Wednesday, 14 May 2025
NewsFeed

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 2564 ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกขนาดอุตสาหกรรมและทุกภูมิภาค

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 2564 อยู่ที่ระดับ 87.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 85.1 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกขนาดอุตสาหกรรมและทุกภูมิภาค

สำหรับปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นมาจากความต้องการซื้อทั้งในประเทศและต่างประเทศขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อภาคการผลิต รวมทั้งการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายและการบริโภคในประเทศ ประกอบกับผู้ประกอบการเร่งผลิตสินค้าก่อนวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์

ในส่วนของการส่งออก ก็มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัว โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วนฯ เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ และน้ำมันสำเร็จรูป ขณะเดียวกัน ความคืบหน้าเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนในหลายประเทศ รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อาทิ สหรัฐฯ จีนและยุโรป ช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจโลกมีทิศทางที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ได้มีการสำรวจผู้ประกอบการ 1,351 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศในเดือนมีนาคม 2564 พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ ราคาน้ำมัน ร้อยละ 51.2 และสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ร้อยละ 46.1 ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก ร้อยละ 63.2, อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ร้อยละ 52.0 และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 33.5 ตามลำดับ

ส่วนดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า น่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 94.0 จากระดับ 92.0 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นว่าความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในหลายประเทศ ตลอดจนมาตรกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ จะช่วยให้เศรษฐกิจการค้าโลกฟื้นตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้ การผ่อนปรนมาตรการควบคุมการเดินทางเข้าประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป

นอกเหนือจากนี้ ทางสภาอุตสาหกรรม ยังได้นำข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนฝากไปถึงภาครัฐอีกด้วย ดังนี้...

1.) ขอให้ภาครัฐเร่งควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ให้ได้โดยเร็ว โดยใช้มาตรการล็อกดาวน์เฉพาะพื้นที่ที่มีความเสี่ยงและมีการแพร่ระบาดสูง

2.) เร่งรัดการฉีดวัคซีน COVID-19 ให้กับประชาชนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนเกี่ยวกับความปลอดภัยของวัคซีน

3.) สนับสนุนให้เอกชนนำเข้าวัคซีนที่ได้ขึ้นทะเบียนกับ อย.แล้ว เพื่อช่วยให้การฉีดวัคซีนเร็วขึ้น

4.) ขอให้ภาครัฐดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

5. เร่งแก้ไขปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ของผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อย (SMEs)

6.) เร่งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่ยังเป็นปัญหาต่อเนื่องเพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออก


ที่มา: ฝ่ายสื่อสารองค์กร ส.อ.ท.

อัพเดท! 54 จังหวัด ไม่ใส่แมสก์ออกจากบ้านมีโทษ บวกเพิ่ม 2 จังหวัด ‘นครนายก-กาฬสินธุ์’

อัพเดท 54 จังหวัด/พื้นที่ (53 จังหวัด + กทม.) ที่มีบทลงโทษ กรณีประชาชนไม่ใส่หน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า เมื่ออยู่นอกเคหสถาน/สถานที่สาธารณะ

 

ภาคกลางและภาคตะวันออก

1.) กาญจนบุรี (เฉพาะตลาด ตลาดนัด ตลาดน้ำ)

2.) ปราจีนบุรี

3.) เพชรบุรี

4.) สุพรรณบุรี

5.) อยุธยา

6.) สมุทรสาคร

7.) ลพบุรี

8.) สมุทรปราการ

9.) ประจวบคีรีขันธ์

10.) ชลบุรี

11.) สระบุรี

12.) ตราด

13.) นนทบุรี

14.) นครปฐม

15.) จันทบุรี

16.) กรุงเทพมหานคร

17.) ปทุมธานี

18.) ฉะเชิงเทรา

19.) อ่างทอง

20.) สระแก้ว

21.) นครนายก

 

ภาคใต้

1.) สุราษฎร์ธานี

2.) ตรัง

3.) นครศรีธรรมราช

4.) นราธิวาส

5.) ปัตตานี

6.) พังงา

7.) ภูเก็ต

8.) ระนอง

9.) สตูล

10.) สงขลา

11.) ยะลา

 

ภาคเหนือ

1.) สุโขทัย

2.) ตาก

3.) เพชรบูรณ์

4.) อุตรดิตถ์

5.) ลำพูน

6.) พิษณุโลก

7.) เชียงใหม่

 

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

1.) ยโสธร

2.) หนองคาย

3.) อุบลราชธานี

4.) ชัยภูมิ

5.) มหาสารคาม

6.) มุกดาหาร

7.) ศรีสะเกษ

8.) สุรินทร์

9.) อุดรธานี

10.) เลย

11.) อำนาจเจริญ

12.) บุรีรัมย์

13.) นครพนม

14.) ขอนแก่น

15.) กาฬสินธุ์

 

ศบค.มท.

