Sunday, 18 May 2025
NewsFeed

"ศักดิ์สยาม" เดินหน้า Kick off อนุญาตให้รถวิ่งได้ 120 กม./ชม. เปิดเส้นทางต้นแบบ “ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 ช่วงบางปะอิน – ต่างระดับอ่างทอง”

วันที่ 1 เมษายน 2564 บริเวณ หมวดทางหลวงบางปะอิน นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธี “เริ่มต้นใช้ความเร็ว 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 (ช่วงหมวดทางหลวงบางปะอิน-ทางต่างระดับอ่างทอง)” ร่วมด้วยนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง โดยมี นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา คณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม องค์กรปกครองท้องถิ่น และสื่อมวลชนร่วมงาน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่ง

ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบนโยบายการปรับเพิ่มอัตราความเร็วของรถยนต์ จากความเร็วไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นความเร็วไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เฉพาะถนนที่ได้มาตรฐานตามที่กฎกระทรวงกำหนด มีช่องจราจรตั้งแต่ 4 ช่องขึ้นไป ไม่มีจุดกลับรถระดับราบ มีเกาะกลางถนนแบบกำแพงกั้น และมีความปลอดภัยด้านวิศวกรรมสูง โดยที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้เตรียมการนโยบายนี้มาอย่างต่อเนื่อง จนเป็นผลสำเร็จ และประกาศกฎกระทรวงกำหนดอัตราความเร็วฉบับใหม่ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา

โดยเส้นทางแรกที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการใช้ความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คือ ทางหลวงหมายเลข 32 หรือถนนสายเอเชีย ช่วงหมวดทางหลวงบางปะอิน ถึง ทางต่างระดับอ่างทอง เพื่อให้ผู้ขับขี่ได้ใช้อัตราความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ที่สำคัญคือ มีความปลอดภัยสูง โดยกระทรวงคมนาคมยังได้สั่งการและเน้นย้ำให้กรมทางหลวงปรับปรุงเพิ่มมาตรฐานทางกายภาพให้เกิดความสะดวกและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ได้แก่ เสริมการก่อสร้างอุปกรณ์ป้องกันด้านข้างทาง (Concrete Barrier) เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุรุนแรงเนื่องจากการเสียหลักตกเกาะกลาง ปรับปรุงจุดกลับรถระดับราบ เพื่อลดการตัดกันของกระแสจราจร ติดตั้งป้ายจราจรและป้ายเปลี่ยนข้อความได้เพื่อสื่อสารการใช้ความเร็วที่เหมาะสมในแต่ละช่องจราจร รวมทั้งติดตั้งแถบเตือน Rumble Strips เพื่อแจ้งจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดการเข้าเขตควบคุมความเร็ว โดยเส้นทางนี้ ถือเป็น “ต้นแบบ” ของทางหลวงแผ่นดินและทางหลวงชนบท 

โดยกรมทางหลวงมีแผนจะประกาศใช้สายทางในระยะที่ 2 ภายในเดือนสิงหาคม 2564 นี้ ครอบคลุมเส้นทางในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ระยะทางประมาณ 260 กิโลเมตร เช่น ทางหลวงหมายเลข 32 ช่วง อ่างทอง - สิงห์บุรี ทางหลวงหมายเลข 1 ช่วงหางน้ำหนองแขม - นครสวรรค์ ทางหลวงหมายเลข 2 ตอนบ่อทาง-มอจะบก และทางหลวงหมายเลข 4 ช่วง เขาวัง-สระพระ เป็นต้น พร้อมทั้งดำเนินการต่อเนื่องเพิ่มเติมบนทางหลวงสายหลัก เช่น ทางหลวงหมายเลข 1 พหลโยธิน ทางหลวงหมายเลข 2 มิตรภาพ ทางหลวงหมายเลข 24 สีคิ้ว-อุบลราชธานี ทางหลวงหมายเลข 340 บางบัวทอง -สุพรรณบุรี  และทางหลวงหมายเลข 44 กระบี่-ขนอม อีกประมาณ 1,760 กิโลเมตร ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 เป็นต้นไป  

