Wednesday, 23 April 2025
Politics

‘ปิยะ ปิตุเตชะ’ พร้อมลงชิงนายก อบจ. ระยองอีกสมัย มั่นใจย้ำชัยชนะ ไม่ลาออกก่อนเวลา หวั่นสิ้นเปลืองงบประมาณ

(28 ต.ค. 2567) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายปิยะ ปิตุเตชะ หรืออาช้า นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง เปิดใจกลบกระแสดราม่าจะวางมือทางการเมืองท้องถิ่น เพื่อดันน้องชาย นายสาธิต ปิตุเตชะ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงสมัครนายก อบจ.ระยอง แทนในสมัยหน้า ที่จะหมดวาระในวันที่ 19 ธันวาคมนี้ โดยประกาศชัดเรื่องนี้ไม่เป็นความจริง และตนก็ไม่เคยทราบเรื่องนี้มาก่อน ตนจะลงสมัครนายก อบจ.ระยอง สมัยหน้าแน่นอน ตนเป็นนายก อบจ.ระยอง มานานรวม 18 ปี ตามกฎหมายตนลงสมัครได้อีก 1 สมัย และเป็นครั้งสุดท้ายที่ตนจะทำประโยชน์ให้กับจังหวัดระยอง

ส่วนกรณี นายสาธิต ปิตุเตชะ เขายังหนุ่มก็ให้เขาทำอย่างอื่นไป ส่วนสมาชิก ส.อบจ. ที่อยู่ในทีมจะลงสมัคร ส.อบจ.เพียง 90 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลืออีก 10 เปอร์เซ็นต์ บางคนมีความประสงค์จะไปลงสมัครนายกเทศมนตรีและนายก อบต.

“ส่วนกรณีว่าทำไมผมไม่ลาออกก่อนหมดวาระเหมือนในหลายจังหวัดเพื่อเลือกตั้งใหม่นั้น สำหรับผมเองคิดว่าถ้าลาออกก่อนเพื่อเปิดทางให้มีการเลือกตั้งใหม่ จะทำให้รัฐต้องเสียงบประมาณในการเลือกตั้งถึง 2 ครั้ง คือเลือกตั้งนายก อบจ. แล้วต้องมาเลือกตั้ง ส.อบจ.อีก เสียดายงบประมาณเอาไปทำประโยชน์อย่างอื่นได้อีกมาก เราจะเอางบประมาณมาทำเพื่อตัวเราเองมันไม่มีประโยชน์หรอก ด้วยสาเหตุนี้จึงไม่ลาออกก่อนหมดวาระ เลือกตั้งครั้งนี้ผมมีความพร้อมร้อยเปอร์เซ็นต์”

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งล่าสุด ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกลสามารถคว้าชัยชนะได้ทั้ง 5 เขตของจังหวัดระยอง

‘ธนาธร’ ออกจดหมายเปิดผนึกถึง ‘นายกฯ แพทองธาร’ ทบทวนออกสัมปทานซื้อพลังงานหมุนเวียน 3,600 เมกะวัตต์

(28 ต.ค. 67) ‘ธนาธร’ ออกจดหมายเปิดผนึกถึง ‘นายกฯ แพทองธาร’ ขอทบทวนการออกสัมปทานรับซื้อพลังงานหมุนเวียน 3,600 เมกะวัตต์ ชี้อาจเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนพลังงาน

วันที่ 28 ต.ค.67 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เผยแพร่จดหมายถึง นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระบุ
[จดหมายเปิดผนึกถึงคุณแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี]

เรื่อง ขอให้ทบทวนการออกสัมปทานรับซื้อพลังงานหมุนเวียน 3,600 เมกะวัตต์ ซึ่งอาจเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนพลังงาน

ผมเขียนจดหมายฉบับนี้ขึ้นเพราะไม่เห็นด้วยกับการประกาศรับซื้อพลังงานหมุนเวียน 3,600 เมกะวัตต์โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. ที่ท่านนายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งเป็นประธาน

ผมเห็นว่าการรับซื้อพลังงานครั้งนี้ รับซื้อด้วยราคาที่แพงเกินไป ไม่มีการเปิดประมูลเพื่อให้มีการแข่งขัน ซึ่งหากดำเนินการต่อไป อาจจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้า ส่งผลให้รัฐและประชาชนต้องจ่ายค่าไฟแพงเกินไปโดยไม่จำเป็น  

การจัดซื้อพลังงานหมุนเวียน 3,600 เมกะวัตต์ครั้งนี้ ใช้ราคาและหลักการเดียวกับการจัดซื้อพลังงานหมุนเวียน 5,200 เมกกะวัตต์ในปี 2565 สมัยที่คุณประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังเป็นนายกรัฐมนตรี การจัดซื้อครั้งนั้น มีเอกชนเสนอขายมากกว่าจำนวนที่รัฐบาลต้องการซื้อถึง 3.3 เท่าตัว (ต้องการซื้อ 5,200 เมกะวัตต์ เอกชนเสนอขาย 17,400 เมกะวัตต์) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าราคารับซื้อสูงเกินกว่าราคาตลาด จึงมีเอกชนสนใจเสนอขายจำนวนมาก

ในฐานะที่คุณแพทองธารเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ผมขอให้ท่านทบทวนนโยบายการจัดซื้อพลังงาน 3,600 เมกะวัตต์นี้เสียใหม่ การประกาศผู้ได้รับการคัดเลือกจะเกิดขึ้นปลายปีนี้ และลงนามในสัญญาปีหน้า ยังไม่สายเกินไปที่จะทำให้การเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่การใช้พลังงานสะอาดเป็นไปด้วยความเป็นธรรม

ในการตอบกระทู้สดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้วในสภาผู้แทนราษฎร คุณพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ตอบคุณณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ผู้ตั้งกระทู้ ว่าท่านเห็นด้วยว่าเงื่อนไขมีข้อบกพร่อง และรับปากกับสภาว่าจะทบทวนการซื้อพลังงานครั้งนี้เช่นกัน 