ข้อมูล ณ 27 เม.ย.64 เวลา 09.55 น.

ให้ทำงานที่บ้าน แต่นัดเพื่อน 'ไปกินข้าว-ช้อปปิ้ง' ผลติดเชื้อทั้งหมด ซ้ำบริษัทงดจ่ายเงิน เพราะผิดข้อตกลง WFH

นักแต่งเพลงเล่าเรื่องรุ่นน้องทำงานบริษัท ให้หยุดทำงานที่บ้าน 2 สัปดาห์ ยินดีจ่ายเต็มจำนวน มีกติกาห้ามออกนอกบ้านโดยไม่จำเป็น ปรากฏว่านัดเพื่อนไปกินข้าวห้างฯ สุดท้ายติดโควิดทุกคน ลามถึงลูก เมีย และคนใช้ หาโรงพยาบาลวุ่นวาย แถมบริษัทฯ ไม่จ่ายเงิน เพราะผิดข้อตกลง 1 ใน 4 อาการหนัก

เฟซบุ๊ก Thawichaya Tungsaharangsee ของนายทวิษย์ชญะ ตั้งสหะรังษี หรือ แจ็ค รัสเซล นักแต่งเพลง เล่าให้ฟังถึงเหตุการณ์ที่รุ่นน้องคนหนึ่งเป็นพนักงานบริษัทติดโควิด-19 และทำให้สัมพันธภาพระหว่างเพื่อนร่วมงานแย่ลงไปด้วย โดยกล่าวว่า...

เรื่องจริงที่อยากเล่า รุ่นน้องของผมคนหนึ่ง บริษัทให้หยุดทำงานอยู่ที่บ้าน 2 สัปดาห์ และยินดีจะจ่ายค่าทำงานให้เต็มจำนวน โดยมีกติกาว่าห้ามออกไปนอกบ้านถ้าไม่จำเป็น เช่น เที่ยวเตร่ ดื่ม สังสรรค์ หรือเดินช้อปปิ้ง

แต่หยุดได้แค่สามวัน คนหนึ่งก็นัดกันกับเพื่อนในบริษัท อีก 3 คน รวมเป็นผู้ชาย 4 คน ออกไปกินข้าวที่ห้างฯ และตามด้วยไปเดินซื้อของ ไม่ได้บอกว่าห้างอะไร และกินข้าวกันที่ร้านไหน และก็แยกย้ายกันกลับบ้าน ไทม์ไลน์ที่สังคมรับรู้มีเพียงเท่านี้

ทั้ง 4 คน แต่งงาน และมีลูกกันหมดแล้ว

ผ่านไป 6-7 วัน คนที่ไป 4 คน เริ่มมีอาการ ทยอยไปตรวจกันคนละที่ พบว่าติดเชื้อกันทุกคน

ที่หนักกว่านั้น ลูก เมีย คนรับใช้ในบ้านของบางคนติดไปด้วย

หาโรงพยาบาล หาที่รักษากันวุ่นวายไปหมด ต่างคนต่างโทษกันไปมา ก็ไม่มีใครรู้ความจริงว่าเพราะอะไร ติดจากอะไร

บริษัทเมื่อทราบเรื่องก็ไม่ขอชดใช้ค่าทำงาน เพราะผิดข้อตกลงที่ว่าต้องหยุดอยู่ที่บ้าน

ตอนนี้ต่างแยกย้ายกันไปรักษาตัวอยู่ และความสัมพันธ์ของแต่ละคนก็เริ่มไม่เหมือนเดิม เพราะโรคที่ตามมาพร้อมโควิด-19 คือ โรคเครียด

วันนี้ 1 ใน 4 อาการหนัก ปอดไม่แข็งแรง หายใจลำบาก ทั้ง ๆ ที่อายุแค่ 30 กลาง ๆ

คนที่เจ็บหนักสุดพูดเสียงอ่อย ๆ ว่า ฝากทุกคน ไม่จำเป็นอย่าออกจากบ้าน ใจแข็ง ๆ เข้าไว้ เพราะถึงวันนี้ก็ไม่รู้ว่าติดจากใคร นี่ขนาดใส่มาสก์ตลอดเวลา ยกเว้นตอนกินข้าวเท่านั้นเอง

เล่าสู่กันฟังครับ


ที่มา: https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=4399452703401697&id=100000110337117

https://mgronline.com/onlinesection/detail/9640000039824

‘ธณิกานต์’ ยื่นหนังสือ ‘ผอ.เขตดุสิต’ ขอตั้ง ‘ศูนย์กักแยกโควิด-19’ สำหรับกลุ่มเปราะบางและชุมชนแออัด นำร่องเขตบางซื่อ-ดุสิต กทม.

