีแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริงเพื่อรักษาสมดุลระหว่างการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิต นอกจากนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นในกระบวนการมีส่วนร่วมก็มีกลโกงต่างๆ มากมาย อาทิ การให้ข้อมูลหลอกชาวบ้านในทีแรกว่าซื้อที่ไปสร้างสิ่งอื่น พอเรื่องแดงถึงจะมีการเปิดเผยความจริง 

รวมทั้งมีการกีดกันคนที่เห็นต่างในการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น และเกณฑ์คนที่เห็นด้วยหรือเกณฑ์คนจากพื้นที่อื่นเข้ามางานรับฟังความคิดเห็น หรือการมีหน่วยงานความมั่นคง ทั้งทหาร ตำรวจ กอ.รมน. เข้ามาควบคุมไม่ให้คนเห็นต่างเข้ามาเพราะกลัวเกิดเกิดความวุ่นวาย และเรื่องนี้พูดให้ถึงที่สุดยังเกี่ยวข้องกับโครงสร้างของกฎหมาย การจัดทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมหรือ EIA ที่เจ้าของบริษัทที่จะเอาโรงงานมาตั้งในพื้นที่ เป็นคนจ้างบริษัทที่ปรึกษามาทำรายงาน EIA ดังนั้นผู้รับจ้างเมื่อรับเงินแล้วก็ย่อมต้องทำให้ผ่าน หรือหากไม่ผ่าน ก็ยังไม่ตกไป ยังสามารถมีกระบวนการแก้ไขหรือจ้างบริษัทที่ปรึกษาใหม่มาทำให้กระบวนการนี้ผ่านให้ได้

3.) ปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างกลุ่มทุนขนาดใหญ่กับกลุ่มการเมืองที่มีอำนาจอยู่ในปัจจุบัน เพราะเป็นที่แน่ชัดแล้วว่านโยบายการอนุญาตให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล การสร้างโรงงานน้ำตาลจำนวนมาก ซึ่งหากแล้วเสร็จทั้งหมดจะมีจำนวนสูงถึงเกือบ 50 โรงด้วยกัน รวมทั้งการนำเอานิคมอุตสากรรมมาตั้งในพื้นที่ภาคอีสาน เป็นผลสืบเนื่องมาจากการรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 ที่รัฐบาล คสช. ออกนโยบายดังกล่าวมาเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนที่สนับสนุนรัฐบาล คสช.และต่อมาได้สืบทอดอำนาจมาเป็นรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ตั้งข้อสงสัยว่า ยังมีเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนที่ประธานคณะกรรมการที่ คสช.ตั้งมาอนุมัติโครงการก็เป็นคนเดียวกับประธานของกลุ่มทุนด้วย

“การเอาโครงการขนาดใหญ่อย่างโรงงานน้ำตาล โรงไฟฟ้าชีวมวลมาตั้งในพื้นที่โดยที่ประชาชนไม่ต้องการ เรื่องนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องของคนยโสธร หรือของคนอีสานเท่านั้น แต่เป็นปัญหาร่วมกันของพวกเราทุกคน ชัดเจนว่า เป็นทิศทางการพัฒนาประเทศที่ผิด นโยบายรัฐบาลเอื้อกลุ่มทุนใหญ่ ให้มากอบโกยเอาทรัพยากรกลับไป และทิ้งปัญหาและมลภาวะเอาไว้ให้ชุมชน เหมือนย้อนกลับไปยุคล่าอาณานิคม แต่เป็นการล่าอาณานิคมโดยทุนขนาดใหญ่ภายในประเทศ” นายปิยบุตร กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ชาวบ้านที่มาร่วมงานในวันนี้ ทุกคนต่างพร้อมใจกันชู 3 นิ้ว เพื่อเป็นสัญลักษณ์บอกไปยังผู้มีอำนาจในรัฐบาลว่า ต้องการให้เกิดการฟื้นฟู เยียวยา และแก้ไข ปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงใจและจริงจัง นอกจากนี้ ภายหลังจากเสร็จภารกิจในจังหวัดยโสธร นายปิยบุตรยังได้เดินทางต่อไปยังพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อช่วยผู้สมัครนายกเทศมนตรีและสมาชิกสภาเทศบาลปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งในช่วงโค้งสุดท้ายจำนวน 8 เวทีด้วยกัน ที่จะมีการเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 28 มีนาคม 2564 นี้