อย่างไรก็ตาม ผมจำเป็นต้องเรียนท่านนายกรัฐมนตรีว่า อำนาจในการหยุดยั้งแก้ไข ไม่ได้อยู่ที่ท่านรัฐมนตรี แต่อยู่ที่ตัวท่านนายกฯ เอง ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ

อย่าให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดเป็นโอกาสให้กลุ่มทุนร่ำรวยขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยนวัตกรรมใดๆ ที่ทำประโยชน์ให้กับประเทศ

อย่าให้ประชาชนต้องรับภาระการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดด้วยการจ่ายค่าไฟที่แพงขึ้นอย่างไม่เป็นธรรม

จากการประเมินเบื้องต้น หากการรับซื้อพลังงานหมุนเวียน 3,600 เมกะวัตต์ ดำเนินต่อไปด้วยเงื่อนไขปัจจุบัน รัฐจะจ่ายค่าไฟแพงกว่าที่ควรจะเป็นหากเกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรมถึง 66,000 ล้านบาท (พิจารณาจากมูลค่าปัจจุบัน)

ท่านนายกรัฐมนตรีมีทางเลือกคือ หากต้องการดำเนินนโยบายนี้ต่อ ผมขอให้มีการประมูล ให้เอกชนแข่งขันกัน ไม่ใช่กำหนดราคาตายตัว เช่นเงื่อนไขปัจจุบันหรือเงื่อนไขแบบ 5,200 เมกะวัตต์ของปี 2565 หรือใช้กลไก Direct PPA ที่มีอยู่ ที่เปิดให้ผู้ผลิตซื้อขายกับผู้ใช้ได้โดยตรง

ไปไกลกว่านั้น หากท่านต้องการปฏิรูปอุตสาหกรรมพลังงานอย่างจริงจัง ท่านมีทางเลือกคือการยุติการจัดซื้อครั้งนี้ ปฏิรูปอุตสาหกรรมการผลิตและการขายพลังงาน ให้เกิดการแข่งขันอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม สอดคล้องต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคพลังงานสะอาด  

ท่านนายกรัฐมนตรีย่อมทราบดีว่าพรรคเพื่อไทยก็มีนโยบายที่ต้องการจะลดราคาพลังงาน และปรับเปลี่ยนโครงสร้างและการบริหารจัดการพลังงานเช่นกัน การรับซื้อพลังงาน 3,600 เมกะวัตต์ ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานกำลังทำอยู่นี้ ขัดแย้งโดยสิ้นเชิงต่อแนวนโยบายของพรรคเพื่อไทย

ค่าไฟแพงไม่ใช่ความบังเอิญ และไม่ใช่ผลจากการแข่งขัน แต่มาจากนโยบายรัฐ 20 ปีที่ผ่านมา เราปล่อยให้นโยบายพลังงานสร้างกลุ่มทุนพลังงานที่รวยเป็นแสนล้านขึ้นในประเทศไทย ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนห่างขึ้นมหาศาล รัฐออกนโยบายเอื้อกลุ่มทุนผูกขาด ส่วนประชาชนต้องแบกรับผลกระทบในฐานะเป็นคนจ่ายค่าไฟ

วันนี้ ท่านมีอำนาจที่จะพิจารณาชะลอ หยุดยั้ง หรือเปลี่ยนแปลงแนวทางปฏิบัตินี้ ผมหวังว่าท่านจะใช้อำนาจนั้นเพื่อรับใช้ประชาชน

ขอแสดงความนับถือ
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
28 ตุลาคม 2567“

‘สื่อไม่เอาไหน ทนายขี้โกง ตำรวจขี้ฉ้อ นักตบทรัพย์’ ผุดโผล่ขึ้นเป็นดอกเห็ด จนยากจะแก้ไขได้ทันแล้ว

สำหรับประเทศไทย คงไม่มีช่วงเวลาไหนที่ 'ความโฉดชั่ว' จะปรากฏจนเบ่งบานเท่าสี่ห้าปีมานี้อีกแล้ว บ้านเมืองเรามีแต่ข่าวเทา ๆ ดำ ๆ ของเหล่าทนายขี้โกง ตำรวจขี้ฉ้อ นักตบทรัพย์ นักการเมืองคอรัปชัน ผุดโผล่ขึ้นมาให้สังคมไทยได้รับรู้กันราวดอกเห็ด และที่น่าเศร้ากว่าใด ๆ 'คนดีในคราบโจร' เหล่านี้ ยังลอยหน้าลอยตาในสังคม อยากจะไปออกสื่อไหน ก็มีคนต้อนรับขับสู้ คอยเชื้อเชิญ เรียกท่าน เรียกคุณ ราวกับว่าคอนเทนต์ และยอดคนดู จะสำคัญกว่าเรื่องความย่อยยับของสังคมไทย

สื่อดังหลาย ๆ สำนักไม่จดจำใส่ใจ ไม่กล้าแสดงการ 'บอยคอต' บุคคลที่เป็นอันตราย หรือมีตำหนิติดตัวที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข พอข่าวลบ ๆ จางหายไป ทั้ง ๆ ที่ยังไร้การพิสูจน์ความจริง ก็เชื้อเชิญให้มานั่งหน้าสลอนในรายการ พูดเรื่องใหม่เพื่อให้ลืมเรื่องแย่ ๆ ที่เคยทำไว้ในอดีต ถือเป็นการ 'ช่วยฟอกความผิด' ที่ติดตัวมาช้านาน 

สังคมไทยจึงผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาแต่คนแย่ ๆ หน้าเดิม ๆ ที่ไม่ต้องรับโทษ เพราะมีสื่อที่สนิทชิดเชื้อคอยเก็บกวาดพื้นที่ให้สะอาดจะได้มีที่ยืนใหม่ ๆ ได้ตลอดเวลา จึงพูดได้ว่าสื่อไทยบางสำนักขาดวิสัยทัศน์ และไร้ความหวังดีกับสังคมไทย ด้วยมุ่งหวังแต่การทำมาหากิน กลายเป็นสื่อที่ไร้จรรยาบรรณ ไร้มาตรฐาน ไร้จริยธรรมอย่างรุนแรง 