น.ส.ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส. กทม.เขตบางซื่อ-ดุสิต พรรคพลังประชารัฐ เข้ายื่นหนังสือและร่วมหารือ นายดิชา คงศรี ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทาน เขตดุสิต และ ผู้อำนวยการเขตดุสิต เสนอตั้งศูนย์กักแยกต้นแบบ ในกรุงเทพมหานคร สำหรับผู้ติดเชื้อหรือผู้มีความเสี่ยง ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางและกลุ่มชุมชนแออัด เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อที่อาการน้อย ไม่จำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาล แต่ไม่มีสถานที่กักตัว เพื่อลดการแพร่เชื้อ แบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์ และสำรองพื้นที่โรงพยาบาลสำหรับผู้ที่จำเป็นจริง ๆ

ทั้งนี้ได้หารือเบื้องต้นกับเครือข่ายด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนา ซึ่งได้เคยประสานความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และอาสาสมัครภาคประชาชน สร้างโมเดลศูนย์กักแยกที่ปทุมธานี และ ปัตตานี ประสบความสำเร็จในการลดการแพร่ระบาด จึงเสนอแนวทางการช่วยกันแก้ไขปัญหาจากต้นเหตุ คือ การตั้งศูนย์กักแยก ในกรุงเทพมหานคร สำหรับผู้ติดเชื้อหรือผู้มีความเสี่ยง ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางและกลุ่มชุมชนแออัด เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อที่อาการน้อย ไม่จำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาล แต่ไม่มีสถานที่กักตัว เพื่อลดการแพร่เชื้อ แบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์ และสำรองพื้นที่โรงพยาบาลสำหรับผู้ที่จำเป็นจริง ๆ โดยในพื้นที่เขตดุสิต แขวงถนนนครไชยศรี มีหน่วยงานทหาร 17 หน่วย ที่สามารถเข้าร่วมโครงการจิตอาสา ได้แก่

1.) กรมสรรพาวุธทหารบก

2.) กรมการอุตสาหกรรมทหาร

3.) กรมทหารทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์

4.) กรมยุทธศึกษาทหารบก

5.) กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์

6.) กรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 2

7.) กรมสวัสดิการทหารบก

8.) กองคัดสรรและพัฒนาบุคลากร กรมยุทธศึกษาทหารบก

9.) กองพันทหารราบที่ 3

10.) กรมทหารราบที่ 1

11.) มหาดเล็กรักษาพระองค์ฯ

12.) กองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน

13.) กรมช่างอากาศ

14.) กรมการทหารสื่อสาร

15.) พล.ปตอ.เกียกกาย

16.) กองพันทหารม้าที่ 3 รักษาพระองค์

17.) กองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์

ในฐานะตัวแทนประชาชน จึงขอนำเสนอหน่วยงาน ศูนย์อำนวยการจิตอาสาฯ พิจารณาและช่วยสนับสนุน ขับเคลื่อน โมเดล "ศูนย์กักแยก" โควิด-19 สำหรับกลุ่มเปราะบางและชุมชนแออัดใน กทม. โดยอาศัยพื้นที่ของหน่วยงานทหารนำร่อง และขอแรงบุคลากรจากหน่วยจิตอาสาฯ อาสาสมัคร และเจ้าหน้าที่รัฐ ในการจัดสรรและดำเนินการ "ศูนย์กักแยก" ต้นแบบ สำหรับพี่น้องประชาชน กลุ่มเปราะบางและชุมชนแออัดใน กทม. เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันอย่างเป็นระบบ ลดปริมาณการแพร่ระบาด ลดการสูญเสีย ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นให้พี่น้องประชาชนชาวไทยอย่างเป็นรูปธรรม

เริ่ม 28 เม.ย.นี้ รถเมล์ ขสมก. ลดเที่ยววิ่ง พร้อมขอความร่วมมือยืนห่าง 30 ซม. ลดใช้เงินสดจ่ายตั๋ว

27 เม.ย. 64 นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า ตามที่กรมการขนส่งทางบก ได้ออกประกาศ เรื่อง “การปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19)” เมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2564 โดยขอความร่วมมือผู้ประกอบการขนส่ง พิจารณาปรับลดจำนวนเที่ยวการเดินรถ ในการให้บริการขนส่งผู้โดยสารระหว่างจังหวัดในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดเท่าที่สามารถจะทำได้ โดยให้พิจารณาจัดการเดินรถตามความจำเป็น ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ รวมทั้ง ปรับลดการให้บริการ ในช่วงเวลา 23.00-04.00 น. ตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน พ.ศ.2564 เป็นต้นไป ซึ่งในส่วนของการปรับลดจำนวนเที่ยววิ่งรถกะสว่าง ขสมก. ได้ดำเนินการไปแล้ว