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า กรมทางหลวงได้คัดเลือกเส้นทางนำร่อง คือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 บางปะอิน - พยุหะคีรี (ช่วงอยุธยา – อ่างทอง) ระหว่าง กม. 4+100 ถึง กม. 50+000 ทั้งขาเข้าและขาออก ระยะทาง 45.9 กิโลเมตร แบ่งการใช้ความเร็วเป็น 3 ระดับ คือ ช่องซ้ายสุด ไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ช่องกลางไม่เกิน 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยในช่องขวาขับขี่ไม่ต่ำกว่า 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อให้ผู้ขับขี่ที่ใช้ความเร็วแตกต่างกันในเส้นทาง ใช้ทางสาธารณะร่วมกันได้อย่างสะดวกและปลอดภัย โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายน 2564 เป็นเส้นทางแรก 

กรมทางหลวงยังได้ดำเนินการตามข้อสั่งการของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยติดตั้งอุปกรณ์และเครื่องหมายจราจรต่าง ๆ  ในเส้นทางที่กำหนด เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้ทาง เช่น ติดตั้งสัญลักษณ์กำหนดความเร็วบนพื้นถนน รวมทั้งติดตั้งกล้องวงจรปิดและอุปกรณ์ตรวจจับความเร็ว โดยผู้ใช้รถใช้ถนนสามารถติดตามข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Website กรมทางหลวง (www.doh.go.th) แฟนเพจกรมทางหลวง และ Call Center 1586

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวตอนท้ายว่า การกำหนดอัตราความเร็วรถเป็น 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บนถนนสายเอเชียนั้น จะช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัดและปัญหาอุบัติเหตที่เกิดจากการชนท้ายหรือการเปลี่ยนช่องจราจร อันเนื่องมาจากรถวิ่งด้วยความเร็วที่แตกต่างปะปนกันไป ไม่เป็นระเบียบ อีกทั้งยังทำให้ถนนสายเอเชียในอนาคตจะไม่มีจุดกลับรถระดับราบ ส่งผลให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเดินทางได้อย่างรวดเร็ว สะดวก และปลอดภัยตลอดเส้นทาง และขอให้พี่น้องประชาชนศึกษาข้อมูลเส้นทาง และปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด เพื่อช่วยลดปัญหาอุบัติเหตบนท้องถนนในประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน 

 

ศิษย์เก่าวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อุ้ม ’ชัยวัฒน์’ ร้องนายกรัฐมนตรี ขอให้ ป.ป.ท. - ทส. ทบทวนปมปลดออกจากราชการ

เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 64 สมาคมศิษย์เก่าวนศาสตร์คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำนวน 7 คน นำโดยนายพิพัฒน์ ชนินทยุทธวงศ์ นายกสมาคมศิษย์เก่าวนศาสตร์ ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านนายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องขอความเป็นธรรมให้ข้าราชการ ทั้งนี้กรณีนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งเป็นอดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี - ประจวบคีรีขันธ์ ให้ปลดออกจากราชการตามมติการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)

ทั้งนี้ นายชัยวัฒน์ เป็นสมาชิกของสมาคมศิษย์เก่าวนศาสตร์ แล้วเป็นศิษย์เก่าวนศาสตร์ดีเด่นประจำปี 2553 จากผลงานการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความอุตสาหะอันเป็นประโยชน์ต่อราชการหลายประการด้วยกัน สมาคมศิษย์เก่าวนศาสตร์ จึงขอความกรุณาได้โปรดพิจารณาและให้ความเป็นธรรม ดังนี้

1.) ให้สำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ท.ทบทวนการปฏิบัติหน้าที่กรณีดังกล่าวนี้อีกครั้งหนึ่ง

2.) ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) พิจารณาให้รอบคอบและเป็นไปตามระเบียบกฎหมายก่อนมีคำสั่งใดที่มีผลเสียหายต่อ นายชัยวัฒน์ ในกรณีนี้