เรื่องนี้ยังรวมถึงคนสื่อที่มีชื่อเสียงมายาวนาน สามารถยืนระยะมาได้ถึงปัจจุบัน แต่น่าเสียดายที่บางสื่อถึงกับเคยเปิดพื้นที่ในรายการให้คนที่ทำมาหากินแบบเทา ๆ หรือคนคดโกงผู้คนไม่ต่างจาก 'อาชญากร' มาออกรายการเพื่อนำเสนอธุรกิจที่แฝงการหลอกต้มผู้คน เท่ากับสื่อที่มีคนดูมากมาย ลงมือช่วย 'การันตีโจร' ให้ผู้คนร่วมยินดีไปโดยปริยาย ความเสียหายของสังคมไทยจึงเกินคณานับ 

เหล่ามหาโจรในคราบ 'คนดีของสังคม' จึงปรากฏออกมาให้เห็นบนจอสื่อแทบทุกช่อง เมื่อสื่อคิดแค่ว่าต้องหารายได้ คำว่าสื่อน้ำดีจึงมีเหลืออยู่น้อยเต็มทีในปัจจุบัน เพราะทันทีที่สื่อเปิดใจต้อนรับคนเทาดำอย่างขาดสติ ขาดอุดมการณ์ที่จะช่วยพยุงให้สังคมไทยนั้นดีขึ้น ชั่วโมงนี้เราจึงเห็น 'คนที่ไม่น่าไว้วางใจ' เล่นบทคนดีมานั่งเสนอหน้าในหลาย ๆ รายการเสมอ 

ขณะที่คนไทยส่วนใหญ่ยัง 'คิดกันไม่เป็น' สื่อไทยก็ช่วยให้ 'คนเบาปัญญา' มองเห็นคนเลว ๆ เป็นแบบอย่างที่ดี ที่ควรเดินตาม 

บรรลัยล่ะครับ..ประเทศไทย

ชิงเก้าอี้นายกฯอบจ.สงขลา ‘นิพนธ์-นายกฯชาย’ จับมือหนุน ‘สุพิศ’ ปล่อย ‘ไพเจน’ หลังพิงเชือกแลกหมัดสู้

(29 ต.ค. 67) ‘ไพเจน มากสุวรรณ์’ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา กล่าวยืนยันว่า จะไม่ลาออกจากตำแหน่งก่อนหมดวาระแน่นอน ยังคงเดินหน้าทำงานตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากประชาชนจนวันสุดท้ายอย่างขยันขันแข็ง

“นายกฯไพเจนจะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกฯอบจ. สงขลาอีก 1 สมัยแน่นอน” แหล่งข่าวใกล้ชิดนายกฯไพเจน กล่าว

ที่ต้องมาตอกย้ำกันอีกครั้ง เนื่องจากว่ามีการปล่อยข่าวว่า นายกฯไพเจนถอดใจแล้ว จะไม่ลงเลือกตั้งในสมัยที่สอง ซึ่งเป็นการปล่อยข่าวด้วยเจตนาร้ายของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ได้ประโยชน์จากข่าวนี้ ซึ่งต้องหมายถึงฝ่ายการเมืองในสงขลาที่กำลังฟาดฟันกันอยู่

ปล่อยข่าวหนักถึงขนาดว่า ถ้านายกฯไพเจนไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกฯอบจ.สงขลา จะเปิดทางให้ไปลงสมัคร สส.เขต 7 สงขลา (นาทวี จะนะ เทพา สะบ้าย้อย)ในนามพรรคประชาธิปัตย์ ที่ ‘ศิริโชค โสภา’ เคยเป็น สส.อยู่ แต่ปี 2562 พ่ายแพ้ให้กับ ‘ณัฐชนนท ศรีก่อเกื้อ’ จากพรรคภูมิใจไทย และมาแพ้ซ้ำในการเลือกตั้งปี 2566 และเมื่อเกิดวิกฤตทางการเมืองในพรรคประชาธิปัตย์ ศิริโชคก็ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ เท่ากับว่า เขต 7 สงขลา ของพรรคประชาธิปัตย์ว่างอยู่ จึงมีความพยายามปล่อยข่าวว่า นายกฯไพเจนจะไม่ลงสมัครรักษาแชมป์แล้ว โดยจะโยกไปลงสมัคร สส.เขต 7 แทน

ถามว่า มีการพูดคุยกันจริงไหม มีการพูดคุยกันจริง ผ่านทาง ‘นายกฯชาย - เดชอิศม์ ขาวทอง’ เลขาธิการพรรคประชาธิปัต์ แต่นายกฯไพเจนไม่ได้ตอบรับต่อข้อเสนอนี้ เพราะในสถานการณ์ปัจจุบันต้องยอมรับความจริงว่า ประชาธิปัตย์ขาลงอย่างสุดๆ หากไปลงสมัคร สส.เขต 7 จึงมีโอกาสสูงมากที่จะพ่ายแพ้ให้กับ ‘เดอะหนุ่ย-ณัฐชนนท’ ที่ฐานเสียงค่อนข้างหนาแน่น ผลงานในพื้นที่ก็ชัดเจน และเสี่ยงยิ่งกว่าลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกฯอบจ.อีก

ไม่ผิดหรอกที่นายกฯไพเจนจะตัดสินใจลงรักษาแชมป์อีกสมัย 4 ปี ผลงานมีชัดเจน เพียงแต่ด้อยด้านการประชาสัมพันธ์ ทีมงานประชาสัมพันธ์ที่มีฝ่ายประชาสัมพันธ์เป็นตัวยืน กับสถานการณ์สู้รบ ไม่เพียงพอ