ทั้งนี้ขสมก. จึงเตรียมปรับลดจำนวนเที่ยววิ่งรถโดยสารทุกประเภท ในช่วงเวลาการให้บริการปกติ ทั้งรถโดยสารธรรมดา และรถโดยสารปรับอากาศ ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2564 เป็นต้นไป เพื่อให้สอดคล้องกับประกาศดังกล่าว และเพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนผู้ใช้บริการในปัจจุบันที่มีจำนวนลดลง เนื่องจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนหลายแห่ง ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเป็นการทำงานอยู่ที่บ้าน (Work From Home) และสถานศึกษาหลายแห่ง ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนเป็นแบบออนไลน์

อย่างไรก็ตาม ขสมก. จะปรับลดจำนวนเที่ยววิ่ง เฉพาะเส้นทางที่มีผู้ใช้บริการลดลง ส่วนเส้นทางที่มีจำนวนผู้ใช้บริการเท่าเดิม จะไม่มีการปรับลดจำนวนเที่ยววิ่งแต่อย่างใด นอกจากนี้ ขสมก. ยังได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด เพื่อลดผลกระทบและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนผู้ใช้บริการรถโดยสารของ ขสมก. โดยแบ่งเป็น 3 ด้าน ดังนี้

ด้านพนักงานประจำรถ

1.) ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายของพนักงานขับรถ และพนักงานเก็บค่าโดยสารทุกครั้งก่อนขึ้นปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสาร หากตรวจพบว่าพนักงานมีอุณหภูมิสูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส จะไม่ให้ปฏิบัติหน้าที่และให้รีบไปพบแพทย์ทันที

2.) กำชับพนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสาร สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง ขณะปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสาร และ

3.) ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือผู้ใช้บริการ สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ขณะใช้บริการรถโดยสาร กรณีมีผู้ใช้บริการบนรถมากพอสมควร ควรรอใช้บริการรถโดยสารคันถัดไป

สำหรับด้านรถโดยสารประจำทาง

1.) เพิ่มความถี่ในการล้างทำความสะอาดระบบปรับอากาศ และการทำความสะอาดผ้าม่าน

2.) ใช้ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ 70% ฉีดพ่นทำความสะอาดภายใน รถโดยสาร และใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เช็ดทำความสะอาดอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ผู้ใช้บริการต้องสัมผัส เช่น เบาะที่นั่ง ราวจับ กริ่งสัญญาณ เป็นต้น พร้อมทั้งติดตั้งขวดเจลแอลกอฮอล์ สำหรับให้ผู้ใช้บริการล้างมือบริเวณประตูทางขึ้น

3.) กำหนดจุดนั่ง (เบาะที่ไม่มีเครื่องหมายกากบาท) และจุดยืนภายในรถโดยสาร

4.) ติดตั้ง QR Code แอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” บริเวณหลังเบาะที่นั่ง และบริเวณผนังด้านข้าง ภายในรถโดยสาร สำหรับให้ผู้ใช้บริการสแกนผ่านโทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟน เพื่อเก็บข้อมูลการเดินทาง กรณีตรวจพบผู้ติดเชื้อใช้บริการรถโดยสารคันเดียว และเวลาเดียวกันกับผู้ใช้บริการ จะมีการแจ้งเตือน ผ่านระบบ SMS ว่าผู้ใช้บริการ มีความเสี่ยงให้รีบไปพบแพทย์ และ

5.) ติดตั้ง QR Code แอปพลิเคชัน “หมอชนะ” บริเวณผนังด้านข้างภายในรถโดยสาร เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการ ในการใช้โทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟนดาวน์โหลดแอปพลิเคชันดังกล่าว

ด้านผู้ใช้บริการ

1.) ผู้ใช้บริการจะต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ขณะใช้บริการรถโดยสาร

2.) ล้างทำความสะอาดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ ที่ติดตั้งบริเวณประตูทางขึ้น

3.) เพื่อประโยชน์ของผู้ใช้บริการ ควรสแกน QR Code แอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” บนรถโดยสาร เพื่อเช็คอินเมื่อขึ้นรถ และเช็คเอาท์ก่อนลงจากรถ สำหรับผู้ถือบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ของ ขสมก.ทุกประเภท ควรลงทะเบียนบัตรที่ www.bmta.co.th เพื่อให้บัตรดังกล่าว สามารถเช็คอิน – เช็คเอาท์ โดยอัตโนมัติ เมื่อนำบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์มาแตะที่เครื่อง EDC เพื่อชำระค่าโดยสาร

