Wednesday, 21 May 2025
NewsFeed

‘จีน’ เรียกเก็บเงินประกันบรั่นดีสูงสุด 39% มาตรการตอบโต้ ‘อียู’ ขึ้นภาษีรถยนต์ไฟฟ้า

(10 ต.ค.67) จีน ตอบโต้การขึ้นภาษีอีวีของสหภาพยุโรป (อียู) โดยเรียกเก็บเงินค้ำประกันการนำเข้า ‘บรั่นดี’ จากอียูประมาณ 30.6% ถึง 39.0% ของมูลค่าการนำเข้า ฝรั่งเศสโดนหนักสุด เพราะครองส่วนแบ่งมากถึง 99% ของบรั่นดีที่จีนนำเข้าจากอียู

วันที่ 8 สิงหาคม 2024 รอยเตอร์ (Reuters) รายงานว่า จีนใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping Measure) ชั่วคราวกับสินค้าบรั่นดีนำเข้าจากสหภาพยุโรป หรืออียู (EU) ส่งผลกระทบหลายแบรนด์ตั้งแต่เฮนเนสซี (Hennessy) จนถึง เรมี่ มาร์ติน (Remy Martin) หลังจากที่สหภาพยุโรปโหวตขึ้นภาษีรถยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี (EV) จากจีนเมื่อวันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา 

ฝรั่งเศสถูกมองว่าเป็นเป้าหมายของมาตรการนี้ เนื่องจากฝรั่งเศสสนับสนุนการขึ้นภาษีรถอีวีจีน ที่สำคัญจีนนำเข้าบรั่นดีจากฝรั่งเศสคิดเป็น 99% ของการนำเข้าบรั่นดีจากอียูในปี 2023 คิดเป็นมูลค่าแตะ 1,700 ล้านดอลลาร์ (ราว 56,000 ล้านบาท) 

กระทรวงพาณิชย์ของจีนกล่าวว่า การสอบสวนได้กำหนดไว้เบื้องต้นว่า การทุ่มตลาดบรั่นดีจากสหภาพยุโรปเป็นภัยคุกคามต่อภาคอุตสาหกรรมบรั่นดีของจีน และตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคมเป็นต้นไป ผู้นำเข้าบรั่นดีจากอียูจะต้องวางเงินค้ำประกัน (Security Deposits) ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ที่อัตราประมาณ 34.8% ถึง 39.0% ของมูลค่านำเข้า

เฮนเนสซี และเรมี่ มาร์ติน เป็นแบรนด์บรั่นดีที่ได้รับผลกระทบมากสุด เนื่องจากผู้นำเข้าบรั่นดี 2 แบรนด์นี้ต้องวางเงินประกันสูงถึง 39.0% และ 38.1% ตามลำดับ ส่วนมาร์แตลล์ (Martell) ถูกเรียกเก็บต่ำสุดที่ 30.6%

เงินค้ำประกันที่เรียกเก็บนี้จะทำให้ต้นทุนล่วงหน้าของการนำเข้าบรั่นดีจากอียูเพิ่มขึ้น กระทรวงพาณิชย์จีนไม่ได้ให้รายละเอียดว่าผู้วางเงินค้ำประกันจะได้รับเงินคืนเมื่อไรและอย่างไร 

มาตรการลงโทษล่าสุดนี้เกิดขึ้นหลังสหภาพยุโรปโหวตขึ้นภาษีรถอีวีและจะบังคับใช้ในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้ในเดือนสิงหาคมจีนได้แสดงไมตรีจิตโดยระงับแผนใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดบรั่นดีของสหภาพยุโรป แม้จะพิจารณาแล้วว่าบรั่นดีจากสหภาพยุโรปที่ขายในจีนนั้นขายในราคาต่ำกว่าตลาด ซึ่งในตอนนั้นกระทรวงพาณิชย์จีนระบุว่าการสอบสวนจะสิ้นสุดก่อนวันที่ 5 มกราคม และจะไม่มีการขยายการสืบสวน

กระทรวงพาณิชย์จีนเคยกล่าวก่อนหน้านี้ถึงข้อค้นพบจากการสืบสวนว่า ผู้ผลิตเหล้าจากยุโรปขายบรั่นดีในตลาดจีนที่มีผู้บริโภค 1,400 ล้านคน ในราคาที่มีส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาด (Dumping Margin) อยู่ที่ 30.6% ถึง 39% ซึ่งถือเป็นการสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมสุราภายในประเทศจีน 

ทั้งนี้ สหภาพยุโรปผ่านมติบังคับใช้อัตราภาษีนำเข้าเพิ่มเติมเป็นเวลา 5 ปี สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนต่อ โดยกำหนดอัตราภาษี 7.8% สำหรับเทสลา (Tesla) และ 35.3% สำหรับแบรนด์เอ็มจี (MG) ของบริษัทเอสเอไอซี (SAIC) และสำหรับผู้ผลิตรายอื่น ๆ ในจีนที่ไม่ให้ความร่วมมือในการสอบสวน เพิ่มเติมจากอัตราภาษีนำเข้ารถยนต์ทั่วไปที่เก็บ 10% แต่คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) กล่าวเปิดทางว่า เต็มใจที่จะดำเนินการเจรจาหาทางเลือกอื่นต่อไป แม้จะมีการประกาศขึ้นภาษีแล้วก็ตาม
 

“นายณัฐวุฒิ ต้องออกมาชี้แจง (เรื่องเงินบริจาค 42 ล้าน) เพราะการชุมนุมเมื่อปี 2552 ต่อเนื่องปี 2553 ณัฐวุฒิ รับผิดชอบทางการเงิน โดยผมกับพี่วีระ ยินยอมโดยดุษฎี”

'จตุพร' สาปแช่งคนเลวอมเงินบริจาคขอให้ฉิบหาย เปิดชื่อ 'ณัฐวุฒิ' ดูแลเงินม็อบปี 52-53 บี้รีบแถลงอธิบายให้สิ้นกังขาเพื่อหยุดปลุกปั่นคนอม 42 ล้าน ระบุไม่เคยยุ่งเงินม็อบ ชี้เลิกชุมนุมไม่เคยมีรายงานให้รับรู้ใช้จ่ายอะไร ลั่นให้เวลาติ่งเพื่อไทยลบโพสต์ 7 วัน ถ้าเมินเฉยเจอฟ้อง ถึงเป็นร้อยเป็นพันคดีก็จะฟ้อง

เมื่อวันที่ (9 ต.ค. 67) นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ระบุ 'นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ' เป็นแกนนำ นปช. มีหน้าที่ดูแลเงินบริจาคม็อบปี 52-53 ส่วนมีใครอมเงิน 42 ล้านหรือไม่ ควรออกมาอธิบายข้อเท็จจริง ให้พวกติ่งพรรคเพื่อไทยหยุดพฤติกรรมก่อกวนใส่ร้าย