รบกับใคร นายกฯไพเจนกำลังรบกับ ‘สุพิศ พิทักษ์ธรรม’ ที่มั่นใจในตัวเองสูงมาก ลาออกจากอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กับความอู้ฟู้ ใจถึง มาลงชิงนายกฯอบจ.สงขลา อย่าลืมว่า สุพิศไม่ใช่แค่อดีตข้าราชการระดับอธิบดี เขายังมี ‘นิพนธ์ บุญญามณี’ อดีตรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย ที่แตกหน่อแทงกอ ไปหนุนช่วย ‘สุพิศ’ แถมยังมี ‘นายกฯชาย-เดชอิศม์ ขาวทอง’ อีกคนเข้าไปเสริมทัพ

แต่ถามว่า ทั้ง ‘นิพนธ์-นายกฯชาย’ จะช่วยให้ ‘สุพิศ’ ชนะการเลือกตั้งแบบง่ายๆ ก็คงไม่ใช่ ‘นายกฯชาย’ เป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ที่ร่วมกันนำพาพรรคประชาธิปัตย์ เข้าร่วมรัฐบาลของแพทองธาร ชินวัตร ที่สังคมทั่วไปรับรู้กันอยู่ว่ามี ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ชักใยอยู่เบื้องหลัง ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ที่คนใต้รับไม่ได้ในหลายเรื่อง ทั้งเล่นพรรคเล่นพวก ทุจริตคอร์รัปชัน แถมยังไม่พัฒนาพื้นที่ที่ไม่เลือกพรรคเขา

พรรคประชาธิปัตย์ที่ตกต่ำอยู่แล้วก็ยิ่งตกต่ำหนักเข้าไปอีก เมื่อถึงหน้าเลือกตั้งนายกฯชายจะรับมือไหวไหมกับกระแสไม่เอาประชาธิปัตย์ และจะช่วยดันหลัง ‘สุพิศ’ ไหวหรือเปล่า เอาเป็นว่านายกฯชายกำลังวางแผนบางอย่าง เพื่อเอาตัวให้รอดในการเลือกตั้งครั้งหน้า และต้องมี อบจ.เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน เข้าถึงหันหัวเรือเข้าจอดเทียบท่า กับท่าเรือที่อู้ฟู้กว่า

สำหรับนิพนธ์ เมื่อหันหัวเข้าหาสุพิศ ก็ต้องเตรียมตัวตั้งรับดีๆกับการถูกลากไปสู่มุมมืด นิพนธ์ควรสงวนท่าที สิงห์ก็ต้องเป็นสิงห์ จริงๆนิพนธ์ควรจะยืนอยู่นิ่งๆ หรืออยู่ข้างไพเจน เพราะสนับสนุนช่วยเหลือกันมาตั้งแต่สมัยแรก ที่สำคัญ ‘นิพนธ์-ไพเจน’ คือเลือด ‘น้ำเงิน-ขาว’ จากมหาวชิราวุธด้วยกัน ‘เลือดควรจะข้นกว่าน้ำ’ น้ำที่มาจากโรงเรียนแจ้งวิทยา แต่ด้วยเหตุผลใดไม่อาจทราบได้ที่ทำให้นิพนธ์ หันหัวไปช่วยสุพิศ

ที่ต้องจับตากับท่าทีที่นิ่งๆของ ‘ถาวร เสนเนียม’ อดีตรัฐมนตรีช่วยคมนาคม ว่าท้ายที่สุดแล้ว ยังจะนิ่งต่อไป หรือหันไปช่วยใคร ‘ถาวร’ คงจะกระอักกระอ่วนใจไม่น้อย ถ้าจะไปช่วยสุพิศ เพราะมีนิพนธ์ที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกันมาตลอดจองหัวคิวไว้ก่อนแล้ว แม้ ‘ถาวร’ กับนายกฯชายจะไม่ได้มีปัญหาอะไรกันก็ตาม

ศึกชิงเก้าอี้นายกฯอบจ.สงขลา ครั้งใหม่นี้ ถือว่าเป็นศึกคนกันเอง เพราะ ‘สุพิศ-ไพเจน’ ต่างก็โตมาจากสายกรมชลประทานด้วยกัน แม้ระหว่างทางจะมีปัญหากันบ้างก็เหมือนลิ้นกับฟัน

แต่ศึกชิงนายกฯอบจ.สงขลา ให้จับตา ‘ศึกชิงเลือดน้ำเงินขาวด้วย

นายกฯ โต้ ‘ธนาธร’ ปมรับซื้อไฟฟ้า ชี้ ‘พีระพันธ์’ ชี้แจงครบก่อนตั้งคำถาม

(29 ต.ค. 67) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ออกจดหมายเปิดผนึกถึง นายกรัฐมนตรี ขอให้ทบทวนการออกสัมปทานรับซื้อพลังงานหมุนเวียน 3,600 เมกะวัตต์ เพราะมองว่าอาจเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนพลังงาน ว่า 

รายละเอียดเรื่องนี้ทั้งหมด ตนนั่งเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) อยู่ แต่เรื่องนี้ยังมาไม่ถึงคณะกรรมการ กพช. แต่ได้มีการสอบถามเรื่องนี้ไปยังรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลเรื่องนี้แล้ว 

ซึ่งก่อนที่นายธนาธร จะออกมาพูดเรื่องนี้ รองนายกฯ ได้ตอบกระทู้ในสภาฯ เรื่องนี้ไปแล้ว ประชาชนและสื่อมวลชนสามารถหาข้อมูลเรื่องนี้ได้อย่างละเอียดเลย และทุกอย่างต้องเป็นไปตามกระบวนการ

เมื่อถามย้ำว่า กระบวนการทุกอย่างจะต้องโปร่งใสใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า แน่นอนค่ะ เรื่องนี้จะต้องโปร่งใส

เมื่อถามต่อว่า ทุกคนอยากได้ยินคำยืนยันจากนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีระบุว่า ยินดีค่ะ ถ้าอยากได้ได้ยินจากนายกรัฐมนตรี แน่นอนว่าเรื่องนี้ต้องเป็นไปตามกระบวนการ และต้องโปร่งใส ให้ประชาชนสามารถรับรู้ได้ และเข้าใจได้แน่นอน เพราะนั่นคือความมั่นคงของรัฐบาลด้วย

ส่อง กมธ.พิทักษ์สถาบัน - ป.ป.ช. บ้านเมือง...ในอุ้งมือสภาสีน้ำเงิน!!