4.) เพื่อประโยชน์ของผู้ใช้บริการ ควรดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” เพื่อตอบแบบสอบถามประเมินความเสี่ยงการติดเชื้อโควิด-19 และลงทะเบียน

5.) ขอความร่วมมือนั่งบนเบาะที่กำหนด (เบาะที่ไม่มีเครื่องหมายกากบาท) และยืนบนจุดที่กำหนด หรือยืนห่างกันอย่างน้อย 30 เซนติเมตร กรณีมีผู้ใช้บริการบนรถมากพอสมควร ควรรอใช้บริการรถโดยสารคันถัดไป

6.) ผู้ใช้บริการจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของพนักงานเก็บค่าโดยสาร นายตรวจ และเจ้าหน้าที่สายตรวจพิเศษอย่างเคร่งครัด และ

7.) ขอความร่วมมือผู้ใช้บริการ ชำระค่าโดยสารแบบไร้เงินสด ผ่านบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภทของ ขสมก. บัตรเดบิต-เครดิตที่มีสัญลักษณ์คอนแทคเลส บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโมบายแบงก์กิ้ง เพื่อลดการสัมผัสธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ ที่อาจเป็นสื่อกลางในการแพร่เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID -19)

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือ ศบค. กล่าวถึงปัญหาการบริหารจัดการเตียงสำหรับผู้ป่วยว่า..

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือ ศบค. กล่าวถึงปัญหาการบริหารจัดการเตียงสำหรับผู้ป่วย ว่า วันนี้มีการประชุมของคณะทำงาน 2 ชุด คือ ชุดของปลัดกระทรวงสาธารณสุข และชุดของเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ รายงานว่า วันที่ 25 เม.ย. 2564 สามารถนำผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแล้ว 1,182 คน แบ่งเป็นการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ ดังนี้

- จากระบบสายด่วน 1668 และ 1330 แอดมิทได้ 155 คน ยังรอเตียง 69 คน และอื่น ๆ 3 คน (ติดต่อผู้ป่วยไม่ได้ , ปฎิเสธเข้ารับการรักษา)

- โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย แอดมิทได้ 135 คน รอเตียง 88 คน

- กรุงเทพมหานคร แอดมิทได้ 347 คน รอเตียง 37 คน

- โรงพยาบาลเอกชน แอดมิทได้ 545 คน รอเตียง 7 คน และอื่น ๆ 44 คน

ดังนั้น ข้อมูลในวันที่ 26 เม.ย. มีผู้ป่วยที่ยังรอเตียงอีก 201 คน ซึ่งทุกหน่วยงานกำลังเร่งประสานรับผู้ป่วยมาโรงพยาบาลและจัดหาเตียงให้อย่างเต็มที่

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณทุก ๆ ท่านที่มีส่วนร่วม การช่วยเหลือ ทั้งเพจดัง ๆ อินฟูเอ็นเซอร์ ดารา พรรคการเมืองผู้ที่มีศักยภาพทุกองค์กรอาสามาช่วยพี่น้องประชาชนมาเข้าสู่การรักษา ทั้งในเรื่องของโลจิสติกส์ และอาหารการกิน ขอกราบขอบพระคุณแทนพี่น้องประชาชน และกราบขอบพระคุณแทนคนไข้ที่รออยู่ ทำให้เราหันมาเห็นใจกันยามทุกข์ยาก ไม่มีใครเจตนาทำให้ใครเจ็บใครป่วย หรือใครเสียชีวิตรออยู่ที่บ้าน

"ผมเชื่อว่าพี่น้องประชาชนและบุคคลากรทุกคนทำงานอย่างหนัก ในความเครียดนี้ มีอารมณ์ หรือมีเรื่องของการระบายอารมณ์หรือแสดงปฏิกิริยา ตรงนี้มาบ้าง ผมเองยังต้องดูแลจิตใจตัวเองในฐานะที่เรียนรู้ด้านจิตวิทยามา ก็ขอฝากพี่น้องประชาชนทุกท่าน กำลังใจเท่านั้น และการมีจิตอาสา ในยามทุกข์ยาก จำได้มั๊ยครับตอนน้ำท่วม ที่อุบลฯ ผมเห็นการช่วยเหลือกัน หรือกรณีหมูป่าที่ติดถ้ำ มีคนเก่งๆมาช่วยกัน บรรยากาศอย่างนี้ ต้องการคนเก่งต้องการคนดี และผมเชื่อว่าท่านเองก็มีศักยภาพอย่างนั้น พวกเราต้องช่วยกันเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ครับ"