นายจตุพร กล่าวว่า พวกติ่งเพื่อไทยนำคำพูดของ 'หนุ่มโคราช' มาขยายความถามถึงเงินบริจาค 42 ล้านช่วงคนเสื้อแดงชุมนุมหายไปไหน ซึ่งตนเคยบอกให้ไปถามทักษิณ ชินวัตรว่า มอบหน้าที่ให้ใครดูแล และยังบอกเป็นนัยอีกว่า ตนกับนายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีต ประธาน นปช. ไม่ได้ดูแลเรื่องเงิน แต่ตลอดช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมายังถูกยัดข้อหา กล่าวร้าย รุมยำกินฟรีตนอยู่ทุกวัน

"ผมอยากบอกว่า หลายวันที่ผ่านมา นายณัฐวุฒิ ต้องออกมาชี้แจง (เรื่องเงินบริจาค 42 ล้าน) เพราะการชุมนุมเมื่อปี 2552 ต่อเนื่องปี 2553 ณัฐวุฒิ รับผิดชอบทางการเงิน โดยผมกับพี่วีระ ยินยอมโดยดุษฎี ไม่มีใครไปติดใจอะไร อีกอย่างตลอดการชุมนุมไม่เคยถามว่า ใช้จ่ายเรื่องอะไร ไม่ว่าเงินจะมาในรูปแบบใดก็ตาม และหลังการชุมนุม (ณัฐวุฒิ) ก็ไม่เคยมารายงานว่าใช้จ่ายเรื่องอะไรบ้าง ผมกับพี่วีระ ไม่เคยไปสอบถาม ข้อเท็จจริงมีอยู่เท่านี้"

นายจตุพร กล่าวว่า ถึงวันนี้พวกติ่งเพื่อไทยไปขุดเรื่องราวเมื่อปี 2553 ที่ผ่านมาร่วม 14 ปี แล้วแต่งเสริมเป็นนิยายว่า ตนเอาเงิน 42 ล้านไป ซึ่งตนหวังให้นายณัฐวุฒิ คนดูแลเงินได้ชี้แจงติ่งเพื่อไทยให้รับรู้ เพราะตนไม่เกี่ยวข้องอะไรกับเงินบริจาคด้วย แต่พวกติ่งยังเหิมเกริมอีก ดังนั้น ตนให้เวลา 7 วันลบโพสต์ต่าง ๆ ที่กล่าวหาตน ถ้าไม่ทำจะฟ้องทุกคนเป็นร้อยเป็นพันคดีก็จะทำ

"ผมหวังให้คนมีหน้าที่ดูแลเงินได้อธิบาย แต่ไม่อธิบาย ส่วนการชุมนุมปี 2557 เป็นอีกคนดูแลเรื่องเงิน ซึ่งไม่ใช่ผมอีก แต่ที่ผมจะบอกว่า ถ้าข้อมูลพวกเวรชาติชั่วพวกนี้เป็นจริง ทำไม บรรดาแกนนำพรรคเพื่อไทยจึงไม่พูดตอบโต้ เพราะทุกคนรู้เต็มอก แล้วผมไม่เคยติดใจและยังไม่เคยสอบถามด้วยว่า ใช้อะไรไปบ้าง เพราะ (การชุมนุม) มีความตายมากขนาดนั้น จึงไม่มีอารมณ์ไปสนใจอะไรอื่น"

อีกทั้งกล่าวว่า ถึงวันนี้พวกคนอุบาทว์นำเรื่องเงิน 42 ล้านมาปั่นสนุกสนานกันใหญ่ ส่วนอีกคนหนีไปอยู่ลาว แล้วท้าตีท้าต่อยกับตน ดังนั้น ตนให้เวลา 7 วันลบโพสต์และใครยังปั่นความเท็จเรื่องเงินบริจาคจะถูกฟ้องให้หมด เพราะเรื่องอื่นวิจารณ์ตนได้ แต่เรื่องอมเงินบริจาคเป็นคนเลวที่สุด

นายจตุพร ย้ำว่า นายณัฐวุฒิ ที่มีหน้าที่ดูแลเงินบริจาคต้องออกมาชี้แจง ซึ่งไม่เกี่ยวกับตนหรือพี่วีระ แล้วยังไม่เคยสงสัยอะไร และไปเกี่ยวข้องเรื่องเงินด้วย ดังนั้น ต้องไปถามที่ปรึกษานายกฯ อย่างไรก็ตาม ถ้าแกนนำพรรคเพื่อไทยโผล่ออกมาอธิบายด้วยแล้ว ตนจะได้อธิบายให้หนักกว่านั้นอีก แม้ตนจะมีขีดเส้นไว้ว่าอะไรควรพูด ไม่ควรพูดก็ตาม

"ผมบอกได้เลยว่า คนมีหน้าที่ดูแลเรื่องเงินบริจาคคือ ณัฐวุฒิ ไม่ใช่ผมและพี่วีระ เหตุที่ระบุชื่อพี่วีระ เพราะวันนั้น สามเกลอแทบจะเบ็ดเสร็จการชุมนุมในทางปฏิบัติ แต่เรื่องผ่านมา 14 ปี พวกชาติชั่วหนีคดีมาสร้างเรื่องเท็จปลุกปั่นใส่ร้าย โดยคนมีหน้าที่เรื่องเงินกลับไม่ออกมาอธิบายเลย"

นายจตุพร สาปแช่งคนอมเงินบริจาคช่วงชุมนุมคนเสื้อแดงว่า ขอให้ฉิบหาย อีกทั้งเรื่องนี้ตนเคยฟ้องอดีตดาราเป็นคดีหมิ่นประมาท ใส่ความเป็นตัวอย่างมาแล้วและชนะคดีในศาล นอกจากนี้ ถ้ามีข้อเท็จจริงว่า ตนอมเงินจริงแล้ว พวกแกนนำเพื่อไทยต้องเรียงหน้าออกมาถล่มตนตลอดเวลา 14 ปีที่ผ่านมาอยู่แล้ว

"พวกเขารู้กันหมดเรื่องเงินบริจาค ใครมาเบิกก็ไปที่ณัฐวุฒิคนเดียว ไม่ได้มาเบิกที่ผมเลย ซึ่งเป็นอย่างนั้น ไม่มีอะไรสลับซับซ้อน แต่ผ่านมา 14 ปีโยนใส่เฉยเลย แล้วผมไปยุ่งอะไร แต่คนที่รับผิดชอบกรณีชุมนุมก็มีชีวิตอยู่ทั้งนั้น ย่อมรู้ถึงการอมเงินที่เป็นเรื่องอุบาทว์ชาติชั่วนี้