รัฐสภาส่งท้าย 30 ต.ค.2567 ปิดสมัยประชุม เปิดประชุมสมัยหน้า 12 ธ.ค.2567  แต่ในห้วงเวลาการปิดสมัยประชุมกรรมาธิการชุดต่างๆ ยังคงทำหน้าที่กันตามพันธกิจสืบเนื่อง...ดังนั้นแนวรบรัฐสภาจะไม่เงียบเหงา วังเวงอย่างแน่นอน..โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวรบของวุฒิสภา หรือสภาสีน้ำเงิน...

วันนี้ขอหมายเหตุถึงสภาสีน้ำเงินก่อนปิดสมัยประชุมสักเล็กน้อย...

1) วุฒิสภาได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่นเดียวกับวุฒิสภาชุดก่อนหน้านี้ 2-3 ชุด ถ้าจำกันได้ชุดที่แล้ว มี ‘สุวพันธ์  ตันยุวรรธนะ’ เป็นประธานกมธ. และมีบิ๊กเนมทั้งจากสว.และบุคคลภายนอกเพียบ...

มาถึงชุดนี้สภาสีน้ำเงินได้รายชื่อ กมธ.มา 14 คน และเพิ่งเคาะตำแหน่งกันเมื่อวันที่ 29 ต.ค.และฟิตจัดประชุมนัดแรก 30 ต.ค.วางกรอบการทำงาน โดยประธานกมธ.คือ ‘พล.อ.สวัสดิ์ ทัศนา’ อดีตผู้ช่วยเจ้ากรมเสมียนตรา อดีตตุลาการศาลทหารสูงสุด สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ที่กำลังขึ้นหม้อ...

แต่ที่น่าสนใจคณะกมธ.พิทักษ์สถาบันฯ ชุดนี้มีสองดร.หนุ่มไฟแรงหัวใจสีน้ำเงินของแทร่..คือ ‘ดร.เจษฎ์ โทณะวนิก’ และ ‘ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์’ ร่วมอยู่ด้วย..รับประกันซ่อมฟรีด้านวิชาการและการเคาน์เตอร์ หากว่ากมธ.ต้องการ...โดยครั้งนี้ ดร.เจษฎ์ได้รับมอบหมายให้เป็นโฆษก กมธ.

2) ที่ประชุมวุฒิสภา 29 ต.ค.ได้ลงมติตั้งคณะกมธ.สามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการป.ป.ช. โดยกำหนดระยะเวลาการทำงาน 60 วัน ซึ่งในวันเดียวกันคณะกมธ.ชุดนี้ได้ประชุมในไม่กี่ชั่วโมงต่อมา เลือก ‘พล.อ.สวัสดิ์ ทัศนา’ เป็นประธานกมธ.

หากเป็นวุฒิสภา..ชุดก่อนหน้านี้ แทบทุกครั้งในการวางตัวประธานกมธ.สามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติฯ ทำนองนี้ก็จะหนีไม่พ้นต้องใช้บริการ ‘พล.อ.อู๊ด เบื้องต้น’ อดีตปลัดกลาโหมและนายทหารคนสนิทของ ‘พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์...

คราวนี้..งานแรกที่พล.อ.สวัสดิ์จะต้องพิสูจน์ฝีไม้ลายมือในการทำงานก็คือ..ตรวจสอบประวัติความประพฤติและพฤติกรรมจริยธรรมของ นายประภาศ คงเอียด อดีตผู้พิพากษาศาลภาษีอากรกลาง, อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง, อดีตอธิบดีกรมธนารักษ์ ฯลฯ  ที่ผ่านด่านกรรมการสรรหามาให้สภาสีน้ำเงินลงมติลับให้ความเห็นชอบว่า...ผ่านไม่ผ่าน...ถ้าได้คะแนนเกินครึ่งของสว.ทั้งหมดคือมากกว่า 100 เสียงก็ผ่าน..ถ้าน้อยกว่าก็ชวด...

สายข่าวรายงานด้วยความเสียววูบวาบว่า...โอกาสผ่านหรือไม่ผ่านของนายประภาศนั้น หากว่ากันตามเนื้อผ้าแม้จะมากประสบการณ์การทำงาน แต่ปูมประวัติบางฉากเช่นกรณีตรวจสอบภาษีอันเนื่องจากการขายหุ้นชินคอร์ปให้กองทุนเทมาเส็กนั้น ยังมีการปุจฉา/วิสัชนากันไม่จบจนวันนี้...งานนี้ไม่รู้ค่ายสีแดงหรือสีน้ำเงินจะจับมือกันหรือประลองกำลังกัน..ต้องตามไปดู...

แน่นอนที่สุด..หลังกรณี ‘ประภาศ คงเอียด’ ต้นปีหน้าสภาสีน้ำเงินมีวาระที่จะต้องชี้ขาด  3 กรรมการป.ป.ช.ที่ครบวาระปลายปีนี้ 3 คนคือ พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ,วิทยา  อาคมพิทักษ์และสุวณา สุวรรณจูฑะ...หลังจากนั้นกรรมการป.ป.ช.ก็คงจะได้เลือกประธานคนใหม่กัน..

เดิมพันกระบวนการยุติธรรม เดิมพันประเทศส่วนสำคัญ..อยู่ในอุ้งมือของสภาสีน้ำเงินโดยแท้...ระหว่างน่าลุ้นกับน่าเสียวไส้..ครือๆ กัน!!