วิกฤตโควิด คนตัวเล็กโคม่า “วรวุฒิ อุ่นใจ” จี้รัฐตั้ง “สภา SME" แนะใช้ “อสม.โมเดล” เป็นต้นแบบ ดึงจิตอาสารายย่อยทั่วประเทศ เฟ้นหาตัวจริงรับการเยียวยา ก่อนเกิด “โดมิโน่เอฟเฟกต์” พังทั้งระบบ

นายวรวุฒิ อุ่นใจ รองหัวหน้าพรรคกล้า และ อดีตประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เรียกร้องให้รัฐบาลตั้ง "สภา SME" เพื่อรวบรวมคนตัวเล็ก ซึ่งมีเกือบ 4 ล้านรายหรือราว 20 ล้านคน ถือเป็นฐานที่มั่นหลักทางเศรษฐกิจของประเทศ ให้ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาแบบตรงคนตรงจุด ดีกว่าโปรยเงินจากฟ้าแล้วปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งขณะนี้การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกสาม สร้างความเดือดร้อนเป็นวงกว้าง เสียงความเดือดร้อนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศ ทั้งร้านค้าปลีก โชห่วย โอท็อป เกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบ เริ่มดังขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นที่น่ากังวลว่าหากสถานการณ์ยืดเยื้ออาจพังทั้งระบบ

นายวรวุฒิ กล่าวว่า การช่วยเหลือเอสเอ็มอี เป็นปัญหามาเกือบ 30 ปี จนถึงวันนี้ความช่วยเหลือก็ยังลงไม่ถึงตัวจริง แม้เวลานี้หลายหน่วยงานทำหน้าที่ช่วยเหลือกลุ่มเอสเอ็มอี แต่เอสเอ็มอีก็ยังไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร วิกฤตโรคระบาดรอบนี้ เอสเอ็มอีตัวจริงได้เงินช่วยเหลือมาตรการเยียวยาผ่านแอพเป๋าตังก์เหมือนประชาชนทั่วไป แต่มาตรการเงินกู้เพื่อเอสเอ็มอีกลับไปตกอยู่กับเอสเอ็มอีขนาดกลาง ซึ่งพอมีเงินอยู่แล้ว แต่ไม่กล้าให้รายเล็กเพราะกลัวเกิดหนี้เสีย (NPL) ดังนั้นหากไม่ตั้งสภาเอสเอ็มอีขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะ ไม่มีทางแก้ปัญหาได้

“ถึงเวลาแล้วที่เราจะมีสภาเอสเอ็มอี จริง ๆ จัง ๆ เทียบเท่ากับ สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า สภาดิจิทัล ทุกวันนี้ถูกแบ่งอยู่ในกลุ่มของทั้งสองสภาก็จริง แต่ถ้าไปดูในรายละเอียดจะรู้ว่าการช่วยเหลือไม่ค่อยถึง ซึ่งตอนนี้มีการรวมตัวกันเป็นสภาเอสเอ็มอีอยู่แล้ว แต่ยังเป็นรูปแบบที่ยังไม่ได้รับการยกระดับมีกฎหมายรองรับ และยังไม่รวมศูนย์ การดำเนินการจึงเป็นเหมือนเบี้ยหัวแตก เราควรทำให้มันเป็นองค์กรเดียว ไม่กระจัดกระจาย ปัญหาของประเทศไทยตอนนี้คือ มีกระทรวงและหน่วยงานมากมาย เหมือนจะพร้อมให้การช่วยเหลือ แต่การประสานงานทำได้อย่างยากเย็น โครงสร้างในองค์กรภาครัฐไม่เอื้อต่อการทำงานให้มีประสิทธิภาพ ภาคเอกชนต่อสู้มาตลอดว่าควรปฏิรูประบบราชการ และแม้จะมีความพยายามทำมาหลายครั้ง แต่ก็กลับไปเพิ่มความยิ่งใหญ่ให้กับภาครัฐ จนเป็นรัฐราชการ” นายวรวุฒิ กล่าว

นายวรวุฒิ กล่าวด้วยว่า วันนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จำนวนไม่น้อยที่ต้องหยุดกิจการ เนื่องจากคนไม่กล้าเดินทางไปจับจ่าย เมื่อเอสเอ็มอีซึ่งมีจำนวนถึง 1 ใน 4 ของประชากรทั่วประเทศ (ราว 20 ล้านคน) เป็นผู้เดือดร้อนด่านแรก มันก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งระบบ และเสียดายเวลาหนึ่งปีกว่าที่ผ่านมา ไม่ได้ใช้วิกฤตให้เป็นโอกาเท่าที่ควร เช่น ควรสอนให้เกษตรกรตัวเล็กทำธุรกิจผ่านออนไลน์ แม้จะพอมีทำอยู่บ้าง แต่เป็นเปอร์เซ็นต์ที่น้อยมาก รัฐควรตั้งศูนย์เทคโนโลยีชุมชน สอนให้ชาวบ้านใช้เทคโนโลยีให้เป็น ซึ่งถ้ามีสภาเอสเอ็มอีมันจะช่วยได้ หลักการคือให้ยึดต้นแบบ อสม.ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งผู้ประกอบการรายย่อยก็กระจายอยู่ทุกหมู่บ้านเช่นเดียวกัน ให้เป็นจิตอาสา สำรวจ ประสาน คัดกรอง เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการตัวเล็กอย่างแท้จริง ซึ่งจะทำให้ระบบมันมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการก่อนเกิดเป็น โดมิโน่เอฟเฟกต์ พังทั้งระบบ