นายจตุพร เรียกร้องว่า หากเรื่องราวไม่ได้เป็นตามที่ตนพูด และถ้านายณัฐวุฒิ ไม่ได้รับผิดชอบ มีหน้าที่ดูแลเงินบริจาคจากการชุมนุมแล้ว ต้องออกมาแถลงเรื่องราว โดยตนไม่ได้ใส่ร้ายอะไรใคร ดังนั้น หากเห็นว่า ไม่ใช่ให้ออกมาเถียง

“เมื่อวันนี้ พะ-นะ-ท่าน เป็นที่ปรึกษานายกฯ แล้ว ช่วยอธิบายให้พวกบรรลัย คนพวกนี้ที่ปั่นเรื่องเท็จใส่ร้ายด้วย” นายจตุพร บี้ให้นายณัฐวุฒิ ไม่ควรนิ่งเงียบ ต้องแถลงชี้แจงความจริงให้ปรากฏด้วย

ยอมใจ!! ‘นักการเมืองพรรคส้ม’ ขยันสร้างเรื่องฉาว แถม ‘ไร้ความสามารถ – ขาดผลงาน’ 14 ล้านเสียงเริ่มเบือนหนี

ทำไมเรื่องฉาวโฉ่ เรื่องหลอกต้มสังคม เรื่องน่าละอาย จึงมีแต่นักการเมืองพรรคส้ม..พรรคเดียว 

แทบจะทุกวันตลอดหลายปีที่ผ่านมา ถ้าเป็นข่าวของนักการเมืองแย่ ๆ ทำในเรื่องไม่ดี ๆ ที่คนอื่นไม่กล้าทำกัน สำหรับสังคมไทยก็มักจะเกิดขึ้นกับ 'นักการเมืองพรรคส้ม' พรรคเดียว ตามหน้าฟีดเฟซบุ๊กจะมีข่าวให้คนเอาไปเมาท์ไปก่นด่ากันไม่จบไม่สิ้น 

ถือเป็น 'พรรคเซเลบริตี้' ประจำสังคมไทยยุคใหม่ แต่ดังในทางเสื่อม จนสังคมเอือมระอาและเบื่อหน่าย แม้แต่คนที่เคยอยู่ใน 14 ล้านเสียง จากที่พูดคุยกับคนเหล่านี้จำนวนไม่น้อยถึงวันนี้ก็หูตาสว่างกันมากแล้ว ด้วยเรื่องแย่ ๆ เรื่องเดิมยังไม่ทันจบ กลิ่นเหม็นเน่ายังไม่ทันจางหายไปจากโซเชียล เรื่องใหม่กับนักการเมืองในพรรคคนใหม่ ก็ผลัดเปลี่ยนมาสร้างเรื่องที่น่าอับอายต่อทันที จนช่องข่าวแทบทุกค่าย ยกเว้นค่าย 'น้อยสีหัวใจแอบส้ม' นำเสนอข่าวคาว ๆ แทบไม่ทัน 

ประสาคนรักบ้านเกิด รักสังคมไทยแบบผม หรือคนไทยอีกมากมายที่เราต่างก็เสียภาษี ไม่ได้รู้สึกดีที่เรามีนักการเมืองคุณภาพต่ำเตี้ยเรี่ยดินเช่นนี้ เห็นข่าวแต่ละอย่างที่เกิดขึ้น พฤติกรรมแย่ ๆ ทั้งในและนอกสภา การแอบอ้าง การเอาดีเข้าตัวผลักความชั่วให้คนอื่น การสร้างภาพตบตาคนโง่ว่าตนนั้นเป็นนักการเมืองที่ดี และการได้เห็นถึงวิสัยทัศน์ที่ไม่ไกลไปกว่าเด็กมัธยมปลาย ผมรู้สึกเสียดายเงินภาษีที่ต้องไปแบ่งจ่ายให้กับนักการเมืองพรรคนี้ ถึงวันนี้ผมก็ยังมองไม่เห็นประโยชน์ หรือผลงาน ที่นักการเมืองเหล่านี้สร้างทำให้กับสังคมไทยเลยแม้แต่น้อย เพราะมีแต่เรื่องคิดล้มล้างสถาบันกษัตริย์ หรือไม่ก็ยกเลิก 112 

คนเราเมื่อมีมาตรฐานที่ต่ำ ความคิด การกระทำ ก็ย่อมจะไม่สูง เรื่องต่ำ ๆ สกปรก เรื่องที่ไม่สร้างสรรค์ก็จะเกิดขึ้นในมโนสำนึก และมักจะดึงดูดคนในมาตรฐานเดียวกันให้มาอยู่รวมกัน ถ้าจะมีข้อดี ก็คงเป็นเรื่องที่ช่วยสะท้อนให้เห็นถึงโลกทัศน์ของผู้คนในสังคมไทยมากถึง 14 ล้านเสียงได้เป็นอย่างดี เพื่อให้เราสามารถคะเนได้ว่าเรามีคนไทยร่วมชาติมีความคิดกันอย่างไร แต่โชคดีที่คนที่กาเลือกพรรคนี้ไม่ได้มีสูงเกินครึ่งของจำนวนคนไทยทั้งประเทศ มิเช่นนั้นประเทศไทยของเราอาจจะยากลำบากกว่านี้ 

เพราะนอกจากเราจะมีนักการเมืองที่โง่เง่า ทำงานไม่เป็น สร้างแต่ข่าวฉาว ๆ และน่าอับอายชาวโลกรายวัน เรายังมีเพื่อนร่วมชาติที่เบาปัญญาไม่ต่างกันมาช่วยสนับสนุนให้ความชั่วนั้นเติบโต หากเป็นเช่นนั้น ประเทศไทยคงจะเกิดสงครามกลางเมืองไปนานแล้ว ผมยังเชื่อว่าคนไทยฝั่งที่เลือกจะปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และไม่ได้เป็น “เด็กเช็ดรองเท้าให้ตะวันตก” เหมือนพรรคการเมืองไร้ความสามารถพรรคหนึ่ง ยังมีอยู่มากล้นในผืนแผ่นดินไทย 

‘อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี’ ผนึกกำลัง ’รวมไทยสร้างชาติ’ เสนอกฎหมาย ‘รื้อ ลด ปลด สร้าง’ ปฏิรูปเครดิตบูโร

(10 ต.ค. 67) ดร.อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ผู้ริเริ่มเสนอกฎหมายเครดิตบูโรภาคประชาชน และสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ร่วมกับพรรครวมไทยสร้างชาติยื่น 'ร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต (ฉบับที่ ...) พ.ศ. …' หรือ 'กฎหมายปฏิรูปเครดิตบูโร' 

ในการนี้ดร.อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ผู้ริเริ่มเสนอกฎหมายเครดิตบูโรภาคประชาชนร่วมกับนาย อนุชา บูรพชัยศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ร่วมแถลงข่าวเกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าว  