อย่างไรก็ตาม หากได้รับความกรุณา จะเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ ตลอดจนพนักงานพิทักษ์ป่ากว่า 20,000 นาย ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติ และประชาชนสืบไป

ที่มา : https://www.posttoday.com/politic/news/649428


สนับสนุนข่าวโดย : รับข้อเสนอพิเศษมอเตอร์โชว์ ในงาน Mazda Motor Show สัมผัสปิกอัพใหม่ All-New Mazda BT-50 และยนตรกรรมสกายแอคทีฟจากมาสด้า ดอกเบี้ยต่ำสุด 0%* รับประกันคุณภาพรถสูงสุด 5 ปี* และบัตรเติมน้ำมัน 10,000 บ.* 24 มี.ค. 64 - 4 เม.ย. 64 ที่บูธและโชว์รูมทั่วประเทศ

ชง กรุงเทพฯ เปิดรับต่างชาติไม่กักตัว เริ่ม ต.ค.นี้

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯ เตรียมหารือกับกระทรวงสาธารณสุข และศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เพื่อขอให้จัดสรรวัคซีนป้องกันไวรัสโควิดมาฉีดให้กับคนกรุงเทพฯ ภายในเดือน ก.ย.นี้ หลังจากกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เตรียมเสนอให้กรุงเทพฯ เข้ามาเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนแล้วเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศเริ่มต้นตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 เป็นต้นไป เนื่องจากกรุงเทพฯ ถือเป็นเมืองหลักที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาจำนวนมาก จึงต้องมีการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับคนส่วนใหญ่ก่อน

“จากนี้อีก 4 เดือนข้างหน้า คือ มิ.ย. – ก.ย. รัฐบาลจะนำเข้าวัคซีนมาเพิ่มอีก 36 ล้านโดส กระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะหารือกับสาธารณสุข และศบค. ขอกันวัคซีนต้านโควิดมาฉีดให้กับคนในกรุงเทพฯ ก่อน ซึ่งถือเป็นเป้าหมายต่อไปในการดำเนินการ เพราะในช่วงสิ้นเดือนก.ย.64 ถ้าสามารถฉีดวัคซีนต้านไวรัสให้กับคนในกรุงเทพฯ ได้กว่า 60% แล้ว ทำให้เมื่อเข้าไตรมาส 4 หรือเดือนตุลาคม ซึ่งกำหนดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยวไทยแบบไม่ต้องกักตัว จะสามารถเพิ่มพื้นที่รองรับในส่วนของกรุงเทพฯ เข้าไปเป็น 7 จังหวัดนำร่องด้วย”

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ยังเตรียมเสนอให้มีการผ่อนปรนให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมายังจ.ภูเก็ต ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม เป็นต้นไป อาจเดินทางไปยังจังหวัดนำร่องอื่น ๆ ได้ เช่น เดินทางไปเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ได้หรือไม่ในช่วงที่ยังกักตัวอยู่ในพื้นที่ภูเก็ต 7 วัน เพราะช่วงเวลานั้นเป็นช่วงมรสุมฝั่งอันดามัน โดยอาจมีการสนับสนุนค่าเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่เกาะนั้น ๆ ในระยะสั้น เช่น ลดราคาค่าเครื่องบิน หรือร่วมกับโรงแรมจัดโปรโมชั่น หรือการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สนับสนุนค่าใช้จ่าย แต่ทั้งหมดต้องไปหารือกันให้ได้ข้อสรุปก่อน

หอการค้าฯ ประเมินใช้จ่ายสงกรานต์ปีนี้เงียบเหงา

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า ได้สำรวจพฤติกรรมและการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 64 กกลุ่มตัวอย่าง 1,256 คนทั่วประเทศ วันที่ 22-29 มีนาคม 2564 พบว่า การใช้จ่ายเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ยังไม่คึกคัก มีมูลค่าการใช้จ่าย 112,867 ล้านบาท แม้เพิ่มขึ้น 63.6% เมื่อเทียบกับปี 63 ที่มีการใช้จ่ายต่ำสุดเพียง 69,005 ล้านบาท เพราะเป็นมาจากการระบาดของโควิด-19 และงดจัดกิจกรรมสงกรานต์ 