นายวรวุฒิ กล่าวด้วยว่า อยากให้รัฐบาลยึดแนวที่ 45 ซีอีโอ เสนอเพื่อแก้ปัญหาการฉีดวัคซีนล่าช้า และอยากให้ใช้โอกาสนี้ ทะลุทะลวง กติกา กฎระเบียบที่ไม่เอื้อต่อการแก้ไขปัญหา ในภาวะวิกฤต รัฐบาลมีเป้าหมาย ฉีดวัคซีน 50 ล้านโดสครอบคลุมทุกกลุ่มประชากร เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งหมายถึงต้องฉีดให้ได้ราว 300,000 คนต่อวันนับตั้งแต่เข็มแรกที่ฉีดคือเดือนมิถุนายน จนถึงสิ้นปี เวลานี้ยังไม่เห็นการจัดระเบียบ วางระบบการฉีดวัคซีน ว่าจะฉีดที่ไหน การขนส่งวัคซีนที่ต้องควบคุมอุณหภูมิจะต้องทำอย่างไร ถ้าไม่จัดระบบให้ดีจะเกิดความโกลาหลอย่างแน่นอน

สถานการณ์โควิด-19 ประเทศไทยและอาเซียน ประจำวันที่ 27 เมษายน พ.ศ.2564

สถานการณ์โควิด-19 ประเทศไทยและอาเซียน ไทยยอดติดเชื้อใหม่พุ่งกว่า 2,179 ราย! ขณะที่ในอาเซียนยอดยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง!

‘ธนกร’ ซัด ‘ธนาธร’ บิดเบือนงบเยียวยาฟื้นฟูสู้โควิด หลังโบ้ย ‘บิ๊กตู่’ แจกงบให้รัฐมนตรีไปคุมฐานเสียง

หลังจากวันก่อน นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า “เรื่องนี้เรื่องใหญ่จริง ๆ นะครับ เวลาที่ประเทศต้องการทุกกำลัง ทุกทรัพยากร มาแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชน มาหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโควิด รัฐบาลกลับนำงบที่ขออนุมัติสภา ด้วยเหตุผลเพื่อการเยียวยาและฟื้นฟู มาให้รัฐมนตรีไปดูแลฐานเสียงตามแต่ละจังหวัดของตนเอง โดยอำพรางว่าเป็นงบฟื้นฟูที่ลงไปแต่ละจังหวัด”

ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จึงได้ออกมากล่าวถึงกรณีที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า โจมตี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่ใช้งบแจกรัฐมนตรีคุมฐานเสียง ทั้งที่ประเทศเจอวิกฤติโควิดยังแจกพวกพ้องว่า...

ประเทศเจอวิกฤติโควิด นายธนาธรยังตั้งหน้าตั้งตาเอาเรื่องเท็จมาใส่ร้าย พล.อ.ประยุทธ์ ตนขอยืนยันว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่เคยจัดสรรงบประมาณไปให้กับรัฐมนตรี เพื่อไปดูแลฐานเสียง แต่เป็นการจัดสรรงบประมาณฟื้นฟูให้กับทุกจังหวัด ซึ่งงบดังกล่าวยังไม่ผ่านครม. ที่สำคัญตนมองว่า นายธนาธรแกล้งโง่ บิดเบือนข้อมูลโจมตี พล.อ.ประยุทธ์ แสดงว่านายธนาธรไม่รู้ขั้นตอนการใช้เงิน ตนขอทำความเข้าใจให้เข้าใจขั้นตอนการใช้เงินโดย...