‘กรณ์’ ออกปากชมรัฐบาลแพทองธาร ยัน! การให้สัญชาติไทยลอตนี้ถูกต้อง

(30 ต.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่ากรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์เฟซบุ๊กถึงการให้สัญชาติไทยตามมติคณะรัฐมนตรี ว่า...

ผมเห็นนโยบายนี้ของรัฐบาลแล้วชื่นชมนะครับ เหตุผลที่ให้ฟังขึ้นหมด ไม่ว่าจะเป็นมิติความมั่นคง เศรษฐกิจ ความเป็นธรรม และสิทธิมนุษยชน 

ผมอยากจะเสริมว่านี่คือ Soft Power ของสังคมเราด้วย ที่พร้อมให้โอกาสคนต่างด้าวมาผสมผสานเติมพลังความเป็นไทยมาหลายยุคหลายสมัย เรากี่คน (ผมด้วย) ที่คงไม่มีวันนี้หากสังคมไทยในอดีตไม่ให้โอกาสบรรพบุรุษเรา

เอาละ แต่ละประเทศก็มีบริบทที่ต่างกันไป แต่ท่าทีของเราวันนี้ต้องบอกว่าสวนทางกระแสการเมืองหลักของโลก โดยเฉพาะโลกตะวันตก ที่บางประเทศถึงขั้นมีการหาเสียงว่าจะขับต่างด้าวออกนอกประเทศแม้ว่าบางคนได้เข้ามาอยู่ในประเทศเขานานแล้ว 

แนวของเรากลับเป็นตัวยืนยันความมั่นใจในตัวเราเอง เราไม่มีปมด้อยที่จะทำให้เราต้องมากลัวหรือรังเกียจผู้ที่มาพึ่งพาอาศัย และทำมาหากินอย่างสงบอยู่กับเรา

โดยผู้สื่อข่าวรายงานว่าวานนี้นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ว่า ประชุม ครม.เห็นชอบตามที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนออนุมัติหลักเกณฑ์ เพื่อเร่งรัดแก้ไขปัญหาสัญชาติ และสถานะของกลุ่มบุคคลที่อพยพเข้ามาในไทยเป็นเวลานาน และกลุ่มบุตรที่เกิดขึ้นในราชอาณาจักรไทย ซึ่งจากการสำรวจตั้งแต่ พ.ศ. 2527 จนถึง 2542 มีกลุ่มผู้อพยพเข้ามาเป็นเวลานานประมาณ 120,000 คน และเป็นอีกหนึ่งกลุ่มอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานาน ซึ่งมีการสำรวจตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปี 2554 มีประมาณ 215,000 คน กลุ่มบุตรที่เกิดในราชอาณาจักรของชนกลุ่มน้อย 29,000 คน และกลุ่มบุตรที่เกิดในราชอาณาจักรของบุคคลที่ไม่มีสถานะตามทะเบียนประมาณ 113,000 คน รวมทั้งหมดประมาณ 483,000 คน

โดยการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในวันนี้เป็นการลดขั้นตอนมอบสัญชาติให้กับบุคคลเหล่านี้ ที่ต้องใช้ระยะเวลาถึง 44 ปี ปัจจุบันการให้สัญชาติไทยกับบุคคลข้างต้นจะเป็นการยกเลิกขั้นตอนต่าง ๆ จำนวนมาก โดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้ข้อสังเกต 2-3 ข้อ หากให้สัญชาติไทยกับบุคคลที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมานาน จะเกิดผลกระทบใดตามมาหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม ครม.เห็นชอบตามที่ สมช.เสนอ และส่งให้กระทรวงมหาดไทยประกาศบังคับใช้ในรายละเอียดไม่น้อยกว่า 30 วันไม่เกิน 60 วัน

สำหรับประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจำนวนกว่า 400,000 คนที่อยู่ในไทย ซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่มานานและมีบ้านอาศัย สามารถทำงานได้ตามปกติ เมื่อทำให้ถูกต้อง บุคคลเหล่านี้ก็จะสามารถสัญจรไปมาได้ กระตุ้นเศรษฐกิจได้ และรู้ถิ่นฐานที่อยู่ของบุคคลเหล่านี้ได้ ซึ่งที่ประชุมของคณะรัฐมนตรี เล็งเห็นว่าเป็นประโยชน์และมีการสอบถามความรอบคอบจากหลายหน่วยงานมาก่อนแล้ว

‘รองนายกฯ ภูมิธรรม’ ให้การต้อนรับ ‘ทูตรัสเซีย’ ร่วมหารือทั้งเศรษฐกิจ - การค้า – การลงทุน - ความมั่นคง

‘ภูมิธรรม’ ต้อนรับ นาย Evgeny Tomikhin (เยฟเกนี โตมีฮิน) เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทย พร้อมร่วมหารือแนวทางความร่วมมือระหว่างกัน ทั้งด้านเศรษฐกิจ - การค้า – การลงทุน - ความมั่นคง

(30 ต.ค.67) ที่กระทรวงกลาโหม นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้การต้อนรับ นาย Evgeny Tomikhin (เยฟเกนี โตมีฮิน) เอกอัครราชทูตสหพันธรัฐรัสเซียประจำประเทศไทย ในโอกาสเข้าแนะนำตัวและแสดงความยินดีในโอกาสได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม 

โดยรมว.กลาโหม ได้กล่าวต้อนรับและยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้พบกับ เอกอัครราชทูต สหพันธรัฐรัสเซียประจำประเทศไทย ซึ่งนับเป็นโอกาสอันดีที่จะได้หารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อแสวงหาแนวทางในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน

ทั้งนี้ ไทยและรัสเซียมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งความสัมพันธ์ของทั้งสอง ประเทศได้ก้าวเข้าสู่ปีที่127 ในปีนี้(เริ่มตั้งแต่ 3 ก.ค.2440) ซึ่งทั้งสองฝ่ายยึดถือการเสด็จประพาสรัสเซีย ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ โดยทั้งสองฝ่ายมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นในทุกมิติทั้งด้านการเมือง ความมั่นคง สังคม และวัฒนธรรม รวมถึงความร่วมมือที่ใกล้ชิด ในด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ทั้งยินดีที่ปี 2567 เป็นปีแห่งการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ไทย - รัสเซีย ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีในการส่งเสริมพลวัตความร่วมมือที่สร้างสรรค์ อันเป็นการเสริมสร้างความเข้าใจ และความใกล้ชิดในระดับประชาชนของทั้งสองประเทศ 