“สงกรานต์ปีนี้ ยังไม่คึกคัก เพราะรัฐบาลประกาศงดกิจกรรมสาดน้ำ และประชาชนยังกังวลกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 กังวลกับอุบัติเหตุ และความปลอดภัยในการเดินทาง รวมถึงต้องการประหยัด มีหนี้สินเพิ่มขึ้น และรายได้ลดลง จึงใช้จ่ายน้อย โดยเมื่อเทียบกับปี 62 ลดลงมากถึง 16.9% อัตราการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 9 ปี นับตั้งแต่ปี 56 ที่ขยายตัวสูงสุด 10.42% มูลค่า 114,119 ล้านบาท แต่หันไปวางแผนทำบุญ ทำอาหารอยู่กับบ้าน รดน้ำดำหัวและเยี่ยมญาติผู้ใหญ่มากขึ้น”  

ส่วนการเดินทาง ทั้งท่องเที่ยว และกลับภูมิลำเนา พบว่า เริ่มมีบรรยากาศการเดินทางมากขึ้น โดยผู้ตอบมากถึง 64.7% ตอบมีแผนเดินทาง แต่จะเป็นการเดินทางท่องเที่ยวระยะสั้น 3-5 วัน เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ในหลายพื้นที่ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายเงิน ถึงแม้ว่าจะมีมาตรการสนับสนุนจากรัฐบาล ทั้งโครงการเราชนะ ท่องเที่ยวคนละครึ่ง โดยมีมูลค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวเฉลี่ยคนละ 5,1800 บาท

ตำรวจเตรียมออกหมายจับ 'ฟอร์ด ทัตเทพ' หลังไม่มารายงานตัว คดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตาม ป.อาญา ม.112 กรณีผู้ต้องหาจัดชุมนุมและปราศรัยในกิจกรรม ‘ไปสภาไล่ขี้ข้าศักดินา’

เมื่อวันที่ 1 เม.ย.64 ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์, น.ส.จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ หรืออั๋ว, นายชนินทร์ วงษ์ศรี หรือบอล และนายเกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ หรือบิ๊ก แกนนำและแนวร่วมเครือข่ายผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎร - เยาวชนปลดแอก เดินทางมารายงานตัวอัยการตามที่พนักงานสอบสวน สน.บางโพ นัดส่งตัวพร้อมสำนวนให้อัยการ คดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตาม ป.อาญา ม.112, มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปก่อความวุ่นวายฯ ม.215 และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กรณีผู้ต้องหาจัดชุมนุมและปราศรัยในกิจกรรม #ไปสภาไล่ขี้ข้าศักดินา ที่หน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2563

โดยนางสาวภัสราวลี และนางสาวจุฑาทิพย์ ยืนยันว่า การถูกแจ้งข้อกล่าวหาโดยเฉพาะการแจ้งความผิดตามมาตรา112 เกิดจากกรณีที่มีการปราศรัยเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญและมีการนำเสนอเกี่ยวข้อเรียกร้องในการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งที่ความเป็นจริงส่วนตัวเชื่อว่าเนื้อหาการปราศรัยมีเจตนาที่จะก่อให้เกิดผลดีต่อสถาบันฯ

แต่ทั้งนี้ยอมรับว่า ค่อนข้างเป็นกังวลหากคดีถูกนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมหรือกระบวนการการพิจารณาคดีมีความล่าช้าไป เนื่องจากหลายคนที่ถูกตั้งข้อกล่าวหายังมีภาระหน้าที่ การเรียนการศึกษาต้องรับผิดชอบ