1.) สภาพัฒน์ฯ ประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด

2.) จากนั้นจะเสนอโครงการผ่านรัฐมนตรีที่ดูแลกลุ่มจังหวัดนั้น ๆ แค่ให้ดูโครงการ

3.) ส่งต่อให้กระทรวงมหาดไทยตรวจสอบ

4.) ส่งต่อให้สภาพัฒน์ฯ วิเคราะห์โครงการ

5.) เสนอครม.อนุมัติ

6.) ผู้ว่าฯ แต่ละจังหวัดจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบราชการ

7.) เบิกจ่ายตามระเบียบกรมบัญชีกลาง และ

8.) ตรวจสอบโครงการโดย สตง. / ป.ป.ช. / ผู้ตรวจการแผ่นดิน

ไม่มีตรงไหนเลยที่จะให้รัฐมนตรีไปจัดการ หรืองบอยู่ในมือรัฐมนตรี ทุกอย่างมีขั้นตอน มีการตรวจสอบ การอวดฉลาดของนายธนาธรครั้งนี้จึงไม่ฉลาดเท่าไหร่นัก

นายธนกร กล่าวอีกว่า ตนบอกหลายครั้งแล้วว่า นายธนาธรเป็นบุคคลที่ล้มเหลวทางด้านความน่าเชื่อถือ จงใจทำลายรัฐบาลอย่างเดียวโดยไม่ได้สนใจความทุกข์ร้อนของประชาชน การที่พล.อ.ประยุทธ์ให้รัฐมนตรีแต่ละคนดูแลกลุ่มจังหวัด ก็เพื่อทำงานในเชิงรุกให้กับประชาชน มีการรับผิดชอบพื้นที่ เพื่อสร้างความเจริญให้ทุกจังหวัด ซึ่งมีการดูแลทั้งประเทศ นายธนาธร กล่าวหา พล.อ.ประยุทธ์ไม่เอาเงินไปดูแลประชาชน แต่เอาไปแบ่งให้รัฐมนตรีใต้อาณัติ ตนขอประนามนายธนาธร หากเล่นการเมืองแบบนี้ระวังจะสูญพันธุ์ และระวังว่าแกล้งโง่บ่อย ๆ จะสมองกลวงเอาเข้าจริงสักวัน พล.อ.ประยุทธ์ดูแลประชาชนทุกคนเสมอภาค เท่าเทียม ไม่จัดสรรงบให้จังหวัดที่เลือกพรรคตัวเองเหมือนนักการเมืองบางคน อย่างไรก็ตาม นายธนาธรได้แสดงธาตุแท้ออกมาให้เห็นแล้ว ดังนั้น ประชาชนอย่าไปให้ค่าคนแบบนี้

นักแสดงหนุ่ม เอ พศิน เรืองวุฒิ เปิดเผยคำทำนายของหมอดูชื่อดังที่ได้ทำนายเรื่องราวของโควิด-19 ในประเทศไทย

นักแสดงหนุ่ม เอ พศิน เรืองวุฒิ เปิดเผยคำทำนายของหมอดูชื่อดังที่ได้ทำนายเรื่องราวของโควิด-19 ในประเทศไทย เอาไว้ก่อนจะมีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดระลอกที่ 3 ซึ่งไทม์ไลน์นั้นตรงกับสถานการณ์ปัจจุบันเป๊ะ

พร้อมระบุแคปชั่นว่า “#คำทำนาย ขอให้เป็นจริงตามนั้น อ.พรหมญาณ ทำนายไว้ก่อนโควิดระบาด รอบนี้ #covid19 ไม่ได้งมงาย แต่ คำทำนายเชิงบวก มี Timeline ชัดเจน ก็อยากให้เป็นจริง #ขวัญและกำลังใจ สำคัญมาก ช่วยกันดูแลกันดี ๆ นะครับ ” โดยหมอดูชื่อดังได้ทำนายเอาไว้ว่า

เมษายน (ทำนายไว้เมื่อ 23 ธ.ค. 63) โควิดจะกลับมาระบาดหนักกว่าเดิม แพร่จากแหล่งอโคจรกิน ดื่ม เที่ยว

พฤษภาคม-มิถุนายน (ทำนายไว้เมื่อ 23 ธ.ค. 63) ไทยจะเจอวัคซีนที่ได้ผลดีมาก อาจเป็นไปได้ว่าไทยผลิตได้เอง

กรกฎาคม มีความผันผวนจากต่างประเทศ มีการถกเถียงเรื่องการรักษา

สิงหาคม-กันยายน การรักษาได้ผลดีมาก เริ่มนิ่ง มีวัคซีนตัวหนึ่งที่โดดเด่นได้ผลเกือบ 100%

ตุลาคม ควบคุมสถานะการณ์ได้ดีเกือบทั้งหมด

พฤศจิกายน มีความขัดแย้งทางวิชาการในการรักษา ทำให้วัคซีนไปไม่ทั่วโลก

ธันวาคม ทุกอย่างราบรื่น โลกเริ่มนับหนึ่งใหม่

มกราคม เปิดการเดินทางทั่วโลก


ที่มา : https://www.matichon.co.th/entertainment/news_2692094

https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=4503287796353073&id=100000156922776


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top