นอกจากนี้ รมว.กลาโหม ยังได้กล่าวชื่นชมความสัมพันธ์ทางทหารระหว่าง ไทย - รัสเซีย ที่มีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภายหลังจากที่มีการลงนามความตกลงระหว่าง รัฐบาลไทยกับรัสเซียว่าด้วยความร่วมมือด้านการทหาร เมื่อปี 2559 ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการขยายขอบเขตกิจกรรมความร่วมมือระหว่างกันให้มีพลวัตมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ในห้วงที่ผ่านมา กองทัพไทยและกองทัพ รัสเซียได้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนและกิจกรรมความร่วมมือที่สำคัญต่าง ๆ ทั้งด้านการฝึก ศึกษาทางทหาร ด้านการส่งกำลังบำรุงและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ การประชุมระดับฝ่ายเสนาธิการของกองบัญชาการ กองทัพไทยและเหล่าทัพ การแลกเปลี่ยนระหว่างผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ การเยี่ยมเยือนเมืองท่า ตลอดจน กิจกรรมแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ซึ่งสะท้อนถึงการมีพลวัตมากขึ้นของความสัมพันธ์ระหว่างกัน

‘ดวงฤทธิ์’ นำทีมรวมไทยสร้างชาติ เสนอกฎหมาย ‘รื้อ ลด ปลด สร้าง’ การศึกษาไทย

(31 ต.ค. 67) ที่ห้องแถลงข่าวสภาผู้แทนราษฎร รศ.ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะรองประธานและโฆษกกรรมาธิการการศึกษา พร้อมคณะ ได้ยื่นร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับรวมไทยสร้างชาติ ให้แก่ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร

รศ.ดร.ดวงฤทธิ์ กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ ฉบับรวมไทยสร้างชาติ ฉบับนี้ มุ่งพัฒนาส่งเสริม ยกระดับคุณภาพการศึกษา และที่สำคัญคือ การสร้างการศึกษาที่ตอบโจทย์ ทั้งในระดับพื้นที่ ผู้ประกอบการและผู้เรียน เนื้อหาสาระสำคัญในร่างพรบ.ฉบับนี้ ที่เพิ่มเติมเข้าไป คือการ 'รื้อ ลด ปลด สร้างการศึกษาที่ตอบโจทย์' ซึ่งเป็นนโยบาย จากพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ให้ความสำคัญกับการศึกษา และมอบหมายให้ทำการยื่นร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ 

ซึ่งสาระสำคัญคือ 'รื้อ' คือ ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกฎหมาย 'ลด' คือ ลดภาระครูในการทำวิทยฐานะ ดูจากผลการทำงานเป็นหลัก ไม่เน้นทำเอกสารส่ง 'ปลด' คือ ปลดล็อกให้สามารถเพิ่มสกิลความเก่ง ความสามารถ ผลงานนอกห้องเรียน มาเป็นแต้มต่อในการประเมินผลการเรียนได้ 'สร้าง' คือ สร้างการศึกษาที่ตอบโจทย์เพื่อสนับสนุนตอบสนองความต้องการในพื้นที่ ในเขตจังหวัด และความต้องการจากภาคธุรกิจ การค้า การลงทุน เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะความรู้สอดคล้องกับความต้องการในพื้นที่เขตจังหวัดและความต้องการจากภาคธุรกิจ การค้า การลงทุน

"ตัวผมเอง ในฐานะ ครู อาจารย์ เล็งเห็นเรื่องการศึกษาถือเป็นเรื่องที่สำคัญของประเทศชาติ การศึกษาไม่จำเป็นต้องซับซ้อน ควรมองให้ตรงไปตรงมา เน้นตอบโจทย์ความต้องการจริง ๆ อย่างเช่น การตอบโจทย์พื้นที่ ที่มีทั้งเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ เสน่ห์ของแต่ละพื้นที่ เพราะฉะนั้น หากเราจัดการศึกษาให้ตอบโจทย์ของพื้นที่ เช่นหากจัดการศึกษาให้ตอบโจทย์ จังหวัดท่องเที่ยว ทั้งรายด้านงานบริการ การเพิ่มความรู้ด้านภาษาที่ 2 ภาษาที่ 3 รวมทั้งความรู้เฉพาะทาง หากสามารถตอบโจทย์ผู้ประกอบการ ตอบโจทย์ผู้เรียน นอกจากเรื่องการศึกษาแล้ว ยังสามารถช่วยยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทยให้เข้มแข็งได้ด้วย" รศ.ดร.ดวงฤทธิ์ กล่าว

รศ.ดร.ดวงฤทธิ์ กล่าวอีกว่า แต่ละภูมิภาคไม่จำเป็นที่จะต้องใช้หลักสูตรเดียวกัน แต่สามารถกระจายหลักสูตรได้ สามารถปรับหลักสูตรได้ทุก ๆ 3-5 ปี สร้างหลักสูตร ที่ทันสมัย ตอบโจทย์แต่ละจังหวัด ให้กับ นักเรียน นักศึกษา รุ่นใหม่ เพื่อเข้าถึงความเป็นเอกลักษณ์ และอัตลักษณ์ของแต่ละจังหวัดนั้น เชื่อว่าหากการศึกษาสามารถสร้างชุมชนเข้มแข็ง ตอบโจทย์ผู้ประกอบการในพื้นที่ ลดปัญหาการย้ายถิ่นฐานเข้าเมืองหลวง จนสร้างความแออัดของเมืองในหลวงได้ จะช่วยสามารถพัฒนาประเทศชาติ เริ่มตั้งแต่ เศรษฐกิจฐานราก สู่ความยั่งยืนของประเทศ 