ทั้งนี้ แกนนำทั้ง 2 คน ยังยืนยันที่จะสนับสนุนแนวทางการเคลื่อนไหวของทุกกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยและขอเป็นกำลังใจให้ทุกการต่อสู้

ต่อมา ภายหลังกระบวนการส่งสำนวนและรายงานตัวเสร็จสิ้น พนักงานอัยการได้นัดฟังคำสั่งคดีในส่วนของ น.ส.ภัสราวลี, น.ส.จุฑาทิพย์, นายชนินทร์ และนายเกียรติชัย 4 ผู้ต้องหา เป็นวันที่ 21 พ.ค. 2564 เวลา 10.00 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส่วนกรณีนายทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี หรือ ฟอร์ด แกนนำเยาวชนปลดแอก ผู้ต้องหาที่ไม่ปรากฏตัวเดินทางมารายงานตัวอัยการวันนี้ ทางพนักงานสอบสวน สน.บางโพ เตรียมยื่นขออำนาจศาลออกหมายจับต่อไปภายในสัปดาห์หน้า


สนับสนุนข่าวโดย : รับข้อเสนอพิเศษมอเตอร์โชว์ ในงาน Mazda Motor Show สัมผัสปิกอัพใหม่ All-New Mazda BT-50 และยนตรกรรมสกายแอคทีฟจากมาสด้า ดอกเบี้ยต่ำสุด 0%* รับประกันคุณภาพรถสูงสุด 5 ปี* และบัตรเติมน้ำมัน 10,000 บ.* 24 มี.ค. 64 - 4 เม.ย. 64 ที่บูธและโชว์รูมทั่วประเทศ

"ชัยวุฒิ" ไหว้สิ่งศักสิทธิ์ ประจำกระทรวงดีอีเอสทำงานอย่างเป็นทางการวันแรก พร้อมมอบ 5 นโยบายผู้บริหารหน่วยงานกระทรวง กำชับ ทำงานให้เห็นผลเป็นรูปธรรม เน้นประโยชน์ถึงประชาชนโดยตรง ทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย ป้องกันภัยทางโซเชียล

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวภายหลังเข้าสักการะศาลท้าวมหาพรหม สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ประจำศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงดีอีเอส ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) อย่างเป็นทางการ โดยมีคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเข้าร่วม ว่า 

งานที่จะทำก็คงเป็นงานตามนโยบายของกระทรวงดีอีเอสที่ดำเนินการอยู่แล้ว และมีสิ่งที่นายกรัฐมนตรีฝากมาให้ช่วยดำเนินการ ตนเองไม่ใช่นักเทคนิคและไม่ใช่นักกฎหมาย มีหลายสิ่งที่ไม่รู้ และรู้บางสิ่งที่ผู้บริหารอาจจะไม่รู้โดยเฉพาะเรื่องการเมือง จึงขอให้ทุกท่านช่วยกันทำงาน โดยพยายามให้ทุกอย่างลงไปถึงประชาชน เน้นการช่วยกันพัฒนาประเทศ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้แข่งขันได้กับต่างประเทศ และมีสิ่งใดที่จะต้องการผลักดันก็ขอให้ส่งเสริมให้เป็นรูปธรรม ขอให้ทุกคนทำงานให้เต็มที่ ขอให้ทำเพื่อพี่น้องประชาชน และขอให้ทำทุกอย่างให้ถูกกฎหมาย ไม่อยากให้มีการฟ้องร้องหรือเกิดความเสียหายกับรัฐบาล

สำหรับกรอบนโยบายในการขับเคลื่อนเบื้องต้นจะเน้นใน 5 เรื่องคือ

1.) การส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล อย่างทั่วถึง แพร่หลาย เป็นธรรม ในทุกมิติ 