ดร.อรรถวิชช์ กล่าวว่า “ร่างกฎหมายฉบับประชาชนและร่างฉบับพรรครวมไทยสร้างชาติมีเนื้อหาตรงกัน โดยมีสาระสำคัญคือ ลูกหนี้จ่ายหนี้ครบปิดบัญชี หรือ ผ่อน 6 เดือนติดต่อกันลบประวัติทันที และเปลี่ยนการแสดงผลเป็นคะแนนเครดิต (Credit Scoring) แทนการแสดงประวัติทั้งหมด รวมถึงฟรีค่าธรรมเนียมในการเช็กคะแนนเครดิตของตนเองด้วย ที่สำคัญที่สุดคือการลบประวัติผู้ที่มีประวัติเสียในเครดิตบูโรจากสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นทันที

โดยกฎหมายเครดิตบูโรฉบับประชาชนได้รับการสนับสนุนจากองค์กรของผู้บริโภคโดยปัจจุบันมีประชาชนร่วมลงชื่อเสนอกฎหมาย ราว 6 พันคน มาวันนี้ได้แรงหนุนจากส.ส.พรรครวมไทยสร้างชาติด้วย ทำให้กฎหมายเข้าสู่สภาได้เร็วขึ้นมาก 

กฎหมายปฏิรูปเครดิตบูโรฉบับนี้จะเปลี่ยนโฉมการประเมินการให้สินเชื่อใหม่ ช่วยให้ประชาชนฟื้นตัวได้เร็วไม่ถูกแช่แข็ง สร้างการแข่งขันเรื่องอัตราดอกเบี้ยของธนาคาร และทำให้ธนาคารมีความแม่นยำเพิ่มมากขึ้นในการประเมินสินเชื่ออีกด้วย โดยประชาชนสามารถมีส่วนร่วมเสนอกฎหมายได้ผ่าน เว็บไซต์ของรัฐสภา หรือ www.changeblacklist.org 

นายอนุชา บูรพชัยศรี เปิดเผยว่า พรรครวมไทยสร้างชาติเห็นถึงความสำคัญของการปฏิรูประบบข้อมูลเครดิตบูโรมาโดยตลอด เนื่องจากมีผู้ได้รับผลกระทบจากการเก็บข้อมูลเครดิตบูโรไม่น้อยกว่า 5 ล้านคน ซึ่งจำนวนประมาณ 50% เกิดจากความยากลำบากในการดำเนินชีวิตการประกอบธุรกิจในช่วงสถานการณ์โควิด

การปฏิรูปการจัดเก็บข้อมูลเครดิตบูโรในครั้งนี้ เป็นการให้โอกาสในการพลิกฟื้นวิถีชีวิต และการประกอบธุรกิจของประชาชน จากเดิมหากมีประวัติที่ไม่ดีถูกจัดเก็บไว้ในฐานข้อมูลของเครดิตบูโร ประชาชนจำนวนมากสูญเสียความสามารถในการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ มีความจำเป็นต้องไปใช้บริการสินเชื่อนอกระบบ หรือที่รู้จักกันในชื่อ เงินกู้นอกระบบ

เงินกู้นอกระบบนี้เองที่สร้างปัญหาแก่ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นดอกเบี้ยที่สูงเกินกว่ากฎหมายกำหนด การทวงหนี้ที่โหดร้าย 

นายอนุชา กล่าวต่ออีกว่า นอกจากการแก้ไขกฎหมายเครดิตบูโรในครั้งนี้แล้ว ตนและพรรครวมไทยสร้างชาติมีความเห็นว่าจะต้องมีการดำเนินการด้านอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย ดังนี้

1.ต้องมีการปรับปรุงแนวคิดของการอนุมัติสินเชื่อของประเทศไทย รวมถึงแก้ปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อโดยเฉพาะในรายย่อย
2.หลักการเกี่ยวกับสินเชื่อต้องใช้มาตรฐานสากลเพื่อให้เหมาะสมกับทุก ๆ บริบท 
3.แม้จะมีการแก้ไขกฎหมายเครดิตบูโรในครั้งนี้แล้ว แต่จะต้องไม่ไปสร้างความเชื่อที่ผิดโดยเฉพาะในเรื่องความจำเป็นในการมีวินัยทางการเงิน การกู้ หรือขอสินเชื่อจะต้องไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้จ่ายเกินตัว และต้องป้องกันไม่ให้เกิด Moral hazard ทางการเงินโดยเฉพาะเรื่องการกู้เงินและการชำระหนี้

ถ้าดำเนินการตามสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้แล้ว ตนมั่นใจว่าจะทำให้เกิดผลดีกับระบบสินเชื่อในภาพรวม และก็เป็นผลดีกับทั้งลูกหนี้ และสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ด้วย

ทั้งนี้ เนื่องจากคาดว่าร่างกฎหมายเครดิตบูโรฉบับนี้จะเข้าข่ายที่เป็นกฎหมายการเงิน ดังนั้นจึงต้องผ่านการรับรองจากนายกรัฐมนตรี จึงมีขั้นตอนที่อาจจะต้องใช้เวลาในการพิจารณาพอสมควร แต่อย่างไรก็ตามตนในฐานะ สส. พรรคร่วมรัฐบาล และกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาลในสภาผู้แทนราษฎร หรือ วิปรัฐบาล จะติดตามความคืบหน้าของกฎหมายฉบับนี้อย่างใกล้ชิด

“สาขาวิชาทางด้าน สังคมศาสตร์ หรือ ศิลปศาสตร์ จบออกมาแล้ว หางานได้ยาก ควรมีการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล และทักษะด้านอื่น ๆ”

นายศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ในปัจจุบันมีบัณฑิตจบใหม่ แต่ไม่สามารถหางานทำได้จำนวนมาก สาเหตุหลักมาจากความต้องการของตลาดแรงงานมีความเปลี่ยนแปลง อว.เห็นถึงปัญหาดังกล่าว และวางแนวทางแก้ไข โดยปรับเปลี่ยนหลักสูตรให้เป็นการเรียนรู้จากการปฏิบัติงานจริง หรือ Experiential Learning เช่น การส่งไปฝึกงานกับภาคเอกชนในช่วงปิดภาคเรียนเป็นระยะเวลา 4 เดือน ซึ่งหลักสูตรแบบนี้จะทำให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์ รวมถึงยังได้รับจรณทักษะ หรือ ซอฟต์สกิล ในเรื่องของการพูดคุยสื่อสารในที่ทำงาน ความเป็นผู้นำ การคิดวิเคราะห์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่อาจหาได้จากการเรียนในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว

“ตอนนี้อว.การพูดคุยกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆให้มีการปรับหลักสูตรสู่แนวทาง Experiential Learning ยิ่งขึ้น รวมถึง ร่วมกับภาคอุตสาหกรรมหรือผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้ใช้บัณฑิตโดยตรง ออกแบบหลักสูตรใหม่ ๆ ให้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน โดยเฉพาะในสาขาวิชาชีพ เช่น วิศวกรรมศาสตร์ และสาขาด้านวิทยาศาสตร์ เป็นต้น ”นาย ศุภชัย กล่าว

นายศุภชัย กล่าวต่อว่า สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือการพัฒนาทักษะของบัณฑิตให้มีความหลากหลายโดยเฉพาะทักษะทางด้านดิจิทัลที่มีความสำคัญในยุคปัจจุบัน เช่น การเขียนโค้ด การคิดวิเคราะห์ การใช้ปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ เป็นต้น ซึ่งทางอว. ได้ผลักดันให้บรรจุทักษะเหล่านี้เข้าไปในวิชาศึกษาทักษะทั่วไป ให้นักศึกษาได้เลือกเรียนมากยิ่งขึ้น โดยสามารถไปนำวิชาที่ภาคเอกชนมีการเปิดสอนอยู่แล้ว เช่น คอร์สเรียนของ Google คอร์สเรียนของ Microsoft เป็นต้น มาใช้ในการเรียนการสอน เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญที่หลากหลาย โดยไม่จำเป็นต้องเรียนกับอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเท่านั้น

นายศุภชัย กล่าวต่อว่า ขณะที่สาขาวิชาที่มีนักศึกษาสนใจเรียนมาก เกินความต้องการของตลาด อย่างเช่น สาขาวิชาทางด้าน สังคมศาสตร์ หรือ ศิลปศาสตร์ ที่จบออกมาแล้ว หางานได้ยาก ควรมีการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล และทักษะด้านอื่น ๆ ที่จำเป็นให้กับนักศึกษากลุ่มนี้ เพื่อเพิ่มทางเลือกในการทำงานและปรับทักษะที่ได้รับให้เข้ากับสายงานอื่นๆได้ โดยหลักการอย่างหนึ่งที่ อว.พยายามทำคือ การพัฒนาทักษะเพิ่มเติมให้ผู้เรียน เพื่อให้สามารถนำไปปรับใช้กับการทำงานได้หลากหลาย นอกจากนี้ยังพยายามผลักดันให้มีการเปิดหลักสูตรใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์กับตลาดแรงงานและการพัฒนาของประเทศ เช่น หลักสูตรวิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์ หลักสูตรความปลอดภัยทางไซเบอร์ หรือ Cybersecurity เป็นต้น

‘ผบ.ทร.’ มอบนโยบายกำลังพลกองทัพเรือ เน้นหนัก ‘พิทักษ์สถาบันฯ - ป้องกันประเทศ’

(10 ต.ค.67) 'ผบ.ทร.' มอบนโยบาย 5 ข้อกำลังพล เน้นย้ำพิทักษ์สถาบันฯ - ป้องกันประเทศ รักษาผลประโยชน์ทางทะเล ระลึกถึง 'อำนาจ หน้าที่ ความรับผิดชอบ'

พลเรือเอก จิรพล ว่องวิทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ มอบนโยบายและแนวทางการปฏิบัติงานแก่กำลังพลกองทัพเรือ ประจำปีงบประมาณ 2568 โดยมี หัวหน้าหน่วยขึ้นตรงกองทัพเรือ เข้ารับฟัง และมีการถ่ายทอดสัญญาณ ไปยังหน่วยต่าง ๆ เพื่อให้ผู้บังคับหน่วยตั้งแต่ นายทหารชั้นนายพลเรือ หน่วยกำลัง ผู้บังคับการเรือ ผู้บังคับกองพัน ผู้อำนวยการกอง รวมถึงผู้ช่วยทูตทหารเรือไทยในต่างประเทศ ได้รับฟังการแถลงนโยบายในครั้งนี้

ผู้บัญชาการทหารเรือ กล่าวว่า นโยบายการดำเนินงานในปีนี้ ยังคงเป็นไปตามที่ระบุไว้ในยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือ ที่ครอบคลุมภารกิจของกองทัพเรือ 5 ด้าน ได้แก่ การพิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ การเตรียมกำลังและป้องกันราชอาณาจักร การรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล การสนับสนุนการรักษาความมั่นคงภายในประเทศ และภารกิจด้านการสนับสนุนการพัฒนาประเทศและช่วยเหลือประชาชน รวมทั้งยังได้เน้นย้ำให้กำลังพลทุกนาย พึงระลึกต่อ “อำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบ” ของแต่ละนายที่พึงมี และรักษาอย่างเคร่งครัด

ในด้านของการพิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งในปีนี้ กองทัพเรือได้มีโอกาสถวายงาน คือ พระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหารโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค การสวนสนามและสาบานตนของทหารรักษาพระองค์ 

การให้ความสำคัญในการดำเนินโครงการศูนย์การเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ โคก หนอง นา โมเดล เพื่อสืบสานในพระราชปณิธานภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวทางที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาพระราชทานไว้ให้เกิดเป็นรูปธรรม 

รวมถึงการดำเนินโครงการจิตอาสา เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ โดยมุ่งเน้นการปฏิบัติในการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ให้กับส่วนรวมและประชาชนในพื้นที่บริเวณที่ตั้งหน่วยและพื้นที่รับผิดชอบ ตลอดจนสนองโครงการในพระราชดำริ อย่างเต็มกำลังความสามารถ

ในด้านการเตรียมกำลังป้องกันราชอาณาจักร รักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลและสนับสนุนการรักษาความมั่นคงภายในประเทศ อาทิ การเตรียมความพร้อมของกองทัพเรือด้านการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย การขจัดคราบมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์ รวมถึงหลักปฏิบัติการร่วมและบริภัณฑ์ รวมทั้งการผลิตผู้เชี่ยวชาญระหว่างกองทัพเรือและศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ได้ตามมาตรฐานสากล

ในด้านการสนับสนุนการพัฒนาประเทศและช่วยเหลือประชาชน การสนับสนุนโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EEC) การส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ แนวทางการนำนโยบาย offset policy มาใช้ รวมถึงการทบทวนแผนการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่เกิดภัยพิบัติเป็นประจำ โดยมุ่งเน้นการเตรียมการล่วงหน้าทางด้านกำลังพลยุทโธปกรณ์ รวมถึงแนวทางการปฏิบัติและงบประมาณให้พร้อมแบบ package เพื่อให้สามารถดำเนินการช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ และการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว(soft power)ในพื้นที่ของกองทัพเรือ ให้มีความสะอาดเรียบร้อยสวยงามตามมาตรฐานที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยกำหนดเพื่อรองรับนโยบายการท่องเที่ยวของรัฐบาล