คนแบงก์ชาติไม่ทน!! ร่อนจดหมายค้านการเมืองแทรกแซง ปมตั้งบอร์ดและประธานแบงก์ชาติ

(1 พ.ย. 67) จดหมายเปิดผนึกจากอดีตพนักงาน ธนาคารแห่งประเทศไทย จรรยาบรรณที่พึงมีสำหรับตำแหน่งประธานและกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย

ตามที่คณะกรรมการสรรหาฯ จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาคัดเลือกประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการ ธนาคารแห่งประเทศไทยอีก 2 ท่าน ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 ท่ามกลางเสียงเรียกร้องจากคณะศิษย์หลวงตามหาบัว กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม ซึ่งรวมถึงอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึง 4 ท่าน ให้คณะกรรมการสรรหาฯ ได้พิจารณาคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ มีความสุจริต เที่ยงธรรม โปร่งใส มีธรรมาภิบาล และไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองเข้าดำรงตำแหน่ง เพื่อให้ ธปท. สามารถดำเนินพันธกิจของธนาคารกลางตามที่กำหนดไว้ นั้น

พวกเราในฐานะอดีตพนักงาน ธปท. ขอเรียนยืนยันว่า คณะกรรมการ ธปท. มีความสำคัญอย่างยิ่งในการวางกรอบ และกำหนดนโยบายของ ธปท. โดย ธปท. ถือเป็นหน่วยงานของรัฐในรูปแบบองค์กรที่ต้องปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง เพื่อสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ การเงินที่มีเสถียรภาพต่อเนื่องในระยะยาว และมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนและทั่วถึง

แม้ว่าคณะกรรมการ ธปท. จะไม่มีบทบาทหน้าที่ในการกำหนดนโยบายการเงิน และนโยบายรักษาเสถียรภาพระบบสถาบันการเงินโดยตรง แต่ พ.ร.บ. ธปท. ได้ระบุอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ให้พิจารณาคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน คณะกรรมการระบบการชำระเงิน และแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงในตำแหน่งตั้งแต่ผู้ช่วยผู้ว่าการฯ ขึ้นไป และที่สำคัญคือมีหน้าที่ กำหนดหลักเกณฑ์และกำกับดูแลการบริหารจัดการสินทรัพย์ในทุนสำรองระหว่างประเทศ

ด้วยบทบาทหน้าที่ของประธานและกรรมการ ธปท. ข้างต้น บุคคลที่จะดำรงตำแหน่งต้องไม่เพียงแต่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด แต่ต้องปฏิบัติตนตามจรรยาบรรณขั้นสูงสุดที่เป็นข้อบังคับ ธปท. ว่าด้วยจรรยาบรรณในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของกรรมการในคณะกรรมการ ธปท. พ.ศ. 2553 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง

ในข้อ 4.5 ที่ไม่กระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ส่วนรวม ข้อ 4.7 พึงปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเที่ยงธรรม เป็นกลางทางการเมือง และไม่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม และ ข้อ 4.11 พึงเป็นแบบอย่างที่ดีในการดำรงตน รักษาชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของ ธปท.

พวกเราจึงขอเรียกร้องให้คณะกรรมการสรรหาฯ ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ได้ใช้วิจารณญาณพิจารณาด้วยความรอบคอบ รอบด้าน และโปร่งใส อย่างเป็นอิสระในการสรรหาประธาน ธปท. และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการ ธปท. เพื่อให้ได้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถ มีประวัติและพฤติกรรมที่ปฏิบัติตนตามจรรยาบรรณที่ระบุไว้ เป็นที่ประจักษ์ในสังคมและไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 80 ปีของการก่อตั้งธนาคารแห่งประเทศไทย คณะกรรมการธนาคาร ผู้บริหาร และพนักงาน ต้องใช้ความพยายาม และความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างสูง เพื่อรักษาอธิปไตยและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจการเงินของไทยไว้ โดยป้องกันไม่ให้มีการแทรกแซงทางการเมือง

ผู้ว่าการเล้ง ศรีสมวงศ์ ผู้ว่าการคนแรกที่ทำงานเต็มเวลาที่ ธปท. ได้กล่าวในการเข้าร่วมประชุมกรรมการธนาคารเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2490 ว่า “ในฐานะที่ ธปท. เป็นนายธนาคารกลาง ย่อมไม่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองและจะดำเนินการอย่างอิสระ ตลอดจนทำหน้าที่ในการเหนี่ยวรั้งรัฐบาลในกิจการที่ธนาคารเห็นว่าจะเกิดความเสียหายแก่ประเทศเป็นส่วนรวม……”

อดีตพนักงาน ธนาคารแห่งประเทศไทย
 1 พฤศจิกายน 2567

ทั้งนี้ จดหมายฉบับดังกล่าว ยังมีการแนบรายชื่อของ พนักงานธปท. ซึ่งมีชื่อของอดีตผู้บริหาร ระดับรองผู้ว่าการ 4 คน ผู้ช่วยผู้ว่าการขึ้นไป 12 คน ได้แก่ อดีตรองผู้ว่าการ
1.ทองอุไร ลิ้มปิติ
2.รณดล นุ่มนนท์
3.ฤชุกร สิริโยธิน
1.วชิรา อารมย์ดี

และ อดีตผู้ช่วยผู้ว่าการ
1.กฤช ฟลอเล็ต
2.จันทวรรณ สุจริตกุล
3.นพมาศ มโนลีหกุล
4.นวอร เดชสุวรรณ
5.ผุสดี หมู่พยัคฆ์
6.เพิ่มสุข สุทธินุ่น
7.ศิริชัย สาครรัตนกุล
8.สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา
9.สุภาวดี ปุณศรี
10.เสาวณี สุวรรณชีพ
11.อมรา ศรีพยัคฆ์
12.อรุณศรี ติวะกุล


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top