2.) การส่งเสริมให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล อย่างแพร่หลาย ขจัดอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ ส่งเสริมการพัฒนา e-service ภาครัฐ เพื่อให้ประชาชนเข้ารับบริการภาครัฐได้โดยสะดวก รวดเร็ว ไม่จำกัดสถานที่ เช่น การร่วมกับสรรพากรในการออกมาตรการทางภาษีเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้ผู้ประกอบธุรกิจ, ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการอำนวยความสะดวกด้านใบอนุญาตทำงาน วีซ่า และการพักอาศัยสำหรับ digital talent (Visa and work permit for digital talent), การพัฒนาตลาดนวัตกรรมด้วยบัญชีนวัตกรรมดิจิทัล, การส่งเสริมให้เกิดระบบ การพิสูจน์และยืนยันตัวตนในการใช้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน (Digital Identification) เป็นต้น 

3.) จัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศให้พร้อมเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะการส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์จาก 5G การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และการสนับสนุนให้ประชาชนทุกพื้นที่ทั่วประเทศสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ใน internet 

4.) การพัฒนาและบังคับใช้กฎหมายเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการเข้าสู่โลกดิจิทัล (Trusted digital ecosystem) โดยเฉพาะเรื่อง การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล การส่งเสริมธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ 

5.) การปกป้องคุ้มครองประชาชนจากการใช้ สื่อ social media และ internet ในทางมิชอบ


 

ปิดฉาก “คนละครึ่ง” คนกรุงมือเติบใช้สูงสุดยอดทะลุแสนล้าน

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้โครงการคนละครึ่ง ได้สิ้นสุดแล้วเมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา จังหวัดที่มีการใช้จ่ายสะสมมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี สมุทรปราการ สงขลา และเชียงใหม่ ส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศขยายตัวต่อเนื่องเป็นเวลาเกือบ 6 เดือนตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 ถึงไตรมาสแรกของปี 2564 ทำให้เกิดการหมุนเวียนของการผลิตและการค้าที่เกี่ยวเนื่อง ส่งให้โครงการคนละครึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง 

ส่วนผลการใช้จ่าย พบว่า มียอดการใช้จ่ายตลอดโครงการ 102,065 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่าย 52,251 ล้านบาท และภาครัฐร่วมจ่ายอีก 49,814 ล้านบาท โดยมีผู้ใช้สิทธิทั้งสิ้น 14,793,502 คน จากเป้าหมาย 15 ล้านคน ในจำนวนนี้มีการใช้จ่ายตั้งแต่ 3,000 บาทขึ้นไป จำนวน 13,653,565 คน หรือประมาณร้อยละ 92 ของผู้ใช้สิทธิทั้งหมด โดยมีคนใช้จ่ายครบ 3,500 บาท จำนวน 7,819,925 คน 

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังได้ตรวจพบการใช้จ่ายที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของโครงการคนละครึ่ง และได้มีการระงับการใช้แอปพลิเคชันและการจ่ายเงินร้านค้า รวมทั้งจัดส่งข้อมูลร้านค้าและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดดังกล่าวให้แก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) เพื่อใช้ในการสืบสวนสอบสวนและดำเนินการทางกฎหมายแล้วทั้งสิ้น 749 ราย โดยมีการร้องทุกข์กล่าวโทษร้านค้าและประชาชนที่เกี่ยวข้องแล้ว 85 ราย ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการตรวจสอบของ สตช. และ ปอศ.

กรมท่าอากาศยาน ร่วมลงนาม MOU บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการขับเคลื่อน “เปิดเมืองปลอดภัย จัดงานไมซ์มั่นใจ ด้วยมาตรฐาน”

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีลงนาม MOU บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการขับเคลื่อน เปิดเมืองปลอดภัย จัดงานไมซ์มั่นใจ ด้วยมาตรฐานจัดขึ้นโดยสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) ร่วมกับหน่วยงานต่าง ที่เกี่ยวข้อง สำหรับกรมท่าอากาศยาน มีนายสมเกียรติ มณีสถิตย์ รองอธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ด้านโครงสร้างพื้นฐาน) เข้าร่วมลงนามในพิธีดังกล่าว ในวันที่ 1 เมษายน 2564 ห้องแกรนบอลรูม ชั้น G โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร

การลงนาม MOU ในครั้งนี้ มีหน่วยงานต่าง ทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน จำนวน 23 หน่วยงาน ประกอบด้วย หน่วยงานส่วนกลาง  ได้แก่ กรมอนามัย  สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) กรมท่าอากาศยาน กรมควบคุมโรค กรมการขนส่งทางบก กรมการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย สมาคมโรงแรมไทย บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) สมาคมสายการบินประเทศไทย และหน่วยงานในระดับพื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดขอนแก่น จังหวัดเชียงใหม่  จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดภูเก็ต จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดสงขลา จังหวัดอุดรธานี และเมืองพัทยา ซึ่งมีเจตนารมณ์เพื่อร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนการจัดงานกลุ่มการจัดประชุมและนิทรรศการและการท่องเที่ยวในเมืองอย่างปลอดภัย  ด้านมาตรฐาน ด้านสุขอนามัยในสถานประกอบการและกิจกรรมต่าง อย่างเป็นระเบียบ และสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนผู้รับบริการ อันจะนำไปสู่การขับเคลื่อนและฟื้นฟูเศรษฐกิจทุกภูมิภาคทั่วประเทศไทย ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

โดยมุ่งเน้นการยกระดับมาตรฐานระบบบริการและสถานประกอบการต่าง ใน 10 เมืองซิตี้ ซึ่งเป็นเมืองที่มีศักยภาพและความพร้อมในการจัดงาน  ภายใต้กรอบและแนวทางความร่วมมือ โดยมีการส่งเสริมสนับสนุน ขับเคลื่อนให้เกิดการจัดงานในกลุ่มจังหวัด ได้แก่ การประชุม สัมมนา การจัดการแสดงสินค้าและนิทรรศการ การท่องเที่ยว ใน 10 เมืองไมซ์ซิตี้ รวมถึงยกระดับมาตรฐานความสะอาด ปลอดภัย ป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  ของสถานประกอบการและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องในระบบนิเวศน์ไมซ์ สนับสนุนและพัฒนาบุคลากร ด้านความรู้และเทคโนโลยี เพื่อยกระดับมาตรฐานความสะอาด และการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนสถานประกอบการที่มีแนวทางปฏิบัติในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ดี และสร้างความร่วมมือในกิจกรรมต่าง ระหว่างหน่วยงาน

นายสมเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมในส่วนของกรมท่าอากาศยาน จะให้ความร่วมมือในกรณีการเดินทางในอุตสาหกรรมไมซ์และระบบนิเวศน์ให้ปลอดภัยและเพียงพอ  รวมทั้งมีมาตรการในการควบคุม กำกับติดตามการบังคับใช้มาตรการและแนวปฏิบัติสำหรับการเดินทางให้ปลอดภัย  และจะดำเนินการเผยแพร่มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ท่าอากาศยานที่อยู่ในความดูแลของ ทย. จำนวน 29 ทั่วประเทศ เพื่อให้การลงนามในครั้งนี้เป็นไปตามเจตนารมณ์และเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน 

ชินวรณ์เผย ผลหารือ 3 พรรค มอบ “ประชาธิปัตย์” ยกร่าง พร้อมหนุนแก้ รธน. เป็นรายมาตรา 

นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ ส.ส.จังหวัดนครศรีธรรมราชพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานวิปพรรค ได้หารือร่วมกันกับตัวแทนกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ 3 พรรค ประกอบด้วย นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ พรรคประชาธิปัตย์ นายศุภชัย ใจสมุทร นายภราดร ปริศนานันทกุล พรรคภูมิใจไทย และนายนิกร จำนงค์ พรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งจากการหารือมีความเห็นร่วมกันที่จะเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นรายมาตรา โดยจะแยกเสนอเป็นรายฉบับดังนี้ 