ด้านบริหารจัดการ ให้ศึกษาแนวทางการใช้ประโยชน์จากดาวเทียมไทยคมของกระทรวงกลาโหม และ UAV เพื่อให้การติดต่อสื่อสารกับกำลังทางเรือในทะเลระยะไกลและการติดต่อระหว่างกำลังพลของเหล่าทัพผ่านระบบสัญญาณดาวเทียม รวมถึงการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ network centric warfare ในโครงการจัดตั้งสถานีตรวจการทางทะเล

ในส่วนของการดูแลทหารกองประจำการ นักเรียนทหาร ให้มีสิทธิเท่าเทียม ห้ามไม่ให้มีการลงโทษเกินกว่าเหตุ โดยผู้บังคับบัญชาในทุกระดับ กำกับดูแลครูฝึกและเน้นย้ำให้เข้าใจถึงหน้าที่และบทบาท ความรับผิดชอบของตนเอง อีกทั้งให้สอดส่องดูแลกำลังพลในทุกระดับไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด พร้อมเร่งดำเนินการและหามาตรการในการป้องกันปราบปรามอย่างเด็ดขาด

การดูแลสวัสดิการให้แก่กำลังพล ตั้งแต่สิทธิสวัสดิการของกองประจำการ โดยเน้นการเบิกเงินเดือน เบี้ยเลี้ยง ตลอดจนการจัดเลี้ยงให้ถูกสุขลักษณะ การดูแลสุขภาพกำลังพลในทุกระดับโดยปรับรูปแบบเป็นการตรวจสุขภาพเชิงรุก การให้คำปรึกษาทางการแพทย์ผ่านระบบออนไลน์ การส่งเสริมให้กำลังพลมีที่พักอาศัยเป็นของตนเอง สานต่อโครงการอบรมดนตรี กีฬา ภาษา ให้แก่บุตรหลานราชการ และซ่อมแซมปรับปรุงที่พักอาศัยส่วนกลาง

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายหลักกองทัพเรือ 9 ด้าน ซึ่งกรมในฝ่ายอำนวยการและหน่วย รับผิดชอบหลักได้จัดทำขึ้น โดยมีการดำเนินการที่สำคัญจากยุทธศาสตร์กองทัพเรือ แผนแม่บทพัฒนากองทัพเรือ นโยบายกองทัพเรือ ระยะ 5 ปี ซึ่งจะมีรายละเอียดในเอกสารนโยบายผู้บัญชาการทหารเรือที่จะแจกจ่ายให้หน่วยต่าง ๆ ต่อไป

ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้มอบแนวทางการปฏิบัติงานในปีนี้ ไว้ว่า “เทิดทูนสถาบัน ป้องกันรัฐ พัฒนาชาติ ราษฎร์ศรัทธา: Monarchy Country Government People” รวมทั้งกำหนดให้ปีนี้ เป็นปีแห่งความปลอดภัยของกองทัพเรือ หรือ “NAVY-SAFETY 2025” ในทุก ๆ ด้าน

14-22 ต.ค. ‘ประเมษฐ์ จินา’ ชวนเที่ยวชมงาน ‘ชักพระ ทอดผ้าป่า แข่งเรือยาว’ สุราษฎร์ธานี

(11 ต.ค. 67) ดร.ปรเมษฐ์ จินา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสุราษฎร์ธานี เขต 5 พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้หารือในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ว่า 

เรื่องแรกนั้นประชาชนในพื้นที่ได้แจ้งว่าต้องการให้มีการตัดถนนเชื่อมระหว่างทางหลวงสาย 4009 และทางหลวงหมายเลข 44 หรือที่เรียกอย่างติดปากว่าถนน southern ซึ่งการตัดถนนเชื่อมนี้จะช่วยย่นระยะทางในการเดินทางสัญจรของประชาชนในพื้นที่ 

สำหรับทางหลวงหมายเลข 44 ยังมีพื้นที่ว่างบริเวณเกาะกลางถนนค่อนข้างใหญ่ เพื่อเป็นการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงขอให้มีการอนุญาตให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรเพื่อการสาธารณะประโยชน์เข้าใช้พื้นที่ดังกล่าวชั่วคราวด้วย

เรื่องที่ 2 ในลำดับแรกต้องขอขอบคุณรัฐบาลที่ช่วยกระตุ้นราคาสินค้าทางการเกษตรโดยปัจจุบันราคาน้ำยางพาราและปาล์มน้ำมันสูงขึ้นเป็นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ดีทำให้มีปัญหาการลักขโมยเกิดขึ้น จึงอยากขอให้กำชับตำรวจในพื้นที่ให้ดำเนินการอย่างเข้มแข็งเพื่อบำบัดทุกข์ให้กับพี่น้องเกษตรกร 

สุดท้ายนี้ขอประชาสัมพันธ์งานประเพณีชักพระ ทอดผ้าป่า และแข่งเรือยาว ประจำปี 2567 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-22 ตุลาคม 2567 โดยครั้งนี้ได้รับเกียรติจากนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธานในพิธีเปิด 

โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งข้าราชการ กทม. ระดับ ผอ.สำนัก จับตาตั้ง ‘เจษฎา จันทรประภา’ เป็นแม่ทัพรับน้ำท่วม

(10 ต.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานการเจ้าหน้าที่ กรุงเทพมหานคร ได้เผยแพร่ ‘ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญ’ ความว่า

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญ สังกัดกรุงเทพมหานคร ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 7 ราย ดังนี้

1.นายอาฤทธิ์ ศรีทอง รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานคร สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร

2.นางสาวศุภร คุ้มวงศ์ รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษา ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานคร สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร

3.นายมนูศักดิ์ บินยะฟัล รองผู้อำนวยการสำนักการโยธา ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานคร สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร

4.นางสาวพิศมัย เรืองศิลป์ รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษา ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา

5.นายเจษฎา จันทรประภา รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ

6.นายสิทธิพร สมคิดสรรพ์ รองผู้อำนวยการสำนักการจราจราจรและขนส่ง ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง

7.นายวิฑูรย์ อภิสิทธิ์ภูวกุล รองผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักยุทยุทธศาสตร์และประเมินผล

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2567 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2567

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

เปิดผลสำรวจสุขภาพจิตคนไทย จาก DXT360 อึ้ง!! ร้อยละ 30 เครียดสะสมจากปัญหาการทำงาน

(10 ต.ค. 67) ในยุคปัจจุบันสังคมเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันอย่างรวดเร็ว สุขภาพจิตได้กลายเป็นประเด็นสำคัญที่ทุกคนควรตระหนักและให้ความสนใจมากขึ้น ไม่เพียงแต่เป็นเรื่องของอารมณ์และความคิดส่วนตัวเท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงกับปัจจัยทางสังคมและวัฒนธรรมโดยรอบ การทำความเข้าใจถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโตและความสุขของทุกคนในสังคม

ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตระบุว่า ในปี 2566 มีผู้ป่วยจิตเวชมารับบริการถึง 2.9 ล้านคนในประเทศไทย แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของปัญหาสุขภาพจิต สาเหตุหนึ่งมาจากการที่สังคมไทยเริ่มเปิดใจยอมรับและเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตมากขึ้น นอกจากนี้ สภาพสังคมปัจจุบันยังมีปัจจัยหลายประการที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต เช่น ความไม่สมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว (Work-life balance) ที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของคนรุ่นใหม่ รวมถึงความหลากหลายของช่วงวัย (Generation gap) ในที่ทำงานซึ่งอาจนำไปสู่ความขัดแย้งและความเครียด

บทความนี้ใช้เครื่องมือ DXT360 ฟังเสียงผู้คนบนสังคมออนไลน์ (Social Listening) ของ บริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด ผู้ให้บริการ Media Intelligence ในการรวบรวมข้อมูลเชิงลึกจากโซเชียลมีเดียระหว่าง 1 กันยายน - 4 ตุลาคม 2567 เพื่อทำความเข้าใจมุมมองและประสบการณ์ด้านสุขภาพจิตของผู้คนในสังคม

>>>การใช้โซเชียลมีเดียของคนไทยกับปัญหาสุขภาพจิต

จากการรวบรวมความคิดเห็นบนโซเชียลมีเดียพบว่าผู้คนส่วนใหญ่ 61% ใช้โซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่เพื่อการโพสต์ระบายความรู้สึกและแสดงตัวตน รองลงมา 22% เป็นการเล่า แลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตของตนเองและผู้อื่น ซึ่งพบว่าผู้ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า มักได้รับผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพจิตด้วย 

ถัดมาอีก 11% พบว่า เป็นการให้ข้อมูลและคำแนะนำ ซึ่งเป็นการแบ่งปันข้อมูลที่เป็นประโยชน์และวิธีการดูแลรักษาสุขภาพจิตที่ดี และ 6% เป็นการให้กำลังใจ โดยผู้ใช้โซเชียลมีเดียแสดงความห่วงใยและให้กำลังใจแก่ผู้ที่กำลังเผชิญปัญหาสุขภาพจิต 

>>>ส่อง Insight เรื่องไหนกระทบใจชาวโซเชียลจนต้องระบาย

โลกออนไลน์กลายเป็นพื้นที่สำหรับการระบายความรู้สึกและแชร์ประสบการณ์ เผยให้เห็นถึงปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของผู้คน ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน

>>>ปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต

ปัจจัยภายนอก คือ สิ่งแวดล้อมภายนอกซึ่งส่งผลต่อสภาพจิตใจโดยที่บุคคลไม่สามารถควบคุมได้โดยตรง พบว่า

-ปัญหาจากการทำงาน 30%: เนื่องด้วยการทำงานร่วมกับผู้คนที่มีความหลากหลาย และ การขาดสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงาน (Work life Balance) ซึ่งในขณะเดียวกันเราพบว่า ผู้คนส่วนใหญ่มีแนวโน้มให้ความสำคัญกับสุขภาพจิต โดยมีผู้ใช้โซเชียลจำนวนหนึ่งเลือกลาออกจากงานที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตมากกว่าการทนอยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่เหมาะสม ซึ่งสอดคล้องกับแคมเปญธีม 'Mental health at Work' จาก World Health Organization (WHO) เนื่องในวันสุขภาพจิตโลกปี 2024 ที่รณรงค์ให้ผู้คนทั่วโลกตระหนักถึงความเชื่อมโยงระหว่างสุขภาพจิตและการทำงาน เนื่องจากสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยส่งผลดีต่อสุขภาพจิต และในทางกลับกันสภาพแวดล้อมการทำงานที่ย่ำแย่ก็ส่งผลต่อปัญหาสุขภาพจิตเช่นกัน

-การรับรู้ข้อมูลมากเกินไป 18%: การรับรู้ข่าวสารเรื่องของคนอื่นมากเกินไป (Over information) โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับไอดอล ศิลปิน รวมถึงข่าวสารเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น ข่าวการเกิดภัยพิบัติ หรือ ข่าวอุบัติเหตุ 
-การเรียน/การศึกษา 14%: พบว่าผู้ที่อยู่ในวัยเรียนส่วนมากต่างละเลยสุขภาพในช่วงการสอบเพื่อผลคะแนนที่ดี
-ปัญหาขัดแย้งในครอบครัว 11%: ปัจจัยด้านครอบครัวส่วนใหญ่เกิดจากความเห็นต่างกันตามช่วงวัย (Generation Gap)

-ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล 10%: ชาวโซเชียลจำนวนหนึ่งระบุว่า ความเกรงใจและการละเลยความรู้สึก นำไปสู่ความขัดแย้งและความสัมพันธ์เชิงลบ เช่น คู่รัก หรือเพื่อน เป็นเหตุทำให้เกิดความขัดแย้ง และความ Toxic สะสม
-ปัญหาการดำเนินชีวิต 9%: โดยเฉพาะเรื่องการจราจรติดขัดและความไม่สะดวกในการสัญจรด้วยรถสาธารณะ นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ที่มีประสบการณ์เชิงลบจากการเผชิญกับพนักงานขายแบบ Hard Sell  เช่น การขายประกัน หรือการขายคอร์สเสริมความงาม ซึ่งสร้างความเครียดและความอึดอัดให้กับผู้บริโภคจนอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตที่สะสมได้

-ปัญหาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจ 7%: เช่น ปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้น
-การตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ 1%: เช่นโดนมิจฉาชีพแอบอ้างจนก่อให้เกิดความเสียหายทางการเงิน

>>>ปัจจัยภายในที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต

ปัจจัยภายใน มาจากพื้นฐานสภาพจิตใจ ร่างกาย ความรู้สึกนึกคิดของตัวบุคคลเอง ส่งผลต่อสุขภาพจิตของบุคคล สรุปได้ ดังนี้

-ปัญหาด้านสุขภาพกาย 42%: สภาพร่างกายเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อสภาวะจิตใจ
-การเห็นคุณค่าในตนเอง (Self-Esteem) 28%: ความรู้สึกเกี่ยวกับตนเองมีผลต่อสุขภาพจิต 
-ความคาดหวังในตนเอง 23%: เช่น ความคาดหวังคะแนนการสอบ หรือต้องการความสมบูรณ์แบบในการทำงาน  
-ประสบการณ์และภูมิหลัง 7%: ภูมิหลังส่วนตัวและประสบการณ์ฝังใจในวัยเด็กส่งผลระยะยาวต่อสุขภาพจิต

>>>พบจิตแพทย์เป็นเรื่องปกติ  

จากการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลโซเชียลมีเดีย พบวิธีการฟื้นฟูสุขภาพจิตที่ผู้คนบนโซเชียลนิยมใช้ ดังนี้ 

1.การดูแลสุขภาพร่างกายและใส่ใจกับสุขภาพจิต (43%) โดยมีทั้งการออกกำลังกาย การเลือกรับประทานอาหารที่ชอบ รวมถึงยังพบว่าผู้คนส่วนใหญ่เปิดใจรับการปรึกษากับจิตแพทย์และรับการรักษาโดยใช้ยา
2.การเลือกรับสื่อบันเทิง (22%) ทั้งการดูหนัง ซีรีส์ รวมไปถึงการอ่านนิยายวายที่เริ่มมีบทบาทเข้ามาช่วยให้ผู้อ่านมีความบันเทิง ฟื้นฟูสุขภาพจิตได้
3.การทำ Social Detox (14%) เพื่องดหรือลดปริมาณการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย
4.การระบายความรู้สึก (9%) การพูดคุย ถ่ายทอดเรื่องราวออกมา ไม่ว่าจะเป็นการเขียนใส่กระดาษ การพูดคุยกับเพื่อนหรือคนในครอบครัว 
5.การปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อม (8%) เช่น การย้ายที่อยู่โดยออกมาอยู่คนเดียว การย้ายที่ทำงาน การเดินทาง การท่องเที่ยว เป็นต้น
6.Pet Therapy (4%) การใช้สัตว์เลี้ยงมาช่วยฮีลใจ หรือฟื้นฟูจิตใจ

จะเห็นได้ว่าในสังคมปัจจุบัน ผู้คนมีความตระหนักรู้เกี่ยวกับสุขภาพจิตมากขึ้น และให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพจิตในรูปแบบต่าง ๆ ทั้ง การเลือกปรึกษาจิตแพทย์ นักจิตบำบัด และนักจิตวิทยา ซึ่งส่งผลให้เกิดการเติบโตของธุรกิจในด้านการดูแลสุขภาพจิต ทั้งโรงพยาบาล คลินิกจิตเวช และศูนย์เวลเนสต่าง ๆ นอกจากนี้ ความเข้าใจและการยอมรับเกี่ยวกับสุขภาพจิตที่เพิ่มขึ้นยังช่วยลดอคติทางสังคม ทำให้ผู้คนรู้สึกมีความปลอดภัยในการเข้าถึงการรักษาและการสนับสนุนทางจิตใจ การลงทุนในบริการเหล่านี้จึงไม่เพียงแต่ช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้คน แต่ยังเป็นโอกาสทางธุรกิจที่สำคัญในยุคที่ผู้คนมุ่งมั่นต่อการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมมากขึ้น

ข้อมูลทั้งหมดที่นำมาวิเคราะห์หา Insight รวบรวมข้อมูลจาก DXT360 (Social Listening and Media Monitoring Platform) ของบริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด (dataxet:infoquest) โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่  1 กันยายน - 4 ตุลาคม 2567

'ดร.กอบกฤตย์' รับเชิญ 'กสทช.' ร่วมเสวนา 'ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพการเข้าถึงดิจิทัล' ในงาน 'สัมมนาการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการเข้าถึงดิจิทัล ผ่านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม'

ดร.กอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร ได้รับเชิญจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้ร่วมเสวนาหัวข้อ 'การขับเคลื่อนการเข้าถึงดิจิทัลของคนทุกคนกับแนวคิด Inclusive Design และ Assistive Technology' ภายในงานสัมมนาที่ จัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ โรงแรมอมารี หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ ในการเข้าถึงดิจิทัล พร้อมเผยโครงการพัฒนา AI เพื่อช่วยเหลือผู้พิการทางหูและตา ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

งานสัมมนาได้รับเกียรติจาก นายต่อพงศ์ เสลานนท์ กสทช. ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน, ดร.ฉันทพัทธ์ ขำโคกกรวด นักวิชาการนโยบายและแผนเชี่ยวชาญพิเศษ และผู้เชี่ยวชาญจากหลายองค์กรที่มา ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมฟังอย่างคับคั่ง

งานเริ่มต้นด้วยการกล่าวรายงานโดย ดร.ฉันทพัทธ์ ขำโคกกรวด ตามด้วยการกล่าวเปิดงานโดย นายต่อพงศ์ เสลานนท์ ซึ่งได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ “Digital Inclusion | สิทธิของทุกคนในการเข้าถึงดิจิทัล ผ่านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม”

ในการเสวนาหัวข้อ 'การขับเคลื่อนการเข้าถึงดิจิทัลของทุกคนกับแนวคิด Inclusive Design และ Assistive Technology' ดร.กอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร นายกสมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย ร่วมเสวนากับดร.ตรี บุญเจือ, นายณัฐพล ราธี และนางสาวปนัดดา ประสิทธิเมกุล ซึ่งได้มีการแบ่งปันความคิดเห็นและประสบการณ์ในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีที่เอื้อต่อการเข้าถึงของทุกคน

ดร.กอบกฤตย์กล่าวว่า ปัญญาประดิษฐ์ถือเป็นเมกะเทรนด์ของโลก โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ข้อมูลดิจิทัลเพิ่มขึ้นถึง 100 เท่า พร้อมกับการพัฒนาเครื่องมือคำนวณและโมเดล AI ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Chat GPT ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงข้อมูลและแปลงข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบที่สามารถนำไปใช้งานได้

 “AI เป็นเครื่องมือที่สามารถช่วยเหลือผู้พิการในหลายด้าน เช่น การแปลงข้อความเป็นเสียงหรือภาพ เพื่อให้ผู้พิการทางสายตาสามารถเข้าใจเนื้อหาได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ ยังสามารถแปลงข้อความเป็นภาษามือและสร้างซับไตเติ้ลให้กับวิดีโอได้อีกด้วย” ดร.กอบกฤตย์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ดร.กอบกฤตย์ยังกล่าวถึงความท้าทายในการพัฒนา AI สำหรับผู้พิการ โดยเฉพาะเรื่องมาตรฐานและข้อมูลที่จำเป็นในการสร้างระบบ AI ที่มีประสิทธิภาพ “ปัญหาหลักอยู่ที่เรายังขาดมาตรฐานที่ชัดเจนในการสื่อสารและการจัดเตรียมข้อมูลเพื่อสอน AI ทำให้เราจำเป็นต้องพัฒนาคลังข้อมูลที่หลากหลายและถูกต้อง”

งานเสวนาในครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพการเข้าถึงดิจิทัลและสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนทุกกลุ่มในสังคมไทย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top