ฉบับที่ 1 ประเด็นมาตรา 256 แก้ไขจากยากให้ง่ายขึ้น โดยใช้เสียง 3 ใน 5  
ฉบับที่ 2 ประเด็นมาตรา 272 ส.ว. ไม่สิทธิ์โหวตนายกรัฐมนตรี
ฉบับที่ 3 ประเด็นหมวดสิทธิเสรีภาพและสิทธิชุมชน 
ฉบับที่ 4 ประเด็นหมวดการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและธรรมาภิบาล 
ฉบับที่ 5 ประเด็นการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น 
และฉบับที่ 6 ประเด็นที่ระบบการเลือกตั้งเป็นระบบบัตร 2 ใบ 

ซึ่งจากการหารือได้มอบหมายให้พรรคประชาธิปัตย์ไปยกร่างและนำกลับมาหารือร่วมกันอีกรอบในสัปดาห์หน้า โดยคาดว่าจะเสนอต่อประธานรัฐสภาได้ในสมัยประชุมที่จะถึงนี้แน่นอน 

นายชินวรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีพรรคพลังประชารัฐ ให้ ส.ส. ลงนามเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ใน 5 ประเด็น 13 มาตรานั้น ถือเป็นเรื่องที่ดี และได้คุยกับประธานวิปรัฐบาล นายวิรัช รัตนเศรษฐ์ และนายอนุชา นาคาศัย แล้วว่าประเด็นใดที่เห็นพ้องต้องกันก็พร้อมที่สนับสนุนกัน ในส่วน 3 พรรคที่หารือกันนั้นก็มีข้อสรุปตรงกันว่ายินดีร่วมมือกับทุกพรรครวมถึงภาคประชาชนด้วย เพื่อให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศมีความเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น

“เทพไท”ข้องใจพรรคร่วมรัฐบาล ไม่เสนอแก้ รธน. ร่วมกัน อัดเป็นแค่ละครตบตา ปชช. หวังลดกระแสเคลื่อนไหว เสนอ “บิ๊กตู่” ชูธงนำ สยบ ม็อบ

เมื่อวันที่ 2 เมษายน นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง ความเคลื่อนไหวในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลว่า ตอนนี้มีความชัดเจนเรื่องประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วว่า จะมีการเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ทั้ง 2 กลุ่มโดยมีร่างของพรรคพลังประชารัฐที่จะแก้ไขใน 5 ประเด็น 13 มาตรา และในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลอีก 3 พรรค คือ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทยและพรรคชาติไทยพัฒนา ก็จะมีการเสนอญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นรายฉบับ 

ซึ่งมีทั้งหมด 6 ประเด็น 6 ฉบับ นับว่าเป็นท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาล ที่สร้างความแปลกใจให้กับประชาชนเป็นอย่างยิ่งจึงเกิดคำถามว่า ทำไมพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดไม่เสนอญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญร่วมกัน ทั้งที่ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ที่พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา ต่างก็เป็นพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน หรือต้องการให้พรรคร่วมรัฐบาลฟรีโหวตเหมือนตอนลงมติวาระ 3 ของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ถูกคว่ำมาแล้ว แต่ไม่มีใคร หรือพรรคการเมืองใดออกมาแสดงความรับผิดชอบเลย

“การเปิดโอกาสให้พรรคร่วมรัฐบาลแต่ละพรรคการเมือง สามารถเสนอญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยอิสระ เป็นการแสดงความไม่จริงใจและไม่เอาจริงเอาจังในการผลักดันนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล เป็นการแสดงละครตบตาประชาชน เพื่อต้องการลดกระแสเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่กำลังเคลื่อนไหวการกดดันให้รัฐบาลอยู่ในตอนนี้ ถ้าหากรัฐบาลมีความจริงใจและต้องการให้นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลเป็นจริงในทางปฏิบัติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล จะต้องเป็นผู้ชูธงนำการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยตัวเอง จะได้สยบความเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองภาคประชาชนที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ในขณะนี้ด้วย” นายเทพไท กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top